เขมรแดง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขมรแดง
ខ្មែរក្រហម
แนวคิด
กองบัญชาการพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
พันธมิตร
ปรปักษ์
การสู้รบและสงคราม

เขมรแดง (เขมร: ខ្មែរក្រហម, แขฺมรกฺรหม อ่านว่า คแมร์กรอฮอม; ฝรั่งเศส: Khmer Rouge)[7] หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย” (Armée nationale du Kampuchéa démocratique) คือ กองกำลังคอมมิวนิสต์กัมพูชา ที่เคยปกครองราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งในขณะนั้นถูกเปลี่ยนชื่อเป็นกัมพูชาประชาธิปไตย ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ถึง พ.ศ. 2522

เขมรแดงถือเป็นตัวแทนความสำเร็จเชิงอำนาจของพรรคการเมืองลัทธิคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา ที่ต่อมาได้พัฒนาไปเป็น “พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา” (อังกฤษ: Communist Party of Kampuchea; ฝรั่งเศส: Parti communiste du Kampuchéa – PCK) และ “พรรคกัมพูชาประชาธิปไตย” (Parti du Kampuchéa démocratique) รูปแบบการปกครองของเขมรแดงมีจุดประสงค์เพื่อสร้าง "สังคมใหม่" โดยใช้รากฐานทางอุดมการณ์ที่เรียกว่า "อุดมการณ์ปฏิวัติแบบเบ็ดเสร็จ" (idéologie de révolution totale) ที่มีการรักษาเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพ เป็นตัวขับเคลื่อน[8]

สิ่งแรกที่เขมรแดงกระทำหลังจากได้รับอำนาจ คือ การกวาดต้อนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดจากกรุงพนมเปญและเมืองสำคัญอื่น ๆ มาบังคับให้ทำการเกษตรและใช้แรงงานร่วมกันในพื้นที่ชนบท เพื่อจำแนกประชาชนที่ถือว่าเป็น "ศัตรูทางชนชั้น" ไม่ว่าจะเป็น ทหาร ข้าราชการ เชื้อพระวงศ์ ผู้มีการศึกษา หรือผู้มีวิชาชีพเฉพาะในด้านต่าง ๆ ออกมาเพื่อขจัดทิ้ง[9] การกระทำดังกล่าวนี้ ส่งผลให้ประชาชนชาวกัมพูชาต้องเสียชีวิตจากการถูกสังหาร ถูกบังคับใช้แรงงาน และความอดอยาก เป็นจำนวนประมาณ 850,000 ถึง 3 ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบอัตราส่วนของประชาชนที่เสียชีวิตต่อจำนวนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดในขณะนั้น (ประมาณ 7.5 ล้านคน ใน พ.ศ. 2518) ถือได้ว่าระบอบการปกครองของเขมรแดงเป็นหนึ่งในระบอบที่มีความรุนแรงที่สุดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20

หลังจากที่เขมรแดงปกครองกัมพูชาเป็นระยะเวลา 4 ปี ใน พ.ศ. 2522 อำนาจการปกครองของเขมรแดงก็สิ้นสุดลง เนื่องจากการบุกยึดกัมพูชาของกองกำลังจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการเคลื่อนไหวแบบต่อต้านของเขมรแดง โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันตกของกัมพูชา ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในราชอาณาจักรไทย ก็ยังคงดำเนินต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 90 จนกระทั่ง พ.ศ. 2539 พล พต หัวหน้าขบวนการเขมรแดงในขณะนั้น ก็ยุติการทำงานของเขมรแดงลงอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ ทั้งนี้ยังได้รับการช่วยเหลือจากประเทศไทยอีกด้วย[10]

พล พต ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2541 โดยที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาคดีสังหารหมู่ประชาชนในช่วงที่เขมรแดงยังมีอำนาจอยู่แต่อย่างใด[11] เช่นเดียวกันกับตา ม็อก อดีตผู้บัญชาการเขมรแดง ที่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ระหว่างการควบคุมตัวจากรัฐบาลกัมพูชาเพื่อรอพิจารณาคดี[12] ปัจจุบัน มีเพียงคัง เค็ก เอียว (หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ดุช”) อดีตหัวหน้าค่ายกักกันตวล สเลง และนวน เจีย อดีตสมาชิกระดับผู้นำ เท่านั้นที่ถูกนำตัวมาพิจารณาโทษจากศาลพิเศษซึ่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีของอดีตกลุ่มผู้นำเขมรแดงโดยเฉพาะ[13][14][15] โดยได้เริ่มการพิจารณาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป

กลุ่มปัญญาชนปารีส[แก้]

ซาลอธ ซาร์ (พล พต)
เอียง ซารี

กลุ่มปัญญาชนปารีส (Paris Student Group) คือ กลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายชาวกัมพูชา ที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลกัมพูชาให้มาศึกษาต่อในกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในช่วงทศวรรษที่ 1950 พวกเขาได้ร่วมกันจัดตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์ ลัทธิมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ของตนเองขึ้น ก่อนที่จะเดินทางกลับสู่แผ่นดินเกิดและเป็นกำลังสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์เขมร กลุ่มเขมรแดง ในการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลลอน นอล ใน พ.ศ. 2518 ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งระบอบกัมพูชาประชาธิปไตยในเวลาต่อมา

ปัญญาชนคนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มดังกล่าวนี้ ได้แก่[16]

  • เขียว สัมพัน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2474 ได้รับการศึกษาจากวิทยาลัยศรีสวัสดิ์เช่นกัน มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์อย่างมาก คู่แข่งทางพรสวรรค์ของเขา คือ ฮู ยวน นักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มปัญญาชนปารีสอีกคนหนึ่ง ฮู ยวน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2473 ศึกษาต่อทางด้านเศรษศาสตร์และกฎหมายในฝรั่งเศส ทั้งเขียว สัมพันธ์ และฮู ยวน ต่างสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีสเหมือนกัน
  • ฮู นิม เกิดเมื่อ พ.ศ. 2475 เดินทางไปศึกษาต่อและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านกฎหมายในฝรั่งเศส และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยพนมเปญ เขามีความสนใจในเรื่องบทบาทการเงินของกัมพูชาที่ถูกภายนอกครอบงำ

นอกจากสมาชิกที่เป็นผู้ชายแล้ว ในกลุ่มปัญญาชนปารีสยังมีสมาชิกผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์ทางการสมรสกับสมาชิกฝ่ายชายอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น เขียว พอนนารี ภรรยาของซาลอธ ซาร์ เขียว ธิริธ ภรรยาของเอียง ซารี หรือยุน ยาต ภรรยาของซอน เซน สมาชิกหญิงเหล่านี้ต่างก็มีบทบาทสำคัญในระบอบการปกครองกัมพูชาประชาธิปไตย ที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติของเขมรแดง แทบทั้งสิ้น

สาเหตุที่ทำให้คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้เชื่อมั่นในลัทธิคอมมิวนิสต์ มีแนวโน้มมาจากบริบททางการเมืองโลกในขณะนั้น ที่การเคลื่อนไหวตามแนวทางคอมมิวนิสต์กำลังเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น การยืนหยัดต่อสู้ของขบวนการคอมมิวนิสต์ในกัมพูชาต่อฝรั่งเศสในฐานะเจ้าอาณานิคม การได้รับชัยชนะของลัทธิคอมมิวนิสต์ในจีน การเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเกาหลี หรือการเข้าสู่ยุครุ่งเรืองสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความไม่เสมอภาคทางชนชั้นและความไม่เป็นธรรมในสังคมที่นักศึกษาบางคนประสบในอดีต ก็อาจเป็นสาเหตุสำคัญเช่นกัน ดังเช่นกรณีปัญหาครอบครัวของเขียว พอนนารี และเขียว ธิริธ ที่บิดาของเธอทั้งสองหนีตามเจ้าหญิงแห่งกัมพูชาไปอยู่จังหวัดพระตะบอง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทิ้งให้มารดาของพวกเธอทำหน้าที่ดูแลครอบครัวเพียงผู้เดียว กรณีดังกล่าวนี้ เดวิด พี. แชนด์เลอร์ นักประวัติศาสตร์และนักการทูตชาวอเมริกัน กล่าวว่า อาจเป็นสาเหตุสำคัญให้พวกเธอมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อชนชั้นเจ้าของกัมพูชา จนนำไปสู่การต่อต้านก็เป็นได้[17]

ขณะที่ศึกษาอยู่ในฝรั่งเศส กลุ่มปัญญาชนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสศึกษาสำนักคิด/ลัทธิทางด้านสังคมศาสตร์หลาย ๆ แขนง เช่น ลัทธิสังคมนิยม ลัทธิชาตินิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิต่อต้านจักรวรรดินิยม และลัทธิอาณานิคมใหม่ เป็นต้น[18] พร้อมกันนั้น พวกเขายังได้ประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์เอาไว้หลายระดับ นับตั้งแต่การรวมกลุ่มการเมืองย่อย ๆ ในหมู่นักศึกษา ที่เรียกกันว่า “วงมาร์กซิสต์” เพื่อนำงานเขียนแนวอุดมการณ์มาร์กซิสต์มาถกเถียงกัน[19] จนถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสและพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย และยังรวมไปถึงการเป็นตัวแทนสมาคมนักศึกษาเขมรในกรุงปารีส เข้าร่วมการประชุมเยาวชนนานาชาติ ณ เบอร์ลินตะวันออก ที่ซึ่งพวกเขาได้พบเจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน และได้เรียนรู้วิธีการต่อสู้ของขบวนการคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา และการก่อตั้งพรรคปฏิวัติประชาชนเขมรเป็นครั้งแรก[20]

นอกจากนั้น พวกเขายังพยายามขยายอุดมการณ์ของกลุ่มให้ครอบคลุมทั้งสมาคมนักศึกษาเขมร ซึ่งเป็นแหล่งรวมปัญญาชนชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ในปารีส ด้วยการล้มล้างอิทธิพลของผู้นำนักศึกษาแนวอนุรักษนิยม[21]และเปลี่ยนให้กลายเป็นองค์กรสำหรับนักชาตินิยมและนักสังคมนิยมแทน

หลังจากที่เจ้าสีหนุก่อรัฐประหาร ประกาศยุบสมัชชาแห่งชาติ และเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ใน พ.ศ. 2495[22] กลุ่มปัญญาชนปารีสก็เคลื่อนไหวต่อต้านการกระทำดังกล่าว ด้วยการออกแถลงการณ์วันที่ 6 กรกฎาคม ประณามการกระทำของพระองค์และเรียกร้องให้พระองค์สละราชสมบัติ[23] พร้อมกันนั้น ซาลอธ ซาร์ ยังได้เขียนบทความชื่อ “ราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตย?” (Monarchy or Democracy?) ลงในนิตยสารสำหรับนักศึกษาชาวกัมพูชา ฉบับพิเศษ เพื่อวิพากษ์การกระทำของเจ้าสีหนุอีกด้วย จากการกระทำเหล่านี้ ส่งผลให้พวกเขาโดนระงับทุนการศึกษา[24] และทางการฝรั่งเศสยังออกคำสั่งปิดสมาคมนักศึกษาเขมรในปีต่อมา

อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2499 ฮู ยวน และเขียว สัมพันธ์ ได้ช่วยกันก่อตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า “สหภาพนักศึกษาเขมร” (Khmer Students' Union) ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มนักศึกษาในวงมาร์กซิสเช่นเดิม

เส้นทางสู่อำนาจ[แก้]

กลับกัมพูชา[แก้]

หลังจากที่กลุ่มปัญญาชนปารีสเดินทางกลับสู่กัมพูชา สมาชิกในกลุ่มต่างก็แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพและกิจกรรมต่าง ๆ ซาลอธ ซาร์ (กลับมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2496) เดินทางออกจากกรุงพนมเปญเพื่อเข้าร่วมกับกองกำลังเขมรอิสระในพื้นที่ใกล้จังหวัดกำปงสปือ และขบวนการเวียดมินห์ในพื้นที่ชนบทของจังหวัดกำปงจาม[25] เอียง ซารี ประกอบอาชีพครูประจำภาควิชาการเมืองและปรัชญาที่วิทยาลัยศรีสวัสดิ์และวิทยาลัยกัมพูบต เช่นเดียวกับฮู ยวน[26] และเขียว สัมพัน (กลับมาใน พ.ศ. 2502) ประกอบอาชีพอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพนมเปญ และผลิตหนังสือพิมพ์แนวสังคมนิยมเป็นภาษาฝรั่งเศส ชื่อ “ล็อบแซร์วาเตอร์[27] ซึ่งได้รับความนิยมจากวงนักวิชาการกลุ่มเล็ก ๆ ในพนมเปญ

หลังจากที่ดำเนินการผลิตมาได้ 1 ปี กิจการหนังสือพิมพ์ของเขียว สัมพัน พร้อมกับหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายฉบับอื่น ๆ ที่ตีพิมพ์ในกัมพูชาขณะนั้น ก็ถูกหน่วยรักษาความมั่นคงของรัฐบาลเจ้าสีหนุปิด ส่วนตัวเขียว สัมพัน เองก็ถูกนำไปประจารต่อสาธารณชนโดยการเฆี่ยนตี จับเปลื้องผ้า และถ่ายรูปเก็บไว้ หลังจากนั้นจึงถูกนำตัวไปควบคุมพร้อมกับสมาชิกขบวนการฝ่ายซ้ายอีก 17 คน[28] แต่อย่างไรก็ตาม ต่อมาเขียว สัมพัน ก็ได้รับการปล่อยตัว และร่วมมือกับเจ้าสีหนุต่อต้านกิจกรรมของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามใต้

ทั้งเขียว สัมพัน ฮู ยวน และฮู นิม ต่างก็เป็นปัญญาชนแนวสังคมนิยมที่เจ้าสีหนุเชิญให้เข้ามาร่วมรัฐบาลสังคมราษฎร์ของพระองค์ด้วย โดยฮู ยวน ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์และอุตสาหกรรม ฮู นิม ได้รับตำแหน่งสำคัญในสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา[29] และเขียว สัมพัน ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจ[30]

การได้ประกอบอาชีพเป็นครู/อาจารย์ในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวง และได้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาล ทำให้สมาชิกกลุ่มปัญญาชนปารีสบางคนสามารถแทรกซึมแนวคิดคอมมิวนิสต์เข้าไปยังหมู่ชนชั้นกลางที่อยู่ในเมือง และฐานมวลชนในเขตเลือกตั้งของตนได้[31]

การประชุมสมัชชาพรรคปฏิวัติประชาชนเขมร และการเปลี่ยนแปลง[แก้]

วันที่ 27 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม พ.ศ. 2503 พรรคปฏิวัติประชาชนเขมรได้จัดการประชุมสมัชชาพรรคขึ้นอย่างลับ ๆ ในห้องว่าง ณ สถานีรถไฟกรุงพนมเปญ โดยในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการนำประเด็นที่ว่า พรรคควรจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรหรือเลือกเป็นปฏิปักษ์ต่อเจ้าสีหนุ มาถกเถียงกันด้วย หลังจากการประชุมเสร็จสิ้นลง ที่ประชุมได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อพรรคเป็นชื่อ “พรรคแรงงานแห่งกัมพูชา” โดยแต่งตั้งตู สามุต ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ และนวน เจีย ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ นอกจากนั้นซาลอธ ซาร์ และเอียง ซารี ก็เข้าร่วมเป็นแกนนำของพรรคนี้ด้วย[32]

การหายตัวไปอย่างลึกลับของตู สามุต (สันนิษฐานกันว่าถูกสังหาร) ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทำให้พรรคตกอยู่ใต้การควบคุมของซาลอธ ซาร์ แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งต่อมาซาลอธ ซาร์ ก็ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการกลางของพรรคชุดใหม่ ในการประชุมสมัชชาพรรครอบพิเศษ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2506 โดยมีนวน เจีย และเอียง ซารี ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ และมีโซ พิม กับวอน เวต เป็นแกนนำของพรรค[33] หลังจากนั้นมา ซาลอธ ซาร์ และสหายปัญญาชนปารีสของเขา ก็สามารถควบคุมศูนย์กลางของพรรคได้ทั้งหมด ส่วนกลุ่มสมาชิกเก่าแก่ที่สนับสนุนนโยบายเป็นกลางของรัฐบาล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเวียดนาม นั้น ก็ถูกลดอำนาจในพรรคลง

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2506 ซาลอธ ซาร์ กับสมาชิกคณะกรรมการกลางของพรรคส่วนใหญ่ ได้ทยอยเดินทางออกจากกรุงพนมเปญ เพื่อไปสร้างกองกำลังกบฏของตนเองขึ้นในบริเวณชายแดนของจังหวัดกำปงจามกับประเทศเวียดนาม[34] ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา ก่อนหน้านั้นไม่นาน เจ้าสีหนุได้รณรงค์ต่อต้านฝ่ายซ้าย และประกาศรายชื่อบุคคล 34 คนที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ที่วางแผนโค่นล้มรัฐบาลของพระองค์ ซึ่งในจำนวนนั้น มีชื่อของซาลอธ ซาร์ กับครูฝ่ายซ้ายอีกหลายคนติดอยู่ด้วย เจ้าสีหนุได้เรียกตัวบุคคลในรายชื่อเหล่านี้มาพบ เพื่อให้พวกเขาเข้าร่วมกับรัฐบาลของพระองค์ และปฏิญาณตนว่าจะจงรักภักดีต่อพระองค์ ทุกคนที่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าวจะถูกติดตามด้วยตำรวจของพระองค์ตลอด 24 ชั่วโมง มีเพียงซาลอธ ซาร์ และเอียง ซารี เท่านั้น ที่ไม่ถูกติดตาม และสามารถหลบหนีออกมาจากกรุงพนมเปญได้[35]

การล่มสลายของรัฐบาลฝ่ายสาธารณรัฐ และการขึ้นสู่อำนาจของเขมรแดง[แก้]

ระหว่าง พ.ศ. 2508 – 2509 ซาลอธ ซาร์ และเพื่อนร่วมงานของเขา ได้เดินทางไปเยือนเวียดนามเหนือและสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เวียดนามเหนือ พวกเขาได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ทั้งที่เป็นชาวเวียดนามและชาวกัมพูชาที่อพยพเข้าไปอยู่ในเวียดนามตั้งแต่ พ.ศ. 2498 ซึ่งยังอาจได้รับการฝึกฝนทางการเมืองบางด้านจากที่นั่น[36] ส่วนในจีน พวกเขาได้ไปแสดงจุดยืนของพรรคและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อผู้บริหารระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น เติ้ง เสี่ยวผิง หรือหลิว เช่าฉี เป็นต้น[37] (ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นพันธมิตรกับเจ้าสีหนุ แต่ทางการจีนก็ปิดข่าวการเดินทางมาเยือนของกลุ่มคอมมิวนิสต์กัมพูชาในครั้งนั้นไม่ให้พระองค์ทราบ)

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2509 พรรคแรงงานแห่งกัมพูชาได้รับการเปลี่ยนชื่ออย่างลับ ๆ เป็น "พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา" (Communist Party of Kampuchea – CPK) ซึ่งในช่วงปลายปีเดียวกัน ศูนย์บัญชาการของพรรคก็ต้องถูกย้ายไปอยู่ในพื้นที่จังหวัดรัตนคีรี เนื่องจากฐานที่มั่นเดิมถูกจู่โจมโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐอเมริกา[37]

ในปีต่อมา ด้วยความช่วยเหลือทางด้านอาวุธและที่พักจากฝ่ายเวียดนามเหนือ พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ที่ประกอบด้วยกลุ่ม 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเขมรแดง (กลุ่มปัญญาชนปารีส) กลุ่มเขมรเวียดมินห์ และกลุ่มเขมรคอมมิวนิสต์[38] ก็เริ่มใช้กำลังต่อต้านรัฐบาลเจ้าสีหนุ โดยเริ่มจากการโจมตีฐานที่มั่นของฝ่ายพระองค์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือก่อน ขณะเดียวกัน บรรดานักศึกษาและครูในเมืองจำนวนมากก็รู้สึกไม่พอใจกับวิธีการปกครองของเจ้าสีหนุ และหันมาศรัทธาต่อความสำเร็จจากการต่อสู้ทางการเมืองในจีน (การปฏิวัติวัฒนธรรม) และฝรั่งเศส (การลุกฮือเดือนพฤษภาคม 1968) ว่าเป็นขบวนการทางเลือกที่ควรจะมาแทนการปกครองแบบเจ้าสีหนุ[39]

อดีตนายกรัฐมนตรีลอน นอล ผู้ร่วมก่อการรัฐประหารยึดอำนาจเจ้าสีหนุ
เจ้าสีสุวัตถิ์ สิริมตะ ผู้ร่วมก่อการรัฐประหารยึดอำนาจเจ้าสีหนุ

ต่อมา หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจเจ้าสีหนุในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2513 โดยเจ้าสีสุวัตถิ์ สิริมตะ ลูกพี่ลูกน้องของเจ้าสีหนุ และลอน นอล นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในขณะนั้น กลุ่มพลังฝ่ายขวา หรือฝ่ายสาธารณรัฐเขมร ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับขบวนการคอมมิวนิสต์ ก็สามารถเข้ากุมอำนาจทางการเมืองของกัมพูชาได้แทบทั้งหมด พวกเขาได้ร่วมมือกับกองทัพอเมริกากดดันและปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ในเขตชนบทอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ภายในช่วงเวลา 4 ปีของการดำรงอำนาจ รัฐบาลฝ่ายสาธารณรัฐก็ต้องเผชิญปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพกัมพูชา เวียดนามใต้ และสหรัฐอเมริกา กับกองทัพเวียดนามเหนือในกัมพูชา ปัญหาการขาดประสิทธิภาพของกองทัพ ปัญหาการขาดผู้นำที่เข้มแข็ง และปัญหาการทุจริตในกลุ่มนายทหารฝ่ายสาธารณรัฐเอง เป็นต้น ตรงกันข้ามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ถึงแม้ว่าจะถูกกดดันโดยภาวะสงคราม แต่ก็ยังเป็นฝ่ายที่สามารถเข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในกัมพูชาได้มากกว่าฝ่ายรัฐบาล[40] และหลังจากที่เจ้าสีหนุเปลี่ยนจุดยืนมาสนับสนุนการต่อสู้ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และตั้งรัฐบาลแนวร่วมแห่งชาติกัมพูชา (Royal Government of National Union of Kampuchea – GRUNK) [41] เพื่อต่อต้านลอน นอล และเจ้าสีสุวัตถิ์ ความนิยมในเขตชนบทที่มีต่อพระองค์ก็เพิ่มมากขึ้น จนเป็นผลให้การขยายอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาเป็นไปอย่างง่ายดาย

ตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2515 ถึงต้น พ.ศ. 2516 กองกำลังคอมมิวนิสต์เริ่มทดลองนำโครงการนารวมและระบบสหกรณ์รวมมาใช้กับประชาชนในเขตยึดครองของตนเอง และเริ่มมีข่าวลือว่า หลังจากที่พวกเขายึดหมู่บ้านหรือเมืองได้แล้ว พวกเขาจะบังคับให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่นั้นเข้าไปอยู่ในป่าแทนการจับเป็นเชลย[42]

ต้น พ.ศ. 2518 กองกำลังคอมมิวนิสต์ได้วางระเบิดตัดเส้นทางชายฝั่งแม่น้ำที่ใช้ลำเลียงอาหารและอาวุธเข้าสู่กรุงพนมเปญ[43] และนำกำลังปิดล้อมเมืองหลวงเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเตรียมการบุกยึด ในที่สุด หลังจากการหลบหนีออกจากกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีลอน นอล ในเดือนมีนาคมของปีเดียวกัน และความพยายามของสหรัฐอเมริกา ที่จะนำฝ่ายคอมมิวนิสต์มาเจรจากับฝ่ายรัฐบาล ไม่เป็นผล กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ที่นำโดยกลุ่มเขมรแดงของซาลอธ ซาร์ ก็เข้าบุกยึดกรุงพนมเปญ ในเช้าตรู่วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 ซึ่งตรงกับวันปีใหม่ของชาวกัมพูชา (เหตุที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เลือกวันนี้เป็นวันบุกยึด เพราะต้องการให้ปีใหม่ปีนั้นเป็นปีเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของกัมพูชาใหม่ทั้งหมด) [44]

กัมพูชายุคเขมรแดง[แก้]

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญกัมพูชาประชาธิปไตย[แก้]

ธงแดงรูปค้อนเคียวของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (ต่อมาคือพรรคกัมพูชาประชาธิปไตย)

หลังจากที่บุกยึดกรุงพนมเปญและสาธารณรัฐกัมพูชาได้สำเร็จ เขมรแดงได้เปลี่ยนระบอบการปกครองของกัมพูชาให้เป็นระบอบสังคมนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยมีคณะผู้ปกครองหลักคือ พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา หรือพรรคกัมพูชาประชาธิปไตย[45] และมีกลุ่มผู้ปกครองสูงสุดที่เรียกตนเองว่า "อังการ์เลอ" (Angkar Loeu) หรือ "องค์การจัดตั้งระดับสูง" ซึ่งชื่อ "อังการ์เลอ" นี้ ถูกนำมาใช้เพื่ออำพรางตนเองจากการรับรู้ของชาวกัมพูชารวมไปถึงสมาชิกระดับล่างของพรรค[46] ภารกิจต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารจะอยู่ในความรับผิดชอบของบุคคลในคณะกรรมาธิการประจำ (กรมการเมือง) ซึ่งเป็นองค์กรหลักภายในคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ในขณะที่คณะกรรมการของพรรคจะมีหน้าที่ควบคุมทุกระดับของการจัดตั้ง นับตั้งแต่กลุ่มที่ประกอบด้วยครอบครัว 10 ครอบครัว กระทรวง สำนักงานของรัฐ และเขตการปกครองต่าง ๆ ของกัมพูชา[47]

กลุ่มคอมมิวนิสต์ประกาศยกเลิกรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาพลัดถิ่น ทำให้กัมพูชาไม่มีรัฐบาลจนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญกัมพูชาประชาธิปไตยเมื่อ 5 มกราคม พ.ศ. 2519 เขมรแดงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญกัมพูชาฉบับใหม่ ภายในนั้นได้มีการบัญญัติชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศกัมพูชาว่า "กัมพูชาประชาธิปไตย" (Democratic Kampuchea) [46] แทนชื่อ "สาธารณรัฐเขมร" พระนโรดม สีหนุยังคงเป็นประมุขรัฐจนกระทั่งพระองค์ลาออกไปเมื่อ 2 เมษายน พ.ศ. 2519 พระองค์ถูกกักบริเวณอยู่ในพนมเปญ จนกระทั่งเกิดสงครามกับเวียดนาม พระองค์จึงไปสหรัฐก่อนจะลี้ภัยในประเทศจีนในเดือนมกราคม พ.ศ. 2519

ศูนย์กลางอำนาจของกัมพูชาในขณะนั้นอยู่ที่ "พล พต" หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิมว่าซาลอธ ซาร์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2519 โดยมีเอียง ซารี ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการต่างประเทศ วอน เวต ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการเศรษฐกิจ และซอน เซน ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการกลาโหม[48] สมาชิกของพรรคส่วนใหญ่ ได้แก่ กองกำลังติดอาวุธทั้งชายและหญิงจากครอบครัวชาวนาในชนบทอันห่างไกล ซึ่งทั้งยากจนและขาดโอกาสในการศึกษา[49] โดยส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่เจ็บปวดและโกรธแค้นจากการที่ต้องสูญเสียบ้าน การงาน และครอบครัวเพราะระเบิดของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามกลางเมือง[50]

สถาบันหลักทางการเมืองของกัมพูชาประชาธิปไตย คือ “สภาผู้แทนประชาชนกัมพูชา” (Kampuchean People’s Representative Assembly) มีสมาชิก 250 คน ที่ประกอบด้วย 1) ฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างลับ ๆ ทุก 5 ปี (ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ใช้ในขณะนั้น) 2) ฝ่ายบริหาร ที่มาจากการคัดเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนประชาชน มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อสภา และ 3) ฝ่ายตุลาการ ที่ทำหน้าที่โดยศาลประชาชน นอกจากนั้นยังมี “สภาเปรสิเดียม” ที่ประกอบด้วยประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี 2 คน ที่ได้รับการคัดเลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนเช่นเดียวกับฝ่ายบริหาร เพื่อทำหน้าที่ตัวแทนของรัฐทั้งในและต่างประเทศ[51] การเลือกตั้งครั้งแรกและครั้งเดียวมีขึ้นเมื่อ 20 มีนาคม พ.ศ. 2519 โดยประชาชนใหม่ไม่ได้เข้าร่วม ผู้บริหารได้รับเลือกเข้าสู่สภาซึ่งถือเป็นสภาเปรซิเดียมของรัฐ หลังจากพระนโรดม สีหนุลาออก ตำแหน่งประมุขรัฐคือประธานาธิบดี ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งคือ เขียว สัมพัน ระบบศาลเป็นการประชาชนซึ่งควบคุมโดยสภา และไม่ได้ระบุถึงการปกครองส่วนท้องถิ่น

สิทธิและหน้าที่ของพลเมืองมีกล่าวถึงในมาตราที่ 12 ของรัฐธรรมนูญ ชายและหญิงมีความเสมอภาคกัน และจะไม่มีคนว่างงานในกัมพูชาประชาธิปไตย หลักการเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศถูกระบุไว้ในมาตราที่ 21 โดยระบุถึงความเป็นเอกราช สันติภาพและเป็นกลาง ประกาศสนับสนุนการต่อต้านจักรวรรดินิยมในประเทศโลกที่สาม แม้จะมีการโจมตีแนวชายแดนของไทย ลาว และเวียดนาม แต่ในรัฐธรรมนูญกล่าวว่ารักษาความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและใกล้ชิดกับประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกัน

เขมรแดงได้ประกาศยกเลิกการแบ่งเขตจังหวัดแบบเดิม และแทนที่ด้วยการแบ่งเขตจำนวน 7 เขต คือ เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันออก ตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้ และเขตศูนย์กลาง มีเขตพิเศษ 2แห่งคือ เขตพิเศษกระแจะ หมายเลข 105 และเขตพิเศษเสียมราฐ หมายเลข 106 ซึ่งคงอยู่ถึง พ.ศ. 2520 แต่ละเขตแบ่งย่อยเป็นตำบล ซึ่งถูกกำหนดด้วยหลายเลข หมายเลข 1 อยู่ที่บริเวณสัมลต ในเขตตะวันตกเฉียงเหนือ ตำบลถูกแบ่งย่อยเป็นสรุก ขุม และภูมิ (หมู่บ้าน) หมู่บ้านประกอบด้วยคนหลายร้อยคน ภายในหมู่บ้านแบ่งเป็นกรม ที่ประกอบด้วย 10 – 15 หลังคาเรือน การบริหารประกอบด้วยคณะที่มีสมาชิกสามคน สมาชิกพรรคควบคุมการบริหารในระดับสูง การบริหารระดับขุมและหมู่บ้านปกครองโดยคนในท้องถิ่น ส่วนน้อยที่เป็นประชาชนใหม่ ในแต่ละเขตการปกครองจะมีคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาประจำอยู่ เพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจทั้งในด้านการเมืองและการทหารในเขตพื้นที่ของตน และรอรับคำสั่งจากศูนย์กลางพรรคเพื่อนำไปตีความและประยุกต์ใช้อีกครั้งตามความเหมาะสมของแต่ละท้องที่[52]

การอพยพออกจากเมือง[แก้]

ทันทีที่เข้ายึดพนมเปญได้ เขมรแดงได้สั่งให้อพยพประชาชนทั้งหมดออกจากเมืองหลวงไปสู่พื้นที่ชนบท พนมเปญที่เคยมีประชากรถึง 2.5 ล้านคนกลายเป็นเมืองร้าง ถนนที่ออกจากเมืองเต็มไปด้วยประชาชนที่ถูกบังคับให้เดินทางออกจากเมือง ลต ฉาย พี่ชายของพล พตที่ทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ตายระหว่างการอพยพออกจากพนมเปญ โรงพยาบาลในพนมเปญว่างเปล่า ไม่มีผู้ป่วย เขมรแดงอนุญาตให้ใช้พาหนะได้เฉพาะคนแก่และคนพิการ ในระหว่างการอพยพคนออกจากเมืองนี้ เขียว สัมพันกล่าวว่ามีคนตายราว 2,000 - 3,000 คน ชาวต่างชาติราว 800 คนถูกกักตัวไว้ในสถานทูตฝรั่งเศส และในช่วงปลายเดือนนั้น คนต่างชาติเหล่านี้ ถูกส่งมายังชายแดนไทยด้วยรถบรรทุก หญิงชาวเขมรที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ จะได้รับอนุญาตให้ออกไปได้ แต่ชายชาวเขมรไม่ได้รับอนุญาตให้ติดตามภรรยาออกไป

หลังจากที่เขมรแดงขึ้นมามีอำนาจแล้ว สิ่งแรกที่ทำคือ ประกาศให้ชาวเขมรทุกคนทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน เงินทอง หรือแม้แต่คนที่ตัวเองรักทั้งหลาย เพื่อมาทำงานให้กับคอมมูน คอมมูนคือหน่วยย่อยของเขมรแดง มีคอมมูนละ 10,000 คน หน้าที่ที่คนในค่ายต้องทำทุกวันคือทำงานเกี่ยวกับการเกษตรทั้งหมด ตามแต่ที่คอมมูนใดจะสั่งลงมา แต่ทุกคอมมูนเหมือนกันหมดคือทำงานโดยใช้แรงงานคนทั้งหมดโดยไม่มีเครื่องมือใด ๆ ช่วยทุ่นแรง และต้องทำงานเป็นเวลา 11 ชั่วโมง เป็นเวลา 9 วันติดใครทำงานช้าหรืออิด ๆ ออด ๆ จะถูกลงโทษอย่างหนัก ส่วนวันที่ 10 ต้องมานั่งฟังพวกเขมรแดงอบรมเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์

ความน่าหวาดกลัว[แก้]

หน่วยรักษาความปลอดภัยที่เรียกว่าสันติบาลที่จัดตั้งขึ้นหลังจาก 17 เมษายน พ.ศ. 2518 นำโดย ซอน เซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชาประชาธิปไตย เขาได้มอบหมายให้ดุจ เป็นผู้ดำเนินการหน่วยนี้ ในช่วงแรก เขาใช้บริเวณเมืองหลวงเป็นที่กักขังนักโทษ ต่อมา ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2519 ดุจได้ย้ายสถานที่คุมขังมาที่คุกตวล แซลงที่คุมขังนักโทษได้ถึง 1,500 คน รัฐบาลเขมรแดงได้สั่งให้จับกุมและประหารชีวิตบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นศัตรูของรัฐ ได้แก่

  • ทุกคนที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรหรือรัฐบาลต่างชาติ
  • ผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์ รวมทั้งทุกคนที่มีการศึกษาหรือแม้แต่คนที่สวมแว่นตา
  • ผู้มีความชำนาญในศิลปะ นักดนตรี นักเขียน นักแสดงถูกประหารชีวิต เช่น รส เสรีโสทา แปน โรน และสิน ศรีสมุท
  • ชนกลุ่มน้อยที่มีเชื้อสายเวียดนาม จีน ไทย และชนกลุ่มน้อยบางส่วนในพื้นที่สูงทางตะวันออก ชาวกัมพูชาที่นับถือศาสนาคริสต์หรืออิสลาม พระสงฆ์
  • พ่อค้าในเมืองที่ไม่มีความสามารถในการทำการเกษตร

มีประชาชนประมาณ 17,000 คนที่เคยเข้าคุกตวลซแลง ส่วนใหญ่ถูกประหารชีวิต มีเพียงราวพันคนที่รอดชีวิตออกมาได้ จำนวนประชากรที่เสียชีวิตในช่วงที่เขมรแดงครองอำนาจยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่ รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาที่ครองอำนาจสืบต่อจากเขมรแดงระบุว่ามีคนตายไป 3.3 ล้านคน แต่ยังหาตัวเลขที่เป็นการสรุปแน่นอนไม่ได้ งานวิจัยสมัยใหม่ที่ศึกษาทางด้านนี้ระบุว่าคนที่เสียชีวิตน่าจะอยู่ที่ 1.4 - 2.2 ล้านคน มีทั้งที่ถูกฆ่าและตายเพราะขาดอาหารและโรคระบาด โครงการวิจัยทางด้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชาระบุว่ามีผู้เสียชีวิตราว 1.2 – 1.7 ล้านคน ส่วนข้อมูลของเขมรแดงเอง พล พตระบุว่ามีคนตาย 800,000 คน ส่วนเขียว สัมพันระบุว่าถูกฆ่าไปราว 1 ล้านคน

การเปลี่ยนแปลงสังคม[แก้]

ประชากรที่อพยพออกจากเมืองจะถูกเรียกว่าประชาชนใหม่ ส่วนประชาชนที่อยู่ในเขตชนบทดั้งเดิมถูกเรียกว่าประชาชนเก่า ในระดับล่างสุดของสังคมคือกรม ประกอบด้วย 10 – 15 ครอบครัว กรมบริหารโดยคณะกรรมการสามคน ประธาน พรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้เลือก มีหน้าที่เผยแพร่ความเป็นสังคมนิยมแก่ประชาชนและรายงานขึ้นไปเป็นลำดับชั้น ในระยะแรกมีประชาชนใหม่อยู่ราว 2.5 ล้านคน ประชาชนใหม่ถูกบังคับให้ใช้แรงงานในพื้นที่ที่ยากลำบาก เช่น ในป่า ที่สูงและที่ลุ่ม และมักเกิดปัญหาขัดแย้งกับประชาชนเก่า สมาชิกในครอบครัวถูกแบ่งแยก เพราะต้องทำงานตามอายุและเพศ และมีการแบ่งไปทำงานยังส่วนต่าง ๆ ของประเทศ ประชาชนเก่าจะได้รับการปฏิบัติจากเขมรแดงดีกว่า

จากการสัมภาษณ์ผู้อพยพของไมเคิล วิกกอรี ผู้เขียนหนังสือ Cambodia 1975–1982 กล่าวว่าการตายเกิดขึ้นในพื้นที่ด้อยพัฒนาและเกิดกับประชาชนใหม่ที่ถูกส่งไปบุกเบิกพื้นที่ในบริเวณนั้น ในเขตตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้นิยมเวียดนามอยู่มาก และอิทธิพลของพล พตไม่ได้เข้าไปถึงอย่างเต็มที่ การปฏิบัติต่อประชาชนเก่าและประชาชนใหม่เป็นธรรมกว่าและการประหารชีวิตเกิดขึ้นน้อยกว่า ประชาชนใหม่จะไม่ถูกบีบบังคับถ้าให้ความร่วมมือที่ดี ในภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือเป็นบริเวณที่มีความอดอยากมากกว่า เพราะเป็นพื้นที่ที่ต้องส่งข้าวเข้าสู่พนมเปญ เขตเหนือและเขตกลาง ส่วนใหญ่ถูกประหารชีวิตมากกว่าเป็นเหยื่อของความอดอยาก ส่วนข้อมูลในเขตตะวันออกเฉียงเหนือมีจำกัด

ปกติในภาษาเขมรจะมีคำที่แสดงถึงระดับชั้นของสังคม ในสมัยเขมรแดง ประชาชนถูกบังคับให้เรียกคนอื่นว่าสหาย (เขมร: មិត្ដ; "มิตร") และงดเว้นการแสดงความเคารพ เขมรแดงได้สร้างคำใหม่ขึ้นใช้ในภาษา เช่น ประชาชนกล่าวว่าพวกเขาต้องทำปลอม (lot dam) ลักษณะของนักปฏิวัติ เพราะพวกเขาเป็นเครื่องมือ (opokar - อุปกรณ์) ขององค์กร การคิดถึงช่วงเวลาก่อนการปฏิวัติเป็นความทรงจำที่เจ็บป่วย (chheu satek arom) ซึ่งจะทำให้องค์กรมานำตัวไปสู่ค่ายกักกันได้

เขียว พอนนารี ภรรยาของพล พตเป็นผู้นำของสมาคมสตรีประชาธิปไตยเขมร และน้องสาวคือเขียว ธิริทธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคม ยุน ยัต ภรรยาของซอน เซนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการศึกษา หลาน ๆ ของพล พตทำงานในกระทรวงการต่างประเทศหลายคน ลูกสาวของเอียง ซารีเป็นประธานโรงพยาบาลแม้จะไม่จบชั้นมัธยมศึกษา หลานของเอียง ซารีเป็นผู้แปลภาษาอังกฤษของสถานีวิทยุพนมเปญแม้จะรู้ภาษาอังกฤษน้อยมาก

ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านและการล่มสลาย[แก้]

ระหว่างการมีอำนาจเหนือกัมพูชา ผู้นำเขมรแดงฝันจะรื้อฟื้นจักรวรรดิเขมรเมื่อพันปีก่อนโดยการเข้าครอบครองดินแดนบางส่วนของไทยและเวียดนาม หลังจากที่ได้ครองอำนาจใน พ.ศ. 2518 ได้มีการปะทะระหว่างทหารเขมรแดงกับทหารเวียดนาม เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2518 ทหารกัมพูชาโจมตีทหารเวียดนามบนเกาะฟู้โกว๊กและเกาะโถเจาและล้ำเขตเข้าไปในจังหวัดตามแนวชายแดนเวียดนาม ในปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาโจมตีโรงกลั่นน้ำมันที่กำปงโสมทางอากาศและเหตุการณ์มายาเกวซ ทหารเวียดนามได้เข้าโจมตีกัมพูชาที่เกาะปูโลไว ทำให้พล พตและเอียง ซารีต้องไปเยือนฮานอย และได้ลงนามในสนธิสัญญาแสดงถึงความเป็นมิตรของทั้งสองประเทศ เวียดนามยังคงยึดครองเกาะนั้นไว้ในเดือนสิงหาคม และยังมีความขัดแย้งเกี่ยวกับแนวพรมแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือ ในระหว่างที่เขมรแดงครองอำนาจในกัมพูชานี้ ชาวเวียดนามจำนวนมากได้อพยพออกจากกัมพูชา

ทางเขมรแดงได้ติดต่อกับเวียดนามเหนือตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2518 เพื่อแก้ไขปัญหาพรมแดนและการยอมรับกัมพูชาในฐานะประเทศเอกราช เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามถือว่าเขมรแดงเป็นเพียงสาขาหนึ่งของตนและพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นพรรคคอมมิวนิสต์หนึ่งเดียวในอินโดจีนอย่างไรก็ตาม ฝ่ายเวียดนามไม่สามารถตกลงกับเขมรแดงได้ เพราะเวียดนามไม่ยอมถอนทหารออกจากบริเวณที่เขมรแดงถือว่าล้ำเข้ามาในดินแดนของกัมพูชา และไม่ยอมรับแนวเบรวิเญ่ ที่ใช้แบ่งเขตน่านน้ำของทั้งสองประเทศ แนวนี้กำหนดโดย จูลส์ เบรวิเญ่ ข้าหลวงใหญ่แห่งสหภาพอินโดจีน เมื่อ พ.ศ. 2482 ทั้งที่ แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้กับสมเด็จพระนโรดม สีหนุได้เคยตกลงกันให้ใช้แนวเบรวิเญ่เป็นแนวพรมแดนระหว่างกันตั้งแต่ พ.ศ. 2509

ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและกัมพูชาดีขึ้นใน พ.ศ. 2519 เพราะพล พตมีความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งภายในพรรค ในเดือนพฤษภาคมมีการส่งตัวแทนไปเจรจาเรื่องความขัดแย้งตามแนวชายแดน แต่การเจรจายุติลงโดยไม่สามารถตกลงกันได้ ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศรุนแรงขึ้นอีกในปีเดียวกันนั้นเมื่อทางเวียดนามได้ประกาศรวมชาติอินโดจีน และแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างเวียดนามกับลาวเพื่อให้เขมรแดงทำตาม เมื่อพล พตขึ้นมาเป็นผู้นำใน พ.ศ. 2520 ความสัมพันธ์กับเวียดนามแย่ลงในเดือนเมษายน พ.ศ. 2520 กองทัพเขมรแดงได้บุกโจมตีหมู่บ้านตินห์เบียว ในจังหวัดอันยางของเวียดนาม เวียดนามโต้ตอบด้วยการส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในกัมพูชา เขมรแดงจึงบุกโจมตีจังหวัดท้ายบิ่ญและจังหวัดฮาเตียนเป็นการโต้ตอบในเดือนกันยายน [53]

นอกจากนั้น กองกำลังเขมรแดงยังโจมตีตามแนวชายแดนลาวและโจมตีหมู่บ้านในบริเวณชายแดนไทยด้านจังหวัดปราจีนบุรี (ในขณะนั้น ปัจจุบันคือจังหวัดสระแก้ว) หลายครั้ง วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2520 มีกลุ่มชาวเขมรข้ามแดนมาปล้นสะดมที่บ้านน้อยป่าไร่ บ้านกกค้อ และบ้านหนองดอ อำเภออรัญประเทศ โดยกองกำลังเขมรแดง​เข้าโจมตีบ้านหนองดอก่อน จากนั้นจึงโจมตีบ้านกกค้อที่อยู่ใกล้เคียงกัน ทำให้ที่บ้านหนองดอ มีผู้เสียชีวิต 21 ศพ ที่บ้านกกค้อ มีผู้เสียชีวิต 8 ศพ กองกำลังเขมรแดง​ที่เข้าโจมตีที่บ้านน้อยป่าไร่ ซึ่งกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนประจำการอยู่ เกิดการปะทะกัน ทำให้ฝ่ายไทยเสียชีวิต 1 ศพคือ จ.ส.ต. ภิรมย์ แก้ววรรณา ในที่สุดกองกำลังฝ่ายเขมรแดง​ได้ล่าถอยไป[54]วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2520 กองกำลังกัมพูชาประชาธิปไตย​ข้ามแดนเข้ามาโจมตีที่บ้านสันรอจะงันและบ้านสะแหง อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี ทำให้มีการปะทะกับตำรวจตระเวนชายแดนและทหารไทย โดย พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตรเป็นผู้นำทหารไทยในการผลักดันกองกำลังกัมพูชาออกไป[54]

ในเวลาใกล้เคียงกัน หมู่บ้านตามแนวชายแดนในเวียดนามถูกโจมตี ทำให้เวียดนามหันมาโจมตีทางอากาศต่อกัมพูชาเป็นการสั่งสอน ในเดือนกันยายน ชาวตามแนวชายแดนเสียชีวิต 1,000 คน ทำให้ในเดือนต่อมา เวียดนามนำทหาร 20,000 นายเข้ามาต่อต้านการโจมตีของเขมรแดง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำเขมรแดงกับเวียดนามเลวร้ายลง เพราะเขมรแดงต้องการทำสงคราม และจีนน่าจะอยู่ฝ่ายเขมรแดงระหว่างความขัดแย้งนี้ ในขณะเดียวกันก็เกิดความขัดแย้งภายในพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ซึ่งเวียดนามได้ตกลงใจในช่วงต้น พ.ศ. 2521 ที่จะสนับสนุนฝ่ายต่อต้านพล พต ในที่สุด ได้เกิดการลุกฮือนำโดยโส พิมในภาคตะวันออกในเดือนพฤษภาคม ในระหว่างเวลาดังกล่าว สถานีวิทยุพนมเปญได้ประกาศปลุกระดมให้ชาวกัมพูชาลุกขึ้นต่อสู้กับเวียดนาม โดยกล่าวว่าถ้าทหารกัมพูชา 1 คน ฆ่าชาวเวียดนามได้ 30 คน ทหารกัมพูชาที่มีอยู่ราว 2 ล้านคน จะเพียงพอในการฆ่าชาวเวียดนาม 50 ล้านคน และเพียงพอในการยึดดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกลับมาเป็นของกัมพูชา หลังการลุกฮือของโส พิมไม่สำเร็จ ทำให้เกิดการสังหารหมู่ชาวเวียดนามในภาคตะวันออกตามมา ในเดือนพฤศจิกายน วอน เว็ตได้ก่อรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ ทำให้มีทั้งชาวกัมพูชาและชาวเวียดนามจำนวนมากลี้ภัยเข้าไปยังเวียดนาม

ในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2521 วิทยุฮานอยได้ประกาศการจัดตั้งแนวร่วมสามัคคีประชาชาติกู้ชาติกัมพูชา ซึ่งเป็นกลุ่มผสมระหว่างพวกที่นิยมและไม่นิยมคอมมิวนิสต์ที่ไปลี้ภัยในเวียดนาม และต้องการโค่นล้มระบอบของพล พตโดยมีเวียดนามหนุนหลัง เวียดนามเริ่มบุกรุกเข้ามาในกัมพูชาเมื่อ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2521 และใช้เวลาไม่นานก็สามารถยึดพนมเปญได้ในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2522 พล พตและกองกำลังเขมรแดงหลบหนีมายังแนวชายแดนไทยในเขตป่าเขาเพื่อฟื้นฟูกองกำลังขึ้นใหม่ ส่วนแนวร่วมที่เวียดนามหนุนหลังได้จัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาเพื่อฟื้นฟูประเทศในด้านต่าง ๆ ต่อไป

หลังสูญเสียอำนาจ[แก้]

หลังสูญเสียอำนาจ ฐานของเขมรแดงเหล่านี้ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้และได้รับทุนสนับสนุนจากการลักลอบขนเพชรและไม้ ความช่วยเหลือทางทหารจากจีนโดยกองทัพไทย และอาหารที่ลักลอบนำเข้ามาจากตลาดข้ามพรมแดนในประเทศไทย[55] ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2522 กองกำลังเขมรแดงนำโดยพล พตยอมให้นักข่าวชาวญี่ปุ่นเข้าไปสัมภาษณ์ได้ คณะนักข่าวญี่ปุ่นจำนวน 8 คนได้เดินทางออกจากกรุงเทพฯเมื่อ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2522 เพื่อเดินทางเข้าสู่กัมพูชาที่ชายแดนด้านจังหวัดสุรินทร์ พล พตได้ให้สัมภาษณ์ว่าต้องการร่วมมือกับกัมพูชาทุกฝ่ายเพื่อรวมประเทศและปฏิเสธข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คณะนักข่าวชาวญี่ปุ่นเดินทางกลับสู่ประเทศไทยเมื่อ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2522 เมื่อข่าวนี้เผยแพร่ออกไป ฝ่ายของเฮง สัมรินได้ออกแถลงการณ์โจมตีการพบปะของเขมรแดงกับนักข่าวญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ว่าเป็นความร่วมมือของจีน ญี่ปุ่น ไทยและอาเซียนในการสนับสนุนเขมรแดง [56]

เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2525 เขมรแดงเข้าร่วมในรัฐบาลผสมแนวร่วมเขมรสามฝ่ายภายใต้การนำของสีหนุเพื่อต่อต้านเวียดนามและรัฐบาลพนมเปญ เขมรแดงเข้าร่วมในสภาสูงสุดแห่งชาติกัมพูชาโดยตัวแทนคือเขียว สัมพัน และซอนเซน และได้เข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีสเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 และร่วมลงนามในข้อตกลง ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 เกิดเหตุการณ์จลาจลต่อต้านผู้นำเขมรแดง ประชาชนเข้าทำร้ายนายเขียว สัมพันที่เดินทางมาร่วมประชุมสภาสูงสุดแห่งชาติกัมพูชาจนบาดเจ็บ ทำให้การประชุมสภาสูงสุดแห่งชาติต้องเลื่อนออกไป[57] เขมรแดงได้จัดตั้งพรรคการเมืองคือพรรคสามัคคีแห่งชาติกัมพูชาเพื่อเตรียมเข้าร่วมการเลือกตั้ง[58] แต่เกิดความหวาดระแวงว่าอาจเป็นกลลวงให้วางอาวุธเพื่อจับตัวไปดำเนินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์[59] จึงประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยเขมรแดงถอนตัวออกจากการเจรจาสันติภาพ และไม่เข้าร่วมการเลือกตั้ง ไม่ยอมปลดอาวุธและไม่ยอมให้ประชาชนในเขตของตนลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2536[60] จุดยืนของเขมรแดงที่ไม่เข้าร่วมในประบวนการสันติภาพ ตามที่เขียวสัมพันระบุ คือ[61]

  • ยังมีทหารเวียดนามจำนวนมากในกัมพูชา โดยปลอมตัวเป็นพลเรือน
  • อันแทคร่วมมือกับฝ่ายรัฐบาลกัมพูชามากกว่าสภาสูงสุดแห่งชาติกัมพูชา โดยไม่สามารถถ่ายโอนอำนาจบริหารในกระทรวงสำคัญคือกลาโหม ต่างประเทศ การคลัง มหาดไทยและข่าวสารจากรัฐบาลพนมเปญได้ และยังไม่พอใจกฎหมายเลือกตั้งที่อนุญาตให้คนที่มีเชื้อชาติเวียดนามที่มีพ่อหรือแม่เกิดในกัมพูชาเข้าร่วมการเลือกตั้งได้
  • เขมรแดงต้องการยุบเลิกรัฐบาลพนมเปญและให้สภาสูงสุดแห่งชาติกัมพูชาขึ้นมามรอำนาจในการบริหารประเทศก่อนการเลือกตั้ง

หลังการเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้ง เขมรแดงเข้ายึดปราสาทพระวิหารจากฝ่ายของฮุน เซนเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 และขอเปิดการเจรจากับฝ่ายของสีหนุ โดยฝ่ายเขมรแดงยื่นข้อเรียกร้องเข้าร่วมในการบริหารแห่งชาติและตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐบาลใหม่แลกกับการคืนปราสาทพระวิหารและมอบดินแดนที่ยึดไว้คืนให้ฝ่ายรัฐบาล สมเด็จสีหนุทรงเห็นด้วยที่จะรับเขมรแดงเข้าร่วมรัฐบาล แต่ฮุน เซนและนโรดม รณฤทธิ์ไม่เห็นด้วย สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาแทรกแซงโดยประกาศจะตัดความช่วยเหลือกัมพูชา หากมีเขมรแดงร่วมรัฐบาล[62] การเจรจาเพื่อการปรองดองแห่งชาติตามนโยบายของสมเด็จพระนโรดม สีหนุที่เสนอให้เขมรแดงเข้าร่วมในการบริหารประเทศโดยต้องยอมคืนพื้นที่หนึ่งในสามของประเทศให้แก่รัฐบาลและยุบเลิกกองกำลังทั้งหมด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากการเจรจาครั้งสุดท้ายเมื่อ 27 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ที่กรุงเปียงยางเกาหลีเหนือล้มเหลว ฝ่ายรัฐบาลจึงออกกฎหมายให้เขมรแดงเป็นกลุ่มนอกกฎหมายด้วยคะแนนเสียง 103 ต่อ 0[63]

เมื่อรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาประกาศให้พรรคการเมืองของเขมรแดงเป็นพรรคที่ผิดกฎหมาย เขมรแดงได้ตอบโต้โดยจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อสหภาพแห่งชาติและการปลดปล่อยแห่งชาติกัมพูชา[64] ที่จังหวัดไพลินและจังหวัดพระวิหารเขมรแดง พยายามเข้ามามีบทบาทเป็นที่ปรึกษาในรัฐบาลใหม่แต่ก็ยังประกาศต่อต้านรัฐบาลใหม่ด้วยอาวุธด้วย รัฐบาลพนมเปญส่งกำลังทหารเข้าปราบเขมรแดงใน พ.ศ. 2537 แต่กองกำลังของเขมรแดงยังยันกำลังฝ่ายรัฐบาลไว้ได้ เขมรแดงพยายามตอบโต้รัฐบาลโดยลักพาตัวชาวบ้านเข้าไปเป็นแรงงานเพื่อเตรียมสู้กับฝ่ายรัฐบาล เช่น ในช่วง 24 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 เขมรแดงเข้ามาลักพาตัวชาวบ้านในจังหวัดเสียมราฐไปราว 150 คน เพื่อนำไปซ่อมสร้างถนนและขนอาวุธให้เขมรแดง [65] การรบของเขมรแดงเน้นการรบแบบจรยุทธ์ ส่วนกลยุทธของฝ่ายรัฐบาลคือพยายามขยายนำความเจริญเข้าไปสู่พื้นที่ห่างไกล เพื่อไม่ให้ตกอยู่ใต้อิทธพลของเขมรแดง และพยายามชักนำให้ทหารระดับล่างของเขมรแดงแปรพักตร์มาร่วมกับฝ่ายรัฐบาล โดยใน พ.ศ. 2536 มีทหารเขมรแดงมอบตัวราว 1,000 คนและใน พ.ศ. 2537 มีทหารเขมรแดงในจังหวัดกำปอตมอบตัวอีกประมาณ 150 – 200 คน[65] ในขณะเดียวกัน รัฐบาลพนมเปญมักจะกล่าวหาทหารไทยว่าให้ความช่วยเหลือเขมรแดงเมื่อเกิดเหตุปะทะกันตามแนวชายแดน ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ทหารไทยกับทหารกัมพูชาปะทะกันที่ช่องพระประไล อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โดยทหารกัมพูชาล้ำแดนเข้ามาและซุ่มโจมตีรถบรรทุกทหารในฝั่งไทย ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 2 นาย ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าทหารไทยล้ำแดนกัมพูชาและส่งเสบียงให้เขมรแดง[66]

ใน พ.ศ. 2539 เริ่มมีความแตกแยกอย่างรุนแรงในกลุ่มเขมรแดงซึ่งถึงแม้จะต่อสู้กับรัฐบาลด้วยกำลังทหารได้แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไป ความแตกแยกเห็นได้จากการหันมาให้ความร่วมมือกับรัฐบาลพนมเปญของเอียง สารี และทหารเขมรแดงกว่า 3,000 คน ที่เข้ามอบตัวต่อฝ่ายรัฐบาลเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2539 และจัดตั้งพรรคการเมืองของตัวเองคือขบวนการสหภาพแห่งชาติประชาธิปไตย[67] ในขณะที่วิทยุเขมรแดงออกมาโจมตีเอียง ซารีว่าฉ้อโกงเงินจากกองทัพเขมรแดงจำนวน 400 ล้านบาท และไม่ยอมนำรายได้จากการค้าพลอยและไม้เข้าสู่กองทุนรวมของพรรค[63] และการที่พอล พต สั่งฆ่าซอน เซนและครอบครัวเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2540[68] เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 เขมรแดงนำโดยเขียว สัมพัน ตา มก ตา มุต และตา มิตยังเข้าช่วยฝ่ายของพระนโรดม รณฤทธิ์ในการต่อสู้กับทหารฝ่ายของฮุน เซนแต่สุดท้ายฝ่ายของพระนโรดม รณฤทธิ์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้[69] ต่อมาใน พ.ศ. 2540 นี้เอง เขียว สัมพันได้แยกตัวออกจากเขมรแดงไปจัดตั้งพรรคการเมืองของตนเองคือพรรคเอกภาพแห่งชาติเขมร เพื่อเข้าร่วมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541

หลังจากการเสียชีวิตของพอล พต เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2541 กองกำลังเขมรแดงส่วนใหญ่ได้ยอมวางอาวุธ เขียว สัมพัน กับนายเจียยอมจำนนต่อฮุน เซนเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2541 ทำให้เหลือเพียงกองกำลังติดอาวุธจำนวนน้อยของตาม็อกเท่านั้น เขียว สัมพันและตาม็อกประกาศยกเลิกรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อสหภาพแห่งชาติและการปลดปล่อยแห่งชาติกัมพูชาหลังการเสียชีวิตของพล พต ใน พ.ศ. 2541 ตาม็อกถูกฝ่ายรัฐบาลจับได้เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2542 ตาม็อกและกังเก็กเอียงที่เป็นผู้บัญชาการคุกต็วล ซแลง ที่ใช้คุมขังนักโทษการเมืองในขณะที่เขมรแดงเรืองอำนาจ ถูกตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

การพิจารณาคดีอดีตผู้นำเขมรแดง[แก้]

ใน พ.ศ. 2540 รัฐบาลกัมพูชาได้เริ่มดำเนินการที่จะดำเนินคดีกับผู้นำเขมรแดงในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่กระบวนการเกิดขึ้นช้า ซึ่งรัฐบาลกล่าวว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดีและชาติแคลนเงินทุน หลายประเทศได้ให้เงินสนับสนุนรวมทั้งอินเดียและญี่ปุ่น แต่จนเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 เงินทุนก็ยังไม่เพียงพอ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศาลสูงของกัมพูชาได้ตัดสินว่าผู้นำเขมรแดง 30 คนมีความผิด และสหประชาชาติเสนอให้ดำเนินคดีกับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่

ใน พ.ศ. 2550 นายเอียง ซารีและนางเขียว ธิริธภรรยา ถูกจำคุกที่ศาลนานาชาติกรุงพนมเปญตามคำสั่งของสมเด็จ ฮุน เซนนายกรัฐมนตรีและส่วนนั้นยังไม่มีผู้รายงานมาดำเนินคดี มีเพียงเหลือแต่เขียว สัมพัน อายุ 75 ปี และคัง เค็ค เอียว หรือ สหายดุช อดีตหัวหน้าเรือนจำต็วลแซลง เท่านั้น ที่จะดำเนินคดีล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมร กัง เก็ก เอียวหรือสหายดุจ อดีตผู้ควบคุมคุกตวลแซลงถูกดำเนินคดีเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชากว่า 1.7 ล้านคน

สิ่งที่เหลืออยู่[แก้]

พิพิธภัณฑ์ต็วลซแลง[แก้]

ศิลปะและวรรณกรรม[แก้]

  • KAMBOJIA WAGA-AI “สี่ปีนรกในเขมร” เขียนโดยยาสึโอะ นะอิโตะ แปลเป็นภาษาไทยโดยผุสดี นาวาวิจิตร[70] เป็นเรื่องราวจากบันทึกประจำวันของผู้เขียนที่เป็นภรรยาของทูตชาวกัมพูชา สามีและลูกชาย 2 คนของเธอ เสียชีวิตระหว่างการปกครองของเขมรแดง [71]
  • วัน นัธ จิตรกรที่มีชื่อเสียงของกัมพูชา ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดนักโทษจากคุก S-21 ที่มีชีวิตอยู่เมื่อเวียดนามยึดพนมเปญได้ ได้นำประสบการณ์ในคุกต็วลแซลงมาเขียนเป็นภาพ และเขียนหนังสือเรื่อง A Cambodian Prison Portrait: One Year in the Khmer Rouge's S-21 Prison
  • In the Shadow of the Banyan เขียนโดยหม่อมราชวงศ์กษัตรี สีสุวัตถิ์ (ศรีสวัสดิ์) เล่าถึงชีวิตของพระองค์ที่ถูกกวาดต้อนออกจากพนมเปญหลังจากที่เขมรแดงเข้าพนมเปญได้ ซึ่งเมื่อเวียดนามเข้ามาปลดปล่อยกัมพูชาใน พ.ศ. 2522 นั้น ครอบครัวของพระองค์สิ้นพระชนม์หมดสิ้น มีเพียงพระองค์กับพระมารดาเท่านั้นที่รอดชีวิตอยู่ เรื่องนี้แปลเป็นภาษาไทยโดยนิลุบล พรพิทักษ์พันธุ์ในชื่อเรื่อง “ร่มไทรวิปโยค” [72]
  • Beyond the Horizon: Five year with the Khmer Rouge เขียนโดย Laurence Picq ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสที่นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ และได้แต่งงานกับผู้นำของเขมรแดงระดับกลาง และเป็นชาวตะวันตกเพียงคนเดียวที่อยู่ในกัมพูชาในยุคกัมพูชาประชาธิปไตย
  • ยก คุณ นักเขียนขาวกัมพูชาได้เขียนเรื่อง “ชีวิตเจ็บช้ำในระบอบพล พต” เป็นภาษาเขมร[73]
  • สีจันทร์ ศิว์ ทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติได้เขียนบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เขมรแดงขึ้นครองอำนาจ และการหลบหนีออกนอกประเทศกัมพูชาของเขา ในชื่อเรื่อง Golden bones เรื่องนี้แปลเป็นภาษาไทยในชื่อเรื่อง"กระดูกทองคำ"โดยเสาวณีย์ นิวาศะบุตร[74]

ภาพยนตร์[แก้]

  • ภาพยนตร์เรื่อง S-21: The Khmer Rouge Killing Machine สร้างจากความทรงจำของวัน นัธ [75]
  • ภาพยนตร์เรื่องทุ่งสังหาร (The Killing Fields) เป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2527 ซึ่งกล่าวถึงประเทศกัมพูชาในยุคการปกครองของเขมรแดง โดยอาศัยเค้าโครงเรื่องจากประสบการณ์จริงของนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่เข้าไปทำข่าวในกัมพูชาขณะนั้น 3 คน ได้แก่ ซิดนีย์ ชานเบิร์ก นักข่าวชาวอเมริกัน ดิธ ปราน ล่ามและนักข่าวชาวเขมร และจอน สเวน นักข่าวชาวอังกฤษ
  • ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา ได้แก่ Cambodia: Between War and Peace The Conscience of Nhem En Deacon of Death Enemies of the People The Land of the Wandering Souls Monkey Dance New Year Baby Samsara: Death and Rebirth in Cambodia Year Zero: The Silent Death of Cambodia
  • ภาพยนตร์เรื่อง First They Killed My Father ซึ่งกำกับโดย Angelina Jolie จากหนังสือชื่อเรื่องเดียวกัน เขียนโดย Loung Ung [76]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Kiernan, Ben (2004). How Pol Pot Came to Power: Colonialism, Nationalism, and Communism in Cambodia, 1930–1975. Yale University Press. ISBN 978-0300102628.
  2. 2.0 2.1 Cook, Susan; Rowley, Kelvin (2017). Genocide in Cambodia and Rwanda: New Perspectives (PDF). Routledge. ISBN 9781351517775.
  3. "How Thatcher gave Pol Pot a hand". New Statesman. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-12. สืบค้นเมื่อ 29 June 2018.
  4. "Butcher of Cambodia set to expose Thatcher's role". The Guardian. 9 January 2000. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-12. สืบค้นเมื่อ 29 June 2018.
  5. Becker, Elizabeth (1998-04-17). "Death of Pol Pot: The Diplomacy; Pol Pot's End Won't Stop U.S. Pursuit of His Circle". The New York Times. สืบค้นเมื่อ March 7, 2022.
  6. Parkinson, Charles; Cuddy, Alice; Pye, Daniel (May 29, 2015). "The Pol Pot dilemma". The Phnom Penh Post. Phnom Penh, Cambodia. สืบค้นเมื่อ March 7, 2022.
  7. ชื่อ Khmer Rouge มีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศส มีความหมายว่า ชาวเขมรสีแดง (Red Khmer) ได้รับการบัญญัติโดย พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุ แต่ขบวนการคอมมิวนิสต์ของกัมพูชาไม่เคยเรียกตนเองด้วยชื่อนี้ ดู David P. Chandler. Brother Number One: A Political Biography of Pol Pot, revised edition. (Chiang Mai: Silkworm Books, 2000.) P. 214.
  8. ธีระ นุชเปี่ยม. รัฐกับสังคมกัมพูชา (กรุงเทพฯ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543.) หน้า 11
  9. ธีระ นุชเปี่ยม. เพิ่งอ้าง. หน้า 12
  10. "ไทยผิดหรือเวียดถูก? เปิดปมดราม่าแถลงอาลัยป๋า". posttoday. 11 June 2019. สืบค้นเมื่อ 25 February 2023.
  11. Pol Pot Dead.” BBC News (April 16, 1998.) เรียกข้อมูล 5 กันยายน พ.ศ. 2550
  12. “ตาม็อก” อดีตผู้นำเขมรแดงสิ้นชีพ[ลิงก์เสีย].” The Krungthep turakij web site (21 กรกฎาคม 2549.) เรียกข้อมูล 5 กันยายน พ.ศ. 2550
  13. ศาลกัมพูชาตั้งข้อหาอดีตหัวหน้าคุกเขมรแดงก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เก็บถาวร 2012-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.” Manager Online (1 สิงหาคม 2550.) เรียกข้อมูล 5 กันยายน พ.ศ. 2550
  14. The Khmer Rouge trials: Better Late Than Never.” Economist.com (August 2, 2007.) เรียกข้อมูล 5 กันยายน พ.ศ. 2550
  15. "จับ "นวน เจีย" เบอร์ 2 เขมรแดงขึ้นศาล เก็บถาวร 2008-01-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." หนังสือพิมพ์มติชน (20 กันยายน 2550, ปีที่ 30, ฉบับที่ 10785.) หน้า 21.
  16. ชุมพล เลิศรัฐการ. กัมพูชาในการเมืองโลก : บทบาทของเจ้าสีหนุกับสงครามและสันติภาพ (กรุงเทพฯ : สัญญาพับลิเคชั่น, 2536.) หน้า 168, 170 – 173.
  17. David P. Chandler. Brother Number One: A Political Biography of Pol Pot. Pp. 25, 32.
  18. The beginning of the Khmer Rouge Army...: The Rising of the Khmer Students' Association เก็บถาวร 2008-01-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.” Khmer_Rouge.
  19. ปิแอร์ โบรเชิซ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสในขณะนั้น ได้กล่าวถึง “วงมาร์กซิสต์” ว่าเป็น กิจกรรมคอมมิวนิสต์ “วงนอก” เนื่องจากกลุ่มดังกล่าว เป็นกลุ่มกิจกรรมที่ได้รับความเห็นชอบและตรวจสอบจากพรรค (ซึ่งก็ถือว่าเป็นกลุ่มกิจกรรมกลุ่มหนึ่งของพรรคเอง) แต่สามารถให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้าร่วมได้ ดู David P. Chandler. Brother Number One: A Political Biography of Pol Pot. P. 33.
  20. David P. Chandler. Ibid. Pp. 28, 34.
  21. David P. Chandler. Ibid. P. 35.
  22. เจ้าสีหนุเรียกการรัฐประหารครั้งนั้นว่า “สงครามศักดิ์สิทธิ์ของราชวงศ์เพื่อเอกราช” (The Royal Crusade for Independence) โดยพระองค์ได้ให้เหตุผลว่า ทำไปเพื่อดำเนินการเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสให้ได้ภายใน พ.ศ. 2498 ดู ธีระ นุชเปี่ยม. “การเมืองในกัมพูชา, ” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น. หน้า 380
  23. เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. หน้า 289 – 290
  24. David P. Chandler. Brother Number One: A Political Biography of Pol Pot. Pp. 37 – 38.
  25. David P. Chandler. The Tragedy of Cambodian History: Politics, War, and Revolution since 1945 (Chiang Mai: Silkworm Books, 1999.) P. 66.
  26. ชุมพล เลิศรัฐการ. กัมพูชาในการเมืองโลก : บทบาทของเจ้าสีหนุกับสงครามและสันติภาพ. หน้า 171.
  27. หนังสือพิมพ์แนวสังคมนิยมที่ตีพิมพ์ในกัมพูชาขณะนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายตรายี่ห้อ เช่น ประชาชน มิตรภาพ หรือเอกภาพ เป็นต้น ดู ธีระ นุชเปี่ยม. “การเมืองในกัมพูชา, ” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น. หน้า 386.
  28. ธีระ นุชเปี่ยม. เพิ่งอ้าง. หน้า 386 – 387.
  29. ธีระ นุชเปี่ยม. เพิ่งอ้าง. หน้า 386.
  30. ชุมพล เลิศรัฐการ. กัมพูชาในการเมืองโลก : บทบาทของเจ้าสีหนุกับสงครามและสันติภาพ. หน้า 172.
  31. ธีระ นุชเปี่ยม. “การเมืองในกัมพูชา, ” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น. หน้า 385 – 386.
  32. Margaret Slocomb. The People’s Republic of Kampuchea 1979 – 1989: The Revolution After Pol Pot (Chiang Mai: Silkworm Books, 2003.) Pp. 8 – 9.
  33. Margaret Slocomb. Ibid. Pp. 9 – 10.
  34. บริเวณดังกล่าวนี้ ถือเป็นพื้นที่หลักของฐานที่มั่นลับฝ่ายเวียดนาม ดู Margaret Slocomb. Ibid. P. 10.
  35. เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. หน้า 311.
  36. เดวิด แชนด์เลอร์. เพิ่งอ้าง. หน้า 318.
  37. 37.0 37.1 Margaret Slocomb. The People's Republic of Kampuchea 1979 – 1989: The Revolution After Pol Pot. P. 11.
  38. ชุมพล เลิศรัฐการ. กัมพูชาในการเมืองโลก : บทบาทของเจ้าสีหนุกับสงครามและสันติภาพ. หน้า 167.
  39. เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. หน้า 319.
  40. ช่วงปลาย พ.ศ. 2515 รัฐบาลของสาธารณรัฐกัมพูชาสามารถควบคุมกรุงพนมเปญ บางส่วนของจังหวัดพระตะบอง และจังหวัดขนาดใหญ่อีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น ส่วนพื้นที่ที่เหลือของประเทศ "ถ้าไม่อยู่ในมือของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ก็เป็นที่ๆ ไม่ปลอดภัยในทางการปกครอง" ดู เดวิด แชนเลอร์. เพิ่งอ้าง. หน้า 326.
  41. ธีระ นุชเปี่ยม. "การเมืองในกัมพูชา, " เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นยุคสงครามเย็น. หน้า 394.
  42. เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. หน้า 327.
  43. ขณะนั้น กรุงพนมเปญเต็มไปด้วยชาวชนบทผู้ลี้ภัยจากการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบบี-52 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งปฏิบัติการในเขตชนบทเป็นเวลา 200 วัน ใน พ.ศ. 2516 ดู Margaret Slocomb. The People's Republic of Kampuchea 1979 – 1989: The Revolution After Pol Pot. Pp. 17 – 18.
  44. เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. หน้า 327 – 328.
  45. เบญจาภา ไกรฤกษ์, ม.ร.ว. เนาขแมร์, ประยงค์ คงเมือง บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ : มติชน, 2547.) หน้า 193.
  46. 46.0 46.1 ธีระ นุชเปี่ยม. การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองกัมพูชา (กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2542.) หน้า 93.
  47. ธีระ นุชเปี่ยม. เพิ่งอ้าง. หน้า 96.
  48. ชุมพล เลิศรัฐการ. กัมพูชาในการเมืองโลก : บทบาทของเจ้าสีหนุกับสงครามและสันติภาพ. หน้า 178.
  49. ธีระ นุชเปี่ยม. “การเมืองในกัมพูชา, ” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น. หน้า 397 – 398.
  50. Jonathan Glover. Humanity: A Moral History of the Twentieth Century (Yale Nota Bene, 2001.) P. 301.
  51. ธีระ นุชเปี่ยม. การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองกัมพูชา. หน้า 93 – 94.
  52. East and Southeast Asia: A Multidisciplinary Survey. Colin Mackerras, eds. (Colorado: Lynne Rienner Publishers, 1995.) P. 589.
  53. เขียว สัมพัน. ประวัติศาสตร์กัมพูชากับจุดยืนที่ผ่านมาของข้าพเจ้า. อภิญญา ตะวันออก, แปล. กทม. มติชน.2549
  54. 54.0 54.1 รุ่งมณี เมฆโสภณ. ถกแขมร์ แลเขมร. กทม. บ้านพระอาทิตย์. 2552
  55. Fawthrop, Tom; Jarvis, Helen (2014). Getting Away With Genocide?. ISBN 0-86840-904-9.
  56. รุ่งมณี เมฆโสภณ. ถกแขมร์ แลเขมร. กทม. บ้านพระอาทิตย์. 2552
  57. วัชรินทร์ ยงศิริ.ตามรอยจีนเข้าพนมเปญ ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 199-203
  58. David Lea & Colette Milward (Ed.). A Political Chronology of South-East Asia and Oceania. London: Psychology Press. 2001. p. 33
  59. เขียว สัมพัน. ประวัติศาสตร์กัมพูชากับบทเรียนที่ผ่านมาของข้พเจ้า. อภิญญา ตะวันออก แปล. กทม. มติชน. 2549
  60. พวงทอง ภวัครพันธุ์. 2552. สงคราม การค้าและชาตินิยมในความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา. กทม. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์. หน้า 41 – 84
  61. วัชรินทร์ ยงศิริ.ทางเลือกของเขมรแดง ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 156-162
  62. วัชรินทร์ ยงศิริ. ความปรองดองแห่งชาติกัมพูชา ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 135-142
  63. 63.0 63.1 วัชรินทร์ ยงศิริ. ความแตกแยกของเขมรแดง.. ใครได้ใครเสีย ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 73-81
  64. Philip Short. Pol Pot: Anatomy of a Nightmare. Macmillan. New York: Henry Holt and Company, LLC. 2004. p. 434
  65. 65.0 65.1 วัชรินทร์ ยงศิริ.วัฏจักรสงครามในกัมพูชา ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 82 – 88
  66. วัชรินทร์ ยงศิริ.วิพากษ์ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 263-265
  67. Peter H. Maguire. Facing Death in Cambodia. New York: Columbia University Press. 2005. pp. 103-104.
  68. ไมเคิล ลีเฟอร์. พจนานุกรมการเมืองสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กทม. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2548.
  69. วัชรินทร์ ยงศิริ. สงครามกัมพูชา จุดสุดท้ายที่โอร์เสม็ด ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 30-37
  70. ‘ผุสดี นาวาวิจิต’ บรรณาธิการ สนพ.ผีเสื้อ ผู้แปล 4 ปี นรกในเขมร และโต๊ะโตะจัง ถึงแก่กรรมแล้ว
  71. "สี่ปีนรกในเขมร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-07. สืบค้นเมื่อ 2013-04-17.
  72. "ร่มไทรวิปโยค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-01. สืบค้นเมื่อ 2013-04-28.
  73. บัญญัติ สาลี. วรรณกรรมเขมรปัจจุบัน. มหาสารคาม. อภิชาตการพิมพ์. 2551
  74. กระดูกทองคำ[ลิงก์เสีย]
  75. "Vann Nath Film Biography - Film - Time Out London". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-13. สืบค้นเมื่อ 2013-04-17.
  76. https://www.netflix.com/title/80067522

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลทั่วไป[แก้]

ข้อมูลเกี่ยวกับศาลพิเศษและการพิจารณาคดีอดีตผู้นำเขมรแดง[แก้]

หนังสือและบทความ[แก้]