วิมล วิริยะวิทย์
นาวาอากาศเอก วิมล วิริยะวิทย์ | |
---|---|
![]() | |
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม | |
ดำรงตำแหน่ง 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 – 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 | |
นายกรัฐมนตรี | พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 7 ตุลาคม พ.ศ. 2464 |
เสียชีวิต | 16 มกราคม พ.ศ. 2545 (80 ปี) |
นาวาอากาศเอก วิมล วิริยะวิทย์ เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลของพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และเป็นอดีตสมาชิกเสรีไทย[1]
ประวัติ[แก้]
วิมล เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2464 เป็นบุตรของนายตุ่ย วิริยะวิทย์ และนางจิ๋ว จบจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2480 จากนั้นได้เข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนยังไม่ทันจบในขณะที่เรียนอยู่ชั้นปีที่สอง ได้สอบชิงทุนของกองทัพอากาศได้ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ในปี พ.ศ. 2483 แต่ยังไม่ทันบการศึกษา
วิมล สมรสกับ ปยงค์ วิริยะวิทย์ วิมลได้ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2545
เสรีไทย[แก้]
นาวาอากาศเอก วิมล วิริยะวิทย์ เป็นสมาชิกเสรีไทยที่เป็นตัวจักรสำคัญในการติดต่อของเสรีไทยสายอเมริกากับขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทย ที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ทั้งนี้เพราะภายหลังที่ไทย โดยรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ในตอนต้นปี พ.ศ. 2485 แล้ว ที่สหรัฐอเมริกานั้น ตัวทูตคือ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช โดยวิมล เป็น 1 ใน 2 คนไทยที่กระโดดร่มลงที่จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2487 จนถูกส่งตัวเข้ามากรุงเทพฯ ให้พบกับอธิบดีกรมตำรวจ โดยวิมลบอกเจ้าหน้าที่ว่าต้องรายงานข้อราชการลับ กับอธิบดีกรมตำรวจ คือ หลวงอดุลยเดชจรัส จนได้ไปพบกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่บ้านนายดิเรก ชัยนาม ที่ถนนรองเมือง
รับราชการ[แก้]
หลังสงครามสงบ วิมล ได้รับยศทหารชั่วคราวเป็นร้อยเอก แล้วจึงได้กลับไปเรียนต่อที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์จนจบปริญญาตรีและปริญญาโท ในปี พ.ศ. 2490 จากนั้นจึงกลับมารับราชการใช้ทุนที่กองทัพอากาศ ติดยศเป็นนาวาอากาศเอก (พิเศษ) เมื่อปี พ.ศ. 2501 ตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิทยาการกรมช่างอากาศ จากนั้นในปี พ.ศ. 2504 จึงย้ายออกจากกองทัพอากาศไปเป็นอาจารย์ที่บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อมาก็ได้ย้ายจากการเป็นอาจารย์ไปรับราชการพลเรือนที่กระทรวงอุตสาหกรรม จนเป็นนายช่างใหญ่ รองปลัดกระทรวง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จนเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
การเมือง[แก้]
ในสมัยที่พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2522 วิมลได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[2] หลังจากนั้นยังได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 จนถึงปี พ.ศ. 2529
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร. วิมล วิริยะวิทย์ : ตัวเชื่อมเสรีไทยสายอเมริกา
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๔ ราย)
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2464
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2545
- ทหารอากาศชาวไทย
- นักการเมืองไทย
- อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์
- ข้าราชการพลเรือนชาวไทย
- ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมไทย
- บุคคลจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
- นิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ศิษย์เก่าจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์
- บุคคลจากบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สมาชิกขบวนการเสรีไทย