โอสถ โกศิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โอสถ โกศิน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
ดำรงตำแหน่ง
18 ธันวาคม พ.ศ. 2515 – 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
นายกรัฐมนตรีถนอม กิตติ​ขจร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ดำรงตำแหน่ง
16 ตุลาคม พ.ศ. 2516 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2517
นายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์
ก่อนหน้าพลเอกกฤษณ์ สีวะรา
ถัดไปอรุณ สรเทศน์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด25 สิงหาคม พ.ศ. 2456
เสียชีวิต19 ตุลาคม พ.ศ. 2549 (93 ปี)
คู่สมรสคุณหญิง ลมุลศรี โกศิน

นายโอสถ โกศิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์[1]

ประวัติ[แก้]

เกิดวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2456 เป็นบุตรของพระยุติชาญดำรงเวทย์ อดีตตุลาการ และ กิมเหนอ ยุติชาญดำรงเวทย์ นายโอสถ โกศิน ได้สมรสกับ น.ส.ลมุลศรี เลิศดำริห์การ พาณิชย์ศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (บุตรีขุนเลิศดำริห์การ อดีตประธานกรรมการหอการค้าไทย และอดีตนายกเทศมนตรีนครกรุงเทพฯ) เมื่อวันที่ 27 พ.ศ. 2494 ปัจจุบันคือ คุณหญิง ลมุลศรี โกศิน โดยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า

ประวัติข้างต้นนี้ ท่านโอสถ โกศิน ได้เป็นผู้บันทึกไว้ด้วยตนเอง เมื่อ พ.ศ. 2543 สำหรับบุคคลทั่วไปที่ได้รู้จักใกล้ชิดกับท่าน ย่อมทราบดีว่าท่านเป็นผู้ที่มีความโอบอ้อมอารี มีบุคคลเป็นจำนวนมากที่ได้รับการอุปถัมภ์เปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น โดยที่ท่านมิได้หวังผลตอบแทนแต่อย่างใด มีเมตตาต่อผู้ร่วมงานและผู้น้อย ท่านมีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ อีกทั้งยังเป็นผู้ใฝ่หาความรู้ตลอดเวลา และไม่ยอมใช้วันเวลาให้ผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์ มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมทำคุณประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมในทุกด้านที่ท่านสามารถจะทำได้ และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างสูง ด้านศาสนายังได้เป็นผู้ก่อตั้งกองทุนปลูกรากแก้วศาสนทายาท วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่ภิกษุสามเณร โดยทั่วไป ท่านจึงเป็นผู้สูงวัยที่ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติประเสริฐนานัปการ อันนับเป็นบุคคลตัวอย่างสำหรับบุคคลรุ่นหลังจะถือเป็นแบบอย่าง

แม้ว่าท่านจะเป็นผู้ที่ทำงานอย่างจริงจัง แต่ก็ได้แบ่งเวลาสำหรับการผ่อนคลายกับครอบครัวและงานอดิเรกของท่าน เช่น การอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ดูแลไม้นานาชนิดในสวนที่บ้าน และพบปะกลุ่มเพื่อนที่ใกล้ชิดเป็นประจำ ท่านเป็นผู้มีอารมณ์ขันและทันเหตุการณ์ของบ้านเมืองตลอดเวลา ท่านจึงเป็นผู้อาวุโสที่ทันสมัย จนถึงวาระสุดท้าย เมื่อพ้นภาระจากการเป็นกรรมการในหน่วยงานต่างๆ ในช่วงสุดท้ายท่านได้ใช้ชีวิตด้วยความสงบสุข แวดล้อมด้วยสมาชิกในครอบครัว และญาติมิตรอย่างอบอุ่น และถึงแก่อนิจกรรม โดยความสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2549 สิริอายุ 93 ปี 2 เดือน 24 วัน

ประวัติการศึกษา[แก้]

  • พ.ศ. 2472 จบมัธยมปลายที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ (อายุ 16 ปี)
  • พ.ศ. 2474 จบวิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิต (อายุ 18 ปี)
  • พ.ศ. 2497-2500 ไปศึกษาวิชากฎหมายต่อ ณ ประเทศอังกฤษ สำเร็จเป็นเนติบัณฑิต จากสำนักลินคอนส์อินน์ (อายุ 44 ปี)
  • พ.ศ. 2506 จบการศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 6
  • พ.ศ. 2512 รับการอบรมนักบริหารรุ่นที่ 18
  • 18 กันยายน 2529 ได้รับพระราชทานปริญญารัฐประศาสนาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

การทำงาน[แก้]

เมื่อจบการศึกษาวิชากฎหมายจากโรงเรียนกฎหมายชั้นเนติบัณฑิตแล้ว เข้ารับราชการในกระทรวงยุติธรรม ตำแหน่งธุรการอยู่ 7 ปี เพื่อรอเวลาให้มีอายุครบ 25 ปี จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาตาม พ.ร.บ.ตุลาการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481-2484 ต่อมาในปี พ.ศ. 2485-2489 จึงได้โอนไปรับราชการกระทรวงพาณิชย์ ในตำแหน่งหัวหน้ากอง และลาออกจากราชการ ในปี พ.ศ. 2489

หลังจากลาออกจากราชการแล้ว ได้มาประกอบอาชีพส่วนตัว โดยเริ่มด้วยการตั้งสำนักงานทนายความ แล้วต่อมาจึงทำการค้าและอุตสาหกรรม เช่น ตั้งโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์ โรงงานสุรา โรงงานผลิตแชลแลค ก่อตั้งธนาคาร และบริษัทประกันภัย ตั้งบริษัทส่งยางไปต่างประเทศ และทำการจัดสรรที่ดิน งานชิ้นสุดท้าย คือ ซื้อวังบูรพาภิรมย์และสร้างเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นจึงเลิกกิจการค้าไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ เพื่อศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อจบกลับมาแล้วเข้าเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชากฎหมาย ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน และโรงเรียนสืบสวนของกรมตำรวจ

งานการเมือง[แก้]

โอสถ โกศิน ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าขาออก[2] สำนักงานรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2503 และเป็นเลขาธิการ ในปี พ.ศ. 2504[3] และได้รับแต่งตั้งให้ทำงานพิเศษ อาทิ กรรมการบริหารของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และเป็นประธานคณะกรมการฯ อยู่ระยะหนึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2512 และเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2515 จากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติอีก 2 สมัย และเป็นสมาชิกวุฒิสภาต่อเนื่องอีก 3 สมัย

ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ผลักดันและดำเนินการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทยขึ้น คือ นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เมื่อปี พ.ศ. 2516[4]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประวัติ โอสถ โกศิน[ลิงก์เสีย]
  2. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมืองในสำนักนายกรัฐมนตรี
  3. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมืองในสำนักนายกรัฐมนตรี
  4. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบางชันเป็นนิคมอุตสาหกรรมทั่วไป
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๑ ตอนที่ ๑๔๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๗
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๑๑๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๓, ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๙
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๗๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๑
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๔๑ ง หน้า ๒๔๗๒, ๓ สิงหาคม ๒๔๘๖