ข้ามไปเนื้อหา

เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
เกรียงศักดิ์ ใน พ.ศ. 2519
นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 15
ดำรงตำแหน่ง
11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 – 3 มีนาคม พ.ศ. 2523
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
รองสุนทร หงส์ลดารมภ์
บุญชัย บำรุงพงศ์
สมภพ โหตระกิตย์
ทวี จุลละทรัพย์
เสริม ณ นคร
เล็ก แนวมาลี
ก่อนหน้าธานินทร์ กรัยวิเชียร
ถัดไปเปรม ติณสูลานนท์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ดำรงตำแหน่ง
11 สิงหาคม พ.ศ. 2521 – 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2522
นายกรัฐมนตรีตนเอง
ก่อนหน้าเล็ก แนวมาลี
ถัดไปเปรม ติณสูลานนท์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ดำรงตำแหน่ง
12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 – 11 สิงหาคม พ.ศ. 2521
นายกรัฐมนตรีตนเอง
ก่อนหน้าสมัคร สุนทรเวช
ถัดไปเล็ก แนวมาลี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ดำรงตำแหน่ง
24 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 – 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523
นายกรัฐมนตรีตนเอง
ก่อนหน้าสุพัฒน์ สุธาธรรม
ถัดไปสมหมาย ฮุนตระกูล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดำรงตำแหน่ง
24 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 – 3 มีนาคม พ.ศ. 2523
นายกรัฐมนตรีตนเอง
ก่อนหน้าปรีดา กรรณสูต
ถัดไปบรรหาร ศิลปอาชา
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ดำรงตำแหน่ง
1 ตุลาคม พ.ศ. 2520 – 30 กันยายน พ.ศ. 2521
ก่อนหน้าพลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ
ถัดไปพลเอก เสริม ณ นคร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
สมจิตร ชมะนันทน์

17 ธันวาคม พ.ศ. 2460
จังหวัดสมุทรสาคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต23 ธันวาคม พ.ศ. 2546 (86 ปี)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองชาติประชาธิปไตย (2525–2532)
คู่สมรสวิรัตน์ ชมะนันทน์
บุตร
  • พงศ์พิพัฒน์
  • รัตนวรรณ
บุพการี
  • แจ่ม ชมะนันทน์ (บิดา)
  • เจือ ชมะนันทน์ (มารดา)
ลายมือชื่อ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด
ประจำการพ.ศ. 2484–2521
ยศ พลเอก
พลเรือเอก
พลอากาศเอก[1]
บังคับบัญชากองบัญชาการทหารสูงสุด
ผ่านศึกสงครามมหาเอเชียบูรพา
สงครามเกาหลี

พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ป.จ. ม.ป.ช. ม.ว.ม. ภ.ป.ร. ๑ (17 ธันวาคม พ.ศ. 2460 —​ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2546) เป็นนายทหารและนักการเมืองชาวไทย นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 15 หลังจากทำรัฐประหารสำเร็จเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 เขาได้รับการขอร้องให้เป็นนายกรัฐมนตรีและได้รับการยกย่องว่า "นำพาประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตย" ในช่วงเวลาที่คอมมิวนิสต์กำลังอาละวาดภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นคอมมิวนิสต์หลังจากคอมมิวนิสต์ยึดครองเวียดนาม: เวียดนามใต้ (โดยเวียดกง) ลาว (โดยปะเทดลาว) และกัมพูชา (โดยเขมรแดง)[2]

นโยบายเด่นของเขา ได้แก่ การก่อตั้งอีสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Seaboard) ผ่านการจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่แหลมฉบัง รวมถึงการเจรจาความตกลงทางการค้าทวิภาคีระหว่างไทยและญี่ปุ่นในยุคของนายกรัฐมนตรีทาเกโอะ ฟูกูดะ เพื่อให้ไทยเข้าร่วมในรูปแบบการพัฒนาแบบ "ฝูงห่านบิน" (flying geese paradigm) พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ผ่านการควบรวมหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสองแห่ง ส่งผลให้ ปตท. กลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990

ประวัติ

[แก้]

พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หรือนามเดิม สมจิตร์ ชมะนันทน์ เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ที่ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นบุตรคนที่ 5 ของนายแจ่มกับนางเจือ ชมะนันทน์ สมรสกับคุณหญิงวิรัตน์ ชมะนันทน์ มีบุตรธิดารวม 2 คน

การศึกษา

[แก้]

พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย จากนั้นเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนปทุมคงคาจนจบชั้นมัธยมศึกษา แล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2483 และรับพระราชทานยศ นายร้อยโท เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2484 รุ่นเดียวกับพลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, พลเอกฉลาด หิรัญศิริ, พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (ขณะนั้นใช้ชื่อว่า สมบุญ), พลเอกสายหยุด เกิดผล[3] ในระหว่างรับราชการทหารได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก โรงเรียนเสนาธิการทหารบกแห่งสหรัฐอเมริกา วิทยาลัยกองทัพบกและวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่น 5

การรับราชการ

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2484 พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รับราชการเป็นผู้บังคับหมวด กองพันทหารราบที่ 26 (พัน.ร.26)ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 4 กองพันทหารราบที่ 26 (ร้อย.4 ร.26) ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ช่วงเวลาเดียวกันยังรับหน้าที่เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 1 กองพันทหารราบที่ 33 (ร้อย.1 พัน.ร.33) จนกระทั่งติดยศ "ร้อยเอก" เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2486[4]

ในปี พ.ศ. 2486 จากนั้น ย้ายมาประจำที่ฝ่ายเสนาธิการกองทัพภาคที่ 3 ก่อนจะได้เป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองทัพภาคที่ 3 ถึงปี พ.ศ. 2495 ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารราบกรมผสมที่ 20 และไปร่วมรบในสมรภูมิเกาหลีรุ่นแรก ในตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารราบ ผลัดที่ 3 สร้างเกียรติภูมิอย่างมาก จนหน่วยที่บังคับบัญชาได้ฉายาว่า “กองพันพยัคฆ์น้อย”

เมื่อกลับมาย้ายไปสายวิชาการ เป็นหัวหน้าภาควิชายุทธการโรงเรียนเสนาธิการทหารบกโดยติดยศ"พันเอก"

ในปี พ.ศ. 2499 ต่อมาได้เข้าทำงานที่สำนักงานวางแผนทหารของสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์ (สปอ.) จนได้เป็นหัวหน้ากองการทหารของสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์

ในปี พ.ศ. 2502 ถึงปี พ.ศ. 2506 ย้ายมาดำรงตำแหน่งรองเสนาธิการกองอำนวยการกลาง สำนักงานผู้บัญชาการทหารสูงสุด ระหว่างนั้นได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกสหรัฐอเมริกา

ต่อมาได้รับการเลื่อนยศเป็น"พลเอก"เมื่อปี พ.ศ. 2516 ในตำแหน่งรองเสนาธิการทหารบก จากนั้นในปี พ.ศ. 2517 ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ต่อด้วยผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในที่สุดขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2520 จนเกษียณอายุราชการ

ช่วงเวลาที่รับราชการ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่เกือบตลอดเวลา โดยเป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี พ.ศ. 2511 และสมาชิกสภานิติบัญญัติ เมื่อปี พ.ศ. 2515

ต่อมาในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 ช่วงรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี[5]ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2524 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 13

อสัญกรรม

[แก้]

พล.อ. เกรียงศักดิ์ ป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 จากนั้นก็รักษาตัวมาตลอดและเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2546 จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2546 รวมอายุ 86 ปี 6 วัน มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

ราชการทหารต่างประเทศ

[แก้]

ในช่วงที่รับราชการทหาร พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์เคยร่วมรบในสมรภูมิเกาหลีรุ่นแรก ในตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารราบ ผลัดที่ 3 สร้างเกียรติภูมิอย่างมาก จนหน่วยใต้บังคับบัญชาได้ฉายาว่า "กองพันพยัคฆ์น้อย" (ปัจจุบันแปรสภาพเป็นกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์) ภายหลังกลับจากสงครามก็เข้าประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด เติบโตในสายเสนาธิการมาเป็นลำดับจนเป็นพลเอก และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดจนเกษียณอายุราชการ

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

[แก้]

พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินภายใต้ การนำของ พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผลงานสำคัญในช่วงที่ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งคือการปรับปรุงสัมพันธภาพกับประเทศเพื่อนบ้านอันประกอบด้วย เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า

รวมทั้ง พล.อ. เกรียงศักดิ์ ได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหภาพโซเวียต เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจทั้งสอง ทำให้ไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับทั้งสองประเทศแน่นแฟ้นขึ้น

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งหน่วยงานสำคัญ ๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายหน่วยงาน เช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นต้น

ระหว่างเล่นการเมืองอยู่นั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ได้รับฉายาว่า "อินทรีแห่งทุ่งบางเขน"

พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยแถลงกลางสภาฯ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 อันมีสาเหตุเนื่องมาจากการที่รัฐบาลตัดสินใจเพิ่มราคาค่าน้ำมันตามราคาตลาดโลก ซึ่งทำให้หลายฝ่ายได้รับความเดือดร้อนและโจมตี หลังจากนั้นได้ยุติบทบาททางการเมือง โดยไม่ข้องเกี่ยวกับวงการเมืองอีก แต่อย่างไรก็ตามในเหตุการณ์กบฏวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 พล.อ. เกรียงศักดิ์ ถูกต้องสงสัยว่าอาจมีส่วนรู้เห็นหรือสนับสนุนการกบฏดังกล่าว [6]

โดยในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ภาพที่ติดตาของ พล.อ. เกรียงศักดิ์ คือ การทำแกงเขียวหวานใส่บรั่นดีระหว่างออกเยี่ยมประชาชนตามที่ต่าง ๆ อันเป็นสูตรของ พล.อ. เกรียงศักดิ์ เอง

นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แก่นักศึกษาที่ถูกจำคุกเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุม 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกด้วย ซึ่งรัฐสภาก็ได้ผ่านร่างดังกล่าวในปี พ.ศ. 2521 โดยมีเหตุผลสำคัญคือเพื่อความปรองดองของประเทศ ซึ่งทำให้นักศึกษาที่ถูกจับทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว

สมัยที่ 1 (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 – 21 ธันวาคม พ.ศ. 2521)

[แก้]

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์นั้น สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 โดยคณะปฏิวัติภายใต้การนำของ พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร และได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 จากนั้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 จึงได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 เป็นการชั่วคราว และได้จัดตั้งสภานโยบายแห่งชาติขึ้น จากนั้นได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของประเทศเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 โดยมี พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และยังได้รับการสนับสนุนจากคณะทหารหนุ่ม หรือกลุ่ม “ยังเติร์ก" [7] รวมทั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง ทั้งนี้ ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 ได้ประกาศนโยบายหลักในการปกครองประเทศที่สำคัญ คือ ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2521 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอย่างช้าที่สุดภายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2522 [8]

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2521 พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้สลับไปควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแทน[9]

หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลากว่า 1 ปี รัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สมัยแรกก็สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐบาลคณะปฏิวัติประกาศว่า จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว แต่สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลได้แสดงให้เห็นถึงการสืบทอดอำนาจของฝ่ายทหารจนกระทั่งได้ฉายาว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ[10] และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (ครั้งที่ 12) เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522

สมัยที่ 2 (12 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 – 3 มีนาคม พ.ศ. 2523)

[แก้]

ภายหลังการเลือกตั้ง ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 โดยมีพล.อ.อ. หะริน หงสกุล ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[11] อีกตำแหน่งหนึ่ง

การบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตั้งแต่สมัยที่ 1 ต่อเนื่องมาถึงสมัยที่ 2 ต้องประสบปัญหามากมายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญมาก การผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ต้องขึ้นราคาน้ำมันภายในประเทศ ส่งผลเป็นลูกโซ่ ให้มีการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าและน้ำประปา สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน รัฐบาลจึงถูกมองว่าไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มพลังนอกสภากดดันรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็โจมตีรัฐบาลอย่างหนัก โดยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2522 มุ่งประเด็นความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ในที่สุดด้วยเสียงที่มากกว่า รัฐบาลจึงได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศต่อไปได้[12]

จากวิกฤติการณ์ดังกล่าว พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พยายามประคับประคองสถานะของรัฐบาลอย่างสุดความสามารถ โดยการปรับคณะรัฐมนตรีอีกหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาหลักคือเรื่องเศรษฐกิจได้ และเมื่อมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันในปี พ.ศ. 2523 นำมาซึ่งการประท้วงอย่างกว้างขวาง เพราะมีการมองว่ารัฐบาลผลักภาระของบริษัทน้ำมันมาให้ประชาชนแบกรับ มีการจัดชุมนุมครั้งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ขณะที่ในสภาฯ ผู้นำพรรคการเมืองที่ประกอบด้วย

  1. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้ากลุ่มกิจสังคม
  2. พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้ากลุ่มชาติไทย
  3. พ.อ.พิเศษ ถนัด คอมันตร์ หัวหน้ากลุ่มประชาธิปัตย์
  4. นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้ากลุ่มประชากรไทย
  5. พ.อ. พล เริงประเสริฐวิทย์ หัวหน้ากลุ่มสยามประชาธิปไตย

ได้ร่วมกันยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 137 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 ต่อมา พล.อ.อ. หะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา โดยมี ส.ส. ลงชื่อรับรองจำนวน 204 คน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 โดยกำหนดการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 [13]

ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา สมัยที่ 2 พ.ศ. 2523 ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 แต่ก่อนการประชุมเพียง 1 วันคือในช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พลเอกเปรมในฐานะผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เดินทางไปยังบ้านพักของพลเอกเกรียงศักดิ์ซึ่งพลเอกเกรียงศักดิ์ได้นำใบลาออกมาให้พลเอกเปรมดู จากนั้นในช่วงเย็นวันเดียวกัน ทั้งพลเอกเกรียงศักดิ์และพลเอกเปรมได้นั่งเครื่องบินจากสนามบินดอนเมืองไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์เพื่อกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยโอกาสนี้พลเอกเกรียงศักดิ์ได้กราบบังคมทูลเสนอชื่อพลเอกเปรมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อ จากนั้นพลเอกเกรียงศักดิ์ได้กลับมาร่างคำแถลงชี้แจงที่บ้านพัก[a] ในวันรุ่งขึ้น พลเอกเกรียงศักดิ์ได้แถลงชี้แจงถึงปัญหาที่ผ่านมา ตลอดจนปัญหาต่าง ๆ ที่รัฐบาลต้องประสบจนยากที่จะบริหารงานของประเทศให้บรรลุสู่เป้าหมายได้ และได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงท้ายของการชี้แจงดังกล่าว ความว่า

“…การขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและรัฐสภาไม่เป็นสิ่งที่ดี และเชื่อว่าไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนปรารถนา ประชาชนบางส่วนที่อยู่ในชนบทไม่สนใจว่าใครจะมาบริหารประเทศ ขอให้ท้องอิ่มก็แล้วกันแต่ความขัดแย้งก่อเกิดเพิ่มขึ้นทับทวี จนยากที่รัฐบาลจะบริหารงานของชาติให้บรรลุสู่เป้าหมายได้ ฉะนั้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยระบบรัฐสภา กระผมจึงได้ตัดสินใจดังนี้ กระผมขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ระบบรัฐสภาของประชาธิปไตยดำรงอยู่ตลอดไป ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ท่านเลือกบุคคลที่มีความสามารถดีกว่า เข้ามาบริหารประเทศและรับใช้ประชาชนและประเทศชาติต่อไป ขอบพระคุณ”[14]

หลังจากการแถลงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เสร็จสิ้น สมาชิกรัฐสภาพร้อมใจกันปรบมือให้เกียรติดังลั่นไปทั้งห้องประชุมสภา การตัดสินใจของท่านนั้นได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญเป็นอย่างสูงจากบุคคลต่าง ๆ เช่น พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ได้กล่าวว่า

“ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ได้แสดงสปิริตออกมาเป็นที่น่ายกย่อง ไม่คาดมาก่อนว่าจะแก้ปัญหาด้วยการลาออก แต่ก็เหมาะสมดีแล้ว ” [15]

รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ 2 สมัย เป็นเวลา 2 ปี 4 เดือน

รางวัลและเกียรติยศ

[แก้]
  • พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้รับพระราชทานยศนายกองใหญ่แห่งกองอาสารักษาดินแดนเป็น พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก นายกองใหญ่ เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521[16]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ในประเทศ

[แก้]

เครื่องอิสริยาภรณ์สากล

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

[แก้]

ลำดับสาแหรก

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. อ้างอิงจากคลิปรายการ REWIND Podcast Ep.20 ทางช่อง Today ชื่อคลิปว่า เป็นนายกฯ ได้เพราะคณะปฏิวัติ อยู่ต่อได้เพราะ ส.ว.โหวต

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระราชทานยศทหารสูงสุด
  2. "Kriangsak Chamanand, Thai General, Dies at 86". New York Times. 2003-12-25. สืบค้นเมื่อ 30 January 2019.
  3. ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง พระราชทานยศทหาร (หน้า 1867)
  4. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร (หน้า 3177)
  5. ตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
  6. กองบรรณาธิการมติชน. รัฐประหาร 19 กันยา '49 เรียบแต่ลึก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549. ISBN 947-323-851-4
  7. นรนิติ เศรษฐบุตร. เกิดมาเป็นนายก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2538, หน้า 257-268.
  8. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520. ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 94 ตอนที่ 111 ฉบับพิเศษ, 9 พฤศจิกายน 2520,หน้า 1-14.
  9. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (พลเอก เล็ก แนวมาลี พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลเรือเอก ถวิล รายนานนท์ พลเอก ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา พลเรือเอก อมร ศิริกายะ)
  10. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. เรื่องเดียวกัน, หน้า 433-434.
  11. "พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๔ ราย)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-09-23. สืบค้นเมื่อ 2019-10-29.
  12. วีรชาติ ชุ่มสนิท. เรื่องเดียวกัน, หน้า 135-136.
  13. “ความเคลื่อนไหวเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล.” สยามจดหมายเหตุ บันทึกข่าวสารและเหตุการณ์. 5,9 (22-28 กุมภาพันธ์ 2523), หน้า 235-236.
  14. รายงานการประชุมรัฐสภา (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง) ครั้งที่ 1/2523 29 กุมภาพันธ์ 2523. หน้า 7-15.
  15. สมบูรณ์ คนฉลาด. เรื่องเดียวกัน, หน้า 605.
  16. ได้รับพระราชทานยศนายกองใหญ่แห่งกองอาสารักษาดินแดน
  17. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งสำนักนายกรัฐมนตรี พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๕๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗, ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๑
  18. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๑๔๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๗
  19. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๖, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑
  20. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม ๗๙ ตอนที่ ๘๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕, ๘ กันยายน ๒๕๐๕
  21. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๑๕ ง หน้า ๗๕๙, ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖
  22. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๙๘ ง หน้า ๓๑๓๔, ๑๙ กันยายน ๒๕๒๑
  23. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๘๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๓ ตุลาคม ๒๕๑๑
  24. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๗๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๔๒, ๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๖
  25. รายนามผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี ๒๕๒๑ จากเว็บไชต์ thaiscouts
  26. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๑๐๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๓, ๒ ตุลาคม ๒๕๒๑
  27. ราชกิจจุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเหรียญปฏิบัติงานสหประชาชาติ, เล่ม 70 ตอนที่ 21 หน้า 1391 ง, 31 มีนาคม 2496
  28. AGO 1969-08 — HQDA GENERAL ORDER: MULTIPLE TITLES BY PARAGRAPHS
  29. SENARAI PENUH PENERIMA DARJAH KEBESARAN, BINTANG DAN PINGAT PERSEKUTUAN TAHUN 1979.
  30. SENARAI PENUH PENERIMA DARJAH KEBESARAN, BINTANG DAN PINGAT PERSEKUTUAN TAHUN 1967.
  31. 국가기록원 기록물뷰어
  32. "The Order of Sikatuna". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-25. สืบค้นเมื่อ 2023-11-22.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ถัดไป
ธานินทร์ กรัยวิเชียร
นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 15
(11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 – 3 มีนาคม พ.ศ. 2523)
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
สุพัฒน์ สุธาธรรม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
(24 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 - 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523)
สมหมาย ฮุนตระกูล
สถาปนาตำแหนง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน
(17 – 22 เมษายน พ.ศ. 2522)
ชุบ กาญจนประกร