สุวิทย์ คุณกิตติ
นายสุวิทย์ คุณกิตติ (17 ตุลาคม 2500 - ) อดีตประธานที่ปรึกษาและหัวหน้าพรรคกิจสังคม อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ส.ส.ขอนแก่น 7 สมัย อดีตรองนายกรัฐมนตรี เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในหลายกระทรวงทั้งกระทรวงยุติธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประวัติ
นายสุวิทย์ คุณกิตติ เกิดที่อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น จบมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ (DSA89) และพ.ศ. 2522 ได้ปริญญาตรี ทางเคมี และพ.ศ. 2523 ต่อปริญญาโทในสาขาเดียวกัน ที่ มหาวิทยาลัยเคนตักกี้สหรัฐอเมริกา และได้รับ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาชุมชน
นายสุวิทย์ คุณกิตติ สมรสกับ นางลาวัณย์ คุณกิตติ มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ
- รัชนีวรรณ คุณกิตติ
- ธนพรรณ คุณกิตติ
- สุวิภา คุณกิตติ
การเมือง
นายสุวิทย์ คุณกิตติ เข้าสู่วงการเมืองระดับประเทศครั้งแรกในสังกัด พรรคกิจสังคม โดยได้เป็น ส.ส.จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่มีอายุเพียง 26 ปี หลังจากนั้นบางช่วง ย้ายไปสังกัด พรรคเอกภาพ และกลับไปสังกัด พรรคกิจสังคม อีกได้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรค และต่อมาดำรงตำแหน่ง หัวหน้าพรรค ภายหลังการเสียชีวิตของ นายมนตรี พงษ์พานิช ก่อนจะย้ายไปสังกัด พรรคไทยรักไทย
นายสุวิทย์ เป็นต้นคิดนโยบาย "กองทุนหมู่บ้าน" ตั้งแต่ยังอยู่ที่พรรคกิจสังคม และต่อมาเป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการตั้งแต่ต้น ในฐานะ ประธานคณะกรรมการ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) จนกลายเป็นนโยบาย ที่สร้างชื่อเสียงให้กับ พรรคไทยรักไทย เป็นอย่างสูง
ช่วงปี พ.ศ. 2548 นายสุวิทย์มีปัญหาสุขภาพ ทำให้ต้องยุติบทบาททางการเมืองเป็นการชั่วคราว ระหว่างนั้น ได้ลงทุนทำธุรกิจ เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ทัปเปอร์แวร์ จากสหรัฐอเมริกา แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ในนามบริษัท เอสเค อินเตอร์กรุ๊ป 2005
เมื่อสุขภาพดีขึ้น นายสุวิทย์ ได้บวชเป็นพระภิกษุระยะหนึ่ง ก่อนเข้าสู่วงการเมืองอีกครั้ง และแยกตัวออกจากพรรคไทยรักไทย โดยร่วมกับ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายพินิจ จารุสมบัติ และ นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ ก่อตั้ง "กลุ่มแนวร่วมสมานฉันท์" ขึ้น
ต่อมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และ นายพินิจ จารุสมบัติ ถูกวินิจฉัยใน "คดียุบพรรค" ทำให้ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ขณะที่ นายสุวิทย์ ไม่มีปัญหาต้องเว้นวรรคทางการเมือง เนื่องจากลาออกจาก กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ไปก่อน ต่อมานายสุวัจน์ ได้แยกตัวไปร่วมกับ กลุ่มรวมใจไทย ของ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ก่อตั้ง พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ขณะที่ กลุ่มแนวร่วมสมานฉันท์ที่เหลือ ได้เข้าร่วมกับ กลุ่มปากน้ำ ของ นายวัฒนา อัศวเหม ก่อตั้งเป็น พรรคเพื่อแผ่นดิน และ นายสุวิทย์ คุณกิตติ ได้รับการสนับสนุน ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น หัวหน้าพรรค คนแรก
ในค่ำวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นายสุวิทย์ได้แถลงข่าวนำพรรคเพื่อแผ่นดินออกจากการร่วมรัฐบาลในฐานะหัวหน้าพรรค เนื่องจากให้เหตุผลว่ารัฐบาลไม่มีความชัดเจนเรื่องกรณีเขาพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก, การจวบจ้วงเบื้องสูง และการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ และต่อมาได้ลาออกจากตำแหน่ง หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2551
ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ภายหลังพรรคชาติไทยและพรรคพลังประชาชนถูกศาลพิพากษายุบพรรค จากคดีทุจริตการเลือกตั้ง นายสุวิทย์ได้นำ สส. จากอดีตพรรคชาติไทยและอดีตพรรคพลังประชาชน รวม 5 คน สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคกิจสังคม ประกอบด้วย นายเทวฤทธิ์ นิกรเทศ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน นายสมเจตน์ ลิมประพันธ์ ส.ส.สุโขทัย พรรคชาติไทย นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายชยุต ภุมมะกาญจน ส.ส.ปราจีนบุรี และนายวารุจ ศิริวัฒน์ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคพลังประชาชน และขึ้นดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคกิจสังคม มีอำนาจให้คำปรึกษาและพิจารณาตัดสินใจในการจัดตั้งรัฐบาลและเสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี
นายสุวิทย์ คุณกิตติ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม [1] ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 นับเป็นการดำรงตำแหน่งนี้เป็นครั้งที่ 2 เนื่องจากนายสุวิทย์เคยดำรงตำแหน่งนี้มาแล้วครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

การดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- สมาชิกสภาจังหวัดขอนแก่น
- พ.ศ. 2526 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น สมัยแรก ในสังกัด พรรคกิจสังคม
- พ.ศ. 2528
- เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- เป็นตัวแทนประเทศไทยไปประชุมสหภาพรัฐสภาโลก
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น ต่อเนื่องอีกหลายสมัย (พ.ศ. 2529, 2531, 2535/1, 2535/2, 2538 และ 2539)
- พ.ศ. 2529 เลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย
- พ.ศ. 2530
- ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- คนไทยคนแรกที่ได้รับความไว้วางใจจาก สมาชิกรัฐสภา 120 ประเทศทั่วโลก เลือกตั้งให้เป็น กรรมการบริหารสหภาพรัฐสภาโลก
- พ.ศ. 2533 เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- พ.ศ. 2533 รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
- พ.ศ. 2535
- รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม[2]
- เลขาธิการพรรคกิจสังคม (พ.ศ. 2535 - 2541)
- พ.ศ. 2538 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 , คณะรัฐมนตรีคณะที่ 51 ของไทย)
- พ.ศ. 2539 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (จากการปรับ ครม. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539)
- พ.ศ. 2539 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- พ.ศ. 2540 รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
- พ.ศ. 2541 รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลชวน 2 (14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 , คณะรัฐมนตรีคณะที่ 53 ของไทย)
- รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (จากการปรับ ครม. วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2541)
- พ.ศ. 2542 หัวหน้าพรรคกิจสังคม (พ.ศ. 2542 - 2543)
- ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล นายชวน หลีกภัย ในปี 2542 เพราะลูกพรรค ถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับการทุจริตจัดซื้อยาในกระทรวงสาธารณสุข
- พ.ศ. 2544 รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลทักษิณ 1 (17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 , คณะรัฐมนตรีคณะที่ 54 ของไทย)
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (จากการปรับ ครม. วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2544)
- พ.ศ. 2545 ถูกพรรคฝ่ายค้านยื่นถอดถอนจากตำแหน่ง รมต.ศึกษาฯ 2 ครั้งเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2545 และ 10 พฤษภาคม 2545 ด้วยข้อกล่าวหาขัดเจตนารมณ์ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และมีพฤติกรรมจงใจใช้อำนาจฝ่าฝืน กฎหมายรัฐธรรมนูญ มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2545 ต่อมาในการปรับ ครม. วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 นายสุวิทย์พ้นจากตำแหน่ง รมต.ศึกษาฯ กลับไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี และนายปองพล อดิเรกสาร รับตำแหน่ง รมต.ศึกษาฯ แทน
- พ.ศ. 2547 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (จากการปรับ ครม. วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2547)
- พ.ศ. 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ในรัฐบาลทักษิณ 2 (11 มีนาคม พ.ศ. 2548 , คณะรัฐมนตรีคณะที่ 55 ของไทย)[3]
- พ.ศ. 2550 หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน คนแรก (2 ตุลาคม พ.ศ. 2550 - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2551)
- พ.ศ. 2551
- รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ( 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2551, คณะรัฐมนตรีคณะที่ 57 ของไทย)
- ประธานที่ปรึกษาพรรคกิจสังคม (17 ธันวาคม พ.ศ. 2551)
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (20 ธันวาคม พ.ศ. 2551, คณะรัฐมนตรีคณะที่ 59 ของไทย)
การดำรงตำแหน่งอื่นๆ
- นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเลย 2 สมัย
- พ.ศ. 2528-2529 กรรมการบริหาร สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย
- พ.ศ. 2535-2536,2539-ปัจจุบัน สภานายกพิเศษแห่งเนติบัณฑิตยสภา
- พ.ศ. 2535-2536,2539-ปัจจุบัน สภานายกพิเศษสภาทนายความแห่งประเทศไทย
- นายกสมาคมเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
- อดีตประธานคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (เอ็นไอทีซี)
- พ.ศ. 2547 นายกสมาคมนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (ประเทศไทย) หรือ สมาคมซีไอโอ (ประเทศไทย) คนแรก
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2538 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[4]
- พ.ศ. 2536 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[5]
- พ.ศ. 2548 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)[6]
- พ.ศ. 2552 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ[7]
อ้างอิง
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๘ ราย)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๒๐๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ให้แก่บุคคลที่ช่วยเหลือผู้ประสบธรณีพิบัติภัย “สึนามิ” เก็บถาวร 2022-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๒, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ ประจำปี ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2022-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๘ ข หน้า ๓, ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓
แหล่งข้อมูลอื่น
- บทความที่ถูกป้องกันการเปลี่ยนทาง
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2500
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- บุคคลจากจังหวัดขอนแก่น
- นักการเมืองไทย
- รองนายกรัฐมนตรีไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยแบบบัญชีรายชื่อ
- พรรคกิจสังคม
- พรรคประชาธิปัตย์
- พรรคเอกภาพ
- พรรคไทยรักไทย
- พรรคเพื่อแผ่นดิน
- บุคคลจากโรงเรียนเทพศิรินทร์
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ภ.
- หัวหน้าพรรคการเมืองในประเทศไทย