ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์
ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ | |
---|---|
ชัยวุฒิ ในปี พ.ศ. 2553 | |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม | |
ดำรงตำแหน่ง 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 (1 ปี 64 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ |
ก่อนหน้า | ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง |
ถัดไป | วรรณรัตน์ ชาญนุกูล |
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ | |
ดำรงตำแหน่ง 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 – 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553 (1 ปี 168 วัน) | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | ประชาธิปัตย์ |
คู่สมรส | วรวรรณ บรรณวัฒน์ |
ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ (เกิด 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2502) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ภาคเหนือ) และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก หลายสมัย
การศึกษา
[แก้]นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก[1] สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 เขาได้รับพระราชทานปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา[2]
ประวัติการเมือง
[แก้]นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดตาก ในปี พ.ศ. 2536 และปี พ.ศ. 2538 ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตาก สมัยแรกในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2539 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งอีกสมัยในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 และการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 นายชัยวุฒิ ได้รับมอบหมายให้ดูแลการเลือกตั้งในโซน 1 (ภาคเหนือตอนบน 11 จังหวัด) ของพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกับ นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ และ นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู พร้อมกับลงสมัคร ส.ส. จังหวัดตาก เขต 1 และสามารถชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ของจังหวัด ภายหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวได้ประกาศจัดตั้ง รัฐบาลเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเงา[3] ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 นายชัยวุฒิ ได้รับเลือกตั้งต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 4 ในพื้นที่จังหวัดตาก
การดำรงตำแหน่งทางการเมือง
[แก้]นายชัยวุฒิ เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎรที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ คณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการติดตามผลการปฏิบัติตามมติของสภาผู้แทนราษฎร
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ตามข้อบังคับพรรค และ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคเหนือ
ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้งให้นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งผลงานไม่มีความโดดเด่น จนได้รับฉายาจากพรรคเพื่อไทย เป็น 1 ใน 10 รัฐมนตรีไร้ผลงาน ว่า "รัฐมนตรีดูข่าวไม่มี เปิดทีวีไม่เจอ"[4] จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2553 จึงได้ปรับให้ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[5] แต่จากผลการสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพล พบว่าประชาชนกลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 42.2 ไม่รู้จักนายชัยวุฒิ ซึ่งมากที่สุดในบรรดารัฐมนตรีที่ประชาชนไม่รู้จัก[6]
วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557
[แก้]ในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 นายชัยวุฒิได้เข้าร่วมกับการชุมนุมของกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ด้วย โดยเป็นแนวร่วมที่สำคัญคนหนึ่ง มีบทบาทคือเป็นผู้ติดตาม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส.เสมอ ๆ ในการเดินรณรงค์ตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเป็นผู้ถ่ายรูปให้แก่ประชาชนที่เข้ามาบริจาคเงินช่วยเหลือการชุมนุมและต้องการจะถ่ายรูปกับนายสุเทพ [7] และยังเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเวทีชุมนุมที่แจ้งวัฒนะด้วย[8]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2551 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[9]
- พ.ศ. 2548 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[10]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ร้อยข่าวบลูสกาย, รายการทางบลูสกายแชนแนล โดย อัญชลี ไพรีรักษ์ และสกลธี ภัททิยกุล: อาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม 2556
- ↑ "บัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-05. สืบค้นเมื่อ 2010-11-15.
- ↑ "เว็บไซต์ ครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-25. สืบค้นเมื่อ 2021-08-14.
- ↑ เพื่อไทย ตั้งฉายา 10 รมต. ไร้ผลงาน[ลิงก์เสีย]
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี (รวม ๑๘ ราย) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอน พิเศษ 72ง วันที่ 8 มิถุนายน 2553
- ↑ เอแบคโพลล์เผย 5 รมต.โลกลืม" นริศรา -ชัยวุฒิ - พรรณสิริ - ศุภชัย -ไชยยศ "
- ↑ ส่องครอบครัว ครม.ปู-แกนนำ กปปส.“ลูก-เมีย-ญาติ”กี่คน ทำอาชีพอะไรกัน?
- ↑ กปปส.ปทุมวัน นำมวลชนบางส่วนไปสถานที่ราชการ 3 แห่ง[ลิงก์เสีย]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2009-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๒, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2005-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๙, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ก่อนหน้า | ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ครม. 59) (6 มิถุนายน พ.ศ. 2553 - 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554) |
วรรณรัตน์ ชาญนุกูล | ||
พงศกร อรรณนพพร | รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ครม. 59) (21 ธันวาคม พ.ศ. 2552 - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553) |
นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ |
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2502
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- บุคคลจากอำเภอแม่สอด
- นักการเมืองจากจังหวัดตาก
- นักเคลื่อนไหวชาวไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไทย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก
- นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์
- นักการเมืองที่เป็นแนวร่วมกปปส.
- บุคคลจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- นิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.