ข้ามไปเนื้อหา

พรรคชาติพัฒนา (พ.ศ. 2550)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พรรคชาติพัฒนากล้า)
พรรคชาติพัฒนา
ประธานสุวัจน์ ลิปตพัลลภ
หัวหน้าเทวัญ ลิปตพัลลภ
รองหัวหน้า
  • สมศักดิ์ กาญจนวัฒนา
  • วุฒิพงศ์ ทองเหลา
  • สุเมธ ศรีพงษ์
  • พันตำรวจเอกพณาเจือเพ็ชร กฤษณะราช
  • ยุทธนา วิริยะกิตติ
  • อรัญ พันธุมจินดา
เลขาธิการประสาท ตันประเสริฐ
รองเลขาธิการ
  • อรทัย เกิดทรัพย์
  • พลตรีธชา จินตวร
  • องอาจ พฤกษ์พนาเวศ
  • สมบัติ กาญจนวัฒนา
เหรัญญิกอัญชลี บุสสุวัณโณ
นายทะเบียนสมาชิกอัครวรรณ เจริญผล
โฆษกเยาวภา บุรพลชัย
รองโฆษก
  • ศุภรัศมิ์ ตัณฑเศรณี วัฒน์
  • มสารัศมิ์ อื้อศรีวงศ์
คำขวัญงานดี มีเงิน ของไม่แพง
ก่อตั้ง3 ตุลาคม พ.ศ. 2550 (17 ปี)
รวมตัวกับพรรครวมใจไทย เปลี่ยนชื่อเป็นพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา
พรรคเพื่อแผ่นดิน เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน
พรรคกล้า เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคชาติพัฒนากล้า
แยกจากพรรคไทยรักไทย
ที่ทำการ
สมาชิกภาพ  (ปี 2566)15,210 คน [1]
สี  แดง
  น้ำเงิน
  เหลือง
สภาผู้แทนราษฎร
3 / 495
การเมืองไทย
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

พรรคชาติพัฒนา (อังกฤษ: Chart Pattana Party) หรือในชื่อเดิมว่า รวมใจไทยชาติพัฒนา[2] รวมชาติพัฒนา ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน และ ชาติพัฒนากล้า เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2550 โดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นสมาชิกจากพรรคการเมืองที่เคยมีอยู่แล้ว อาทิ กลุ่มของสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นต้น จัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยรวมกลุ่มรวมใจไทยเข้ากับพรรคชาติพัฒนา และในปี พ.ศ. 2565 นายกรณ์ จาติกวณิช ได้นำสมาชิกส่วนหนึ่งจากพรรคกล้า เข้ามาสมัครสมาชิกพรรคชาติพัฒนา และกรณ์ก็ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า และการประชุมใหญ่ในปี พ.ศ. 2567 พรรคชาติพัฒนากล้าได้กลับมาใช้ชื่อเดิมคือ พรรคชาติพัฒนา

ประวัติ

[แก้]

รวมใจไทยชาติพัฒนา เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2550 โดยสมาชิกส่วนใหญ่ อาทิ กลุ่มของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นต้น จัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยรวมกลุ่มรวมใจไทยเข้ากับพรรคชาติพัฒนา มีบุคคลสำคัญทางการเมืองหลายคนเข้าร่วม เช่น ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์, ดร.พิจิตต รัตตกุล, ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์, อุทัย พิมพ์ใจชน, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นต้น

ในการประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 1/2550 วันที่ 15 ตุลาคม 2550 เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่ประชุมได้มีมติให้ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค มี นายเกษมสันต์ วีระกุล เป็นรองหัวหน้าพรรค และมีนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นเลขาธิการพรรค[3]

ต่อมาในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 พลเอก เชษฐา ฐานะจาโร หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรค หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สัดส่วน และสมาชิกพรรค หลังจากที่ได้เลือก พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งขัดกับมติของพรรคที่ให้เลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยเจ้าตัวยอมรับว่ารู้สึกไม่สบายใจ ที่มีความเห็นต่างจากพรรค แต่เห็นว่าบ้านเมืองขณะนี้แบ่งเป็น 2 ฝ่าย จึงอยากให้คนกลางเข้ามาบริหารประเทศ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นหลัก และเชื่อว่ารัฐบาลคงจะบริหารงานลำบาก แต่ก็ขอให้ ส.ส. ทำหน้าที่โดยยึดหลักของกฎหมาย[4][5] จากนั้นในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ในการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3/2551 ที่ประชุมมีมติเลือก นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ [6]

ในการประชุมใหญ่สามัญของพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ประจำปี 2553 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553 พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาได้เปลี่ยนชื่อพรรคเป็น "รวมชาติพัฒนา" พร้อมกับเปลี่ยนสัญลักษณ์พรรคใหม่ด้วยเป็นรูปรูปหัวช้างจรดปลายงวงช้าง ที่เป็นสัญลักษณ์คู่บ้านเมือง ประกอบขึ้นด้วยแถบสีธงไตรรงค์ ปลายงวงบรรจบด้วยรูปวงกลมสีทอง หมายถึงสุวรรณภูมิอันเป็นศูนย์รวมของชาติไทย[7]

ในการประชุมใหญ่ของพรรคชาติพัฒนากล้า ในปี พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 พรรคชาติพัฒนากล้าได้เปลี่ยนชื่อเป็น ชาติพัฒนา แบบเดิม และกลับมาใช้โลโก้แบบเดิม

การสมัครรับเลือกตั้ง

[แก้]

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2550

[แก้]

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา (ในขณะนั้น) ได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 9 คน และได้ร่วมกับพรรคพลังประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาลถึง 2 ครั้ง คือ รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยมี วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรค ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรค ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ต่อมาในในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 พรรครวมชาติพัฒนา ได้ร่วมสนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคฯ ยังได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในตำแหน่งเดิมอีกด้วย

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2554

[แก้]

ในการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรครวมชาติพัฒนา ครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554 พรรครวมชาติพัฒนา และพรรคเพื่อแผ่นดิน ได้ประกาศรวมตัวกันโดยใช้ชื่อพรรคใหม่ว่า "พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน"[10]โดยหลังจากมีการยุบสภาแล้ว สมาชิกของพรรคเพื่อแผ่นดิน ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมชาติพัฒนา และดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อพรรคต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง โดยหลังจากนั้นอีก 3 วันคือในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554 นายประดิษฐ์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคทำให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค ต่อมาอีก 1 อาทิตย์คือในวันที่ 19 เมษายนนาย เกษมสันต์ วีระกุล ได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคทำให้พ้นจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค[11]หลังจากนั้นได้มีการลาออกของกรรมการบริหารพรรคจำนวนมากทำให้เหลือกรรมการบริหารพรรคเพียง 2 คนจึงต้องพ้นจากตำแหน่ง[12]

ต่อมาในการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554 ได้มีการเปลี่ยนชื่อพรรคอีกครั้งเป็น พรรคชาติพัฒนา พร้อมกับการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือก นายแพทย์วรรณรัตน์ ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรคที่ประชุมมีมติเลือก ร้อยตรี ประพาส ลิมปะพันธุ์ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคนใหม่และย้ายที่ทำการพรรคมายังที่ทำการพรรคแห่งใหม่ที่ 357 ถนนสุโขทัย แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต [13]

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2557

[แก้]

พรรคชาติพัฒนา ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 โดยมีพลเอก ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ได้หมายเลขประจำพรรคคือ หมายเลข 1 แต่การเลือกตั้งในครั้งนี้ได้ถูกประกาศให้เป็นโมฆะ

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2562

[แก้]

ในการประชุมใหญ่สามัญพรรคชาติพัฒนาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนแปลงข้อบังพรรคฉบับใหม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์พรรค[14] จากนั้นในการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แทนชุดเก่าจำนวน 27 คนซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกนาย เทวัญ ลิปตพัลลภ และนาย ดล เหตระกูล ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนใหม่[15]

ใน การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 พรรคชาติพัฒนาได้ที่นั่งในสภาทั้งสิ้น 3 ที่นั่งแบ่งเป็นบัญชีรายชื่อ 2 คนคือ นายเทวัญซึ่งได้รับตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายดล และแบบแบ่งเขต 1 คนคือนาย วัชรพล โตมรศักดิ์ ต่อมาทางพรรคได้ ส.ส. เพิ่มอีก 1 คนคือ นาย สมัคร ป้องวงศ์ ส.ส. สมุทรสาคร ซึ่งย้ายมาจาก พรรคอนาคตใหม่

ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 นายเทวัญได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคในเวลาต่อมา จากนั้นทางพรรคได้จัดการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แทนชุดเก่าที่พ้นจากตำแหน่งจำนวน 29 คนเมื่อวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกนายเทวัญให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อไปส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรคได้มีการเลือกนาย วัชรพล โตมรศักดิ์ ให้ดำรงตำแหน่งแทนนายดลที่ขยับขึ้นไปดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคพร้อมกับแก้ไขข้อบังคับพรรคโดยได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ทำการพรรคจากที่เดิมไปอยู่ที่ 2222/2 ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา[16][17]

ในการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีครั้งที่ 1/2565 ของพรรคชาติพัฒนาเมื่อวันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2565 ที่ประชุมมีฉันทามติให้ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคให้ดำรงตำแหน่งประธานพรรค ขณะเดียวกัน พลเอกฐิติวัจน์ กำลังเอก ก็ได้ขอลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคเนื่องจากปัญหาสุขภาพ[18][19]

ต่อมาในการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่จังหวัดนครราชสีมา ที่ประชุมมีมติเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และชื่อพรรคเป็น พรรคชาติพัฒนากล้า[20] พร้อมกันนี้ยังได้มีมติเลือกนาย กรณ์ จาติกวณิช อดีตหัวหน้าพรรคกล้าให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค[21] กระทั่งเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมของปีเดียวกัน ได้มีมติเลือก กรณ์ จาติกวณิช เป็นหัวหน้าพรรค และเทวัญ ลิปตพัลลภ เป็นเลขาธิการพรรค[22] ปัจจุบันทางพรรคได้ใช้อาคารเลขที่ 86/12 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร ซึ่งเป็นที่ทำการพรรคกล้ามาใช้เป็นที่อยู่เพื่อติดต่อ

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2566

[แก้]

พรรคชาติพัฒนากล้าได้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสองรายได้แก่ ประสาท ตันประเสริฐและ นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล

ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 กรณ์ จาติกวณิช ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้าทางเฟสบุ๊คของเขา[23][24] โดยทางพรรคชาติพัฒนากล้ามีกำหนดจัดประชุมใหญ่ในวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2566 เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่[25] จากนั้นในวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2566 พรรคชาติพัฒนากล้าได้จัดการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 2/2566 ที่โรงแรมเซ็นทาราโคราช เพื่อรายงานผลการเลือกตั้งทั่วไป รวมถึงเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รักษาการเลขาธิการพรรค, อดีตหัวหน้าพรรคและอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นของนายประสาท ตันประเสริฐ ส.ส. นครสวรรค์ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นประธานพรรค ส่วนนายกรณ์อดีตหัวหน้าพรรคยังคงเป็นสมาชิกพรรค[26] จากนั้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2566 นายอรรถวิชช์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคโดยให้เหตุผลว่าเพื่อแก้ไขปัญหาเครดิตบูโรและผลักดันร่างกฎหมายเครดิตบูโรฉบับประชาชน[27] แต่ยังคงเป็นสมาชิกพรรค

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 วุฒิพงศ์ ทองเหลา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งถูกขับออกจากพรรคก้าวไกลกรณีคุกคามทางเพศ ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติพัฒนากล้า[28] และในวันเดียวกัน นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตหัวหน้าพรรค ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคชาติพัฒนากล้า[29]

ในวันที่ 25 เมษายน 2567 พรรคชาติพัฒนากล้าได้จัดประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2567 เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคที่ว่างลง 2 ตำแหน่ง ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือก นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ส.ส. ปราจีนบุรี และนายอรัญ พันธุมจินดา อดีตรองเลขาธิการพรรค เป็นรองหัวหน้าพรรค พร้อมกับการแก้ไขข้อบังคับพรรคเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคกลับมาเป็น พรรคชาติพัฒนา รวมถึงเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์พรรค[30]

ผู้บริหาร

[แก้]

หัวหน้าพรรค

[แก้]
ลำดับ รูปภาพ ชื่อ เริ่มดำรงตำแหน่ง สิ้นสุดวาระ
1 อานุภาพ นันทพันธุ์ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2550 14 ตุลาคม พ.ศ. 2550
2 เชษฐา ฐานะจาโร 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551
3 วรรณรัตน์ ชาญนุกูล 26 ธันวาคม พ.ศ. 2551 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
4
(ครั้งที่ 1)
เทวัญ ลิปตพัลลภ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 16 ตุลาคม พ.ศ. 2565
5 กรณ์ จาติกวณิช 21 ตุลาคม พ.ศ. 2565 25 มิถุนายน พ.ศ. 2566
- วัชรพล โตมรศักดิ์ (รักษาการ) 25 มิถุนายน พ.ศ. 2566 21 สิงหาคม พ.ศ. 2566
4
(ครั้งที่ 2)
เทวัญ ลิปตพัลลภ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ปัจจุบัน

เลขาธิการพรรค

[แก้]
ลำดับ รูป ชื่อ เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 วรรณรัตน์ ชาญนุกูล 3 ตุลาคม พ.ศ. 2550 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550
2 ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550 12 เมษายน พ.ศ. 2554
3 ร้อยตรีประพาส ลิมปะพันธุ์ 18 กันยายน พ.ศ. 2554 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555
4 ประเสริฐ บุญชัยสุข 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
5 ดล เหตระกูล 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563
6 วัชรพล โตมรศักดิ์ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 16 ตุลาคม พ.ศ. 2565
7 เทวัญ ลิปตพัลลภ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2565 21 สิงหาคม พ.ศ. 2566
8 ประสาท ตันประเสริฐ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ปัจจุบัน

การเลือกตั้ง

[แก้]

ผลการเลือกตั้งทั่วไป

[แก้]
การเลือกตั้ง จำนวนที่นั่ง คะแนนเสียงทั้งหมด สัดส่วนคะแนนเสียง ที่นั่งเปลี่ยน ผลการเลือกตั้ง ผู้นำเลือกตั้ง
2550
9 / 500
4,135,658 1.88% เพิ่มขึ้น 9 ร่วมรัฐบาล พลเอก เชษฐา ฐานะจาโร
2554
7 / 500
495,762 1.52% ลดลง 2 ร่วมรัฐบาล วรรณรัตน์ ชาญนุกูล
2557 การเลือกตั้งเป็นโมฆะ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ
2562
3 / 500
244,770 0.69% ลดลง 4 ร่วมรัฐบาล
2566
2 / 500
212,676 0.54% ลดลง 1 ร่วมรัฐบาล กรณ์ จาติกวณิช


อ้างอิง

[แก้]
  1. ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ ณ วันที่ 8 มีนาคม 2566
  2. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา
  3. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา
  4. เชษฐาไขก๊อกหน.รช.รับผิดแหกมติโหวตประชา[ลิงก์เสีย]
  5. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรค และข้อบังคับพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา
  6. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา
  7. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงชื่อ ชื่อย่อ ภาพเครื่องหมาย นโยบาย และข้อบังคับพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา
  8. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคชาติพัฒนา
  9. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคชาติพัฒนากล้า
  10. "ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงชื่อ ชื่อย่อ นโยบาย และข้อบังคับพรรครวมชาติพัฒนา" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-06-14. สืบค้นเมื่อ 2020-08-17.
  11. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน
  12. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน
  13. "ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงชื่อ ภาพเครื่องหมาย ที่ตั้ง นโยบาย ข้อบังคับ และคณะกรรมการบริหารพรรคของพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-11-12. สืบค้นเมื่อ 2012-02-07.
  14. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคชาติพัฒนา
  15. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชาติพัฒนา
  16. “สุวัจน์” ชู “เทวัญ” นั่งหัวหน้า “ชพน.” อีกรอบ “ส.ส.โต” เป็นเลขาฯ ย้ายที่ทำการพรรคมาโคราช
  17. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การแก้ไขข้อบังคับพรรค และเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชาติพัฒนา
  18. ชาติไทยพัฒนา ประชุมใหญ่ชง "สุวัจน์" ประธานพรรค เตรียมคัดแคนดิเดต "นายกฯ"
  19. "สุวัจน์​" เผย "ฐิติวัจน์" ลาออกจากพรรคชาติพัฒนา เหตุปัญหาสุขภาพ
  20. ชัด! "กรณ์-สุวัจน์" ผนึกกำลัง ผุด “ชาติพัฒนากล้า” สู้ศึกเลือกตั้งใหญ่
  21. 'สุวัจน์' มั่นใจรีแบรนด์ 'ชาติพัฒนากล้า' เพิ่มความเข้มแข็ง ยังไม่เปลี่ยนหัวหน้าพรรค
  22. “กรณ์” ผงาดนั่งหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า “เทวัญ” นั่งเลขาธิการพรรค
  23. https://www.facebook.com/100044357112719/posts/pfbid02bWZJ1rx2weLbYqfRnnqAjo9xg4LuLirxeGY2o6HesVmVHK3MtWLPi4MuDeaoTGWDl/?mibextid=cr9u03
  24. “กรณ์ จาติกวณิช” ลาออกจากหัวหน้าพรรค "ชาติพัฒนากล้า" เผยยื่นจดหมายลาออก กับ “สุวัจน์” แล้ว ขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนแนวคิด ขอเป็นกำลังใจเพื่อนนักการเมืองทุกพรรค แก้ปัญหาบ้านเมือง
  25. 'ชาติพัฒนากล้า' จัดประชุมใหญ่เลือกหัวหน้า-เปลี่ยนชื่อพรรค 'สุวัจน์' แบะท่าหวนคืน
  26. เทวัญ คัมแบ๊ก หัวหน้าพรรค ‘ชาติพัฒนากล้า’ อรรถวิชช์ นั่งรองหน. กำนันอู๊ด รั้งเลขาฯ
  27. “อรรถวิชช์” ลาออกรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ผลักดันกม.เครดิตบูโรฉบับปชช.
  28. "ทันเดดไลน์ สส.แจ้ วุฒิพงศ์ สมัครเข้า ชาติพัฒนากล้า แล้ว รอเปิดตัวหลังกลับตปท". ข่าวสด. 29 พฤศจิกายน 2023. สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  29. "กรณ์ จาติกวณิช ไขก๊อกสมาชิก พรรคชาติพัฒนากล้า". มติชน. 29 พฤศจิกายน 2023. สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  30. "สุวัจน์'คืนชีพใช้ชื่อเดิม'ชาติพัฒนา' ตัดคำว่า'กล้า'ออกแล้ว ฮือฮาตั้ง'สส.แจ้'นั่งรองหน.พรรค". แนวหน้า. 25 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2024.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]