ไชยา สะสมทรัพย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
 ไชยา สะสมทรัพย์    
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ดำรงตำแหน่ง
2 สิงหาคม พ.ศ. 2551 – 9 กันยายน พ.ศ. 2551
นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช
ก่อนหน้ามิ่งขวัญ แสงสุวรรณ
ดำรงตำแหน่ง
24 กันยายน พ.ศ. 2551 – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551
นายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์
ถัดไปพรทิวา นาคาศัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ดำรงตำแหน่ง
6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 – 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช
ก่อนหน้ามงคล ณ สงขลา
ถัดไปชวรัตน์ ชาญวีรกูล
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ดำรงตำแหน่ง
9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 – 6 มกราคม พ.ศ. 2544
นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย
ก่อนหน้าโชคสมาน สีลาวงษ์
เผดิมชัย สะสมทรัพย์
ถัดไปประชา มาลีนนท์
พงศกร เลาหะวิเชียร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด18 กันยายน พ.ศ. 2495
ประเทศไทย
เสียชีวิต14 ธันวาคม พ.ศ. 2563 (68 ปี)
คู่สมรสจุไร สะสมทรัพย์

ไชยา สะสมทรัพย์ (18 กันยายน พ.ศ. 2495 – 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตรองเลขาธิการ​พรรคเอกภาพ​ เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี[1]

ประวัติ[แก้]

นายไชยา เป็นชาวตำบลห้วยจรเข้ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรของนายประเสริฐ และนางสุนีย์ สะสมทรัพย์ มีพี่น้อง 3 คน ได้แก่

จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ จบชั้นอุดมศึกษาจาก โรงเรียนเทคโนโลยีนครปฐม สาขาอนุปริญญาการตลาด [2] เริ่มทำงานการเมืองจากการเมืองท้องถิ่น แล้วเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคเอกภาพ [3] เมื่อ พ.ศ. 2538-2539 ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2548 และพรรคพลังประชาชน พ.ศ. 2551 เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระหว่าง พ.ศ. 2543-2544 [4] นายไชยา สะสมทรัพย์ มีพี่น้องที่เล่นการเมืองสังกัดพรรคพลังประชาชน คือนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ และไชยยศ สะสมทรัพย์ พี่ชาย และนายอนุชา สะสมทรัพย์ น้องชาย ลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา ปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2551 ตระกูลสะสมทรัพย์ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ค้าวัสดุก่อสร้าง [5] และบริษัท กลุ่ม 79 จำกัด ทำธุรกิจรับเหมาขนขยะจากโรงงานกำจัดขยะของกรุงเทพมหานครที่โรงงานกำจัดมูลฝอยหนองแขม เขตหนองแขม และสถานีขนถ่ายมูลฝอยท่าแร้ง เขตสายไหม ไปฝังกลบที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ระยะเวลาสัมปทาน 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 [6]

ด้านรสนิยมส่วนตัว ในวัยรุ่น นายไชยา สะสมทรัพย์ ชื่นชอบการขับรถเร็ว มีรถยนต์สปอร์ตหลายคัน ทั้งยี่ห้อ เมอร์เซเดส-เบนซ์, อัลฟาโรเมโอ, ซีตรอง, ปอร์เช [7] และสะสมพระเครื่อง

ชีวิตส่วนตัว นายไชยา สมรสกับ นางจุไร สะสมทรัพย์ (ธุวนลิน) น้องสาว ร.ต.อ.นายแพทย์มานัส ธุวนลิน อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีต ส.ส. นครปฐม และผู้สมัคร ส.ว. ปี พ.ศ. 2548 มีบุตรชื่อพาณุวัฒน์ สะสมทรัพย์

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 17

ไชยา สะสมทรัพย์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ด้วยอาการไตวายเฉียบพลัน หลังเข้ารับการรักษานาน 2 ปี[8]

ในวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว​โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมฯให้จัดงานพระราชทานเพลิงศพโดยมีนายชวน หลีกภัย​ เป็นประธานในพิธี ณ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหารจังหวัดนครปฐม

การดำรงตำแหน่ง รมว.สธ.[แก้]

ในช่วงต้นของการที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายไชยาได้ประกาศการทำงานว่าจะทบทวนนโยบายการเข้าถึงยาหรือการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ และมีการโยกย้ายข้าราชการที่เป็นหัวแรงในการทำ C.L. ทำให้ถูกกล่าวหาว่าโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม ซึ่งทั้งสองกรณีนำมาสู่การล่ารายชื่อประชาชน 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นสภาผู้แทนราษฎรให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี

นายไชยาไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนางจุไร สะสมทรัพย์ ภรรยา ถือหุ้นในบริษัททรัพย์ฮกเฮง จำกัด จำนวน 25,000 หุ้น มูลค่า 2.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด อันเป็นการถือหุ้นเกินร้อยละ 5 ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 269 กำหนดให้ต้องแจ้งต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ ว่าประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการถือครองหุ้นดังกล่าวภายใน 30 วัน นับจากการเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

กรณีดังกล่าวทำให้ประธานวุฒิสภามีหนังสือลงวันที่ 21 เมษายน 2551 ส่งคำร้องของนายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภาและคณะ รวม 36 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายไชยา|1| สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 269 หรือไม่ ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายไชยา สะสมทรัพย์ มีเจตนาปิดบังบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของภรรยา ฝ่าฝืนและกระทำการอันต้องห้ามตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ตั้งแต่ 30 วันหลังเข้ารับตำแหน่ง

วงการฟุตบอล[แก้]

ไชยา สะสมทรัพย์ เป็นประธานสโมสรของทีม นครปฐมเอฟซี ซึ่งอยู่ในลีก ดิวิชั่น 1 ของประเทศไทย

ใน พ.ศ. 2553 เกิดเหตุแฟนบอลสโมสรฟุตบอลนครปฐมทำร้ายผู้ตัดสิน พ.ศ. 2553 ไชยาได้ให้สัมภาษณ์ในกรณีดังกล่าวว่า จะไม่ขอโทษผู้ตัดสินในเหตุการณ์ เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น และผู้ตัดสินรายดังกล่าวตัดสินผิดพลาด อันนำไปสู่เหตุการณ์ โดยยืนยันว่าบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกและสมาคมผู้ตัดสินไม่เคยพัฒนาตัวเอง เพราะในนัดที่นครปฐมเยือนศรีสะเกษก็ได้นำปัญหาในการแข่งขันนั้นแจ้งสมาคมผู้ตัดสินแล้วไม่มีท่าทีตอบสนองแต่อย่างใด

ต่อมา ได้ออกมาระบุว่าจะยุบทีม และหันไปทำทีมฟุตซอลลีกแทน และอาจให้ความสนใจกับฟุตบอล "ลาวลีก"[9] ส่วนทางวิชิต แย้มบุญเรือง ออกมาระบุว่า ทีมที่มีชื่อ "นครปฐม" ในชื่อสโมสร ไม่สามารถส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตซอลได้ เพราะเป็นการแข่งขันที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยรับรอง[9] ผลจากบทลงโทษดังกล่าวทำให้ลีกดิวิชั่น 1 เหลือเพียง 17 ทีม[9]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เปิดชื่อ 109 กก.บริหาร "พปช.-ชาติไทย-มัชฌิมาฯ" ถูกยุบ-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-18. สืบค้นเมื่อ 2011-06-10.
  2. ""ไชยา สะสมทรัพย์" ว่าที่ รมว.สธ.คนใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-16. สืบค้นเมื่อ 2008-03-06.
  3. "รายชื่อ ส.ส.พรรคเอกภาพ พ.ศ. 2538". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-12. สืบค้นเมื่อ 2008-03-06.
  4. ฐานข้อมูลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สำเนาโดย กูเกิลแคช
  5. ก่อสร้างการเมือง-การเมืองก่อสร้าง สู่ “หายนะ” สุวรรณภูมิ หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ 10 กุมภาพันธ์ 2550
  6. ขยะกทม. ตามหลอน สมัคร/พลังประชาชน เก็บถาวร 2008-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หนังสือพิมพ์สวัสดีกรุงเทพ 30 สิงหาคม 2550
  7. ไชยา สะสมทรัพย์ "รถยนต์มันก็มีจุดอิ่มตัวของมัน" เดลินิวส์ คอลัมน์ รถคันโปรด 1 มี.ค. 2551
  8. ‘ไชยา สะสมทรัพย์’ อดีต รมว.สาธารณสุข-พาณิชย์ เสียชีวิตแล้ว
  9. 9.0 9.1 9.2 รัฐเร่งภาค7ชี้แจงคดีหมูป่า,วิชิตยันโต๊ะเล็กก็แข่งไม่ได้. (30 ธันวาคม 2553). สืบค้น 31-12-2553.
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2015-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๑, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๑๐, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า ไชยา สะสมทรัพย์ ถัดไป
มงคล ณ สงขลา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ครม.57)
(6 กุมภาพันธ์ – 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2551)
ชวรัตน์ ชาญวีรกูล
มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ครม.57, ครม.58)
(2 สิงหาคม – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551)
พรทิวา นาคาศัย