ศาสนาฮินดูในประเทศไทย
พราหมณ์หลวงขณะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา | |
ศาสนิกชนรวม | |
---|---|
22,110 คน (0.03%) ของประชากรทั้งหมดใน พ.ศ. 2558 | |
ภูมิภาคที่มีศาสนิกชนจำนวนมาก | |
กรุงเทพมหานคร, จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดภูเก็ต | |
ศาสนา | |
ฮินดู | |
ภาษา | |
ภาษาศักดิ์สิทธิ์ สันสกฤต ภาษาส่วนใหญ่ ไทย, ฮินดี, ทมิฬ, ปัญจาบ |
ศาสนาฮินดูในประเทศไทย เป็นศาสนาชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย พ.ศ. 2558 มีศาสนิกชนราวร้อยละ 0.03 จากประชากรทั้งหมดในประเทศ[1] กระนั้นศาสนาฮินดูยังคงมีบทบาทเด่นและแฝงตัวอยู่ในสังคมไทยมาตลอด[2] แม้ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่ก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูอย่างสูง หากมีเทศกาลเนื่องในศาสนาฮินดู ก็จะมีพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนเข้าร่วมในพิธี[3] ทั้งนี้ศาสนาฮินดูในไทยได้รับอิทธิพลจากอินเดียใต้อย่างชัดเจน[4] ปัจจุบันยังสามารถพบอิทธิพลฮินดูได้ทั่วไป เช่น วรรณกรรม รามเกียรติ์ ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก รามายณะ ของฮินดู[5] และสัญลักษณ์ของประเทศคือครุฑ เป็นพาหนะของพระวิษณุ เทพเจ้าฮินดูองค์หนึ่ง[6]
อย่างไรก็ตามพราหมณ์ไทยเองได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากศาสนาผีและศาสนาพุทธ เช่นข้อปฏิบัติของพราหมณ์ การบวงสรวง และการบูชาผี ทำให้มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง[2][7][8][9] แม้ศาสนาฮินดูกับศาสนาพุทธของไทยจะมีความเชื่อที่ต่างกัน แต่ทั้งสองศาสนาก็ไม่มีข้อขัดแย้งกันอย่างไร ทว่าประนีประนอมและผสมผสานกันมากกว่า เพราะศาสนาทั้งสองต่างก็มีความเชื่อที่ยังประโยชน์แก่ชนชั้นปกครองโดยตรง[10] นักวิชาการไทยโดยทั่วไปมีความเห็นว่า ศาสนาของไทยคือมีศาสนาพุทธเป็นแกนกลาง โดยมีศาสนาผีและพราหมณ์เป็นเปลือกห่อหุ้ม สอดคล้องกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ความเห็นไว้ว่า "...ถึงแม้ว่าศาสนาฮินดูจะเข้ามามีอิทธิพลในสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปกครองของไทยจึงเป็นแต่เพียงเปลือก เป็นเครื่องประดับภายนอกอย่างผิวเผิน หาได้เข้าถึงแก่นแท้ซึ่งเป็นพุทธไม่"[11] ขณะที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้ความเห็นว่า "...ศาสนาไทยมีศาสนาผีเป็นแกนกลาง และมีพุทธ และพราหมณ์เป็นเปลือกห่อหุ้มภายนอก..."[12][13]
ประวัติ
[แก้]ยุคแรกเริ่ม
[แก้]ในอดีตดินแดนของประเทศไทยในปัจจุบันได้รับอิทธิพลศาสนาฮินดูจากจักรวรรดิเขมรและอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งเคยเรืองอำนาจมาก่อน[8] ประชากรในแถบประเทศไทยรู้จักศาสนาฮินดูมานานกว่า 1,000–2,000 ปี[14] เดิมเรียกว่าศาสนาไสย(ะ) ก่อนเปลี่ยนไปเรียกศาสนาพราหมณ์ในช่วงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา[2] ดังปรากฏการสร้างศาสนสถานอย่างปราสาทขอมแพร่หลายทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบางส่วนของภาคกลาง มีรูปเคารพเทพเจ้าต่าง ๆ เช่น พระวิษณุ พระศิวะ พระพรหม พระคเณศ และพระอินทร์ เป็นต้น[15] และปรากฏชุมชนฮินดูกระจายทั่วไปในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย[14]
ทั้งนี้ศาสนาฮินดูเข้าสู่ไทยหลายทาง โดยผ่านทางชาวเขมรจากอาณาจักรฟูนันช่วงพุทธศตวรรษที่ 6 และยังผ่านนักเดินเรือชาวอินเดียใต้เป็นหลัก ดังจะพบหลักฐานเทวรูปพระวาสุเทพ ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 9 ถือเป็นหลักฐานของศาสนาฮินดูที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[16] ใน จารึกศาลสูง ภาษาเขมร หลักที่ 1 ระบุถึงการให้อิสระแก่ประชาชนชาวละโว้ในการนับถือศาสนาทั้งลัทธิไศวะ เถรวาท และมหายาน ส่วน จารึกศาลเจ้าเมืองลพบุรี กล่าวถึงการนับถือลัทธิไวษณพที่แพร่หลายจากเขมรสู่ละโว้[17] และ จารึกกัมรเตงอัญศรีชัยวรมัน ระบุถึงการนับถือพระวิษณุ (ในจารึกเรียก "ศรีบรมวาสุเทพ") เป็นเทพเจ้าประจำเมืองด้วย[18] แต่กระนั้นชาวละโว้ส่วนใหญ่ยังคงนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทตามอย่างทวารวดีอย่างเหนียวแน่น[17] ศาสนาฮินดูมีอิทธิพลเฉพาะชนชั้นสูง ขณะที่ชนชั้นล่างลงมานับถือศาสนาพุทธหรือผี[9][19] จารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ. 2053 ระบุว่ามีความพยายามในการที่จะผสานความเชื่อระหว่างศาสนาพุทธ ศาสนาไสย และศาสนาพระเทพกรรม ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน[20] ทว่าในกาลต่อมา ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทกลายเป็นศาสนาที่ประชากรส่วนใหญ่ในแถบนี้หันไปนับถือ เพราะศาสนาพุทธนั้นเรียบง่าย ปรับตัวเข้ากับศาสนาผีและวัฒนธรรมไทยพื้นเมืองได้ จึงกลายเป็นที่นิยมและแพร่หลายในกลุ่มชนชั้นสูงและชาวบ้านทั่วไป[21] อย่างไรก็ตามศาสนาฮินดูยังคงกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มชนชั้นสูง เพราะมีประโยชน์ต่อนโยบายการปกครอง แม้พระมหากษัตริย์นับถือศาสนาพุทธ แต่ก็ยังคงพิธีกรรมฮินดูเพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์และการแสดงตนว่ามีอารยะ ด้วยเหตุนี้พราหมณ์ในสังคมไทยจึงมีบทบาทเชิงพิธีกรรมเท่านั้น[9][22] ศาสนสถานของพราหมณ์หลายแห่งจึงถูกเปลี่ยนเป็นพุทธสถานแทน[23][24][25]
ในยุคอาณาจักรสุโขทัย มีการสร้างเทวสถานอุทิศแก่เทวรูป แต่ผู้คนเริ่มหันไปนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทตั้งแต่รัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นต้นมา[26] และในอาณาจักรอยุธยา มีการอ้างถึงพระราชพิธีอินทราภิเษกในกฎมนเทียรบาล และมีวรรณกรรมสำหรับพิธีกรรมสำคัญคือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ[27] รวมทั้งคติเทวราชา ที่เชื่อว่ากษัตริย์สืบเชื้อสายจากเทพเจ้า ดังพบการเฉลิมพระปรมาภิไธยให้พ้องกับพระนามของพระเป็นเจ้า เช่น รามาธิบดี สุริเยนทราธิบดี นารายณ์ หรือราเมศวร เป็นต้น[9] ศาสนาฮินดูมีบทบาทเด่นขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โดยเฉพาะในยุคราชวงศ์ปราสาททอง พราหมณ์หลวงสามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในราชสำนักได้อย่างโดดเด่นเรื่อยมาตลอดรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ผู้ทรงให้ความสำคัญกับพระราชพิธีอินทราภิเษก การดูฤกษ์ยาม รวมทั้งมีพิธีพราหมณ์ปรากฏในพงศาวดารมาจนตลอดรัชกาล มีพระราชดำริสร้างเทวสถานขึ้นบนเกาะเมือง เรียกว่า วัดพระศรีรุทรนาถ เมื่อ พ.ศ. 2179 สำหรับประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรและพระนารายณ์ ตั้งอยู่เชิงสะพานชีกุน และมีเสาชิงช้าตั้งอยู่หน้าโบสถ์[28] ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็มีการประกอบพระราชพิธีพราหมณ์บูชาเทพเจ้าต่าง ๆ อย่างประณีตซับซ้อน[29] โดยไม่ได้กล่าวถึงคุณแห่งพระรัตนตรัยเลย[30] และในกวีนิพนธ์ คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง ก็ไม่ได้กล่าวถึงการอุปถัมภ์ศาสนาพุทธไว้เลย แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นของศาสนาฮินดูเหนือศาสนาพุทธในราชสำนักช่วงนั้น[29] สุดท้ายช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทที่แฝงตัวอยู่ในสังคมเมือง ได้กลับมามีบทบาทเด่นอีกครั้ง เพราะการปฏิบัติตนในศาสนาพุทธเป็นการสั่งสมบารมีและแสดงสถานภาพทางสังคมของบุคคล[31]
ส่วนดินแดนแถบปัตตานี ชาวฮินดูเริ่มหันไปนับถือศาสนาพุทธช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 แต่ยังคงธรรมเนียมฮินดูบางอย่างไว้ กระทั่งพุทธศตวรรษที่ 19 ก็หันไปนับถือศาสนาอิสลาม และเริ่มทำลายศาสนสถานเดิม[32] แต่ยังคงหลงเหลืออิทธิพลไว้บางประการเช่น กริชที่มีรูปเทพเจ้าฮินดู, พิธีตอเลาะบาลอ อันเป็นพิธีสวดขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากชุมชน, การแสดงวายัง, การทำบุหงาซีเระ[33] พิธีปูยอปาตา เป็นพิธีบูชาทะเล และพิธีปูยอบือแน เป็นพิธีบูชาทุ่งนาหรือนางโพสพ[34] รวมทั้งเรื่องเล่าปรัมปรา ที่ชาวบ้านเคยต้องส่งหญิงสาวไปบวงสรวงแก่พญาครุฑแถบเพิงผาเขายาลอ[35]
ยุคหลัง
[แก้]หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ร่องรอยและเอกสารของศาสนาฮินดูในไทยถูกทำลายลงไปมาก[27][36] ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่เคยประทับอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ทรงพบชุมชนพราหมณ์ที่นั่น และมีพระราชดำริว่าพราหมณ์ที่กรุงเก่านั้นถูกพม่ากวาดต้อนสูญหายไปหมดสิ้นแล้ว จึงเชิญพราหมณ์เมืองนครกลับไปสร้างกรุงธนบุรีด้วยกัน[8] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษกและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะฟื้นฟูพระราชพิธีตลอดจนขนบธรรมเนียมตามโบราณราชประเพณีขึ้น ศาสนาฮินดูได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง[27] ทรงสร้างเทวสถานสำหรับพระนครและเสาชิงช้าเมื่อ พ.ศ. 2327[37] (ส่วนเอกสารของนอร์มัน บาร์ตเลต์ระบุว่าโบสถ์พราหมณ์สร้างใน พ.ศ. 2323 ตรงกับยุคธนบุรี)[38] ทำให้มีพราหมณ์ปฏิบัติหน้าที่ในราชสำนักสืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยในยุครัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ความเชื่อในระบบจักรวาลวิทยาของฮินดูส่งผลต่อการรังสรรค์จิตรกรรม ศิลปกรรม และวรรณคดีของไทย[27] เทพเจ้าฮินดูต่าง ๆ แปรสภาพเป็นผู้พิทักษ์พุทธศาสนา ดังจะพบภาพเทพฮินดูที่บานประตูหน้าต่างของพุทธศาสนสถาน ทำหน้าที่เป็นทวารบาล[39]
ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา พระราชพิธีพราหมณ์ที่ยังเหลืออยู่ถูกแทรกด้วยพิธีสงฆ์และการทำบุญของศาสนาพุทธตามพระราชนิยมอย่างชัดเจน กระนั้นพระราชพิธีพราหมณ์เองก็ถูกจำกัดแต่ในราชสำนัก[40] และพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับพราหมณ์บางพิธีถูกยกเลิกไปในยุครัตนโกสินทร์นี้[41][42][43] แต่ยังคงความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นอวตารของพระนารายณ์ (คือพระวิษณุ)[44] เดิมคติพราหมณ์ไทย พระวิษณุไม่มีพุทธาวตารอย่างในอินเดีย หากแต่มีสมณาวตาร และนับถือพระพุทธเจ้าไว้สูงสุด แต่หลังการอพยพของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูสู่ไทยช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ก็ได้นำคติพุทธาวตารเข้ามาด้วย โดยให้พระพุทธเจ้ามีสถานะเท่ากับเทพฮินดู ซึ่งผิดแผกไปจากระบบจักรวาลวิทยาของไทยที่มองว่าพระพุทธเจ้าอยู่เหนือเทพเจ้าองค์ใด ๆ[45] ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์ ลิลิตนารายณ์สิบปาง มีการระบุ "พุทธาวตาร" เป็นครั้งแรก แต่พระองค์มิได้ระบุรายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับอวตารนี้เลย หากแต่ทรงกล่าวยกย่องพระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้า[46][47] นอกจากนี้พระองค์ยังลดบทบาทของเทพสตรีทั้งหลายลง รวมทั้งมีพระราชนิยมให้พระพิฆเนศวรเป็นเทพแห่งศิลปวิทยา ซึ่งแท้จริงแล้วบทบาทเป็นของพระสุรัสวดี ซึ่งเป็นเทวนารี มีเพียงพราหมณ์ที่สักการะบูชาเทพสตรีต่าง ๆ ในฐานะชายาของพระเป็นเจ้า หากแต่ไม่มีพิธีกรรมหรือเทศกาลพิเศษอย่างบุรุษเทพ[48]
หลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา มีการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งมีการยกเลิกกรมพิธีพราหมณ์ สังกัดกระทรวงวัง ทำให้พระราชพิธีหยุดชะงัก และบางพระราชพิธีถูกยกเลิกไป ไม่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีก[41][49] พราหมณ์ในกรุงเทพมหานครจำนวนมากกลับคืนภูมิลำเนา เทวสถานประจำพระนครจึงถูกทิ้งไว้ให้ทรุดโทรม เทวรูปบางส่วนสูญหายไปในช่วงอุทกภัยใน พ.ศ. 2485 จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีพราหมณ์ขึ้นมาใหม่ช่วง พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น[50]
ปัจจุบันศาสนาฮินดูยังมีบทบาทในพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ความสวัสดิมงคล และเทศกาลต่าง ๆ อยู่[51][52] เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย สงกรานต์ และลอยกระทง[14][53] ชาวไทยทั่วไปรับรู้ศาสนาฮินดูผ่านวรรณกรรมและแนวคิดอย่างศาสนาพุทธ ทำให้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามประเพณีฮินดูค่อนข้างน้อย[2] ส่วนชาวไทยเชื้อสายมลายูที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามแล้วก็ตาม แต่บางชุมชนยังคงรักษาพิธีกรรมหรือขนบธรรมเนียมตามความเชื่อแบบพราหมณ์มาจนถึงปัจจุบัน[54]
ความเชื่อ
[แก้]คติพราหมณ์ไทยนับถือว่าพระอิศวร (คือพระศิวะ) เป็นพระเป็นเจ้าสูงสุด มักมีเทวโองการให้พระนารายณ์ (คือพระวิษณุ) ลงไปปราบเภทภัยอยู่บ่อยครั้ง[55] ในเทวสถานประจำพระนครมีการตั้งศิวลึงค์สององค์คู่กัน คาดว่ากระทำตามธรรมเนียมอินเดียตอนใต้[56] พราหมณ์ไทยนับถือพระอิศวรและพระนารายณ์เป็นหลัก คือพราหมณ์พิธีนับถือพระอิศวร และพราหมณ์พฤฒิบาศนับถือผีปะกำ (ภายหลังถูกเกณฑ์ไปนับถือพระนารายณ์) และมองว่าพระพรหมเป็นเทพในศาสนาพุทธ[57] ทั้งได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากศาสนาผีและพุทธ ซึ่งอย่างแรกเป็นศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิม และอย่างหลังเป็นศาสนาที่ชนส่วนใหญ่นับถือ เช่นข้อปฏิบัติของพราหมณ์ การบวงสรวง และการบูชาผี ทำให้มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง[2][7][8] นอกจากนี้ใน โลกบัญญัติ, โลกสัณฐานโชตรตนคัณฐี และ ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ซึ่งคัมภีร์ศาสนาของไทย มีเรื่องราวของพระอิศวรได้รับการเทศนาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนพระอิศวรยอมรับพระพุทธศาสนา และมีรูปพระพุทธเจ้าประดับอยู่บนพระเศียรของพระอิศวร[58][59] และปัจจุบันชุมชนพราหมณ์บางแห่งมีการสักการะรูปพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ของศาสนาพุทธ ด้วยสำคัญว่าเป็นเทวรูปพระอิศวร[60][61]
ใน คัมภีร์นารายณ์ยี่สิบปาง ระบุว่า พระวิษณุไม่มีพุทธาวตาร หากแต่เป็นสมณาวตารผู้แย่งศิวลึงค์จากอสูรตรีบุรำ[62][63] (คือบุตรสามคนของตารกาสูร ใน ปุราณะ)[64] สอดคล้องกับระบบจักรวาลวิทยาของไทยเชื่อว่าพระพุทธเจ้า ศาสดาของศาสนาพุทธอยู่เหนือเทพเจ้าองค์ใด ๆ[45] ส่วน คัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ระบุว่า มเหศวรเทวราชเป็นวิญญาณของผู้ทำกุศลแล้วไปจุติเป็นเทวดา และอนาคตจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มีสถานภาพต่ำกว่าพระศากยมุนี[63] และมีการจัดชั้นให้เทพเจ้าฮินดูมีฐานะเป็นผู้อารักขาพุทธสถาน[45] โดยอิงตามคัมภีร์ทางพุทธศาสนา[2] ในบางครั้งอาหารหรือเครื่องเซ่นสรวงในการสังเวยเทพเจ้าหรือแม้แต่วรรณกรรมฮินดูอย่าง รามเกียรติ์ ยังแฝงไปด้วยหลักธรรมในพุทธศาสนา[65][66]
เทพเจ้าฮินดูในไทยจะมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างไปจากประเทศต้นทาง เช่น พระวิศวกรรมตามตำราอินเดียจะมีพระกายสีขาว มีสามพระเนตร ทรงชฎา สวมชุดสีทอง และถือคทา แต่ในคติไทย พระวิศวกรรมจะมีพระกายสีเขียว โพกผ้าขาว ถือหางนกยูง[67] ส่วนพระคเณศแบบไทย ก็จะทรงเครื่องอย่างไทย ร่างแบบบางพุงไม่พลุ้ย บ้างก็มีงาครบทั้งสองข้าง ต่างจากแบบอินเดียที่พุงพลุ้ยและมีงาข้างเดียว[68] นอกจากนี้ยังมีการสร้างเทพพื้นเมืองที่ไม่ปรากฏในคัมภีร์ฮินดูอินเดียใด ๆ โดยหยิบยืมรูปลักษณ์ของเทพฮินดูมาใช้ เช่น พระวิษณุ ถูกสร้างเป็น พระนารายณ์เทวกรรม เป็นเทพแห่งช้าง มีหกกร ประทับนั่ง ถือบ่วงบาศนาคราช[69] และเทพอีกองค์หนึ่งคือพระคเณศ ถูกสร้างเป็นพระเทวกรรม เป็นเทพเกี่ยวกับช้าง และพระโกญจนาเนศวร์ เป็นเทพผู้ให้กำเนิดช้าง ซึ่งพัฒนาจากผีพื้นเมืองคือผีปะกำ[2][70][71] ทั้งยังสับสนด้านเทววิทยาที่ระบุว่าพระขันทกุมารเป็นเทพองค์เดียวกับพระคเณศ[72][73] กล่าวคือเป็นพระขันทกุมารเมื่อมีเศียรเป็นคน และเป็นพระคเณศเมื่อมีเศียรเป็นช้าง[68] ขณะที่พระมเหศวรีถูกนับว่าเป็นชายาอีกองค์ของพระนารายณ์[48] เพราะเข้าใจว่าคือองค์เดียวกันกับพระภูเทวี[74] พราหมณ์ในไทยมีการใช้ขนมต้มขาว, ขนมหม้อแกง, ขนมคันหลาว และขนมหูช้าง ส่วนแถบปัตตานีในอดีตจะใช้ตือปงนอแน ในการเซ่นสรวงบูชาพระคเณศหรือพระภูมิแทนขนมโมทกะ[65][75][76] และนับถือพระคเณศเป็นเทพแห่งศิลปะและเทพแห่งช้าง แต่แท้จริงแล้วพระองค์เป็นเทพแห่งการเริ่มต้นใหม่และความสำเร็จ[77]
ความเชื่อของเรื่องผีของไทยมักถูกตีความว่าเป็นความเชื่อของพราหมณ์มาโดยตลอด[13] การบูชาบรรพบุรุษตามความเชื่อดั้งเดิมของศาสนาผีในราชสำนักไทย ถูกเปลี่ยนสภาพให้อยู่ในรูปแบบของเทพเจ้าในศาสนาฮินดูหรือพุทธ ตามเทพเจ้าที่พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นนับถือ เช่น พระนารายณ์ พระอิศวร หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจัดขึ้นในพิธีสารท[78] นอกจากนี้มีการรวมความเชื่อระหว่างพระภูมิกับผีเจ้าที่รวมกัน โดยจัดให้พระภูมิเป็นเทพ หากดูแลศาลดีจะให้คุณ แต่ถ้าดูแลไม่ดีก็จะถูกลงโทษ โปรดเครื่องเซ่นเป็นอาหารคาวหวาน เนื้อสัตว์ และเหล้าอยู่ ต่างจากเทพฮินดูทั่วไปที่เกือบทั้งหมดเป็นมังสวิรัติ[79] ส่วนหมู่ศาลเทพเจ้าฮินดูบริเวณแยกราชประสงค์ไม่ใช่เทวาลัยอย่างฮินดู แต่เป็นสิ่งที่ทำหน้าที่แทนศาลเจ้าที่ของศาสนาผีโดยหยิบยืมรูปลักษณ์ของเทพฮินดูมาใช้ เพราะเป็นแหล่งธุรกิจใหญ่ ศาลจึงต้องมีขนาดที่ใหญ่เช่นกัน[80] และถือว่าเทพฮินดูสูงชั้นกว่าผีของศาสนาดั้งเดิม[81]
ร่างทรงในไทยมักกล่าวอ้างว่ามีเทพเจ้าฮินดูเข้าทรงตนเอง แต่โดยมากมีความรู้เกี่ยวกับฮินดูกระท่อนกระแท่น ทราบเพียงชื่อเทพเจ้า แต่นอกนั้นแทบไม่มีอะไรเป็นฮินดูเลย บางรายตั้งสำนักของตนทำนองเทวาลัย หรือไปเรียนภาษาและพิธีกรรมอย่างฮินดูก็มี[82] บางคนที่พูดภาษาสันสกฤตไม่ได้ ก็จะสร้างภาษาของตนเองแล้วอนุมานว่าคือ "ภาษาเทพ" นอกนั้นก็มีการเต้นระบำรำฟ้อนของเหล่าร่างทรง[83]
ปัจจุบันพุทธศาสนิกชนเข้าถึงการบูชาเทพเจ้าฮินดูมากขึ้น โดยมากจะเชื่อถือด้านทรงเจ้าเข้าผี การเซ่นสรวงบูชา และไสยศาสตร์เร้นลับ จนยากที่จะควบคุม[3]
พิธีกรรม
[แก้]เดิมพิธีกรรมมีมาจากความเชื่อเรื่องผีและเจ้า ที่มีพื้นเพจากสังคมกสิกรรม เพราะธรรมชาติส่งผลจากการทำมาหากินของผู้คนในอดีต ดังนั้นจึงเกิดพิธีกรรมเซ่นสรวง ไหว้ หรือบูชาสิ่งเร้นลับ เมื่อรับศาสนาฮินดูเข้ามาในหมู่ชนชั้นปกครอง ประเพณีต่าง ๆ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงให้ดูยิ่งใหญ่น่าเลื่อมใส โดยมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ยกระดับเจ้านายให้สูงส่งกว่าคนชนชั้นล่างลงไป[84] ราชสำนักมีการรับคติความเชื่อของพราหมณ์เรื่องระบบชนชั้นตามชาติกำเนิดมาใช้ และหลังจากการรับศาสนาพุทธเข้ามาก็รับเอาความเชื่อชนชั้นตามคติบุญบารมีเข้ามาผสมผสานกันอีกที[10] หลังการล่มสลายของอาณาจักรอยุธยา วัฒนธรรมและประเพณีพราหมณ์หลายอย่างสูญหายไป ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ จึงมีการฟื้นฟูธรรมเนียมพราหมณ์ขึ้นมาใหม่[41] ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียใต้ บางอย่างก็รับมาจากอินเดียเหนือ[85] ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการปรับปรุงประเพณีบางประการให้เหมาะสมกับกาลสมัย[41][49] แต่จากการละเลยของพราหมณ์ ทำให้พระราชพิธีแบบพราหมณ์เริ่มสาบสูญไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ว่า "... เมื่อพราหมณ์ประพฤติศาสนาของตัวเสื่อมคลายลง จนไปตรงกับคำนุ่งคำกู การพิธีซึ่งไม่มีประโยชน์ และไม่มีใครบังคับให้ทำจึงได้ละเลยเสีย [...] จะป่วยกล่าวไปไยในพิธีพราหมณ์ ซึ่งหลวมโพรกมาแต่เดิมแล้ว..." และ "...การพิธีที่เป็นส่วนของผู้ถือศาสนาทำเอง เมื่อความศรัทธาเสื่อมคลายลง ก็ทำให้ย่อ ๆ ลงไปจนเลยหายไปได้..."[86] สุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการยกเลิกกรมพิธีพราหมณ์ สังกัดกระทรวงวัง ทำให้พระราชพิธีหยุดชะงัก และบางพระราชพิธีถูกยกเลิกไป ไม่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีก[41][49]
ปัจจุบันพิธีกรรมของพราหมณ์ไทยส่วนใหญ่เป็นพระราชพิธีในราชสำนักเพื่อเสริมความศักดิ์สิทธิ์ในแผ่นดิน[9] พิธีกรรมบูชายัญถูกยกเลิกไปจนสิ้น คงเหลือแต่การสาธยายพระเวท พิธีมงคลต่าง ๆ ควบคู่ไปกับศาสนาพุทธ[49]
พระราชพิธี
[แก้]พระราชพิธี หมายถึง งานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดไว้ตามพระราชประเพณี ซึ่งจะเสด็จไปประกอบพิธี บางพระราชพิธีจะเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชกรณียกิจจึงจะมีหมายกำหนดการ และมีผู้เข้าเฝ้า เว้นแต่เป็นการส่วนพระองค์หรือการภายใน[87] พระราชพิธีพัฒนามาจากพิธีกรรมการบูชาธรรมชาติและผี เมื่อรับศาสนาฮินดูและพุทธเข้ามาจึงพัฒนาพิธีกรรมต่าง ๆ ให้ดูยิ่งใหญ่สมกับเป็นงานของพระเจ้าแผ่นดิน[84] พระราชพิธีที่เป็นพิธีอย่างฮินดูใน พระราชพิธีสิบสองเดือน ส่วนใหญ่ถูกยกเลิกไปแล้ว งานที่ยังมีอยู่ก็ถูกรวมเข้ากับพระราชพิธีของศาสนาพุทธ ซึ่งมีดังนี้[41][49][88]
เดือน | พระราชพิธี | พิธีกรรม | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
เดือนอ้าย | พระราชพิธีเฉวียนพระโคกินเลี้ยง | เป็นพระราชพิธีเลี้ยงพระโคอุสุภราช เดิมกระทำในเดือนยี่ ในพิธีจะนำพระโคอุสุภราชมาแต่งด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ ให้พระราชกุมารป้อนหญ้าพระโค พระเจ้าแผ่นดินถือดอกบัวทอง พระอัครมเหสีถือดอกบัวเงิน แห่ประทักษิณพระโคเก้ารอบ | ยกเลิกแล้ว |
เดือนยี่ | พระราชพิธีบุษยรัตน์ | พระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่องอย่างสรงมุรธาภิเษกประทับบนกองดอกไม้เจ็ดสีหรือมณฑปดอกไม้สด แล้วจำเริญพระนขา มีพราหมณ์แปดคนถวายพระพร | ยกเลิกแล้ว |
พระราชพิธีตรียัมพวายและตรีปวาย | เป็นปีใหม่พราหมณ์ของพวกพราหมณ์โหรดาจารย์ เดิมกระทำในเดือนอ้าย ในพระราชพิธีตรียัมพวายเป็นของพระอิศวร จะเสด็จลงมาโลกมนุษย์ในวันขึ้น 7 ค่ำ เดือนอ้าย ส่วนพิธีตรีพวายเป็นของพระนารายณ์ จะเสด็จลงมาโลกมนุษย์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย จะมีข้าราชการผู้ใหญ่เป็นพระยายืนชิงช้า สมมติตัวว่าเป็นพระอิศวรมาเยี่ยมโลก โล้ชิงช้าพร้อมกับพราหมณ์นาลิวัน | ยกเลิกแล้ว | |
เดือนสาม | พระราชพิธีธานยเทาะห์ | เป็นพิธีเผาข้าว ทำพิธีที่ทุ่งนา ในพิธีมีคนแต่งกายสวมเทริด แบ่งเป็นชุดแดงกลุ่มหนึ่ง ชุดเขียวกลุ่มหนึ่ง สมมติว่าเป็นพระอินทร์กลุ่มหนึ่งพระพรหมกลุ่มหนึ่งแย่งรวงข้าวกัน ข้างไหนแย่งได้จะมีคำทำนาย | ยกเลิกแล้ว |
พระราชพิธีศิวาราตรี | เป็นพิธีลอยบาปของพราหมณ์ มีการผูกเชือกที่คอหม้อและโยงกับเสาสี่เสา ก้นหม้อเจาะรูไว้ให้น้ำในหม้อหยดลงศิวลึงค์ไหลไปตามรางโยนีและเติมน้ำในหม้อไปเรื่อยจนเช้า ครั้นรุ่งสางจะนำน้ำนี้ไปสระผมอาบน้ำ และเก็บผมที่ร่วงไปลอยน้ำ | ยกเลิกแล้ว | |
เดือนสี่ | พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ | คือพิธีสิ้นปีหรือพิธีตรุษ ฝ่ายพุทธจะสวดเจริญพระพุทธมนต์เป็นระยะเวลาสามคืน พราหมณ์บวงสรวงเทพเจ้า มีการสวดอาฎานาฏิยสูตรหรือภาณยักษ์ขับไล่ผีตลอดทั้งคืน | ถูกยุบรวม |
เดือนห้า | การสังเวยเทวดา | มีการเซ่นสังเวยเครื่องและละครหลวงแก่เทวดา ในพระราชพิธีจะอัญเชิญพระสยามเทวาธิราช เจว็ด และเทวรูปมาตั้งในพิธี | ยกเลิกแล้ว |
พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล | เป็นพิธีระงับทุกข์เข็ญของบ้านเมือง มีการอ่านคำสัตย์สาบานและให้ผู้ร่วมพิธีดื่มน้ำชำระพระแสง | ถูกยุบรวม | |
พระราชพิธีคเชนทรัศสนาน (สระสนาน) | เป็นพระราชพิธีทอดเชือกคชกรรมของพราหมณ์พฤฒิบาศ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ช้างและผู้ทำงานเกี่ยวกับช้าง โดยพราหมณ์จะคอยประพรมน้ำมนต์แก่ช้างม้า | ยกเลิกแล้ว | |
พระราชพิธีทอดเชือกดามเชือก | เป็นพระราชพิธีตรวจเชือกบาศหกเดือนก่อนไปทำงานของพราหมณ์พฤฒิบาศที่โรงเชือก มีการตั้งโต๊ะบูชาเทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพิฆเนศวร | ยกเลิกแล้ว | |
เดือนหก | พระราชพิธีจรดพระนังคัล | เป็นพระราชพิธีในการเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าวที่ทุ่งส้มป่อย มีการตั้งเทวรูป มีพราหมณ์กระทำพิธี พระยาแรกนาเทียมโคอุศุภราช และนางเทพีหว่านพันธุ์ข้าว เมื่อทำพระราชพิธีนี้แล้ว ราษฎรจึงลงมือทำนาได้ ปัจจุบันถูกยุบรวมเข้ากับวันพืชมงคลของศาสนาพุทธ | ถูกยุบรวม |
เดือนเจ็ด | พระราชพิธีเคณฑะ (ทิ้งข่าง) | เป็นพระราชพิธีทิ้งข่างเสี่ยงทาย นำโลหะใหญ่กลมเท่าผลแตงโมเป็นลูกข่างสมมติว่าเป็นพระสยม ต้องให้ผู้ชายสามคนชักสายทิ้งข่างให้หมุน | ยกเลิกแล้ว |
พระราชพิธีทูลน้ำล้างพระบาท | เดิมเรียกพระราชพิธีนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นพระราชพิธีถวายน้ำชำระล้างพระบาทของพระมหากษัตริย์ แล้วนำน้ำนั้นมาใส่กะละออมเอาผ้าพันแล้วทูนบนหัวของขุนนาง ส่วนเอกสารสมัยอยุธยาระบุว่ากษัตริย์สรงน้ำมุรธาภิเษก แล้วเปลื้องเครื่องทรงเมื่อสรงสนานส่งแก่พราหมณ์ | ยกเลิกแล้ว | |
เดือนเก้า | พระราชพิธีตุลาภาร | เป็นพระราชพิธีสะเดาะเคราะห์ของพระมหากษัตริย์และพระมเหสี ด้วยการบริจาคพระราชทรัพย์แก่พราหมณ์ | ยกเลิกแล้ว |
พระราชพิธีพรุณศาสตร์มหาเมฆบูชา | เป็นพระราชพิธีเรียกฝนเพื่อประโยชน์ด้านกสิกรรม โดยมีพราหมณ์สวดร่ายเวท ต่อมามีพิธีสงฆ์ของศาสนาพุทธร่วมด้วย | ยกเลิกแล้ว | |
เดือนสิบ | พระราชพิธีภัทรบท | เป็นพิธีลอยบาปของพราหมณ์ บูชาพระไพสพ จากนั้นตั้งน้ำอบดอกไม้ นำไปรดสรงเทวรูปสิบหกองค์ พราหมณ์กระทำพิธีลอยบาป แล้วจึงบริโภคมธุปายาสและยาคู | ยกเลิกแล้ว |
พระราชพิธีสารท | เป็นพิธีกวนมธุปายาสหรือข้าวทิพย์และยาคูแก่พราหมณ์ ต่อมาถวายแก่พระสงฆ์ | ยกเลิกแล้ว | |
เดือนสิบสอง | พระราชพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม | เป็นพิธีลอยเคราะห์ วันยกโคมจะมีการกล่าวบูชาพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม มีพราหมณ์กระทำพิธีในโรงพิธีถวายน้ำมหาสังข์จนถึงวันลดโคม เทียนจุดโคมจะทาเปรียง (น้ำมันไขข้อพระโค) | ยกเลิกแล้ว |
พระราชพิธีกะดิเกยา | เป็นพระราชพิธีตามเพลิงคอยรับพระเป็นเจ้าเสด็จลงมา จัดที่เทวสถาน เดิมกระทำในเดือนอ้าย ใช้ระยะเวลาเพียงสามวัน ใช้น้ำสังข์รดดับเพลิง เป็นอันเสร็จพิธี | ยกเลิกแล้ว |
มีพระราชพิธีที่สำคัญที่ยังดำรงอยู่คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือพิธีสถาปนาพระมหากษัตริย์ว่ามีพระราชอำนาจเหนือแผ่นดินอย่างเป็นทางการ ตามความเชื่อของพุทธและฮินดู เช่น การสรงน้ำมุรธาภิเษก และการเปิดประตูศิวาลัยอัญเชิญพระอิศวรเพื่อประทานพร ถวายสังวาลพราหมณ์เพื่อแสดงพระองค์ว่าเป็นพราหมณ์ ถวายพระมหาพิชัยมงกุฎเพื่อเป็นการประกาศปกครองประเทศ โดยมีพราหมณ์หลวงเป็นผู้ประกอบพระราชพิธี[49][89]
พระราชพิธีฉัตรมงคล หมายถึง พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตรสิริราชกกุธภัณฑ์ พระแสงประจำรัชกาล ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษกเสวยราชสมบัติตามราชประเพณี ในพระราชพิธี พราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจุดเครื่องบูชาเทพยดาประจำนพปฏลมหาเศวตฉัตร โดยมีพราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนและเจิมนพปฏลมหาเศวตฉัตร[90][91]
พระราชพิธีพระบรมศพหรือพระศพเจ้านาย มีการก่อสร้างพระเมรุมาศสำหรับประดิษฐานพระบรมโกศหรือพระโกศเจ้านาย ซึ่งเกี่ยวพันกับความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุของฮินดู และความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์เป็นการแบ่งภาคของพระเป็นเจ้าลงมาบำรุงโลก เมื่อสวรรคตหรือสิ้นพระชนม์จะถือว่าขึ้นไปจุติเป็นเทวดาบนชั้นฟ้า[92] ในอดีตข้าราชบริพารและราษฎรต้องโกนศีรษะไว้อาลัย ซึ่งเป็นธรรมเนียมการปลงศพของชาวอินเดียฮินดู[93]
นอกจากนี้ยังมีพิธีบวงสรวงพระบรมรูปของพระราชบุพการี ตั้งโต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวยตามคติพราหมณ์ โดยมีพระมหาราชครูพิธี ประธานพระครูพราหมณ์อ่านโองการบวงสรวงหน้าพระบรมรูป โดยมีโหรหลวงลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์[94] และพิธีในอดีตอีกอย่างคือ พิธีกลบบัตรสุมเพลิง เป็นพิธีที่ทำให้พื้นดินบริสุทธิ์ หากมีใครเลือดตกยางออกหรือตายในพระราชฐานชั้นในนับว่าเป็นเสนียดจัญไร ต้องแก้ไขด้วยการให้พราหมณ์พฤฒิบาศปลูกศาลเพียงตา ขุดดินบริเวณที่มีเลือดหรือคนตายกว้างสองศอก ยาวสองศอก และลึกศอกเศษ จากนั้นนำแกลบกลบลงในหลุมสูงหนึ่งศอกแล้วก่อไฟ หยิบเครื่องสังเวยใส่ในกองเพลิงแล้วอ่านโองการ เสร็จแล้วเกลี่ยดินกลบหลุม[95]
ประเพณีราษฎร์
[แก้]ศาสนิกชนจะประกอบพิธีกรรมในศาสนสถาน เพราะเชื่อว่าเทวสถานเป็นที่สิงสถิตของพระเป็นเจ้า มีการประกอบพิธีประจำวันเรียกว่า ยัชญะ เช่น การบูชาตามคำสอนพระเวทหรือการศึกษาพระเวท และการบูชาไฟด้วยการเผาสิ่งต่าง ๆ ลงไป เป็นต้นว่า เนย งาดำ กำยาน ผงไม้จันทน์ เพื่อบูชาเทวดา[49] หรือปรากฏพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การทำขวัญ การไหว้ครู และการบวงสรวงสังเวย จะมีการทำบายศรี หากเป็นการบวงสรวงสังเวยจะมีเครื่องมัจฉมังสาหาร คืออาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ปรุงสุก หรือกระยาบวช คืออาหารที่ไม่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ บางพิธีจะต้องมีพราหมณ์มาประกอบพิธีให้ โดยการอ่านชุมนุมเทวดาและคำประกาศบวงสรวง ส่วนการไหว้ครูจะมีการตั้งเครื่องบูชา เครื่องมือช่างหรือหัวโขน บายศรี และกระยาบวช ในพิธีจะมีบูชาและสรงน้ำเทวรูป อัญเชิญเทพเจ้าและครูผู้ล่วงลับมารับเครื่องสังเวย[96] โดยหัวโขนในการไหว้ครูจะมีการตั้งหัวโขนเทพฮินดูจำนวนมาก แต่ในโองการถวายเครื่องสังเวยจะกล่าวถึงพระปรคนธรรพ (คือรูปพ่อแก่) และพระพิราพ ส่วนบทไหว้ครูมีเพลงหน้าพาทย์สำหรับพระนารายณ์และพระอิศวรเท่านั้น[57]
ธรรมเนียมเรื่องการไว้จุกของเด็กไทย หลังผ่านพิธีโกนผมไฟ จะเว้นผมบริเวณส่วนกระหม่อม เพราะถือเป็นส่วนกะโหลกที่บางที่สุด จะปล่อยให้ยาวแล้วขมวดมุ่นไว้กลางศีรษะเหมือนผมของเทพเจ้า เพราะคติพราหมณ์เชื่อว่าเด็กจะได้รับการคุ้มครองจากพระผู้เป็นเจ้า เมื่ออายุได้ 11-13 ปี จึงเข้าพิธีโกนจุก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการก้าวข้ามสู่วัยผู้ใหญ่ ในราชสำนักจะเรียกพระราชพิธีโสกันต์ (สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป) และพิธีเกศากันต์ (สำหรับพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า) โดยจะมีพิธีพราหมณ์และพิธีสงฆ์พร้อมกันเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว คงเหลือแต่การโกนจุกของชาวบ้านที่เทวสถานสำหรับพระนคร[97]
ในคติพราหมณ์ไทย พราหมณ์เป็นผู้ตั้งศาลพระภูมิ อิงจากแนวคิดที่พระอิศวรประทับอยู่ในวิมานบนเขาพระสุเมรุดุจมณฑลจักรวาล ซึ่งพระภูมิเป็นเทวดาเหมือนกัน จึงตั้งด้วยเสาเดียว ผิดกับศาลเจ้าที่ของศาสนาผีซึ่งมีสี่เสา[98]
ในภาคใต้ มีพิธีกรรมบูชานางโพสพที่ตกทอดมาจากพระราชพิธีธานยเทาะห์ เรียกว่า ลาซัง หรือ ปูยอบือแน ในกลุ่มพุทธศาสนิกชนจะมีการนำฟางข้าวมาสร้างหุ่นเรียกว่า "โต๊ะชุมพุก" เป็นหุ่นชาย-หญิง โดยจะสร้างศาลเพียงตาขนาดเล็กบริเวณปลายนาสำหรับประกอบพิธี มีการอัญเชิญเทพแห่งข้าวมารับเครื่องเซ่นเพื่อขอพร และจัดงานแต่งให้หุ่นโต๊ะชุมพุก ก่อนจะตัดเชือกที่มัดหุ่นชุมพุกขึ้นฟ้าเป็นอันเสร็จพิธี บางแห่งจัดเป็นงานใหญ่ มีการเลี้ยงขนมจีน จัดเลี้ยงพระทั้งเช้าทั้งเพล และจัดแสดงการละเล่นต่าง ๆ ส่วนกลุ่มอิสลามิกชน จะกระทำในช่วงเช้า โดยจะนำอาหารคาวหวานไปไว้ที่ปลายนาเพื่อทำพิธี มีการเชิญโต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม และโต๊ะปาเก ไปสวดดอออขอพรจากพระเป็นเจ้า จากนั้นจะบริจาคซะกาตแก่ผู้นำศาสนา และมีการจัดเลี้ยงอาหาร รวมทั้งจัดการละเล่นในช่วงบ่าย[99]
การแบ่งกลุ่ม
[แก้]พราหมณ์ไทย
[แก้]พราหมณ์คือผู้มีหน้าที่และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ต้องมีชาติกำเนิดในวรรณะพราหมณ์ และต้องผ่านพิธีกรรมอุปนยสังสการและฝึกฝนวิชาความรู้เสียก่อนจึงจะเป็นพราหมณ์ได้ พราหมณ์สามารถแต่งงานมีครอบครัวได้ ต่างจากพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ ที่ต้องเว้นจากการครองเรือนตามแนวคิดพรตนิยม (asceticism)[100] ไทยในอดีตมีการแบ่งพราหมณ์ไว้สี่ตระกูล คือ พราหมณ์รามราช พราหมณ์พฤฒิบาศ พราหมณ์มหันต์ และพราหมณ์นาฬีวรรณ อพยพมาจากอินเดียมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรสุโขทัย ตั้งถิ่นฐานที่เมืองละโว้, เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช[101] ซึ่งพราหมณ์มีลักษณะที่ต่างไปจากพราหมณ์อินเดีย อย่างเช่น พราหมณ์พฤฒิบาศ มีต้นสายมาจากเมืองเขมร ซึ่งจะทำพิธีกรรมเกี่ยวกับช้าง[102] ส่วนพราหมณ์นาฬีวรรณ หรือนาลิวัน จะทำพิธีกรรมโล้ชิงช้า รำเขนง หรือเป็นพราหมณ์สยายผมในกระบวนแห่พระบรมศพ[103] และพราหมณ์รามราช คือพราหมณ์ในแถบเมืองนครศรีธรรมราชและเพชรบุรี มีบรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองราเมศวรัม รัฐทมิฬนาฑู[104]
ในหนังสือ เรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เมื่อ พ.ศ. 2457 ระบุชาติภาษาต่าง ๆ โดยมีพราหมณ์กลุ่มต่าง ๆ ปรากฏในนั้นด้วย ได้แก่ พราหมณ์วัยธึก พราหมณ์เวรำมะเหศร พราหมณ์อะวะตาร พราหมณ์บรมเทสันตรี พราหมณ์พญารี พราหมณ์พฤฒิบาศ พราหมณ์พาราณสี และพราหมณ์อรรคีศะณเวศ[105]
ในพระนิพนธ์ สาส์นสมเด็จ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกคำกราบทูลของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ความว่า "...พราหมณ์ (ในเมืองเรา) แต่ก่อนนี้มี ๓ ชั้น ชั้นสูงเรียก "ไวยทึก" เกล้ามวยบนกระหม่อม ชั้นกลางเรียก "เทสันกรี" เกล้าผมท้ายผมตก ชั้นต่ำเรียก "นาลิวัน" เปลือยผม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าตรัสติการเกล้าผมบนกระหม่อมว่าเหมือนเด็ก ๆ ดูน่าเกลียด ตรัสสั่งว่าเลิกเสียเถิด แต่นั้นมาก็เลิกเกล้าเมาลี คงเหลือแต่สองอย่าง..." และ "...สันนิษฐานว่า "ไวยทึก" เห็นจะเป็น "ไวทิก" คือผู้ทรงเวท เห็นจะเป็นพราหมณ์ครูมาแต่นอก "เทสันกรี" เห็นจะเป็น "เทศนฺตฺริก" คือพราหมณ์ในประเทศ ลูกพราหมณ์เกิดเมืองนี้ "นาลิวัน" ยังคิดไม่เห็นว่าคืออะไร"[106]
และในพระนิพนธ์ นิราศนครวัด ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่า ในกรุงเทพมหานครมีพราหมณ์อยู่สามจำพวกคือ พราหมณ์พิธีเมืองนคร พราหมณ์โหรดาจารย์เมืองพัทลุง และพราหมณ์พฤฒิบาศจากกรุงกัมพูชา ทรงกล่าวอีกว่าพราหมณ์พิธีเมืองนครมีบรรพบุรุษจากเมืองรามนคร พราหมณ์โหรดาจารย์เมืองพัทลุงมาจากเมืองพาราณสี แต่พระองค์ไม่ทราบที่มาของพราหมณ์พฤฒิบาศจึงตรัสถามพระครูพราหมณ์กรุงกัมพูชา ท่านตอบกลับมาว่า "มาแต่พนมไกลาส" พระองค์จึงไม่ทราบที่มาที่ไปของพราหมณ์พฤฒิบาศ[107]
แม้พราหมณ์ไทยจะมีบรรพบุรุษมาจากอินเดีย แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปพวกเขาก็มีรูปพรรณและวิถีชีวิตเช่นชาวไทยทั่ว ๆ ไป[108] ดังพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า "...เมื่อมาพิเคราะห์ดูพราหมณ์ทุกวันนี้ และสังเกตความนับถือของไทยเราทุกวันนี้ พราหมณ์เลวกว่าพระมากหลายเท่า [...] การซึ่งเป็นเช่นนี้เพราะเหตุใด เพราะเราเห็นว่าพราหมณ์นั้นไม่ผิดกับคน ๆ ธรรมดาเลย เวลาจะไปไหนหรืออยู่บ้านเรือน ไม่ได้เข้าวังหรือไปในการมงคล ก็นุ่งผ้าสีต่าง ๆ อย่างคนเราธรรมดา แปลกแต่ไว้ผมยาวเกล้ามวยที่ท้ายทอย การที่เป็นเช่นนี้เพราะความเรียวของพราหมณ์ ซึ่งมาอยู่ในประเทศอื่นไม่มีตระกูลพราหมณ์มาก ก็เสื่อมทรามลงไป ตระกูลก็เจือปนกับคนในพื้นเมือง ความประพฤติก็หันเหียนไปตามคนในพื้นเมือง..."[86]
ปัจจุบันพราหมณ์ไทยแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือพราหมณ์หลวงกับพราหมณ์พื้นเมือง แต่หลังการปฏิรูปการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2437 เป็นต้นมา อิทธิพลพราหมณ์ตามหัวเมืองเริ่มเสื่อมลง เหล่าพราหมณ์เองรับศาสนาพุทธเข้ามา เพราะมองว่าสามารถปฏิบัติร่วมกันได้[60] ทั้ง ๆ ที่ทั้งศาสนาฮินดูและพุทธมีความเชื่อที่ต่างกันมาก คือฮินดูเป็นพหุเทวนิยม ขณะที่ศาสนาพุทธเป็นแบบอเทวนิยม[21] และพลวัตทางสังคมที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้บวชเป็นพราหมณ์น้อยลงตามลำดับ[60] บ้างก็ว่าพราหมณ์ใช้ชีวิตไม่ต่างจากชาวบ้านทั่วไป ผิดกับพระสงฆ์ที่ได้รับความนิยมมากกว่า ดูเคร่งครัดน่าเลื่อมใสกว่า[86]
พราหมณ์พื้นเมือง
[แก้]พราหมณ์พื้นเมืองมีการสืบทอดทางสายเลือด และมีความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมไม่มากนัก ปัจจุบันเหลือพราหมณ์เพชรบุรี พราหมณ์สุราษฎร์ธานี พราหมณ์นครศรีธรรมราช พราหมณ์ตรัง และพราหมณ์พัทลุง ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมากหรือบางแห่งอาจสูญไปแล้ว เช่นที่จังหวัดระยองและจันทบุรี[108]
โดยพราหมณ์ที่ยังคงมีอยู่ เช่น พราหมณ์นครศรีธรรมราช มีประวัติความเป็นมายาวนาน สืบทอดมาจากบรรพบุรุษจากอินเดียใต้ไม่ต่ำกว่าพุทธศตวรรษที่ 10 มีร่องรอยการนับถือลัทธิไศวะ และลัทธิไวษณพ พบศาสนสถานที่ยังหลงเหลืออยู่ในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชและสิชล ได้แก่ หอพระอิศวร, ฐานพระสยม, โบสถ์พราหมณ์ และโบราณสถานเขาคาของลัทธิไศวะ และหอพระนารายณ์ของลัทธิไวษณพ ซึ่งเกือบทั้งหมดล้วนได้รับการบูรณะใหม่ในชั้นหลัง[109] ทั้งยังพบว่าอดีตศาสนสถานของพราหมณ์หลายแห่งถูกแปรเป็นวัดพุทธไปแล้ว[110]
พราหมณ์เพชรบุรีถือเป็นชุมชนพราหมณ์เก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาสืบเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน[111] มีบรรพบุรุษอพยพขึ้นไปจากนครศรีธรรมราช[9] มีอัตลักษณ์คล้ายกับพราหมณ์ในกรุงเทพฯ และนครศรีธรรมราช คือไว้ผมมุ่นตรงท้ายทอย นุ่งผ้าขาว นับถือพระอิศวรเป็นหลัก รวมทั้งมีเสาชิงช้าประกอบพิธี[108] กรมหลวงอภัยนุชิต และกรมหลวงพิพิธมนตรี (ภายหลังเป็นกรมพระเทพามาตุ) พระมเหสีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก็มีพระราชชนนีเป็นหญิงเชื้อพราหมณ์บ้านสมอปรือ เมืองเพชรบุรี[112] ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช พราหมณ์ที่นี่มีความเป็นอยู่ค่อนข้างดี พูดจาพาทีไพเราะ นิยมรับประทานเนื้อปู ปลา และหอย[113] แม้จะเป็นชุมชนพราหมณ์ขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันเหลือสกุลทียังบวชพราหมณ์เพียงสกุลเดียวคือภวังคนันท์[108]
พราหมณ์พัทลุง หรือเรียกว่า พราหมณ์มลิลา หรือ พราหมณ์บัณเฑาะว์[114] บรรพบุรุษอพยพมาจากอินเดียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11[115] ปัจจุบันมีพราหมณ์ราว 3-4 คน มีขนบธรรมเนียมต่างจากพราหมณ์แหล่งอื่นในประเทศไทย พวกเขายังประกอบพิธีกรรมปีใหม่พราหมณ์ (ตรงกับหนึ่งค่ำเดือนสี่) มีธรรมเนียมการฝังศพพราหมณ์ด้วยการนั่งตายที่ป่าช้าแขกชี มีการโกนศีรษะและไว้ปอยผมขนาดน้อยที่ท้ายทอย สวมหมวกสีขาวแทนการโพกศีรษะ สวมโจงกระเบน สวมเสื้อตัวยาว สวมสายยัชโญปวีต ห้อยประคำที่ทำจากเขาวัว และสวมแหวนโคนนทิ หากจะบวชเป็นพราหมณ์ต้องมีพระภิกษุเชื้อสายพราหมณ์มาประกอบพิธี และบวชในช่วงปีใหม่พราหมณ์เท่านั้น[108] พวกเขาถือศีลห้าและเคารพบูชาพระพุทธรูปของศาสนาพุทธ[114] มีประเพณีที่จำลองจากการบิณฑบาตของพระภิกษุเรียกว่า ตักบาตรใบบัว โดยศาสนิกชนจะใส่บาตรด้วยข้าวเหนียว แกงส้มพราหมณ์ และแกงคั่วพราหมณ์ที่เป็นมังสวิรัติ[114] พราหมณ์พัทลุงจะไม่บริโภคเนื้อวัว และปลาไหล[60] พวกเขามีบทบาทเฉพาะพิธีราษฎร์ เช่น ทำขวัญนาค อัญเชิญเทวดา พิธีแก้อุบาทว์จัญไร 108 ประการ และทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น[114]
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเรียกปราชญ์ประจำชุมชนว่าหมอพราหมณ์ ซึ่งต้องเป็นผู้รักษาศีล เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและพิธีกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับความสิริมงคล[116] เป็นกลุ่มคนพื้นเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากชนชั้นพราหมณ์ของศาสนาฮินดู ซึ่งต่างไปจากพราหมณ์ในภาคอื่น ๆ ชาวอีสานมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าฮินดูบ้าง เช่น พระอินทร์ พระพรหม และพระยม แต่มีอิทธิพลน้อยมากหากเทียบกับศาสนาพุทธหรือศาสนาผี[19]
พราหมณ์หลวง
[แก้]ส่วนพราหมณ์หลวงจะกระทำพิธีกรรมทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์เป็นส่วนใหญ่ โดยมากบรรพบุรุษมีเชื้อสายอินเดียภาคใต้[2][117] เรียกว่า พราหมณ์รามเหศร์[118] แต่การตัดขาดจากแผ่นดินแม่ ทำให้รับวัฒนธรรมไทยอย่างสูง และมีวัตรปฏิบัติต่างจากพราหมณ์อินเดีย[72] มีการสืบสายเลือด ถ่ายทอดองค์ความรู้กันในตระกูล และต้องผ่านการบวชที่เทวสถานสำหรับพระนครที่กรุงเทพมหานครเพียงแห่งเดียว และบวชปีละครั้งในช่วงตรียัมพวาย[8] ผู้จะเป็นพราหมณ์หลวงได้จะต้องได้รับการยอมรับจากหัวหน้าคณะพราหมณ์ราชสำนักจึงได้บวช เรียกว่า บวชสามสาย หากได้รับการพิจารณาว่าเหมาะสมที่จะเป็นพราหมณ์ราชสำนัก จะถูกส่งชื่อไปยังกองพระราชพิธี บรรจุเป็นพราหมณ์ราชสำนัก เมื่อพระครูพราหมณ์เห็นชอบ จึงได้บวชเรียกว่า บวชหกสาย จากนั้นจึงเสนอชื่อต่อกองพระราชพิธี และส่งต่อสำนักพระราชวัง เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป[119] ปัจจุบันมีพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) เป็นประธานพระครูพราหมณ์[120] ศาสนิกชนจะเรียกว่า "หลวงพ่อ" หรือ "คุณพระ"[53]
การบวชของพราหมณ์หลวงต่างจากอินเดีย เพราะทำอย่างการอุปสมบทของพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ กล่าวคือผู้ที่จะขอบวชพราหมณ์ต้องเอาบริขารไปกราบขอบวชกับพระครูพราหมณ์ เปรียบพระอุปัชฌาย์ แล้วพระครูพราหมณ์จะมอบสายธุรำหรือธุหร่ำ (คือสายยัชโญปวีต) คล้องอย่างอังสะ[121] ศึกษาษัฎศาสตร์หรือเวทางคศาสตร์ 6 ประการ ได้แก่ ศึกษาศาสตร์, ฉันทศาสตร์, ไวยากรณศาสตร์, นิรุกติศาสตร์, โชยติษศาสตร์ และกัลปศาสตร์[53] พราหมณ์หลวงสามารถแต่งกายด้วยชุดสุภาพในยามปกติ[122] แต่เมื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พราหมณ์จะสวมเสื้อราชปะแตนและโจงกระเบนสีขาว หากมีพระราชพิธีหรือต้องเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระมหากษัตริย์ พราหมณ์จะสวมครุย และเมื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจะเปลี่ยนเป็นเฉวียงบ่า อันเป็นธรรมเนียมการแสดงความเคารพของคนอินเดียโบราณ[123] พราหมณ์ต้องไว้ผมมวย ไม่ตัดหรือเล็มผมออก เพราะเชื่อว่าบริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่ของเทวดา[122] หากทำก็จะถือว่าขาดจากการเป็นพราหมณ์ และจะต้องมัดผมไว้ตลอด ไม่ปล่อยผมในที่สาธารณะนอกเสียจากพระราชพิธีพระบรมศพหรือพระศพเท่านั้น[124] พราหมณ์หลวงยังคงธรรมเนียมกราบพระอย่างโบราณ ซึ่งตกทอดมาตั้งแต่กรุงเก่า เช่นการนุ่งห่มผ้า การใช้ผ้ากราบ และการนั่งกระหย่งไหว้[123] ใน พ.ศ. 2560 มีพราหมณ์หลวงจำนวน 16 คน[8][120] พราหมณ์หลวงจะเกษียณออกจากราชการเมื่ออายุ 60 ปี สามารถต่ออายุราชการได้ หรือขอลาออกจากราชการก็ได้ หากประกอบความดีความชอบก็จะได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และบรรดาศักดิ์ชั้นต่าง ๆ[53] นอกจากภาษาไทย พราหมณ์หลวงจะต้องศึกษาภาษาทมิฬและสันสกฤตสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ตำรับตำราทางศาสนาปรากฏทั้งอักษรไทย และอักษรคฤนถ์ บ้างเรียกอักษรเฉียงพราหมณ์[36] โดยอักษรอย่างหลังนี้ ถูกใช้เขียนภาษาไทย ทมิฬ และสันสกฤตตั้งแต่สมัยอยุธยา ปัจจุบันหลงเหลือในรูปแบบของสมุดไทยดำ โดยมากถูกคัดลอกขึ้นใหม่ในชั้นหลัง[125] บางฉบับก็ใช้อักขรวิธีที่ผิดแผกออกไปจากตำราการเขียนอักษรเฉียงพราหมณ์โดยทั่วไป[126] ในอดีตพราหมณ์มีหน้าที่ถวายพระอักษรแก่พระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งแต่งตำรา และวรรณคดี เช่น จินดามณี ซึ่งเป็นตำราเรียนภาษาไทยแบบแรกของไทย[36] โดยอธิบายว่าอักษรไทยนั้นก็ได้รับอิทธิพลจากการเขียนของพราหมณ์ ความว่า[127]
อักษรไทยหย่างนี้ | เดิมพหรามณ์ | |
จรจากแต่เมืองราม | ราฐโพ้น |
ต่อตั้งอยู่ยังสยาม | ประเทศ นี้แล | |
แปลงรูปหยักหย่างโน้น | จึ่งให้ไทยเรียน | |
— จินดามณี |
พราหมณ์หลวงทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ หากแต่บูชาเทพเจ้าฮินดูไปด้วย[45] ถือศีลห้าของศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด[122] รวมทั้งต้องแสดงความเคารพพระสงฆ์อย่างสูง[7] ปฏิบัติบูชาตามลัทธิไศวะเป็นหลักเช่นเดียวกับพราหมณ์เพชรบุรีและนครศรีธรรมราช[108] ทั้งนี้พราหมณ์หลวงจะมีข้อห้ามในการรับประทานอาหารต่างจากพราหมณ์อินเดียซึ่งส่วนใหญ่เป็นมังสวิรัติ แต่พราหมณ์ไทยสามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้[128] พราหมณ์หลวงมีอาหารเฉพาะกลุ่มเช่น ข้าวเวท คือข้าวที่หุงด้วยน้ำอ้อยและนม หรือหุงด้วยกะทิ[129] รับประทานเนื้อสัตว์อย่างปลา ไก่ หรือหมู และอาหารห้าธาตุ[130] แต่ห้ามกินปลาไหล วัว หนู และสัตว์ต้องห้ามตามพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ในพุทธศาสนา[7] ในช่วงพระราชพิธีตรียัมพวาย พราหมณ์จะต้องถือพรตรับประทานอาหารมังสวิรัติตลอดพิธีนาน 15 วัน[53]
ชาวฮินดูจากเอเชียใต้
[แก้]มีการปรากฏตัวของชาวอินเดียหรือที่เรียกรวม ๆ ว่าแขก มาตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาดังปรากฏในเอกสารของชาวต่างประเทศ ส่วนชาวอินเดียร่วมสมัยอพยพเข้าประเทศไทยช่วง พ.ศ. 2463 และช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19[131] ปรากฏในเอกสารช่วงรัตนโกสินทร์เรียกชนกลุ่มนี้ว่า พราหมณ์ฮินดู หรือ ฮินดู่[118] พราหมณ์แขกเหล่านี้อพยพมาจากรัฐอุตตรประเทศและทมิฬนาฑู[108] ไม่มีบทบาทหรือยุ่งเกี่ยวกับพระราชพิธีในราชสำนัก เพราะถูกมองว่าเป็นคนต่างด้าว และคงประพฤติตามธรรมเนียมของตนโดยไม่เปลี่ยนไปตามกระแสวัฒนธรรมไทย[132] มักทำพิธีแก่ชุมชนเชื้อสายอินเดียด้วยกัน และเป็นพราหมณ์ต่อกันไม่กี่รุ่น[108]
มีศาสนสถานสำคัญคือวัดพระศรีมหาอุมาเทวี, วัดเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช ย่านเสาชิงช้า, วัดวิษณุ สมาคมฮินดูธรรมสภา แถบยานนาวา,[133] วัดเทพมณเฑียร สมาคมไทย-ฮินดู เชียงใหม่, วัดอินเดีย มูลนิธิภูเก็ตตันดายูดาปานี[134] สมาคมตรีนาถ ไทย-เนปาล และมูลนิธิศรีภคะวัตธรรม สนาตน มันทีร์ (ไทย-เนปาล)[135][136] สามารถจำแนกประเภทของกลุ่มศาสนิกได้จากศาสนสถาน คือ วัดพระศรีอุมาเทวีจะเป็นศูนย์รวมของชาวฮินดูเชื้อสายทมิฬ[137][138][139] และเบงกอล, วัดเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช เป็นศูนย์รวมของชาวสินธ์และปัญจาบ และวัดวิษณุ สมาคมฮินดูธรรมสภา เป็นศูนย์รวมของชาวอุตตรประเทศ[140]
อย่างไรก็ตามทั้งพราหมณ์ไทยและพราหมณ์อินเดียจะแยกอยู่กันคนละพวก แต่เมื่อประชาคมฮินดูอินเดียเพิ่มจำนวนขึ้นจึงมีการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ กับพราหมณ์ไทยในนามองค์กรศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแห่งประเทศไทย โดยให้พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) เป็นประธาน แต่พราหมณ์ทั้งสองกลุ่มจะปกครองศิษย์และศาสนิกชนของตนไม่ก้าวก่ายกัน[118]
ประชากรศาสตร์
[แก้]พ.ศ. 2542 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ระบุจำนวนผู้นับถือศาสนาฮินดูในไทยว่ามีไม่ถึง 4,000 คน[141] พ.ศ. 2548 มีผู้นับถือศาสนาฮินดูในไทยจำนวน 52,631 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.09 ของประชากรทั้งหมด[142] พ.ศ. 2553 มีผู้นับถือศาสนาฮินดูในไทยจำนวน 41,808 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.06 ของประชากรทั้งหมด[143] และ พ.ศ. 2558 มีผู้นับถือศาสนาฮินดูในไทยจำนวน 22,110 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.03 ของประชากรทั้งหมด[144]
ส่วนสำนักวิจัยพิวประมาณการว่า พ.ศ. 2552 มีผู้นับถือศาสนาฮินดูในไทยราวร้อยละ 0.1 ถือเป็นศาสนาที่เติบโตเร็วที่สุดของไทย และคาดการณ์ไว้ว่า พ.ศ. 2593 จะมีผู้นับถือศาสนาฮินดูร้อยละ 0.2[145]
ศาสนสถาน
[แก้]ตามคติฮินดูจะมีการสร้างศาสนสถานสำหรับอุทิศแก่พระเป็นเจ้าเป็นจุดศูนย์กลาง มีวิหารล้อมรอบสี่ด้าน เปรียบเป็นศูนย์กลางจักรวาล ในอดีตส่วนใหญ่มักทำด้วยศิลา และโคปุระเป็นซุ้มประตูใหญ่อยู่ด้านล่างสุดสำหรับทำสมาธิ เมื่อเข้าสู่เทวสถานในชั้นถัดมาจะมีพระมหามนเทียรเป็นที่ประทับของกษัตริย์และเป็นที่พักของผู้แสวงบุญ และชั้นบนสุดเรียกว่ามหาปราสาท เป็นที่ประทับของพระเป็นเจ้า โดยมากจะประดิษฐานศิวลึงค์[146] ทั้งนี้สามารถจำแนกประเภทของศาสนสถานออกเป็นสองยุคใหญ่ ๆ คือ[147]
- เทวสถานที่สร้างก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นศาสนสถานที่สร้างตามหัวเมืองใหญ่ในอดีตสำหรับประกอบพิธีของพราหมณ์ โดยมากสร้างโดยศิลา มีการแกะสลักเรื่องราวเทพเจ้าต่าง ๆ และประดับด้วยประติมากรรมเทวรูปทั้งศิลปะขอม ทวารวดี และศรีวิชัย ส่วนใหญ่เป็นซากปรักหักพังไปแล้ว[147]
- เทวสถานที่สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นศาสนสถานตามหัวเมืองใหญ่ร่วมสมัย สำหรับประกอบพิธีพราหมณ์ โดยมากเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีหลายรูปแบบ เช่น เทวสถานสำหรับพระนครเป็นโครงสร้างแบบไทยประเพณีโดยได้รับอิทธิพลจากศิลปะอยุธยา[146] ส่วนวัดพระศรีมหาอุมาเทวี เป็นศิลปะทราวิฑ และวัดเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของเมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย เป็นต้น[146]
อิทธิพล
[แก้]วัฒนธรรมไทยได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูอยู่หลายประการ ทั้งด้านขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม และวรรณกรรม แต่ธรรมเนียมหลายประการก็สาบสูญไปแล้ว[148] เช่น พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์, พระราชพิธีศิวาราตรี[149] และการโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย[148][150] บางธรรมเนียมก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู เช่น ประเพณีเจี๊ยะฉ่าย หรือประเพณีถือศีลกินผักของจังหวัดภูเก็ต ในงานจะมีขบวนแห่ที่ประกอบไปด้วยม้าทรง มีการทรมานร่างกายตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น มีดกรีดลิ้น หรือนำวัสดุต่าง ๆ แทงบนใบหน้าหรือร่างกาย เพื่อให้ทราบว่าเทพเจ้าลงมาจุติแล้วจึงไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ[151] ลักษณะใกล้เคียงกับประเพณีไทปูซัม ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองการประสูติของพระขันทกุมารของชาวทมิฬ ซึ่งผู้เข้าร่วมพิธีจะแบกกาวาดีและเจาะตามร่างกายด้วยห่วงแหลมอย่างเดียวกัน[152] ส่วนดินแดนแถบปัตตานีก็ยังมีอิทธิพลฮินดูอยู่บ้าง คือ การทำบุหงาซีเระ และพิธีแห่นก เดิมใช้สำหรับต้อนรับอาคันตุกะของเจ้าผู้ครอง แต่ต่อมาถูกดัดแปลงไปใช้ในพิธีสำคัญ เช่น พิธีสุหนัต หรือประกวดแข่งขันความสวยงาม ถือเป็นธรรมเนียมฮินดูเพียงไม่กี่อย่างที่ยังหลงเหลืออยู่ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาโดยตรง[153][154] อย่างไรก็ตาม ชุมชนมลายูบางท้องถิ่นยังดำรงพิธีกรรมหรือธรรมเนียมอย่างศาสนาฮินดูโบราณอยู่จนถึงปัจจุบัน[54] ขณะที่ชุมชนจามที่บ้านครัว เคยมีพิธีกรรมตะละบะลอในเดือนเศาะฟัร โดยจะมีการจุดเทียนไขตามตรอกซอกซอย แล้วให้เยาวชนเปล่งเสียง "ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์" เดินไปทั่วบริเวณชุมชนเพื่อขับไล่ผีและเภทภัย[155] ทำนองเดียวกับตอเลาะบาลอของชาวมลายู[33] แต่ปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้วเช่นกัน[155]
ก.ศ.ร. กุหลาบ เขียนไว้ในหนังสือ ต้นเหตุเสาชิงช้า ระบุว่า "พุทธ์กับไสยย่อมอาศรัยแก่กัน" และ "...จนทุกวันนี้ก็ยังมีขนบธรรมเนียมของไทยทำการมงคลอันใด ก็พอใจใช้พระสงฆ์แกมกับพราห์มณ์ปนกันอยู่หลายชนิด...บางทีไม่ใช้พราหมณ์ก็มีบ้าง แต่ยังคงสิ่งของเครื่องมงคลในมณฑลพิธีนั้น แต่ล้วนเปนสิ่งของตามแบบอย่างของพราหมณ์ทั้งสิ้น..."[156]
ด้านประติมานวิทยา สังเกตจากตำราเทวรูปและเทวดานพเคราะห์ พบว่าไทยได้รับอิทธิพลศาสนาฮินดูตั้งแต่ยุคฟื้นฟูจักรวรรดิวิชัยนครในแถบอินเดียใต้เป็นต้นมา[148] ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการหล่อเทวรูป 39 องค์สำหรับใช้ในพระราชพิธี และยังมีการดัดแปลงเทวรูปตามธรรมเนียมไทยคือมีการสร้างเทวรูปที่มีพระพุทธรูปประทับอยู่บนพระเศียร[85] ส่วนวรรณกรรมก็ได้รับอิทธิพลจากอินเดียตอนใต้ เช่น รามเกียรติ์ และทศาวตารของพระวิษณุของไทยก็ตรงกับคติฮินดูของอินเดียใต้[148]
โดยสรุปแล้วประเทศไทยมีการรับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูมานาน ต่อมาได้นำมาประยุกต์ให้เข้ากับขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อดั้งเดิม และศาสนาพุทธจนกลายเป็นเอกลักษณ์ในตนเอง[148]
อ้างอิง
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ "Population by religion, region and area, 2015" (PDF). NSO. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2017.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 พสิษฐ์ ไชยวัฒน์ (5 พฤศจิกายน 2561). "สัมภาษณ์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง: ฮินดู...อีกมุมที่คนไทยไม่รู้จัก". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 3.0 3.1 Erick White (5 พฤศจิกายน 2561). "นาฏกรรมของศาสนาฮินดูในมหานครกรุงเทพฯ: เทศกาลพิธีกรรมและพหุนิยมทางศาสนาในสภาพแวดล้อมทางสังคมไทยพุทธของเมืองใหญ่". Kyoto Review. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ บำรุง คำเอก (พฤษภาคม–สิงหาคม 2558). "อิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". Veridian E-Journal (8:2), หน้า 2399
- ↑ "Ramakien". Royal Thai Embassy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-17. สืบค้นเมื่อ 2020-05-11.
- ↑ "The concept of Garuda in Thai society". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-24. สืบค้นเมื่อ 2020-05-11.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 15
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ (26 กันยายน 2560). "สนทนาเรื่องศาสนาพราหมณ์ที่โบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้า กับพราหมณ์ตรัณ บุรณศิริ". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-08. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 "ความเป็นมาของศาสนาพราหมณ์และคณะพราหมณ์ในสยามประเทศ". มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 10.0 10.1 สุรพศ ทวีศักดิ์ (8 มกราคม 2561). "พุทธ-พราหมณ์-ผี หรือ ผี-พราหมณ์-พุทธ (1)". The Standard. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ คึกฤทธิ์ ปราโมช, ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์ (2520). ปาฐกถา "สิรินธร" ครั้งที่ 2 เรื่อง "อิทธิพลของศาสนาฮินดูต่ออารยธรรมไทย" (PDF). p. 12.
- ↑ ผี-พราหมณ์-พุทธ ในศาสนาไทย, หน้า 13
- ↑ 13.0 13.1 นิธิ เอียวศรีวงศ์ (26 พฤศจิกายน 2562). "พุทธ-พราหมณ์-ผี หรือ ผี-พราหมณ์-พุทธ (1)". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 14.0 14.1 14.2 "ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู" (PDF). กระทรวงวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Sikhoraphum, Thailand, Arts & Archaeology Journal
- ↑ บำรุง คำเอก (พฤษภาคม–สิงหาคม 2558). "อิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". Veridian E-Journal (8:2), หน้า 2402
- ↑ 17.0 17.1 รศ. เสมอ บุญมา. "คตินิยมทางศาสนาในละโว้" ใน มรดกความทรงจำแห่งนพบุรีศรีลโวทัยปุระ : ว่าด้วยโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ฯ และจารึกโบราณแห่งเมืองละโว้, หน้า 150-151
- ↑ ดร. ตรงใจ หุตางกูร. "ประเด็นประวัติศาสตร์และโบราณคดีจากจารึกเมืองละโว้" ใน มรดกความทรงจำแห่งนพบุรีศรีลโวทัยปุระ : ว่าด้วยโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ฯ และจารึกโบราณแห่งเมืองละโว้, หน้า 178, 189
- ↑ 19.0 19.1 พระมหาธงชัย ฐิตโสภโน และคณะ (มกราคม–มิถุนายน 2560). "คุณค่าและอิทธิพลของกลุ่มปราสาทขอมที่มีต่อคนท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ". วารสารวนัมฎองแหรกพุทธศาสตรปริทรรศน์ (4:1), หน้า 55-62
- ↑ "จารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 21.0 21.1 เทพพร มังธานี (มกราคม–มิถุนายน 2554). "ฮูปแต้มในสิมอีสาน : ภาพสะท้อนของความหลากหลายของลัทธิความเชื่อ". วารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (3:1), หน้า 41-54
- ↑ ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 13-14
- ↑ "วัดกำแพงแลง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "วัดพระพายหลวง". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-14. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ความเป็นมาของวัดศรีสวาย เดิมทีคือ "เทวสถาน" ภายหลังดัดแปลงเป็นวัด". ศิลปวัฒนธรรม. 29 มีนาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ รศ. เสมอ บุญมา. "คตินิยมทางศาสนาในละโว้" ใน มรดกความทรงจำแห่งนพบุรีศรีลโวทัยปุระ : ว่าด้วยโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ฯ และจารึกโบราณแห่งเมืองละโว้, หน้า 156
- ↑ 27.0 27.1 27.2 27.3 บำรุง คำเอก (พฤษภาคม–สิงหาคม 2558). "อิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". Veridian E-Journal (8:2), หน้า 2400
- ↑ เกร็ดย่อยร้อยเรื่อง ฉบับปรับปรุงและเพิ่มเติม, หน้า 242
- ↑ 29.0 29.1 ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่, หน้า 217
- ↑ ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่, หน้า 218
- ↑ ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่, หน้า 310
- ↑ ภูมิหลังและวัฒนธรรมประเพณีของลังกาสุกะ (PDF). มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. p. 52.
- ↑ 33.0 33.1 สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. "สายใยแห่งภราดรภาพ : บนสายรากวัฒนธรรมไทยทักษิณกับมลายูตอนบน". ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย, หน้า 390
- ↑ ทักษะวัฒนธรรม, หน้า 108-109
- ↑ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. "แผ่นดินภายใน". ยาลอเป็นยะลา ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและคนรุ่นใหม่ในเมืองและปริมณฑลเมืองยะลา, หน้า 40
- ↑ 36.0 36.1 36.2 "บทบาทหน้าที่ของพราหมณ์ต่อราชสำนักสยาม". มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ชุมชนโบสถ์พราหมณ์". หอสมุดท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ บำรุง คำเอก (พฤษภาคม–สิงหาคม 2558). "อิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". Veridian E-Journal (8:2), หน้า 2404
- ↑ ทิพยประติมา, หน้า 110-111
- ↑ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (23 พฤศจิกายน 2560). "เมื่อเทพถูกไล่ที่ – กรณีเทพฮินดูในพุทธสถาน". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 41.0 41.1 41.2 41.3 41.4 41.5 "พระราชพิธีสิบสองเดือนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. 6 มิถุนายน 2559. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-22. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ นิกรณ์ สมศรี (10 มกราคม 2563). "กทม. ร่วมงานพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย ณ เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์". สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-17. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "โบสถ์พราหมณ์". กทม. Now Connect. 11 มกราคม 2563. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-17. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ดวงกมล การไทย. "ไทย - ศาสนาและความเชื่อ". ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 45.0 45.1 45.2 45.3 คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (พฤษภาคม–สิงหาคม 2561). "เทวนิยมอินเดีย : เส้นทางและปรากฏการณ์ในสังคมไทย". Veridian E-Journal (11:2), หน้า 1595
- ↑ แคทรียา อังทองกำเนิด (กรกฎาคม–ธันวาคม 2559). "“พุทธาวตาร” กับ “ทศรถชาดก” : พุทธในพราหมณ์-ฮินดู พราหมณ์-ฮินดูในพุทธ" (PDF). ไทยศึกษา (12:2). p. 23.
{{cite book}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) - ↑ ราม วชิราวุธ. "ลิลิตนารายณ์สิบปาง ปางที่ ๙ พุทธาวตาร". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 48.0 48.1 คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (พฤษภาคม–สิงหาคม 2561). "เทวนิยมอินเดีย : เส้นทางและปรากฏการณ์ในสังคมไทย". Veridian E-Journal (11:2), หน้า 1596
- ↑ 49.0 49.1 49.2 49.3 49.4 49.5 49.6 "ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อที่กระทำ ณ เทวสถานทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด". มูลนิธิสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Thai PBS (6 ธันวาคม 2564). "พราหมณ์กรุงเทพฯ พระเวทย์แห่งรัตนโกสินทร์". ยูทูบ. สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Upendra Thakur (1986). Some Aspects of Asian History and Culture. Abhinav. pp. 27–28. ISBN 978-81-7017-207-9.
- ↑ Norman Cutler (1979). Consider Our Vow: Translation of Tiruppāvai and Tiruvempāvai Into English. Muttu Patippakam. p. 13.
- ↑ 53.0 53.1 53.2 53.3 53.4 นิรมล มูนจินดา (มกราคม 2546). "โลกหลายใบของเด็กชายพราหมณ์". สารคดี. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 54.0 54.1 มะอีซอ โซะมะตะ และคณะ (2549). "การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศวัฒนธรรม ในเขตเชิงเขาบูโด-สันการาคีรี กรณีศึกษาบริเวณบ้านตะโหนดอำเภอรือเสาะและอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "นารายณ์สิบปาง Thailand Edition". Story Log. 29 กันยายน 2562. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ บำรุง คำเอก, ดร. (มกราคม–มิถุนายน 2549). "อิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูต่อวัฒนธรรมประเพณี รูปแบบศิลปะ และวรรณกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". ดำรงวิชาการ (5:1). p. 192-194.
{{cite book}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) - ↑ 57.0 57.1 คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (16 พฤศจิกายน 2560). "ไม่มีพระพรหมและพระคเณศในพิธีไหว้ครูโขนละครและดนตรี". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ แคทรียา อังทองกำเนิด (กรกฎาคม–ธันวาคม 2559). "“พุทธาวตาร” กับ “ทศรถชาดก” : พุทธในพราหมณ์-ฮินดู พราหมณ์-ฮินดูในพุทธ" (PDF). ไทยศึกษา (12:2). p. 24-26.
{{cite book}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) - ↑ บำรุง คำเอก, ดร. (มกราคม–มิถุนายน 2549). "อิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูต่อวัฒนธรรมประเพณี รูปแบบศิลปะ และวรรณกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". ดำรงวิชาการ (5:1). p. 190.
{{cite book}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) - ↑ 60.0 60.1 60.2 60.3 "ศาสนาพราหมณ์ในไทย". พราหมณ์. 15 กันยายน 2561. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่า|url=
(help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "ประวัติความเป็นมา". โบราณสถานตุมปัง. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "นารายณ์สิบปาง". นามานุกรมวรรณคดีไทย. สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 63.0 63.1 ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 19
- ↑ อมนุษย์นิยาย, หน้า 63
- ↑ 65.0 65.1 "ทำไมต้องเรียก "ขนมต้ม" คู่แฝด "ขนมโมทกะ"". Matichon Academy. 26 กันยายน 2560. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ประคอง นิมมานเหมินท์ (เมษายน–มิถุนายน 2548). นิทานพระรามในฐานะวรรณกรรมพุทธศาสนา (PDF). วารสารราชบัณฑิตยสถาน (30:2). p. 459-469.
{{cite book}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) - ↑ อมนุษย์นิยาย, หน้า 105
- ↑ 68.0 68.1 เสถียรโกเศศ และ นาคะประทีป. "พระคเณศ" "วรรณคดี "พระคเณศ"". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (27 พฤษภาคม 2559). "'พระพิฆเนศวร์' ที่อินเดียไม่รู้จัก". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 119-120
- ↑ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (พฤษภาคม–สิงหาคม 2561). "เทวนิยมอินเดีย : เส้นทางและปรากฏการณ์ในสังคมไทย". Veridian E-Journal (11:2), หน้า 1592
- ↑ 72.0 72.1 คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (พฤษภาคม–สิงหาคม 2561). "เทวนิยมอินเดีย : เส้นทางและปรากฏการณ์ในสังคมไทย". Veridian E-Journal (11:2), หน้า 1593
- ↑ อมนุษย์นิยาย, หน้า 60
- ↑ บำรุง คำเอก (พฤษภาคม–สิงหาคม 2558). อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (PDF). Veridian E-Journal (8:2). p. 2415-2416.
{{cite book}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) - ↑ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (21 มิถุนายน 2561). "เล่าเรื่องเครื่องสังเวย ตอนที่ 2". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ขนมโค (ตือปง นอแน)". สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดปัตตานี. 25 กรกฎาคม 2556. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-24. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 101-107
- ↑ ธนภาคย์ อิทธิชัยพล (9 ตุลาคม 2564). "รากเหง้าความเชื่อที่น่าฉงนของ 'ผี พราหมณ์ พุทธ ในศาสนาไทย'". The Momentum. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 142-143
- ↑ "อดีตดาราดาวร้าย ส่งต่อศรัทธาจากความเชื่อ 3 วิมานเทพเสริมมงคล". ไทยรัฐออนไลน์. 14 มีนาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 8-9
- ↑ ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 177
- ↑ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (15 มีนาคม 2561). "ภาษาเทพ รับขันธ์ และ สวดโซฮา : นวัตกรรมจากวัฒนธรรม "เจ้าทรง" ไทย". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 84.0 84.1 "พระราชพิธีที่เกี่ยวกับการทำ มาหากิน". มูลนิธิสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 85.0 85.1 บำรุง คำเอก, ดร. (มกราคม–มิถุนายน 2549). "อิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูต่อวัฒนธรรมประเพณี รูปแบบศิลปะ และวรรณกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". ดำรงวิชาการ (5:1). p. 188-191.
{{cite book}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) - ↑ 86.0 86.1 86.2 จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. "พระราชพิธีสิบสองเดือน - พระราชพิธีเดือน 10". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ความหมายของพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธี" (PDF). สำนักงานเลขานุการตำรวจ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-11-26. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. "พระราชพิธีสิบสองเดือน". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "คำที่ควรรู้เกี่ยวกับ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" (๒)". พีพีทีวี. 31 กรกฎาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ กรกมล ทิมแถวสุต. "ฉัตรมงคล วันมหามงคลสมัย". กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-27. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "สมเด็จพระบรมฯ เสด็จฯ ในการพระราชพิธีฉัตรมงคล". ไทยพีบีเอส. 5 พฤษภาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระเมรุมาศ พระเมรุ ในความเชื่อสังคมไทย". ศิลปวัฒนธรรม. 14 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (28 ตุลาคม 2559). "พิธีเกี่ยวกับความตายในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "'ในหลวง-พระราชินี' ทรงประกอบพิธีบวงสรวงพระบรมรูป ร.9". กรุงเทพธุรกิจ. 6 เมษายน 2563. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ กิเลน ประลองเชิง (2 เมษายน 2562). "กลบบัตรสุมเพลิง". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ชนิดของบายศรีที่ใช้ในพิธี". มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ธรรมเนียมการแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์". Art Bangkok. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ความเชื่อเรื่องการตั้งศาลพระภูมิ". กระทรวงวัฒนธรรม. 13 มกราคม 2559. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-26. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สิริวรรณ วงษ์ทัต (30 สิงหาคม 2559). "ประเพณีลาซัง". สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-04. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ผี-พราหมณ์-พุทธ ในศาสนาไทย, หน้า 168-169
- ↑ นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม, 283-284
- ↑ อายัณโฆษณ์ (2558). "เรื่องพระคเณศที่เกี่ยวข้องกับช้าง". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (4 พฤศจิกายน 2559). ""นาลิวัน" คือใคร?". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (20 มีนาคม 2560). "เพชรบุรีมีเจ๊กกับแขก". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ กรุงเทพฯ มาจากไหน ?, หน้า 192
- ↑ ราม วชิราวุธ. "สาส์นสมเด็จ". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ นิราศนครวัด, หน้า 48-49
- ↑ 108.0 108.1 108.2 108.3 108.4 108.5 108.6 108.7 คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (16 เมษายน 2563). "พราหมณ์พัทลุง และความหลากหลาย ของ "พราหมณ์พื้นเมือง" ในไทย". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช" (PDF). พิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-10-31. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "วัดเก่าแก่บนสันทรายเมืองนครศรีธรรมราช (ตอนที่ 10)". วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร. 29 มีนาคม 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-09-04. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (8 ธันวาคม 2559). "เจดีย์พุทธ ยุคอยุธยา บ้านพราหมณ์ สมอพลือ จ.เพชรบุรี". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ คำให้การชาวกรุงเก่า. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2559, หน้า 623
- ↑ กิเลน ประลองเชิง (22 มกราคม 2562). "พราหมณ์สมอพลือ". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 114.0 114.1 114.2 114.3 "พราหมณ์เมืองพัทลุง". สารานุกรมวัฒนธรรมไทย. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2567.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พราหมณ์สายพัทลุงที่ยังมีชีวิตอยู่". พราหมณ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-27. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ที่นี่บ้านเรา : หมอพราหมณ์". ไทยพีบีเอส. 6 พฤษภาคม 2558. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "The new Brahmins". สืบค้นเมื่อ 4 March 2020.
- ↑ 118.0 118.1 118.2 กรุงเทพฯ มาจากไหน ?, หน้า 196-197
- ↑ "ตำแหน่งพระครูพราหมณ์". มูลนิธิสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 120.0 120.1 "คณะพราหมณ์". เทวสถานโบสถ์พราหมณ์. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 43-44
- ↑ 122.0 122.1 122.2 "พราหมณ์". 168 เอ็ดดูเคชั่น. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ 123.0 123.1 คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (25 มกราคม 2561). "ช้าหงส์และพราหมณ์ "ยองๆ ไหว้" ในพระราชพิธีตรีปวายตรียัมปวาย". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (9 พฤศจิกายน 2560). "นาลิวัน (พราหมณ์) สยายผมทำไม?". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ นิยะดา เหล่าสุนทร, ดร. (2535). พินิจวรรณกรรม. กรุงเทพฯ: แม่คำผาง. p. 13-14.
- ↑ นิยะดา เหล่าสุนทร และคณะ (กันยายน 2528). โองการแช่งน้ำ ฉบับอักษรเฉียงพราหมณ์ภาษาไทย. ศิลปวัฒนธรรม 6:(11). p. 105.
- ↑ "ลายสืไท". อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช, หน้า 103
- ↑ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (27 มกราคม 2560). ""ตรียัมปวาย – ตรีปวาย" คืออะไร ของสยามและอินเดีย เป็นไฉน". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (15 กุมภาพันธ์ 2561). "อาหารกับศาสนา : ข้าว". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Adcharawadee S. (31 กรกฎาคม 2562). "พราหมณ์กินอะไร ?". Urban Eat. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "INDIAN COMMUNITY IN THAILAND". สืบค้นเมื่อ 3 March 2020.
- ↑ ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 16-17
- ↑ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (4 กรกฎาคม 2562). "รู้จัก "เทพมณเฑียร" ห้าสิบปีผันผ่าน ของเทวสถานอินเดียใจกลางพระนคร". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ศาสนสถานฮินดู". ภูเก็ตสารสนเทศ. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ชาวไทยเชื้อสายเนปาลพร้อมใจเปิดมูลนิธิศรีภคะวัดธรรมฯ ที่ภูเก็ต". ผู้จัดการออนไลน์. 19 เมษายน 2556. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ชาวไทย-เนปาลภูเก็ต ร่วมทำพิธีแบบฮินดูถวายอาลัย 'ในหลวง รัชกาลที่ 9'". มติชนออนไลน์. 12 พฤศจิกายน 2559. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Sandhu & Mani 2006, p. 978.
- ↑ Kesavapany & Mani 2008, p. 673.
- ↑ Manguin, Mani & Wade 2011, p. 475.
- ↑ "วัดวิษณุ". ศูนย์วัฒนธรรม วิทยาลัยเซนต์หลุยส์. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ศาสนาพราหมณ์". มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-28. สืบค้นเมื่อ 2020-05-11.
- ↑ "Population by religion, region and area, 2010" (PDF). NSO. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-10-19. สืบค้นเมื่อ 2 March 2020.
- ↑ "Population by religion, region and area, 2015" (PDF). NSO. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-12-10. สืบค้นเมื่อ 2 March 2020.
- ↑ "Hinduism fastest growing religion in Pakistan and Saudi Arabia". สืบค้นเมื่อ 2 March 2020.
- ↑ 146.0 146.1 146.2 "ลักษณะสถาปัตยกรรม และประติมากรรมในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด". มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 147.0 147.1 "เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ สำหรับเด็กระดับกลาง". มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 148.0 148.1 148.2 148.3 148.4 บำรุง คำเอก, ดร. (มกราคม–มิถุนายน 2549). "อิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูต่อวัฒนธรรมประเพณี รูปแบบศิลปะ และวรรณกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". ดำรงวิชาการ (5:1). p. 205-206.
{{cite book}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) - ↑ "สัมพัจฉรฉินท์ พิธีโบราณ งานสงกรานต์สนามหลวง". MGR Online. 8 เมษายน 2552. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย"". ศรีจินดา. 5 มกราคม 2553. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ณัฐสิมา ตัณฑิกุล (17 ตุลาคม 2561). "ย้อนดูประวัติศาสตร์ ทำไม 'เทศกาลกินเจ' จึงเข้มข้นในภาคใต้". The Momentum. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "เทศกาลไทปูซัม". เดลินิวส์. 27 มกราคม 2559. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "บายศรีภาคใต้". มูลนิธิสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ประเพณีแห่นก". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 12 มีนาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 155.0 155.1 พลับพลึง คงชนะ และชัยณรงค์ ศรีพงษ์ (มกราคม–ธันวาคม 2556). สถานภาพองค์ความรู้เรื่องจามศึกษาในประเทศไทย. วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. p. 38.
- ↑ นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม, หน้า 285
บรรณานุกรม
[แก้]- ขจร สุขพานิช. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช. กรุงเทพฯ : ศรีอนันต์, 2521. 215 หน้า.
- คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560. 208 หน้า. ISBN 978-974-02-1564-6
- คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง และคณะ. ผี-พราหมณ์-พุทธ ในศาสนาไทย. กรุงเทพฯ : นาตาแฮก, 2564. 260 หน้า. ISBN 978-616-582-533-7
- ดร. วินัย ศรีพงศ์เพียร และ ดร. ตรงใจ หุตางกูร (บรรณาธิการ). มรดกความทรงจำแห่งนพบุรีศรีลโวทัยปุระ : ว่าด้วยโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ฯ และจารึกโบราณแห่งเมืองละโว้. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2558. 330 หน้า. ISBN 978-616-7154-31-2
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. นิราศนครวัด. พระนคร : บรรณาคาร, 2515. 244 หน้า.
- บุญพิสิฐ ศรีหงส์. นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560. 349 หน้า. ISBN 978-974-02-1566-0
- เบเคอร์, คริส. ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่. กรุงเทพฯ : มติชน, 2564. 472 หน้า. ISBN 978-974-02-1721-3
- มอนซาติโน, ไมเคิล เจ. ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย. นครศรีธรรมราช : ศูนย์หลักสูตรอาเซียนศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, 2560. 416 หน้า. ISBN 978-974-7557-60-2
- แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง. ทักษะวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2559. 184 หน้า. ISBN 978-616-7154-41-1
- วลัยลักษณ์ ทรงศิริ และอื่น ๆ. ยาลอเป็นยะลา ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและคนรุ่นใหม่ในเมืองและปริมณฑลเมืองยะลา. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2553. 318 หน้า. ISBN 978-616-7070-28-5
- ส. พลายน้อย. เกร็ดย่อยร้อยเรื่อง ฉบับปรับปรุงและเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2564. 600 หน้า. ISBN 978-616-00-4276-0
- ส. พลายน้อย. อมนุษย์นิยาย. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป, 2561. 320 หน้า. ISBN 978-616-301-574-7
- สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน ?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548. 216 หน้า. ISBN 974-323-436-5
- อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ทิพยประติมา. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2560. 248 หน้า. ISBN 978-616-7674-13-1
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ศาสนาฮินดูในประเทศไทย
- "ตำราเทวรูปพระไสยศาสตร์". เรือนไทย. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)