หลวงจำรูญเนติศาสตร์ (จำรูญ โปษยานนท์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลวงจำรูญเนติศาสตร์
(จำรูญ โปษยานนท์)
[[รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ไทย)|]]
ดำรงตำแหน่ง
9 มีนาคม พ.ศ. 2512 – 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514
ก่อนหน้าพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์)
ถัดไปกมล วรรณประภา
ประธานศาลฎีกา คนที่ 13
ดำรงตำแหน่ง
1 มิถุนายน พ.ศ. 2502 – 1 ตุลาคม พ.ศ. 2505
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ก่อนหน้าพระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร (บุญจ๋วน บุญยะปานะ)
ถัดไปประวัติ ปัตตพงศ์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดำรงตำแหน่ง
22 ตุลาคม พ.ศ. 2500 – 7 มกราคม พ.ศ. 2503
ก่อนหน้าทวี แรงขำ
ถัดไปถนอม กิตติขจร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด7 เมษายน พ.ศ. 2445
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต3 มิถุนายน พ.ศ. 2518 (73 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสอรุณ จำรูญเนติศาสตร์
บุตรโกวิทย์ โปษยานนท์

ศาสตราจารย์ หลวงจำรูญเนติศาสตร์ (จำรูญ โปษยานนท์) (7 เมษายน พ.ศ. 2445 - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2518) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ อดีตประธานศาลฎีกา และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประวัติ[แก้]

หลวงจำรูญเนติศาสตร์ หรือจำรูญ เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดในสกุล “โปษยานนท์” ที่บ้านตำบลถนนราชวงศ์ อำเภอจักรวรรดิ์ จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 7 เมษายน ปี 2445 บิดาชื่อนายฮง มารดาชื่อนางเน้ย ท่านกำพร้าบิดามาตั้งแต่อายุได้ 10 ปี ได้อาคือพระยาพิพัฒนธนากร (ฉิม โปษยานนท์) ส่งเสียให้เรียนหนังสือ การศึกษาเริ่มที่โรงเรียนครูแดงกับโรงเรียนทองนพคุณ แล้วจึงไปเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบตอนที่มีอายุได้ 10 ปี ก่อนที่จะไปเข้าเรียนที่โรงเรียนราชวิทยาลัย จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ท่านดูจะเป็นคนเรียนเก่ง ในปี 2461 ก็ได้เข้าไปเรียนที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม จบการศึกษาได้เป็นเนติบัณฑิตไทยในปี 2465 ปีถัดมาจึงได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรมให้ไปศึกษาด้านกฎหมายต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยท่านได้เข้าเรียนที่สำนักมิดเดิลเทมเปิล เรียนจบได้เนติบัณฑิตเกียรตินิยมในปี 2471 เดินทางกลับไทยเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษา ในปี 2472 สำหรับชีวิตสมรส ท่านแต่งงานกับคุณอรุณ โปษยะจินดา

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองคนที่รับราชการทำงานทางด้านตุลาการดูจะไม่กระทบกระเทือนมากนัก หลวงจำรูญเองก็ก้าวหน้าในตำแหน่งราชการ ได้ขึ้นเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ในปี 2485 สมัยรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งอยู่ในช่วงสงคราม และในปี 2487 ท่านก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ดังนั้นต่อมาในปี 2488 ถึงต้นปี 2489 ท่านจึงเป็นหนึ่งในคณะผู้พิพากษาคดีอาชญากรสงคราม คดีนี้เป็นคดีดังและสำคัญที่มีอดีตนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. และรัฐมนตรีบางนายที่ร่วมงานในยามสงครามตกเป็นผู้ต้องหาด้วย ศาลพิพากษาว่าโมฆะจะใช้กฎหมายย้อนหลังไม่ได้ ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา

ทางด้านวิชาการ หลวงจำรูญฯ ได้เข้ามาเป็นผู้บรรยายหรืออาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ปี 2483 ตั้งแต่สมัยที่มหาวิทยาลัยยังใช้ชื่อดั้งเดิมว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และยังมีศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การ ท่านได้เป็นอาจารย์พิเศษมากว่า 10 ปีก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยในปี 2497 สมัยที่มีพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์เป็นคณะบดีคณะนิติศาสตร์ และมีอธิการบดีชื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ท้ายที่สุดท่านก็ได้ขึ้นเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อจากวาระของจอมพล ป. ในวันที่ 23 ธันวาคม ปี 2500 ตอนนั้นเพิ่งจะเสร็จจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 ของปี จึงเป็นช่วงเวลาก่อนที่พลโท ถนอม กิตติขจร จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในตอนต้นปี 2501 ขณะนั้นผู้ที่ช่วยอธิการบดีทำงานประจำคือเลขาธิการมหาวิทยาลัย

หลวงจำรูญฯเป็นอธิการบดีอยู่ประมาณ 2 ปี จนถึงต้นปี 2503 ท่านจึงได้พ้นจากตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะท่านได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ตั้งแต่ปลายปี 2502 สายงานตุลาการเป็นงานที่ท่านรักและยึดเป็นอาชีพมาตั้งแต่จบการศึกษาจากอังกฤษ ดังนั้นจึงวางมือจากงานมหาวิทยาลัย ตอนที่ท่านขึ้นเป็นประธานศาลฎีกานั้นเป็นเวลาที่จอมพล สฤษดิ์ หัวหน้าคณะปฏิวัติที่ยึดอำนาจในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2501 ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเองแล้ว และต่อมานายกฯ ท่านนี้ก็ได้เข้ามาเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย โดยให้นายทหารที่เป็นรองนายกฯ คือพลเอก ถนอมเข้ามาเป็นอธิการบดีสืบต่อจากหลวงจำรูญฯ ทางหลวงจำรูญฯ นั้นท่านได้เป็นประมุขของอำนาจตุลาการอยู่ประมาณ 2 ปี ท่านก็ได้เกษียณอายุราชการจากศาลฎีกาในปี 2504

สำหรับตำแหน่งทางการเมืองนั้นหลวงจำรูญฯ ได้เข้ามารับตำแหน่งภายหลังการเกษียณอายุราชการแล้วถึง 8 ปี ท่านได้รับเชิญจากจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีให้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลของนายกฯจอมพล ถนอม เมื่อภายหลังการเลือกตั้ง ปี 2512 ครั้งนั้นเป็นรัฐบาลที่มีพรรคสหประชาไทยเป็นพรรครัฐบาล แต่ไม่มีชื่อว่าท่านได้มีบทบาทในการเลือกตั้ง เชื่อว่าท่านเข้ามาสู่ตำแหน่งในฐานะผู้อาวุโสทางศาลที่จะให้ไปดูแลงานเกี่ยวกับกฎหมาย และท่านก็ได้อยู่ร่วมรัฐบาลจนจอมพล ถนอมยึดอำนาจล้มรัฐบาลตัวเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน ปี 2514 ครั้นต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2516 เมื่อจอมพล ถนอมตั้งรัฐบาลใหม่ หลวงจำรูญฯได้รับตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ปีเดียวกันนี้ท่านได้ยังได้รับแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการของศาลโลกที่กรุงเฮกอีกด้วย

ศาสตราจารย์ หลวงจำรูญเนติศาสตร์ได้พ้นวงการเมืองไปได้ 2 ปีท่านก็ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2518

ตำแหน่ง[แก้]

  • 14 พฤษภาคม 2462 – มหาดเล็กวิเศษ[1]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศกรมมหาดเล็ก
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๑๐๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๒, ๑๔ ธันวาคม ๒๕๐๓
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๙๕ ง หน้า ๓๐๔๓, ๑๓ ธันวาคม ๒๔๙๘
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๔๑ ง หน้า ๑๔๔๖, ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๓
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เก็บถาวร 2022-06-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๔๖ ง หน้า ๑๘๓๕, ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๑๒
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2022-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๔ ตอนที่ ๖๑ ง หน้า ๓๓๗๔, ๑๖ ธันวาคม ๒๔๙๐