ความเป็นไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การไหว้เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ความเป็นไทย

ความเป็นไทย เป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการแสดงเอกลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นคนไทย หรืออีกความหมายหนึ่งคือ การแสดงให้เห็นสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทย

ประวัติ[แก้]

แนวคิดเรื่องความเป็นไทยถูกกำหนดอย่างเป็นแบบแผนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนมุมมองความเป็นไทย กำหนดแนวทางความเป็นไทยให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง[1] ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มมีการใช้แนวคิดชาตินิยมเพื่อการสร้างอุดมการณ์ร่วมให้เกิดในสังคมไทย สาระของแนวคิดคือ ปลูกฝังการรักชาติ ความจงรักภักดีต่อศาสนาและพระมหากษัตริย์ เป็นแนวคิดแบบชาตินิยมแบบอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมโบราณ มีเจตนาแสดงความเป็นไทยให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมอันดีของไทยที่มีแต่อดีตและแสดงให้เห็นว่าชาติไทยไม่ใช่ชาติใหม่หรือชาติที่ป่าเถื่อน[2] ดังปรากฏในรูปแบบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมตามแบบแผนประเพณีนิยม และทรงสร้างสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ธงไตรรงค์

ในยุคของรัฐบาลคณะราษฎรมีการสืบทอดสาระสำคัญของสำนักความคิดไทย มุ่งหล่อหลอมความเป็นไทย ความรักชาติไทย และความพยายามพึ่งตนเอง ไม่ยอมให้อยู่ในความครอบงำของต่างชาติ[3] แต่ทางด้านศิลปกรรมได้ประยุกต์ นิยมลดทอนรายละเอียดและความซับซ้อนขององค์ประกอบตามอย่างไทย

ในช่วงหลัง พ.ศ. 2475 ถึงสงครามโลกครั้งที่สอง แนวคิดเรื่องความเป็นไทยเปลี่ยนศูนย์กลางจากสถาบันกษัตริย์ หันมาให้ความสำคัญกับพลเมือง โดยการสร้างวาทะกรรมความเป็นคนไทยที่เน้นอุปนิสัย คือ เป็นคนที่มีศิลปะไทย รักอิสรภาพ มีนิสัยใจคอที่รักความก้าวหน้า มุมานะอุตสาหะขยันหมั่นเพียร มีความสามัคคี แต่ไม่ขัดแย้งกับฐานคติเรื่องการจงรักภักดีต่อกษัตริย์และนับถือศาสนาพุทธ เมื่อเข้าสู่สงครามเย็น ความหมายของความเป็นไทย กลับมารวมศูนย์ทางความคิดที่การมีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ เน้นย้ำว่าคนไทยต้องรู้ที่ต่ำที่สูง ไม่เบียดเบียนกัน รักการปกครองแบบไทย พูดภาษาไทย รู้วรรณคดีไทยและศิลปะไทย มีขนบธรรมเนียมและประเพณีแบบไทย[4]

พ.ศ. 2558 รัฐบาลนำแนวคิด "2015 Discover Thainess" (ปีท่องเที่ยววิถีไทย) มาเป็นจุดเด่นการตลาดของการท่องเที่ยวประเทศไทย[5]

ลักษณะ[แก้]

ผู้หญิงไทยนุ่งผ้าถุงและห่มสไบ

ความเป็นไทย แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ ความเป็นไทยที่เป็นรูปธรรมหรือความเป็นไทยเชิงประจักษ์และความเป็นไทยที่มีลักษณะเป็นนามธรรมหรือความเป็นไทยทางใจ ความเป็นไทยทางวัตถุ ได้แก่ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เช่น ผ้าถุง ผ้าซิ่น โจงกระเบน สถาปัตยกรรม เช่น เรือนไทย เครื่องมือ เครื่องใช้ เช่น ไถ คราด กระบุง ของเล่น เช่น ตระกร้อ สะบ้า งานศิลปะต่าง ๆ เช่น เครื่องดนตรีไทย เพลงไทย เป็นต้น รวมถึงลักษณะทางพฤติกรรมทางกายและการพูด เช่น ความสุภาพอ่อนน้อม อ่อนน้อมถ่อมตน รักความสงบ ประนีประนอม เป็นมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใส ส่วนความเป็นไทยทางใจ เช่น เรื่องค่านิยมที่ทำให้คนไทยไม่เคร่งครัด ความเชื่อต่าง ๆ[1]

ความเป็นไทยที่เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ เช่น อาหารไทย การนวดไทย[6] ผ้าไทย และมวยไทย เป็นต้น[7]

เอกลักษณ์ความเป็นไทยยังแบ่งออกได้เป็นแต่ละภาค ความเป็นไทยของภาคอีสาน เช่น การทอผ้า หมอลำ อาหารอีสาน ความเป็นไทยของภาคเหนือ เช่น เครื่องเงิน เครื่องเขิน ร่มบ่อสร้าง เสื้อม่อฮ่อม อาหารภาคเหนือ ความเป็นไทยของภาคใต้ เช่น ผ้าบาติก สวนยาง อาหารท้องถิ่นภาคใต้[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 ธันยชนก มูลนิลตา. "กระบวนการสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นไทยและการรับรู้ภาพลักษณ์ความเป็นไทยของนักท่องเที่ยวชาวจีนผ่านสื่อสังคมออนไลน์" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะนิเทศศาสตร์.
  2. กฤษกนก ลิมวัฒนานนท์ชัย. "พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อการก่อรูปของงานสถาปัตยกรรมแบบ "รักชาติ" ในรัชสมัย (พ.ศ. 2453-2468)". Veridian E-Journal.
  3. "รัฐบาลคณะราษฎร พ.ศ. 2476-90 ทำอะไรไว้บ้าง?". ศิลปวัฒนธรรม.
  4. สายชล สัตยานุรักษ์, การสร้าง “ความเป็นไทย” กระแสหลัก และ “ความจริง” ที่ “ความเป็นไทย” สร้าง, ใน ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย, (เชียงใหม่, 2550), หน้า 42–43.
  5. สรัญญา จันทร์สว่าง. "'วิถีท่องเที่ยวไทย' อย่าให้เสียของ". กรุงเทพธุรกิจ.
  6. "ความเป็นไทยมีคุณค่า และสร้างมูลค่าได้ในต่างประเทศ". โพสต์ทูเดย์.
  7. "'การทูตวัฒนธรรม' บอกความเป็นไทยมุมใหม่". กรุงเทพธุรกิจ.