สภาผู้แทนราษฎรไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สภาผู้แทนราษฎรแห่งราชอาณาจักรไทย
สภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26
ตรารัฐสภาไทย
ประเภท
ประเภท
เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสภาไทย
ผู้บริหาร
รองประธานคนที่ 1
ปดิพัทธ์ สันติภาดา, เป็นธรรม
ตั้งแต่ 5 กรกฎาคม 2566
รองประธานคนที่ 2
เศรษฐา ทวีสิน, เพื่อไทย
ตั้งแต่ 22 สิงหาคม 2566
ประธานวิปฝ่ายรัฐบาล
วิสุทธิ์ ไชยณรุณ, เพื่อไทย
ตั้งแต่ 22 กุมภาพันธ์ 2567
ชัยธวัช ตุลาธน, ก้าวไกล
ตั้งแต่ 17 ธันวาคม 2566
ประธานวิปฝ่ายค้าน
โครงสร้าง
สมาชิก500
กลุ่มการเมือง
ฝ่ายรัฐบาล
ฝ่ายค้าน
คณะกรรมาธิการ35 คณะ
ระยะวาระ
ไม่เกิน 4 ปี
การเลือกตั้ง
แบบคู่ขนาน
แบ่งเขตเลือกตั้ง (400)
บัญชีรายชื่อ (100)
การเลือกตั้งครั้งล่าสุด
14 พฤษภาคม 2566
การเลือกตั้งครั้งหน้า
ไม่ช้ากว่า 27 มิถุนายน 2570
ที่ประชุม
Phra Suriyan chamber.jpg
ห้องประชุมพระสุริยัน
สัปปายะสภาสถาน
เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย
เว็บไซต์
เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร

สภาผู้แทนราษฎรไทย เป็นสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 500 คน แบ่งการได้มาออกเป็น 2 แบบ ได้แก่แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง โดยให้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 100 คน ทั้งนี้อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละ 4 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย มีหน้าที่โดยตรงในทางนิติบัญญัติ และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี การตั้งกระทู้ถาม และการเสนอญัตติขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี

อำนาจหน้าที่[แก้]

การตรากฎหมาย[แก้]

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ[แก้]

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะเสนอได้ก็แต่โดย (ตามมาตรา 131 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)
  • คณะรัฐมนตรี โดยข้อเสนอแนะของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ตามมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)
  1. การเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้เสนอต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวัน โดยการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา ถ้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอตามมาตรา 131
  2. ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็น ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อทักท้วงภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ให้รัฐสภาดำเนินการต่อไป
  3. ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบมีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภาและให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าวในการนี้ ให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระตามที่เห็นสมควรได้ และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว ให้รัฐสภาดำเนินการต่อไป

พระราชบัญญัติ[แก้]

ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน และจะเสนอได้ก็แต่โดย (ตามมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)
  • คณะรัฐมนตรี
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
  • ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 4 หน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีผู้เสนอที่มิใช่คณะรัฐมนตรีเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (ตามมาตรา 134 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)
เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติและลงมติเห็นชอบแล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภา วุฒิสภาต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมานั้นให้เสร็จภายในหกสิบวัน แต่ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินต้องพิจารณาให้เสร็จภายในสามสิบวัน ทั้งนี้เว้นแต่วุฒิสภาจะได้ลงมติให้ขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษซึ่งต้องไม่เกินสามสิบวัน กำหนดวันดังกล่าวให้หมายถึงวันในสมัยประชุม และให้เริ่มนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึงวุฒิสภา

คุณสมบัติ[แก้]

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 97 บัญญัติให้บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

  1. มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
  2. มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง
  3. เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวให้ลดลงเหลือสามสิบวัน
  4. ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
  • เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
  • เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีการศึกษา
  • เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี

ลักษณะต้องห้าม[แก้]

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 98 บัญญัติให้บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

  1. ติดยาเสพติดให้โทษ
  2. เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  3. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
  4. เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (1) (2) หรือ (4)
  5. อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
  6. ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
  7. เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  8. เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
  9. เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  10. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
  11. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
  12. เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
  13. เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  14. เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
  15. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
  16. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
  17. อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
  18. เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม

ลำดับชุดสภาผู้แทนราษฎร[แก้]

ชุดที่ จำนวนสมาชิก ระยะการดำรงตำแหน่ง การสิ้นสุดสมาชิกสภาพ รัฐธรรมนูญ หมายเหตุ
(เลือกตั้ง/ครม.)
ชั่วคราว 70 28 มิถุนายน 2475 – 6 ธันวาคม 2476 มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดคณะทหาร

ผู้รักษาพระนคร ครม. 1 ครม. 2 ครม. 3

1 156 15 พฤศจิกายน 2476 – 10 กันยายน 2480 ครบวาระ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 1 เป็นการเลือกตั้งโดยอ้อมและมี ส.ส. จากการแต่งตั้งด้วย ครม. 4 ครม. 5 ครม. 6 ครม. 7
2 156 7 พฤศจิกายน 2480 – 11 กันยายน 2481 ยุบสภา " เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 2
ครม. 8
3 182 12 พฤศจิกายน 2481 – 15 ตุลาคม 2488 ยุบสภา " เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 3/สภาต่อวาระออกไปเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สอง
ครม. 9 ครม. 10 ครม. 11 ครม. 12 ครม. 13
4 274 6 มกราคม 2489 – 8 พฤศจิกายน 2490 รัฐประหาร รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม/รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 4 และการเลือกตั้งเพิ่มเติม เมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2489
ครม. 14 ครม. 15 ครม. 16 ครม. 17 ครม. 18
5 219 29 มกราคม 2491 – 29 พฤศจิกายน 2494 รัฐประหาร รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2490 (5 ธันวาคม 2490) เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 5 และการเลือกตั้งเพิ่มเติม
ครม. 21 ครม. 22 ครม. 23
6 246 29 พฤศจิกายน 2494 – 26 กุมภาพันธ์ 2495 เลือกตั้ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรไปพลางก่อน
ครม. 24
7 246 26 กุมภาพันธ์ 2495 – 25 กุมภาพันธ์ 2500 ครบวาระ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 6
ครม. 25
8 283 26 กุมภาพันธ์ 2500 – 16 กันยายน 2500 รัฐประหาร " เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 7
ครม. 26
9 281 15 ธันวาคม 2500 – 20 ตุลาคม 2501 รัฐประหาร " เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 8
ครม. 28
10 219 17 กุมภาพันธ์ 2512 – 17 พฤศจิกายน 2514 รัฐประหาร รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 9
ครม. 31
11 269 26 มกราคม 2518 – 12 มกราคม 2519 ยุบสภา [1] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 10
ครม. 35 ครม. 36
12 279 4 เมษายน 2519 – 5 ตุลาคม 2519 รัฐประหาร " เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 11
ครม. 37 ครม. 38
13 301 22 เมษายน 2522 – 19 มีนาคม 2526 ยุบสภา [2] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 12
ครม. 41 ครม. 42
14 324 18 เมษายน 2526 – 2 พฤษภาคม 2529 ยุบสภา [3] " เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 13
ครม. 43
15 347 27 กรกฎาคม 2529 – 29 เมษายน 2531 ยุบสภา [4] " เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 14
ครม. 44
16 357 24 กรกฎาคม 2531 – 23 กุมภาพันธ์ 2534 รัฐประหาร " เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 15
ครม. 45 ครม. 46
17 360 22 มีนาคม 2535 – 30 มิถุนายน 2535 ยุบสภา [5] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 16
ครม. 48 ครม. 49
18 360 13 กันยายน 2535 – 19 พฤษภาคม 2538 ยุบสภา [6] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2535 (10 กันยายน พ.ศ. 2535) เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 17
ครม. 50
19 391 2 กรกฎาคม 2538 – 28 กันยายน 2539 ยุบสภา [7] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2535 (10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538) เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 18
ครม. 51
20 393 17 พฤศจิกายน 2539 – 9 พฤศจิกายน 2543 ยุบสภา [8] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2535 (27 กันยายน พ.ศ. 2539) เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 19
ครม. 52 ครม. 53
21 500 6 มกราคม 2544 – 5 มกราคม 2548 ครบวาระ [9] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 20 เริ่มมี 2 แบบ คือ แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ
ครม. 54
22 500 6 กุมภาพันธ์ 2548 – 24 กุมภาพันธ์ 2549 ยุบสภา[10] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2548 เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 21
ครม. 55
23 480 23 ธันวาคม 2550 – 10 พฤษภาคม 2554 ยุบสภา [11] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 23
ครม. 57 ครม. 58 ครม. 59
24 500 3 กรกฎาคม 2554 – 9 ธันวาคม 2556 ยุบสภา [12] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2554 (3 มีนาคม พ.ศ. 2554) เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 24
ครม. 60
25 500 24 มีนาคม 2562 – 20 มีนาคม 2566 ยุบสภา [13] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 26
ครม. 62
26 500 14 พฤษภาคม 2566 – ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 27
ครม. 63

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2519
  2. พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2526
  3. พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2529
  4. พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2531
  5. พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2535
  6. พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2538
  7. พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2539
  8. "พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2543" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-06-12. สืบค้นเมื่อ 2011-08-06.
  9. พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548
  10. พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549
  11. พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554
  12. พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556
  13. พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566

เชิงอรรถ[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]