รัฐบาลไทย
รัฐบาลไทย | |
---|---|
ภาพรวม | |
ก่อตั้ง | 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (92 ปี 141 วัน) |
รัฐ | ประเทศไทย |
ผู้นำ | นายกรัฐมนตรี (แพทองธาร ชินวัตร) |
แต่งตั้งโดย | พระมหากษัตริย์ (พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว) |
หน่วยงานหลัก | คณะรัฐมนตรีไทย |
กระทรวง | 19 กระทรวง และ สำนักนายกรัฐมนตรี |
รับผิดชอบต่อ | รัฐสภาแห่งราชอาณาจักรไทย |
งบประมาณประจำปี | 3.48 ล้านล้านบาท (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567[1]) |
สำนักงานใหญ่ | เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก กรุงเทพ |
เว็บไซต์ | www |
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความว่าด้วย |
การเมืองไทย |
---|
สถานีย่อยประเทศไทย |
รัฐบาลไทย เป็นรัฐบาลของประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐบาลเดี่ยว รัฐบาลไทยมีบทบาทขึ้นอย่างชัดเจนในสมัยรัฐชาติ อันสถาปนาขึ้นครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังทรงผนวกดินแดนและอาณาจักรภายใต้ปกครองของอาณาจักรสยามขึ้นเป็นสยามประเทศ[2] ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลไทยผ่านการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปัจจุบันรัฐบาลไทยแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ในปัจจุบัน รัฐบาลพลเรือนของไทยมีรูปแบบตามระบบเวสต์มินสเตอร์ของสหราชอาณาจักร
ฝ่ายนิติบัญญัติ
[แก้]รัฐสภาเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ[3] มีหน้าที่ออกกฎหมายสำหรับการปกครองและการบริหารประเทศ เป็นองค์กรบริหารอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภาไทยเป็นแบบระบบสองสภา ประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกรัฐสภาทั้งสิ้น 750 คน ปัจจุบันการประชุมของทั้ง 2 สภา จัดที่ สัปปายะสภาสถาน
สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 500 คน ดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเลือกพรรคการเมืองที่จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น มีอำนาจที่สำคัญในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติ ตลอดจนการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน อาทิ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นต้น[4]
วุฒิสภามีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 250 คน ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี โดยปัจจุบันมาจากการสรรหาทั้งหมด (ดูในมาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560) มีอำนาจกลั่นกรองและยับยั้งกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของแผ่นดิน เป็นต้น[5]
ฝ่ายบริหาร
[แก้]นายกรัฐมนตรี
[แก้]นายกรัฐมนตรี คือผู้นำของรัฐบาล ประธานของคณะรัฐมนตรี และประธานแห่งอำนาจฝ่ายบริหาร ในระบบเดิมเคยมาจากการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นจึงมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไทย โดยผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ แพทองธาร ชินวัตร
นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดิน และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งถูกล้มล้างไป เคยมีอำนาจเสนอต่อพระมหากษัตริย์ให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร การกราบบังคมทูลเสนอชื่อหรือปลดรัฐมนตรี และเป็นตัวแทนของประเทศในการเดินทางไปยังต่างประเทศ และเป็นผู้แถลงการณ์หลักของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีสามารถพ้นจากตำแหน่งได้จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยการเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ปัจจุบัน อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
คณะรัฐมนตรี
[แก้]คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน ว่าการกระทรวงในประเทศไทยทั้ง 20 กระทรวงและสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ตลอดจนร่างและดำเนินการตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา มีสถานที่ทำงานอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐมนตรีเป็นหรือไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดห้าม
รัฐมนตรีอย่างน้อยหนึ่งคนต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ คณะรัฐมนตรีสามารถนำกฎหมายขึ้นกราบทูลให้ตราเป็นพระราชกำหนดเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติได้ เช่นเดียวกับกรณีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนหรือโดยลับ
ฝ่ายตุลาการ
[แก้]ศาลไทยเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาทุกระดับจำต้องได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไทย ศาลปฏิบัติการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ศาลไทยมี 4 ประเภท ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) วิจารณ์ว่า ระบบศาลไทย โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น "เลอะเทอะ" และไม่สามารถสร้างความมั่นใจว่า กระบวนพิจารณาจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม แม้คดีลอบฆ่าประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกาเอง ศาลชั้นต้นยังใช้เวลาพิจารณาถึง 15 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2536 ถึงปี 2551 ในช่วงดังกล่าว จำเลยต้องขึ้นศาล 461 ครั้ง และถูกผู้พิพากษา 91 คนไต่สวน จำเลยบางคนตายก่อนพิพากษา ส่วนประมาณตายอย่างสงบด้วยโรคปอดติดเชื้อเมื่อปี 2550[6] อนึ่ง หลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ศาลทหารได้เพิ่มขยายบทบาทและอำนาจหน้าที่ขึ้นมามาก จนกระทั่ง 9 กรกฎาคม 2562 คสช.ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น และบางคำสั่งได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่มุ่งหมายไว้แล้ว โดยให้โอนย้ายคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลทหารไปอยู่ในการพิจารณาของศาลยุติธรรม
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาคของไทยแบ่งออกเป็น 76 จังหวัด (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) 896 อำเภอ
ในการปกครองส่วนท้องถิ่น มีสองประเภท คือ ท้องที่เทศบาลและท้องที่ตำบล
- ท้องที่เทศบาล มักมีความเป็นเมือง คือ มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น อยู่ภายใต้การบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรียกว่า "เทศบาล" โดยมีองค์กรบริหารอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แบ่งออกเป็นเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล
- ท้องที่ตำบล มักเป็นท้องที่ชนบท ประชากรอาศัยอยู่ไม่มากเมื่อเทียบกับท้องที่เทศบาล แต่อาจจะมีประชากรหนาแน่นกว่าจุดอื่นในพื้นที่เดียวกัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ผ่านแล้ว ครม.เคาะ งบประมาณ ปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้าน". thansettakij. 21 November 2023. สืบค้นเมื่อ 21 November 2023.
- ↑ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรรณงาม เง่าธรรมสาร, 2552, กระบวนการบูรณการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้: บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์; สงขลา.
- ↑ "อำนาจหน้าที่รัฐสภา". web.parliament.go.th (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ คณิน บุญสุวรรณ, ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทยฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ตถาตา พับลิเคชั่น, 2548), หน้า 921-92.
- ↑ "บทบาทและอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-23. สืบค้นเมื่อ 2010-10-10.
- ↑ M&C, Human rights group slams Thailand's judicial system เก็บถาวร 2007-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 26 March 2007
ข้อมูล
[แก้]- Kittisak Prokati (2006). Thai Legal Reform under European Influence (PDF). Bangkok: Winyuchon. ISBN 9789742884727.
- Manit Jumpa (2007). A Comment on Reform of Thai Constitution in 2007 (PDF). Bangkok: Chulalongkorn University Press. ISBN 9789740319078.
- Noranit Setabutr (2007). Constitutions and Thai Politics (PDF). Bangkok: Thammasat University Press. ISBN 9789745719996.
- Noranit Setabutr (2000). The 'Royal Tutors' Group in Thai Politics (PDF) (2nd ed.). Bangkok: Thammasat University Press. ISBN 9745717266. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-08-31. สืบค้นเมื่อ 2021-07-05.
- René Guyon (2007). The Work of Codification in Siam (PDF). Bangkok: Winyuchon. ISBN 9789742885403.
- Sirindhorn (2006). Thai Government during Ayutthaya Period and Early Rattanakosin Period (PDF). Bangkok: Chulalongkorn University. ISBN 9749940083. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-08-31. สืบค้นเมื่อ 2021-07-05.
- Tej Bunnag (2005). Intendancy System of Government in Siam: 1892–1915 (PDF) (2nd ed.). Bangkok: Thammasat University Press. ISBN 9745719374. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-08-31. สืบค้นเมื่อ 2021-07-05.
- Yut Saeng-uthai (2008). A Legal Treatise on the Provisions of the Constitution governing the King (PDF). Bangkok: Winyuchon. ISBN 9789742886332.
เชิงอรรถ
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- หน้าหลักของรัฐบาลไทย (ในภาษาอังกฤษและไทย)
- Gov Channel (18,806 handbooks on how to apply for state services and links to all government agencies) เก็บถาวร 2018-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน