ข้ามไปเนื้อหา

ปราสาทพระวิหาร

พิกัด: 14°23′46″N 104°40′49″E / 14.39611°N 104.68028°E / 14.39611; 104.68028
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปราสาทพระวิหาร
บฺราสาทพฺระวิหาร
ปราสาทพระวิหาร
ศาสนา
เทพพระศิวะ
เทศกาลเทวสถาน
ที่ตั้ง
ที่ตั้งบนยอดเขาพระวิหาร ทิวเขาพนมดงรัก
ประเทศจังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา
ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา
ปราสาทพระวิหาร
ที่ตั้งในประเทศกัมพูชา
พิกัดภูมิศาสตร์14°23′26″N 104°40′49″E / 14.39056°N 104.68028°E / 14.39056; 104.68028
สถาปัตยกรรม
ผู้สร้างพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2
เสร็จสมบูรณ์คริสต์ศตวรรษที่ 11-12
จารึกK.383 K.380 K.381 K.382
ระดับความสูง525 m (1,722 ft)
เว็บไซต์
preahvihearauthority.gov.kh
ชื่อทางการปราสาทพระวิหาร
เกณฑ์พิจารณาวัฒนธรรม: (i)
อ้างอิง1224rev
ขึ้นทะเบียน2008 (สมัยที่ 32nd)
พื้นที่154.7 เฮกตาร์ (967 ไร่)
พื้นที่กันชน2,642.5 เฮกตาร์ (16,516 ไร่)

ปราสาทพระวิหาร (เขมร: ប្រាសាទព្រះវិហារ บฺราสาทพฺระวิหาร; อังกฤษ: Temple of Preah Vihear)[1] เป็นปราสาทหินตามแบบศาสนาฮินดูที่ตั้งอยู่บริเวณทิวเขาพนมดงรัก (เขมร: ភ្នំដងរែក ภฺนํฎงแรก; "ภูเขาไม้คาน")[2] สูงจากระดับทะเลปานกลาง 657 เมตร ที่ตั้งของศาสนสถานแห่งนี้รู้จักกันในนาม เขาพระวิหาร (เขมร: ភ្នំព្រះវិហារ ภฺนํพฺระวิหาร)[3] ปราสาทพระวิหารนั้นตั้งอยู่ในจังหวัดพระวิหารของประเทศกัมพูชาซึ่งอยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษของประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นทางขึ้นสู่ปราสาทที่สะดวกที่สุด[4]

ปราสาทพระวิหารมีสถาปัตยกรรมแบบเขมร สร้างตามแนวเหนือใต้ซึ่งผิดแปลกไปจากปราสาทขอมส่วนใหญ่ ไทยและกัมพูชามีประวัติพิพาทเหนือตัวปราสาทเป็นเวลานานแล้ว ใน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิพากษาให้กัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาท (ดู คดีปราสาทพระวิหาร) และวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นแหล่งมรดกโลกในประเทศกัมพูชา[5]

ชื่อ

[แก้]

ปราสาทแห่งนี้มีชื่อเรียกเก่าสุดว่า "ภวาลัย" ตามรายงานของกรมวิชาการ และมีชื่ออื่น ได้แก่ "ศรีศิขรีศวร", "วีราศรม" และ "ตปัสวีนทราศรม"[6]

นามของปราสาทพระวิหารตามที่ปรากฏในศิลาจารึก คือ "ศีรศิขเรศวร" [7] ประกอบด้วย "ศีร" (ศรี หรือสิริ, เป็นคำนำหน้า) กับ "ศิขเรศวร" มาจาก "ศิขร" (ภูเขา) และ "อิศวร" (ผู้เป็นใหญ่ หรือหมายถึง พระอิศวร) แปลได้ว่า ผู้เป็นใหญ่หรือพระอิศวรแห่งภูเขา

เมื่อ พ.ศ. 2442 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้เสด็จไปยังปราสาทแห่งนี้ และทรงขนานนามว่า "ปราสาทพรหมวิหาร" ซึ่งต่อมาเรียกกันทั่วไปว่า "ปราสาทพระวิหาร"[8]

ชาวไทยมักเรียกว่า "เขาพระวิหาร" และนับแต่ประมาณ พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา มีการละคำว่า "เขา" ไว้ในชื่อเพื่อแสดงถึงความแตกต่างระหว่างตัวปราสาทและเนินเขาที่ตั้งปราสาท

ที่ประดิษฐาน

[แก้]
ปราสาทพระวิหารมองจากด้านบน (ทางฝั่งไทย)
แผนที่แสดงเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา (จุดสีเขียวแสดงตำแหน่งของปราสาทพระวิหาร)

ปราสาทพระวิหารประดิษฐานอยู่บนผาเป้ยตาดีของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ณ ละติจูดที่ 104 องศาตะวันออก 41 ลิปดา[9] ในอดีตก่อนที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะมีคำพิพากษา (คดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505) ผาเป้ยตาดีอยู่ในเขตหมู่บ้านภูมิซร็อล ตำบลเสาธงชัย (เดิมขึ้นกับ ตำบลบึงมะลู) อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ห่างจากอำเภอเมืองศรีสะเกษ 110 กิโลเมตร

และเมื่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้มีคำพิพากษาในปี พ.ศ. 2505 นั้นเองจึงเป็นผลทำให้ปัจจุบันปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในจังหวัดพระวิหารของประเทศกัมพูชา อยู่ห่างจากปราสาทนครวัดในเมืองพระนคร ไป 140 กิโลเมตร และห่างจากกรุงพนมเปญไป 320 กิโลมตร

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่เคยชี้ขาดว่าเขตแดนไทย-กัมพูชาดังกล่าวมีเส้นอยู่ตรงจุดใด ศาลฯ ชี้ขาดเพียงว่า กัมพูชามีอธิปไตยทางดินแดนเหนือปราสาทพระวิหาร แต่ก็มีชาวไทยบางคนเข้าใจว่า ศาลฯ ชี้ขาดแต่ตัวปราสาทเท่านั้น ไม่รวมถึงอาณาบริเวณอันเป็นที่ประดิษฐานปราสาทแต่อย่างใด[10]

การเยี่ยมชม

[แก้]
ทางเข้าทางด้านหน้าตัวปราสาพระวิหาร

ในอดีตการเยี่ยมชมปราสาทพระวิหารจะใช้ทางขึ้นจากฝั่งไทย โดยทางการไทยและทางการกัมพูชามีรายได้จากการท่องเที่ยวร่วมกัน แต่ปัจจุบันมีความตึงเครียดระหว่างแนวชายแดนประชาชนทั่วไปจึงไม่สามารถขึ้นไปชมประสาทจากทางประเทศไทยได้อีก กัมพูชาได้สร้างถนนคอนกรีตยาว 3 กิโลเมตรไต่เขาขึ้นไปยังปราสาทพระวิหารสำเร็จแล้ว และเป็นทางที่ประชาชนทั่วไปใช้ขึ้นไปชมปราสาทได้ในปัจจุบันผ่านทางประเทศกัมพูชา[11]

สถาปัตยกรรม

[แก้]
ทับหลังสลักภาพพระกฤษณะกำลังรบกับอรชุน ที่โคปุระแห่งที่ 3

ปราสาทพระวิหารมีลักษณะเป็นแบบศิลปะบันทายศรี ลักษณะบางส่วนคล้ายคลึงกับพระวิหารของปราสาทนครวัด รูปรอยแกะสลักบนปราสาทสันนิษฐานได้ว่าเป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย มีพระศิวะเป็นเทพสูงสุดของศาสนา เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะที่ทรงประทับบนยอดเขาไกรลาส ซึ่งเป็นยอดเขาสูงสุดของเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาลปราสาทพระวิหารจึงสร้างบนหน้าผาเป้ยตาดี ทำให้ปราสาทแห่งนี้เปรียบเหมือนการค่อย ๆ ก้าวไปสู่ที่ประทับของพระศิวะ ซึ่งแทนด้วย "ยอดเป้ยตาดี"[12] หากมองจากข้างล่างผาจะเห็นตัวปราสาทเหมือนวิมานสวรรค์ลอยอยู่บนฟากฟ้า[10] โดยมีแผ่นดินเขมรต่ำ (ขแมร์กรอม) ประหนึ่งมหาสมุทรรองรับอยู่เบื้องล่าง[12] ตัวปราสาทประกอบด้วยสถาปัตยกรรมต่าง ๆ มากมาย ได้แก่ ปราสาทประธาน ระเบียงคด โคปุระ อาคารรูปกากบาท วิหาร บรรณาลัย และบันไดนาคพร้อมทางเดิน[3]

ปราสาทพระวิหารมีลักษณะแผนผังที่ใช้แกนเป็นหลัก โดยจัดวางผังหันไปทางทิศเหนือ ซึ่งแตกต่างจากปราสาทอื่น ๆ ซึ่งตามปกติมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก อันเนื่องจากภูมิศาสตร์เป็นเครื่องกำหนดแล้ว ก็น่าจะเกิดจากปัจจัยอื่นบางประการที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับดินแดนเขมรสูงในอดีต ตัวปราสาทประธานเป็นจุดศูนย์กลางล้อมรอบด้วยระเบียงคดทั้งสี่ด้าน ปราศจากบรรณาลัยขนาบเบื้องหน้า การวางผังที่กำหนดตำแหน่งอาคารมีความสมบูรณ์ลงตัวตั้งแต่แรกเริ่มของการก่อสร้าง โดยไม่มีการแก้ไขต่อเติมบริเวณลานชั้นในภายหลัง วัสดุตัวปราสาทสร้างด้วยหินทรายและหินดาน โดยเทคนิคการก่อสร้างทำโดยนำก้อนศิลาทรายซึ่งตัดเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดไล่เลี่ยกันวางซ้อนกันขึ้นไปตามรูปผังที่กำหนดไว้ โดยอาศัยน้ำหนักของแท่งศิลาทรายแต่ละก้อนกดทับกันเพียงอย่างเดียว มีส่วนยึดจะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น[2]

ลักษณะสำคัญ

[แก้]
แผนผังของปราสาทพระวิหาร[13]

ปราสาทพระวิหารมีความยาว 800 เมตรตามแนวเหนือใต้ และส่วนใหญ่เป็นทางเข้ายาว และบันไดสูงถึงยอดเขา จนถึงส่วนปราสาทประธาน ซึ่งอยู่ที่ยอดเขาทางใต้สุดของปราสาท (สูง 120 เมตรจากปลายตอนเหนือสุดของปราสาท 525 เมตรจากพื้นราบของกัมพูชา และ 657 เมตรจากระดับน้ำทะเล[14]) แต่โครงสร้างปราสาทแห่งนี้ก็ยังแตกต่างอย่างมากจากสถาปัตยกรรมปราสาทหินของหินโดยทั่วไปที่พบในพระนคร เพื่อจำลองเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่ประทับของเทพเจ้าตามคติความเชื่อของฮินดู

ปราสาทพระวิหารประกอบด้วยทางเดินและอาคารเรียงกัน ลานหินต่างระดับมีทั้งหมด 4 ระดับ ทางเข้าสู่ปราสาทประธานนั้น มีโคปุระ (ซุ้มประตู[13]) คั่นอยู่ 5 ชั้น (นับจากชั้นในออกมา ดังนั้นโคปุระชั้นที่ 5 จึงเป็นส่วนที่ผู้เข้าชมจะพบเป็นส่วนแรก) เป็นกลุ่มอาคารรูปกากบาท ซึ่งกรมศิลปากรเรียกว่า "มนเทียร"[15] ชั้นที่สำคัญ คือ โคปุระชั้นที่ 3 และ 4[16] โคปุระแต่ละชั้นก่อนถึงลานด้านหน้า จะผ่านบันไดหลายขั้น โคปุระแต่ละชั้นจึงเปลี่ยนระดับความสูงทีละช่วง นอกจากนี้โคปะรุยังบังมิให้ผู้ชมเห็นส่วนถัดไปของปราสาท จนกว่าจะผ่านทะลุแต่ละช่วงไปแล้ว

บันไดหน้า

[แก้]
บันไดหน้า ทางขึ้นปราสาทพระวิหาร มองจากโคปุระชั้นที่ 5

บันไดด้านหน้าเป็นทางเดินขึ้นลงขนาดใหญ่อยู่ทางทิศเหนือของตัวปราสาท ลาดตามไหล่เขา ช่วงแรกเป็นบันไดหิน กว้าง 8 เมตร ยาว 75.50 เมตร จำนวน 162 ขั้น บางชั้นสกัดหินลงไปในพื้นหินของภูเขา สองข้างบันไดมีฐานสี่เหลี่ยมตั้งเป็นกระพัก (กระพักแปลว่า ไหล่เขาเป็นชั้นพอพักได้[13]) ขนาดใหญ่เรียงรายขึ้นไป ใช้สำหรับตั้งรูปสิงห์นั่ง ช่วงที่ 2 กว้าง 4 เมตร ยาว 27 เมตร มี 54 ขั้น มีฐานกระพักกว้าง 2.5 เมตร 7 คู่ มีรูปสิงห์นั่งตั้งอยู่ บันไดหน้าแบ่งออกเป็นสองช่วง โดยที่ตัวบันไดช่วงที่สองแคบกว่าช่วงแรก มีฐานสี่เหลี่ยมและสิงห์นั่งขนาดเล็กกว่าช่วงแรก[17] หลังจากที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารตกอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา นักศึกษาไทยได้ประท้วงคำตัดสินของศาลฯ และปิดทางขึ้นปราสาทที่อยู่ในเขตแดนไทย ทำให้ชาวกัมพูชาที่ต้องการขึ้นปราสาท จะต้องขึ้นทางช่องเขาแคบ ๆ สูงชันที่เรียกกันว่า "ช่องบันไดหัก"[10]

ลานนาคราช

[แก้]

ลานนาคราชหรือสะพานนาค อยู่ทางทิศใต้สุดบันไดหินด้านหน้า ปูด้วยแผ่นหินเรียบ มีขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 31.80 เมตร ขอบลานสร้างเป็นฐานเตี้ย ๆ บนฐานมี นาคราช 7 เศียร จำนวน 2 ตัว แผ่พังพานหันหน้าไปทางทิศเหนือ ลำตัวอยู่บนฐานทั้งสอง ทอดไปทางทิศใต้ ส่วนหางของนาคราชชูขึ้นเล็กน้อย นาคราชทั้งสองตัวมีลักษณะคล้ายงูตามธรรมชาติ เป็นลักษณะของนาคราชในศิลปะขอม แบบปาปวน มีบันไดทางขึ้นโคปุระ ชั้นที่ 5 บันไดกว้าง 7 เมตร สูง 11.50 เมตร สองข้างบันไดมีฐานสี่เหลี่ยมตั้งรูปสิงห์[18]

โคปุระ ชั้นที่ 1

[แก้]

โคปุระชั้นที่ 1 ตั้งอยู่บนไหล่เขา มุมทั้งสี่ด้านของลานก่อเป็นขั้นบันไดมิให้พัง[19] สร้างเป็นศาลาจตุรมุข รูปทรงกากบาทไม่มีฝาผนังกั้น มีแต่บันไดและซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ สร้างอยู่บนฐานบัวสี่เหลี่ยมย่อมุม ฐานสูง 1.8 เมตร บันไดหน้าประตูซุ้มทั้ง 4 ทิศตั้งรูปสิงห์นั่ง เสาโคปุระสูง 3.5 เมตร เป็นศิลปะแบบเกาะแกร์ ยังมีร่องรอยสีแดงที่เคยประดับตกแต่งตัวปราสาทเอาไว้ หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบ "กาบู" ปัจจุบันเหลือปั้นลมและประตูซุ้มที่ยังสมบรณ์อยู่เพียงด้านตะวันออกด้านเดียว หน้าจั่วจำหลักเป็นรูปเทพนั่งชันเขาเหนือเศียรเกียรติมุข หน้าบันเป็นรูปนาคราช 5 เศียร ข้างละ 1 ตัว หางไปประสานกันบนยอด[20]

บันไดทางขึ้นโคปุระ ชั้นที่ 1 อยู่ทางทิศเหนือ เป็นบันไดหินมีลักษณะค่อนข้างชัน สูง 5 ขั้น ประมาณ 2 เมตร ทางทิศตะวันออกของโคปุระชั้นที่ 1 มีเส้นทางขึ้นคล้ายบันไดหน้าแต่ค่อนข้างชัน และชำรุดหลายตอน ยาว 340 เมตรถึงไหล่เขา เป็นเส้นทางขึ้น-ลง ไปสู่ที่ราบประเทศกัมพูชา เรียกว่า "ช่องบันไดหัก" หรือ "ถนนบันไดหัก" ก่อนถึงโคปุระ ชั้นที่ 2 มีสระน้ำตั้งอยู่ทางตะวันออกสระหนึ่ง ชื่อว่า "สระทรง"[20]

สระสรง

[แก้]

สระสรงอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทางดำเนินจากโคปุระ ชั้นที่ 1 ไปโคปุระ ชั้นที่ 2 ห่างออกไป 12.40 เมตร จะพบสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 16.80 เมตร ยาว 37.80 เมตร กรุด้วยท่อนหินเป็นชั้น ๆ มีลักษณะเป็นขั้นบันไดปากผายก้นสอบ

โคปุระ ชั้นที่ 2

[แก้]

โคปุระ ชั้นที่ 2 สร้างอยู่บนไหล่เขา มีเขื่อนหินกันพังตามริมไหล่เขา เป็นลานหินกว้างประมาณ 7 เมตร สองข้างจะมีเสานางเรียง ตั้งอยู่ ทั้งสองด้าน แต่ก็มีปรักหักพังไปมาก โคปุระชั้นที่ 2 สร้างเป็นศาลาจตุรมุข มีกำแพงด้านทิศใต้เพียงด้านเดียว ยาว 39 เมตรจากตะวันออกไปตะวันตก กว้าง 29.5 เมตรจากเหนือไปใต้

เป็นศิลปะสมัยหลังโคปุระ ชั้นที่ 1 คือ แคลง/บาปวน มุขหน้าแบ่งเป็น 2 คูหา ริมซุ้มประตูด้านนอกตั้งรูปสิงห์ มุขตะวันออกและตะวันตกแบ่งเป็น 3 คูหาริมซุ้มประตูด้านนอกตั้งรูปสิงห์ ห้องใหญ่แบ่งเป็น 5 คูหา มุขใต้แบ่งเป็น 2 คูหาหน้าบันเป็นภาพของการกวนเกษียณสมุทร ถือเป็น "หนึ่งในผลงานชิ้นเอกอุของปราสาทพระวิหาร"[21] ทับหลังเป็นภาพของพระนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่เหนืออนันตนาคราช

จากซุ้มประตูด้านใต้มีบันไดทางไปโคปุระชั้นที่ 3 ยาว 148 เมตร กว้าง 11 เมตร คู่ไปกับขอบถนน เป็นคันหินถมดินให้น้ำไหลห่างไปจากโคปุระ ชั้นที่ 3 ทางตะวันออกมีสระรับน้ำ 2 สระ[22]

โคปุระ ชั้นที่ 3

[แก้]
ภาพวาดโคปุระที่ 3 โดยปามังติเอร์ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส

โคปุระชั้นที่ 3 นั้นมีขนาดใหญ่สุด สมบูรณ์ที่สุด และขนาบด้วยห้องสองห้อง ตัวปราสาทประธานนั้นสามารถผ่านเข้าไปทางลานด้านหน้า บันไดกว้าง 3.6 เมตร สูง 6 เมตร สองข้างมีฐานตั้งรูปสิงห์นั่ง 5 กระพัก

  • มนเทียรกลาง มุขเหนือหน้าบันเป็นรูปพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ ทับหลังเป็นรูปพระนารายณ์ 4 กรทรงครุฑ มุขตะวันออกและตะวันตกที่ผนังด้านเหนือมีซุ้มประตู 1 ซุ้มหน้าประตูมีรูปสิงห์นั่งตั้งอยู่ ห้องใหญ่มีหน้าต่างซีกเหนือ 6 ช่องซีกใต้ 2 ช่องมุขใต้หน้าบันเป็นรูปพระอิศวรบนหลังโคอุศุภราช
  • ห้องขนาบ ทั้งซ้ายและขวาเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตรงกลางเป็นลานแบ่งเป็น 4 ห้อง ห้องตามขวางด้านหน้ายาว 35.5 เมตร กว้าง 7 เมตรผนังด้านลานมีหน้าต่าง 5 ช่อง ห้องตามยาวซ้ายและขวายาว 15 เมตร กว้าง 6 เมตร ห้องตามขวางด้านหลังยาว 40 เมตร กว้าง 8.5 เมตร ยกฐานสูง 2.4 เมตร ผนังด้านใต้มีหน้าต่าง 5 ช่อง มุขหน้ามีหน้าต่างข้างละ 3 ช่อง เข้าใจว่าบรรณาลัยนี้สร้างเพิ่มเติมภายหลังมนเทียรกลาง ที่ลานหน้าด้านตะวันออกมีปรางค์ศิลา 1 องค์ กว้าง 4 เมตร สูง 6 เมตร

จากโคปุระชั้นที่ 3 มีบันได 7 ขั้นขึ้นไปสู่ถนนที่ยาว 34 เมตร มีเสานางเรียงปักรายข้างถนน ข้างละ 9 ต้น ถัดจากเสานางเรียงไปเป็นสะพานนาค 7 เศียร

โคปุระ ชั้นที่ 4

[แก้]
  • มนเทียรหน้า เป็นรูปกากบาท กว้าง 23 เมตร ยาว 23 เมตร มีมุขทั้ง 4 ทิศ ที่มุขเหนือและใต้มีช่องหน้าต่างมุขละ 2 ช่อง มุขตะวันออกและตกมีประตูหน้าหลังมุขละ 2 ประตู กับช่องหน้าต่างมุขละ 1 ช่อง ห้องใหญ่มีหน้าต่างที่ผนังด้านเหนือ 6 ช่อง ด้านใต้ 4 ช่อง ซุ้มประตูส่วนมากจะเป็นซากปรักหักพัง กรอบประตูห้องใหญ่มีจารึกอักษรขอมระบุบปีศักราชตกอยู่ในสมัยพระเจ้าสุรยวรมันที่ 1 ด้านหน้ามนเทียรมีบันไดตรงกับประตูซุ้มทั้ง 3 ประตูและมีชานต่อไปยังเฉลียงซ้ายและขวา
  • เฉลียงซ้ายและขวา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 เมตร ยาว 32 เมตร ผนังด้านนอกทึบ ด้านในเปิดมีเสาราย 10 ต้น ที่สนามด้านหน้ามีภาพจำหลักตกหล่นอยู่หลายชิ้น เช่น รูปกษัตริย์กำลังหลั่งน้ำทักษิโณฑกแก่พราหมณ์
  • มนเทียรกลาง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 9 เมตร ยาว 13 เมตร มีมุขหน้าขนาด 8 x 5 เมตรมีหน้าต่างข้างละช่อง ตัวมนเทียรมีหน้าต่างข้างละ 3 ช่องกลางห้องมีเสาราย 2 แถว ๆ ละ 4 ต้น
  • บรรณาลัย (ห้องสมุด) ซ้ายและขวา อยู่ขนาบ 2 ข้างของมนเทียรกลาง กว้าง 6.5 เมตร ยาว 11 เมตร

โคปุระ ชั้นที่ 5

[แก้]
  • ระเบียงคด ด้านทิศเหนือยาว 22 เมตรกว้าง 5.5 เมตร มีผนังละ 3 ประตูที่ผนังด้านเหนือและใต้ด้านทิศตะวันออกและตก กว้าง 4 เมตร ยาว 52 เมตรผนังด้านนอกทำทึบ ผนังด้านในมีหน้าต่าง ข้างละ 20 ช่อง ด้านทิศใต้ ผนังด้านในมีหน้าต่าง 6 ช่อง ตรงกลางมีประตู
  • ปรางค์ประธาน มีวิหารเชื่อมต่ออยู่ทางทิศเหนือ มีฐานย่อมุม 3 ชั้น ชั้นแรกอยู่เสมอพื้นราบ ชั้นที่ 2 สูง 75 เซนติเมตร ทุกที่ ๆ ตรงกับประตูมีบันได 5 ขั้น กว้าง 70 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร ตัวปรางค์ทรุดพังมาครึ่งองค์ เหลือเพียงราว 9 เมตร กว้าง 7 เมตร วิหารที่เชื่อมต่อ ฐานกว้าง 15 เมตร ยาว 17 เมตร สูง 1.5 เมตร มีประตูทั้ง 4 ทิศ บันไดตรงประตูทิศเหนือมี 3 ขั้น กว้าง 70 เซนติเมตร สูง 1.5 เมตร ประตูทิศใต้เชื่อมกับปรางค์ มีหน้าต่างด้านตะวันออกและตก ด้านละ 1 ช่อง กลางวิหารมีแท่งหินรูปสี่เหลี่ยม 1 แท่น
  • มนเทียรตะวันออก กว้าง 16 เมตร ยาว 20.5 เมตรมีมุขด้านเหนือ, ใต้, ตะวันออกแต่ละมุขมีประตู 3 ประตู ภายในแบ่งเป็นห้อง ๆ
  • มนเทียรตะวันตก กว้าง 18.5 เมตร ยาว 20.5 เมตรมีมุขด้านเหนือ, ใต้, ตะวันตกแต่ละมุขมีประตู 3 ประตู

เป้ยตาดี

[แก้]

เป้ยตาดี มีเนื้อที่กว้าง 44 เมตร ยาว 50 เมตร "เป้ย" เป็นภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า ชะง่อนผา หรือโพงผา ตามคำบอกเล่า ว่านานมาแล้วมีพระภิกษุชรารูปหนึ่งชื่อ "ดี" จาริกมาปลูกเพิงพำนักอยู่ที่นี่จนมรณภาพไป ชาวบ้านจึงเรียกลานหินนี้ว่า "เป้ยตาดี" ตรงยอดเป้ยตาดีสูงกว่าระดับน้ำทะเล 657 เมตร ถ้าวัดจากพื้นที่เชิงเขาพื้นราบฝั่งประเทศกัมพูชาสูงประมาณ 447 เมตร ตรงชะง่อนผาเป้ยตาดี จะมีรอยสักฝีพระหัตถ์ของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ว่า "๑๑๘-สรรพสิทธิ" แต่ก่อนมีธงไตรรงค์ของไทยอยู่ที่ บริเวณผาเป้ยตาดี ในปัจจุบันคงเหลือแต่ฐาน ส่วนรอยแกะสลักพระนามของกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์นั้นปัจจุบันถูกกระเทาะทำลายไปแล้ว

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ภูมิหลังทางสังคม

[แก้]

ปราสาทพระวิหารคือมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ มิใช่ของประเทศหรือกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง เพราะมีความเกี่ยวข้องกับชนหลายเผ่าพันธุ์ และหลายคติความเชื่อ[23] ในอดีตนั้น เทือกเขาพนมดงรักเป็นสถานที่ติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างที่ราบสูงโคราชกับที่ราบเขมรต่ำ การสถาปนาปราสาทพระวิหารเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของคนท้องถิ่นและผู้นับถือศาสนาฮินดูมีขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2[24]

ศิลาจารึกที่ปราสาทเขาพระวิหาร เรียกว่า “ศิลาจารึกศิวศักติ” หรือ “ศิลาจารึก K. ๓๘๒” สลักขึ้นด้วยภาษาสันสกฤต ตัวอักษรเทวนาครี เป็นศิลาจารึกที่บอกเล่าเรื่องราวให้ทราบว่าถิ่นที่อยู่อาศัยของ “ชาวกวย” หรือ “ชาวกูย” ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่ตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ในดินแดนอิสานประเทศมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนกระทั่งเข้าสู่ยุคเริ่มต้นประวัติศาสตร์สมัย “อาณาจักรฟูนัน” หรือ “อาณาจักรสุวรรณภูมิ” เรืองอำนาจขึ้นในคาบสมุทรอินโดจีน กษัตริย์ฟูนันได้สร้างปราสาทเทพบิดรไว้บนภูเขาพนมดงรัก มอบหมายให้ชาวพื้นเมืองรักษา

ตามจารึกศิวะสักติ พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงกำหนดหลายพื้นที่บริเวณเขาพระวิหารเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภวาลัยแห่งเขาพระวิหาร เป็นเขตของเจ้าพื้นเมืองของตระกูลพระนางกัมพูชาลักษมี พระมเหสีของพระองค์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างศาสนสถานบนเขาพระวิหาร[25] ต่อมา พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 โปรดให้สถาปนาพระภัทเรศวรแห่งลิงคปุระไว้ ณ ยอดเขาพระวิหารด้วย อันเป็นการให้ความสำคัญแก่เขาพระวิหารในฐานะภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตของบรรพบุรุษของชนชาติจามและขอม[26] นอกจากนี้ ยังทรงทำให้ปราสาทเป็นศูนย์กลางแห่งความเชื่อ พิธีกรรมเกี่ยวกับบรรพบุรุษ และประเพณีสักการบูชาอันพ้องกับเทศกาลของเกษตรกร ความนิยมในการประกอบพิธีกรรมที่ปราสาทพระวิหารนำไปสู่การขยายตัวของชุมชนใกล้เคียง[27] ตามจารึกกล่าวไว้ว่าพระองค์ส่ง "ทิวากรบัณฑิต" มาบวงสรวงพระศิวะทุกปี นอกจากนี้ยังมีชุมชนโดยรอบที่พระมหากษัตริย์ทรงอุทิศไว้ให้รับใช้เทวสถาน ชุมชนที่มีชื่อในจารึกอย่างเช่น กุรุเกษตร, พะนุรทะนง เป็นต้น[12] ต่อมาปราสาทพระวิหารได้กลายเป็นแหล่งจาริกแสวงบุญสำคัญในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ตาม"เอกสารประวัติกัมพุพงศ์ และองค์กรแห่งพระราชการ พร้อมทั้งพระประวัติของพระเจ้าแผ่นดินองค์อื่น"[28]

การก่อสร้าง

[แก้]

ปราสาทพระวิหารประกอบด้วยหมู่เทวาลัยและปราสาทหินจำนวนมาก เทวาลัยหรือปราสาทหินแห่งแรกสร้างขึ้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซากปรักหักพังของเทวาลัยที่เหลืออยู่ มีอายุตั้งแต่สมัยเกาะแกร์ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 ครั้นเมื่อนครหลวงของอาณาจักรขอมอยู่ใกล้ คือ ที่นครวัด นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบบางประการในรูปแบบศิลปะของปราสาทบันทายศรี ตามหลักจารึกที่ค้บพบ 3 หลักคือ จารึกศิวะศักติ จารึกหมายเลข K380 และ K381 เชื่อว่าเริ่มก่อสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1432-1443) และเป็นรูปร่างเมื่อในสมัยพระเจ้ายโศวรมัน ซึ่งสถาปนาศรีศิขเรศวร ในปี พ.ศ. 1436[12] แต่โครงสร้างส่วนใหญ่ของปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (มีพระนามจารึกที่กรอบประตูโคปุระชั้นที่ 2 ว่า "สูรยวรรมเทวะ" และปีที่สร้างแล้วเสร็จในสมัยของพระองค์ตามจารึกคือ พ.ศ. 1581[14]) และพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 11 และ 12 ตามลำดับ[12] ปราสาทพระวิหารสร้างด้วยศิลาทรายซึ่งสกัดจากบริเวณเทือกเขาพนมดงรักนี้ และวัสดุก่อสร้างอื่น ได้แก่ อิฐเผาและ "ไดทะมะป้วก" (ดินเหนียวคล้ายหิน)[29] ปัจจุบันปราสาทหลงเหลือแต่เพียงซากปรักหักพัง แต่ทว่ายังมีอาคารปราสาทเหลืออยู่อีกหลายแห่ง[10]

กรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร

[แก้]

คดีความ พ.ศ. 2502

[แก้]
"แผนที่ภาคผนวก 1" กำหนดเขตแดนไทย–กัมพูชา ซึ่งจัดทำขึ้นอย่างผิดพลาดโดยลากเส้นผิดจากแนวสันปันน้ำซึ่งเป็นหลักสากล แต่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศวินิจฉัยระบุว่าการไม่คัดค้านความผิดพลาดดังกล่าวถือว่าทางการไทยยอมรับแผนที่นี้มาช้านานแล้ว

ผู้ค้นพบปราสาทพระวิหารในสมัยปัจจุบันคือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสองค์ที่ 11 ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพบเมื่อปี พ.ศ. 2442 ขณะทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็น ข้าหลวงต่างพระองค์ เสด็จไปรับราชการที่มณฑลลาวกาว (อิสาน) ในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้ทรงจารึกปี ร.ศ. ที่พบเป็นเลขไทย ตามด้วยพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดี เป็นข้อความว่า "๑๑๘ สรรพสิทธิ"[30] ต่อมาเมื่อประเทศฝรั่งเศสเข้าครอบครองอินโดจีนได้ทำสนธิสัญญา พ.ศ. 2447 ในการปักปันเขตแดนกับราชอาณาจักรสยาม โดยมีความตามมาตรา 1 ของสนธิสัญญา ระบุให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ซึ่งมีผลให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2451 ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ฝ่ายเดียว ส่งมอบให้สยาม 50 ชุด แต่ละชุดมี 11 แผ่นและมีแผ่นหนึ่งคือ "แผ่นดงรัก" ที่ครอบคลุมพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และไม่ได้ใช้แนวสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ทำให้ปราสาทพระวิหารในแผนที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา โดยที่รัฐบาลสยามในขณะนั้นไม่ได้รับรองหรือทักท้วงความถูกต้องของแผนที่ดังกล่าว[31]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 ประเทศฝรั่งเศสแพ้สงครามต่อประเทศเยอรมนี ทำให้แสนยานุภาพทางทหารลดลง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ยื่นข้อเสนอเรียกร้องดินแดนที่เสียไปในสมัยรัชกาลที่ 5 คืนจากฝรั่งเศส ซึ่งฝรั่งเศสปฏิเสธและมีการเคลื่อนไหวทางทหาร ที่ทำให้เกิดสงครามพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขึ้นในปี พ.ศ. 2484 ประเทศไทยได้รับชัยชนะในการรบตลอด 22 วัน กระทั่งประเทศญี่ปุ่นที่เป็นมหาอำนาจในขณะนั้นเสนอตัวเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย และฝรั่งเศสได้ตกลงคืนจังหวัดไชยบุรี จำปาศักดิ์ เสียมราฐ และพระตะบองให้กับไทย ตาม อนุสัญญาโตเกียว[32] ทำให้ปราสาทพระวิหารกลับมาอยู่ในดินแดนไทยอย่างสมบูรณ์ ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และต่อมาญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ประเทศไทยต้องรักษาสถานะตัวเองไม่ให้เป็นฝ่ายแพ้สงครามตามญี่ปุ่น และต้องการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ จึงตกลงคืนดินแดน 4 จังหวัดให้ฝรั่งเศส ทำให้ปราสาทพระวิหารกลับไปอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ฝรั่งเศสแพ้สงครามต่อเวียดนามที่เดียนเบียนฟู ต้องถอนทหารออกจากอินโดจีน ประเทศกัมพูชาได้รับเอกราชตามสนธิสัญญาเจนีวา และไทยได้ส่งทหารเข้าไปรักษาการบริเวณปราสาทพระวิหารอีกครั้ง

ภายหลังกัมพูชาได้รับเอกราช เจ้านโรดมสีหนุ กษัตริย์กัมพูชาสละราชสมบัติเข้าสู่การเมือง ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศเรียกร้องให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร และไทยไม่ยอมรับ เจ้านโรดมประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501[14] และในปีต่อมา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 เจ้านโรดมสีหนุได้ฟ้องร้องต่อ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือศาลโลก ให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร ฝ่ายไทยต่อสู้คดีโดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กับคณะรวม 13 คน เป็นทนายฝ่ายไทย และฝ่ายกัมพูชามีนายดีน แอจิสัน เนติบัณฑิตแห่งศาลสูงสุด อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าคณะ กับพวกอีกรวม 9 คน[14]

กระทั่งวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยเสียง 9 ต่อ 3[33] และในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 วัน รัฐบาลไทยโดย ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก และสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคต ทั้งนี้คำตัดสินของศาลโลกนั้นเป็นที่สิ้นสุด ไม่มีการอุทธรณ์ การจะนำคดีกลับขึ้นมาพิจารณาใหม่นั้นสามารถทำได้ถ้ามีหลักฐานใหม่และต้องทำภายในสิบปี

หลังจากนั้นไม่นาน กัมพูชาเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นภายในประเทศ ปราสาทหินแห่งนี้เปิดให้สาธารณชนเข้าชมเพียงช่วงสั้น ๆ ในปี พ.ศ. 2535 แต่ปีต่อมาก็ถูกเขมรแดงเข้าครอบครอง จากนั้นก็เปิดอีกครั้งจากฝั่งประเทศไทย เมื่อปลายปี พ.ศ. 2541

การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชา

[แก้]
แผนที่ในแถลงการณ์ร่วมไทย–กัมพูชา พ.ศ. 2551

เมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ. 2548 กัมพูชาได้เสนอต่อองค์การยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นแหล่งมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ปี พ.ศ. 2549 วันที่ 30 มกราคม ศูนย์มรดกโลกของยูเนสโกที่ปารีสขอให้กัมพูชายื่นเอกสารใหม่เกี่ยวกับเขตกันชนของปราสาท และมีคำแนะนำให้ร่วมมือกับฝ่ายไทย[12] พ.ศ. 2550 กัมพูชายื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารอีกครั้ง ขณะที่ไทยยื่นบันทึกช่วยจำต่อเอกอัครราชทูตกัมพูชาและเสนอขึ้นทะเบียนร่วม (transboundary property) แต่คณะกรรมการมรดกโลกสากลมีมติเลื่อนการขึ้นทะเบียนออกไป โดยให้ไทย-กัมพูชาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด และในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนตามคำขอของกัมพูชาให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เฉพาะเพียงตัวปราสาทเท่านั้น โดยผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อ (i) เพียงข้อเดียว

ในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้นำประเด็นนี้มาโจมตีเพื่อขับไล่นายนพดล ปัทมะ ให้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[34][35][36] เหตุการณ์นี้พัฒนาไปสู่ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาในที่สุด

นับตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาได้ใช้ปืนใหญ่ยิงปะทะกัน ซึ่งต่างก็โทษอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นฝ่ายเริ่มก่อน[37] วันที่ 5 กุมภาพันธ์ กัมพูชาได้ยื่นจดหมายถึงสหประชาชาติ ความว่า "พฤติการณ์ล่าสุดของทหารไทยได้ละเมิดข้อตกลงสันติภาพปารีส พ.ศ. 2534 กฎบัตรสหประชาชาติ และคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2505"[38]

การตีความคำพิพากษา

[แก้]

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 และในวันเดียวกัน ประเทศกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองสิทธิของตน[39] วันที่ 18 กรกฎาคม 2554 ศาลจึงสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวบางประการ

โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สันนิษฐานว่าเกี่ยวเนื่อง

[แก้]

โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สันนิษฐานว่าเกี่ยวเนื่องกับปราสาทพระวิหาร มีดังนี้

  • ภาพสลักบนหน้าผามออีแดง : เป็นภาพสลักนูนต่ำรูปเทพชายและหญิงในท่าเรียงกัน 3 องค์ และยังมีส่วนที่สลักไม่เสร็จ
  • สถูปคู่ : เป็นสถูปคู่ 2 องค์ สร้างด้วยหินทราย เป็นแท่งสี่เหลี่ยม สูง 4.2 เมตร ยอดมน ข้างในมีโพรงบรรจุสิ่งของ
  • สระตราว : สระน้ำขนาดใหญ่ คาดว่ามีสถานะเทียบเท่าบาราย (แหล่งเก็บน้ำในอารยธรรมขอม มักสร้างใกล้ปราสาทหิน) บริเวณใกล้เคียงพบร่องรอยการตัดหินเพื่อนำไปสร้างปราสาท[12]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ชื่ออย่างเป็นทางการโดยยูเนสโก
  2. 2.0 2.1 ข้อมูลท่องเที่ยวและรูป ปราสาทพระวิหาร
  3. 3.0 3.1 "เปิดตำนาน ปราสาทพระวิหาร บนเทือกเขาพนมดงเร็ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-01. สืบค้นเมื่อ 2008-06-28. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  4. "Q&A: Thailand-Cambodia temple dispute". BBC. 2013-11-07. สืบค้นเมื่อ 2013-11-10.
  5. International Herald Tribune เก็บถาวร 2009-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  6. ธิดา สาระยา. หน้า 46.
  7. "โครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง องค์ความรู้จากปราสาทพระวิหาร (สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-31. สืบค้นเมื่อ 2008-06-28. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  8. เขาพระวิหาร . กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ
  9. ธิดา สาระยา. หน้า 46.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 บุญร่วม เทียมจันทร์, ไทยแพ้คดีเสียดินแดนให้เขมร, สำนักพิมพ์ อนิเมทกรุ๊ป จำกัด, 2550
  11. นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 296 หน้า 154-169
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 12.5 12.6 นิตยสาร สารคดี ปีที่ 24 ฉบับที่ 282 สิงหาคม 2551
  13. 13.0 13.1 13.2 "สู่...ปราสาทพระวิหาร-ไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-01. สืบค้นเมื่อ 2008-06-28.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 ความเมืองเรื่องเขาพระวิหาร, ประหยัด ศ.นาคะนาท และ จำรัส ดวงธิสาร
  15. ธิดา สาระยา. หน้า 69.
  16. ธิดา สาระยา. หน้า 71.
  17. ธิดา สาระยา. หน้า 75.
  18. ธิดา สาระยา. หน้า 77.
  19. ธิดา สาระยา. หน้า 77.
  20. 20.0 20.1 ธิดา สาระยา. หน้า 81.
  21. ISBN 978-0-8348-0450-0 Freeman, Michael (1996). A Guide to Khmer Temples in Thailand and Laos. Weatherhill. P.162
  22. ธิดา สาระยา. หน้า 87.
  23. ธิดา สาระยา. หน้า 18-19.
  24. ธิดา สาระยา. หน้า 34.
  25. ธิดา สาระยา. หน้า 36.
  26. ธิดา สาระยา. หน้า 37-38.
  27. ธิดา สาระยา. หน้า 39-40.
  28. ธิดา สาระยา. หน้า 41-42.
  29. ธิดา สาระยา. หน้า 49.
  30. คดีเขาพระวิหาร เดลินิวส์
  31. "since there was no reaction on the part of the Siamese authorities, either then or for many years, they must be held to have acquiesced." "The Siamese Government and later the Thai Government had raised no query about the Annex I map prior to its negotiations with Cambodia in Bangkok in 1958." Judgment of 15 June 1962 on Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand) เก็บถาวร 2008-09-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, International Court of Justice
  32. หมวดวิชาที่ 2 การทหารวิชาการสงคราม เก็บถาวร 2016-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน http://www.officer.rtaf.mi.th เก็บถาวร 2008-05-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  33. คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เก็บถาวร 2020-12-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  34. The Nation, PAD begins rallying in front of MFA building to protest Preah Vihear Temple map เก็บถาวร 2008-08-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, June 18, 2008.
  35. Saritdet Marukatat, The Bangkok Post, This land is my land![ลิงก์เสีย] June 18, 2008.
  36. ผู้จัดการออนไลน์, พันธมิตรฯ ทั่ว ปท.บุกกรุง!ฮือขับไล่“นพดล”ย่ำยีหัวใจไทย!! เก็บถาวร 2011-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 18 มิถุนายน 2551
  37. "Shells fly around the temple". The Economist. February 7, 2011. สืบค้นเมื่อ February 7, 2011.
  38. Thailand, Cambodia trade shots, charges over ancient temple, CNN สืบค้นเมื่อวันที่ February 8, 2011
  39. INTERNATIONAL COURT OF JUSTICE, Cambodia files an Application requesting interpretation of the Judgment rendered by the Court on 15 June 1962 in the case concerning the Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand) and also asks for the urgent indication of provisional measures เก็บถาวร 2011-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2 May 2011

บรรณานุกรม

[แก้]
  • ธิดา สาระยา. (2552). ปราสาท (เขา) พระวิหาร. สำนักพิมพ์เมืองโบราณ. ISBN 978-974-7385-26-7.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ภาษาไทย
ภาษาอังกฤษ

14°23′46″N 104°40′49″E / 14.39611°N 104.68028°E / 14.39611; 104.68028{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้