ข้ามไปเนื้อหา

เชาวรินธร์ ลัทธศักดิ์ศิริ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เชาวรินธร์ ลัทธศักย์ศิริ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ดำรงตำแหน่ง
18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 – 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
นายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา
รักษาการหัวหน้าพรรคชาติไทย
ดำรงตำแหน่ง
29 มีนาคม พ.ศ. 2540 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2540
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 (79 ปี)
อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี
พรรคการเมืองชาติไทย (2517—2523, 2526—2540)
ประชาธิปัตย์ (2523—2526, 2540—2549)
ไทยรักไทย (2550)
พลังประชาชน (2550—2551)
เพื่อไทย (2551—2562)
คู่สมรสจรรยาภัทร์ ลัทธศักย์ศิริ

เชาวรินธร์ ลัทธศักย์ศิริ ประธานมูลนิธิปฐมบรมราชานุสรณ์ อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ[1])[2] อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบสัดส่วน พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดราชบุรี และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี 5 สมัย

ประวัติ

[แก้]

เชาวรินธร์ ลัทธศักย์ศิริ มีชื่อเล่นว่า "แจ็คกี้" เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 ที่ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เชาวรินธร์จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบปริญญาโท สาขาพัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และกำลังศึกษาระดับปริญญาเอก สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี[3] นอกจากนี้ยังได้รับดุษฎีบัณฑิตด้านการพัฒนาการเกษตร จากมหาวิทยาลัยอิสตานุส ประเทศจาไมก้า ระหว่างการเดินทางไปดูงานยังประเทศดังกล่าวอีกด้วย

เชาวรินธร์ แต่เดิมใช้ชื่อว่า "เชาวริน" ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "เชาวรินทร์" และ "เชาวรินธร์" ตามลำดับ

การทำงาน

[แก้]

เชาวรินธร์ก่อนจะมาเล่นการเมืองนั้น เดิมเคยเป็นนายตำรวจที่ติดตามรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีของพรรคชาติไทยในสมัยรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ในเหตุการณ์ 6 ตุลา เชาวรินธร์เป็นผู้ที่อยู่เคียงข้างนายชวน หลีกภัย ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นผู้ที่บอกให้นายชวนหลบหนีไปจากการตามล่าของผู้ชุมนุม แต่นายชวนไม่หนี[4]

เชาวรินธร์มีฉายาว่า "สากกระเบือ" อันเนื่องมาจากครั้งหนึ่งเคยนำสากกระเบือเข้าสภาฯ[5] และ "โกโบริน" อันเนื่องมาจากความเชื่อส่วนตัวที่เชื่อว่า ภายในถ้ำลิเจีย อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีขุมทรัพย์โดยเฉพาะทองคำจำนวนมากที่ทหารญี่ปุ่นนำมาซ่อนไว้ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้เจ้าตัวจะพยายามขุดค้นหาและออกข่าวหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่เจอ จนเคยเป็นข่าวโด่งดังมาแล้วครั้งหนึ่งถึงเรื่องพันธบัตร กระนั้น เขาก็ยังยืนยันว่า เป็นความเชื่อส่วนตัว[6]

เชาวรินธร์เป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2522 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์, พ.ศ. 2540 สังกัดพรรคชาติไทยและอยู่กับพรรคชาติไทยมาตลอดจนถึง พ.ศ. 2517, พ.ศ. 2529, พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2538 โดยใน พ.ศ. 2538 เชาวรินธร์ได้รับการแต่งตั้งให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย หลังจากนั้น เชาวรินธร์ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในจังหวัดราชบุรี และได้รับเลือก หลังจากนั้นมีการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549

เชาวรินธร์จึงลงรับเลือกตั้งในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ในระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน ก่อนที่พรรคจะถูกยุบและย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทย โดยเชาวรินธร์เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อีกด้วย ซึ่งการอภิปรายในครั้งนั้น เชาวรินธร์ได้นำวีซีดีภาพการฆ่าตัดศีรษะทหารไทยในเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้มาฉายระหว่างการอภิปรายด้วย ซึ่งหลายฝ่ายได้ออกมาประณามในกรณีนี้[7]

เชาวรินธร์เคยไม่ได้รับการเลือกตั้งครั้งหนึ่งจากการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2539 โดยแพ้ให้กับ ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี จากพรรคชาติพัฒนา และในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ซึ่งลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 100[8] แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา)[9][10]

นอกจากนี้แล้ว เชาวรินธร์ยังเป็นผู้ที่ชื่นชอบการแต่งเครื่องแบบข้าราชการ โดยเฉพาะเครื่องแบบที่ต้องติดตราประดับหรือแพรแถบต่างๆ[11]

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

[แก้]
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช 2526
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช 2529
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช 2535/1
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช 2535/2
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช 2538
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบสัดส่วน พุทธศักราช 2550

สมาชิกวุฒิสภา

[แก้]
  • สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดราชบุรี 2543 - 2549

คดีความ

[แก้]

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 12 มกราคม 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกับ ฝ่ายสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลดุสิต กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 จับกุมตัว ร.ต.ท.เชาวรินทร์ ลัทธศักดิ์ศิริ อยู่บ้านเลขที่ 297/2-3-4 ถนนเพชรเกษม ต.หน้าเมือง อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดราชบุรี เลขที่ 10/2558 ลงวันที่ 6 ม.ค.58 ข้อหา "ฉ้อโกงและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน" โดยสามารถจับกุมได้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขณะร.ต.ท.เชาวรินธร์กำลังเดินทางไปต่างประเทศก่อนนำตัวมาสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต ผู้เสียหายกล่าวหาว่าร.ต.ท.เชาวรินธร์ ลัทธศักย์ศิริ เปลี่ยนแปลงข้อมูลเลขที่บัญชีในระบบคอมพิวเตอร์ส่งผลให้เงิน 11 ล้านบาทของฝ่ายผู้เสียหายตกเป็นของร.ต.ท.เชาวรินธร์ ลัทธศักย์ศิริ และเขาได้ยอมรับว่าใช้เงินไปหมดแล้วและไม่คืนเงินให้โดยอ้างว่าไม่ทราบว่าใครโอนมาแม้ว่าเขาจะแสดงหลักฐานการโอนเงินอย่างชัดเจนแล้วก็ตาม[12]วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุก 1 ปี และไม่รอลงอาญา ร.ต.ท.เชาวรินทร์ ลัทธศักดิ์ศิริ ฐานฉ้อโกงประชาชนและอนุญาตให้ประกันตัววงเงินสองแสนบาทในตอนบ่ายวันเดียวกัน[13] หลังจากพ้นโทษจำคุกเขาแสดงความต้องการถอดยศ ร้อยตำรวจโท ของตนเอง[14]เขากล่าวหา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่าละเมิดพระราชอำนาจในการถอดยศ ทักษิณ ชินวัตร

วันที่ 10 ก.ค. 2562 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีฉ้อโกงทรัพย์หมายเลขดำ อ.639/58 พนักงานอัยการคดีอาญา 10 โจทก์และ บริษัท บี.พี.ซี เทรดดิ้ง จำกัด (ประเทศกัมพูชา) โจทก์ร่วมยื่นฟ้อง ร.ต.ท.เชาวรินธร์ ลัทธศักดิ์ศิริ อายุ 73 ปี อดีตรมช.ศึกษาธิการ และอดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคเพื่อไทย ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 (1), 17(1) โดยศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 2 ปี จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวร.ต.ท.เชาวรินธร์ ไปห้องคุมขังใต้ถุนศาลเพื่อเตรียมนำไปเรือนจำบังคับตามคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป

ต่อมาวันที่ 30 ก.ย. 2563 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดยศตำรวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์  โดยระบุว่า  มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดยศอดีตข้าราชการตำรวจ ออกจากยศตำรวจจำนวนทั้งสิ้น 10 ราย โดยมี ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักย์ศิริ เป็นหนึ่งในนั้น โดยนับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2557 ซึ่งเป็นวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด เนื่องจากกระทำความผิดอาญาฐานฉ้อโกงประชาชน และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ ประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ตริตาภรณ์ช้างเผือก ตริตาภรณ์มงกุฎไทย และรามกีรติลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ[15]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ต่อมาเขาถูกถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557[19]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี
  2. ครม.ตั้ง ขรก.การเมือง"ปู 2"ครบทุกตำแหน่ง "วัน อยู่บำรุง"นั่งที่ปรึกษา รมช.คค.-"ผดุง"ตามโผเลขาฯ มท.1 เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจาก มติชน
  3. "นักการเมืองปริญญาเอก?!!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-31. สืบค้นเมื่อ 2011-02-07.
  4. หนังสือกินอยู่เรียบง่าย สบายแบบชาวบ้าน ชวน หลีกภัย ลูกแม่ค้าขายพุงปลา โดย เริงศักดิ์ กำธร (พ.ศ. 2545) ISBN 974-85645-2-5
  5. สาก สุดยอดคนพันธุ์ ฮ่า !!
  6. "การันตีขุมทรัพย์ลิเจีย'มหึมา' 'เชาวรินธร์'ฟุ้งแค่พันธบัตร กว่า5หมื่นล.ดอลล์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-08. สืบค้นเมื่อ 2009-04-08.
  7. มุสลิมใต้รับไม่ได้ รุมสวด "เชาวรินธร์" เปิดภาพทหารถูกตัดคอในสภา[ลิงก์เสีย]
  8. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคเพื่อไทย)
  9. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 50/2555 เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง (จำนวน 12 ราย)
  10. ส.ส.พท. เล็งขึ้นเวทีเสื้อแดง ทุกเย็น
  11. เชาวรินธร์ยังเป็นผู้ที่ชื่นชอบการแต่งเครื่องแบบข้าราชการ
  12. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-12. สืบค้นเมื่อ 2015-01-13.
  13. 'เชาวรินธร์' รอดนอนคุก ศาลอุทธรณ์ให้ประกันคดีจตุคามฯ
  14. "เชาวรินธร์ พ้นออกจากคุกแล้ว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-08. สืบค้นเมื่อ 2016-01-25.
  15. โปรดเกล้าฯถอดยศตำรวจ เรียกคืนเครื่องราชฯ 10 ราย
  16. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2010-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
  17. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2007-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๕, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๗
  18. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๑ ข หน้า ๒๗, ๕ มกราคม ๒๕๔๙
  19. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดยศตำรวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๓๗ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๓, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]