ข้ามไปเนื้อหา

ศุภชัย โพธิ์สุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศุภชัย โพธิ์สุ
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง
ดำรงตำแหน่ง
28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – 20 มีนาคม พ.ศ. 2566
(3 ปี 296 วัน)
ก่อนหน้าวิสุทธิ์ ไชยณรุณ
ถัดไปพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดำรงตำแหน่ง
29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 – 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554
(2 ปี 71 วัน)
นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ก่อนหน้าชาติชาย พุคยาภรณ์
ถัดไปพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด1 มกราคม พ.ศ. 2501 (66 ปี)
อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองภูมิใจไทย (2551–ปัจจุบัน)
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
คอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (2519–2528)
มวลชน (2529–2531)
กิจสังคม (2531–2534)
ประชาธิปัตย์ (2534–2537)
ชาติไทย (2537–2544)
ความหวังใหม่ (2544–2545)
ไทยรักไทย (2545–2550)
พลังประชาชน (2550–2551)
คู่สมรสพูนสุข โพธิ์สุ
บุตรศุภพานี โพธิ์สุ

ศุภชัย โพธิ์สุ ม.ป.ช. ม.ว.ม. (เกิด 1 มกราคม พ.ศ. 2501) ชื่อเล่น แก้ว เป็นนักการเมืองชาวไทย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย[1] อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม เป็นแกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน พรรคภูมิใจไทย

ประวัติ

[แก้]

ศุภชัย โพธิ์สุ เกิดเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 เป็นบุตรของนายดี และ นางปาน โพธิ์สุ ศุภชัยเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะยากจน พ่อแม่ประกอบอาชีพเกษตรกร พำนักอยู่ที่บ้านแค ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม หลังจากนั้น เมื่อเขาอายุ 11 ปี พ่อของเขาได้เสียชีวิตลง เขาต้องอยู่กับแม่พร้อมกับพี่น้อง 7 คน[2]

เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 เขาได้ออกไปร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยได้รับสมญาว่า สหายแสง หลังจากต่อสู้ได้ 9 ปี ไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยล่มสลาย เขาจึงออกมามาสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูโดยบรรจุสังกัด โรงเรียนบ้านท่าหนามแก้ว[3]ตำบลพะทาย อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ระหว่างปี พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2532

หลังจากนั้น เขาได้ลาออกมาลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่ได้รับเลือก 3 ครั้ง

เขาจึงมาลงสมัครสมาชิกสภาจังหวัดนครพนม และได้รับการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัด 1 สมัย จากนั้นได้มาสมัครผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2544 ในนามพรรคความหวังใหม่ จนประสบความสำเร็จได้เป็นสมาชิกผู้แทนราษฏรครั้งแรก ต่อมา เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกผู้แทนราษฏรติดต่อกัน 3 สมัย หลังจากพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ได้ออกมาร่วมกับเนวิน ชิดชอบ ได้ก่อตั้งพรรคภูมิใจไทย และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี พ.ศ. 2552 -2554

ในการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฏร พ.ศ. 2562 เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย เขต 1 จังหวัดนครพนม และได้รับการลงมติจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาให้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ด้วยคะแนน 256 เสียง[4][5][6]

นอกจากนี้ยังมีชื่อว่า สหายแสง จากการเกิดเหตุวิวาทะกันระหว่างศุภชัย ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมกับ พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ที่ยังยืนยันว่าจะอภิปราย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนการเข้ารับหน้าที่ไม่ครบถ้วน แต่ศุภชัยไม่อนุญาต

การศึกษา

[แก้]

นายศุภชัย สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ศึกษาศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) (บริหารการศึกษา) จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) (รัฐศาสตร์-การเมืองการปกครอง) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ตำแหน่งหน้าที่

[แก้]

นายศุภชัย เป็นแกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่ให้การสนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นสภาพไปเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคพลังประชาชน เมื่อปลายปี พ.ศ. 2551

นายศุภชัย โพธิ์สุ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[7] ภายหลังจากที่พรรคภูมิใจไทยมีมติให้นายชาติชาย พุคยาภรณ์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้นายศุภชัย ดำรงตำแหน่งแทน ในระหว่างดำรงตำแหน่ง นายศุภชัย โพธิ์สุ ได้รับฉายาว่า "พี่แก้วไม่มีวันร้าว"

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ศุภชัยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดนครพนม สังกัดพรรคภูมิใจไทย แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยแพ้ให้กับนายยุทธจักร เรืองวรบูรณ์ จากพรรคเพื่อไทย

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ศุภชัยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดนครพนม สังกัดพรรคภูมิใจไทยอีกครั้ง และได้รับเลือกตั้งก่อนที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะมีมติเลือกศุภชัยให้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 2 โดยเอาชนะนายแพทย์ประสงค์ บูรณ์พงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ด้วยคะแนนเสียง 256-239 เสียง[8]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ศุภชัยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดนครพนม สังกัดพรรคภูมิใจไทยอีกครั้ง แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน[9]

ข้อวิจารณ์

[แก้]

กรณีปราศรัยของพรรคภูมิใจไทย

[แก้]

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ศุภชัยได้ขึ้นเวทีปราศรัยเปิดตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคภูมิใจไทยในพื้นที่จังหวัดนครพนม โดยมีบางช่วงบางตอนที่เขากล่าวถึงกรณีที่พัฒนา สัพโส อภิปรายไม่ไว้วางใจศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในกรณีการจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่อย่างไม่เป็นธรรมและงบประมาณกระจุกตัวอยู่เพียงจังหวัดที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคภูมิใจไทย ศุภชัยได้ต่อว่าพัฒนาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่จังหวัดสกลนครและจังหวัดอุดรธานีบนเวทีปราศรัยว่า "ไอ้โง่"[10] รวมถึงกล่าวว่าหากจังหวัดสกลนครและจังหวัดอุดรธานึต้องการงบประมาณมากกว่านี้ให้คนในพื้นที่เลือกพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้าจึงจะจัดสรรงบประมาณให้[10]

การปราศรัยของศุภชัยในช่วงเวลาดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเป็นจำนวนมาก[10] โดยหลังวันปราศรัย 2 วัน คือเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2565 มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของพรรคเพื่อไทย[11] โดยนอกจากพัฒนา สัพโส แล้ว ยังมี นิยม เวชกามา, อนันต์ ศรีพันธุ์ และ อดิศร เพียงเกษ ที่มาร่วมแถลงด้วย โดยสาระสำคัญเป็นการเรียกร้องกดดันให้ศุภชัยลาออกจากรองประธานสภาผู้แทนราษฎร[12] และกล่าวว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมายจนถึงที่สุด[11] ก่อนที่ศุภชัยจะกล่าวขอโทษพัฒนารวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคนในพื้นที่ของจังหวัดทั้งสองในเวลาต่อมา[13]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประกาศแต่งตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 2019-05-31. สืบค้นเมื่อ 2019-11-24.
  2. 'ศุภชัย โพธิ์สุ'จากลูกชาวนาสู่ส.ส.ของคนนครพนม
  3. "ศุภชัย" แจงยิบปมครอบครองที่ดินป่าดงพะทาย ยันมีสิทธิ์อย่างชอบธรรม
  4. ""สุชาติ-ศุภชัย" นั่ง รองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ 2". ไทยพีบีเอส. 2019-05-26. สืบค้นเมื่อ 2019-11-24.
  5. "ศุภชัย ชนะ นพ.ประสงค์ 256 ต่อ 239 คว้า รองประธานสภา คนที่ 2 ฉลุย". ไทยรัฐ. 2019-05-26. สืบค้นเมื่อ 2019-11-24.
  6. "ประชุมสภา : พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย คว้าสองเก้าอี้รองประธานสภาฯ". บีบีซี. 2019-05-26. สืบค้นเมื่อ 2019-11-24.
  7. "พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี (นายศุภชัย โพธิ์สุ)" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 2009-05-29. สืบค้นเมื่อ 2019-11-24.
  8. "ศุภชัย ชนะ นพ.ประสงค์ 256 ต่อ 239 คว้า รองประธานสภา คนที่ 2 ฉลุย". ไทยรัฐ. 2019-05-26. สืบค้นเมื่อ 2019-11-24.
  9. 'ครม.' ตั้ง 'ครูแก้ว-ศรัณย์วุฒิ-รังสิมา' นั่ง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
  10. 10.0 10.1 10.2 เปิดคลิป “รองประธานสภาฯ ศุภชัย” เรียก “ไอ้โง่” ขณะปราศรัยเรื่องการจัดงบประมาณ
  11. 11.0 11.1 ส.ส.อีสาน ‘เพื่อไทย’ ฉุนรองประธาน ‘ศุภชัย’ ด่าโง่ จ่อเอาผิด
  12. ส.ส.เพื่อไทย เดือดบี้ 'ศุภชัย โพธิ์สุ' ทิ้งรอง ปธ.สภาฯ ด่าผู้แทนโง่ เล็ง ม.152 ถล่ม 'ศักดิ์สยาม'
  13. สหายแสง ‘ศุภชัย โพธิ์สุ’ ยกมือไหว้ขอโทษกลางสภา ยอมรับความผิดพลาด หลังปราศรัยที่นครพนม ปมพูดคำว่าไอ้โง่
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2011-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒
  15. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2009-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑๐, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑