ข้ามไปเนื้อหา

ประวัติศาสตร์ไทยหลัง พ.ศ. 2544

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประวัติศาสตร์ไทยหลัง พ.ศ. 2544
9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 – ปัจจุบัน
330x330
พระมหากษัตริย์
นายกรัฐมนตรี
เหตุการณ์สำคัญ
← ก่อนหน้า
ประวัติศาสตร์ไทย (พ.ศ. 2516–2544)
ถัดไป →

ประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ถูกครอบงำด้วยการเมืองแวดล้อมการเถลิงและการสิ้นสุดอำนาจของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านเขาในเวลาต่อมา ทักษิณกับพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2544 และได้รับความนิยมอย่างยิ่งในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท ทว่า ผู้คัดค้านวิจารณ์รูปแบบอำนาจนิยมของเขา และกล่าวหาเขาว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง เขาถูกยึดอำนาจในรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 และนับแต่นั้นประเทศไทยอยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์การเมืองเป็นรอบ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองพันธมิตรของทักษิณชนะ การประท้วงต่อต้านรัฐบาลขนานใหญ่โดยกลุ่มแยกหลายกลุ่ม การถอดถอนนายกรัฐมนตรีและคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองของศาล และรัฐประหารอีกครั้งใน พ.ศ. 2557 บทบาททางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งเห็นชัดมากขึ้นในช่วงนี้ด้วย

ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2544 ถึง 2549 เขาถูกรัฐประหารโค่นจากตำแหน่งหลังการประท้วงโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) อย่างไรก็ดี พันธมิตรของทักษิณหวนคืนสู่อำนาจหลังการเลือกตั้งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 พธม. ประท้วงต่อรัฐบาลในครึ่งหลังของ พ.ศ. 2551 และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรครัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ที่มีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งรัฐบาล แต่เผชิญกับการประท้วงโดยขบวนการเสื้อแดงโดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จนนำไปสู่การปราบปรามของกองทัพอย่างรุนแรงใน พ.ศ. 2553 พรรคการเมืองพันธมิตรของทักษิณชนะการเลือกตั้งอีกครั้งใน พ.ศ. 2554 ทำให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี การประท้วงต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 และดำเนินไปจนเกิดรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีและดำเนินการปราบปรามเสรีภาพพลเมืองและเสรีภาพทางการเมืองจนสุดท้ายอนุญาตให้จัดการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2562 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันได้รับเสียงสนับสนุนจากการลงประชามติใน พ.ศ. 2559 เปิดทางให้มีการแทรกแซงการเมืองของกองทัพและอภิชนในอนาคต หลังจากนั้น รัฐสภามีมติเลือกพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

ความขัดแย้งนี้ได้แบ่งแยกมติมหาชนในประเทศไทย แม้ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ทักษิณยังได้รับการสนับสนุนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ประชากรชนบทในภาคเหนือ และภาคอีสาน ซึ่งได้รับประโยชน์จากนโยบายของเขาและเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ นักวิชาการสายเสรีนิยมและนักเคลื่อนไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 ก็สนับสนุนทักษิณด้วย โดยต่อต้านผู้คัดค้านที่ผลักดันให้เกิดรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อีกด้านหนึ่ง ผู้คัดค้านทักษิณประกอบด้วยชนชั้นกลางเมืองในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ และภาคใต้ (เป็นที่มั่นของพรรคประชาธิปัตย์) วิชาชีพและนักวิชาการ ตลอดจนสมาชิก "อภิชนเก่า" ซึ่งถืออิทธิพลทางการเมืองก่อนทักษิณครองอำนาจ พวกเขาอ้างว่าทักษิณละเมิดอำนาจ บ่อนทำลายกระบวนการประชาธิปไตยและสถาบันตรวจสอบและถ่วงดุล ผูกขาดอำนาจและใช้นโยบายประชานิยมเพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนทางการเมือง อ้างว่าการเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะมีการแทรกแซงของทักษิณ ส่วนผู้สนับสนุนทักษิณกล่าวหาศาลว่ามีตุลาการภิวัฒน์ โดยล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นฝ่ายทักษิณ ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำในประเทศยังมีสูง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งของความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง

เหตุการณ์เหล่านี้ประจวบกับปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงครองราชย์เป็นเวลา 70 ปี 4 เดือน เสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 หลังพระพลานามัยเสื่อมถอยลงเป็นลำดับ อย่างไรก็ดี พระองค์ถือเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยและเป็นที่เคารพเทิดทูนอย่างสูง ความไม่แน่นอนแวดล้อมการผลัดแผ่นดินทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมือง มีการกล่าวหาว่าทักษิณและผู้สนับสนุนต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นสาธารณรัฐ การดำเนินคดีภายใต้กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยเพิ่มขึ้นมากหลัง พ.ศ. 2549 และถูกวิจารณ์ว่ามีการใช้กฎหมายนี้เพื่อฉวยประโยชน์ทางการเมือง โดยสิทธิมนุษยชนเสื่อมถอยลง

ขณะเดียวกัน ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของประเทศดำเนินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 โดยไม่มีทีท่ายุติ และมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 8,170 คน [1]โดยเหตุการณ์ที่เกิดความเสียหายครั้งใหญ่ ได้แก่ กรณีตากใบ เสียชีวิต 84 ราย กรณีกรือเซะ เสียชีวิต 34 ราย เหตุระเบิดในจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2548 เสียชีวิต 2 ราย เหตุระเบิดในอำเภอหาดใหญ่ พ.ศ. 2549 เสียชีวิต 5 ราย

การเมือง

[แก้]

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทักษิณ ชินวัตร

[แก้]

พรรคไทยรักไทยของทักษิณเถลิงอำนาจผ่านการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2544 ซึ่งเกือบครองเสียงข้างมากสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ทักษิณเปิดตัวแนวนโยบายซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น "ทักษิโณมิกส์" ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมการบริโภคในประเทศ และจัดหาทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ประชากรชนบท โดยการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาหาเสียง รวมทั้งนโยบายประชานิยมอย่างโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค รัฐบาลของเขาได้รับความเห็นชอบอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจากผลของวิกฤตการณ์การเงินในเอเชียในปี 2540 ทักษิณกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปีและพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2548[2]: 262–5 

อย่างไรก็ดี การปกครองของทักษิณเต็มไปด้วยข้อโต้เถียง เขาใช้แนวทางเข้าสู่การปกครอง "แบบซีอีโอ" ซึ่งมีแนวอำนาจนิยม การรวมศูนย์อำนาจและการเพิ่มการแทรกแซงการดำเนินการของข้าราชการประจำ แม้รัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น ทักษิณใช้อิทธิพลของตนทำให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งออกแบบมาเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลหมดอำนาจ เขาคุกคามนักวิจารณ์และชักใยสื่อให้ออกความเห็นเชิงบวกอย่างเดียว สิทธิมนุษยชนโดยรวมเสื่อมถอยลง โดย "สงครามยาเสพติด" ทำให้มีวิสามัญฆาตกรรมกว่า 2,000 ครั้ง ทักษิณรับมือกับความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ด้วยวิธีการเผชิญหน้าสูงทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น[2]: 263–8 

การต่อต้านสาธารณะต่อรัฐบาลทักษิณได้รับความนิยมในเดือนมกราคม 2549 โดยมีการขายหุ้นของตระกูลทักษิณในชินคอร์ปอเรชั่นให้แก่เทมาเส็กโฮลดิ้งส์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นำโดยเจ้าของสื่อ สนธิ ลิ้มทองกุล เริ่มจัดการเดินขบวนเป็นประจำ กล่าวหาทักษิณว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง เมื่อประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤตการเมือง ทักษิณยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดการเลือกตั้งใหม่โดยมีกำหนดในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ คว่ำบาตรการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะเนื่องจากการจัดคูหาเลือกตั้งไม่ถูกต้อง มีกำหนดการเลือกตั้งใหม่ในเดือนตุลาคม และทักษิณยังเป็นหัวหน้ารัฐบาลรักษาการเมื่อประเทศไทยจัดการเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549[2]: 269–70 

การประท้วงทักษิณ ชินวัตรออกจากตำแหน่ง

[แก้]

การประท้วงทักษิณ ชินวัตรออกจากตำแหน่ง เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2547 ในช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ 1 เมื่อมีการรวมตัวของกลุ่มคนในนาม กลุ่มประชาชนเพื่อชาติและราชบัลลังก์ และมีการชุมนุมปราศรัยเพื่อขับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2547 เป็นครั้งแรก และเริ่มขยายเป็นวงกว้างขึ้นเมื่อถึงปลายปี พ.ศ. 2548 ส่วนหนึ่งจากการนำของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี และขยายตัวในวงกว้างไปยังบุคคลในหลายสาขาอาชีพในเวลาต่อมา

ในการรณรงค์ขับนี้ มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ในกลุ่มที่แสดงความคิดเห็นสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีลาออกก็มีความเห็นที่แตกต่างกันเป็นหลาย ๆ กลุ่ม ในเรื่องกระบวนการและประเด็นในการขับ ส่วนในกลุ่มที่สนับสนุน ซึ่งประกอบด้วยประชาชนจำนวนไม่น้อย รวมไปถึงกลุ่มคาราวานคนจน และขบวนรถอีแต๋นเดินทางมาจากต่างจังหวัด ก็ได้รวมตัวชุมนุมเพื่อสนับสนุนให้นายทักษิณ ชินวัตรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยปักหลักอยู่ที่สวนจตุจักร และตามจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย

ผลจากการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่อดีตพรรคฝ่ายค้าน 3 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชนและพรรคชาติไทยไม่ได้ร่วมลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ปรากฏว่าพรรคไทยรักไทย ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรค ยังคงได้รับคะแนนเสียงข้างมาก แต่ในบางพื้นที่ของเขตซึ่งไม่มีผู้สมัครอื่นลงแข่งนั้น ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยได้คะแนนน้อยกว่าผู้ไม่ออกเสียงและบัตรเสีย แต่ในท้ายที่สุดการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้เป็นโมฆะ และได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549

รัฐประหาร 2549

[แก้]
ผู้สนับสนุนรวมตัวกันทักทายทหารเมื่อรถถังวิ่งเข้ามาในกรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 กองทัพบกไทยภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินก่อรัฐประหารที่ไม่เสียเลือดเนื้อ และโค่นรัฐบาลรักษาการ ผู้ประท้วงต่อต้านทักษิณยินดีต้อนรับรัฐประหาร และ พธม. สลายตัว ผู้นำรัฐประหารตั้งคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองชื่อ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ต่อมาเปลี่ยนแปรสภาพเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)) คปค. ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลโดยมีอดีตผู้บัญชาการทหารบก พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภาและสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 หลังการลงประชามติ[2]: 270–2 

ผู้นำรัฐประหารในปี 2549 มีผู้นำเป็นกลุ่มนิยมเจ้าอย่างเข้มข้น ฝ่ายทหารได้ฉวยประโยชน์จากโอกาสนี้โดยมีการแต่งตั้งนายทหารให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและตำแหน่งสำคัญ ๆ งบประมาณของกองทัพเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 ภายในสองปี[2]: 270  เป้าหมายหลักของรัฐบาลทหารคือการกำจัดทักษิณ ลดบทบาทของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และคืนอำนาจให้แก่ข้าราชการและกองทัพ[2]: 270  กองทัพยังตั้งใจใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อทวงบทบาทควบคุมดูแลการเมืองของประเทศ โดยผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ลดอำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ การก่อตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550[2]: 271  นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 กองทัพและพวกนิยมเจ้ายกให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางความมั่นคงของชาติ และมีการใช้กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง[3]: 374–5  บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทยชัดเจนขึ้นหลังการมีส่วนและสนับสนุนรัฐประหารครั้งนี้[3]: 378 

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับ มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคม 2550 ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้งของ คมช. วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคร่วมรัฐบาลสองพรรคโดยให้เหตุผลว่าโกงการเลือกตั้ง และผู้บริหารพรรคถูกห้ามเกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นเวลาห้าปี อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยเข้าลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชาชน โดยมีนักการเมืองมากประสบการณ์ สมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค พรรคพลังประชาชนได้รับคะแนนเสียงจากผู้สนับสนุนทักษิณ และชนะการเลือกตั้งโดยเกือบครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี[2]: 270–2 

วิกฤตการเมืองปี 2551

[แก้]
พธม. ยึดทำเนียบรัฐบาลในเดือนสิงหาคม 2551

รัฐบาลสมัครพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างแข็งขัน ผลทำให้ พธม. กลับมาชุมนุมอีกในเดือนพฤษภาคม 2551 เพื่อเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล พธม. กล่าวหาว่ารัฐบาลพยายามนิรโทษกรรมให้ทักษิณซึ่งเผชิญกับข้อกล่าวหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง กลุ่มยังยกประเด็นรัฐบาลสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นแหล่งมรดกโลกของกัมพูชา ทำให้เกิดการลุกลามของ กรณีพิพาทชายแดนกับกัมพูชา ซึ่งทำให้มีการบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่าย ในเดือนสิงหาคม พธม. ยกระดับการประท้วงและเข้ายึด ทำเนียบรัฐบาล ทำให้ประเทศกลับเข้าสู่วิกฤตการเมืองอีกครั้ง ต่อมาเกิด เหตุการณ์ นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ได้แก่ ณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสง ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมัครมีความผิดฐานการขัดกันของผลประโยชน์เนื่องจากรับงานในรายการโทรทัศน์ทำอาหาร ทำให้เขาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกันยายน จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรเลือก สมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สมชายเป็นน้องเขยของทักษิณและ พธม. ปฏิเสธเขาและประท้วงต่อไป[2]: 272–3  ใน การสลายการชุมนุมของ พธม. หน้าอาคารรัฐสภาในเดือนตุลาคม 2551 จนทำให้ผู้ประท้วง อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ และ เมธี ชาติมนตรีเสียชีวิต ปรากฏว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จไปร่วมงานศพด้วย

ในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551 กลุ่มพันธมิตร ปิดท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ [4]และท่าอากาศยานกระบี่[5]ในช่วงเวลาเดียวกันเกิดวิกฤตการณ์การเงิน พ.ศ. 2550–2551และวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่

พธม. ยกระดับการประท้วงอีกในเดือนพฤศจิกายน โดยบังคับปิดท่าอากาศยานนานาชาติของประเทศสองแห่ง ไม่นานจากนั้น วันที่ 2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอีกสองพรรคฐานโกงการเลือกตั้ง ทำให้สมชายพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[6] จากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายค้านจัดตั้งรัฐบาลผสมใหม่โดยมีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี[7] โดยเชื่อว่าพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก อำนวยความสะดวกหรือสั่งการโดยตรงให้มีการรวบรวมเสียงให้แก่อภิสิทธิ์[8]: 87 

รัฐบาลอภิสิทธิ์และการประท้วงปี 2552–53

[แก้]

อภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีโดยมีพรรคร่วมรัฐบาลหกพรรค เขาได้รับการสนับสนุนจากเนวิน ชิดชอบ และกลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งแตกออกจากพรรคร่วมรัฐบาลพลังประชาชนก่อนหน้านี้ ขณะนั้น เศรษฐกิจไทยกำลังได้รับผลกระทบของวิกฤตการณ์การเงิน พ.ศ. 2550–2551 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นต่อมา อภิสิทธิ์ออกโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่าง ขณะเดียวกันยังขยายนโยบายประชานิยมบางอย่างที่ทักษิณริเริ่ม[9]

กลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณ คือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เริ่มการประท้วงต่อต้านรัฐบาลหลังรัฐบาลอภิสิทธิ์เข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552 นปช. จัดการประท้วงในพัทยา ซึ่งรบกวนการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกครั้งที่สี่ และประท้วงในกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดการปะทะกับกำลังฝ่ายรัฐบาล[2]: 274–5 


นปช. ระงับกิจกรรมทางการเมืองส่วนใหญ่ตลอดช่วงที่เหลือของปี แต่กลับมาชุมนุมใหม่ในเดือนมีนาคม 2553 เพื่อเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ต่อมาผู้ประท้วงยึดครองพื้นที่ย่านเศรษฐกิจขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร การโจมตีอย่างรุนแรง ทั้งต่อผู้ประท้วงและทหาร บานปลายเมื่อสถานการณ์เนิ่นนานไป ส่วนการเจรจาระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและผู้ประท้วงล้มเหลวหลายครั้ง ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ทหารเข้าปราบปรามการประท้วงนำไปสู่การเผชิญหน้ารุนแรงและมีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คน เกิดการโจมตีวางเพลิงรอบพื้นที่ประท้วง ตลอดจนอาคารของสถานที่ราชการหลายหลังในต่างจังหวัด แต่ไม่นานรัฐบาลก็เข้าควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ผู้ประท้วงสลายตัวเมื่อแกนนำ นปช. ยอมจำนน[2]: 275–7 

ในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ได้เกิด เหตุการณ์รถตู้สาธารณะถูกชนบนทางยกระดับอุตราภิมุข มีผู้เสียชีวิต 9 ราย รัฐบาลอภิสิทธิ์ ถูกวิจารณ์ว่าดำเนินคดีอย่างล่าช้าในเหตุการณ์ดังกล่าว

ภาพกรุงเทพมหานครบางส่วนเกิดอัคคีภัยระหว่างวิกฤตการณ์การเมืองเดือนพฤษภาคม 2553

รัฐบาลยิ่งลักษณ์และวิกฤตปี 2556–57

[แก้]
การเดินขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในการประท้วงช่วงแรกในเดือนพฤศจิกายน 2556

อภิสิทธิ์ยุบสภาผู้แทนราษฎรในปีต่อมา และมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งพรรคเพื่อไทยที่เป็นพันธมิตรของทักษิณ ชนะการเลือกตั้ง และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ทีแรกรัฐบาลต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการรับมือกับมหาอุทกภัยใหญ่ในปี 2554 แต่สถานการณ์ทางการเมืองยังค่อนข้างสงบตลอดทั้งปี 2555 และต้นปี 2556

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังดำเนินแนวนโยบายประชานิยมต่อ รวมทั้งโครงการรับจำนำข้าวซึ่งเป็นข้อถกเถียง ซึ่งต่อมาพบว่าทำให้รัฐบาลขาดทุนหลายแสนล้านบาท อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลพยายามผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2556 ทำให้เกิดการต่อต้านจากสาธารณะ ผู้ประท้วงซึ่งเรียกตนเองว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เดินขบวนต่อต้านร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งพวกเขาถือว่าร่างขึ้นเพื่อนิรโทษกรรมทักษิณ แต่แม้วุฒิสภาตีตกร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว ผู้ประท้วงหันไปรับวาระต่อต้านรัฐบาลแทน ผู้ประท้วงเข้ายึดอาคารราชการหลายแห่งเช่นเดียวกับย่านการค้าใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสภาเพื่อควบคุมดูแลการปฏิรูปการเมือง และขจัดอิทธิพลทางการเมืองของทักษิณ[10] ทั้งนี้ มีรายงานว่าผู้สนับสนุน กปปส. รายใหญ่ได้แก่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่เสียอิทธิพลในสมัยรัฐบาลทักษิณ[11]: 300 

ยิ่งลักษณ์รับมือการประท้วงโดยการยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ผู้ประท้วงเข้าขัดขวางการเลือกตั้งและมีการทำร้ายร่างกายผู้พยายามไปใช้สิทธิเลือกตั้ง[3]: 375  ทำให้ต้องมีการเลื่อนการเลือกตั้งในบางหน่วยเลือกตั้ง ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะเพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งภายในวันเดียวได้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ[12] ทำให้ประเทศขาดรัฐบาลที่มีอำนาจ ท่ามกลางการก่อเหตุโจมตีที่รุนแรงโดยกลุ่มคนไม่ทราบฝ่าย

ขณะที่การเมืองอยู่ในภาวะชะงักงัน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมว่าการย้ายข้าราชการผู้หนึ่งในปี 2554 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีอื่นที่มีส่วนพ้นจากตำแหน่ง[13]

รัฐประหาร 2557

[แก้]

ท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองที่ดำลังดำเนินอยู่ กองทัพบกภายใต้บังคับบัญชาของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 โดยอ้างความจำเป็นต้องปราบปรามความรุนแรงและรักษาความสงบเรียบร้อย มีการจัดการประชุมกับผู้นำฝ่ายต่าง ๆ แต่ล้มเหลว ประยุทธ์เข้ายึดอำนาจในรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นคณะผู้ยึดอำนาจปกครองและมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง[14]

คสช. ควบคุมดูแลการปราบปรามอย่างเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งต่างจากรัฐประหารในปี 2549 มีการเรียกตัวนักการเมืองและนักเคลื่อนไหว รวมถึงนักวิชาการและนักหนังสือพิมพ์ บ้างถูกควบคุมตัวเพื่อ "ปรับทัศนคติ" สุดท้ายมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ตามด้วยการสถาปนาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยสมาชิกมาจากการแต่งตั้งของ คสช. จากนั้น สนช. ลงมติเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 25 สิงหาคม แม้สัญญาโรดแมปสำหรับการหวนคืนสู่ประชาธิปไตย แต่ คสช. ยังใช้อำนาจแบบอำนาจนิยมอยู่พอสมควร มีการห้ามกิจกรรมทางการเมืองโดยเฉพาะการวิจารณ์กองทัพ และมีการใช้กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์หนักยิ่งกว่าครั้งใด[15] หลังจากร่างหลายฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เนื้อหารัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติหลายอย่างที่อนุญาตให้กองทัพมีอิทธิพลในการเมืองไทย หลังการเลื่อนหลายครั้ง สุดท้ายมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยพรรคเพื่อไทยได้ครองเสียงข้างมาก วันที่ 5 มิถุนายน 2562 รัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ลงมติเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย[16]

รัฐบาลประยุทธ์และวิกฤตปี 2563–64

[แก้]

มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ 20 หลังจากครองอำนาจเกือบห้าปี คสช. ยอมให้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ผลทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ โดยได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภา ในปี 2563 เริ่มเกิดการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย ตามมาด้วยการประท้วงใหญ่ซึ่งมีเป้าหมายในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง รวมทั้งข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

การเลือกตั้ง 2566, รัฐบาลเศรษฐา และรัฐบาลแพทองธาร

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกลซึ่งสืบทอดจากพรรคอนาคตใหม่ ชนะการเลือกตั้งทั่วไป โดยมีพรรคเพื่อไทยตามมาเป็นอันดับสอง ทำให้พรรคการเมืองทหารนิยมเจ้าที่สนับสนุนประยุทธ์สูญเสียอำนาจ[17] หลังการเลือกตั้งพรรคก้าวไกล เพื่อไทย และอีก 6 พรรค ทำบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล แต่เขาได้คะแนนเสียงไม่เพียงพอที่จะผ่านความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจากที่ประชุมร่วมของรัฐสภาซึ่งรวมถึงสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร[18] เวลาต่อมาพรรคก้าวไกลมอบสิทธิ์การจัดตั้งรัฐบาลให้พรรคเพื่อไทย และมีการยกเลิกบันทึกความเข้าใจดังกล่าว พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคการเมืองอีก 10 พรรค ซึ่งรวมถึงพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ จัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีพรรคก้าวไกล โดยเสนอชื่อเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ให้ความเห็นชอบเขา[19] ในวันเดียวกับที่ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศไทย[20]

เดือนมกราคมปีถัดมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความพยายามแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลนั้น เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งการให้พรรคเลิกการกระทำดังกล่าวในทันที[21] ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งนำคำวินิจฉัยดังกล่าวประกอบคำร้องเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญซ้ำ ที่สุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาให้ยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิ์ทางการเมืองแกนนำพรรครวม 11 คนเป็นเวลา 10 ปี[22] ขณะที่ ส.ส. ที่เหลือของพรรคทั้ง 143 คน ได้ย้ายไปสังกัดพรรคประชาชนในเวลาต่อมา[23]

หนึ่งสัปดาห์หลังพรรคก้าวไกลถูกยุบ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีแต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่พิชิตเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว[24] วันถัดจากนั้นพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมีมติเสนอแพทองธาร ชินวัตร ธิดาคนเล็กของทักษิณ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี[25][26][27] ในวันที่ 16 สิงหาคม ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ ส่งผลให้เธอเป็นนายกรัฐมนตรีไทยซึ่งมีอายุน้อยที่สุดในวันดำรงตำแหน่ง[28]

1
2
2544
2546
2548
2550
2552
2554
2556
2558
2560
2562
2564
2566
2568

ลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย พ.ศ. 2544–ปัจจุบัน
แถวแรก: = รัฐประหาร (คลิกเพื่อดูบทความ), การเลือกตั้งทั่วไป (คลิกเพื่อดูบทความ); แถวสอง: รายชื่อนายกรัฐมนตรี; แถวสาม: รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่)

  นายกรัฐมนตรีจากรัฐประหาร

พระมหากษัตริย์

[แก้]
ประชาชนต่อแถวกันคารวะพระบรมศพ ณ พระบรมมหาราชวังในเดือนมกราคม 2560

นับแต่คริสต์ทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระพลานามัยเสื่อมลงอย่างต่อเนื่อง ทรงเข้ารับการถวายรักษาในโรงพยาบาลอยู่หลายครั้ง และแทบไม่ได้ปรากฏพระองค์ต่อสาธารณอีก พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ทำให้ประชาชนโศกาอย่างยิ่งและมีการกำหนดไว้ทุกข์ทั่วประเทศหนึ่งปี พระราชโอรส สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมารสืบราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ถัดไป โดยทรงชะลอการตอบรับการเสด็จขึ้นครองราชย์จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2559[29] (ระหว่างนั้น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ มีขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 โดยมีผู้เข้าร่วมพิธีวางดอกไม้จันทน์ทั่วประเทศกว่า 19 ล้านคน[30]

ความขัดแย้ง

[แก้]

ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีมานานปะทุขึ้นในปี 2547 ระหว่างทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี การรับมือแบบมือหนักของทักษิณยิ่งทำให้มีการยกระดับความรุนแรง นำมาซึ่งการวางระเบิดบ่อยครั้งและการโจมตีกำลังความมั่นคงและพลเรือน ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตเกือบ 7,000 คน รัฐบาลจัดการเจรจาสันติภาพในปี 2556 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แม้ความรุนแรงค่อย ๆ ลดลงหลังสูงสุดในปี 2553 แต่ยังมีการก่อเหตุโจมตีอยู่ประปรายโดยมีสัญญาณความสงบเพียงเล็กน้อย[31]

ประเทศไทยยังมีการก่อเหตุก่อการร้ายอยู่หลายครั้งนอกจากภาคใต้ ที่สำคัญ เช่น เหตุวางระเบิดในกรุงเทพมหานครปี 2558 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 20 คน และได้รับบาดเจ็บกว่า 120 คน เชื่อว่าเป็นฝีมือของนักชาตินิยมอุยกูร์ เพื่อแก้แค้นการส่งผู้ขอลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน แม้ยังไม่มีการชำระสะสางคดีจนได้ข้อยุติ[32] นอกจากนี้ยังมีการก่อเหตุในกรุงเทพมหานครอีกในปี 2549 และ 2555 แต่ไม่มีความเชื่อมโยงกัน ในปี 2546 ประเทศไทยประสบการก่อการร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากการจลาจลในพนมเปญ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาเป็นไปอย่างย่ำแย่จนเกิดการใช้กำลังทางทหาร ในวันที่ 3 เมษายน 2552 มีผู้เสียชีวิต 2 ราย

ภัยพิบัติ

[แก้]
มหาอุทกภัยปี 2554 ก่อความเสียหายกว้างขวางต่ออุตสาหกรรมการผลิต

ประเทศไทยเห็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งเลวร้ายที่สุดในช่วงนี้ แผ่นดินไหวและสึนามิในมหาสมุทรอินเดียปี 2547 ทำให้เกิดผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 ราย[33]

อุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ปี 2554 มีผู้เสียชีวิตรวม 53 ราย[34] สร้างความเสียหายมากกว่า 500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ[35]

ในขณะที่ อุทกภัยใหญ่ ปี 2554 ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 1.43 ล้านล้านบาท (46,000 ล้านเหรียญสหรัฐ)[36]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เกิดการระบาดทั่วของโควิด-19 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 32,700 ราย

อ้างอิง

[แก้]
  1. ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 Baker, Chris; Phongpaichit, Pasuk (2014). A History of Thailand (3rd ed.). Cambridge University Press. ISBN 9781107420212.
  3. 3.0 3.1 3.2 Veerayooth Kanchoochat & Kevin Hewison. (2016). Introduction: Understanding Thailand’s Politics, Journal of Contemporary Asia, 46:3, 371-387, DOI: 10.1080/00472336.2016.1173305
  4. ทอท.แจงความเสียหาย7ล้านหลังปิดสนามบินหาดใหญ่-ภูเก็ต
  5. ทอท.ปิดสนามบินกระบี่ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง
  6. "Top Thai court ousts PM Somchai". BBC News. 2 December 2008. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  7. Bell, Thomas (15 December 2008). "Old Etonian becomes Thailand's new prime minister". The Telegraph. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  8. Federico Ferrara (2010). Thailand Unhinged: Unraveling the Myth of a Thai-Style Democracy. Singapore: Equinox Publishing.
  9. Ahuja, Ambika (28 September 2010). "Analysis: Thailand struggles against tide of corruption". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  10. Hodal, Kate (13 January 2014). "Thai protesters blockade roads in Bangkok for 'shutdown'". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  11. Kongkirati, P., & Kanchoochat, V. (2018). The Prayuth Regime: Embedded Military and Hierarchical Capitalism in Thailand. TRaNS: Trans -Regional and -National Studies of Southeast Asia, 6(2), 279-305. doi:10.1017/trn.2018.4
  12. Olarn, Kocha; Mullen, Jethro; Cullinane, Susannah (21 March 2014). "Thai court declares February election invalid". CNN. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  13. Hodal, Kate (7 May 2014). "Thai court orders Yingluck Shinawatra to step down as PM". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  14. Fuller, Thomas (22 May 2014). "Thailand's Military Stages Coup, Thwarting Populist Movement". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  15. Gerson, Katherine (2 June 2018). "Thai Junta Shows No Signs of Halting Assault on Human Rights". The Diplomat. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  16. "House, Senate elect Prayut Thailand's new prime minister". Bangkok Post. 6 June 2019. สืบค้นเมื่อ 20 June 2019.
  17. Rasheed, Zaheena. "'Impressive victory': Thai opposition crushes military parties". www.aljazeera.com (ภาษาอังกฤษ).
  18. Ratcliffe, Rebecca; Siradapuvadol, Navaon (2023-07-13). "Thailand's winning candidate for PM blocked from power". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2023-09-14.
  19. ""เศรษฐา" ฉลุย นั่งนายกฯ คนที่ 30 รัฐสภาโหวตเห็นชอบเกิน 374 เสียงแล้ว". ผู้จัดการออนไลน์. 2023-08-22. สืบค้นเมื่อ 2023-08-22.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  20. "Srettha Thavisin elected Thailand PM as Thaksin returns from exile". www.aljazeera.com (ภาษาอังกฤษ).
  21. "ศาลรธน. มีมติเอกฉันท์ 9 : 0 ก้าวไกล หาเสียงแก้ม.112 ล้มล้างการปกครอง". มติชน. 31 มกราคม 2024. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  22. Setboonsarng; Thepgumpanat, Chayut; Panarat (2024-08-07). "Thai court orders dissolution of anti-establishment Move Forward party". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-08-07. สืบค้นเมื่อ 2024-08-07.{{cite news}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  23. "รังใหม่ก้าวไกล "พรรคประชาชน" พรรคเก่าในร่างใหม่". เดอะ เบทเทอร์. 9 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  24. "'เศรษฐา' ไม่รอด! ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ชี้ชะตาเศรษฐาพ้นเก้าอี้นายกฯ ทันที". เดอะ แมทเทอร์. 14 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  25. "มติสส.เพื่อไทย ดัน แพทองธาร โหวตชิงนายกรัฐมนตรี 16 ส.ค." โพสต์ทูเดย์. 15 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  26. "วงสส.เพื่อไทยชงชื่อ"อุ๊งอิ๊ง"ให้สภาโหวตเป็นนายกฯคนใหม่". ฐานเศรษฐกิจ. 15 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  27. "มติเพื่อไทย-พรรคร่วมรัฐบาล "แพทองธาร" นั่งนายกรัฐมนตรี". ไทยพีบีเอส. 15 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  28. ""อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร" ว่าที่นายกฯ หญิงอายุน้อยเป็นอันดับ 3 ของโลก". พีพีทีวี. 16 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  29. "Thai crown prince proclaimed new king". BBC News. 1 December 2016. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  30. Olarn and, Kocha; Cripps, Karla (27 October 2017). "Thailand's royal cremation ceremony caps year of mourning". CNN. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  31. Morch, Maximillian (6 February 2018). "The Slow Burning Insurgency in Thailand's Deep South". The Diplomat. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  32. Fuller, Thomas; Wong, Edward (15 September 2015). "Thailand Blames Uighur Militants for Bombing at Bangkok Shrine". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  33. "Fatalities in 2004 tsunami remembered". The Nation (ภาษาอังกฤษ). 26 December 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-13. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  34. อุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2554
  35. Kate, Daniel Ten; Suttinee Yuvejwattana (March 31, 2011). "Southern Thai Storms Ease as Flooding Death Toll Climbs to 21". Bloomberg. สืบค้นเมื่อ 3 April 2011.
  36. "The World Bank Supports Thailand's Post-Floods Recovery Effort". World Bank (ภาษาอังกฤษ). 13 December 2011. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.