วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
National Defence College | |
สัญลักษณ์ วปอ. | |
ชื่อย่อ | วปอ. / NDC |
---|---|
ประเภท | สถาบันการศึกษาทางทหาร |
สถาปนา | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 |
สังกัดการศึกษา | สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย |
ผู้อำนวยการ | พลโท ทักษิณ สิริสิงห |
ที่ตั้ง | เลขที่ 64 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400 |
เว็บไซต์ | www |
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ. เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของประเทศ ขึ้นตรงกับสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม[1] มีหน้าที่จัดการศึกษาหลักสูตรเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติและการป้องกันราชอาณาจักร ให้แก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน พนักงานองค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเอกชน โดยฝึกปฏิบัติการวางแผนและนโยบายระดับชาติ การพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ ปัจจุบัน (1 ตุลาคม พ.ศ. 2567) พลโท ทักษิณ สิริสิงห เป็นผู้อำนวยการ มี พลตรี อรรคเดช ประทีปอุษานนท์[2] เป็น รองผู้อำนวยการ
ประวัติ
[แก้]วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ก่อตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 โดยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม โดยเปิดการศึกษาเฉพาะผู้บริหารชั้นสูงของฝ่ายทหารและพลเรือนเท่านั้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 จึงเปิดหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน หรือ ปรอ. ขึ้นมาอีกหลักสูตรหนึ่ง เพื่อให้นักธุรกิจระดับเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารได้เข้ารับการศึกษาร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐ ในปี พ.ศ. 2546 เปิด หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐ เอกชน และการเมือง หรือ วปม. โดยรับนักการเมืองเพิ่มเข้ามา ปัจจุบันหลักสูตร วปม. ไม่เปิดการศึกษา คงเหลือแต่หลักสูตร วปอ. และ ปรอ. นักศึกษา วปอ. เป็นผู้บริหารระดับสูง โดยมีข้อกำหนดของผู้ที่จะได้รับการพิจารณาให้เข้าศึกษานี้ว่า
- ถ้าเป็นข้าราชการพลเรือน ต้องเป็นระดับอำนวยการระดับสูง หรือเทียบเท่า ขึ้นไป
- ถ้าเป็นข้าราชการทหาร ต้องมีชั้นยศระดับพันเอก, นาวาเอก, นาวาอากาศเอก รับเงินเดือนอัตราพันเอก (พิเศษ), นาวาเอก (พิเศษ), นาวาอากาศเอก (พิเศษ) ขึ้นไป
- ถ้าเป็นข้าราชการตำรวจ ต้องมีชั้นยศระดับพันตำรวจเอก รับเงินเดือนอัตราพันตำรวจเอก (พิเศษ) ขึ้นไป[3]
เข็มรัฎฐาภิรักษ์
[แก้]เข็มรัฎฐาภิรักษ์ เป็นเครื่องหมายวิทยฐานะ สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เริ่มใช้ตั้งแต่การศึกษารุ่นแรก (ประจำปี พ.ศ. 2498 – 2499) เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยความหมายของสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบเป็นเข็มรัฎฐาภิรักษ์มีดังนี้
- รูปทรงของเข็มที่เป็นรูปโล่ หมายถึง สิ่งที่ใช้ป้องกันภัยและอันตรายเมื่อนำมาใช้ร่วมกับภาพธงชาติ จึงมีความหมายถึงการป้องกันประเทศชาติให้อยู่รอดปลอดภัย
- แถบธงชาติไทย หมายถึง ราชอาณาจักรไทย
- สีฟ้าอ่อน ซึ่งเป็นสีของพื้นโล่ หมายถึง สถาบันการศึกษาชั้นสูงของประเทศเป็นสีท้องฟ้าอันเป็นสิ่งที่สูงส่ง
- พระมหามงกุฎพร้อมรัศมี หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์
- อุณาโลม หมายถึง ศาสนาประจำชาติ เนื่องจากเป็นเครื่องหมายที่ใช้ในพิธีทางศาสนาโดยทั่วไป
- จักร หมายถึง กองทัพบก
- สมอเรือ หมายถึง กองทัพเรือ
- ปีกนก หมายถึง กองทัพอากาศ
- ราชสีห์และคชสีห์ หมายถึง กระทรวง ทบวงต่าง ๆ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของ ตราประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและสำนักนายกรัฐมนตรี
- ดาวห้าแฉกสีทอง หมายถึง การผนึกกำลังทั้ง 5 ฝ่าย ได้แก่ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ พลเรือน ให้เป็นหนึ่งเดียว
- ช่อชัยพฤกษ์ หมายถึง ชัยชนะอันเกิดจากความสามัคคี ความพร้อมเพรียงกันของบุคคลทุกฝ่ายในชาติ
การวิพากษ์วิจารณ์
[แก้]ผลงานวิจัย “เครือข่ายผู้บริหารระดับสูงผ่านเครือข่ายทางการศึกษา” ของนวลน้อย ตรีรัตน์ ใน พ.ศ. 2555 รายงานว่าหลักสูตร วปอ. และหลักสูตรอื่นที่คล้ายกันเป็นที่แบ่งอำนาจระหว่างชนชั้นนำภายใต้ความสัมพันธ์แบบ “พรรคพวกเพื่อนฝูง” และเป็นช่องทางลัดให้คนกลุ่มใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำ[4][5][6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพบก กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2552" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-28. สืบค้นเมื่อ 2010-01-09.
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 262 ง 21 กันยายน พ.ศ. 2567
- ↑ เว็บไซต์วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
- ↑ ใบตองแห้ง...ออนไลน์: พรรคพวกเพื่อนศาล Fast Track (1)
- ↑ ส่องเทรนด์ "หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง" เครือข่ายชั้นนำใหม่?
- ↑ เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง (4): วัฒนธรรมคอร์รัปชัน จริงหรือที่คอร์รัปชันฝังอยู่ใน DNA ของเรา
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์