เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น)
เจ้าพระยามหาเสนา (ปิ่น) | |
---|---|
สมุหพระกลาโหม | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2348 - พ.ศ. 2352 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
ก่อนหน้า | เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) |
ถัดไป | เจ้าพระยามหาเสนา (บุญมา) |
เสนาบดีกรมเกษตราธิการ | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2325– พ.ศ. 2348 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
ก่อนหน้า | พระยาพลเทพ (กรุงธนบุรี) |
ถัดไป | พระยาพลเทพ (บุนนาค บ้านแม่ลา) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ปิ่น อาณาจักรอยุธยา |
เสียชีวิต | พระนคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์ |
ศาสนา | พุทธ |
คู่สมรส | ท่านผู้หญิงนิ่มนวล(ฟัก) |
บุตร | เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ฯลฯ |
บุพการี |
|
เจ้าพระยาอภัยราชา นามว่า ปิ่น ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยามหาเสนา สมุหพระกลาโหมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นบิดาของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) เป็นบุตรของเจ้าพระยามหาสมบัติ (ผล)[1] บางแห่งระบุว่า มารดาของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) เป็นน้องสาวของเจ้าคุณบวรโภชน์ (ฉิม)[2] พระพี่เลี้ยงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ซึ่งเป็นธิดาของพระยายมราช (ฉ่ำ)
เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) สืบเชื้อสายมาจากพราหมณ์ศิริวัฒนะ พราหมณ์ปุโรหิตในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[1] พราหมณ์ศิริวัฒนะมีบุตรคือพระมหาราชครูพระราชปุโรหิตาจารย์ พระมหาราชครูฯมีบุตรสองคนได้แก่ เจ้าพระยาพิษณุโลก (เมฆ) (บิดาของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่)) และเจ้าพระยามหาสมบัติ (ผล)
เจ้าพระยามหาสมบัติ (ผล) มีบุตรธิดาได้แก่;[1]
- ญ. ชื่อ เลื่อน
- เจ้าพระยาพลเทพ (ทองอิน) ต้นสกุล"ทองอิน" และ"อินทรพล"
- กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ (มุก) พระภัสดาในกรมหลวงนรินทรเทวี
- ท้าวทรงกันดาล (ทองศรี)
- ญ. ชื่อ ทองเภา ถูกกวาดต้อนไปพม่าเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา
- เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น)
เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ปรากฏรับราชการครั้งแรกในสมัยกรุงธนบุรีเป็นเสมียนในกรมมหาดไทย เป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯตั้งแต่ครั้งทรงเป็นเจ้าพระยาจักรี ในเหตุการณ์กบฏพระยาสรรค์เมื่อสิ้นสุดสมัยธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพออกไปตีเมืองกัมพูชา ได้มอบหมายให้พระสุริยอภัย (ทองอิน ต่อมาคือพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์) ยกทัพจากนครราชสีมาเข้ามาระงับเหตุในกรุงธนบุรี นายปิ่นเป็นผู้เกณฑ์รวบรวมไพร่พลให้แก่พระสุริยอภัยในการสู้รบกับพระยาสรรค์[2] ในพ.ศ. 2325 เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงแต่งตั้งนายเสมียนปิ่นขึ้นเป็นพระยาพลเทพ เสนาบดีกรมนาคนแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏในคำปรึกษาตั้งข้าราชการว่า;
นายปิ่นข้าหลวงเดิม ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินการสงครามมาหลายครั้ง ต้องศัสตราวุธข้าศึก แล้วครั้งนี้คิดอ่านสื่อสวนชวนนายทัพนายกองอาณาประชาราษฏร์มาตีเอาพระนครธนบุรีได้ มีความชอบมาก ขอพระราชทานตั้งให้เป็นพระยาพลเทพ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯและกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จออกจากพระนครไปในการสงครามต่างๆ พระยาพลเทพ (ปิ่น) ทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนคร[4]ได้แก่ สงครามท่าดินแดงพ.ศ. 2329 และสงครามตีเมืองทวายพ.ศ. 2336 เมื่อเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อพ.ศ. 2348 พระยาพลเทพ (ปิ่น) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยามหาเสนา สมุหกลาโหม ขึ้นแทนที่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อพ.ศ. 2352 เจ้าพระยามหาเสนา (ปิ่น) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่เจ้าพระยาอภัยราชา ดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยาวังหน้า[3]ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เป็นอธิบดีของขุนนางวังหน้าทั้งปวง
เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ 2 เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) สมรสกับท่านผู้หญิงฟัก มีบุตรธิดาได้แก่;[1]
- เจ้าจอมปริก ในรัชกาลที่ 1
- จมื่นเด็กชา (แตงโม) มหาดเล็กในกรมพระราชวังบวรฯ
- เจ้าจอมปราง ในรัชกาลที่ 2
- เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์)
- หลวงรามณรงค์ (โต)
- พระยาพิชัยสงคราม (โห้)
- หลวงมหาใจภักดิ์ (เจริญ)
- หลวงพิพิธ (ม่วง) ถึงแก่กรรมในการรบที่บกหวาน สงครามเจ้าอนุวงศ์ เมื่อพ.ศ. 2371
- ท่านผู้หญิงบุนนาค ภรรยาของเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงเจือ นครราชเสนี (เจือ สิงหเสนี) ท.ช.ต.จ. ณ วัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๕.
- ↑ 2.0 2.1 นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ; มติชน, พ.ศ. 2550.
- ↑ 3.0 3.1 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : กรมศิลปากร, 2545.
- ↑ ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ๒๕๓๑.