รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500
![]() | บทความนี้ต้องการข้อความอธิบายความสำคัญที่กระชับ และสรุปเนื้อหาไว้ย่อหน้าแรกของบทความ |
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง คุณสามารถพัฒนาบทความนี้ได้โดยเพิ่มแหล่งอ้างอิงตามสมควร เนื้อหาที่ขาดแหล่งอ้างอิงอาจถูกลบออก |
![]() | บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย |
รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
![]() จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกหัวหน้าคณะรัฐประหาร | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
ผู้สนับสนุน: |
![]() | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ |
![]() พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ |
รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เป็นรัฐประหารโดยมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าเพื่อโค่นรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามสมัยที่สอง เป็นการยุติยุคการเมืองสามเส้า (พ.ศ. 2490–2500) และเข้าสู่ยุคพ่อขุนอุปถัมถ์แบบเผด็จการและเผด็จการทหารที่ครองอำนาจจนถึงปี 2516 และการฟื้นฟูพระราชอำนาจที่เสื่อมลงตั้งแต่การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
สาเหตุเกิดจากขั้วอำนาจของจอมพล ป. และพลตำรวจเอกเผ่า พ่ายแพ้ต่ออิทธิพลของขั้วอำนาจกลุ่มเจ้าและอนุรักษนิยมที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาจมีชนวนเหตุมาจากความพยายามของ จอมพล ป. ในการนำตัว ปรีดี พนมยงค์ กลับประเทศเพื่อช่วยค้ำจุนอำนาจของตน ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสถาบันพระมหากษัตริย์และความเสื่อมนิยมอันเนื่องจากการเลือกตั้งสกปรกเมื่อต้นปีทำให้จอมพลสฤษดิ์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วย
ภูมิหลังและสาเหตุ[แก้]
หลังจากรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 ได้ทำให้อำนาจของคณะราษฎรหมดสิ้นลงไปอย่างสิ้นเชิง คณะรัฐประหารได้ชู จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำและนายกรัฐมนตรีสืบต่อมา อย่างไรก็ดี เขาไม่เหลือฐานอำนาจใด และการเมืองหลังจากนั้นอยู่ในการปกครองแบบสามเส้า ซึ่งมีการคานอำนาจกันระหว่าง จอมพล ป. กับฝ่ายกองทัพของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และฝ่ายตำรวจของพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์
รัฐประหาร[แก้]
รัฐประหารเกิดขึ้นในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พล.ท.ประภาส จารุเสถียร แม่ทัพภาคที่ 1 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ใช้รถถัง รถหุ้มเกราะและกำลังพล กระจายกำลังออกยึดจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เช่น หอประชุมกองทัพบก ที่ถนนราชดำเนินนอก เป็นต้น ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจกองปราบ ที่สามยอด ซึ่งเป็นที่บัญชาการของ พล.ต.อ.เผ่า ได้รับคำสั่งให้ยึดให้ได้ภายใน 120 นาที ก็สามารถยึดได้โดยเรียบร้อย โดย ร.ท.เชาว์ ดีสุวรรณ ในขณะที่ พล.จ.กฤษณ์ สีวะรา รองแม่ทัพภาคที่ 1 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) พ.ท.เอิบ แสงฤทธิ์ พ.ต.เรืองศักดิ์ ชุมะสุวรรณ พ.อ.เอื้อม จิรพงษ์ และ ร.อ.ทวิช เปล่งวิทยา นำกำลังตามแผนยุทธศาสตร์ "เข้าตีรังแตน" โดยนำกองกำลังทหารราบที่ 1 พัน 3 บุกเข้าไปยึดวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล จากนั้นจึงติดตามด้วยกองกำลังรถถัง ในขณะที่กองทัพเรือ พล.ร.อ.หลวงชำนาญอรรถยุทธ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งวิทยุเรียกเรือรบ 2 ลำ ยึดท่าวาสุกรี และส่งกำลังส่วนหนึ่งยึดบริเวณหน้าวัดราชาธิวาส เพื่อประสานงานยึดอำนาจ จนกระทั่งการยึดอำนาจผ่านไปอย่างเรียบร้อย [2]
ขณะที่ฝ่าย จอมพล ป. พิบูลสงคราม รู้ล่วงหน้าก่อนเพียงไม่กี่นาที จึงตัดสินใจหลบหนีโดยไม่ต่อสู้ โดยเดินทางไปโดยรถยนต์ประจำตัวนายกรัฐมนตรียี่ห้อฟอร์ด รุ่นธันเดอร์เบิร์ด พร้อมกับคนติดตามเพียง 3 คน เท่านั้นคือ นายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขานุการส่วนตัว พ.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจติดตามตัว และ พ.ท.บุลศักดิ์ วรรณมาศ ทั้งหมดได้หลบหนีไปทางจังหวัดตราด และว่าจ้างเรือประมงลำหนึ่งเดินทางไปที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา ก่อนลงเรือ จอมพล ป. ได้ให้ พ.ท.บุลศักดิ์ นำรถไปคืนสำนักนายกรัฐมนตรี และเข้าพบหัวหน้าคณะปฏิวัติ คือ จอมพลสฤษดิ์ ว่า ทั้ง 3 ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ขออย่าได้ติดตามไปเลย[3]
ขณะที่ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ยังมิได้หลบหนีไปเหมือนจอมพล ป. แต่ถูกควบคุมตัวเข้ากองบัญชาการคณะปฏิวัติ พร้อมกับกล่าวว่า "อั๊วมาแล้ว จะเอาอย่างไรก็ว่า" แต่ในวันรุ่งขึ้นก็ต้องเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังสวิตเซอร์แลนด์ [4]
รัฐประหารครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการให้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร[5]เป็นครั้งแรกในรัชกาลของพระองค์ โดยไม่ได้เป็นพระบรมราชโองการผ่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศ ณ วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500
ในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทูลเกล้า พจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของราชอาณาจักรไทย
ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2500 23.00 น. มีพระบรมราชโองการให้เลิกประกาศกฎอัยการศึกในบางจังหวัด โดยทรงยกเลิกกฎอัยการศึกทั้งหมด 46 จังหวัด และให้คงกฎอัยการศึกไว้ทั้งหมด 26 จังหวัด[6]จากทั้งหมด 72 จังหวัด โดยนาย พจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 พลโทถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของราชอาณาจักรไทย ตามมติสภาผู้แทนราษฎร
ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2501 6.00 น. มีพระบรมราชโองการให้เลิกประกาศกฎอัยการศึก ใน 26 จังหวัด ที่ยังคงให้ประกาศกฎอัยการศึกไว้[7]เป็นอันจบเหตุการณ์เนื่องจากยกเลิกใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรในวันและเวลาดังกล่าว โดยมีพลโท ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
เหตุการณ์ภายหลัง[แก้]
รัฐประหารครั้งนี้ เป็นรัฐประหารอีกครั้งที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเข้าสู่ยุคพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ และมีฟื้นฟูสถานภาพและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์หลังจากเสื่อมลงตั้งแต่ พ.ศ. 2475 หลังจากนั้น อำนาจทั้งหมดก็ตกอยู่ที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ต่อมาก็ได้รัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม ในปีต่อมา เมื่อไม่สามารถควบคุมความวุ่นวายในสภาฯ ได้ และเป็นที่มาของการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 17 ที่มอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีสามารถส่งการให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อผู้ที่กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อความมั่นคงของรัฐได้ทันที
ในส่วนของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากหลบหนีไปทางกัมพูชาแล้ว ก็ลี้ภัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นจึงเดินทางไปบวชที่วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย อุปสมบท ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2503 และขอลี้ภัยการเมืองเข้าประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ณ ที่นั่น จอมพล ป. และครอบครัวได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาลญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นถือว่าจอมพล ป. มีบุญคุณต่อประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นผู้อนุมัติให้ทหารญี่ปุ่นสามารถยกพลเข้าสู่ประเทศไทยได้โดยง่าย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากมิต้องล้มตาย และจอมพล ป. ก็ได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างเงียบ ๆ ที่บ้านพักย่านชานกรุงโตเกียว จนถึงแก่กรรม ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ด้วยอายุ 67 ปี ต่อมา ครอบครัวได้ทำการฌาปนกิจที่นั่น และนำอัฐิกลับสู่ประเทศไทยในวันที่ 27 มิถุนายน ปีเดียวกัน ท่ามกลางพิธีรับจากกองทหารเกียรติยศจากทั้งกองทัพบกและกองทัพอากาศ[8]
ดูเพิ่ม[แก้]
![]() |
วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ: |
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.0 1.1 ใจจริง, ณัฐพล (2556). ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) (1 ed.). ฟ้าเดียวกัน. ISBN 9786167667188. Check date values in:
|date=
(help) - ↑ วินทร์ เลียววาริณ, 2540: หน้า 419-420
- ↑ วินทร์ เลียววาริณ, 2540: หน้า 421
- ↑ นักการเมืองไร้แผ่นดินจากไทยรัฐ
- ↑ ราชโองการให้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร
- ↑ ราชโองการให้เลิกประกาศกฎอัยการศึกในบางจังหวัด
- ↑ พระบรมราชโองการให้เลิกประกาศกฎอัยการศึก ใน 26 จังหวัด
- ↑ วินทร์ เลียววาริณ, 2540: หน้า 228
- รัฐบาลทหาร (บทบาทรัฐบาลชุดที่ 19 – ชุดที่ 32, พ.ศ. 2490 – พ.ศ. 2516) Archived 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
บรรณานุกรม[แก้]
- เลียววาริณ, วินทร์ (2540). ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน. ดอกหญ้า. ISBN 974-85854-7-6. Check date values in:
|year=
(help) - คลองหลวง, ส. (2543). 2484 ญี่ปุ่นบุกไทย. เคล็ดไทย. Check date values in:
|year=
(help)