กรณ์ จาติกวณิช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรณ์ จาติกวณิช
ม.ป.ช., ม.ว.ม.
กรณ์ ในปี พ.ศ. 2566
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ดำรงตำแหน่ง
20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554
นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ก่อนหน้า สุชาติ ธาดาธำรงเวช
ถัดไป ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า
อยู่ในวาระ
เริ่มดำรงตำแหน่ง
16 ตุลาคม พ.ศ. 2565
ก่อนหน้า เทวัญ ลิปตพัลลภ
(หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา)
หัวหน้าพรรคกล้า
ดำรงตำแหน่ง
7 มีนาคม พ.ศ. 2563 – 1 กันยายน พ.ศ. 2565
ถัดไป จีระยุทธ วีรวงศ์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 (59 ปี)
ลอนดอน สหราชอาณาจักร
พรรค ประชาธิปัตย์ (2548–2563)
กล้า (2563–2565)
ชาติพัฒนากล้า (2565–ปัจจุบัน)
บิดา ไกรศรี จาติกวณิช
มารดา รัมภา จาติกวณิช
คู่สมรส วรกร จาติกวณิช
บุตร กานต์ จาติกวณิช
ไกรสิริ จาติกวณิช
ศิษย์เก่า โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน
มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด
ลายมือชื่อ ลายเซ็น กรณ์ จาติกวณิช ภาษาอังกฤษ.png
ชื่อเล่น ดอน

กรณ์ จาติกวณิช (เกิด 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507) ชื่อเล่น ดอน เป็นหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า อดีตหัวหน้าพรรคกล้า อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 5 สมัย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยเป็นนักการเมืองชาวไทย ที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังโลก โดยนิตยสารเครือ The Banker : Financial Times คนเดียวของประเทศไทย จากผลงานการนำพาประเทศไทยพ้นวิกฤตการเงินโลกแฮมเบอร์เกอร์ได้เร็วเป็นอันดับ 2 ของโลก

ข้อมูลพื้นฐาน[แก้]

  • เกิด 19 ก.พ. 2507

- ประถมศึกษา โรงเรียนสมถวิล / โรงเรียนสาธิตปทุมวัน

- มัธยมศึกษา Winchester College ประเทศอังกฤษ

- ปริญญาตรี University of Oxford ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์

  • พ.ศ. 2528 (21 ปี) เริ่มทำงานตำแหน่ง ผู้จัดการกองทุน S.G. Warburg อังกฤษ
  • พ.ศ. 2531 (24 ปี) CEO JF Thanakom ฉายา "มนุษย์ทองคำ" แจกโบนัส 36 เดือน
  • พ.ศ. 2542 (35 ปี) ขายหุ้น JF Thanakom ทั้งหมดให้กับ JP Morgan และนั่งเป็น ประธาน JP Morgan (Thailand) ต่ออีก 4 ปี
  • พ.ศ. 2547 (40 ปี) ลาออกจากประธาน JP Morgan ขายหุ้น ทั้งหมดทิ้งเงินเดือน 6 ล้านบาท เข้าสู่สนามการเมืองเต็มตัวกับพรรคประชาธิปัตย์
  • พ.ศ. 2548 (41 ปี) ได้รับเลือกเป็น ส.ส.เขต/ปาร์ตี้ลิสต์ 4 สมัย รวม 15 ปี ส.ส.เขต ยานนาวา-บางคอแหลม-สาทร-คลองเตย-วัฒนา
  • พ.ศ. 2551 (44 ปี) ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าแก้ปัญหาวิกฤติการเงินโลก Hamburger Crisis
  • พ.ศ. 2553 (46 ปี) นิตยสาร The Banker เครือ Financial Times ยกย่องเป็น รัฐมนตรีคลังโลก หลังพลิกวิกฤติเศรษฐกิจไทยฟื้นเร็วเป็นอันดับ 2 ของโลก
  • พ.ศ. 2557-2562 กรณ์ออกแบบนโยบายและลงมือทดลองใช้นโยบายในหลายโครงการให้เห็นผลจริง เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

- ก่อตั้ง/ดำรงตำแหน่ง ประธานสมาคมฟินเทค (ประเทศไทย)

- ประธานบริษัท Refinn สตาร์ทอัพ-ฟินเทค ช่วยคนไทยแก้หนี้บ้าน

- ริเริ่มโครงการ English for AIl พัฒนาภาษาอังกฤษของนักเรียนไทย

- ริเริ่มโครงการ เกษตรเข้มแข็ง สร้างแบรนด์ ข้าวอิ่ม ช่วยชาวนาจังหวัดมหาสารคามปลดหนี้ทั้งหมู่บ้านด้วยหลักเกษตรพรีเมี่ยม

  • พ.ศ. 2563 ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ก่อตั้ง พรรคกล้า มุ่งเน้นการเมืองสร้างสรรค์ปฏิบัตินิยม
  • พ.ศ. 2565 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ชาติพัฒนากล้า ยึดมั่นการเมืองสร้างสรรค์ เป็นพรรคเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤติประเทศ

ประวัติ[แก้]

กรณ์ จาติกวณิชเกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 ที่โรงพยาบาลปริ๊นเซสเบียทริซ ถนนบรอมพ์ตัน ประเทศอังกฤษ มีชื่อเล่นว่า "ดอน" เป็นบุตรคนกลางของ นายไกรศรี จาติกวณิช อดีตอธิบดีกรมศุลกากร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กับ นางรัมภา จาติกวณิช (นามสกุลเดิม พรหโมบล บุตรี พระยาบุเรศผดุงกิจ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ)

วรกร จาติกวณิช ภรรยาของกรณ์

กรณ์ จาติกวณิช สมรสกับวรกร จาติกวณิช (สกุลเดิม: สูตะบุตร) มีบุตรธิดาด้วยกัน คือ กานต์ จาติกวณิช (แจม) และไกรสิริ จาติกวณิช (จอม) นอกจากนี้วรกรยังมีลูกจากการสมรสครั้งก่อนอีก 2 คน คือ พงศกร มหาเปารยะ (แต๊ง) และพันธมิตร มหาเปารยะ (ติ๊ง)

การศึกษา[แก้]

ครอบครัว[แก้]

  • ต้นตระกูลทางฝ่ายบิดาของ กรณ์ จาติกวณิช เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาตั้งรกรากในประเทศสยาม
  • นามสกุล "จาติกวณิช" หรือ "Chatikavanij" เป็นนามสกุลพระราชทานสมัยรัชกาลที่ 6 ลำดับที่ 1211 ที่พระราชทานแก่ พระอธิกรณประกาศ (หลุย) เจ้ากรมกองตระเวนในขณะนั้น โดยระบุว่าพระอธิกรณประกาศมีปู่คือ พระอภัยวานิช (จาด) และเนื่องจากเป็นสกุลพ่อค้า จีงมีคำว่า "วณิช" ในนามสกุล[1]
  • คุณปู่คือ พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช หรือ ซอเทียนหลุย) ได้เข้ารับราชการและดำรงตำแหน่งเป็น อธิบดีกรมตำรวจ คนที่ 2 ของไทย และได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น องคมนตรี ในสภากรรมการองคมนตรี สมัยรัชกาลที่ 7
  • คุณตาคือ พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล) อดีตอธิบดีกรมตำรวจ คนที่ 3 ที่ดำรงตำแหน่งต่อจาก พระยาอธิกรณ์ประกาศ ซึ่งเป็นคุณปู่ของกรณ์
  • พระยาอธิกรณ์ประกาศ มีภรรยา 2 คน ภรรยาคนแรก มีบุตรชาย คือ นายแพทย์กษาน จาติกวณิช คุณหญิงเสงี่ยมภรรยาคนที่สอง มีบุตรชาย 2 คน คือ เกษม จาติกวณิช และ ไกรศรี จาติกวณิช อดีตอธิบดีกรมศุลกากรและกรมสรรพากร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งเป็นบิดาของกรณ์
  • คุณลุง คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์กษาน จาติกวณิช อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (สมรสกับ ท่านผู้หญิงสุมาลี (ยุกตะเสวี) จาติกวณิช มีบุตรสาวคือ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการและเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)
  • คุณลุงอีกคนคือ นายเกษม จาติกวณิช หรือ "ซูเปอร์เค" เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ว่าการคนแรกของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และเป็นประธานรถไฟฟ้า BTS สมรสกับ คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช (ล่ำซำ) ผู้บริหารกลุ่ม “ล็อกซเล่ย์”
  • คุณย่าเป็นคนเหนือจากจังหวัดลำปาง
  • คุณตา (พระยาบุเรศผดุงกิจ) สืบเชื้อสายโดยตรงจาก เจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
  • คุณยาย เป็นชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย
  • กรณ์ มีเชื้อสายดัตช์ แต่เกิดที่กรุงลอนดอน และเดินทางกลับมาประเทศไทยตั้งแต่อายุ 3 ปี และปักหลักเป็นชาวกรุงเทพมหานครมาจนถึงปัจจุบัน
  • กรณ์ มีพี่น้องเป็นชายล้วน 3 คน คือ อธิไกร กรณ์ และอนุตร ซึ่งอนุตรมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับกรณ์มาก ขนาดที่มีคนจำผิดมาแล้วมากมาย

การทำงาน[แก้]

กรณ์ จาติกวณิช เคยดำรงตำแหน่งประธาน บริษัท เจพี มอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2547 ประธานบริษัทหลักทรัพย์เจเอฟ ธนาคม จำกัด พ.ศ. 2531 – พ.ศ. 2543 เอส จี วอร์เบิร์ก ลอนดอน ประเทศอังกฤษ พ.ศ. 2528 – พ.ศ. 2530

  • พ.ศ. 2528 : เริ่มงานด้วยตำแหน่งผู้จัดการกองทุน บริษัท เอส จี วอร์เบิร์ก (S.G. Warburg & Co.) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ (พ.ศ. 2528-2530)
  • พ.ศ. 2531 : กลับประเทศไทย ร่วมก่อตั้งและเป็นประธาน บริษัทหลักทรัพย์ เจเอฟ ธนาคม จำกัด ด้วยวัยเพียง 24 ปี (พ.ศ. 2531-2535)
  • พ.ศ. 2535 : กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เจเอฟ ธนาคม จำกัด ด้วยวัย 28 ปี (พ.ศ. 2535-2543)
  • พ.ศ. 2544 :
    • ขายหุ้น เจเอฟ ธนาคม ในมือทั้งหมดให้กับ JP Morgan Chase และตั้งใจจะวางมือ เพราะแผนธุรกิจบรรลุผล ได้ผ่านงานในวงการการเงินครบแล้ว
    • ตัดสินใจรับข้อเสนอเป็นประธาน บริษัทเจพี มอร์แกน ประเทศไทย โดยทำงานในฐานะผู้บริหารมืออาชีพแบบเต็มตัว (พ.ศ. 2544-2548)
  • พ.ศ. 2548 : ลาออกจาก JP Morgan เพื่อเข้าสู่วงการเมืองในวัย 40 ปึ

ประสบการณ์[แก้]

ต้นปี พ.ศ. 2549 กรณ์ จาติกวณิช มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการขายหุ้นชินคอร์ปของ ตระกูลชินวัตร และดามาพงษ์ โดยได้รับมอบหมายจากพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นหัวหน้าคณะ​ทำงานตรวจสอบ​การขายหุ้นชินคอร์ป ซึ่งการขายหุ้นดังกล่าวถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีความเกี่ยวพันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในประเด็นการซุกหุ้น และหลีกเลี่ยงภาษี จนนำไปสู่คำพิพากษาตัดสินยึดทรัพย์อดีตนายกฯ ในที่สุด

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 กรณ์ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ในเขตเลือกตั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร (เขตบางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย และวัฒนา) และภายหลังการจัดตั้ง รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ทำให้ พรรคประชาธิปัตย์ มีสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวในสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์จึงประกาศจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น เพื่อติดตามตรวจสอบ และเสนอแนะการบริหารงานของรัฐบาล ตามรูปแบบที่มีในต่างประเทศ กรณ์ในฐานะแกนนำทีมเศรษฐกิจ ได้รับเลือกจากทางพรรคให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเงา

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ตามข้อบังคับพรรค และ กรณ์ จาติกวณิช ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบดูแลพื้นที่ กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ทางด้านการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร กรณ์ จาติกวณิช ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลังและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร

ต่อมาเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 กรณ์ จาติกวณิช ได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง [2] ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ครม.คณะที่ 59)

ช่วงปี 2551-2553 ประเทศไทยประสบวิกฤตการเงินโลกแฮมเบอร์เกอร์ที่ลุกลามมาจากสหรัฐอเมริกา กรณ์ จาติกวณิช ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลแก้ไขวิกฤตด้วยมาตรการไทยเข้มแข็ง จนกระทั่งประเทศไทยฟื้นจากวิกฤตเร็วเป็นอันดับ 2 ของโลก พลิกตัวเลข GDP จากติดลบสองหลักเป็นบวก 7.8% ภาคการส่งออกเติบโตก้าวกระโดด 28.5% จนนายกรณ์ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังโลก โดยนิตยสารเครือ The Banker : Financial Times คนแรกของประเทศไทย

ในปี 2563 กรณ์ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้วไปตั้งพรรคกล้า ซึ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค[3] ในวันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565 นายกรณ์ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคกล้าทำให้พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคกล้าและคณะกรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ[a] ก่อนจะมีการแถลงข่าวไปทำงานผนึกกำลังกับสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จากพรรคชาติพัฒนา และหลังจากที่กรณ์ จาติกวณิช เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค มีการเปลี่ยนชื่อพรรคชาติพัฒนา เป็น พรรคชาติพัฒนากล้า

ในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2565 นายกรณ์ จาติกวณิช ได้รับเลือกด้วยมติเอกฉันท์ให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า โดยนายเทวัญ ลิปตพัลลภได้ประกาศลาออกกลางที่ประชุม และเสนอชื่อนายกรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน[4]

บทบาททางการเมือง[แก้]

กรณ์ จาติกวณิช เข้าสู่วงการการเมืองจากการชักชวนของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อนนักเรียนเมื่อครั้งเรียนอยู่ที่อังกฤษ โดยชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. เขต 7 กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย เขตยานนาวาของพรรคประชาธิปัตย์ จากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ด้วยคะแนนเสียง 36,010 คะแนน เป็น 1 ใน 4 ของ ส.ส.กรุงเทพมหานครของพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากนั้นนายกรณ์ ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อเนื่องอีก 4 สมัย (2548, 2550, 2554, 2562)

กรณ์ จาติกวณิช เคยได้รับเลือกให้ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเงา ในการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

ทางด้านการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร กรณ์ จาติกวณิช ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลังและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร 2 สมัย

กรณ์ จาติกวณิช ดำรงตำแหน่งเป็น รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์[5]

กรณ์ จาติกวณิช ดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อปลายปี 2551 ในช่วงที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกแฮมเบอร์เกอร์ จนเมื่อปลายปี 2553 มาตรการ "ไทยเข้มแข็ง" ที่นายกรณ์ ริเริ่มไว้ส่งผลจนประสบความสำเร็จจนนายกรณ์ ได้รับตำแหน่ง "รัฐมนตรีคลังโลก" คนแรกของประเทศไทย

ปลายปี พ.ศ. 2553 สื่อมวลชนประจำทำเนียบได้ตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรี โดยกรณ์ ได้รับฉายาว่า "โย่งคาเฟ่" จากผลงานการแสดงบทบาทพันตรีประจักษ์ คู่กับทักษอร ภักดิ์สุขเจริญในภาพยนตร์โฆษณา และการเปิดผับเชียร์ฟุตบอล[6]

พรรคชาติพัฒนากล้า[แก้]

ในปี 2563 เขาลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้วไปตั้งพรรคกล้า ซึ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563[7] โดยเขาเป็นหัวหน้าพรรคและอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นเลขาธิการพรรค[8]

ในเดือนกันยายน 2565 เขาแถลงข่าวไปทำงานผนึกกำลังกับสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จากพรรคชาติพัฒนา

พรรคชาติพัฒนากล้า มีการเปลี่ยนชื่อพรรคชาติพัฒนา เป็น พรรคชาติพัฒนากล้า เมื่อนายกรณ์ จาติกวณิช เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค [9]

ต่อมา 16 ตุลาคม 2565 นายกรณ์ จาติกวณิช ได้รับเลือกด้วยมติเอกฉันท์ให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า โดยนายเทวัญ ลิปตพัลลภประกาศลาออกกลางที่ประชุม และเสนอนายกรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งพรรคแทน โดยนายกรณ์ กล่าวกลางที่ประชุมว่า จะนำพาพรรคชาติพัฒนากล้า มุ่งเน้นการทำงานเพื่อเศรษฐกิจปากท้องด้วยการเมืองสร้างสรรค์​พร้อมสู้ศึกการเลือกตั้งครั้งต่อไป [10]

การดำรงตำแหน่งอื่น[แก้]

  • กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • กรรมการบริษัท จาร์ดีน เฟลมมิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด
  • กรรมการสมาคมบริษัทตลาดหลักทรัพย์
  • กรรมการบริษัท อยุธยา ซีเอ็มจี แอสชัวรันส์ จำกัด (มหาชน)
  • กรรมการบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  • กรรมการบริษัท ไทยยิบซั่ม จำกัด (มหาชน)
  • กรรมการสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย

รางวัลเกียรติยศทางสังคม[แก้]

เปรียว อวอร์ด[แก้]

กรณ์ จาติกวณิช ได้รับรางวัล "เปรียว อวอร์ด 2005" [11] ที่นิตยสารเปรียวมอบให้ 10 บุคคลคุณภาพแห่งปี ซึ่งประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และเป็นที่รู้จักในแวดวงสังคมไทย โดยมีการเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จ จากหลากหลายวิชาชีพมาทำหน้าที่เป็น คณะกรรมการคัดเลือก และตัดสิน ภายใต้หลักเกณฑ์สำคัญคือ จะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติพร้อม ทั้งเรื่องบุคลิกภาพ, สัมพันธภาพ, ความฉลาด, ความสง่างาม และมีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับในสังคม

รัฐมนตรีคลังโลก[แก้]

เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2553 นิตยสาร The Banker นิตยสารชั้นนำของประเทศอังกฤษ คัดเลือกให้กรณ์ จาติกวณิช เป็น "รัฐมนตรีคลังโลก ปี 2010" และ "รัฐมนตรีคลังเอเชียแห่งปี 2010" โดยคัดเลือกจากรัฐมนตรีคลังในประเทศต่างๆ ทั่วโลก 5 ภูมิภาค ได้แก่ อเมริกา ยุโรป เอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง[12]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอน 86 หน้า 137

อ้างอิง[แก้]

  1. "นามสกุลพระราชทานหมวด จ." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-05. สืบค้นเมื่อ 2007-11-19.
  2. พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
  3. อรรถวิชช์ นำทีมจดตั้ง พรรคกล้า ชูปฏิบัตินิยม โชว์จุดยืนไม่ซ้าย-ไม่ขวา-ไม่กลาง
  4. กรณ์ผงาดหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ลั่น รื้อโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (จำนวน ๑๙ คน), เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๑๕๑ง หน้า ๕๓ วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๔
  6. ฉายานักการเมืองปี 53
  7. "อรรถวิชช์ นำทีมจดตั้ง พรรคกล้า ชูปฏิบัตินิยม โชว์จุดยืนไม่ซ้าย-ไม่ขวา-ไม่กลาง". ข่าวสด. 2020-02-14.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "พรรคกล้าจัดประชุม เลือกกรณ์หัวหน้า -อรรถวิชช์ เลขาฯ". posttoday.com. 7 Mar 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. จาก 7 พรรคสู่ “ชาติพัฒนากล้า” “2 หัวหน้า” สลัดแบรนด์ท้องถิ่น
  10. กรณ์ผงาดหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ลั่น รื้อโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ
  11. 10 หนุ่มสาววัยทำงาน คว้ารางวัลเปรียวอวอร์ด
  12. Finance Minister of the Year 2010 - Global and Asia-Pacific
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๒ ลำดับที่ ๗, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๓, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๑๐ ลำดับที่ ๑, ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า กรณ์ จาติกวณิช ถัดไป
สุชาติ ธาดาธำรงเวช 2leftarrow.png Seal of the Ministry of Finance (Thailand).png
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ครม. 59)
(20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 - 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554)
2rightarrow.png ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล