เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี)
เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) | |
---|---|
เกิด | ปลี |
เสียชีวิต | มกราคม พ.ศ. 2337 |
ตำแหน่ง | สมุหกลาโหม |
วาระ | พ.ศ. 2325 – มกราคม พ.ศ. 2337 |
ผู้ดำรงตำแหน่งก่อน | พระยามหาเสนา (กรุงธนบุรี) |
ผู้สืบตำแหน่ง | เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) |
บิดามารดา |
|
เจ้าพระยามหาเสนา (? - พ.ศ. 2337) นามเดิม ปลี เป็นสมุหกลาโหมคนแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นแม่ทัพผู้มีบทบาทในสงครามเก้าทัพและสงครามตีเมืองทวาย
เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) เกิดเมื่อปีใดไม่ปรากฏ เป็นบุตรชายของเจ้าพระยากลาโหมคลองแกลบ[1][2] สมุหกลาโหมในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) มีพี่สาวต่างมารดาคือ ท้าววรจันทร์ (แจ่ม) และน้องชายต่างมารดาชื่อคุ้ม ซึ่งนายคุ้มต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นพระยาสุรเสนาในรัชกาลที่ 1 และมีฉายาว่า"พระยาสุรเสนาแขนทิ้ง"[1]
ในสมัยธนบุรี เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ดำรงตำแหน่งเป็นพระพลเมืองพิษณุโลก[3] จากนั้นเลื่อนขึ้นเป็นพระยาเพชรบูรณ์ เจ้าเมืองเพชรบูรณ์ ในพ.ศ. 2321 เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ เจ้าสุริยวงศ์เจ้าเมืองหลวงพระบางขอสวามิภักดิ์ต่อสยาม สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงมีคำสั่งให้พระยาเพชรบูรณ์ (ปลี) คุมกองทัพเมืองหลวงพระบาง[4] ยกเข้าโจมตีเมืองเวียงจันทน์จากทางเหนือ ในขณะที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพเข้าโจมตีจากทางใต้ จนสามารถยึดเมืองเวียงจันทน์ได้ในที่สุด
เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในพ.ศ. 2325 ทรงแต่งตั้งพระยาเพชรบูรณ์ (ปลี) ขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนา สมุหกลาโหมคนแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ดังในคำปรึกษาตั้งข้าราชการว่า
พระยาเพชรบูรณ์สัตย์ซื่อ สู้เสียชีวิตทำราชการสงครามตามเสด็จใต้ละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) แต่เดิมมา มีความชอบมาก แล้วก็เป็นบุตรพระยากลาโหมแต่ก่อน ขอพระราชทานตั้งให้เป็น เจ้าพระยามหาเสนา...
[3] นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯยังทรงให้ย้ายการปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ ซึ่งถูกย้ายไปขึ้นกับกรมท่าตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ย้ายกลับมาขึ้นกับสมุหกลาโหมดังเช่นแต่ก่อนอีกด้วย
ในพ.ศ. 2328 สงครามเก้าทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชโองการให้เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ติดตามสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ เสด็จยกทัพไปตั้งรับพม่าทางเหนือที่นครสวรรค์ เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ยกทัพไปตั้งรับพม่าที่พิจิตร จากนั้นกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ฯมีพระบัญชาให้เจ้าพระยามหาเสนายกทัพเข้าตีทัพของเนเมียวสีหซุยที่ค่ายปากพิงฝั่งตะวันออก นำไปสู่การรบที่ปากพิง เจ้าพระยามหาเสนาสามารถเอาชนะทัพพม่าขับทัพพม่าออกไปได้สำเร็จ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ยกทัพขึ้นเหนือไปพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา[5] เพื่อช่วยเหลือเจ้ากาวิละแห่งเมืองลำปางซึ่งกำลังถูกทัพพม่าของสะโดศิริมหาอุจนาล้อมเมืองอยู่ เจ้าพระยามหาเสนาและกรมหลวงจักรเจษฎาฯสามารถขับทัพพม่าที่ล้อมเมืองลำปางอยู่ออกไปได้สำเร็จ
ในสงครามตีเมืองทวายในพ.ศ. 2330 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชโองการให้จัดทัพเข้ายกไปโจมตีเมืองทวายผ่านทางด่านวังปอ (ทางตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี) เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) และเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์) สมุหนายกเป็นทัพหน้า เจ้าพระยาทั้งสองยกทัพเข้าโจมตีทัพพม่าที่ด่านวังปอ โดยเจ้าพระยามหาเสนาส่งพระยาสุรเสนานำทัพไปก่อน หลังจากที่พระยาสุรเสนาถูกปืนพม่าเสียชีวิตในที่รบ เจ้าพระยามหาเสนาและเจ้าพระยารัตนพิพิธ (สน) จึงยกทัพเข้าตีด่านวังปอได้สำเร็จ จากนั้นยึดเมืองกลิอ่องต่อและยกทัพเข้าประชิดเมืองทวาย ฝ่ายไทยไม่สามารถเข้ายึดเมืองทวายได้หลังจากประชิดเมืองอยู่ครึ่งเดือน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯมีพระราชโองการให้เลิกทัพถอยกลับ
หลังจากได้เมืองทวายแล้ว ในพ.ศ. 2336 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชดำริที่จะยกทัพล่วงต่อจากเมืองทวายไปยังเขตแดนเมืองพม่าตอนล่าง จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) และเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) ยกทัพหน้าไปสมทบกับทัพของพระยายมราช (บุนนาค) ที่ทวาย ในขณะนั้นเองพระเจ้าปดุงได้ส่งทัพมายึดเมืองทวายคืน เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยารัตนาพิพิธ และพระยายมราช ตั้งค่ายอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองทวาย ฝ่ายพม่าตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ในปีพ.ศ. 2337 ชาวเมืองทวายเป็นกบฏลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของไทย เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) มีคำสั่งให้นำตัวหวุ่นทอก ชาวเมืองทวายผู้นำในการต่อต้านไปลงโทษด้วยการเฆี่ยน[5] หวุ่นทอกจึงปลุกระดมชาวเมืองทวายให้ลุกฮือขึ้นและร่วมกับทัพพม่าเข้าโจมตีทัพของไทยทางตะวันออก เสนาบดีทั้งสามไม่สามารถต้านทานทัพพม่าได้ ถอยทัพไปยังค่ายของพระอภัยรณฤทธิ์ ซึ่งเป็นทัพหน้าของทัพหลวง เสนาบดีทั้งสามขอเข้าไปในค่ายของพระอภัยรณฤทธิ์ แต่พระอภัยรณฤทธิ์ปฏิเสธไม่ให้เข้าเกรงว่าหากทัพพม่ายกติดตามเสนาบดีทั้งสามเข้ามาในค่ายและทัพหน้าของพระอภัยรณฤทธิ์แตกพ่ายไป ทัพหลวงจะได้รับอันตราย[5] เสนาบดีทั้งสามจึงสู้กับพม่าอยู่หน้าค่ายของพระอภัยรณฤทธิ์ เจ้าพระยารัตนาพิพิธและพระยายมราชสามารถรอดไปได้ แต่เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) สูญหายในที่รบ ไม่สามารถค้นหาศพของเจ้าพระยามหาเสนากลับมาได้ ในขณะพงศาวดารพม่าว่าเจ้าพระยามหาเสนาถูกสังหารในที่รบ[6] และสามารถนำศีรษะของเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ไปได้[7]
ไม่ปรากฏว่าเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) มีบุตรหลานรับราชการสืบต่อเนื่องมาเป็นอย่างไรต่อไปถึงปัจจุบัน
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.0 1.1 สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : กรมศิลปากร, 2545.
- ↑ ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ 3 สกุลเฉกอหมัด ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระตำรวจเอก เจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อต ศุภมิตร) ณ เมรุวัดเบญจมบพิตร เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๗๓.
- ↑ 3.0 3.1 เอียวศรีวงศ์, นิธิ. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ; มติชน, พ.ศ. 2550.
- ↑ พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล).
- ↑ 5.0 5.1 5.2 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖.
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธน ฯ แลกรุงเทพ ฯ.
- ↑ Phraison Salarak (Thien Subindu), Luang. Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Yazawindawgyi. Bangkok; July 25, 1919.