วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 – 18 กันยายน พ.ศ. 2551
(0 ปี 210 วัน)
นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช
ก่อนหน้าไชยา ยิ้มวิไล
ถัดไปณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด27 สิงหาคม พ.ศ. 2490 (76 ปี)

พลตำรวจโท วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ประวัติ[แก้]

พลตำรวจโท วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2490 เป็นบุตรของ พันตำรวจตรี วิจิตร และนางประยูร สุกโชติรัตน์ มีบุตรชายทั้งหมด 2 คน คือ ดร. วรงค์ สุกโชติรัตน์ และ ดร. ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์

การศึกษา[แก้]

พลตำรวจโท วิเชียรโชติ จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร (รุ่นที่ 8) จบปริญญาตรีรัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต (โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 24) โดยระหว่างที่เรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้รับเลือกเป็นหัวหน้านักเรียนและสอบได้ที่ 1 ประจำรุ่น จึงได้ทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาการบริหารงานยุติธรรม จาก มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกี สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอกสาขาอาชญาวิทยา จาก Florida State University สหรัฐอเมริกา ซึ่งพลตำรวจโท ดร.วิเชียรโชติ เป็นคนไทยคนแรกที่จบปริญญาเอกในสาขาวิชานี้[1]

นอกจากนี้ยังสำเร็จการศึกษาในประกาศนียบัตรและได้รับรางวัลต่างๆ อาทิ

  • ประกาศนียบัตรหลักสูตร FBI จากสหรัฐอเมริกา
  • ประกาศนียบัตรนักบริหารชั้นสูงระหว่างประเทศ  จากประเทศออสเตรเลีย โดยทุนรัฐบาลออสเตรเลีย
  • ปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปรอ.388)
  • ประกาศนียบัตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน (วพน. รุ่นที่ 1) สถาบันวิทยาการ พลังงาน
  • ประกาศนียบัตรหลักสูตร DAP และ DCP จาก IOD (สถาบันกรรมการบริษัทไทย)
  • ศิษย์เก่าดีเด่นโรงเรียนบพิตรพิมุข
  • นักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่น (ประจำปี 2547)
  • ศิษย์เก่าดีเด่นผู้สร้างชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ในโอกาสมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครบรอบ 70 ปี)
  • ศิษย์เก่าผู้ทำคุณประโยชน์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (ระหว่างปี 2545-2547)
  • ได้รับการจารึกชื่อในแผ่นทองของ Hall of Fame โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ว่าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมและมีความประพฤติดีเยี่ยม

การทำงาน[แก้]

พลตำรวจโท ดร.วิเชียรโชติ เริ่มรับราชการในตำแหน่งนายเวรเลขานุการกรมตำรวจ จนได้รับตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งอาทิ ผู้บังคับการศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ ผู้บังคับกองวิจัยและพัฒนา และรองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยพลตำรวจโท วิเชียรโชติ มีฉายาที่เพื่อนๆ เรียกคือ “ลูกมหาฯ” เนื่องจากบิดาเป็นอนุศาสนาจารย์และพลตำรวจโท วิเชียรโชติ มีนิสัยชอบเข้าวัด และยังได้ฉายา “หมวดน้ำส้ม” เนื่องจากเป็นคนไม่กินเหล้า

ต่อมาพลตำรวจโท วิเชียรโชติ ได้โอนย้ายมารับตำแหน่งอธิบดีกรมคุมประพฤติ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ชุดปี 2547-2548) ทำให้มีความรู้และประสบการณ์ในการบริหารกระบวนการยุติธรรมรอบด้าน

ในด้านการเมือง เคยดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน

นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งด้านวิชาการและบริหารต่างๆ อาทิ

  • กรรมการแห่งชาติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรม (ก.ส.ย.)
  • กรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
  • กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
  • กรรมการอำนวยการ และประธานกรรมการตรวจสอบโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง
  • กรรมการธนาคาร และกรรมการบรรษัทภิบาลธนาคารกรุงไทย
  • กรรมการร่างแผนพัฒนาความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินและสวัสดิการสังคม ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • อนุกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการและระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน สำนักนายกรัฐมนตรี
  • นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการการบริหารและการยุติธรรม ของวุฒิสภา
  • ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการคมนาคม ของวุฒิสภา
  • ผู้ช่วยผู้บัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • ผู้บังคับการกองวิจัยและพัฒนา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • ผู้บังคับการศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 54[2] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ผลงานดีเด่น[แก้]

  • เป็นคณะทำงานจัดทำโครงสร้างและกฎหมาย ในการปฏิรูประบบราชการของกระทรวงยุติธรรมภายหลังจากศาลยุติธรรมแยกออกไปจากกระทรวงยุติธรรมแล้ว จนเกิดโครงสร้างใหม่ของกระทรวงยุติธรรมในการทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรม โดยการรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในกระทรวงยุติธรรมและจัดกิจกรรมใหม่ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นระเบียบที่ครบวงจรตามหลักสากล
  • เป็นหัวหน้าคณะทำงานทำโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้นักเรียนนายร้อยตำรวจเรียนหลักสูตรนิติศาสตร์คู่ขนานกันไปรัฐประศาสนศาสตร์ โดยเรียนเพิ่มกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง อีกประมาณ 50 หน่วยกิต รวมถึงผู้ที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หลักสูตร 4 ปีไปแล้วทั้งหมดด้วย โดยเริ่มในปีการศึกษา 2544 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่สุดต่อการพัฒนาตำรวจในวิชาชีพสอบสวนและกฎหมายสามารถสอบเป็นเนติบัณฑิตได้
  • เป็นผู้ร่างแผนพัฒนาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เข้าบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2524 และจัดทำแผนกรมตำรวจแม่บทฉบับที 1 สำเร็จ เป็นเหตุให้ตำรวจมีแผนประจำปีและแผนงานโครงการต่างๆ  เกิดขึ้นต่อมา
  • เป็นผู้สร้างและนำระบบ Online Computer เข้าไปใช้ในกองตรวจคนเข้าเมือง โดยขอความร่วมมือจากรัฐบาล Australia เมื่อ พ.ศ. 2526 ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่มี Online Computer ใช้ในงาน Immigration จนประเทศสิงคโปร์ต้องส่งคนมาขอดูงาน
  • เป็นคณะทำงานปรับปรุงวิทยาการตำรวจจนทำให้เกิดระบบวิทยาการตำรวจที่ทันสมัย
  • เป็นผู้ก่อตั้งกองกำกับการศูนย์ประมวลข่าวสารกรมตำรวจ ซึ่งต่อมายกฐานะเป็น กองบังคับการศูนย์ข้อมูลสนเทศ (ศูนย์ Computer) และได้เป็นผู้บังคับการคนแรกเมื่อ พ.ศ. 2535

การสอนและผู้บรรยาย[แก้]

เป็นอาจารย์บรรยายหรือวิทยากรพิเศษทุกสถาบันการศึกษาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ฯลฯ

คดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปี 2547-2548[แก้]

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปี 2547-2548 นี้ได้ถูกกล่าวหาว่าได้ออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงประชุมกรรมการและค่าตอบแทนบุคคลและคณะบุคคลนั้นเป็นความผิด ในขณะที่องค์กรอิสระอื่นๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ณ ขณะนั้น ก็ได้มีการออกระเบียบในลักษณะเดียวกันมาก่อน อย่างไรก็ตามคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ทั้งหมดก็แสดงเจตจำนงลาออกจากหน้าที่เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2547 ในระหว่างการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อมิให้เป็นที่ครหาว่าใช้อำนาจหน้าที่ในการแทรกแทรงกระบวนการยุติธรรม

ต่อมาเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และพ้นกำหนดรอการลงโทษเมื่อ 26 พฤษภาคม 2550 ท่ามกลางข้อกังขาว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ออกระเบียบลักษณะเดียวกันก่อนหน้าคณะกรรมการ ป.ป.ช.กลับไม่ได้รับการตัดสินว่าผิด โดย พล.ต.อ.วศิษฐ เดชกุญชร คอลัมน์นิสต์ชื่อดังในสมัยนั้น ได้เขียนลงหนังสือพิมพ์มติชนโดยตั้งข้อสันนิษฐานว่าคดีนี้เกิดจากกระบวนการที่ต้องการล้มล้างคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้โดยกลุ่มบุคคลที่ถูกสอบสวนโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้และอาจถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงเพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้หยุดทำงานจนคดีหมดอายุความ

ต่อมาวันที่ 18 ตุลาคม 2550 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้างมลทินเสมือนไม่เคยมีความผิดตามกฎหมาย โดยมีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา เมื่อพ.ศ. 2550

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประวัติส่วนตัว วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์
  2. เปิด 97 บัญชีรายชื่อเพื่อไทย 'บรรยิน'ลุ้นได้เป็นส.ส.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๓, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2017-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๑๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๑๘๗, ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗
ก่อนหน้า วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ถัดไป
ไชยา ยิ้มวิไล
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 - 18 กันยายน พ.ศ. 2551)
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ