ข้ามไปเนื้อหา

หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุขุมพันธ์ุ บริพัตร
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ ใน พ.ศ. 2552
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ดำรงตำแหน่ง
14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 – 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
(2 ปี 360 วัน)
นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย
ก่อนหน้าธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่
ถัดไปปรีชา เลาหพงศ์ชนะ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 15
ดำรงตำแหน่ง
11 มกราคม พ.ศ. 2552 – 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559
(7 ปี 280 วัน)
ก่อนหน้าอภิรักษ์ โกษะโยธิน
ถัดไปพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ดำรงตำแหน่ง
17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 – 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
(3 ปี 357 วัน)
เขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร เขต 2
ดำรงตำแหน่ง
6 มกราคม พ.ศ. 2544 – 5 มกราคม พ.ศ. 2548
(3 ปี 364 วัน)
เขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร เขต 6
ดำรงตำแหน่ง
6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 – 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
(1 ปี 18 วัน)
ดำรงตำแหน่ง
23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 – 23 ธันวาคม พ.ศ. 2552
(2 ปี 0 วัน)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด22 กันยายน พ.ศ. 2495 (72 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองนำไทย (2537–2539)
ประชาธิปัตย์ (2539–ปัจจุบัน)
คู่สมรสนุชวดี บำรุงตระกูล (หย่า)
คุณหญิงสาวิตรี บริพัตร ณ อยุธยา
บุตรหม่อมหลวงพินิตพันธุ์ บริพัตร
หม่อมหลวงวราภินันท์ บริพัตร
บุพการี
ทรัพย์สินสุทธิ578 ล้านบาท (2552)

หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ม.ป.ช. ม.ว.ม. ต.จ. บ.ภ. (เกิด 22 กันยายน พ.ศ. 2495) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 15 อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อดีตกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์[1]

เขาเป็นที่จดจำจากการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครระหว่างปี 2552 ถึง 2559 โดยในการเลือกตั้งปี 2556 เขายังได้รับเลือกตั้งอีกสมัย

ประวัติ

[แก้]

หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ มีชื่อเล่นว่า คุณชายหมู เป็นโอรสในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ กับหม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับสินนภา สารสาส

เขาสมรสครั้งที่ 1 กับนุชวดี บำรุงตระกูล มีบุตรคือ รองศาสตราจารย์ หม่อมหลวงพินิตพันธุ์ บริพัตร (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และสมรสครั้งที่สองกับ สาวิตรี บริพัตร ณ อยุธยา (สาวิตรี ภมรบุตร) มีบุตรคือ หม่อมหลวงวราภินันท์ บริพัตร

การศึกษา

[แก้]

หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจาก โรงเรียน Cheam และโรงเรียน Rugby ประเทศอังกฤษ โดยศึกษาระหว่างปี พ.ศ. 2506 - พ.ศ. 2513 ต่อมาจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ 2) และระดับปริญญาโทจากวิทยาลัยเพมโบร์ก มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และสาขาวิชาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ (PPE) ในปี พ.ศ. 2520 และจบการศึกษาในระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ สหรัฐอเมริกา สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2521

งานการเมือง

[แก้]

หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคนำไทย ร่วมกับอำนวย วีรวรรณ เมื่อ พ.ศ. 2537 และเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคนำไทย จนต่อมา เขาเข้าเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 6 (บางรัก สาทร ปทุมวัน) เมื่อปี พ.ศ. 2539 และ 2544

ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540[2] ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 เนื่องจากการยุบสภา[3] และปฏิบัติหน้าที่รักษาการไปจนกระทั่งได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544[4]

หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 24 ของพรรคประชาธิปัตย์ จากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค และดูแลงานทางด้านต่างประเทศและความมั่นคง ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2550 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบสัดส่วนโซน 6 กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี ลำดับที่ 3 และชนะการเลือกตั้ง

ภายหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 และมีการจัดตั้งรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวได้ประกาศตั้งคณะรัฐมนตรีเงาขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเงา

การตกลงเป็นตัวประกันในเหตุการณ์ยึดสถานทูตพม่า พ.ศ. 2542

[แก้]

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ในรัฐบาลชวน หลีกภัย เกิดเหตุการณ์ก๊อด อาร์มี่ กองกำลังติดอาวุธของนักศึกษาพม่า บุกเข้ายึดสถานเอกอัครราชทูตพม่า ประจำประเทศไทย ที่ถนนสาทรเหนือ และจับเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นตัวประกัน

หลังการเจรจาต่อรองเป็นเวลาหลายชั่วโมง ผู้ก่อการร้ายยินยอมปล่อยตัวประกัน แลกกับให้ทางการไทยจัดเฮลิคอปเตอร์ไปส่งที่ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นชายแดนไทย-พม่า โดย หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้น เสนอตัวเป็นตัวประกันนั่งโดยสารไปด้วยเพื่อรับรองความปลอดภัยจนกระทั่งถึงที่หมาย ทำให้เหตุการณ์ครั้งนั้นยุติลงได้โดยไม่มีการสูญเสียชีวิต[ต้องการอ้างอิง]

การลงนามในบันทึกข้อตกลงปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2543 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ในระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 14 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2543

บันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีสาระสำคัญส่วนหนึ่ง คือ การสำรวจและปักหลักเขตแดนทางบกจะดำเนินการโดยใช้เอกสารหลักฐานที่ผูกพันไทยและกัมพูชาตามกฎหมายระหว่างประเทศ คืออนุสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 สนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 กับพิธีสารแนบท้าย ต่าง ๆ และ แผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของ คณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับรัฐบาลอินโดจีนของฝรั่งเศส

ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 หลังเกิดกรณี นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงนามในเอกสารแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งอาจมีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศไทยโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เกิดการโจมตีหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์และพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับการลงนามในบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 ที่ระบุให้การจัดทำหลักเขตแดนยึดตามแผนที่ฝรั่งเศส-สยาม (ค.ศ. 1904) เป็นแนวทาง โดยไม่ระบุแผนที่แอล 7017 ของสหรัฐอเมริกาที่ไทยใช้อ้างอิง ซึ่งอาจตีความได้ว่ามีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ก่อนการลงนามของนายนพดล ปัทมะ เรื่องดังกล่าว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้ชี้แจงว่าการระบุถึงแผนที่ ค.ศ. 1904 เป็นการระบุประกอบเอกสารหลักคือ อนุสัญญา ค.ศ. 1904 และ สนธิสัญญา ค.ศ. 1907 ซึ่งแผนที่ที่ออกมาภายหลังจากนั้น หรือไม่ได้มีความเกี่ยวพันกันกับการสำรวจและปักปันหลักเขตแดนจะขัดหรือแย้งไม่ได้ การลงนามในปี พ.ศ. 2543 จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศแต่อย่างใด[5]

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสมัยแรก

[แก้]

ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีชี้มูลความผิด นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในคดีทุจริตโครงการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร มูลค่า 6,800 ล้านบาท และนายอภิรักษ์ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบนั้น คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จึงมีมติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ส่งชื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตรได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การบริหารงานของสุขุมพันธ์ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของชาวกรุงเทพมากนัก และมักจะได้รับเสียงบ่นด่าอยู่เสมอจากการบริการงานที่ล่าช้าและไม่โปร่งใส อาทิ การสร้างสนามบางกอกอารีนาไม่ทันการแข่งขันฟุตซอลโลก, กล้องซีซีทีวีปลอม, การต่อสัญญาสัมปทานบีทีเอส 30 ปี, ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก[6]

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสมัยสอง

[แก้]

แม้ว่าจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนมากนัก แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ตัดสินใจส่งสุขุมพันธ์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครสมัยที่สอง ในการเลือกตั้งเมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งสุขุมพันธ์ต้องแข่งขันกับ พลตำรวจเอก พงศพัศ พงษ์เจริญ คู่แข่งจากพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรครัฐบาล การสำรวจโดยสำนักโพลต่าง ๆ ก่อนการเลือกตั้ง พบว่าพงศพัศ มีคะแนนนำสุขุมพันธ์ในการสำรวจทุกครั้ง และมวลชนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็หันไปสนับสนุนผู้สมัครคนอื่น ๆ จนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งดิ้นรนที่จะรักษาฐานอำนาจทางการเมืองจำเป็นต้องหาเสียงโดยใช้วาทกรรม "ไม่เลือกเรา เขามาแน่" และกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นพวก "เผาบ้านเผาเมือง"[7] เพื่อจูงใจคนที่ไม่ชอบพรรคเพื่อไทยหันมาเทคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์แทนที่จะไปเลือกผู้สมัครคนอื่นซึ่งจะเป็นคะแนนที่เสียเปล่า การหาเสียงด้วยวาทกรรมนี้ ช่วยให้สุขุมพันธ์พลิกกลับมาชนะการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียง 1,256,349 เสียง

ข้อวิจารณ์ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

[แก้]

สุขุมพันธ์ใช้งบประมาณไปอย่างสิ้นเปลืองในโครงการต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร มีการใช้งบกว่า 1.28 พันล้านบาท จัดซื้อเครื่องดนตรีให้แก่โรงเรียนในสังกัดที่ไม่มีบุคลากรครูผู้สอน[8] มีการใช้งบ 39 ล้านบาทในการประดับตกแต่งไฟบริเวณลานคนเมืองและขั้นตอนไม่โปร่งใส[9]การปฏิเสธโครงการความช่วยเหลือแบบให้เปล่าด้านโรงไฟฟ้าขยะจากรัฐบาลญี่ปุ่น เนื่องจากมีโครงการอยู่กับบริษัทจากจีน[10] นอกจากนี้ยังมีการใช้งบประมาณกว่า 16.5 ล้านบาทในการตกแต่งห้องทำงานส่วนตัว และยังมีการจัดซื้อรถดับเพลิงขนาดเล็กพวงมาลัยซ้ายสมรรถนะต่ำในราคาคันละ 8 ล้าน และเรือดับเพลิงขนาดเล็กคันละ 10 ล้าน แม้จะถูกสตง. ท้วงติงแล้ว[11]

สุขุมพันธ์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครได้ เขาเคยตอบเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไว้ว่า "...ถ้าไม่อยากมีจุดเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ต้องไปอยู่บนดอยครับ"[12]

สุขุมพันธ์ให้ความช่วยเหลือกลุ่มกปปส. ในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่อ้างว่ากทม. มีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการชุมนุมของประชาชนโดยไม่เลือกฝ่าย[13]

พรรคประชาธิปัตย์พยายามพูดคุยกับเขาในเรื่องการทำงานแต่ก็ถูกเพิกเฉย จนพรรคประกาศตัดสัมพันธ์กับเขาในวันที่ 21 มกราคม 2559[14] แม้ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย จะออกมาเรียกร้องให้สุขุมพันธ์แสดงความรับผิดชอบต่อข้อครหาต่าง ๆ โดยการลาออกจากตำแหน่ง แต่หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ก็ยืนยันที่จะไม่ลาออก[15]

เสียงวิจารณ์ถึงขั้นว่า มีบุคคลออกมาเรียกร้องให้คณะรัฐประหารใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดสุขุมพันธ์ออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการกทม.[16] จนในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559 คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่งให้สุขุมพันธุ์ระงับการปฏิบัติราชการ หรือหน้าที่ในกรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราว[17][ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้] ซึ่งมีการแต่งตั้ง ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันเดียวกัน[18]

ต่อมาในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 64/2559 เรื่อง การให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตำแหน่ง และการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยอ้างอิงจากคำสั่งที่ 50/2559 ที่ผ่านมานั้นเพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่อง จึงอาศัยความตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มีคำสั่งให้ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. และให้พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ กทม. ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ กทม.[19][20]

ทรัพย์สิน

[แก้]

ในปี 2552 เขาเปิดเผยทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยระบุว่ามีทรัพย์สิน 578 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นที่ดิน 387 ล้านบาท และเงินฝาก 123 ล้านบาท และระบุว่าเป็นเจ้าของธุรกิจรีสอร์ทของครอบครัว ชื่อ บริษัท บ่อจืดรีสอร์ทและสปา จำกัด ซึ่งมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 5,000 บาท[21]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

[แก้]

เครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

[แก้]

ลำดับสาแหรก

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประชาธิปัตย์ ตั้งสภาที่ปรึกษาพรรคบัญญัติ-อภิสิทธิ์-ชายหมู มาครบทีม". ประชาชาติธุรกิจ. 2021-01-28.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี
  3. "คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 53". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-31. สืบค้นเมื่อ 2013-03-16.
  4. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน 35 ราย)
  5. ตามไม่ทันเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เรียกดูข้อมูลเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551
  6. “คุณชาย” ยันต่อสัญญา BTS 30 ปี ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่เอี่ยวการเมือง[ลิงก์เสีย]
  7. มหานครแห่งความเกลียด คมชัดลึก. 4 ก.พ. 2556
  8. ราคาซื้อโหดไป! สตง.ตั้ง 3 ประเด็น ลุยสอบเครื่องดนตรี 'สุขุมพันธุ์' 1.2 พันล. อิศรา. 15 ธันวาคม 2558
  9. สุขุมพันธุ์ ชี้งบแต่งไฟลานคนเมือง 39 ล้าน แค่ได้เห็นก็คุ้มค่าแล้ว
  10. ญี่ปุ่นมึนแจกเตาเผาขยะฟรีแต่ กทม.ไม่รับ "กรอ." ถกมหาดไทยหาพื้นที่ใหม่ติดตั้งแทน ไทยรัฐ 15 กรกฎาคม 2558
  11. "ผู้ว่าสตง."สอน"ชายหมู" ใช้จ่ายเงินประชาชน ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า เนชั่น. 16 กรกฎาคม 2559
  12. เราเป็นเมืองน้ำ เราเป็นเมืองฝน ถ้าไม่อยากมีจุดเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ต้องไปอยู่บนดอย สปริงนิวส์. 26 มี.ค. 58
  13. จุดแข็งของสุขุมพันธุ์ โพสต์ทูเดย์. 14 กรกฎาคม 2559
  14. Nation TV "เบื้องหลัง ปชป.กดดัน“สุขุมพันธุ์” พ้นพรรค-ทิ้งผู้ว่าฯกทม." 21 มกราคม 2559. เนชั่นทีวี
  15. “บุญยอด” แนะ “สุขุมพันธุ์” ควรลาออกพ้นผู้ว่าฯ หากป.ป.ช. สอบไฟ 39 ล้าน เก็บถาวร 2016-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 5 พ.ค. 59
  16. ม.44ปลด'สุขุมพันธุ์'ขึ้นกับนายกฯ คมชัดลึก. 22 ม.ค. 2559
  17. ราชกิจจานุเบกษา, คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๕๐/๒๕๕๙ เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ ๖ เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๑๘๘ ง วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๙
  18. ""ผุสดี ตามไท"นั่งรักษาการผู้ว่าฯกทม". คมชัดลึกออนไลน์. 25 Aug 2016. สืบค้นเมื่อ 25 Aug 2016.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  19. "คสช.ใช้ ม.44 ปลด 'สุขุมพันธุ์' พ้นผู้ว่าฯ กทม. ให้ 'อัศวิน' แทน". www.thairath.co.th. 2016-10-18.
  20. ราชกิจจานุเบกษา, คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๔/๒๕๕๙ เรื่อง การให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตําแหน่ง และการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เล่ม ๑๓๓ ตอนพิเศษ ๒๓๘ ง วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๙
  21. "ต้นทุน "สุขุมพันธุ์ บริพัตร" 600 ล้าน". สำนักข่าวอิศรา. 3 March 2013. สืบค้นเมื่อ 23 July 2022.
  22. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๑, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒
  23. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๖, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑
  24. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๗๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖, ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๒๔
  25. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๔, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๓๑, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
  26. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี ๒๕๕๒, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๑ ข หน้า ๑๕, ๑๒ มกราคม ๒๕๕๔
  27. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๕ ข หน้า ๑, ๑ มีนาคม ๒๕๔๓
  28. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2021-10-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๒ ข หน้า ๒, ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ถัดไป
อภิรักษ์ โกษะโยธิน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
(2552–2559)
พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง