วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล | |
---|---|
วรวัจน์ ใน พ.ศ. 2563 | |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี | |
ดำรงตำแหน่ง 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556 | |
นายกรัฐมนตรี | ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร |
ก่อนหน้า | ปลอดประสพ สุรัสวดี |
ถัดไป | พีรพันธุ์ พาลุสุข |
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี | |
ดำรงตำแหน่ง 18 มกราคม – 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555 | |
นายกรัฐมนตรี | ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร |
ก่อนหน้า | สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ | |
ดำรงตำแหน่ง 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 – 18 มกราคม พ.ศ. 2555 | |
นายกรัฐมนตรี | ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร |
ก่อนหน้า | ชินวรณ์ บุณยเกียรติ |
ถัดไป | สุชาติ ธาดาธำรงเวช |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม | |
ดำรงตำแหน่ง 24 กันยายน – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 | |
นายกรัฐมนตรี | สมชาย วงศ์สวัสดิ์ |
ก่อนหน้า | สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ |
ถัดไป | ธีระ สลักเพชร |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502[1] อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ประเทศไทย |
ศาสนา | พุทธ |
พรรคการเมือง | ชาติไทย (2539–2543) ไทยรักไทย (2543–2549) พลังประชาชน (2550–2551) เพื่อไทย (2551–2561, 2562 – ปัจจุบัน) ไทยรักษาชาติ (2561 - 2562) |
วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นนักการเมืองชาวไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ สังกัดพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ประวัติ
[แก้]นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 ที่อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ มีชื่อเล่นว่า "แมว" หรือเป็นที่รู้จักว่า ''เสี่ยแมว'' เป็นบุตรชายของ ดร.เมธา หรือพ่อเลี้ยงเมธา เอื้ออภิญญกุล และนางธีรวัลย์ หรือแม่เลี้ยงธีรวัลย์ เอื้ออภิญญกุล (สกุลเดิม;กันทาธรรม) โดยบิดาเคยเป็นอดีต ส.ส.แพร่ มีพี่น้อง 3 คน คือ
- นายเมธี เอื้ออภิญญกุล กรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
- นางปานหทัย เสรีรักษ์ ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษาบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริษัท สารินพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งเป็นภรรยาของ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย (บ้านเลขที่ 111) และอดีต ส.ส.แพร่
- นายองอาจ เอื้ออภิญญกุล กรรมการบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
นายวรวัจน์ จบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จบปริญญาโท สาขาพัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และจบปริญญาเอก สาขาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
งานการเมือง
[แก้]นายวรวัจน์ เริ่มทำงานการเมืองในนาม "กลุ่มเมืองแพร่" ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเมืองแพร่ เมื่อปี พ.ศ. 2533 ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย นายวรวัจน์ ลงสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539 ในนามของพรรคชาติไทย และได้รับเลือก จนกระทั่งได้ย้ายไปอยู่ พรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2548 ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเช่นกัน และพรรคไทยรักไทย ก็ได้ถูกตัดสินยุบพรรคใน พ.ศ. 2550 นายวรวัจน์จึงย้ายไปสังกัด พรรคพลังประชาชน ใน พ.ศ. 2550 นายวรวัจน์ลงสมัครรับเลือกตั้งที่ จังหวัดแพร่ ในนามพรรคพลังประชาชน และได้รับเลือก
เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552 และมีการสลายการชุมนุมในวันที่ 13 เมษายน นายวรวัจน์จึงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความขัดแย้งและส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งก็ยังไม่มีใครยืนยันว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรว่าผู้ใดเป็นคนกระทำ ดังนั้น จึงต้องเปิดเผยข้อมูลให้ครบทุกด้าน โดยนายวรวัจน์ ยังเชิญชวนประชาชนว่าหากใครที่มีคลิปหรือได้ถ่ายภาพ ก็ให้ส่งมาให้ที่พรรคเพื่อไทย
ต่อมาวันที่ 23 เมษายน นายวรวัจน์ ลุกขึ้นอภิปรายและได้ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในการนำภาพผู้เสียชีวิต ภาพเหตุการณ์ และญาติผู้ชีวิต จากการสลายการชุมนุมมาชี้แจงในรัฐสภา โดยยืนยันและรับรองด้วยเกียรติของสมาชิกรัฐสภา และตำแหน่ง ส.ส.เพราะตนได้ไปพบด้วยตนเอง ทั้งนี้หากประธานไม่ให้พูดในรัฐสภาจะลงไปแถลงข้างล่าง แต่ปรากฏว่า นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ไม่อนุญาต โดยยืนยันว่า นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาได้วินิจฉัยแล้ว จากนั้น นายวรวัจน์ ได้เปิดคลิปวิดีโอพร้อมภาพนิ่งประกอบ เป็นภาพชาย รปภ. 2 คนที่เสียชีวิตลอยน้ำมา ถูกมัดมือและปาก โดยชูภาพนิ่งประกอบว่าชายทั้งสองเป็นการ์ด นปช. ที่เคยไปยืนบนเวที นปช. ในวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา พร้อมกับฉายคลิปวิดีโอทหารรุมทำร้ายผู้ชุมนุมรายหนึ่ง ระหว่างการเข้าสลายการชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดง นายวรวัจน์ กล่าวว่า ตนขอให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลาออก และเอาคนกลางมาสอบหาข้อเท็จจริง[2]
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
[แก้]ต่อมานายวรวัจน์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ระหว่างดำรงตำแหน่งเคยมีแนวคิดที่จะนำความเชื่อ และพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ เช่น พญานาค ควายธนู เสน่ห์ยาแฝด น้ำมนต์ ปลัดขิก มาทำเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมเพื่อขายเป็นที่ระลึก จนได้รับเสียงฮือฮาจากประชาชนอย่างมาก ต่อมาพรรคถูกยุบ นายวรวัจน์จึงย้ายไปสังกัด พรรคเพื่อไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
[แก้]ในปี พ.ศ. 2554 ได้รับแต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร[3] โดยที่นายวรวัจน์ ได้มอบหมายภารกิจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการ ให้กำกับดูแลการศึกษาเป็นรายภาค แทนการแบ่งงานในรูปแบบเดิมที่ใช้การแบ่งภารกิจตามหน่วยงาน โดยนายวรวัจน์ จะดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร[4] ซึ่งการบริหารงานของนายวรวัจน์ ได้ถูกสมาชิกในพรรคเดียวกัน วิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางการบริหารงาน และการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง[5] นอกจากนี้ นายนายวรวัจน์ ยังนำแนวคิดนอกกรอบเพื่อที่จะหารายได้เข้าโรงเรียนดัง โดยการนำระบบแป๊ะเจี๊ยะเข้ามาในระบบการคัดเลือกนักเรียน[6] รวมทั้งยังได้กำหนดนโยบายพิจารณาเงินงบประมาณพิเศษ ให้กับมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการตามแนวทางของรัฐบาล [7]
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
[แก้]ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี[8]
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
[แก้]ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร[9] (ครม.ยิ่งลักษณ์ 3) ซึ่งต่อมากลุ่มพนักงาน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดทำใบปลิว "ความไร้ธรรมาภิบาลของ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" เผยแพร่กล่าวถึงพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของนายวรวัจน์ พร้อมกับนัดแต่งชุดดำประท้วง ในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป รวมทั้งมีการเขียนจดหมายปิดผนึก และจดหมายเปิดผนึก "ไว้ทุกข์ให้กับความถดถอยของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย" เผยแพร่ต่อสาธารณะ อีกทั้งยังมีการพูดถึงการบริหารจัดการที่ไม่เป็นธรรม การใช้อำนาจให้พวกพ้อง ญาติสนิทได้ผลประโยชน์ในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การตัดงบ และความตั้งใจที่จะทำลายสวทช[10] กระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556[11]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2551 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[12]
- พ.ศ. 2547 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[13]
- พ.ศ. 2553 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ[14]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล[ลิงก์เสีย]ยื่นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2551
- ↑ ""วรวัจน์"ชูภาพ2รปภ.ถูกทุบตายยันเป็นการ์ดนปช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-05. สืบค้นเมื่อ 2009-04-24.
- ↑ พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี (รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนพิเศษที่ 88 ง วันที่ 9 สิงหาคม 2554 หน้า 3
- ↑ ‘วรวัจน์’ มาแนวแปลก! (อีกแล้ว) เก็บถาวร 2012-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจากเว็บไซต์ ผู้จัดการ
- ↑ 50ส.ส.เพื่อไทยรุมซักฟอก'วรวัจน์'
- ↑ วรวัจน์คิดนอกกรอบ หนุนลูกคนรวยเข้าร.ร.ดัง ฟื้นแป๊ะเจี๊ยะ
- ↑ ""วรวัจน์" ย้ำ มหา'ลัยใดทำงานตามแนวทางรัฐบาลจะดูแลงบให้พิเศษ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-22. สืบค้นเมื่อ 2011-10-16.
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี (รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี (รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 3)
- ↑ คน สวทช.พุ่งชน "วรวัจน์" อัด 4 ประเด็นฉาวบริหารห่วย-ช่วยญาติโก
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี (รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ๕)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2009-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๒, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๑๒, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี ๒๕๕๓, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๒, ๕ มิถุนายน ๒๕๕๕
ก่อนหน้า | วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ปลอดประสพ สุรัสวดี | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ครม. 60) (27 ตุลาคม พ.ศ. 2555 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556) |
พีรพันธุ์ พาลุสุข | ||
ชินวรณ์ บุณยเกียรติ | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ครม. 60) (9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 - 18 มกราคม พ.ศ. 2555) |
สุชาติ ธาดาธำรงเวช | ||
สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (24 กันยายน พ.ศ. 2551 - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551) |
ธีระ สลักเพชร |
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2502
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- บุคคลจากอำเภอสูงเม่น
- นักการเมืองไทย
- รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่
- พรรคชาติไทย
- นักการเมืองพรรคไทยรักไทย
- พรรคพลังประชาชน (พ.ศ. 2541)
- นักการเมืองพรรคเพื่อไทย
- พรรคไทยรักษาชาติ
- บุคคลจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- บุคคลจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
- บุคคลจากคณะการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- นายกเทศมนตรีในจังหวัดแพร่