บริการสุขภาพในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่, การสาธารณสุข และการศึกษาแพทยศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศไทย

กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานควบคุมดูแลการสาธารณสุขและวิชาชีพสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่น รายจ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 4.3 ของจีดีพีในปี 2552

องค์การอนามัยโลกระบุว่าประเทศไทยมี "มีประวัติศาสตร์การพัฒนาสุขภาพยาวนานและสำเร็จ" และมีการสถาปนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 2545[1]

โครงสร้างพื้นฐาน[แก้]

โรงพยาบาลศิริราชในกรุงเทพมหานคร เป็นโรงพยาบาลที่เก่าแก่ที่สุดและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ภาครัฐเป็นผู้ให้บริการสาธารณสุขส่วนใหญ่ในประเทศไทย โดยมีโรงพยาบาล 1,002 โรง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (เดิมเรียก "สถานีอนามัย") 9,765 แห่ง ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีสามโครงการ ได้แก่ (1) ระบบสวัสดิการข้าราชการแก่ข้าราชการและครอบครัว (2) ประกันสังคมแก่ลูกจ้างเอกชน และ (3) ระบบหลักประกันสุขภาพ (เรียก "บัตรทอง" หรือ "30 บาทรักษาทุกโรค") ซึ่งตามทฤษฎีมีให้แก่คนไทยทุกคน โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเข้าร่วมโครงการดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่ได้เงินจากการจ่ายของผู้ป่วยและประกันเอกชน ข้อมูลของธนาคารโลก ระบุว่า ภายใต้แผนสุขภาพของประเทศไทย ประชากรร้อยละ 99.5 มีการคุ้มครองสุขภาพ[2]

กระทรวงสาธารณสุขควบคุมดูแลนโยบายสาธารณสุขของประเทศ และดำเนินการสถาบันสุขภาพของรัฐส่วนใหญ่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดสรรเงินทุนแก่โครงการหลักประกันสุขภาพ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอื่น ได้แก่ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มูลนิธิสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แม้มีนโยบายระดับชาติสนับสนุนการกระจายอำนาจ แต่การนำไปปฏิบัติยังเผชิญการต่อต้าน และกระทรวงฯ ยังควบคุมระบบสาธารณสุขส่วนใหญ่โดยตรงอยู่

ประเทศไทยริเริ่มการปฏิรูปหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2544 นับเป็นประเทศรายได้ปานกลางต่ำไม่กี่ประเทศที่กระทำเช่นนั้น บริการสุขภาพที่ใช้เครื่องมือทดสอบความจำเป็น (means test) ถูกแทนที่ด้วยแผนประกันใหม่และครอบคลุมมากกว่า ซึ่งเดิมเรียก "โครงการ 30 บาท" ร่วมกับการร่วมจ่ายเล็กน้อยที่คิดค่าบริการให้กับการรักษา บุคคลที่เข้าร่วมแผนนี้จะได้รับบัตรทอง ซึ่งทำให้พวกเขาเข้าถึงบริการในเขตสุขภาพของตน และในกรณีที่จำเป็น สามารถส่งตัวเพื่อรับการรักษาของแพทย์เฉพาะทางที่อื่น[2]

การคลังสุขภาพปริมาณมากมาจากรายได้ของภาครัฐ โดยทุนได้รับจัดสรรแก่หน่วยคู่สัญญาของบริการระดับปฐมภูมิรายปีตามจำนวนประชากร ข้อมูลของ WHO ระบุว่า ร้อยละ 65 ของรายจ่ายบริการสุขภาพของไทยในปี 2547 มาจากรัฐบาล ส่วนอีกร้อยละ 35 มาจากเอกชน ประเทศไทยบรรลุความครอบคลุมถ้วนหน้า (universal coverage) โดยมีรายจ่ายด้านสาธารณสุขค่อนข้างต่ำ แต่ระบบเผชิญกับความท้าทายสำคัญ คือ ราคาที่สูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำ และการทรัพยากรซ้ำซ้อน[3]

แม้การปฏิรูปดังกล่าวได้รับการวิจารณ์พอสมควร แต่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทยยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท และยังหลงรอดจากการเปลี่ยนรัฐบาลหลังรัฐประหารเมื่อปี 2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นเลิกการร่วมจ่าย 30 บาทและทำให้แผนดังกล่าวไม่เสียค่าใช้จ่าย[4][5][6]

ในปี 2552 รายจ่ายประจำปีของบริการสุขภาพคิดเป็น 345 ดอลลาร์ระหว่างประเทศต่อคนในความเท่าเทียมของอำนาจซื้อ (PPP) รายจ่ายทั้งหมดคิดเป็นประมาณร้อยละ 4.3 ของจีดีพี ในจำนวนนี้ ร้อยละ 75.8 มาจากภาครัฐ และร้อยละ 24.2 มาจากภาคเอกชน ความหนาแน่นของแพทย์คิดเป็น 2.98 คนต่อประชากร 10,000 คนในปี 2547 และเตียงโรงพยาบาล 22 เตียงต่อประชากร 100,000 คนในปี 2545[7]

ข้อมูลการใช้ประโยชน์ของบริการสุขภาพในปี 2551 มีดังนี้ มีความชุกของการคุมกำเนิดร้อยละ 81, ความครอบคลุมการฝากครรภ์อย่างน้อยสี่ครั้งร้อยละ 80, การคลอดร้อยละ 99 มีบุคลากรสาธารณสุขผู้มีทักษะเข้าร่วม, ในเด็กหนึ่งขวบ มีความครอบคลุมการได้รับวัคซีนร้อยละ 98 และความสำเร็จของการรักษาวัณโรคที่สเมียร์เป็นบวกร้ยอละ 82[8]

โรงพยาบาล[แก้]

ดูบทความหลักที่: โรงพยาบาลในประเทศไทย
โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ โรงพยาบาลเอกชนคาทอลิกในกรุงเทพมหานคร

กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการโรงพยาบาลส่วนใหญ่ โรงพยาบาลเอกชนมีกองการประกอบโรคศิลป์ (Medical Registration Division) เป็นผู้วางระเบียบ หน่วยงานอื่นของรัฐและองค์การสาธารณะเป็นผู้ดำเนินการโรงพยาบาลบางส่วน รวมทั้งกองทัพ มหาวิทยาลัย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและสภากาชาด

น้ำและการสุขาภิบาล[แก้]

ในปี 2551 ประชากรร้อยละ 98 สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด และร้อยละ 96 เข้าถึงการสุขาภิบาลที่ถูกสุขอนามัย[1]

เขตสุขภาพ[แก้]

มีการจำแนกจังหวัดเป็นเขตสุขภาพต่าง ๆ แบ่งตามภาค เขตสุขภาพหนึ่งเขตรับผิดชอบประชากรประมาณ 3-6 ล้านคน มีเป้าหมายเพื่อให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพดีขึ้นแก่พลเมืองในภูมิภาคนั้น ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในแง่การโอนผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอื่นหากขาดแคลนสมรรถภาพการดูแลภายในเขตนั้น ๆ ในเดือนสิงหาคม 2560 เขตสุขภาพในประเทศไทยมีการจัดระเบียบออกเป็นหมวดดังนี้[9][10]

เขตสุขภาพในประเทศไทย
เขตสุขภาพที่ พื้นที่ รหัสพื้นที่ จังหวัด
1 พื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 15 เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน
พื้นที่ภาคเหนือตอนบน 2 16 เชียงราย น่าน พะเยา แพร่
2 พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 17 ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์
3 พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 2 18 กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี
พื้นที่ภาคกลางตอนบน 1 2 ชัยนาท
4 พื้นที่ภาคกลางตอนบน 1 1 นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี
พื้นที่ภาคกลางตอนบน 2 2 ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง
พื้นที่ภาคกลางตอนกลาง 3 นครนายก
5 พื้นที่ภาคกลางตอนล่าง 1 4 กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี
พื้นที่ภาคกลางตอนล่าง 2 5 ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร
6 พื้นที่ภาคกลางตอนกลาง 3 ปราจีนบุรี สระแก้ว
ภาคตะวันออก 9 จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา
7 พื้นที่ภาคตะวันออกตอนกลาง 12 กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด
8 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 10 เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ
พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 11 นครพนม มุกดาหาร สกลนคร
9 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 13 ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์
10 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 14 ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี
11 ภาคใต้ฝั่งตะวันออก 6 ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช
ภาคใต้ฝั่งตะวันตก 7 ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่
12 ภาคใต้ฝั่งตะวันออก 6 พัทลุง
ภาคใต้ฝั่งตะวันตก 7 ตรัง
จังหวัดชายแดนภาคใต้ 8 สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส

ผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น[แก้]

ประเทศไทยใช้อาสาสมัคร (ที่มักเรียก "อาสากู้ชีพ") เป็นผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น (first responder หรือ FR) ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งต่างจากประเทศอื่น ร้อยละ 65 ของผู้ป่วยฉุกเฉินในกรุงเทพมหานครมีอาสาสมัครเป็นผู้จัดการ จะมีการส่งรถพยาบาลที่มีเจ้าหน้าที่วิชาชีพและอุปกรณ์ครบเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น[11]

มีการช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์สามระดับในประเทศไทย ตั้งแต่ระดับผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นจนถึงการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (basic life support หรือ BLS) และการช่วยชีวิตขั้นสูง (advanced life support หรือ ALS) อาสาสมัครส่วนใหญ่ได้ระดับ FR พวกเขาอยู่ในมูลนิธิและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น[12] ศูนย์สายด่วนการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ประมาณ 1.5 ล้านครั้งต่อปี ทีม FR ที่เกี่ยวข้องประมาณหนึ่งล้านทีมทำหน้าที่ส่งผู้ป่วยยังสถานพยาบาล ส่วนทีม BLS และ ALS รับผิดชอบผู้ป่วยอย่างละประมาณ 200,000 ราย[12]

ศูนย์การแพทย์เอราวัณและมูลนิธิร่วมกตัญญูเป็นศูนย์ผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ใหญ่ที่สุดสององค์การในกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยการบริจาคจากเอกชนเป็นหลัก แต่บางทีอาสาสมัครต้องออกเงินซื้อยานพาหนะ น้ำมัน เครื่องแบบและอุปกรณ์การแพทย์เอง อาสาสมัครไม่ได้รับอนุญาตให้รับเงินจากโรงพยาบาลหรือผู้ป่วย อาสาสมัครกล่าวว่าพวกตนทำไปเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ หรือเพื่อประกอบกรรมดี สำหรับชาติหน้า[11] อาสาสมัครได้รับการฝึกเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำลังเพิ่มการฝึกขั้นต่ำเป็น 40 ชั่วโมง แต่ทีแรกถูกองค์กรเครือข่ายกู้ชีพกู้ภัยแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาคมผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น คัดค้าน[12]

แต่ไม่ใช่ว่าองค์การผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินทั้งหมดทำโดยไม่หวังผล บางทีเงินจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยสังเกตได้จากการแย่งผู้ป่วยระหว่างองค์การนำไปสู่ข้อพิพาทและการแสดงอาวุธปืน[13]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Thailand-Country cooperation strategy: At a glance" (PDF). World Health Organization. May 2010. สืบค้นเมื่อ 21 December 2011.
  2. 2.0 2.1 "Thailand: Sustaining Health Protection for All". World Bank Thailand. สืบค้นเมื่อ 29 August 2012.
  3. World Health Organization Statistical Information System: Core Health Indicators
  4. The Universal Coverage Policy of Thailand: An Introduction เก็บถาวร 2012-01-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. G20 Health Care: "Health Care Systems and Health Market Reform in the G20 Countries." Prepared for the World Economic Forum by Ernst & Young. January 3, 2006.
  6. Hughes D, Leethongdee S (2007). "Universal coverage in the land of smiles: lessons from Thailand's 30 baht health reforms". Health Affairs. 26 (4): 999–1008. doi:10.1377/hlthaff.26.4.999. PMID 17630443.
  7. "Thailand - Country statistics". Global Health Observatory. World Health Organization. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-26. สืบค้นเมื่อ 21 December 2011.
  8. "Thailand - Country health profile" (PDF). Global Health Observatory. World Health Organization. สืบค้นเมื่อ 21 December 2011.
  9. "Map of Health Districts in Thailand" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-03-19. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |dead-url= (help)
  10. "Table of health districts in Thailand" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-03-19. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |dead-url= (help)
  11. 11.0 11.1 Calderon, Biel (2014-04-24). "In Pictures: Thailand's emergency volunteers". Al Jazeera. สืบค้นเมื่อ 24 April 2018.
  12. 12.0 12.1 12.2 "Rescue workers say first responders not ready for new training rule". The Nation. 2017-12-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-24. สืบค้นเมื่อ 24 April 2018.
  13. "Arrest made in bloody row between Bangkok rescue crews". The Nation. 23 April 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-29. สืบค้นเมื่อ 24 April 2018.