ข้ามไปเนื้อหา

สหประชาชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สหประชาชาติ
  • United Nations (อังกฤษ)
    الأمم المتحدة (อาหรับ)
    联合国 (จีน)
    Nations Unies (ฝรั่งเศส)
    Организация Объединённых Наций (รัสเซีย)
    Naciones Unidas (สเปน)
ธงชาติสหประชาชาติ
ธงชาติ
เครื่องหมายของสหประชาชาติ
เครื่องหมาย
แผนที่แสดงรัฐสมาชิกสหประชาชาติ ประเทศที่องค์การสหประชาชาติรับรองว่ามีเอกราช โดยไม่คำนึงถึงมุมมองของรัฐสมาชิกอื่น หรือต่อสถานภาพทางกฎหมายของประเทศใด ๆ[1]
แผนที่แสดงรัฐสมาชิกสหประชาชาติ
ประเทศที่องค์การสหประชาชาติรับรองว่ามีเอกราช โดยไม่คำนึงถึงมุมมองของรัฐสมาชิกอื่น หรือต่อสถานภาพทางกฎหมายของประเทศใด ๆ[1]
สำนักงานใหญ่เขตนานาชาติตั้งอยู่ในแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ภาษาทางการภาษาอาหรับ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษารัสเซีย และภาษาสเปน
รัฐสมาชิก193 ประเทศ
ผู้นำ
อังตอนียู กูแตรึช
การก่อตั้ง
26 มิถุนายน ค.ศ. 1945
• การบังคับใช้กฎบัตร
24 ตุลาคม ค.ศ. 1945

สหประชาชาติ (อังกฤษ: United Nations; อาหรับ: الأمم المتحدة; ฝรั่งเศส: Nations Unies; จีน: 联合国; รัสเซีย: Организация Объединённых Наций; สเปน: Naciones Unidas) เป็นองค์การระหว่างรัฐบาลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประเทศ บรรลุความร่วมมือระหว่างประเทศ และเป็นศูนย์กลางสำหรับการประสานงานของการกระทำของชาติต่าง ๆ[2] เป็นองค์การระหว่างรัฐบาลที่มีขนาดใหญ่ ที่มีความรู้สึกคุ้นเคย เป็นตัวแทนในระดับสากลมากที่สุด และทรงอำนาจมากที่สุดในโลก สหประชาชาตินั้นมีสำงานใหญ่ในดินแดนระหว่างประเทศในนครนิวยอร์ก โดยมีสำนักงานหลักอื่น ๆ ในเจนีวา ไนโรบี เวียนนา และเดอะเฮก

สหประชาชาติได้ถูกก่อตั้งขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการเกิดสงครามขึ้นในอนาคตและประสบความสำเร็จในสิ่งที่สันนิบาตชาติไม่มีประสิทธิภาพ[3] เมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1945 รัฐบาล 50 ประเทศได้พบกันที่ซานฟรานซิสโกเพื่อเข้าประชุมและเริ่มร่างกฎบัตรสหประชาชาติซึ่งได้ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1945 และมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1945 เมื่อสหประชาติชาติได้เริ่มออกปฏิบัติการ ได้ดำเนินตามกฎบัตร วัตถุประสงค์ขององค์กร รวมทั้งการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การปกป้องสิทธิมนุษยชน การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และค้ำจุนกฎหมายระหว่างประเทศ[4] ในช่วงการก่อตั้ง สหประชาชาตินั้นมีสมาชิกรัฐถึง 51 รัฐ จำนวนนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 193 รัฐ ในปี ค.ศ. 2011[5] ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐอธิปไตยเกือบทั้งหมดของโลก

ภารกิจขององค์กรในการรักษาสันติภาพของโลกนั้นมีความซับซ้อนในช่วงต้นทศวรรษที่ผ่านมาโดยสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตและประเทศพันธมิตรของพวกเขา ภารกิจส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยผู้สังเกตการณ์ทางทหารที่ปราศจากอาวุธและกองกำลังทหารที่ติดอาวุธเบา โดยมีบทบาทหลักในการตรวจสอบ การรายงานและการสร้างความเชื่อมั่น[6] การเป็นสมาชิกสหประชาชาติได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลังการแยกตัวออกจากการเป็นอาณานิคมอย่างกว้างขวางในช่วงปี ค.ศ. 1960 ตั้งแต่นั้นมา อดีตอาณานิคม 80 ประเทศต่างได้รับเอกราช รวมทั้งดินแดนในภาวะทรัสตี 11 แห่งที่ได้รับการตรวจสอบโดยคณะมนตรีภาวะทรัสตี[7] ในปี ค.ศ. 1970 งบประมาณของสหประชาชาติสำหรับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สูงกว่าการใช้จ่ายทางด้านการรักษาสันติภาพ ภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง สหประชาชาติได้เปลี่ยนและขยายตัวการปฏิบัติการภาคสนามโดยดำเนินงานที่มีความซับซ้อนมากมาย[8]

สหประชาชาตินั้นมีเสาหลัก 6 ประการ ได้แก่ สมัชชาใหญ่ คณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (ECOSOC) คณะมนตรีภาวะทรัสตี ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และสำนักเลขาธิการสหประชาชาติ ระบบยูเอ็นประกอบไปด้วยหน่วยงานพิเศษเป็นจำนวนมากมาย เช่น กลุ่มธนาคารโลก องค์การอนามัยโลก โครงการอาหารโลก องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (หรือเรียกอีกอย่างว่า ยูเนสโก) และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (หรือเรียกอีกอย่างว่า ยูนิเซฟ) นอกจากนี้องค์การนอกภาครัฐอาจได้รับสถานะที่ปรึกษากับคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมและหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเข้าร่วมในงานของยูเอ็น หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของสหประชาชาติคือ เลขาธิการ ปัจจุบันเป็นนักการเมืองและนักการทูตชาวโปรตุเกสที่มีชื่อว่า อังตอนียู กูแตรึช ซึ่งดำรงตำแหน่งมา 5 ปีในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2017 องค์การได้รับเงินสนับสนุนจากการประเมินราคาและบริจาคโดยสมัครใจจากประเทศสมาชิก

สหประชาชาติ มีเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่าง ๆ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจำนวนมากมาย แม้ว่าจะมีการผสมผสานการประเมินประสิทธิภาพอื่น ๆ นักวิจารณ์บางคนเชื่อว่า องค์การนี้ที่จะเป็นพลังสำคัญสำหรับการพัฒนาสันติภาพและมนุษย์ ในขณะที่คนอื่น ๆ ต่างเรียกว่า ไร้ประสิทธิภาพ มีความลำเอียง และทุจริต

การก่อตั้ง

[แก้]
การลงนามกฎบัตรสหประชาชาติ ณ ซานฟรานซิสโก ค.ศ. 1945

สหประชาชาติถูกก่อตั้งเพื่อสืบทอดองค์การสันนิบาตชาติ ซึ่งถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพที่จะธำรงรักษาสันติภาพ ดังที่เห็นได้จากความล้มเหลวในการป้องกันสงครามโลกครั้งที่สอง คำว่า "สหประชาชาติ" เป็นแนวคิดของแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์และวินสตัน เชอร์ชิลล์ พบใช้ครั้งแรกในกฎบัตรสหประชาชาติ เมื่อ ค.ศ. 1942 ซึ่งเป็นการรวบรวมเอาประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร 26 ประเทศในสงครามโลกครั้งที่สองเข้าด้วยกันภายใต้การลงนามกฎบัตรแอตแลนติก และกลายเป็นคำที่ใช้เรียกองค์การนี้ในที่สุด ใน ค.ศ. 1944 ผู้แทนจากประเทศฝรั่งเศส สาธารณรัฐจีน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตเข้าร่วมประชุมเพื่อวางแผนการก่อตั้งสหประชาชาติที่ดัมบาตันโอกส์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.[9] การประชุมครั้งนั้นและครั้งต่อ ๆ มา ทำให้เกิดรากฐานความร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่สันติภาพ ความมั่นคง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคม โดยแผนเหล่านี้ได้ผ่านการถกเถียงอภิปรายจากรัฐบาลและประชาชนจากทั่วโลก

เมื่อใกล้สิ้นสุดสงคราม การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยองค์การระหว่างประเทศ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1945 ที่นครซานฟรานซิสโก ตัวแทนจาก 50 ประเทศได้ลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ยกเว้นโปแลนด์ที่ไม่สามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมได้แต่ได้รับการพิจารณาให้เป็นสมาชิกดั้งเดิม รวมเป็น 51 ประเทศ แม้สันนิบาตชาติจะถูกล้มเลิกไป แต่อุดมการณ์ส่วนใหญ่และโครงสร้างบางประการได้ถูกกำหนดไว้ในกฎบัตรโดยได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมกับโลกใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น หลังจากกฎบัตรผ่านการลงนามจากสมาชิก สหประชาชาติจึงได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการเมื่อกฎบัตรมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1945 หลังจากนั้น การประชุมสมัชชาครั้งแรกเกิดขึ้นที่กรุงลอนดอน เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1946[10]

องค์กร

[แก้]

ระบบสหประชาชาติอยู่บนพื้นฐานของ 5 เสาหลัก (ไม่นับรวมคณะมนตรีภาวะทรัสตีแห่งสหประชาชาติ ซึ่งยุติการปฏิบัติงานไปใน ค.ศ. 1994[11]) ได้แก่ สมัชชาใหญ่ คณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม สำนักเลขาธิการและศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ สี่องค์กรในจำนวนนี้มีที่ทำการในสำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก ส่วนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ส่วนองค์กรย่อย ๆ ตั้งอยู่ที่เจนีวา เวียนนาและไนโรบี รวมไปถึงเมืองอื่น ๆ ทั่วโลก

สหประชาชาติมีธง ที่ทำการไปรษณีย์ และดวงตราไปรษณียากรของตนเอง ภาษาทางการที่ใช้มีอยู่ 6 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษารัสเซีย ภาษาจีน และภาษาอาหรับ[12] โดยที่ภาษาอาหรับได้ถูกเพิ่มเข้ามาหลังสุด เมื่อปี ค.ศ. 1973 ส่วนสำนักเลขาธิการนั้นใช้ 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษที่กำหนดให้เป็นมาตรฐาน คือ อังกฤษบริติช และการสะกดแบบออกซ์ฟอร์ด ส่วนภาษาจีนมาตรฐาน คือ อักษรจีนตัวย่อ ซึ่งเปลี่ยนมาจาก อักษรจีนตัวเต็ม ใน ค.ศ. 1971 เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นสมาชิกสหประชาชาติแทนสาธารณรัฐจีน

สมัชชาใหญ่

[แก้]
ห้องประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

สมัชชาใหญ่เป็นที่ประชุมซึ่งรัฐสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมดประชุมกันเป็นประจำในสมัยประชุมประจำปีภายใต้ประธานซึ่งเลือกตั้งมาจากรัฐสมาชิก ในช่วงเปิดสมัยประชุมแต่ละสมัยเป็นเวลากว่าสองสัปดาห์ สมาชิกทั้งหมดมีโอกาสจะเสนอญัตติแก่สมัชชาได้ สมัยประชุมแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1946 ในเวสต์มินสเตอร์เซ็นทรัลฮอลล์ ในกรุงลอนดอน ซึ่งในขณะนั้นมีสมาชิก 51 ประเทศ

เมื่อสมัชชาใหญ่ลงมติต่อปัญหาที่สำคัญ จะต้องมีการลงมติและได้รับเสียงส่วนใหญ่เกินสองในสามของรัฐสมาชิกที่มาประชุม ตัวอย่างปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ การแนะนำต่อสันติภาพและความมั่นคง การเลือกตั้งสมาชิกองค์กร การรับเข้า การระงับและการขับสมาชิก และประเด็นด้านงบประมาณ ส่วนปัญหาอื่นทั้งหมดตัดสินโดยใช้มติเสียงข้างมาก รัฐสมาชิกแต่ละประเทศมีหนึ่งเสียง นอกเหนือไปจากการอนุมัติประเด็นทางงบประมาณ ข้อมติสมัชชาใหญ่ไม่มีผลผูกมัดต่อสมาชิก สมัชชาใหญ่อาจเสนอคำแนะนำต่อปัญหาใด ๆ ภายใต้ขอบเขตของสหประชาชาติ ยกเว้นประเด็นด้านสันติภาพและความมั่นคงซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคง

คณะมนตรีความมั่นคง

[แก้]
ภายในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีหน้าที่ดำรงรักษาสันติภาพและความปลอดภัยแก่ประเทศสมาชิก ขณะที่ส่วนอื่น ๆ ของสหประชาชาติสามารถเพียงให้คำแนะนำแก่รัฐบาลของประเทศสมาชิก แต่คณะมนตรีความมั่นคงมีอำนาจที่จะผูกมัดประเทศสมาชิกให้ปฏิบัติตามการตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติตามข้อตกลงในกฎบัตรข้อที่ 25[13] โดยผลการตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคง เรียกว่า มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกถาวร 5 ประเทศ คือ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา และสมาชิกไม่ถาวรอีก 10 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยชาด ไนจีเรีย แองโกลา จอร์แดน มาเลเซีย ชิลี เวเนซุเอลา นิวซีแลนด์ สเปน และลิทัวเนีย[14] สมาชิกถาวรทั้งห้าประเทศมีสิทธิ์ที่จะใช้อำนาจยับยั้งการนำไปใช้ แต่ไม่ใช่การยับยั้งมติโดยรวม ส่วนสมาชิกไม่ถาวรทั้งสิบประเทศจะอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี ซึ่งได้รับเลือกจากสมัชชาใหญ่โดยใช้เกณฑ์ตามภูมิภาค ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะหมุนเวียนตามตัวอักษรทุกเดือน[15]

สำนักเลขาธิการ

[แก้]
สำนักเลขาธิการสหประชาชาติซึ่งตั้งอยู่ในสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ

สำนักเลขาธิการสหประชาชาติมีเลขาธิการสหประชาชาติเป็นประธาน ได้รับการสนับสนุนโดยเจ้าหน้าที่พลเรือนทั่วโลก มีหน้าที่ศึกษา รวบรวมข้อมูลและอำนวยความสะดวกให้แก่การประชุม และยังมีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติและส่วนอื่น ๆ ขององค์การ กฎบัตรสหประชาชาติได้ระบุถึงเจ้าหน้าที่ที่ได้รับเลือกว่าต้องมี "มาตรฐานประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด มีความสามารถและความซื่อสัตย์" และความสำคัญในการคัดเลือกคนที่มาจากพื้นฐานภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน

กฎบัตรสหประชาชาติยังได้กำหนดด้วยว่าเจ้าหน้าที่จะต้องไม่แสวงหาหรือรับคำสั่งจากอำนาจใดนอกเหนือจากองค์การสหประชาชาติ ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติทุกประเทศจะต้องเคารพความเป็นสากลของสำนักเลขาธิการสหประชาชาติและจะต้องไม่มุ่งมีอิทธิพลเหนือเจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการเป็นอันขาด โดยเลขาธิการสหประชาชาติจะเป็นผู้คัดเลือกเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติแต่เพียงผู้เดียว

สถานที่ทำการของสำนักเลขาธิการสหประชาชาติอยู่ในพื้นที่ของสำนักงานประสานกิจการมนุษยชาติและสำนักงานควบคุมปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

เลขาธิการ

[แก้]
อังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบัน

เลขาธิการทำหน้าที่เสมือนเป็นโฆษกและผู้นำองค์การสหประชาชาติโดยพฤตินัย เลขาธิการองค์การสหประชาชาติคนปัจจุบัน คือ อังตอนียู กูแตรึช ซึ่งรับตำแหน่งต่อจากปัน คี มูน ใน ค.ศ. 2017 [16]

ตำแหน่งนี้ ซึ่งแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์มองว่าเป็น "ผู้ดูแลโลก" ถูกนิยามไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติว่าเป็น "ผู้นำการบริหารขององค์การ" และกฎบัตรยังได้ระบุว่าเลขาธิการสหประชาชาติสามารถยก "ปัญหาใด ๆ ที่เขาเห็นว่าอาจส่งผลกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงของนานาชาติ" ขึ้นเพื่อให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติพิจารณาได้ ทำให้บทบาทของเลขาธิการสหประชาชาติมีขอบเขตกว้างขวางมากขึ้นในเวทีโลก ตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติจึงมีสองบทบาท ทั้งผู้บริหารสหประชาชาติ และนักการทูตหรือผู้ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก และหาข้อยุติให้กับปัญหาระดับโลก[17] เลขาธิการสหประชาชาติมีหน้าที่ที่จะควบคุมปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การควบคุมองค์กรสากล การรวบรวมข้อมูลจากข้อตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและพูดคุยกับผู้นำรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ

เลขาธิการสหประชาชาติถูกแต่งตั้งจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หลังจากที่ได้รับมติมาจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การเลือกเลขาธิการสหประชาชาติมีสิทธิ์ถูกยับยั้งจากสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ[18] และตามทฤษฎีแล้ว สมัชชาใหญ่จะสามารถเปลี่ยนการสนับสนุนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ หากไม่ได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็ยังไม่เคยเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น[19] ตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติไม่ได้ถูกกำหนดคุณสมบัติแน่ชัด แต่เป็นที่ยอมรับกันว่าอยู่ในตำแหน่งวาระละห้าปีได้หนึ่งหรือสองวาระ ตำแหน่งควรจะเวียนไปตามภูมิภาคของโลก และต้องไม่ได้มาจากประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ[19]

รายนามเลขาธิการสหประชาชาติ[20]
คนที่ ชื่อ สัญชาติ เข้ารับตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่ง หมายเหตุ
1 ทริกเวอ ลี  นอร์เวย์ 2 กุมภาพันธ์ 1946 10 พฤศจิกายน 1952 ลาออก
2 ด๊าก ฮัมมาร์เฮิลด์  สวีเดน 10 เมษายน 1953 18 กันยายน 1961 อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่ง
3 อู้ตั่น  พม่า 30 พฤศจิกายน 1961 31 ธันวาคม 1971 เลขาธิการคนแรกจากทวีปเอเชีย
4 ควร์ท วัลท์ไฮม์  ออสเตรีย 1 มกราคม 1972 31 ธันวาคม 1981
5 ฆาบิเอร์ เปเรซ เด กูเอยาร์  เปรู 1 มกราคม 1982 31 ธันวาคม 1991 เลขาธิการคนแรกจากทวีปอเมริกาใต้
6 บุฏรุส บุฏรุส-ฆอลี  อียิปต์ 1 มกราคม 1992 31 ธันวาคม 1996 เลขาธิการคนแรกจากทวีปแอฟริกา
7 โคฟี แอนนัน  กานา 1 มกราคม 1997 31 ธันวาคม 2006
8 พัน กี-มุน  เกาหลีใต้ 1 มกราคม 2007 31 ธันวาคม 2016
9 อังตอนียู กูแตรึช  โปรตุเกส 1 มกราคม 2017 อยู่ในตำแหน่ง

คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม

[แก้]

คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติมีส่วนช่วยเหลือสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในการให้ความสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและการพัฒนา คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด 54 ประเทศ ซึ่งได้รับเลือกจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติวาระละสามปี ส่วนประธานมีวาระหนึ่งปีและได้รับเลือกจากประเทศขนาดเล็กหรือขนาดกลางเพื่อเป็นผู้แทนของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติจัดการประชุมขึ้นทุกปี เมื่อถึงเดือนกรกฎาคม เป็นเวลาสี่สัปดาห์ แต่หลังจากปี ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา ได้มีการจัดการประชุมขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเดือนเมษายน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติมีหน้าที่รวบรวมและให้การแนะนำประเทศสมาชิก โดยคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติเป็นความร่วมมือทางนโยบายที่ดีที่สุด และมีผลงานมากที่สุดในองค์การสหประชาชาติ

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

[แก้]
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในพระราชวังสันติภาพ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการตัดสินปัญหาของสหประชาชาติ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1945 จากผลของกฎบัตรสหประชาชาติ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเริ่มทำหน้าที่ในปี ค.ศ. 1946 แทนศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ อนุสาวรีย์ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งคล้ายกับศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศก่อนหน้า คือ ข้อความรัฐธรรมนูญที่วางระเบียบของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ[21]

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตั้งอยู่ในพระราชวังสันติภาพ ในกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นอาคารที่ตั้งของสถาบันกฎหมายนานาชาติเฮก ซึ่งเป็นสถานที่ของเอกชนในการศึกษากฎหมายนานาชาติ ผู้พิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหลายคนเป็นนิสิตเก่าหรือคณะครูในสถาบันแห่งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อพิจารณาความขัดแย้งระหว่างรัฐ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมสงคราม การเข้าไปสอดแทรกกิจการภายในรัฐ และการล้างชาติพันธุ์ เป็นต้น[22]

นอกจากนี้ ยังมีศาลที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกัน คือ ศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อปี ค.ศ. 2002 ผ่านทางการอภิปรายหลายครั้งของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาลถาวรระหว่างประเทศที่ลงโทษผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายสากล รวมไปถึงอาชญากรรมสงครามและการล้างชาติพันธุ์ ศาลอาญาระหว่างประเทศถือว่าเป็นเอกภาพ ทั้งจากลักษณะโดยรวมและทางการเงิน แต่การประชุมบางคราวของโครงสร้างศาลอาญาระหว่างประเทศ คณะสมัชชาแห่งชาติถูกจัดขึ้นที่สหประชาชาติ ซึ่งมี "ข้อตกลงความสัมพันธ์" ระหว่างศาลอาญาระหว่างประเทศกับสหประชาชาติซึ่งทั้งสองต่างก็ยอมรับกันทางกฎหมาย[23]

หน่วยงานพิเศษ

[แก้]

นอกจาก 5 เสาหลักของสหประชาชาติแล้ว ยังมีหน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติที่ทำหน้าที่แตกต่างออกไป ซึ่งเป็นไปตามกำหนดของกฎบัตรสหประชาชาติว่า เสาหลักของสหประชาชาติสามารถก่อตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาเพื่อเติมเต็มการทำหน้าที่ของตัวเองได้ หน่วยงานเหล่านั้นประกอบด้วย

องค์กรและหน่วยงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ
No. ชื่อย่อ โลโก้ หน่วยงาน สำนักงานใหญ่ ปีก่อตั้ง (ค.ศ.)
1 FAO
Food and Agriculture Organization
Food and Agriculture Organization
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ
(Food and Agriculture Organization)
อิตาลี กรุงโรม ประเทศอิตาลี 1945
2 IAEA
International Atomic Energy Agency
International Atomic Energy Agency
ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
(International Atomic Energy Agency)
ออสเตรีย เวียนนา ประเทศออสเตรีย 1957
3 ICAO
International Civil Aviation Organization
International Civil Aviation Organization
องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
(International Civil Aviation Organization)
แคนาดา มอนทรีออล ประเทศแคนาดา 1947
4 IFAD กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม
(International Fund for Agricultural Development)
อิตาลี กรุงโรม ประเทศอิตาลี 1977
5 ILO
International Labour Organization
International Labour Organization
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ
(International Labour Organization)
สวิตเซอร์แลนด์ เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 1946 (1919)
6 IMO
International Maritime Organization
International Maritime Organization
องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ
(International Maritime Organization)
สหราชอาณาจักร ลอนดอน สหราชอาณาจักร 1948
7 IMF
International Monetary Fund
International Monetary Fund
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(International Monetary Fund)
สหรัฐ วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา 1945 (1944)
8 ITU
International Telecommunication Union
International Telecommunication Union
สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ
(International Telecommunication Union)
สวิตเซอร์แลนด์ เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 1947 (1865)
9 UNESCO
United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization
United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
(United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization)
ฝรั่งเศส ปารีส ประเทศฝรั่งเศส 1946
10 UNIDO
องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ
(United Nations Industrial Development Organization)
ออสเตรีย เวียนนา ประเทศออสเตรีย 1967
11 UNWTO องค์การการท่องเที่ยวโลก
(World Tourism Organization)
สเปน มาดริด ประเทศสเปน 1974
12 UPU
Universal Postal Union
Universal Postal Union
สหภาพไปรษณีย์สากล
(Universal Postal Union)
สวิตเซอร์แลนด์ เบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 1947 (1874)
13 WB เครือธนาคารโลก
(World Bank Group)
สหรัฐ วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา 1945 (1944)
14 WFP
โครงการอาหารโลก
(World Food Programme)
อิตาลี กรุงโรม ประเทศอิตาลี 1963
15 WHO
World Health Organization
World Health Organization
องค์การอนามัยโลก
(World Health Organization)
สวิตเซอร์แลนด์ เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 1948
16 WIPO องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก
(World Intellectual Property Organization)
สวิตเซอร์แลนด์ เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 1974
17 WMO
World Meteorological Organization
World Meteorological Organization
องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก
( World Meteorological Organization)
สวิตเซอร์แลนด์ เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 1950 (1873)

สมาชิก

[แก้]
ภาพเคลื่อนไหวแสดงถึงการเข้าร่วมเป็นรัฐสมาชิกของสหประชาชาติเรียงตามปี

เมื่อนับรวมไปถึง เซาท์ซูดาน ซึ่งเข้ามาหลังสุด เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2011 ขณะนี้ สหประชาชาติมีรัฐสมาชิกซึ่งรวมไปถึงรัฐที่ได้รับการรับรองว่าเป็นเอกราช[24] ทั้งหมด 193 ประเทศ ยกเว้นนครรัฐวาติกัน คอซอวอ และปาเลสไตน์ ซึ่งได้สถานภาพรัฐสังเกตการณ์[25]

กฎบัตรสหประชาชาติได้กำหนดการเข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติไว้ว่า

  1. สิทธิ์การเข้าเป็นรัฐสมาชิกของสหประชาชาติเปิดกว้างให้แก่รัฐที่รักสันติทุกประเทศที่สามารถยอมรับข้อตกลงที่ระบุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ และสามารถนำพันธะในองค์กรไปปฏิบัติใช้ได้
  2. การยอมรับการเข้าเป็นรัฐสมาชิกของสหประชาชาติขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสมัชชาใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่บนคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ[26]

กลุ่ม 77 เป็นการรวมกำลังกันอย่างหลวม ๆ ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในสหประชาชาติ ออกแบบมาเพื่อแสดงออกถึงความสนใจทางเศรษฐกิจร่วมกันและส่งเสริมความร่วมมืออำนาจในการต่อรองภายในสหประชาชาติ กลุ่ม 77 มีจำนวนสมาชิกครั้งก่อตั้งจำนวน 77 ประเทศ แต่ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 130 ประเทศ กลุ่มดังกล่าวได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1964 โดย "แถลงการณ์ร่วมของชาติ 77 ชาติ" ซึ่งประกาศเอาไว้ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา การประชุมหลักในครั้งแรกเกิดขึ้นในกรุงแอลเจียร์ ในปี ค.ศ. 1967 ซึ่งจากกฎบัตรอัลเจียร์ได้รับการพัฒนาและพื้นฐานโครงสร้างของสถาบันถาวรได้ริเริ่มเอาไว้[27]

ภารกิจ

[แก้]

การรักษาสันติภาพและความมั่นคง

[แก้]
ภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ สีน้ำเงิน หมายถึง ภารกิจในปัจจุบันของสหประชาชาติ ส่วนสีฟ้า หมายถึง ภารกิจในอดีตของสหประชาชาติ

สหประชาชาติ ภายหลังจากที่ได้รับรองจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จะมีการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปยังเขตพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในการใช้อาวุธที่สิ้นสุดลงหรือหยุดชะงักเพื่อบังคับใช้เงื่อนไขของข้อตกลงสันติภาพและห้ามปรามผู้เข้าร่วมรบจากความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกัน สหประชาชาติไม่ได้มีกองกำลังติดอาวุธของตนเอง การรักษาสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ด้วยการอาสาสมัครจากรัฐสมาชิกของสหประชาชาติ กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ มีชื่อเรียกว่า "หมวกน้ำเงิน" ผู้ซึ่งสมัครใจปฏิบัติตามมติสหประชาชาติจะได้รับเหรียญสหประชาชาติ และพิจารณามอบเครื่องอิสริยาภรณ์สากล แทนที่จะเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ทางทหาร กองกำลังรักษาสันติภาพทั้งหมดได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี ค.ศ. 1988

เหล่าผู้ก่อตั้งสหประชาชาติได้เผชิญหน้ากันว่าองค์การสหประชาชาติจะทำหน้าที่ป้องกันความขัดแย้งระหว่างรัฐและทำให้สงครามในอนาคตกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การแตกหักของสงครามเย็นได้ทำให้ข้อตกลงการรักษาสันติภาพกลายเป็นความยุ่งยากอย่างมาก เนื่องจากมีการแบ่งส่วนต่าง ๆ ของโลกออกเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ภายหลังจากสงครามเย็น ได้มีความหวังใหม่ว่าสหประชาชาติจะเป็นผู้ธำรงสันติภาพของโลก ในขณะที่ยังมีความขัดแย้งที่ยังดำเนินอยู่ในปัจจุบันทั่วโลก

ค่ายผู้ลี้ภัยสงครามของสหประชาชาติในคองโก

ในปี ค.ศ. 2005 การศึกษาบริษัทแรนด์ได้พบว่าสหประชาชาติประสบความสำเร็จในการรักษาสันติภาพสองในสาม ได้มีการเปรียบเทียบว่าความพยายามสร้างชาติของสหประชาชาตินี้กับความพยายามของสหรัฐอเมริกา และพบว่าเจ็ดในแปดกรณีของสหประชาชาตินั้นอยู่ในสภาวะสันติภาพ ไม่เหมือนกับสี่ในแปดกรณีของสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในสภาวะสันติภาพ[28] ในปี 2005 รายงานความมั่นคงของมนุษย์ได้เป็นพยานหลักฐานของสงคราม การล้างชาติพันธุ์และการละเมิดสิทธิมนุษย์หลายครั้งตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามเย็น และนำเสนอหลักฐาน กรณีแวดล้อมและกิจการสากล ซึ่งส่วนใหญ่นำโดยสหประชาชาติ เป็นสาเหตุของการลดจำนวนลงของความขัดแย้งด้วยอาวุธภายหลังสงครามเย็น[29] สถานการณ์ที่สหประชาชาติมีส่วนร่วมรักษาสันติภาพได้ รวมไปถึง สงครามเกาหลี และการอนุญาตให้เข้าแทรกแซงในอิรัก ภายหลังจากที่อิรักรุกรานคูเวต ในปี ค.ศ. 1990

ภาพรถหุ้มเกราะของอังกฤษ ซึ่งถูกนำไปใช้ในปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ

แต่สหประชาชาติก็ได้รับคำวิจารณ์จากความล้มเหลวในการรักษาสันติภาพหลายครั้ง ในหลายกรณีที่รัฐสมาชิกปฏิบัติการด้วยความไม่เต็มใจในการปฏิบัติตามหรือการบังคับใช้มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นประเด็นที่ปิดกั้นธรรมชาติของรัฐบาลนานาชาติของสหประชาชาติ ดังที่เห็นได้ชัดเจนจากความร่วมมือกันของรัฐสมาชิก 192 ประเทศต้องมีความเป็นเอกฉันท์ ไม่ใช่องค์การที่มีอิสระ ความไม่เห็นด้วยกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทำให้สหประชาชาติล้มเหลวที่จะป้องกันเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เมื่อปี ค.ศ. 1994[30] ล้มเหลวที่จะป้องกันที่จะยื่นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในเข้าแทรก สงครามคองโกครั้งที่สอง ล้มเหลวที่จะเข้าแทรกเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในซรีเบนนิกา เมื่อปี ค.ศ. 1995 และการป้องกันผู้ลี้ภัยโดยการใช้กำลังรักษาสันติภาพ ล้มเหลวที่จะส่งอาหารให้แก่ผู้คนที่อดอยากในโซมาเลีย ล้มเหลวที่จะปฏิบัติตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และล้มเหลวในการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และเข้าแทรกแซงในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ดาร์ฟูร์ กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติตกเป็นจำเลยในการข่มขืนกระทำชำเราเยาวชน การทารุณทางเพศ หรือการใช้บริการโสเภณีระหว่างภารกิจรักษาสันติภาพหลายครั้ง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา ในคองโก[31] เฮติ[32][33] ไลบีเรีย[34] ซูดาน[35] บุรุนดีและโกตดิวัวร์[36]

ในความพยายามที่จะรักษาสันติภาพ สหประชาชาติมีบทบาทสำคัญในความพยายามด้านการลดและลดอาวุธ การวางระเบียบของอาวุธยุทธภัณฑ์ รวมไปถึง การเขียนกฎบัตรสหประชาชาติในปี 1945 ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่จะลดการใช้ทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรทางเศรษฐกิจในการผลิตอาวุธ อย่างไรก็ตาม เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ก็ปรากฏอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้แนวคิดของการจำกัดอาวุธและการลดอาวุธต้องหยุดชะงักไป โดยมีผลในมติการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรก โดยมีจุดประสงค์เพื่อ "การทำลายอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธอื่นที่สามารถก่อการทำลายล้างสูงได้"[37] โดยกระทู้หลักของประเด็นการลดอาวุธอยู่ที่คณะกรรมการการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรก คณะกรรมาธิการการลดอาวุธของสหประชาชาติ และการเจรจาลดอาวุธ โดยได้พิจารณาห้ามการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ การควบคุมอาวุธอวกาศ การห้ามใช้อาวุธเคมีและกับระเบิด การลดอาวุธและระเบิดนิวเคลียร์ การกำหนดเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ การลดงบประมาณทางการทหาร และความพยายามที่จะเสริมสร้างความมั่นคงสากล

สหประชาชาติยังได้เป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของกระทู้ความมั่นคงโลก ซึ่งเป็นการประชุมหลักนานาชาติเพื่อแก้ปัญหาสาธารณภัยต่าง ๆ ซึ่งก่อตั้งขึ้นที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อเดือนตุลาคม 2008

สิทธิมนุษยชนและการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

[แก้]
เอเลนอร์ โรสเวลต์กับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในปี ค.ศ. 1949

ความพยายามในการกำกับดูแลสิทธิมนุษยชนถือได้ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการก่อตั้งสหประชาชาติ ความร้ายกาจจากสงครามโลกครั้งที่สองและพันธุฆาตได้นำไปสู่การเตรียมการองค์การใหม่ขึ้นเพื่อทำงานป้องกันมิให้เกิดโศกนาฏกรรมอีกในอนาคต เป้าหมายในระยะแรก คือ ความพยายามสร้างโครงร่างสำหรับพิจารณาและการลงมือช่วยเหลือตามคำร้องที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน กฎบัตรสหประชาชาติกำหนดให้รัฐสมาชิกต้องมีการส่งเสริม "ความเคารพและการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน" และจะต้องสนับสนุนต่อ "การลงมือปฏิบัติร่วมและแยกกัน" จนถึงที่สุด โดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แม้ว่าจะมิได้เป็นข้อผูกมัดทางกฎหมาย ได้ถูกร่างขึ้นโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1948 โดยถือเอาเป็นมาตรฐานการวัดความสำเร็จโดยทั่วไป โดยปกติแล้ว สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจะรับฟังประเด็นทางมนุษยธรรมเสมอ

สหประชาชาติและหน่วยงานสนับสนุนเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและเพิ่มพูนตามหลักการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในกรณีจุดที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติในการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย ความช่วยเหลือทางเทคนิคในการจัดการเลือกตั้งปราศจากค่าใช้จ่ายและยุติธรรม การปรับปรุงระบบยุติธรรม การร่างรัฐธรรมนูญ การฝึกหัดเจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน และการเปลี่ยนแปลงเอาขบวนการติดอาวุธเป็นพรรคการเมืองแทน โดยได้รับความสนับสนุนในการเปลี่ยนแปลงโลกให้กลายเป็นระบอบประชาธิปไตย สหประชาชาติได้มีส่วนช่วยจัดการเลือกตั้งให้แก่ประเทศที่มีประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไม่นานนัก อย่างเช่น อัฟกานิสถานและติมอร์-เลสเตในปัจจุบัน สหประชาชาติยังมีส่วนสำคัญในการรณรงค์สนับสนุนสิทธิสตรีในด้านสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ และชีวิตทางสังคมในประเทศ นอกจากนี้ สหประชาชาติยังได้ปลูกฝังแนวคิดสิทธิมนุษยชนผ่านทางกติการของสหประชาชาติ และให้ความสนใจต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านทางสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ในปี ค.ศ. 2006 ได้มีการจัดตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติขึ้น[38] เพื่อนำเสนอเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อที่ประชุม โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ต่อจากผู้ตรวจการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมักจะได้รับคำวิจารณ์สำหรับตำแหน่งในการบีบรัฐสมาชิกที่ไม่ค่อยให้การสนับสนุนสิทธิมนุษยชน[39] คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนมีสมาชิก 47 ประเทศกระจายกันไปตามทุกทวีปในโลก โดยมีวาระสมาชิกสามปี และไม่เป็นสมาชิกสามวาระติดต่อกัน[40] ผู้ที่เสนอตัวเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับเสียงส่วนใหญ่จากสมัชชาใหญ่ นอกจากนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยังมีอำนาจอย่างเข้มงวดเหนือรัฐสมาชิก รวมไปถึงการทบทวนสิทธิมนุษยชนสากล ขณะที่รัฐสมาชิกบางประเทศที่มีข้อกังขาถึงประวัติสิทธิมนุษยชนภายในประเทศเมื่อถูกเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ก็จะเพิ่มความสนใจให้แก่ประวัติสิทธิมนุษยชนของรัฐสมาชิกให้มากขึ้นกว่าที่เคย[41]

นอกจากนี้ สหประชาชาติยังได้ให้ความสนใจแก่ชาวพื้นเมืองจำนวนกว่า 370 ล้านคนทั่วโลก โดยในปฏิญญาสิทธิชนพื้นเมืองได้รับรองจากสมัชชาใหญ่ในปี ค.ศ. 2007[42] ปฏิญญาดังกล่าวสรุปเน้นถึงความเป็นเอกเทศและการรวมกันของสิทธิทางวัฒนธรรม ภาษา การศึกษา รูปพรรณ การจ้างงานและสุขภาพ ด้วยเหตุนั้น จึงมีประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังยุคอาณานิคม ซึ่งขัดกับวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ปฏิญญาสิทธิชนพื้นเมืองมีเป้าหมายเพื่อที่จะธำรงรักษา สร้างความแข็งแกร่งและสนับสนุนการเจริญเติบโตของสถาบันชนพื้นเมือง วัฒนธรรมและประเพณี และยังมีการห้ามลำเอียงในการต่อต้านชนพื้นเมือง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชนพื้นเมือง ซึ่งต้องคำนึงถึงอดีต ปัจจุบันและอนาคต[42]

ในความร่วมมือกับองค์กรอื่น อย่างเช่น กาชาด สหประชาชาติได้ให้การสนับสนุนอาหาร น้ำดื่ม ที่อยู่อาศัยและบริการให้แก่อาณาประชาราษฎร์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ สูญเสียที่อยู่อาศัยจากภัยสงคราม หรือได้รับผลกระทบจากมหันตภัยอื่น โครงการเพื่อมนุษยธรรมหลักของสหประชาชาติ คือ โครงการอาหารโลก ซึ่งได้ช่วยชีวิตมนุษย์กว่า 100 ล้านคนใน 80 ประเทศทั่วโลก) รวมไปถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ใน 116 ประเทศทั่วโลก รวมไปถึง ประเทศที่มีภารกิจรักษาสันติภาพ 24 ประเทศ

การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ

[แก้]

สหประชาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในการได้รับการสนับสนุนเฉพาะทางจากทั่วโลก องค์การอย่างเช่น องค์การอนามัยโลก โครงการต้านภัยเอดส์ กองทุนต่อต้านโรคเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย ได้เป็นองค์การสำคัญในการต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มประเทศยากจน กองทุนประชากรของสหประชาชาติเป็นผู้สนับสนุนหลักของบริการระบบสืบพันธุ์ ซึ่งช่วยลดจำนวนทารกและการตายของมารดาในกว่า 100 ประเทศ

สหประชาชาติยังได้ส่งเสริมการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ผ่านทางหน่วยงานหลายอย่าง อย่างเช่น ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ เป็นองค์การพิเศษและผู้สังเกตการณ์ภายในโครงสร้างของสหประชาชาติ ตามข้อตกลงของปี ค.ศ. 1947 องค์การเหล่านี้ก่อตั้งขึ้นแยกต่างหากกับสหประชาชาติตามข้อตกลงเบรตตันวูดส์ในปี ค.ศ. 1944[43]

สหประชาชาติได้การตีพิมพ์ดัชนีการพัฒนามนุษย์ทุกปี ซึ่งเป็นการจัดอันดับจากตัวชี้วัดความยากจน จำนวนผู้อ่านออกเขียนได้ การศึกษาและอายุเฉลี่ย และจากตัวแปรอื่น ๆ

เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ คือ เป้าหมายแปดประการที่รัฐสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 192 ประเทศตั้งใจจะให้บรรลุภายในปี ค.ศ. 2015[44] ซึ่งได้ประกาศไว้ในปฏิญญาสหัสวรรษขององค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2000

อาณัติพิเศษ

[แก้]

บางครั้งหน่วยงานในองค์การสหประชาชาติได้ผ่านมติที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานซึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า "เรียกร้อง" "เป็นหน้าที่" หรือ "ให้ช่วยเหลือ" ทำให้เลขาธิการสหประชาชาติตีความว่าเป็นการมอบหมายอาณัติพิเศษให้ตั้งองค์กรชั่วคราวขึ้นหรือสั่งให้ดำเนินการบางสิ่งบางอย่าง อาณัติพิเศษเหล่านี้อาจเป็นภารกิจเล็กๆ เช่นการวิจัยและเผยแพร่เอกสารรายงาน ไปจนถึงการใช้อำนาจเต็มที่ เช่น ปฏิบัติการรักษาสันติภาพเต็มรูปแบบ (ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นสิทธิ์เฉพาะของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ)

แม้ว่าจะมีการจัดตั้งสถาบันเฉพาะทางของสหประชาชาติบางแห่งเช่น องค์การอนามัยโลก ขึ้นในลักษณะดังกล่าวมานี้ แต่หน่วยงานเหล่านั้นก็มิใช่อาณัติพิเศษ เพราะองค์การเหล่านั้นถือว่าเป็นองค์การถาวรซึ่งปฏิบัติงานเป็นเอกเทศจากสหประชาชาติ โดยมีโครงสร้างสมาชิกของตัวเอง อาจกล่าวได้ว่าอาณัติเริ่มแรกเป็นแต่เพียงคำสั่งที่ครอบคลุมกระบวนการก่อตั้งสถาบัน และได้สิ้นสุดอาณัติไปนานแล้ว อาณัติพิเศษส่วนใหญ่จะหมดอายุไปในช่วงเวลาที่กำหนด และต้องมีคำสั่งให้ต่ออายุจากหน่วยงานของสหประชาชาติที่เป็นผู้ก่อตั้งเพื่อจะปฏิบัติงานต่อไป

หนึ่งในผลจากการประชุมโลกปี 2005 คือ อาณัติพิเศษ (ชื่อว่า "id 17171") สำหรับเลขาธิการสหประชาชาติที่จะ "ทบทวนอาณัติพิเศษทั้งหมดที่มีอายุมากกว่าห้าปีที่ได้รับมาจากมติของสมัชชาใหญ่หรือองค์การส่วนอื่น ๆ" เพื่อให้การทบทวนครั้งนี้เป็นไปโดยง่ายและต่อเนื่องกันภายในองค์การ สำนักเลขาธิการจึงได้จัดทำรายชื่ออาณัติพิเศษออนไลน์ [1] เพื่อดึงรายงานที่เกี่ยวข้องออกมาอยู่รวมกันและสร้างภาพรวมที่เด่นชัดออกมา[45]

ภารกิจด้านอื่น ๆ

[แก้]

ตลอดช่วงเวลาของสหประชาชาติ มีอาณานิคมกว่า 80 แห่งที่เรียกร้องเอกราช[46] สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ออกปฏิญญาการมอบเอกราชให้แก่อาณานิคมและประชากรในปี ค.ศ. 1960 โดยไม่มีเสียงต่อต้านเลย ส่วนประเทศเจ้าอาณานิคมเพียงแต่งดลงคะแนนเสียงเท่านั้น ผ่านทางคณะกรรมการสหประชาชาติเพื่อการปลดปล่อยอาณานิคม[47] ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1962 สหประชาชาติได้ให้ความสนใจในการปลดปล่อยอาณานิคม คณะกรรมการดังกล่าวยังได้สนับสนุนรัฐใหม่ที่เกิดขึ้นจากการปกครองตัวเอง คณะกรรมการดังกล่าวดูแลการตรวจตราการปลดปล่อยอาณานิคมที่มีขนาดใหญ่กว่า 20,000 ตารางกิโลเมตร และถอดรายชื่อประเทศนั้น ๆ ออกจากรายชื่อดินแดนที่ไม่ได้ปกครองตนเองของสหประชาชาติ

สหประชาชาติยังได้มีการประกาศวันหยุดสากล ช่วงเวลาที่จะเฉลิมฉลองต่อประเด็นความสนใจหรือความกังวลนานาชาติ การใช้สัญลักษณ์ของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ และโครงสร้างพื้นฐานของระบบสหประชาชาติ ซึ่งเป็นช่วงเวลาวันหรือปีที่เป็นประเด็นสำหรับความกังวลในระดับโลก อย่างเช่น วันวัณโรคโลก วันคุ้มครองโลก หรือ ปีแห่งทะเลทรายและการเกิดทะเลทรายสากล

งบประมาณ

[แก้]
ผู้บริจาคเงินให้แก่สหประชาชาติ ในปี ค.ศ. 2016[48]
รัฐสมาชิก % ของงบประมาณ
สหประชาชาติ
สหรัฐ สหรัฐอเมริกา 22.00%
ญี่ปุ่น ญี่ปุ่น 9.680%
จีน จีน 7.921%
เยอรมนี เยอรมนี 6.389%
ฝรั่งเศส ฝรั่งเศส 4.859%
สหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักร 4.463%
บราซิล บราซิล 3.823%
อิตาลี อิตาลี 3.748%
รัสเซีย รัสเซีย 3.088%
แคนาดา แคนาดา 2.921%
สเปน สเปน 2.443%
ออสเตรเลีย ออสเตรเลีย 2.337%
รัฐสมาชิกอื่น 26.331 %

สหประชาชาติได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐสมาชิกด้วยความสมัครใจตามจำนวนที่ประเมินไว้แล้ว งบประมาณจำนวนสองปีของสหประชาชาติและหน่วยงานพิเศษได้รับเงินสนับสนุนจากการประเมิน สมัชชาใหญ่จะเป็นผู้กำหนดงบประมาณประจำและพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดวงเงินบริจาคให้แก่สหประชาชาติ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานความสามารถในการบริจาคของแต่ละประเทศ โดยวัดได้จากรายได้โดยรวมของชาติ และปรับฐานด้วยปริมาณหนี้ต่างประเทศและรายได้ต่อหัว[49]

สมัชชาใหญ่ยังได้กำหนดหลักการว่าสหประชาชาติไม่ควรจะพึ่งพาทางการเงินจากรัฐสมาชิกใดรัฐหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น จึงมีการกำหนดเพดานการบริจาค ซึ่งเป็นการกำหนดจำนวนวงเงินสูงสุดในการบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนงบประมาณประจำของสหประชาชาติ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2000 สมัชชาใหญ่ได้มีการทบทวนวงเงินในการสนับสนุนสหประชาชาติใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของโลก หลังจากการทบทวน ได้มีการกำหนดลดเพดานวงเงินบริจาคสูงสุดจาก 25% เหลือ 22% ซึ่งมีเพียงสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่มีวงเงินบริจาคมากเพียงนั้น และยังมีการกำหนดวงเงินบริจาคต่ำสุดของงบประมาณสหประชาชาติไว้ที่ 0.001% สำหรับประเทศด้อยพัฒนาเพดานวงเงินบริจาคถูกกำหนดไว้ที่ 0.01%[49] โดยปัจจุบัน วงเงินปฏิบัติการของสหประชาชาติตั้งไว้ที่ 4.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[49]

รายจ่ายที่สำคัญของสหประชาชาติคือค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาสันติภาพและความมั่นคง งบประมาณเพื่อการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติประจำปี 2005-2006 กินจำนวนกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทหารประจำการกว่า 70,000 นาย ในภารกิจรักษาสันติภาพ 17 แห่งทั่วโลก[50] ปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติได้รับการสนับสนุนจากรัฐสมาชิก แต่ด้วยวงเงินที่แตกต่างไปจากปกติ แต่ยังรวมไปถึงการเก็บเงินเพิ่มสำหรับสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติถาวรห้าประเทศ ผู้เป็นผู้สั่งการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การเก็บเงินเพิ่มดังกล่าวนี้เพื่อเป็นการชดเชยให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2008 ผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินหลักแก่ปฏิบัติการรักษาสันติภาพ 10 รายสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี จีน แคนาดา สเปนและเกาหลีใต้[51]

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติไม่จัดรวมอยู่ในงบประมาณประจำ (อย่างเช่น กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติและสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนโดยสมัครใจจากรัฐสมาชิก นอกจากจะให้การช่วยเหลือทางการเงินแล้ว บางประเทศได้บริจาคในรูปของผลผลิตทางการเกษตรให้แก่ประชากรที่หิวโหยแทน

นโยบายด้านบุคลากรและการจ้างงาน

[แก้]

องค์การสหประชาชาติและหน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติ มักได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันจากกฎหมายของประเทศที่ปฏิบัติการอยู่ (เท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินภารกิจขององค์การ)เพื่อเป็นการป้องกันให้องค์การสหประชาชาติคงความยุติธรรมให้แก่ประเทศเจ้าบ้านและรัฐสมาชิก ความเป็นอิสระดังกล่าวทำให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถใช้ทรัพยากรมนุษย์ได้ แม้ว่าในบางกรณีอาจจะขัดต่อกฎหมายของประเทศเจ้าบ้านหรือรัฐสมาชิกก็ตาม

แม้ว่าสหประชาชาติจะมีอิสระในด้านนโยบายทรัพยากรมนุษย์ สหประชาชาติและหน่วยงานต่าง ๆ สมัครใจที่จะบังคับใช้กฎหมายการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน โดยให้สถานะของพนักงานในความสัมพันธ์แบบเพศเดียวกันตั้งอยู่บนพื้นฐานของสัญชาติ สหประชาชาติและหน่วยงานต่าง ๆ จะให้การยอมรับพนักงานที่แต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันได้เฉพาะในประเทศที่กฎหมายอนุญาตเท่านั้น การปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงแนวคิดของสหประชาชาติที่มีต่อการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันโดยตรง แต่สะท้อนถึงนโยบายด้านบุคลากร/ทรัพยากรมนุษย์ของสหประชาชาติ และบางหน่วยงานได้เอื้อประโยชน์เพียงน้อยนิดให้แก่ความสัมพันธ์แบบครอบครัวของพนักงานหน่วยงาน และหน่วยงานบางแห่งไม่ยอมรับการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันหรือความสัมพันธ์แบบครอบครัวเลย

การปฏิรูป

[แก้]
สัญลักษณ์ที่ได้รับการเสนอให้เป็นสัญลักษณ์ของสมัชชารัฐสภาแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงถึงการเลือกตั้งผู้แทนของประเทศโดยพลเมืองของประเทศนั้น ๆ

นับตั้งแต่มีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ ก็ได้มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปองค์การหลายครั้ง แม้ว่าจะมีทิศทางการแก้ไขที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันก็ตาม บางฝ่ายต้องการให้องค์การสหประชาชาติมีบทบาทมากขึ้นหรือมีประสิทธิภาพมากขึ้นในกิจการของโลก ขณะที่บางฝ่ายต้องการให้ลดบทบาทขององค์การเหลือเพียงการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเท่านั้น[52] นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องให้เพิ่มสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติขึ้นอีก เพื่อที่จะให้มีหนทางที่แตกต่างในการเลือกตั้งเลขาธิการสหประชาชาติ และสมัชชารัฐสภาแห่งสหประชาชาติ

สหประชาชาติยังได้รับคำวิจารณ์ในด้านการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพและสิ้นเปลือง ระหว่างช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 สหรัฐอเมริกาปฏิเสธที่จะบริจาคเงินอุดหนุนให้แก่สหประชาชาติโดยอ้างว่าสหประชาชาติบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ และจะเริ่มบริจาคเงินอุดหนุนให้อีกครั้งภายหลังจากมีการประกาศปฏิรูปองค์การเท่านั้น ในปี ค.ศ. 1994 สมัชชาใหญ่ได้มีมติให้มีการจัดตั้งสำนักงานบริการตรวจสอบภายในขึ้นเพื่อเป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพภายในองค์การ[53]

โครงการปฏิรูปอย่างเป็นทางการ เริ่มต้นขึ้นโดย โคฟี แอนนัน ในปี ค.ศ. 1997 การปฏิรูปอย่างกล่าวรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงตัวสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเดิมสะท้อนถึงมหาอำนาจของโลกภายหลังปี ค.ศ. 1945 เพื่อให้ระบบการทำงานโปร่งใสขึ้น มีเหตุมีผลและมีประสิทธิภาพ ทำให้องค์การสหประชาชาติมีรูปแบบเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น และมีการกำหนดภาษีศุลกากรในประดิษฐกรรมอาวุธทั่วโลก

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2005 สหประชาชาติได้จัดการประชุมโลก การประชุมครั้งนี้เรียกว่า "การประชุมครั้งหนึ่งในโอกาสแห่งชั่วอายุคนเพื่อการตัดสินใจครั้งสำคัญในพื้นที่การพัฒนา ความมั่นคง สิทธิมนุษยชนและการปฏิรูปสหประชาชาติ"[54] โคฟี แอนนันได้เสนอให้ที่ประชุมได้ตกลง "ลดราคาครั้งใหญ่" ในการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองขององค์การต่อสันติภาพ ความมั่นคง สิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และปรับปรุงรูปแบบเพื่อรองรับเหตุการณ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ผลของการประชุมได้ข้อสรุปเป็นการประนีประนอมของเหล่าผู้นำโลก[55] ซึ่งสรุปให้มีการก่อตั้งคณะกรรมการสร้างสันติภาพ เพื่อให้การช่วยเหลือประเทศที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและกองทุนประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการต่อสู้อย่างชัดเจนต่อการก่อการร้าย "ในทุกรูปแบบและการกระทำ" และข้อตกลงที่จะมอบทรัพยากรให้แก่สำนักงานบิรหารตรวจสอบภายในเพิ่มขึ้น ให้เงินสนับสนุนอีกพันล้านให้แก่เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ ยกเลิกคณะมนตรีภาวะทรัสตีแห่งสหประชาชาติเนื่องจากทำภารกิจลุล่วงแล้ว และประชาคมโลกจะต้องมี "ความรับผิดชอบในการป้องกัน" ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลแห่งชาติที่จะคอยป้องกันพลเมืองของตนจากอาชญากรรมร้ายแรง

สำนักงานบริการตรวจสอบภายในได้มีการก่อตั้งขึ้นใหม่ด้วยขอบเขตและอำนาจที่ได้รับอย่างชัดเจน และจะได้รับทรัพยากรเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น สมัชชาใหญ่ยังได้รับอำนาจการตรวจสอบเพิ่มขึ้น มีการก่อตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาการตรวจสอบอิสระ (IAAC) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2006 คณะกรรมการชุดที่ห้าได้ออกมติร่างข้อเรียนปฏิบัติของคณะกรรมการดังกล่าว[56][57] สำนักงานหลักจรรยาได้ก่อตั้งขึ้นในปีเดียวกัน มีอำนาจรับผิดชอบในการบริหารการเปิดเผยทางการเงินและนโยบายการป้องกันผู้ให้ข้อมูล สำนักงานหลักจรรยาได้ดำเนินการร่วมกับ OIOS ในการวางแผนส่งเสริมนโยบายการป้องกันการฉ้อราษฎร์บังหลวง[58] สำนักเลขาธิการกำลังอยู่ระหว่างการทบทวนอำนาจที่ได้รับมอบของสหประชาชาติที่มีอายุมากกว่าห้าปี การทบทวนดังกล่าวมีขึ้นเพื่อกำจัดโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับการพิจารณาแล้วว่าไม่จำเป็น โดยมีหัวข้อที่ต้องทบทวนกว่า 7,000 หัวข้อ และมีการโต้แย้งกันในเรื่องที่ว่าจะการกำหนดอำนาจที่ได้รับมอบขึ้นมาใหม่ จนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 2007 ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการอยู่[59]

การโต้เถียงและคำวิจารณ์

[แก้]

องค์การสหประชาชาติได้รับการโต้เถียงและคำวิจารณ์มาตั้งแต่กิจกรรมในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 ในช่วงต้นของการก่อตั้งสหประชาชาติ ได้มีการต่อต้านสหประชาชาติในสหรัฐอเมริกาโดยสมาคมจอห์น เบิรช์ ซึ่งเริ่มต้นการรณรงค์ "ดึงสหรัฐออกจากสหประชาชาติ" ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 ซึ่งกล่าวหาว่านโยบายของสหประชาชาติ คือ การก่อตั้งรัฐบาลโลกเพียงหนึ่งเดียว หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง คณะกรรมการว่าด้วยการปลดปล่อยแห่งชาติฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้เป็นรัฐบาลฝรั่งเศสในภายหลัง ดังนั้น ในช่วงแรกฝรั่งเศสจึงถูกกีดกันออกจากการประชุมเพื่อที่จะก่อตั้งองค์การใหม่ขึ้น ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ได้วิจารณ์สหประชาชาติว่า le machin ("ไอ้สวะ") และไม่เชื่อมั่นว่าพันธมิตรที่ร่วมกันรักษาความมั่นคงระหว่างประเทศจะช่วยธำรงรักษาสันติภาพไว้ได้ โดยเสนอว่าการทำสนธิสัญญาป้องกันระหว่างประเทศโดยตรงจะดีกว่า[60] ในปี ค.ศ. 1967 ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้วิจารณ์สหประชาชาติว่า "พ้นสมัยและไม่เพียงพอ" ต่อการจัดการปัญหาความขัดแย้งในสมัยนั้น อย่างเช่น สงครามเย็น[61] จีน เคิร์กแพทริก ผู้เลือกให้โรนัลด์ เรแกนเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ได้เขียนความเห็นไว้ใน เดอะนิวยอร์กไทมส์ เมื่อปี ค.ศ. 1983 ว่ากระบวนการอภิปรายของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ "มีส่วนเหมือนคนโง่" ของสหรัฐอเมริกา "มากกว่าการโต้วาทีทางการเมืองหรือเพื่อการแก้ปัญหาใด ๆ"[62]

ในการปราศรัยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2003 ก่อนหน้าการรุกรานอิรักของสหรัฐอเมริกาไม่นานนัก นายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช กล่าวว่า "เหล่าประเทศเสรีจะไม่ปล่อยให้สหประชาชาติเลือนหายไปในประวัติศาสตร์ในฐานะของสมาคมโต้วาทีที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ตรงประเด็น"[63] ในปี ค.ศ. 2005 เขาได้แต่งตั้งให้นายจอห์น อาร์. โบลตันเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ซึ่งเขาได้กล่าวในปี ค.ศ. 1994 ว่า "ไม่มีอะไรในโลกนี้จะเป็นสหประชาชาติได้ เพราะมันเป็นเพียงแค่ประชาคมโลก ซึ่งสามารถนำได้โดยประเทศอภิมหาอำนาจที่เหลืออยู่ คือ สหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวเท่านั้น"[64]

ในปี ค.ศ. 2004 อดีตเอกอัครทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ ดอร์ โกลด์ ได้ตีพิมพ์หนังสือที่มีชื่อว่า Tower of Babble: How the United Nations Has Fueled Global Chaos ซึ่งได้วิจารณ์สหประชาชาติในสิ่งที่เรียกว่าความสัมพันธ์ของศีลธรรมในการเผชิญหน้ากับการล้างชาติพันธุ์และการก่อการร้าย ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาก่อตั้งกับเวลาปัจจุบัน ขณะที่สหประชาชาติในช่วงที่กำลังก่อตั้งมีความจำกัดต่อชาติที่ประกาศสงครามต่อประเทศฝ่ายอักษะอย่างน้อยหนึ่งประเทศ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และยังได้สามารถยืดหยัดต่อต้านความชั่วร้ายได้ ส่วนสหประชาชาติสมัยใหม่ตามความเห็นของโกลด์แล้ว มีความเจือจางลงจนถึงจุดที่มีเพียงรัฐสมาชิก 75 จาก 184 รัฐ (ในขณะนั้น) เท่านั้นที่ "เป็นประชาธิปไตยเสรี เมื่อดูจากการสำรวจของฟรีดอมเฮาส์ เขาได้กล่าวต่อไปว่านี่เป็นการเปลี่ยนแปลงสหประชาชาติ ดังนั้น ตัวองค์กรโดยรวมจึงมีแนวโน้มที่จะมีความต้องการตามอย่างของเผด็จการ

อคติในความขัดแย้งอาหรับ-อิสราเอล

[แก้]

ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอลและปาเลสไตน์ในความขัดแย้งอาหรับ-อิสราเอลได้ทำให้สหประชาชาติสิ้นเปลืองเวลาโต้วาที ออกมติและทรัพยากรจำนวนมาก

คณะกรรมการพิเศษปาเลสไตน์แห่งสหประชาชาติได้ตัดสินใจสนับสนุนให้มีการผนวกปาเลสไตน์เข้ากับสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ. 1947[65] เป็นการตัดสินใจในช่วงแรกของการก่อตั้งสหประชาชาติ นับตั้งแต่นั้นมา สหประชาชาติมีบทบาทสำคัญในพื้นที่พิพาทดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ผ่านทางองค์การทำงานและบรรเทาทุกข์เพื่อชาวปาเลสไตน์ในดินแดนตะวันออกใกล้ประจำสหประชาชาติ และมอบเวทีแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านทางคณะกรรมการสิทธิ์การโยกย้ายชาวปาเลสไตน์ แผนกสิทธิชาวปาเลสไตน์ประจำสหประชาชาติ คณะกรรมการพิเศษสืบสวนการละเมิดสิมธิมุนษยชนชาวปาเลสไตน์โดยอิสราเอล ระบบข้อมูลในกระทู้เกี่ยวกับปาเลสไตน์แห่งสหประชาชาติและวันแห่งความร่วมมือกับชาวปาเลสไตน์สากล สหประชาชาติได้สนับสนุนให้เกิดสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างพรรคการเมือง โดยครั้งล่าสุด คือ แผนที่ถนนเพื่อสันติภาพ เมื่อปี ค.ศ. 2002

จนถึงปัจจุบัน ปัญหาในตะวันออกกลางได้ทำให้สหประชาชาติต้องออกมติสมัชชาใหญ่คิดเป็น 76% มติคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติคิดเป็น 100% มติผู้ตรวจการสิทธิสตรีแห่งสหประชาชาติคิดเป็น 100% รายงานของโครงการอาหารโลกคิดเป็น 50% มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติคิดเป็น 6% และเป็นหัวข้อในสมัยการประชุมพิเศษฉุกเฉินของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ 6 ครั้งจากทั้งหมด 10 ครั้ง จากมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 3379 (ค.ศ. 1975) ได้เริ่มต้นว่า "ลัทธิไซออนคือลัทธิการแบ่งแยกเชื้อชาติ" และล้มเลิกเมื่อปี ค.ศ. 1991 โดยการตัดสินใจเหล่านี้ได้ผ่านจากการสนับสนุนจากองค์การการประชุมอิสลาม ซึ่งได้ประณามต่อการปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ของอิสราเอล ซึ่งได้มีหลายคนที่กล่าวว่าเป็นการกระทำที่เลยเถิดเกินไป คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างในปี ค.ศ. 2007 เนื่องจากความล้มเหลวในการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนของอิสราเอล

สหรัฐอเมริกาเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในการใช้อำนาจยับยั้งในการตัดสินใจของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับอิสราเอล เป็นที่รู้จักกันว่า "ลัทธิเนโกรปอนเต"

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1961 อิสราเอลถูกกีดกันออกจากเขตพื้นที่ทวีปเอเชีย ในปี ค.ศ. 2000 อิสราเอลตกลงที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกและอื่น ๆ องค์การทำงานและบรรเทาทุกข์เพื่อชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ประจำสหประชาชาติตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ในชะตากรรมของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ แม้ว่าสหประชาชาติจะกล่าวโทษลัทธิต่อต้านชาวยิว แต่ว่าก็มีผู้กล่าวว่ามีคนจำนวนมากที่ต่อต้านชาวยิวทำงานในสหประชาชาติ และมีส่วนร่วมในความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายหลายกรณีด้วยกัน

โครงการน้ำมันแลกอาหาร

[แก้]

โครงการน้ำมันแลกอาหารถูกก่อตั้งโดยสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1996 เพื่อให้อิรักขายน้ำมันเพื่อแลกกับอาหาร ยา และปัจจัยพื้นฐานให้แก่ชาวอิรักซึ่งได้รับผลกระทบจากการแซงชั่นทางเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลอิรักสร้างกำลังทหารขึ้นมาใหม่หลังจากสงครามอ่าว อิรักได้ส่งน้ำมันสู่ตลาดโลกกว่า 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายทางด้านปัจจัยพื้นฐานเป็นจำนวน 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาษีเพิ่มเติมที่จ่ายเพื่อชำระค่าปฏิกรรมสงครามสงครามอ่าวผ่านทางกองทุนชดเชย โครงการปกครองของสหประชาชาติและค่าปฏิบัติการสำหรับโครงการ (2.2%) และโครงการตรวจตราอาวุธ (0.8%)

โครงการดังกล่าวถูกล้มเลิกในตอนปลายปี 2003 ท่ามกลางข้อครหาจากโทษและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ผู้กำกับโครงการคนก่อน บีนอน ซีแวน ถูกระงับและลาออกจากสหประชาชาติ การทำรายงานสืบสวนโดยได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติได้สรุปว่าเซแวนรับเงินสินบนจากรัฐบาลอิรัก[66] โตโจ อันนัน ถูกกล่าวหาเช่นกันว่าผิดกฎหมายในการอนุมัติข้อตกลงน้ำมันแลกอาหารบนผลประโยชน์ของบริษัทสวิส โคเทคนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย เค. นัทวาร์ ซิงฮ์ ถูกให้ออกจากตำแหน่งเพราะมีเรื่องอื้อฉาว และออสเตรเลียนวีทบอร์ดก็ฝ่าฝืนกฎหมายเนื่องจากทำข้อตกลงไว้กับอิรัก

ด้านอื่น

[แก้]

อัลบิน คูร์ติ นักเคลื่อนไหวจากคอซอวอ ได้กล่าวหาองค์การสหประชาชาติ ผู้ปกครองคอซอวอมาตั้งแต่ ค.ศ. 1999 เนื่องจากว่าตามกลั่นแกล้งและจับกุมเขาด้วยเหตุผลทางการเมือง การกล่าวหาของเขาได้รับการสนับสนุนจากองค์การสิทธิมนุษยชนสากล อย่างเช่น องค์กรนิรโทษกรรมสากลและสหพันธ์เฮลซิงกิสากล ตามรายงานของอัมเนสตี ผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกจากสหประชาชาติ "จวนเจียนจะถึงโจทก์หลังจากการฟัง - ในการขาดทั้งคูร์ติหรือนักกฎหมายที่ศาลมอบหมาย - เพื่อที่จะคลายความสงสัยที่ฝ่ายโจทก์จะแนะนำความสัมพันธ์ถึงการกักขังตัวเขาไว้"[67]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "The World Today" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2009-06-18. The designations employed and the presentation of material on this map do not imply the expression of any opinion whatsoever on the part of the Secretariat of the United Nations concerning the legal status of any country
  2. "Charter of UN Chapter I". www.un.org (ภาษาอังกฤษ). 17 มิถุนายน 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2018.
  3. "Nat Geo UN". www.nationalgeographic.org. 23 ธันวาคม 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 เมษายน 2017. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2017.
  4. "UN Objectives". www.un.org (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2018. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2018.
  5. "UN welcomes South Sudan as 193rd Member State". United Nations. 28 June 2006. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 August 2015. สืบค้นเมื่อ 4 November 2011.
  6. "UN Early years of the Cold War". peacekeeping.un.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2018. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2018.
  7. "UN Decolonization". www.un.org. 10 กุมภาพันธ์ 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2018. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2018.
  8. "Post Cold War UN". peacekeeping.un.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2018. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2018.
  9. "History of the UN". United Nations. 2000. สืบค้นเมื่อ 2008-06-01.
  10. "Milestones in United Nations History". Department of Public Information, United Nations. สืบค้นเมื่อ 2008-07-17. (อังกฤษ)
  11. "Membership of Principal United Nations Organs in 2005". United Nations. 2005-03-15.
  12. "FAQ: What are the official languages of the United Nations?". UN Department for General Assembly and Content Management. สืบค้นเมื่อ 2008-09-21.
  13. "UN Charter: Chapter V". United Nations. สืบค้นเมื่อ 2008-03-24.
  14. สมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในปี ค.ศ. 2015 (อังกฤษ)
  15. "UN Security Council Members". United Nations. สืบค้นเมื่อ 23 February 2011.
  16. "Ban Ki-moon wins second term as UN Secretary General". BBC. 21 June 2011.
  17. Office of the Secretary-General–United Nations.
  18. การคัดเลือกผู้เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ
  19. 19.0 19.1 "An Historical Overview on the Selection of United Nations Secretaries-General" (PDF). UNA-USA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-10-25. สืบค้นเมื่อ 2007-09-30.
  20. รายชื่อเลขาธิการสหประชาชาติ
  21. "Statute of the International Court of Justice". International Court of Justice. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-29. สืบค้นเมื่อ 2007-08-31.
  22. "The Court". International Court of Justice. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-14. สืบค้นเมื่อ 2007-05-17.
  23. "Agreement Between the International Criminal Court and the United Nations". International Criminal Court. 2004-10-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-14. สืบค้นเมื่อ 2022-05-12.
  24. คอซอวอและไต้หวันได้รับการรับรองเพียงบางส่วน และยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ
  25. "United Nations Member States". United Nations. สืบค้นเมื่อ 2007-05-05.
  26. กฎบัตรสหประชาชาติ บทที่ 2 มาตราที่ 4
  27. "About the G77". Group of 77. สืบค้นเมื่อ 2007-09-30.
  28. RAND Corporation. "The UN's Role in Nation Building: From the Congo to Iraq" (PDF).
  29. Human Security Centre. "The Human Security Report 2005". สืบค้นเมื่อ 2007-02-08.
  30. "Book Review: A People Betrayed, the Role of the West in Rwanda's Genocide". Human Rights Watch.
  31. Colum Lynch (2004-12-16). "U.N. Sexual Abuse Alleged in Congo". Washington Post.
  32. "UN troops face child abuse claims". BBC News. 2006-11-30.
  33. "108 Sri Lankan peacekeepers in Haiti to be repatriated after claims they paid prostitutes". International Herald Tribune. 2007-11-02.
  34. "Aid workers in Liberia accused of sex abuse". International Herald Tribune. 2006-05-08.
  35. "UN staff accused of raping children in Sudan". Telegraph. 2007-01-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-14. สืบค้นเมื่อ 2021-08-30.
  36. "UN staff accused of raping children in Sudan". BBC. 2007-05-28.
  37. "Resolutions Adopted by the General Assembly During its First Session". United Nations. สืบค้นเมื่อ 2008-03-24.
  38. Resolution 251 session 60 on 15 March 2006 (retrieved 2007-09-19)
  39. "The Shame of the United Nations" (ภาษาอังกฤษ). New York Times. 2006-02-26. สืบค้นเมื่อ 2006-08-15.
  40. "UN Human Rights Council Elections". United Nations. สืบค้นเมื่อ 2007-05-04.
  41. "Successful UN Human Rights Council Elections Demonstrate UN Members are Taking Reform Effort Seriously". Open Society Policy Center. 2006-05-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-21. สืบค้นเมื่อ 2008-12-12.
  42. 42.0 42.1 UN General Assembly - 61st session - United Nations adopts Declaration on Rights of Indigenous Peoples
  43. "About Us - United Nations". The World Bank. 2003-06-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-24. สืบค้นเมื่อ 2007-08-02.
  44. "The UN Millennium Development Goals". United Nations. สืบค้นเมื่อ 2007-05-04.
  45. The Secretary-General (30 March 2006). "Mandating and Delivering - Executive Summary". United Nations.
  46. "Trust and Non-Self-Governing Territories, 1945-1999". Un.org. สืบค้นเมื่อ 2008-10-09.
  47. เว็บไซต์หลักของคณะกรรมการพิเศษเพื่อการปลดปล่อยอาณานิคม
  48. "Assessment of Member States' advances to the Working Capital Fund for the biennium 2016-2017 and contributions to the United Nations regular budget for 2016". UN Secretariat. 28 December 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 4 April 2016. สืบค้นเมื่อ 28 December 2015.
  49. 49.0 49.1 49.2 "Fifth Committee Approves Assessment Scale for Regular, Peacekeeping Budgets, Texts on Common System, Pension Fund, as it Concludes Session (Press Release)". United Nations. 2006-12-22.
  50. "United Nations Peacekeeping Operations". United Nations. 2007-12-31. สืบค้นเมื่อ 2008-03-24.
  51. Financing of UN Peacekeeping Operations
  52. The Future of the United Nations: Understanding the Past to Chart a Way Forward / Joshua Muravchik (2005) ISBN 978-0-8447-7183-0
  53. Reddy, Shravanti (2002-10-29). "Watchdog Organization Struggles to Decrease UN Bureaucracy". Global Policy Forum. สืบค้นเมื่อ 2006-09-21.
  54. "The 2005 World Summit: An Overview" (PDF). United Nations.
  55. "2005 World Summit Outcome" (PDF). United Nations.
  56. Irene Martinetti (1 December 2006). "Reforming Oversight and Governance of the UN Encounters Hurdles". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-23. สืบค้นเมื่อ 2008-12-20.
  57. "Oversight and Governance". Center for UN Reform Education. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-14. สืบค้นเมื่อ 2008-12-20.
  58. "Ethics Office". Center for UN Reform Education. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-13. สืบค้นเมื่อ 2008-12-20.
  59. "Mandate Review". Center for UN Reform Education. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-27. สืบค้นเมื่อ 2009-09-04.
  60. Gerbet, Pierre (1995). "Naissance des Nations Unies". Espoir (ภาษาฝรั่งเศส) (102). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-10. สืบค้นเมื่อ 2009-09-04.
  61. "The Nixon Administration and the United Nations: 'It's a Damned Debating Society'", Dr. Edward C. Keefer (PDF)]
  62. "UN Mugging Fails", Legitimacy and Force, Jeane J. Kirkpatrick, page 229
  63. " President Salutes Sailors at Naval Station Mayport in Jacksonville: Remarks by the President at Naval Station Mayport", 13 February 2003
  64. Watson, Roland (2005-03-08). "Bush deploys hawk as new UN envoy" (ภาษาอังกฤษ). The Times. สืบค้นเมื่อ 2006-08-15.
  65. [Dynamics of Self-determination in Palestine, P. J. I. M. de Waart, BRILL, 1994, p.121]
  66. "Independent Inquiry Committee into the United Nations Oil-for-Food Programme" (PDF). United Nations. 2005-08-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2005-09-17. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  67. "Albin Kurti – a politically motivated prosecution?" (PDF). Kosovo: Amnesty International. 10 December 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-10-01. สืบค้นเมื่อ 2008-10-10.
  • United Nations. Encyclopedia Britannica. 2001.
  • กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ. ชุดการเรียนการสอนเรื่องสหประชาชาติ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย. 2540.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
เว็บไซต์
อื่น ๆ