พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ม.ป.ช., ม.ว.ม. | |
---|---|
![]() | |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม | |
ดำรงตำแหน่ง 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 | |
นายกรัฐมนตรี | อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ |
ก่อนหน้า | สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ |
ถัดไป | ประชา พรหมนอก |
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี | |
อยู่ในวาระ | |
เริ่มดำรงตำแหน่ง 20 ธันวาคม พ.ศ. 2565 | |
นายกรัฐมนตรี | ประยุทธ์ จันทร์โอชา |
ก่อนหน้า | ดิสทัต โหตระกิตย์ |
หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ | |
อยู่ในวาระ | |
เริ่มดำรงตำแหน่ง 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 | |
ก่อนหน้า | ธนดี หงษ์รัตนอุทัย (รักษาการ) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
พรรค | ประชาธิปัตย์ (2539–2562) พลังประชารัฐ (2564–2565) รวมไทยสร้างชาติ (2565–ปัจจุบัน) |
คู่สมรส | สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค |
ศาสนา | พุทธ |
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (เกิด 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502) เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ของสำนักนายกรัฐมนตรี ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 กรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 กรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 16 พรรคประชาธิปัตย์
ประวัติ[แก้]
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ชื่อเล่น ตุ๋ย ที่จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนที่ 4 และเป็นบุตรชายคนที่ 2 ของ พลโท ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และเจ้ากรมการพลังงานทหาร ผู้ริเริ่มการขุดเจาะน้ำมันที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร (ปัจจุบันเป็น ปตท.) เป็นหลานปู่ของพระยาสาลีรัฐวิภาค (สงวน ไนคีตะเสน) กับ คุณหญิงขนิษฐา สาลีรัฐวิภาค ส่วนมารดา โสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: สุมาวงศ์) อดีตดาวจุฬาฯ คนแรก ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้สุนทราภรณ์แต่งเพลงดาวจุฬาฯและขวัญใจจุฬาฯ เป็นบุตรีพระมนูเวทย์วิมลนาท (มนูเวทย์ สุมาวงศ์) อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักร และประธานศาลฎีกา กับคุณหญิงแฉล้ม มนูเวทย์วิมลนาท ชีวิตครอบครัว สมรสกับ สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: โทณวณิก) มีบุตรธิดารวมกันทั้งหมด 4 คน ได้แก่ ชลิตา, ภัทร[1] และฝาแฝด ภัทรพร-ภัทรพรรณ สาลีรัฐวิภาค
การศึกษา[แก้]
- มัธยมศึกษา โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
- ปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
- ปริญญาโท กฎหมายอเมริกันทั่วไป (LLM) มหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา
- ปริญญาโท กฎหมายเปรียบเทียบ (MCL) มหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา
การทำงาน[แก้]
พีระพันธุ์ มีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการมาก่อน เข้าสู่แวดวงการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท ในปี พ.ศ. 2539 ร่วมทีมกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ บทบาทในสภา ฯ ของพีระพันธุ์ เป็นไปในทางการตรวจสอบการทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ของกองทัพ เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ในช่วงปี พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2548 มีผลงานสำคัญคือการสอบสวนการทุจริต "ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท" ซึ่งถูกนำไปใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลและประสบชัยชนะ ทำให้คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่พร้อมดอกเบี้ยนับหมื่นล้านบาท
ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 พีระพันธุ์ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานครได้ ย้ายไปลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ โดยพรรคส่ง พันเอกเฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา ลงสมัคร ส.ส.เขต แทน แต่ พ.อ.เฟื่องวิชชุ์ ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 พีระพันธุ์ได้ลงรับสมัครในเขต 3 กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย เขตห้วยขวาง เขตดินแดง และเขตพญาไท คู่กับ ธนา ชีรวินิจ และ สรรเสริญ สมะลาภา สามารถนำทีมชนะการเลือกตั้งทั้ง 3 คน โดยพีระพันธุ์ ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ของเขต
ภายหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่เป็น อดีตผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการ ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเงา[2]
พีระพันธุ์ยังทำหน้าที่เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณานโยบาย งบประมาณ และประสิทธิภาพกองทัพ รองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2552 และกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญอื่นๆ อีกหลายคณะ
วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลที่มีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี [3] ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ[4] และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกสมัย
ในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ได้รับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 16 ในนามพรรคประชาธิปัตย์[5]
ในวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562 พีรพันธุ์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์ โดยให้มีผลทันทีในวันเดียวกัน ทำให้ต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่งผลให้พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล บัญชีรายชื่อลำดับที่ 24 ซึ่งเป็นบุตรสาวคนโตของพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ได้ขยับขึ้นมาทำหน้าที่แทน[6]
วันที่ 17 ธันวาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง พีระพันธุ์ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป[7] และได้ประกาศลง ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563
พ.ศ. 2563 วันที่ 25 พฤษภาคม คณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการประชุมครั้งพิเศษ 10-1/2563 ซึ่งในการประชุมดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติแต่งตั้งให้พีระพันธุ์ ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ[8]
ในวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2565 พีระพันธุ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเตรียมให้คนไปยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กับทางพรรคและนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ กกต. ในวันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2565 เนื่องจากจัดทำโครงสร้างพรรคให้เข้มแข็งเสร็จเรียบร้อยแล้ว[9] จากนั้นในวันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2565 พีระพันธุ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าได้ให้เจ้าหน้าที่ไปยื่นหนังสือลาออกกับทางพรรคพลังประชารัฐกับทาง กกต. เรียบร้อยแล้ว ส่วนเรื่องอนาคตทางการเมืองเมื่อถึงเวลาจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง[10]
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 พีระพันธุ์ได้รับรางวัล "นักการเมืองแห่งปี" จาก "สยามรัฐออนไลน์" ในฐานะนักการเมืองที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศ จากการพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ[11]
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 140/2565 แต่งตั้ง คณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ โดยมี พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานกรรมการ เพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนผู้ร้องเรียนและผู้ร้องทุกข์ และการอำนวยความเป็นธรรมให้ประชาชนโดยเร็ว[12]
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2565 ของพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยชูนโยบายการแก้ไขกฎหมายล้าสมัย และสร้างสังคมเท่าเทียม
พีระพันธุ์ เปิดเผยว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรคที่ได้รวบรวมกลุ่มคนทำงาน ที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งคนที่มีประสบการณ์ในการเป็น ส.ส.ทำงานรับใช้พี่น้องประชาชนมาแล้ว ผู้ที่เคยเป็น ส.ส. และคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจจะเข้ามาทำงานในฐานะนักการเมือง เพื่อขับเคลื่อนประเทศชาติตามวิสัยทัศน์หลักของพรรค คือการสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสในการดำรงชีวิตในทุกมิติอย่างเท่าเทียมกัน โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรคการเมืองที่มุ่งเรื่องของการทำงานมากกว่าการเล่นการเมือง และมองเห็นเรื่องของการทำงานเพื่อประเทศชาติประชาชนเป็นสำคัญ
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 324/2565 แต่งตั้ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
เหตุการณ์รัฐประหาร 2549[แก้]
ในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ที่มีการรัฐประหารโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) มีทหารกลุ่มหนึ่งได้บุกเข้าไปในบ้านพีระพันธุ์ ด้วยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นบ้านของ พลตำรวจตรี พีรพันธุ์ เปรมภูติ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน นายตำรวจคนสนิทของ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทำให้ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะต้องโทรศัพท์มาขอโทษด้วยตัวเอง[13]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]
- พ.ศ. 2542 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[14]
- พ.ศ. 2541 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[15]
- พ.ศ. 2475 –
เหรียญเฉลิมพระนคร 150 ปี (ร.ฉ.พ.)
- พ.ศ. 2493 –
เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ภัทร สาลีรัฐวิภาค ทายาทนักการเมืองดัง เลือกรับราชการ ทำงานให้ประเทศชาติ
- ↑ "เว็บไซต์ ครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-25. สืบค้นเมื่อ 2021-08-19.
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
- ↑ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคประชาธิปัตย์)
- ↑ "ประกาศคณะกรรมการการเลือกต้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 8 พฤษภาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 2019-05-10.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ พีรพันธุ์ ยื่นลาออกสมาชิกประชาธิปัตย์ หลุด ส.ส. ทันที พิมพ์รพี ขยับขึ้นมาแทน
- ↑ สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2562
- ↑ การบินไทยตั้งบอร์ดใหม่ 4 คน มีผล 25 พฤษภาคม 2563 จาก ไทยพีบีเอส
- ↑ ตามคาด 'พีระพันธุ์' ทิ้งพรรคพลังประชารัฐ!
- ↑ 'พีระพันธุ์' ยื่นลาออก 'พลังประชารัฐ' แล้ว อุบตอบเส้นทางการเมือง
- ↑ ""พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" คว้ารางวัล "นักการเมืองแห่งปี" ย้ำเป็นหน้าที่ต้องทำเพื่อชาติบ้านเมือง". สยามรัฐ. 2022-05-06.
- ↑ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๓๘๐/๒๕๖๒ เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง
- ↑ หนังสือ ลับลวงพราง ปฏิวัติปราสาททราย โดย วาสนา นาน่วม : สำนักพิมพ์มติชน ISBN 9789740203384
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๑, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๖, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
ก่อนหน้า | พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ | ![]() |
![]() รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ครม. 59) (20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554) |
![]() |
พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก |
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2502
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- นักกฎหมายชาวไทย
- ข้าราชการฝ่ายตุลาการชาวไทย
- ผู้พิพากษาไทย
- สามัญสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา
- นักการเมืองไทย
- บุคคลจากกรุงเทพมหานคร
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไทย
- เลขาธิการนายกรัฐมนตรีไทย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยแบบบัญชีรายชื่อ
- พรรคประชาธิปัตย์
- พรรคพลังประชารัฐ
- พรรครวมไทยสร้างชาติ
- บุคคลจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล
- บุคคลจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.