รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490
รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
บน: รถถังฝ่ายคณะทหารแห่งชาติใกล้บริเวณพระบรมมหาราชวัง ล่าง: รถถังฝ่ายคณะทหารแห่งชาติบริเวณสะพานช้างโรงสี | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
คณะทหารแห่งชาติ สนับสนุนโดย:
|
![]() | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
พลโท ผิน ชุณหะวัณ [1] |
|
รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7–8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดยกลุ่มทหารนอกราชการที่นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ[2] นำกำลังยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
รัฐประหารดังกล่าวเป็นการร่วมมือระหว่างพันธมิตรกลุ่มจอมพล แปลก พิบูลสงคราม และกลุ่มนิยมเจ้า เพื่อโค่นอำนาจของกลุ่มปรีดี พนมยงค์ (ซึ่งประกอบด้วยอดีตสมาชิกเสรีไทยและทหารเรือบางส่วน) โดยอาศัยช่องจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรรายงานว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหารด้วย[1] ผลของรัฐประหารทำให้กลุ่มปรีดีและคณะราษฎรหมดอำนาจไป และแม้จอมพล แปลก พิบูลสงครามจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากนั้นแต่ก็ไม่ได้มีฐานอำนาจของตนเอง การเมืองไทยต่อมาอยู่ในช่วง "ผู้นำสามเส้า" จนถึงปี 2500
เหตุการณ์
[แก้]ชนวนเหตุ
[แก้]
รัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์ซึ่งสืบอำนาจต่อจากรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ไม่สามารถจัดการกับปัญหาความขัดแย้งกันในชาติได้ อันมีสาเหตุหลักจากการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประกอบกับมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงราชการ เช่น การนำเงินไปซื้อจอบเสียมแจกจ่ายให้ราษฎรทำการเกษตร ทว่าความปรากฏภายหลังว่าเป็นจอบเสียมที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเรียกกันว่า "กินจอบกินเสียม" เป็นต้น ในขณะนั้นมีข่าวลือและความเป็นไปได้เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า อาจเกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น สำหรับตัวพลเรือตรีถวัลย์ แล้ว เมื่อนักข่าวซักถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ตอบว่า "ก็นอนรอการปฏิวัติอยู่แล้ว" เพราะมั่นใจในศักยภาพของรัฐบาลตัวเองว่ามีผู้บัญชาการทหารบก (พลเอกอดุล อดุลเดชจรัส) ให้การสนับสนุนอยู่[3]
ความเคลื่อนไหวในการเตรียมรัฐประหารประกอบด้วยพันธมิตรทางการเมืองระหว่างกลุ่มจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ที่เสียอำนาจไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กับกลุ่มนิยมเจ้า โดยมีการเคลื่อนไหวเพื่อกล่าวหาปรีดีว่าเป็นผู้บงการเหตุสวรรคต[4]: 62
ขณะเดียวกันรัฐบาลสายปรีดีเสียการสนับสนุนจากสหรัฐเนื่องจากได้ร่วมมือกับเวียดมินห์ในหลายทาง เช่น ส่งมอบอาวุธให้ในทางลับ และวางแผนร่วมมือกันจัดตั้งองค์การความร่วมมือสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อต่อรองกับชาติมหาอำนาจ กอปรกับแนวความคิดของปรีดีโน้มเอียงไปในทางสังคมนิยม[4]: 60–1
จอมพล ผิน ชุณหะวัณ แกนนำรัฐประหาร อ้างว่า สาเหตุหนึ่งที่ต้องก่อการเพราะปรีดีเตรียมประกาศชื่อผู้ลอบปลงพระชนม์ และตั้งสาธารณรัฐ[4]: 65
ลำดับเหตุการณ์
[แก้]รัฐประหารครั้งนี้ เดิมทีกำหนดให้เกิดขึ้นในเวลา 05.00 น. ของวันที่ 8 พฤศจิกายน แต่ทว่า พลเอก อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก ทราบเสียก่อน จึงมีคำสั่งเรียกให้นายทหารทุกชั้นเข้ามารายงานตัว คณะผู้ก่อการจึงเลื่อนกำหนดเดิมให้เร็วขึ้นหนึ่งวัน โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน เมื่อกองกำลังรถถังส่วนหนึ่งบุกเข้าไปที่ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เพื่อควบคุมตัวนายกรัฐมนตรีถวัลย์ซึ่งอยู่ในงานราตรีการกุศล และรถถังอีกส่วนหนึ่งบุกเข้าไปประตูทำเนียบท่าช้างวังหน้าเพื่อควบคุมตัวปรีดี พนมยงค์ แต่ปรีดีได้หลบหนีไปก่อนหน้านั้นไม่นานด้วยเรือ ครอบครัวปรีดีขณะนั้นเหลือเพียงท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยา และลูก ๆ เท่านั้น
เช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน พลโท ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้แถลงต่อสื่อมวลชนด้วยสภาพน้ำตานองหน้าว่า ทำไปเพราะความจำเป็น จนได้รับฉายาว่า "วีรบุรุษเจ้าน้ำตา" หรือ "บุรุษผู้รักชาติจนน้ำตาไหล" และเรียกกลุ่มของตนเองว่า "คณะทหารแห่งชาติ" รวมทั้งได้แต่งตั้ง จอมพล แปลก พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยุติบทบาททางการเมืองไปแล้วในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ให้เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งชาติ สาเหตุของรัฐประหารในครั้งนี้ ได้ปรากฏอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 (หรือเรียก "รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม")
ปฏิกิริยา
[แก้]

จากนั้นคณะทหารแห่งชาติ จึงให้ พันตรี ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยให้สัญญาว่าจะไม่แทรกแซงการทำงาน คณะทหารแห่งชาติได้ตั้งสภาขึ้นมา ใช้ชื่อว่า "คณะรัฐมนตรีสภา" และจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงข้างมาก พันตรี ควง อภัยวงศ์ จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเป็นรัฐบาลพลเรือน แต่ทว่า ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารในกลุ่มคณะทหารแห่งชาติสี่คน ก็ได้บีบบังคับให้พันตรี ควง อภัยวงศ์ ลาออก และแต่งตั้งจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีแทน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชหัตถเลขาแสดงความพอพระราชหฤทัยกับเหตุการณ์หลังได้รับทูลว่า ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ[5] นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์เอกราชได้ลงข่าวพาดหัวว่า "ในหลวงรู้ปฏิวัติ 2 เดือนแล้ว" โดยอ้างคำสัมภาษณ์ของพลโท กาจ กาจสงครามว่า เขาเป็นผู้ถวายโทรเลขรายงานแผนรัฐประหารต่อพระองค์ด้วยตนเอง[4]: 64–65
ในเบื้องต้น สหรัฐประณามรัฐประหารและไม่รับรองรัฐบาลใหม่ แต่อีกไม่กี่เดือนให้หลัง เมื่อคณะทหารแห่งชาติเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจากควง อภัยวงศ์เป็นจอมพล แปลก พิบูลสงครามในปี 2491 สหรัฐก็กลับให้การรับรองรัฐบาล และคืนความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทหาร[6]: 187 การศึกษาในอดีตมักยกความจำเป็นของสหรัฐในการมีพันธมิตรทางทหารเพื่อจำกัดลัทธิคอมมิวนิสต์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงท่าทีดังกล่าว[6]: 188
ผลกระทบ
[แก้]ผลจากรัฐประหารในครั้งนี้ ได้พลิกโฉมหน้าการเมืองไทยไปโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ทำให้พวกเสรีนิยมและลัทธิรัฐธรรมนูญหมดอำนาจ[6]: 187 มีการวิเคราะห์ว่า รัฐบาลพันตรี ควง อภัยวงศ์ แม้จะได้รับการแต่งตั้งและเลือกตั้งมา ก็ไม่มีอำนาจและไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เพราะอำนาจที่แท้จริงยังอยู่ที่คณะนายทหาร ซึ่งหลังจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งก่อตั้งมาก่อนหน้านี้ไม่นาน ก็มีความแตกแยกกันเองภายในพรรค สืบเนื่องจากการพิจารณาการขึ้นเงินเดือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลจอมพล แปลก ของสมาชิกพรรคบางคน ทำให้สมาชิกพรรคหลายคนได้ลาออก เช่น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เลขาธิการพรรค, เลียง ไชยกาล, สุวิชช พันธเศรษฐ, โชติ คุ้มพันธ์ เป็นต้น ถือเป็นความแตกแยกกันของพรรคเป็นครั้งแรก[7]
ผลของรัฐประหารยังขจัดกลุ่มอำนาจเก่าของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้แก่ ขบวนการเสรีไทยและคณะราษฎรสายพลเรือน ให้สิ้นไปจากเวทีการเมือง รัฐประหารดังกล่าวเป็นการชิงตัดหน้าแผนของรัฐบาลในการปราบปรามผู้ต่อต้าน ทำให้ขั้วอำนาจปรีดีกระจัดกระจายอย่างฉับพลัน[4]: 66 แต่พันธมิตรทางการเมืองของเขายังพยายามต่อต้านโดยคิดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น และการโฆษณาต่อต้านรัฐบาลในพระนครและภาคอีสาน จนคณะรัฐประหารใช้กฎหมายเข้าปราบปราม[4]: 66–7
ดูเพิ่ม
[แก้]- เหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
- รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 (รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม)
- รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2491
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Nicholas Tarling, “Britain and the Coup 1947 in Siam,” Paper presented to International Association of Historians of Asia, Chulalongkorn University, Bangkok 20-24 May 1996, p. 3 อ้างใน ใจจริง, ณัฐพล. การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491–2500) (ร.ด.). คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
{{cite thesis}}
:|access-date=
ต้องการ|url=
(help) หน้า 64 - ↑ รัฐประหาร 2490 “รุ่งอรุณแห่งแสงเงินแสงทองของวันใหม่” ศิลปวัฒนธรรม. 5 กันยายน พ.ศ. 2563
- ↑ จรี เปรมศรีรัตน์, กำเนิดพรรคประชาธิปัตย์ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 61 ปี ประชาธิปัตย์ ยังอยู่ยั้งยืนยง ISBN 9789747046724
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 ใจจริง, ณัฐพล. การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491–2500) (PDF) (ร.ด.). คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 27 November 2020.[ลิงก์เสีย]
- ↑ ใจจริง, ณัฐพล (2556). ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) (1 ed.). ฟ้าเดียวกัน. ISBN 9786167667188.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 Apbomsuvan, Thanet (1987). "THE UNITED STATES AND THE COMING OF THE COUP OF 1947 IN SIAM" (PDF). Journal of The Siam Society (75). สืบค้นเมื่อ 8 February 2021.
- ↑ นายควง อภัยวงศ์ กับพรรคประชาธิปัตย์ โดย ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม (กรุงเทพมหานคร, พ.ศ. 2522)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- รัฐประหาร พ.ศ. 2490 เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- รัฐบาลทหาร (บทบาทรัฐบาลชุดที่ 19 – ชุดที่ 32, พ.ศ. 2490 – พ.ศ. 2516) เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน