น้อม อุปรมัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
น้อม อุปรมัย
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
16 มีนาคม – 16 กันยายน พ.ศ. 2500
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2
ดำรงตำแหน่ง
10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 – 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ดำรงตำแหน่ง
7 สิงหาคม – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501
นายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454
อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
เสียชีวิต17 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 (71 ปี)
คู่สมรสนางภัทรา รัตนสุวรรณ

น้อม อุปรมัย (27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 - 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2526) อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช 4 สมัย

ประวัติ[แก้]

น้อม เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454[1] เป็นบุตรของนายกลิ่น และ นางกิมยี อุปรมัย สำเร็จการศึกษา ธรรมศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง สมรสกับนางภัทรา รัตนสุวรรณ มีบุตร-ธิดา รวม 7 คน

การทำงาน[แก้]

น้อมได้เข้าเข้ารับราชการเป็นครูจัตวา ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. 2474 ต่อมาได้ย้ายไปเป็นครูจัตวาโรงเรียนประชาบาล ตำบลศาลามีชัย 2 วัดศาลามีชัย อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. 2476 และในระหว่าง พ.ศ. 2477 – 2484 ก็ได้ย้ายกลับมาเป็นครูที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศอีกครั้งหนึ่ง

หลังสำเร็จการศึกษาในระดับอนุปริญญาแล้ว น้อมได้เข้ารับราชการที่กระทรวงมหาดไทย และได้เป็นปลัดอำเภอตรี ที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ เมื่อ พ.ศ. 2485 ต่อมาย้ายไปเป็นปลัดอำเภอตรี อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2486 ต่อมาจึงได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งให้เป็นปลัดอำเภอตรี ที่อำเภอเมือง รัฐปะลิส และได้ย้ายมาเป็นปลัดอำเภอตรี ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และได้ย้ายลงมาเป็นปลัดอำเภอตรีที่กิ่งอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปีเดียวกันนั้นเอง จนใน พ.ศ. 2489 ก็ได้ลาออกจากราชการ เพื่อไปประกอบอาชีพส่วนตัวเป็นทนายความ

งานการเมือง[แก้]

น้อม ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรครั้งแรกใน พ.ศ. 2495 และได้รับเลือกติดต่อกันรวม 4 ครั้ง

น้อม ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ พ.ศ. 2501 ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร

นอกจากนี้ น้อมได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 8 เมื่อ พ.ศ. 2500[2] และ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ใน สภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 10 เมื่อ พ.ศ. 2512

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[แก้]

น้อม อุปรมัย ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 4 สมัย คือ

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2495 จังหวัดนครศรีธรรมราช
  2. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 จังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา[3]
  3. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ธันวาคม พ.ศ. 2500 จังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดพรรคสหภูมิพรรคชาติสังคม[4]
  4. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2512 จังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดพรรคสหประชาไทย

ข้อเสนอสำคัญ[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2498 น้อม อุปรมัย ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลให้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูในภาค 8 (นครศรีธรรมราช)[5] จนเป็นที่มาของการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูนครศรีธรรมราช ได้ประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2500

นอกจากนั้น เยังได้เสนอข้อเสนอเกี่ยวกับการศึกษาอีกจำนวนมาก เช่น การศึกษาทางไปรษณีย์ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการเปิดการเรียนการสอนด้วยวิธีการนี้[6] ปัญหาครูไม่พอทำการสอน การเลื่อนวิทยฐานะครู แบบเรียนมาตรฐาน หรือการประถมศึกษา[7] เป็นต้น

ถึงแก่อนิจกรรม[แก้]

น้อม อุปรมัย ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 สิริอายุรวม 71 ปี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. นักการเมืองถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช. ณรงค์ บุญสวยขวัญ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า. 2548
  2. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร (พลเอกพระประจนปัจจนึกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นายน้อม อุปรมัย เป็นรอง ฯ คนที่ ๑ ร้อยโท จงกล ไกรฤกษ์ เป็นรอง ฯ คนที่ ๒)
  3. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป
  4. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ. ๒๕๐๐ ครั้งที่ ๒
  5. กระทู้ถามที่ ว. ๔๕/๒๔๙๘ ของนายน้อม อุปรมัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อง การตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูในภาค ๘
  6. กระทู้ถามที่ ว. ๔๔/๒๔๙๘ ของนายน้อม อุปรมัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อง การศึกษาทางไปรษณีย์
  7. กระทู้ถามที่ ว. ๓๒/๒๔๙๘ ของนายน้อม อุปรมัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อง การประถมศึกษา