พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล
พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล | |
---|---|
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง | |
ดำรงตำแหน่ง 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 – 6 มกราคม พ.ศ. 2544 | |
นายกรัฐมนตรี | ชวน หลีกภัย |
รัฐมนตรีว่าการ | ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | ประชาธิปัตย์ (2535–ปัจจุบัน) |
คู่สมรส | ลลิดา พันธุ์วิชาติกุล |
พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล (เกิด 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487) เป็นนักการเมืองชาวไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อดีตกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์[1] อดีตประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
ประวัติ
[แก้]พิเชษฐ เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 ที่บ้านริมแม่น้ำตาปี อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี[2][3][4] โดยอยู่ใกล้กับบ้านสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นบุตรนายจรุง นางวันเพ็ญ พันธุ์วิชาติกุล[2] ด้านครอบครัว สมรสกับนางลลิดา พันธุ์วิชาติกุล (นามสกุลเดิม: เอกาพันธุ์) มีบุตรหญิง–ชาย ทั้งหมด 3 คน คือ พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล, พิมพ์รำไพ พันธุ์วิชาติกุล และปาฏิหาริย์ พันธุ์วิชาติกุล[5]
สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนวิเชียรมาตุมัธยมปลาย จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร และระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การทำงาน
[แก้]พิเชษฐ ประกอบวิชาชีพทนายความมาอย่างยาวนาน ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และยังประกอบธุรกิจหลายด้านในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีบทบาทสำคัญในสภาหอการค้า ทำให้มีความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจการค้า เข้าสู่วงการเมืองโดยลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกที่จังหวัดกระบี่ เมื่อปี พ.ศ. 2535 และชนะเลือกตั้งมาโดยตลอดทุกครั้งที่ลงสมัคร เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมาธิการการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร
พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 และเป็นหนึ่งในแกนนำทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ในเวลาต่อมา[6]
นอกจากทำงานการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ นายพิเชษฐ ยังเป็นคอลัมนิสต์ประจำ ให้กับ หนังสือพิมพ์แนวหน้า มีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณะในชื่อของตัวเอง โดยสม่ำเสมออีกด้วย และยังมีธุรกิจส่วนตัวมากมาย เช่น โรงแรม หรือรีสอร์ต ในจังหวัดกระบี่
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้ง คณะรัฐมนตรีเงา (ครม.เงา) ขึ้นมาเป็นครั้งแรก พิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล ได้รับเลือกจาก ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ให้ทำหน้าที่ รองนายกรัฐมนตรีเงา ดูแลตรวจสอบ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา[7] ระหว่างการอภิปรายผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่มี พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 อยู่นั้น พิเชษฐได้ใช้คำพูดในการอภิปรายที่ไม่เหมาะสมหลายครั้ง เช่น "ไอ้สัตว์นรก", "ก็พวกมึงเผา" เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงไปมาระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาลอยู่นาน โดยมี จ่าสิบตำรวจ ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ ลุกขึ้นประท้วงแล้วกล่าวหาว่า "ไม่เต็มบาท ไอ้แก่ตัณหากลับ" โดยมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ ส.ส.อาวุโสของพรรคประชาธิปัตย์เป็นวงกว้างถึงการไม่เหมาะสม
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ภายหลังการประชุมใหญ่เลือกกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เขต 3 จังหวัดกระบี่ พิเชษฐได้เขียนข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าได้ตัดสินใจประกาศยุติบทบาททางการเมือง เนื่องจากปัญหาสุขภาพ [8] และต่อมาในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 72 ปี ได้มีการจัดงานเลี้ยงฉลองวันเกิดที่โรงแรมกระบี่เมอร์ริไทม์ จังหวัดกระบี่ อย่างคึกคัก ซึ่งพิเชษฐก็ได้ประกาศย้ำอีกครั้งว่ายุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด และจะผลักดันบุตรสาวของตน คือ พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ให้สืบสานต่อ[3]
ประวัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
[แก้]- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มีนาคม พ.ศ. 2535
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กันยายน พ.ศ. 2535
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2542 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[9]
- พ.ศ. 2541 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[10]
- พ.ศ. 2536 –
เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[11]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประชาธิปัตย์ ตั้งสภาที่ปรึกษาพรรคบัญญัติ-อภิสิทธิ์-ชายหมู มาครบทีม
- ↑ 2.0 2.1 หน้า 2,มีพี่น้อง 5 คน 'พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล' ตัวจริงชัดเจน!. "คนในข่าว". คมชัดลึกปีที่ 16 ฉบับที่ 5682: วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
- ↑ 3.0 3.1 ล้างมือจัดงานเลี้ยงฉลองวันเกิดที่โรงแรมกระบี่เมอร์ริไทม์ จากไทยรัฐ
- ↑ ประวัติผู้สมัคร ส.ส. เก็บถาวร 2012-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
- ↑ รู้จักคน รู้จักข่าว พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล
- ↑ "คณะรัฐมนตรีคณะที่ 53". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-31. สืบค้นเมื่อ 2012-08-21.
- ↑ "เว็บไซต์ ครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-25. สืบค้นเมื่อ 2021-08-19.
- ↑ เชษฐได้เขียนข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าได้ตัดสินใจประกาศยุติบทบาททางการเมือง เนื่องจากปัญหาสุขภาพ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-10-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๑, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๖, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๗๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๑๑ มิถุนายน ๒๕๓๖
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2487
- บุคคลจากอำเภอพุนพิน
- นักกฎหมายชาวไทย
- ทนายความชาวไทย
- นักการเมืองจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่
- นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์
- บุคคลจากโรงเรียนวิเชียรมาตุ
- บุคคลจากโรงเรียนอำนวยศิลป์
- บุคคลจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คอลัมนิสต์
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- สกุลพันธุ์วิชาติกุล