ข้ามไปเนื้อหา

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

พิกัด: 13°43′56″N 100°32′12″E / 13.732181°N 100.536730°E / 13.732181; 100.536730
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
สภากาชาดไทย
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์
แผนที่
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง1873 ถนนพระรามที่ 4 แขวงปทุมวัน, เขตปทุมวัน, กรุงเทพมหานคร, ไทย
พิกัด13°43′56″N 100°32′12″E / 13.732181°N 100.536730°E / 13.732181; 100.536730
หน่วยงาน
ประเภทโรงพยาบาลสภากาชาดไทย
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย
สังกัดสภากาชาดไทย
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บริการสุขภาพ
มาตรฐานAdvance HA
แผนกฉุกเฉินมี
จำนวนเตียง1,442[1]
ลานจอดเฮลิคอปเตอร์มี
ประวัติ
เปิดให้บริการ30 พฤษภาคม พ.ศ. 2457; 110 ปีก่อน (2457-05-30)
ลิงก์
เว็บไซต์chulalongkornhospital.go.th

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลสังกัดสภากาชาดไทย ในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2457 ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] เป็นที่ตั้งและที่ดำเนินการเรียนการสอนให้กับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์แห่งที่สองของประเทศไทย ต่อจากโรงพยาบาลศิริราช นอกจากนี้คณาจารย์สังกัดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วย[3]

ประวัติ

[แก้]
อาคารอำนวยการหลังแรกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (หน้า) อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ (หลัง-กลาง) อาคาร สก. (หลัง-ขวา)

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพร้อมด้วยพระราชภาดาและภคินี เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์[4] ด้วยเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระชนม์อยู่นั้น ได้ทรงพระราชดำริจัดตั้ง สภากาชาดไทย ซึ่งเรียกในเวลานั้นว่า สภาอุณาโลมแดง ขึ้นไว้ โดยรับการรักษาพยาบาลผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ตามคติของนานาชาติที่เจริญแล้ว แต่การสภากาชาดไทยยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ ถ้าจะบริจาคทรัพย์สร้างโรงพยาบาลสภากาชาดขึ้น ก็จะเป็นพระกุศล อันประกอบด้วยถาวรประโยชน์อนุโลม ตามพระราชประสงค์แห่งองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ และเป็นเกียรติแก่ราชอาณาจักรโดยทรงพระดำริเห็นพ้องกัน บรรดาพระราชโอรส พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงบริจาคทรัพย์รวมกันเป็นจำนวนเงิน 122,910 บาท[5] สมทบกับทุนของสภากาชาด สร้างโรงพยาบาลขึ้น และพระราชทานนามตามพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์รำลึกถึงพระบรมชนกนาถ โรงพยาบาลของกาชาดนี้จึงมีนามว่า "โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย" เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2457[6] ตามแจ้งความสภากาชาดสยาม ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2457[7] ได้กำหนดจุดมุ่งหมายให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลที่ดีจริงต้องตามวิทยาศาสตร์แผ่พระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวกับทั้งแพร่เกียรติยศของชาติไทย บริการรักษาพยาบาลช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ให้บริการรักษาผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไข้ทั้งในยามสงครามและปกติ โดยยึดมั่นในปณิธานอันแน่วแน่ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทั่วไป โดยไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ ลัทธิ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) พระองค์ท่านได้พระราชทานพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า "...พระองค์มีพระราชประสงค์ให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์ผู้ได้สำเร็จหลักสูตรให้มีปริมาณมากขึ้น เพื่อออกมาช่วยเหลือประเทศชาติ..." โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นโรงเรียนแพทย์จึงได้รับการประสานงานจากรัฐบาลให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งที่สองของประเทศไทย โรงเรียนแพทย์แห่งใหม่นี้ถือกำเนิดในนาม "คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" จนกระทั่งมีมติให้โอนคณะที่ซ้ำซ้อนของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ให้กับมหาวิทยาลัยเดิมที่เป็นรากฐานของคณะนั้น ๆ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จึงถูกโอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนามใหม่ว่า "คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"[8]

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยให้บริการทางการแพทย์ พยาบาล ตลอดจนการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย มาใช้ศึกษาเพื่อการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยนับตั้งแต่โรงพยาบาลได้เปิดบริการ[9]และพัฒนาการรักษา พัฒนาบุคลากรทุกระดับอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการรักษาพยาบาลและงานวิจัย ทั้งนี้ด้วยการประสานงานกันเป็นอย่างดีระหว่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยแล้ว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยังทำหน้าที่เป็นสถานฝึกอบรมนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักศึกษาพยาบาลของสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย นิสิตคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนิสิต-นักศึกษาจากสถาบันอื่น ๆ ด้วย

การส่งเสริมพัฒนาการของโรงพยาบาล

[แก้]
ศาลาทินทัต สถานที่ติดต่อบริจาคให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นหน่วยงานในสังกัดของสภากาชาดไทยซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลไม่แสวงหาผลกำไร จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนเพื่อดำเนินการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะเมื่อมีความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้โรงพยาบาลมีภารกิจหลากหลายด้านมากขึ้น เช่น ให้บริการการรักษา ร่วมกับคณะแพทย์จัดการศึกษาเพื่อผลิตแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถสู่สังคม ซึ่งล้วนเป็นเรื่องสำคัญและใช้ทรัพยากรมาก ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาลจึงเปิดรับความช่วยเหลือจากภาคประชาชนหลายด้าน อาทิ

การอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา

[แก้]

ประชาชนผู้บริจาคร่างกายจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษาแพทยศาสตร์อย่างมาก เพราะการอุทิศร่างกายถือเป็นการสอนนิสิตแพทย์ให้เข้าใจร่างกายมนุษย์อย่างครบทุกมิติ ทำให้นิสิตแพทย์สามารถปฏิบัติหัตถการกับผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ และยังเป็นการฝึกทักษะการผ่าตัดให้ชำนาญ ช่วยลดโอกาสการผิดพลาดในการทำการรักษาได้อย่างดีเยี่ยม จึงเป็นการได้ช่วยพัฒนาโรงพยาบาลทั้งด้านวิชาการและการรักษาและนอกจากจะได้ส่งเสริมการเรียนแพทย์ของนิสิต ผู้อุทิศร่างกายยังสามารถช่วยสร้างองค์ความรู้เมื่อท่านอุทิศร่างกายเพื่อการฝึกผ่าตัดและวิจัยทางการแพทย์ ผู้มีความประสงค์จะอุทิศร่างกายฯ เมื่อถึงแก่กรรมแล้ว ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดขอแบบฟอร์มพร้อมส่งแบบฟอร์มที่กรอกข้อความแล้วได้ที่ ศาลาทินทัต ด้านข้างอาคาร ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย[10]

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ ในแต่ละปีมีการเรียนการสอนหลายสาขาวิชา มีการฝึกหัดแพทย์เพิ่มพูนประสบการณ์จำนวนมาก และมีการฝึกผ่าตัดกว่า 100 ครั้งต่อปี ทำให้การศึกษาผ่านร่างอาจารย์ใหญ่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อพันธกิจและภาระงานด้านวิชาการดังกล่าว ที่จะผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ มีทักษะพร้อมออกสู่สังคมไทย ผู้อุทิศร่างกายให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงถือว่าเป็นบุคคลที่มีคุณูปการสูงยิ่งต่อวงวิชาการด้านแพทยศาสตร์และการบริการสุขภาพของประเทศไทย

ปัจจุบันการลงทะเบียนอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาแก่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถทำได้ง่ายขึ้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยเลือกเมนู อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา เก็บถาวร 2018-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ของฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย[11]

การบริจาคอวัยวะ

[แก้]

ปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีอาการเจ็บป่วยขั้นร้ายแรงจากที่อวัยวะสำคัญไม่สามารถทำงานได้หรือทำงานผิดปกติเป็นจำนวนมาก การได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคจึงเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด อวัยวะที่สามารถบริจาคได้ ได้แก่ หัวใจ ตับ ไต ปอด ตับอ่อน กระดูก ฯลฯ ติดต่อแสดงความจำนงได้ที่ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทร. 1666

มีขั้นตอนการบริจาค

[แก้]
  1. กรอกรายละเอียดในใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะให้ชัดเจน ที่อยู่ควรจะตรงกับทะเบียนบ้าน (หากต้องการให้ส่งบัตรประจำตัวไปยังสถานที่อื่น กรุณาระบุ)
  2. พิมพ์ใบแสดงความจำนงบริจาค ส่งเอกสารมายังศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ตามที่อยู่ด้านล่าง และเมื่อศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ได้รับใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะของท่านแล้ว ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ จะส่งบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะให้ตามที่อยู่ที่ได้ระบุไว้
  3. หลังจากที่ท่านได้รับบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะจากศูนย์รับ บริจาคอวัยวะฯ แล้ว อย่าลืมกรอกชื่อ และรายละเอียดการบริจาคลงในบัตร
  4. กรุณาเก็บบัตรประจำตัวผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้กับตัวท่าน หากสูญหายกรุณาติดต่อกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย[12]

คุณสมบัติผู้สนใจบริจาค

[แก้]
  1. ผู้บริจาคอวัยวะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี[13]
  2. เสียชีวิตจากสภาวะสมองตายด้วยสาเหตุต่าง ๆ[13]
  3. ปราศจากโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง[13]
  4. ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา[13]
  5. อวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายต้องทำงานได้ดี[13]
  6. ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอชไอวี ฯลฯ[13]
  7. จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแจ้งเรื่องการบริจาคอวัยวะแก่บุคคลในครอบครัวหรือญาติให้รับทราบด้วย[13]

อาคารและสิ่งก่อสร้าง

[แก้]

ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีอาคารและสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นพระราชานุสรณ์ของบุคคลสำคัญในราชวงศ์หลายพระองค์

อาคาร ภปร.

[แก้]
อาคาร ภปร.

เนื่องจากอาคารจักรพงษ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นอาคารผู้ป่วยนอกเดิม เริ่มคับแคบลงเพราะมีผู้ป่วยเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มากขึ้นอย่างมาก ในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ใน พ.ศ. 2530 และในโอกาสครบ 72 ปี แห่งการสถาปนาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ใน พ.ศ. 2529 สภากาชาดไทยจึงได้จัดสร้างอาคารผู้ป่วยนอกแห่งใหม่เพื่อเฉลิมพระเกียรติและให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่นี้ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 และมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวรทรงเป็นประธานกรรมการอุปการะฝ่ายบรรพชิตและประทานพระอุปการะในเรื่องต่าง ๆ มาตลอด อาคารแห่งใหม่นี้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมแรงด้วยเหล็ก สูง 24 ชั้นเมื่อรวมชั้นใต้ดินและชั้นลอย ก่อสร้างขึ้นบริเวณหน้าตึกจักรพงษ์ มูลค่าการก่อสร้าง 400 ล้านบาท พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออาคารว่า "ภปร." อาคาร ภปร. เป็นจุดสังเกตที่สำคัญของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพราะตั้งอยู่บริเวณหัวมุมแยกศาลาแดงและยังมีป้ายอักษรชื่อ"โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย" และตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรประดับอาคารด้วย

อาคารมงกุฎ-เพชรรัตน์ (หลังเก่า)

[แก้]
อาคารมงกุฏ-เพชรรัตน

ด้วยใน พ.ศ. 2508 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงมีพระชนมายุ 60 พรรษา มีองค์กร ประชาชน ได้เฝ้าทูลเกล้าถวายเงินโดยพระอัธยาศัย จึงทรงประทานเงินสร้างตึกสำหรับผู้ป่วย ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในด้านสวนลุมพินี โดยมิได้ใช้พระนามของพระองค์เป็นนามตึก เนื่องด้วยทรงพอพระทัยที่จะบำเพ็ญพระกุศลแบบปิดทองหลังพระ ต่อมาทรงเสด็จพร้อมด้วยพระธิดามาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2508 อาคารนี้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด "ตึกมงกุฎ-เพชรรัตน" เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 โดยมี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ในโอกาสนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานเหรียญกาชาดสรรเสริญ แด่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ด้วย ในพิธีเปิด ตึกมงกุฎ-เพชรรัตน ทั้งสองพระองค์ ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์หนังสือ "ตำนานสภากาชาดสยาม" เป็นอนุสรณ์ในการเปิดตึกดังกล่าว และเพื่อให้ผู้สนใจได้ทราบประวัติความเป็นมาของสภากาชาดไท

อาคารวชิรญาณวงศ์

[แก้]
อาคารวชิรญาณวงศ์

อาคารวชิรญาณวงศ์ใช้เป็นที่รักษาพยาบาลพระภิกษุและสามเณรอาพาธ และใช้ประกอบพิธีทำบุญเลี้ยงพระ รวมถึงการเปิดรับบริจาคเงินเพื่อบำรุงพระภิกษุ และสามเณรอาพาธในเรื่องการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ ตลอดรวมถึงการรับบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และสำนักงานต่าง ๆ ของสภากาชาดไทย อาคารวชิรญาณวงศ์เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสี่ชั้น แบบทรงไทยประยุกต์ ได้ดำเนินการก่อสร้างมาแต่ต้น พ.ศ. 2525 และเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2526 ทดแทนอาคารหลังเก่า (ตึกวชิรญาณ) และเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์) พระราชอุปัธยาจารย์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระอุปัชฌาจารย์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดตึกในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2526

อาคาร อปร.

[แก้]
อาคาร อปร.

สืบเนื่องจากความไม่เพียงพอของแพทย์ รัฐบาลจึงมีนโยบายให้คณะแพทยศาสตร์ทุกแห่งผลิตแพทย์เพิ่ม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างตึกใหม่ เพื่อรองรับจำนวนนิสิตแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยได้รับอนุมัติงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2536 และในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญอักษรพระปรมาภิไธย " อปร. " มาเป็นชื่ออาคาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ซึ่งได้พระราชทานกำเนิดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือลงวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2539 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย " อปร. " เป็นชื่ออาคาร เมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเมื่อวันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2546 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 8 อาคารดังกล่าวเป็นย่อมุม 8 มุม สูง 19 ชั้น บนยอดอาคารประดับอักษรพระปรมาภิไธย " อปร. " ตั้งอยู่ริมถนนราชดำริ ลักษณะเด่นของอาคารคือมีการอัญเชิญพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ขึ้นแสดงไว้บนผนังด้านนอกของอาคาร เป็นที่มองเห็นได้อย่างโดดเด่นข้อความว่า

ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง

ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ตัวท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพ ไว้ให้บริสุทธิ์

— สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

อาคาร สก.

[แก้]
อาคาร สก.
อาคาร สก. (หน้า)

ด้วยในปีพุทธศักราช 2535 ที่ผ่านมา ในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สภานายิกาสภากาชาดไทย ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม กอปรทั้งเมื่อครั้งมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปีพุทธศักราช 2530 วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และสภากาชาดไทยได้ร่วมกันจัดสร้าง “ ตึก ภปร. ” เป็นอาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่ของโรงพยาบาลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่สาธารณชนเสร็จเรียบร้อยไปแล้วอาคารหนึ่ง ด้วยเหตุทั้งสองประการนี้คณะข้าราชการบริพารร่วมกับสภากาชาดไทยจึงดำริที่จะดำเนินการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อีกอาคารหนึ่งในพื้นที่ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยเพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความจงรักภักดีที่ประชาชนชาวไทยมีอยู่อย่างมั่นคงในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้นำความกราบทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในฐานะองค์อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทยทรงเห็นชอบด้วยที่จะก่อสร้างอาคารผู้ป่วยทางกุมารเวชศาสตร์แทนอาคารรักษาพยาบาลกุมารเวชกรรมเดิม คือ “ ตึก หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ” ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมลงมาก อีกทั้งจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานที่ยิ่งคับแคบลงเด็กผู้ป่วยอยู่กันโดยไม่ถูกต้องตามสุขลักษณะ กับทั้งเพื่อใช้เป็นศูนย์ผู้ป่วยโรคหัวใจของโรงพยาบาลด้วยอาคารที่สร้างใหม่นี้ ได้รับพระราชทานพระราชาอนุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ “ สก. ” เป็นมงคลนาม การก่อสร้างครั้งนี้ตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการด้วยเงินบริจาคตลอดทั้งจำนวนโดยไม่รบกวนงบประมาณแผ่นดิน หรืองบประมาณของสภากาชาดไทยเลย เดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาจนกระทั่งบัดนี้ศรัทธาจากมหาชนผู้เปี่ยมด้วยความจงรักภักดีหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย เป็นผลให้การดำเนินงานทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยความราบรื่นทุกประการ ตึก “ สก. ” สร้างเสร็จสมบูรณ์ภายในพื้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย “ ตึก ภปร. ” และ “ ตึก สก. ” ได้ประดิษฐานอยู่คู่กันเป็นนิมิตหมายแห่งพระมหากรุณาธิคุณอันมากล้นพ้นประมาณในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยเสมอมา

อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์

[แก้]
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์(ขวา)

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้จัดสร้างอาคารรักษาพยาบาลใหม่ขึ้น ได้รับพระราชทานนามอาคารจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า อาคาร “ ภูมิสิริมังคลานุสรณ์” มีความหมายว่า “ อนุสรณ์ที่เป็นมงคลของสองพระองค์ (สองพระองค์ในที่นี้ คือ 'ภูมิพล' มาจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ 'สิริกิติ์' มาจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)” ตั้งอยู่ริมถนนราชดำริ ลักษณะภายในอาคารเป็นอาคารเดี่ยว 29 ชั้น ชั้นใต้ดิน 4 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น 224,652.25 ตารางเมตร[14] ภายในอาคารนี้จะรวบรวมศูนย์ความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ เช่น ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์ผ่าตัด ศูนย์ผู้ป่วยศัลยกรรมประสาท ศูนย์บริการมารดาและทารกแรกคลอด ซึ่งในส่วนนี้จะให้บริการอย่างครบวงจรโดยจะดูแลตั้งแต่การปฏิสนธิของมารดาจนถึงการคลอด และศูนย์บริการฉุกเฉิน ห้องไอซียูเพื่อพร้อมรับสภาวะภัยพิบัติ และอุบัติภัยหมู่[15] ทั้งนี้งบประมาณในการก่อสร้างและจัดซื้ออุปกรณ์อยู่ที่ 12,500 ล้านบาท โดยงบที่ได้ในการก่อสร้างมาจากสภากาชาดไทย 2,500 ล้านบาท และจากรัฐบาล 4,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการสมทบทุนโดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นผู้เปิดโครงการสมทบทุนในครั้งนี้ ซึ่งเงินสมทบทุนที่ได้นอกจากการก่อสร้างแล้ว ยังนำไปใช้จัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ให้มีความทันสมัยมากขึ้นโดยรวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท[16]

เนื่องจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีแผนกในการรักษาต่าง ๆ กระจายตัวอยู่ในอาคารหลายหลังทั่วพื้นที่ในโรงพยาบาล จึงทำให้เกิดปัญหาการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ผู้ป่วยจะมีอาการบอบช้ำมากในขณะเดินทางจากอาคารหนึ่งไปอีกอาคารหนึ่ง รวมถึงทำให้เสียเวลาเป็นอย่างมากในการรักษา อีกทั้งจำนวนผู้ป่วยที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน อาคารต่าง ๆ ที่ให้บริการนั้นมีขนาดพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ต้องสร้างอาคารอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ขึ้นเพื่อรวบรวมความเป็นเลิศของศูนย์การรักษาไว้ในอาคารเดียว เมื่ออาคารหลังนี้เปิดให้บริการจะช่วยเสริมศักยภาพของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ การวิจัย และการให้บริการ เพื่อมุ่งสู่การเป็น “ โรงพยาบาลชั้นนำระดับโลก ” ของประชาชนชาวไทย[17]

อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์เปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2562[18]

อาคาร ส.ธ.

[แก้]
อาคาร ส.ธ.

ด้วยนโยบายส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงได้จัดสร้างอาคารสำหรับดูแลผู้สูงวัยแบบบูรณาการขึ้น โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่ออาคารนี้ว่า "อาคาร ส.ธ." ภายใต้โครงการ "กองทุน ส.ธ. เพื่อผู้สูงวัย" เพื่อเป็นศูนย์การแพทย์ต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการครบวงจรของสภากาชาดไทยขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา และเพื่อแก้ไขป้องกันปัญหาด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในผู้สูงวัย รวมถึงฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ ให้ความรู้แก่ผู้ดูแลด้วยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสม[19]

อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์

[แก้]

อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ หรือเดิมคือโครงการศูนย์บูรณาการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นส่วนต่อขยายทางทิศเหนือของอาคาร ภปร. เพื่อเพิ่มพื้นที่และเชื่อมโยงการให้บริการแก่ผู้ป่วยนอก ได้รับพระราชทานนามอาคารจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า "อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระรามาธิบดินทรราชา รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์"[20] และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มาทรงเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567[21]

อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ มีความสูงเหนือดิน 15 ชั้น ใต้ดิน 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 36,850 ตารางเมตร[22] ภายในประกอบด้วยคลินิกบางส่วนที่ย้ายมาจากอาคาร ภปร.[23] และศูนย์อาหาร[24]

อาคารมงกุฎ-เพชรรัตน์ (หลังใหม่)

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออาคารศูนย์วิจัยและนวัตกรรมงานบริการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ว่า “อาคารมงกุฎ-เพชรรัตน” (อา-คาน-มง-กุด-เพ็ด-ชะ-รัด) ความหมาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดา

อาคารแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างอาคาร ส.ธ. ฝั่งถนนราชดำริ เพื่อใช้เป็นอาคารที่รวมของศูนย์วิจัย ห้องปฏิบัติการและสร้างนวัตกรรมงานบริการ อันเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณชน[25]

ผู้อำนวยการโรงพยาบาล

[แก้]

ตามข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และสภากาชาดไทย ใน พ.ศ. 2490 ให้คณบดีคณะแพทยศาสตร์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นบุคคลคนเดียวกันแต่แยกการบริหารออกเป็น 2 หน่วยงาน แม้ว่าคณะแพทยศาสตร์จะถูกโอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้อตกลงนี้ยังคงใช้ปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน รายนามผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีดังนี้

ทำเนียบผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
รายนามผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. พลตรี พระยาวิบุลอายุรเวท (เสข ธรรมสโรช)[26] 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 - 18 กันยายน พ.ศ. 2460
2. ศาสตราจารย์อุปการคุณ พลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ (ชื่น พุทธิแพทย์) 19 กันยายน พ.ศ. 2460 - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2492
3. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หลวงพรหมทัตตเวที (ไหมพรม ศรีสวัสดิ์) 17 กันยายน พ.ศ. 2492 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2497
4. ศาสตราจารย์ พันเอก นายแพทย์ หลวงประกิตเวชศักดิ์ (แก้ว บำรุงชีพ) 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2503
5. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2509
6. ศาสตราจารย์อุปการคุณ พันตรี นายแพทย์ ทวี ตุมราศวิน 1 เมษายน พ.ศ. 2509 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2516
7. ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ สมัค พุกกะณะเสน 20 มีนาคม พ.ศ. 2516 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2520
8. ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ ศริพร วณิเกียรติ 30 มีนาคม พ.ศ. 2520 - 1 มีนาคม พ.ศ. 2524
9. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยาใจ ณ สงขลา 1 มีนาคม พ.ศ. 2524 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528
10. ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา 11 มีนาคม พ.ศ. 2528 - 9 มกราคม พ.ศ. 2532
11. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรเทอง รัชตะปีติ 10 มีนาคม พ.ศ. 2532 - 9 มกราคม พ.ศ. 2536
12. ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ ศุภวัฒน์ ชุติวงศ์ 9 มกราคม พ.ศ. 2536 - 9 มกราคม พ.ศ. 2540
13. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปรีดา ทัศนประดิษฐ์ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2540 - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542
14. ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ ภิรมย์ กมลรัตนกุล 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 - 30 กันยายน พ.ศ. 2550
15. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อดิศร ภัทราดูลย์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 - 30 กันยายน พ.ศ. 2554
16. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ โศภณ นภาธร 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554 - 30 กันยายน พ.ศ. 2558
17. ศาสตราจารย์ นาวาอากาศตรี นายแพทย์ สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 - 30 กันยายน พ.ศ. 2564
18. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ฉันชาย สิทธิพันธุ์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน

การเดินทาง

[แก้]
ทางเดินใต้ทางวิ่งรถไฟฟ้า (Sky Walk) เชื่อมสถานีรถไฟฟ้ามหานครสีลมและรถไฟฟ้าบีทีเอสศาลาแดง
การเดินทางด้วยรถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาย 3

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งอยู่ใจกลางเขตธุรกิจของกรุงเทพมหานคร เช่น ย่านถนนสีลม แยกสามย่าน ย่านถนนพระรามที่ 4 จึงมีระบบขนส่งมวลชนหลายรูปแบบที่ให้บริการ การเดินทางมายังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ดังนี้

รางวัล

[แก้]
ปี รางวัล สาขา ผล
2566 Thailand Zocial Awards 2023[27] Best Brand Performance on Social Media กลุ่มธุรกิจบริการทางการแพทย์ ชนะ

อ้างอิง

[แก้]
  1. Gishealth.moph.go.th. (2022). ระบบสารสนเทศภฺมิศาสตร์ทรัพยากรสุขภาพ - เครื่องมือแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย. [online] Available at: http://gishealth.moph.go.th/healthmap/infoequip.php?maincode=13756 เก็บถาวร 2022-03-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [Accessed 28 Dec. 2022].
  2. ราชกิจจานุเบกษา. “พระราชดำรัสตอบในการเปิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ .” เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา. 14 มิถุนายน 2457. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/567.PDF (29 พฤษภาคม 2559 ที่เข้าถึง).
  3. ราชกิจจานุเบกษา. “ พระราชกฤษฎีกาเลิกล้มคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๐.” เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา. 29 ธันวาคม 2510. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2510/A/127/14.PDF (29 พฤษภาคม 2559 ที่เข้าถึง).
  4. แจ้งความสภากาชาดสยาม เรื่องเปิดโรงพยาบาล ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2457
  5. หนังสืออานันทฯ แพทยาลัย.เข้าถึงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2559
  6. "พระราชดำรัสตอบในการเปิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ณ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๗". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-06. สืบค้นเมื่อ 2021-10-11.
  7. แจ้งความสภากาชาดสยาม เรื่องเรี่ยไรเงินจากสมาชิกก่อสร้างโรงพยาบาล ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๗
  8. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติโอนกิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ข้าราชการ ลูกจ้างและเงินงบประมาณของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปเป็นของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๐. 28 ธันวาคม 2510. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2510/A/126/5.PDF เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (28 เมษายน 2559 ที่เข้าถึง).
  9. แจ้งความสภากาชาดสยาม เรื่องชักชวนบุคคลให้ทำการตรวจค้นในทางแพทยศาสตร์
  10. ภาควิชากายวิภาคศาสตร์,โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์. ประกาศโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เรื่อง การรับอุทิศร่างกาย ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อการศึกษาการวิจัยและการรักษาทางการแพทย์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559
  11. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-03. สืบค้นเมื่อ 2018-09-29.
  12. สภากาขาดไทย, บริจาคอวัยวะ รายละเอียดการบริจาคอวัยวะ เก็บถาวร 2016-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 13.6 Redcross.or.th. (2016). การรับอุทิศร่างกาย ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อการศึกษา การวิจัย และการรักษาทางการแพทย์ | Welcome to The Thai Red Cross Society. [online] Available at: https://www.redcross.or.th/page/50113 [Accessed 3 Dec. 2017].
  14. "อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์." Plan consultants. Accessed April 20, 2017. http://plan-consultants.com/?post_type=projects&p=3876.
  15. "รพ.จุฬาฯ เปิด ‘อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์’ มิติใหม่แห่งการให้เพื่อทุกชีวิต เพื่อประชาชนทุกชนชั้น". 2017. Hfocus.Org. https://www.hfocus.org/content/2017/07/14301.
  16. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย. โครงการก่อสร้างอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์. 20 มกราคม 2559 http://www.chulalongkornhospital.go.th/ecc/index.php/2016-01-18-07-07-03 เก็บถาวร 2016-03-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (3 พฤษภาคม 2559 ที่เข้าถึง).
  17. ไทยรัฐฉบับพิมพ์. "ราคา "ติดดิน"-บริการ "พรีเมียม" : รพ.จุฬาลงกรณ์เปิด "อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์" อัพเกรดการรักษา." Www.thairath.co.th. January 18, 2016. Accessed May 23, 2017. http://www.thairath.co.th/content/564363.
  18. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88-%E0%B8%AF-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%A3/
  19. http://www.redcrossfundraising.org/th/html/project2.aspx?ContentID=2511&CategoryID=10
  20. "นามอาคารศูนย์บูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย". โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย.
  21. "ในหลวง พระราชินี ทรงเปิดอาคาร 'จักรีทศมรามาธิบดินทร์' โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์". โพสต์ทูเดย์. 17 พฤศจิกายน 2024. สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  22. "รพ.จุฬาฯระดมบุญ สร้างตึกผู้ป่วยนอก". www.thairath.co.th. 2022-06-06.
  23. "ย้ายบริการคลินิกฯ". โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย.
  24. "ประกาศการเปิดบริการศูนย์อาหารอาคารผู้ป่วยนอก (หลังใหม่)". โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย.
  25. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/poster/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95/#:~:text=%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%2520%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0,%E0%B8%93%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B5%2520%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%B2
  26. ราชกิจจานุเบกษา. “คำกราบบังคมทูล ในการเปิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ .” เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา. 14 มิถุนายน 2457. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/563.PDF (28 พฤษภาคม 2559 ที่เข้าถึง).
  27. "ประกาศผล Thailand Social Awards ครั้งที่ 11 แบรนด์และผู้ทรงอิทธิพลบนโลกโซเชียลยกทัพร่วมงานคับคั่ง". ไทยรัฐ. 2023-02-24. สืบค้นเมื่อ 2023-02-25.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]