จักรภพ เพ็ญแข

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จักรภพ เพ็ญแข
จักรภพ ในปี พ.ศ. 2561
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
6 กุมภาพันธ์ – 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
ดำรงตำแหน่งร่วมกับ ชูศักดิ์ ศิรินิล
นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช
ก่อนหน้าทิพาวดี เมฆสวรรค์
ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์
ถัดไปสุขุมพงศ์ โง่นคำ
สุพล ฟองงาม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
9 ธันวาคม พ.ศ. 2546 – 14 มีนาคม พ.ศ. 2548
นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
ก่อนหน้าศิธา ทิวารี
ถัดไปเฉลิมเดช ชมพูนุท
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด21 ตุลาคม พ.ศ. 2510 (56 ปี)
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองไทยรักไทย
พลังประชาชน

ดร.จักรภพ เพ็ญแข ชื่อเล่น เอก อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีทีวี อดีตผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ อดีตนักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศที่มีชื่อเสียง และเป็นผู้เปลี่ยนแปลงการบริหารงานสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จากเดิมคือ Television of Thailand (Channel 11) ไปสู่ National Broadcasting Services of Thailand

ประวัติ[แก้]

ดร.จักรภพ เพ็ญแข เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2510[1] ศึกษาชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้น เข้าศึกษาต่อที่คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อจบปริญญาตรีแล้ว จึงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่วิทยาลัยระหว่างประเทศศึกษาชั้นสูงพอล เอช. นิทซ์ (SAIS) มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา[2]

เริ่มการทำงานครั้งแรกกับเครือเจริญโภคภัณฑ์อยู่ระยะหนึ่ง แล้วลาออกไปเข้ารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ทูต กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาได้ลาออกมาทำงานสื่อมวลชนเต็มตัว โดยเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์หลายรายการ เป็นระยะเวลากว่าสิบปี ภายหลังเข้าสู่วงการเมือง

การเมือง[แก้]

ดร.จักรภพ เพ็ญแข ได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลดร.ทักษิณ ชินวัตร ต่อมาไม่นาน ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในนามพรรคไทยรักไทย แต่ไม่ได้รับเลือกถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรก การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548 จักรภพลงเลือกตั้งที่กรุงเทพฯ เขต 30 แทนจักรพันธุ์ ยมจินดา แพ้ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ คือ องอาจ คล้ามไพบูลย์ ต่อมาครั้งที่สองใน การเลือกตั้งทั่วไป 2 เมษายน 2549 จักรภพเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวในเขต 5 กรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เพราะได้คะแนนไม่ถึง 20% โดยที่มีผู้ไม่ลงคะแนนถึง 55,141 คะแนน [3][4] อย่างไรก็ตาม ต่อมา จักรภพได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลทักษิณ 2

หลังจากคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 จักรภพ พร้อมด้วยกลุ่มผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีทีวี และองค์กรต่อต้านเผด็จการ เป็นแกนนำจัดเวทีปราศรัยต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ใช้ชื่อว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)

หลังพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งในปี 2550 โดยมีสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จักรภพดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กำกับดูแลสื่อมวลชนภาครัฐ ในวันที่ 1 เมษายน ปีเดียวกัน จักรภพ เป็นประธานในการเปลี่ยนแปลงสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เป็น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที)

ต่อมาเมื่อมีรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งที่ 49/2557 เรียกให้จักรภพไปรายงานตัว แต่เขามิได้ไปตามคำสั่งดังกล่าว ศาลทหารจึงออกหมายข้อหาฝ่าฝืนการไปรายงานตัว ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558 1 หมายจับ [5] และวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558 1 หมายจับ ข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง[6] รวมแล้วเขาถูกศาลทหารออกหมายจับ 2 หมายจับ และในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ศาลอาญาได้ออกหมายจับ เลขที่ 2692/60 ใน ข้อหาร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายและเป็นอั้งยี่[7]

ข้อวิพากษ์วิจารณ์[แก้]

ปาฐกถาเรื่องระบบอุปถัมภ์ในประเทศไทย[แก้]

จักรภพถูกตั้งข้อสงสัยถึงทัศนคติเกี่ยวกับสังคมไทย สืบเนื่องจากการปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษในหัวข้อเรื่อง “ระบบอุปถัมภ์ ในฐานะที่เป็นอุปสรรคขัดขวางความเป็นประชาธิปไตย” เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (เอฟซีซีที) หลังจากที่เขาถูกจับกุมบริเวณหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ และการบรรยายเป็นภาษาไทยต่อเครือข่ายคนรักทักษิณที่นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ดูคลิปวันที่ 10 พฤศจิกายน [8]

จากกรณีดังกล่าว พ.ต.ท. วัฒนศักดิ์ มุ่งกิจการดี พนักงานสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางมด แจ้งความต่อกองปราบปรามว่า เนื้อหาการปาฐกถาของจักรภพเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[9]

นอกจากนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำหนังสือถึงสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาเนื้อหาของคำกล่าวทั้งสองครั้ง โดยเห็นว่าเป็นทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อระบบการปกครอง พร้อมกับเรียกร้องให้สมัครพิจารณาปลดนายจักรภพออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ มีการเผยแพร่โดยเอฟซีซีที ขายดีวีดีแผ่นละ 600 บาท และการแปลรายละเอียดคำบรรยายเป็นภาษาไทยออกไปอย่างกว้างขวางในแวดวงข้าราชการพลเรือน ตำรวจ และทหาร โดยเชื่อว่ามีภรรยาของนายทหารคนหนึ่งเป็นผู้เผยแพร่[10] ระหว่างนั้น จักรภพได้ให้สัมภาษณ์ว่าคำแปลที่ออกมาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ตนมิได้มีเจตนาเช่นนั้น รวมทั้งยืนยันในความจงรักภักดีและความบริสุทธิ์ใจของตนเอง ต่อมาในช่วงระหว่างวันที่ 21-23 พฤษภาคม จักรภพมิได้เข้ามาปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมิได้แจ้งลาราชการ

แต่ทั้งนี้ ในวันที่ 22 พฤษภาคม ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตแกนนำ นปก. แถลงข่าวที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ว่าจักรภพจะเปิดแถลงข่าวในวันที่ 26 พฤษภาคม เวลา 14.00 น. เพื่อชี้แจงถึงคำปาฐกถาและคำบรรยายต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาทั้งหมด พร้อมเปิดให้สื่อมวลชนสอบถามประเด็นที่สงสัยทุกเรื่องด้วย ต่อมา ค่ำวันที่ 23 พฤษภาคม จักรภพปรากฏตัวในงานฉลองวันเกิดครบรอบ 60 ปี ของวีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปก. พร้อมให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ยืนยันการแถลงข่าวในวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พร้อมให้รอฟังการตัดสินใจถึงอนาคตทางการเมืองของตน

วันที่ 26 พฤษภาคม จักรภพแถลงว่ามีการแปลบิดเบือน และขอลากิจ 7 วัน แต่ไม่ลาออกจากรัฐมนตรี ขอให้สังคมตัดสินจากเอกสารคำแปลที่แจก[11] ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม คณะกรรมการสอบสวนแถลงที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางว่า คดีที่จักรภพถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้ประชุมสรุปความเห็นเบื้องต้นว่า จักรภพมีพฤติกรรมความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112[12]

วันที่ 30 พฤษภาคม 2551 เวลา 12.10 น. จักรภพ ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งต่อไป[13]

นโยบายกับสื่อมวลชนภาครัฐ[แก้]

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) พร้อมด้วยสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาว่าจักรภพกระทำการส่อไปในทางจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมายและบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รวมถึงอาจเข้าข่ายมีการแทรกแซงสื่อ[14] รายละเอียดของข้อกล่าวหาดังกล่าว มีดังนี้

  • กรณีการกำกับดูแลสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ซึ่งเชื่อว่ามีความไม่โปร่งใสในขั้นตอนการดำเนินการของกรมประชาสัมพันธ์ ในการจัดหาและจัดจ้างบริษัทคู่สัญญา และการทำสัญญากับบริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด ที่เชื่อว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
  • กรณีการเปิดโอกาสให้วิทยุชุมชนเข้าแสดงตัว ที่เชื่อว่ามีการยื่นข้อเสนอต่อผู้ประกอบการ ให้ยอมรับเงื่อนไขในการเป็นเครือข่ายของรัฐบาล ในการนำเสนอข่าวสารเพื่อแลกกับการละเว้นดำเนินคดี
  • กรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งเชื่อว่ามีการสกัดกั้นให้การแต่งตั้ง กสทช.เป็นไปอย่างล่าช้า เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการใช้อำนาจหน้าที่ เข้าแทรกแซงการทำงานสื่อมวลชนได้ต่อไป โดยระหว่างนี้ก็เชื่อว่ามีการเข้าแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่กำกับดูแลคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์อยู่ในขณะนี้ด้วย
  • กรณีการให้นโยบายกับกรมประชาสัมพันธ์ โดยให้ออกระเบียบห้ามมิให้สื่อมวลชนของรัฐสนับสนุนการทำรัฐประหาร ไม่อนุญาตให้ผู้ปฏิบัติงานแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐประหารผ่านสื่อมวลชนของรัฐ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนการนำสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยกลับมาดำเนินการเอง เช่นเดียวกับที่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เคยดำเนินการกับสถานีวิทยุ อสมท โมเดิร์น เรดิโอมาแล้ว แต่ในครั้งนั้นกลับไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่อย่างใด
  • กรณีการดำเนินการกับผู้ดำเนินรายการวิทยุ ที่เชื่อว่ามีการสั่งให้สถานีวิทยุวิสดอมเรดิโอ เอฟ.เอ็ม.105 เมกกะเฮิร์ทซ ถอดนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ออกจากการเป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งนำเสนอบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือ นายจักรภพแสดงความจำนงว่าจะไม่ต่อสัญญาให้กับบริษัท ฟาติมา บรอดคาสติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานจากกรมประชาสัมพันธ์และเป็นเจ้าของรายการที่นายเจิมศักดิ์จัดอยู่ นายเจิมศักดิ์จึงยอมลาออกจากการเป็นผู้ดำเนินรายการ เนื่องจากเข้าใจว่านายจักรภพเล็งมาที่ตน มากกว่าบริษัทฟาติมาฯ[15]

ผลงาน[แก้]

รายการโทรทัศน์[แก้]

  • โลก 360 องศา
  • สำรวจโลก
  • อรุณรุ่งที่เมืองไทย
  • เวลาโลก

หนังสือเล่ม[แก้]

  • สงครามสุดท้าย? เมื่อมหาอำนาจจัดระเบียบโลก. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2544. ISBN 978-974-7381-98-6
  • ในทีวีไม่มีเทวดา (นะครับ). กรุงเทพฯ : สีดา, 2545. ISBN 978-974-7727-43-2
  • 100 ความเชื่อ 100 ความจริง. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2546. ISBN 978-974-484-030-1
  • พันธมิตรหรือพันธมาร. กรุงเทพฯ : ผู้จัดการ, 2546. ISBN 978-974-91468-8-0
  • ขอบฟ้าที่ตาเห็น. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี, 2547. ISBN 978-974-91545-4-0
  • ชำเราชาวอิรัก. กรุงเทพฯ : Openbooks, 2547. ISBN 978-974-92602-5-8
  • ทะเลทรายกับสายหมอก. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี, 2547. ISBN 978-974-92486-4-5
  • โลก...สุขกับโศก มิได้สิ้นอย่าสงสัย. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี, 2548. ISBN 978-974-92883-1-3
  • สยามตามหาเพื่อน. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี, 2548. ISBN 978-974-93257-1-1
  • หยดเลือดในทะเลทราย. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้ากรุ๊ป, 2549. ISBN 978-974-94525-6-1
  • โลกทั้งใบให้ไทยเมืองเดียว. กรุงเทพฯ : ตกผลึก, 2550. ISBN 978-974-09-2414-2
  • ประชาธิปไตยในกรงขัง. กรุงเทพฯ : เพื่อนพ้องน้องพี่, 2550.
  • กลอนผ่านกระจก

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. จักรภพ เพ็ญแข เก็บถาวร 2008-05-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - รัฐบาลไทย
  2. สัมภาษณ์พิเศษ ‘จักรภพ เพ็ญแข’ การต่อสู้นอกพรมแดน และชีวิตใต้ ‘เพดาน’
  3. "กกต.สรุปเลือกตั้งใหม่39เขต16จังหวัด จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2007-06-17.
  4. "คนใต้ถีบคว่ำ-ซ่อม38เขต! จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 4 เมษายน 2549". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-06-17.
  5. ศาลทหารออกหมายจับ28ผู้ต้องหา
  6. หมายจับ ข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง[ลิงก์เสีย]
  7. ออกหมายจับ ‘จักรภพ-4ผู้ต้องหา’ เอี่ยวอาวุธสงครามแปดริ้ว
  8. ไทยโพสต์, Enemy and Friend ตัวตนและความผิด 'จักรภพ เพ็ญแข' ทัศนคติเป็นอันตราย-ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ[ลิงก์เสีย], 18 พฤษภาคม 2551
  9. มติชน ,ทัศนคติ อันตราย ของ จักรภพ เพ็ญแข ข้อหาจาก ปชป.[ลิงก์เสีย], 15 พฤษภาคม 2551
  10. แฉ!เมียบิ๊กทหารแจกเอง เอกสารแปลถล่ม‘จักรภพ’[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์
  11. ประชาชาติ, 'จักรภพ'แค่ลากิจ 7 วันแต่ไม่ลาออก โบ้ยคนแปลมีอคติใช้ภาษามาร ท้า'อภิสิทธ์'เผยชื่อคนแปล[ลิงก์เสีย], 26 พฤษภาคม 2551
  12. มติชน, ตร.ชี้'จักรภพ'หมิ่นสถาบันอาฆาตมาดร้าย กษัตริย์ 'ผบ.สส.'จี้รับผิดชอบเยี่ยง'วีรบุรุษ' เก็บถาวร 2008-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 29 พฤษภาคม 2551
  13. ผู้จัดการออนไลน์, “เพ็ญ” แถลงลาออกแล้ว อ้างเพื่อ “รักษาขุนให้อยู่รอด” เก็บถาวร 2011-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 30 พฤษภาคม 2551
  14. เปิดรายละเอียด หนังสือถอดถอน 'จักรภพ เพ็ญแข'[ลิงก์เสีย] - พรรคประชาธิปัตย์
  15. แนวหน้า, “เจิมศักดิ์” แฉซ้ำ “บิ๊กฟาติมา” เกลี้ยกล่อมให้ปิดปากอย่าบอกใคร[ลิงก์เสีย], 17 กุมภาพันธ์ 2551
  16. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-11-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๔, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘
  17. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-11-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๒, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
  18. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี ๒๕๕๑ เก็บถาวร 2022-05-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๕ ข หน้า ๓, ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๒

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า จักรภพ เพ็ญแข ถัดไป
คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์
ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2551)
สุขุมพงศ์ โง่นคำ
สุพล ฟองงาม
นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(9 ธันวาคม พ.ศ. 2546 - 14 มีนาคม พ.ศ. 2548)
พลตำรวจเอก เฉลิมเดช ชมพูนุท