โทษประหารชีวิตในประเทศไทย
![]() | บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
โทษประหารชีวิตในประเทศไทย เป็นบทลงโทษผู้กระทำความผิดขั้นสูงสุด ตามประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย โดยใน พ.ศ. 2564 ประเทศนี้เป็นหนึ่งใน 54 ชาติที่ยังคงโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ ส่วนในชาติอาเซียน 10 ประเทศ มีเพียงประเทศกัมพูชาและฟิลิปปินส์ที่การประหารชีวิตผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าประเทศลาวและบรูไนไม่ได้ทำการประหารชีวิตมาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม[1]
ประเทศไทยยังคงโทษประหารชีวิต แต่ดำเนินการเป็นระยะ ๆ เท่านั้น นับตั้งแต่ พ.ศ. 2478 มีการประหารชีวิตแล้ว 326 คน โดย 319 คนประหารด้วยการยิงเป้า นักโทษรายสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า คือสุดใจ ชนะ และ 7 คนประหารชีวิตด้วยการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษ การประหารชีวิตครั้งล่าสุดของไทย ในรอบ 9 ปี เกิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2561 คือธีรศักดิ์ หลงจิ ณ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 มีนักโทษ 510 คนที่อยู่ในแดนประหาร[2]
กฎหมายไทยอนุญาตให้จัดโทษประหารชีวิตแก่อาชญากรรม 35 รูปแบบ ซึ่งรวมถึง การกบฏ, ฆาตกรรม และการค้ายาเสพติด[3]
การดำเนินการ[แก้]
เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิตผู้ใดแล้ว ศาลที่เป็นเจ้าของคดีจะได้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด ส่งไปยังผู้บัญชาการเรือนจำในท้องที่ที่ศาลนั้นตั้งอยู่ หมายจะระบุถึงชื่อโจทก์ จำเลย ฐานความผิด จำเลยต้องโทษตามบทกฎหมายใด มาตราใด พร้อมคำสั่งว่าภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ให้ประหารชีวิตจำเลย เมื่อผู้บัญชาการเรือนจำได้รับหมายดังกล่าวแล้ว จะนำนักโทษไปประหารชีวิตในทันทีไม่ได้ ต้องรอให้ครบกำหนด 60 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาตามมาตรา 262 ถ้านักโทษหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องได้ยี่นฎีกาขอ พระราชทานอภัยโทษ และทรงยกเรื่องราวมาก่อนครบ 60 วัน ก็ดำเนินการประหารชีวิตได้
ในทางปฏิบัติ เมื่อนักโทษได้ยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว ต้องรอฟังพระบรมราชวินิจฉัยเสียก่อน จึงจะดำเนินการขั้นต่อไป ฎีกาของนักโทษประหารให้ยื่นได้ครั้งเดียวเท่านั้น ในการประหารชีวิตนักโทษนั้น ให้มีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินการ ประกอบด้วย ผู้บัญชาการเรือนจำในท้อง ที่ที่ทำการประหาร เป็นประธานกรรมการ เจ้าพนักงานเรือนจำระดับหัวหน้าฝ่าย แพทย์การประหารชีวิตส่วนมากจะทำที่เรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีหรือผู้แทนร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย โดยกรมราชทัณฑ์จัดผู้แทนไปดูแลความเรียบร้อยในการประหารชีวิต ก่อนวันประหารชีวิต ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ถูกประหาร พร้อมทั้งรับแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือของนักโทษที่มีอยู่ในสำนวนและหมายศาลมาทำการตรวจสอบ การตรวจสอบนั้นให้สอบกับแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือที่เก็บอยู่ ณ กองทะเบียนประวัติอาชญากร ตามเลขคดีและนามผู้ต้องโทษ เมื่อตรวจแล้วรายงานผลการตรวจสอบและส่งแผ่นพิมพ์ลายนิ้วซึ่งได้จัดการพิมพ์ขึ้นคราวนี้ 1 ฉบับ กับแบบพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องโทษที่เอาไปจากสำนวนตามหมายศาลไปยังคณะกรรมการ เรือนจำซึ่งมีหน้าที่ต้องทำการประหารทำการตรวจสอบคดี ตำหนิ รูปพรรณตามทะเบียนรายตัว ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อมิให้มีการประหารผิดตัว
เมื่อถึงกำหนดวันประหารชีวิต เจ้าพนักงานเรือนจำจะจัดนิมนต์พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาให้นักโทษที่ถูก ประหารที่นับถือศาสนาพุทธ ส่วนนักโทษที่มิได้นับถือศาสนาพุทธ มีความปรารถนาจะประกอบพิธีกรรมตามศาสนาก็อนุญาตได้ตามสมควร หากนักโทษมีความประสงค์จะขอทำพินัยกรรมก็จะจัดการทำให้จัดหาอาหารมื้อสุดท้ายให้นักโทษก่อนนำไปประหาร ผู้บัญชาเรือนจำจะนำคำสั่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยสำเนาคำพิพากษาอ่านให้นักโทษฟัง นำนักโทษประหารไปยังที่จัดเตรียมไว้ คือห้องฉีดยาพิษ ผู้ได้รับมอบหมายดำเนินการฉีดยาพิษให้นักโทษ ตามลำดับ ให้คณะกรรรมการซึ่งคือแพทย์ทำการตรวจนักโทษว่าได้เสียชีวิตแล้วจริง พิมพ์ลายนิ้วมือลงนามรับรองว่าเป็นลายนิ้วมือของนักโทษประหารจริง ส่วนศพถ้ามีญาติมารับก็อนุญาตถ้าไม่มีญาติมาขอรับ เรือนจำจะดำเนินการให้ ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ กำหนดให้ประหารชีวิตก่อน 07.00 น. ตั้งแต่พ.ศ. 2505 ได้เปลี่ยนมาดำเนินการใน เวลาเย็น ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป
สมัยโบราณ[แก้]
โทษประหารชีวิต 21 สถาน[แก้]
จากหนังสือกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นหนังสือกฎหมายที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าให้รวบรวมกฎหมายโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีมาประมวลไว้ด้วยกัน ได้กล่าวถึงการประหารชีวิต และเครื่องมือต่าง ๆ เช่น
จากพระไอยการลักษรโจร กล่าวถึงการลักพระพุทธรูปเอาไปล้างหรือเผาสำรอกเอาทอง หรือเอาพระบท (พระคัมภีร์) ไปสำรอกแช่น้ำ หรือเอาไปเผา โทษประหารคือ เอาโจรนั้นใส่เตาเพลิงสูบเผาไฟ ถ้าขุดทำลายพระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ จับได้หลายครั้งหลายหน โทษประหารก็คือเอาโจรนั้นไปตระเวนบก 3 วัน ตระเวนเรือ 3 วัน แล้วตัดคอผ่าอกเสีย
ถ้าทำให้เกิดเพลิงไหม้ในพระราชวัง โทษคือเอาไฟคลอกให้ตาย
ในพระไอยการกระบดศึก ตอนหนึ่งว่านักโทษที่เป็นกบฏ ประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัว ปล้นเมือง ปล้นพระนคร เผาจวน เผาพระราชวัง เผายุ้งฉาง คลังหลวง ปล้นวัด เผาวัด ทำทารุณกรรมหยาบช้าต่อพระและชาวบ้าน เช่นเอาปิ้งย่างเผาไฟ หรือเอาแหลนหลาวเสียบร้อนฆ่าบิดามารดาคณาจารย์ พระอุปัชณาย์ เหยียบย่ำทำลามกต่อพระพุทธรูป และตัดมือตัดเท้าตัดคอเด็ก เพื่อเอาเครื่องประดับ จะต้องถูกประหารโดยสถานใดสถานหนึ่ง
วิธีการประหารชีวิตตามพระไอยการกระบถศึก บันทึกและอธิบายเอาไว้อย่างละเอียดถึงวิธีการลงโทษประหาร 21 วิธีหรือ 21 สถาน ดังนี้
- สถาน 1 คือ ให้ต่อยกระบานศีศะ (กบาลศีรษะ) เลิกออก (เปิดออก) เสียแล้ว เอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใหญ่ใส่ลงไปในมันสะหมอง (มันสมอง) ศีศะพลุ่งฟู่ขึ้นดั่งม่อ (หม้อ) เคี่ยวน้ำส้มพะอูม
- สถาน 2 คือ ให้ตัดแต่หนังจำระ (จาก) เบื้องหน้าถึงไพรปากเบื้องบนทั้งสองข้างเป็นกำหนด ถึงหมวกหู (ใบหู) ทั้งสองข้างเป็นกำหนด ถึงเกลียวคอชายผมเบื้องหลังเป็นกำหนด (หนังบริเวณคอถึงท้ายทอย) แล้วให้มุ่นกระหมวดผมเข้าทั้งสิ้น (ม้วนเข้าหากัน) เอาท่อนไม้สอดเข้าข้างละคน โยกคลอนสั่นเพิกหนังทั้งผมนั้นออกเสียแล้วเอากรวดทรายหยาบขัดกระบานศีศะชำระให้ขาวเหมือนพรรณศรีสังข์
- สถาน 3 คือ ให้เอาขอเกี่ยวปากให้อ้าไว้ แล้ให้ตามประทีบ (ดวงไฟ) ไว้ในปาก ไนยหนึ่ง (นัยหนึ่ง) เอาปากสิวอันคมนั้นแสะแหวะผ่าปากจนหมวกหู (ใบหู) ทั้งสองข้าง แล้วเอาขอเกี่ยวให้อ้าปากไว้ให้โลหิตไหลออกเต็มปาก
- สถาน 4 คือ เอาผ้าชุบน้ำมันพันให้ทั่วร่างกายแล้วเอาเพลิงจุด
- สถาน 5 คือ เอาผ้าชุบน้ำมันพันนิ้วทั้งสิบนิ้วแล้วเอาเพลิงจุด
- สถาน 6 คือ เชือดเนื้อให้เป็นแรงเป็นริ้วอย่าให้ขาดจากกัน ตั้งแต่ใต้คอลงไปถึงข้อเท้าแล้วเอาเชือกผูกจำ ให้เดินเหยียบริ้วเนื้อริ้วหนังแห่งตน ให้ฉุดคร่าตีจำให้เดินไปกว่าจะตาย
- สถาน 7 คือ เชือดเนื้อให้เนื่องด้วยหนังเป็นแร่งเป็นริ้ว ตั้งแต่ใต้คอลงมาถึงเอวและให้เชือดตั้งแต่เอวให้เนื่องด้วยหนังเป็นแร้งเป็นริ้วลงมาถึงข้อเท้ากระทำหนังเบื้องบนให้คลุมลงมาเหมือนนุ่งผ้า
- สถาน 8 คือ ให้เอาห่วงเหล็กสวมข้อศอกทั้งสองข้าง ข้อเข่าทั้งสองข้างให้มั่นแล้วเอาหลักสอดในวงเหล็กแย่งขึงตรึงลงไว้กับแผ่นดินอย่าให้ไหวตัวได้ แล้วเอาเพลิงรน (ลน) ให้รอบตัวจนกว่าจะตาย
- สถาน 9 คือ ให้เอาเบ็ดใหญ่ที่มีคมสองข้างเกี่ยวทั่วร่างเพิก (เปิด) หนังเนื้อและเอ็นน้อยใหญ่ให้หลุดขาดออกมาจนกว่าจะตาย
- สถาน 10 คือ ให้เอามีดที่คมเชือดเนื้อให้ตกออกจากกายแต่ทีละตำลึง (นำเนื้อมาชั่งให้ได้น้ำหนักหนึ่งตำลึง:มาตราวัดสมัยโบราณ) จนกว่าจะสิ้นมังสา (เนื้อ)
- สถาน 11 คือ ให้แล่สับทั่วร่างแล้ว เอาแปรงหวีชุบน้ำแสบกรีดคอ รูดขูดเสาะหนังและเนื้อแลเอ็นน้อยใหญ่ให้ลอกออกให้สิ้นให้อยู่แต่ร่างกระดูก
- สถาน 12 คือ ให้นอนลงโดยข้างๆ หนึ่งแล้วให้เอาหลาวเหล็กตอกลงไปโดยช่องหูให้แน่นกับแผ่นดินแล้วจับขาทั้งสองข้างหมุนเวียนไปดังบุคคลทำบังเวียน (เวียนเทียน)
- สถาน 13 คือ ทำมิให้หนังพังหนังขาด แล้วเอาลูกสีลา (ลูกหิน) บดทุกกระดูกให้แหลกย่อย แล้วรวบผมเข้าทั้งสิ้น ยกขึ้นหย่อนลงกระทำให้เนื้อเป็นกองเป็นลอม แล้วพับห่อเนื้อหนังกับทั้งกระดูกนั้นทอดวางไว้ดั่งตั่งอันทำด้วยฟางซึ่งเอาไว้เช็ดเท้า
- สถาน 14 คือ ให้เคี่ยวน้ำมันให้เดือดพลุ่งพล่าน แล้วลาดสาดลงมาแต่ศีศะ (ศีรษะ) จนกว่าจะตาย
- สถาน 15 คือ ให้กักขังสุนัขร้ายทั้งหลายไว้ อดอาหารหลายวันให้เต็มอยากแล้วปล่อยให้กัดทึ้งเนื้อหนังกินให้เหลือแต่ร่างกระดูกเปล่า
- สถาน 16 คือ ให้เอาขวานผ่าอกทั้งเป็นแหกออกดั่งโครงเนื้อ
- สถาน 17 คือ ให้แทงด้วยหอกทีละน้อยๆ จนกว่าจะตาย
- สถาน 18 คือ ให้ขุดหลุมฝังเพียงเอว แล้วเอาฟางปกลงคลุมร่างก่อนคลอกด้วยเพลิงพอหนังไหม้แล้วไถด้วยไถเหล็ก ให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่เป็นริ้วน้อยริ้วใหญ่
- สถาน 19 คือ ให้เชือดเนื้อล่ำออกทอดด้วยน้ำมัน เหมือนทอดขนมให้ กินเนื้อตัวเองจนกว่าจะตาย
- สถาน 20 คือ ให้ตีด้วยตะบองสั้นตะบองยาวจนกว่าจะตาย
- สถาน 21 คือ ตีด้วยหวายที่มีหนามจนกว่าจะตาย
ซึ่งการประหารดังกล่าว จะนำมาใช้กับผู้ก่อการกบฏ คิดร้ายต่อเจ้านาย และราชวงศ์ และจะกระทำการประหารเจ็ดชั่วโคตร ไม่เว้นสตรี และเด็ก หากเป็นพระสงฆ๋ก็จะถูกนิมนต์ให้สึก และรับโทษประหารตามบัญญัติเจ็ดชั่วโคตรด้วย ซึ่งการประหารโดยทั่วไปนั้น คือการบั่นคอ
การประหารชีวิตด้วยวิธีบั่นคอ[แก้]

เพชฌฆาต[แก้]
“ เพชฌฆาต ” นั้นเป็นตำแหน่งที่โปรดเกล้าพระราชทานให้แก่ผู้มีดวงอันเหมาะสมโดยจะมีบรรดาโหราจารย์นำดวงชะตาไปคำนวณอย่างละเอียดเพื่อประกอบในการคัดเลือก ทั้งนี้ด้วยถือกันว่า การประหารชีวิตคนอันเป็นสัตว์ประเสริฐนับเป็นกรรมหนักรุนแรง จึงต้องเฟ้นหาดวงเพชฌฆาตที่มีดวงคุ้มตัวเองได้ มิฉะนั้นชีวิตจะสั้น
พอเลือกเฟ้นได้คนที่มีดวงเหมาะสม ยังต้องเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญเพลงดาบอย่างดี ทั้งมีความรู้เกี่ยวกับดาบ มีความแม่นยำในการลงดาบ เพื่อขณะทำการประหารจะได้ไม่เป็นการทรมานนักโทษจนเกินไป และผู้เป็นเพชฌฆาตจะต้องมีความรู้ทางด้านคาถาอาคมเป็นพิเศษด้วยเช่น คาถาสวดวิญญาณผีตายโหง อาคมก่อนหยิบดาบเพชฌฆาต รวมทั้งสามารถแก้อาถรรพณ์หากผู้ถูกประหารมีวิชาด้านคงกระพันชาตรี
ตัวเพชฌฆาตหรือมือประหารเองจะต้องอยู่ประจำ ณ เรือนจำตั้งแต่ได้รับคำสั่งให้เตรียมการ จากนั้นเมื่อได้เวลาเพชฌฆาตจะอัญเชิญดาบออกจากที่ตั้งไปทำการบวงสรวงด้วยเครื่องเซ่น เพื่อปลุกดาบให้เข้มขลัง เสร็จพิธีแล้วจึงค่อยเก็บดาบไว้ที่ตั้งเดิมรอเวลาประหาร
เพชฌฆาตผู้ทำหน้าที่ประหารชีวิตมี 3 คน คือ ดาบที่หนึ่ง และตัวสำรองอีก 2 คน เรียกว่า ดาบสอง และ ดาบสาม ถ้าดาบหนึ่งฟันคอไม่ขาด ดาบสองจะต้องซ้ำ ถ้ายังไม่ขาดดาบสามก็ต้องเชือดให้ขาด
ดาบเพชฌฆาต[แก้]
ดาบหนึ่งจะมีความสั้นกว่าดาบสอง ใบดาบจะกว้างกว่าดาบสอง ทั้งด้ามดาบก็สั้นกว่า สันดาปจะหนาประมาณ ๑ ซ.ม. ส่วนด้ามดาบประกอบด้วยเหล็กรัด ใช้เชือกด้ายดิบถักหุ้มด้วยลวดลายรัดกุมเพื่อให้สาก ถนัดในการกระชับ ทั้งลงรักและยางไม้เพื่อรักษาด้วยให้คงทนต่อการใช้งาน สภาพดาบปลายจะหักลง แล้วงอนขึ้นคล้ายใบง้าวของจีนเพื่อให้เกิดน้ำหนักถ่วงทางโคนดาบให้ได้ดุล
ดาบสอง ใบดาบจะยาวกว่าดาบหนึ่งประมาณ ๘ ซ.ม. ใบดาบเรียวคล้ายดาบที่นักรบไทยโบราณทั่วไปใช้ ปลายดาบเฉียงต่ำรับกับความโค้งของใบดาบด้านล่าง สันดาปบางประมาณ ๐.๗ ซ.ม.
ดาบเพชฌฆาตคู่นี้ได้รับการทิ้งไว้ยัง ห้องพิเศษในคุกหลวง ห้ามผู้ใดแตะต้อง ทุกวันเสาร์จะมีการสังเวยด้วยเหล้าและไก่ต้มเป็นการบวงสรวง จนมีการเล่าขานกันว่า ดาบ ๒ เล่มดังกล่าวจะสั่นได้เองเหมือนถูกคนจับเขย่า และหลังจากดาบทั้งคู่สั่นไม่เกิน ๗ วันก็จะต้องมีพิธีประหารชีวิตนักโทษเกิดขึ้นทุกคราไป
ดาบเพชฌฆาตทั้งสองเล่มนี้ถูกใช้มาจนถึง รัชกาลที่ 6 จึงได้ยกเลิก แต่สำหรับชีวิตนักโทษที่สังเวยไปจากดาบคู่นี้ประมาณไม่ต่ำกว่า 1,000 ศพ
ขั้นตอน และ ระเบียบปฏิบัติ[แก้]
- 1.เมื่อลูกขุน ณ ศาลาลูกขุน ณ ศาลหลวง วางโทษประหารชีวิต ก็จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประหารชีวิต
- 2.ก่อนจะนำตัวไปประหารชีวิต จะต้องถูกเฆี่ยน 3 ยก ยกละ 30 ที รวม 90 ที
- 3.จัดอาหารคาวหวานมื้อสุดท้ายให้นักโทษกินก่อนประหาร และนิมนต์พระมาเทศน์ให้ฟัง
- 4.นักโทษประหารถูกจับนั่งมัดกับหลักไม้กางเขนแบบกาจับหลัก
- 5.เพชฌฆาตเอาดินเหนียวอุดหู อุดปาก และ แปะไว้ที่ต้นคอนักโทษ (บ้างก็ใช้ปูนเคี้ยวหมาก) เพื่อกำหนดตรงที่จะฟัน จากนั้นเพชฌฆาตดาบสองจะร่ายรำไปมา เพื่อรอจังหวะให้จิตนักโทษสงบ พร้อมกับเพชฌฆาตดาบหนึ่งลงดาบฟันคอทันที
- 6.เมื่อประหารแล้ว เจ้าหน้าที่จะตัดส้นเท้า เพื่อถอดตรวนออกแล้วสับร่างกายหรือแล่เนื้อให้ทานแก่แร้งกา
- 7.เอาหัวเสียบประจาน
สมัยปัจจุบัน[แก้]
การยิงเป้าประหารชีวิต[แก้]
หลักประหารชีวิต[แก้]
หลักประหาร (หลักไม้กางเขน) ทำจากไม้ตะเคียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2481 ใช้สำหรับมัดผู้ต้องโทษประหารกับหลักประหารเพื่อไม่ให้นักโทษดิ้น แต่หลักประหารนี้จะต้องเปลี่ยนเสมอๆ เพราะเวลาคนเราจะถูกยิงมักจะบิดตัว บิดมือ หลบนู่นหลบนี่เสมอ เลยถูกหลักประหารแตกหักไปตามสภาพการใช้งาน
ฉากสำหรับกั้นนักโทษประหาร[แก้]
ฉากไม้ชนิดตั้งรูปสี่เหลี่ยมมีผ้าขึง การประหารด้วยการยิง จะมีฉากไม้ชนิดตั้งรูปสี่เหลี่ยมมีผ้าขึงบังข้างหลังนักโทษ ที่ถูกประหารชีวิตห่างประมาณ 1 เมตร มีเป้ารูปหัวใจปิดไว้บนฉากตรงจุดกลางระดับหัวใจผู้ถูกประหารเป็นเป้าสำหรับเล็งปืน เมื่อพร้อมแล้ว เจ้าหน้าที่ให้สัญญาณโดยโบกธงสีแดง ผู้ทำหน้าที่เพชฌฆาตลั่นไกปืนทะลุเป้ากระดาษที่จัดระดับตรงกับหัวใจพอดีฉากไม้ที่ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ ปรากฏหลักฐานว่าทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2481
ปืนที่ใช้สำหรับประหารชีวิต[แก้]
พ.ศ. 2477 ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ว่าด้วยการประหารชึวิตจากการ "ให้เอาไปตัดศีรษะเสีย" เป็น "ให้เอาไปยิงเสียให้ตาย" ปืนกลมือที่ใช้ประหารชีวิตครั้งแรกเป็นเอ็มเพ 18 หรือ เบิร์กมันน์ เอ็มเพ 18 (อีกชื่อที่คนไทยรู้จัก คือ แบล็กมันน์ 18) ใช้ประหารชีวิตครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2478 ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ได้มีการเปลี่ยนปืนกลมือจากเบิร์กมันน์เป็นเฮคแลร์อุนด์คอค เอ็มเพ5 หรือ ปืนกลมือเอ็มพี5 เอสดี3 สำหรับปืนกลมือเบิร์กมันน์นี้ใช้ประหารชีวิตผู้ต้องขังมาแล้วจำนวน 213 คน
กระสอบทราย(มูลดิน)[แก้]
ในการประหารชีวิตด้วยปืน จะมีอุปกรณ์สำหรับป้องกันกระสุนปืนที่อาจจะเกิดจากการยิงพลาด จึงมีกระสอบทรายวางไว้หลังหลักประหารเพื่อป้องกันกระสุน ในอดีตที่ยังไม่มีกระสอบทรายก็ได้ใช้มูลดินเป็นเครื่องป้องกัน
จำนวนผู้ที่รับโทษยิงเป้า[แก้]
นับตั้งแต่การเปลี่ยนการประหารจากการตัดคอมาเป็นการยิงเป้าในปี พ.ศ. 2478 จนถึง พ.ศ. 2546 มีนักโทษถูกประหารชีวิต 319 คน เป็นนักโทษชาย 316 คน นักโทษหญิง 3 คน
รายชื่อเพชรฆาตยิงเป้า[4][แก้]
เพชรฆาตยิงเป้าลำดับที่ | ชื่อ-นามสกุล | ช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่เป็นเพชรฆาตยิงเป้า | จำนวนที่ประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า |
---|---|---|---|
1 | นายทิพย์ มียศ | พ.ศ. 2478 - 2486 | 44 คน |
2 | นายเหรียญ เพิ่มกำลังเมือง | พ.ศ. 2499 - 2502 | 47 คน |
3 | นายเพี้ยน คนแรงดี | พ.ศ. 2502 - 2517 | 44 คน |
4 | นายมุ่ย จุ้ยเจริญ | พ.ศ. 2503 - 2517 | 48 คน |
5 | สิบตำรวจตรีประถม เครือเพ่ง | พ.ศ. 2520 - 2527 | 36 คน |
6 | นายเรียบ เทียมสระคู | พ.ศ. 2520 | 1 คน |
7 | จ่าโทธิญโญ จันทร์โอทาน | พ.ศ. 2520 - 2527 | 32 คน |
8 | นายเชาวเรศน์ จารุบุณย์ | พ.ศ. 2527 - 2546 | 55 คน |
9 | นายสนั่น บุญลอย | พ.ศ. 2540 | 1คน |
10 | นายประยุทธ สนั่น | พ.ศ. 2542 | 6คน |
11 | นายพิทักษ์ เนื่องสิทธะ | พ.ศ. 2544 - 2546 | 5คน |
ขั้นตอน และ ระเบียบปฏิบัติ[แก้]
วิธีการประหารชีวิตจะเริ่มขึ้นโดยเจ้าหน้าที่อ่านคำสั่งศาลและฎีกาทูลเกล้าซึ่งพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานฯ คืนมาให้ผู้ต้องโทษฟังและลงชื่อรับ ทราบ ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนประวัติให้ถูกต้องและอนุญาตให้ผู้ต้องโทษจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการจำเป็นอื่นใดเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วจึงให้ผู้ต้องโทษฟังเทศน์จากพระภิกษุสงฆ์หรือนักพรตในนิกายศาสนาที่ผู้ต้องโทษเลื่อมใสแล้วให้รับประทานอาหารเป็นมื้อสุดท้าย จากนั้นนำผู้ต้องโทษเข้าสู่หลักประหารซึ่งเป็นลักษณะเป็นไม้กางเขนมีความสูงขนาดไหล่ โดยผู้ต้องโทษจะถูกมัดด้วยด้ายดิบ ให้ยืนหันหน้าเข้าหลักประหารซึ่งมีไม้นั่งคร่อม ป้องกันมิให้ผู้ต้องโทษยืนตัวงอหรือเข่าอ่อน ข้อมือทั้งสองผูกมัดติดกับหลักประหารในลักษณะประนมมือ กำดอกไม้ธูปเทียนไว้ เจ้าหน้าที่นำฉากประหารซึ่งมีเป้าวงกลมติดอยู่กับฉาก ตั้งเล็งให้เป้าอยู่ตรงจุดกลางหัวใจของผู้ต้องโทษ ห่างจากด้านหลังผู้ต้องโทษประมาณ 1 ฟุต เพื่อกำบังมิให้เจ้าหน้าที่ผู้ลั่นไกปืนเห็นตัวผู้ต้องโทษ แท่นปืนประหารตั้งอยู่ห่างจากฉากประหารประมาณ 4 เมตร ก่อนการประหารจะมีการบรรจุกระสุนขนาด 9 มิลลิเมตร 15 นัด เมื่อพร้อมแล้วเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณ โดยโบกธงสีแดง ผู้ทำหน้าที่ลั่นไกปืน กระสุนชุดแรกจะยิง 8 - 9 นัด ซึ่งตามปกติผู้ถูกประหารจะเสียชีวิตทันที แต่หากไม่เสียชีวิตเพชฌฆาตจะลั่นกระสุนอีกชุด เพื่อให้ผู้ถูกประหารทรมานน้อยที่สุด คณะกรรมการประหารชีวิตร่วมกันตรวจสอบจนแน่ใจว่านักโทษถึงแก่ความตายอย่างแท้จริง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะจัดพิมพ์ลายนิ้วนักโทษประหารเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อยืนยันว่าไม่ประหารชีวิตผิดตัว
การประหารชีวิตด้วยการฉีดยา[แก้]
ขั้นตอนการประหารชีวิตโดยการฉีดยานี้ จะมีขั้นตอนในการประหารชีวิตเช่นเดียวกับการประหารชีวิตโดยวิธีอื่นๆ กล่าวคือ ในสหรัฐจะมีการเตรียมจิตใจของผู้ถูกประหารก่อนการประหาร เช่น ก่อนการประหาร 4 วัน นักโทษประหารจะถูกนำตัวจากแดนนักโทษประหารไปสู่ห้องขังพิเศษสำหรับนักโทษประหารโดยเฉพาะ ซึ่งจะถูกเฝ้าดูจากเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง จดหมายทุกฉบับจะถูกถ่ายสำเนาให้ ส่วนฉบับจริงจะ เก็บไว้เนื่องจากกลัวว่าจะมียาพิษยาเสพติดหรือยาอื่นๆ เคลือบมา การโทรศัพท์ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บัญชา-การเรือนจำก่อน ในช่วงนี้อาจมีญาติมาเยี่ยมได้
ก่อนการประหาร 2 วัน ผู้บัญชาการจะตรวจตราเพื่อเตรียมอุปกรณ์ในการประหารให้พร้อม รวมทั้งเตรียมการเกี่ยวกับใบมรณะบัตรและการเคลื่อนย้ายศพ และก่อนการประหารหนึ่งวัน เจ้าหน้าที่ประหารจะเตรียมอุปกรณ์เข็มฉีดยาและยา และอุปกรณ์สำรองให้พร้อม มีการจัดเตรียมพื้นที่หรือห้องสำหรับผู้สื่อข่าวที่เข้าไปทำข่าวในเรือนจำ รวมทั้งพยานที่จะเข้าไปสังเกตการณ์ในการประหาร เมื่อถึงเวลา 18.00 น. เจ้าหน้าที่จะจัดอาหารมื้อสุดท้ายไปให้นักโทษประหารรับประทาน เวลา 22.00 น. ผู้สื่อข่าว และพยานจึงได้รับอนุญาตให้เข้าเรือนจำและได้รับการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ถึงขั้นตอนการประหาร เวลา 23.30 น. จึงได้เริ่มดำเนินการเพื่อเตรียมการประหารซึ่งจะเริ่มเวลาเที่ยงคืนตรง เมื่อใกล้ถึงเวลาประหาร เจ้าหน้าที่จะนำตัวนักโทษประหารจากห้องขังไปที่ห้องประหาร แต่แทนที่จะนำนักโทษประหารไปยืนตรึงกับหลักประหารก็เปลี่ยนเป็นการให้นอนบนเตียงประหารแล้วผูกด้วยสายหนัง ทั้งขา ลำตัว และแขนทั้ง 2 ข้าง ซึ่งอยู่ในท่ากางออกทำให้ไม่สามารถดิ้นได้
เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทีได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดีจะมาติดเครื่องวัดการเต้นของหัวใจเข้ากับตัวนักโทษเพื่อตรวจสอบการตายหลังการฉีดยา โดยให้กรรมการภายนอกได้เห็นการเต้นของหัวใจ จากนั้นจึงแทงเข็มเข้าเส้นเลือดใหญ่หรือที่หลังมือทั้ง 2 ข้าง ข้างหนึ่งเป็นเข็มที่ใช้จริงอีกข้างหนึ่งเป็นเข็มสำรองในกรณีที่เข็มแรกมีปัญหา หรือบางกรณีจะแทงเข็มที่แขนเข็มเดียว จากนั้นนำท่อมาต่อเข้าเข็มโยงไปยังเครื่องฉีดยาเมื่อได้เวลา เจ้าหน้าที่เรือนจำก็จะให้สัญญาณในการดำเนินการประหารได้ เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เพชฌฆาต 2 คน ซึ่งอยู่ในห้องฉีดยาจะมี 2 ปุ่ม กดคนละปุ่ม แต่จะมีปุ่มเดียวที่ปล่อยยาเข้าร่างดังนั้น เจ้าหน้าที่ทั้ง2จึงไม่มีโอกาสทราบได้ว่าใครเป็นผู้กดปุ่มปล่อยยาเข้าเส้น แต่สำหรับประเทศที่ไม่ใช้เครื่องฉีดยาอัตโนมัติจะใช้คนฉีดยาด้วยมือ ซึ่งจะมีคนเดียว ฉีดเข้าแขนซ้ายหรือขวา การฉีดไม่ได้ไปยืนฉีดที่แขน แต่ต่อสายยางออกมาและผู้ฉีดจะอยู่หลังม่าน
ยาที่ใช้ในการประหารชีวิต[แก้]
ยาที่ใช้ฉีดจะมี โซเดียมไทโอเพนทอล ในสารละลาย 20-25 มิลลิลิตร, แพนคูโรเนียมโบรไมด์ 50 มิลลิลิตร และ โพแทสเซียมคลอไรด์ 50 มิลลิลิตร ยาดังกล่าว นี้เป็นผลมาจากการวิจัยของ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ว่าจะให้ผลอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ยาที่ใช้ฉีดไม่ใช่ยาพิษ แต่เป็นยาทั่วไป ซึ่งถ้าให้เกินขนาดก็จะมีผลทำให้ตายได้โดยจะต้องมีประมาณที่มากพอสมควรต้องค่อยๆ ปล่อยเข้าไปในเส้นเลือด และใช้ถึง 3 ชนิด ดังนั้นที่กลัวกันว่าจะนำยานี้ใส่เข็มแล้วไปจิ้มคนทั่วไปนั้น จะไม่เป็นอันตรายใดๆ และหากจะทำให้ผู้อื่น ถึงแก่ความตายก็ใช้ยาพิษอื่นๆ จะไม่ยุ่งยากเท่าวิธีดังกล่าวนี้
ขั้นตอน และ ระเบียบปฏิบัติ[แก้]
การฉีดยา เข็มแรกจะปล่อยยา โซเดียมไทโอเพนทอล เข้าไปให้หลับก่อน จากนั้นจึงปล่อยเข็มที่ 2 แพนคูโรเนียมโบรไมด์ เพื่อคลายกล้ามเนื้อและ เข็มที่ 3 โพแทสเซียมคลอไรด์ ตามลำดับ เพื่อให้หัวใจหยุดสูบฉีดโลหิตภายในไม่ถึงนาที เมื่อนักโทษแสดงอาการแน่นิ่งไป ผู้บัญชาการเรือนจำจะขอให้นายแพทย์ของเรือนจำเข้าตรวจยืนยันการตายของผู้ต้องขังและประกาศเวลาตายต่อหน้าพยานรวมใช้เวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนนี้ทั้งสิ้นประมาณ 20-30 นาทีผู้แทนจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร จะพิมพ์ลายนิ้วมืออีกครั้ง และเคลื่อนย้ายศพของนักโทษไปห้องเก็บศพต่อไป โดยเก็บไว้ตรวจสอบอีก 1 วัน ตลอดเวลาจะมีการถ่ายรูปและวิดีโอตามขั้นตอนต่างๆ ไว้
จำนวนผู้ที่รับโทษฉีดยาตาย[แก้]
นับตั้งแต่การเปลี่ยนการประหารจากการยิงเป้ามาเป็นการฉีดยาในปี พ.ศ. 2546 มีนักโทษถูกประหารชีวิต 7 คน เป็นนักโทษชายทั้งหมดโดยมีรายชื่อดังนี้
ลำดับที่ | ชื่อ | วันที่ประหารชีวิต | เพศ | ความผิดฐาน | รายละเอียดความผิด | ตัดสินโดยศาลชั้นต้น | นายกรัฐมนตรี | อ้างอิง |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
1 | บุญลือ นาคประสิทธิ์ | 12 ธันวาคม พ.ศ. 2546 | ชาย | ร่วมกันผลิตและครอบครองเพื่อจำหน่ายยาบ้าและครอบครองฝิ่นเพื่อจำหน่าย | เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นโรงงานไทย-เยอรมันกลูโคสที่ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในเวลา 03.30 น.ของวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 และตรวจพบยาบ้าจำนวณ 97,800 เม็ดและอุปกรณ์การผลิตพร้อมกับจับกุมบุญลือ นาคประสิทธิ์,พันพงษ์ สินธุสังข์และเสน่ห์ นุชนารถซึ่งเสน่ห์เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นดูแลสถานที่ หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบทราบว่านายบุญลือ นาคประสิทธิ์ที่เคยถูกจับในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งพ้นโทษแล้วมีความเป็นไปได้ว่าจะเกี่ยวข้องยาเสพติด เจ้าหน้าที่ตรวจจึงได้ติดตามบุญลือจนทราบว่าบุญลือและพวกใช้บ้านโรงงานแห่งนี้ในการผลิตยาบ้า ต่อมาเวลา 05.00 น. เจ้าหน้าที่อีกชุดได้จับกุมวิบูลย์ ปานะสุทธะที่หมู่บ้านเคหะธานี 2 เขตบึงกุ่ม กรุงเทพ พร้อมยาบ้าจำนวน 18,000 เม็ด รถเก๋ง 1 คันและของกลางอีกหลายรายการหลังจากการสืบสวนพบหลักฐานว่าเป็นผู้ร่วมลงทุนผลิตยาบ้ากับบุญลือ รวมของกลางที่ยึดได้เป็นยาบ้าชนิดเม็ดจำนวน 115,800 เม็ด ยาบ้าชนิดผง 40.8 กิโลกรัม หัวเชื้อยาบ้าประมาณ 10 กิโลกรัมและฝิ่น 1,300 กรัมพร้อมกับสารเคมีและอุปกรณ์การผลิตจำนวนมาก | ศาลจังหวัดสมุทรปราการ | ทักษิณ ชินวัตร | [5][6] [7] |
2 | พันพงษ์ สินธุสังข์ | |||||||
3 | วิบูลย์ ปานะสุทธะ | |||||||
4 | พนม ทองช่างเหล็ก | ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน | ใช้ปืนยิงนายแสงชัย ทองเชื้อขณะรับประทานอาหารกับพวกที่ตำบลวิสัยใต้ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2542 | ศาลจังหวัดหลังสวน | ||||
5 | บัณฑิต เจริญวานิช | 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552 | ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภทที่1ไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย | ขยายผลจับกุมหลังจับกุมนายจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ โดยถูกจับกุมขณะขับรถมารับยาบ้าที่ซีพีทาว์เวอร์ ถนนเพชรเกษม ก่อนนำไปตรวจค้นทีบ้านพักพบยาบ้าจำนวน 14,215 เม็ด และปืนอีกหลายกระบอก | ศาลอาญากรุงเทพ | อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ | [8] [9] | |
6 | จิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ | ถูกจับกุมขณะขนยาบ้า50 มัด รวม 100,000 เม็ดจากนายบัณฑิต เจริญวานิช เพื่อนำไปส่งยังกรุงเทพมหานคร | ||||||
7 | ธีรศักดิ์ หลงจิ | 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561 | ฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ | ร่วมกับวัยรุ่นอีกคนใช้มีดแทงนายดนุเดช สุขมาก อายุ 17 ปี จำนวน 24 แผลจนถึงแก่ความตายและหยิบเอากระเป๋าสตางค์และโทรศัพท์มือถือไปด้วย ที่สวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทร์ 95 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 | ศาลจังหวัดตรัง | ประยุทธ์ จันทร์โอชา | [10] |
การนำมาใช้ในประเทศไทย[แก้]
สำหรับในประเทศไทยหากมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการประหารมาเป็นการฉีดยานั้น ขั้นตอนการประหารจะแตกต่างจากในสหรัฐเพราะการประหารชีวิตของไทยจะกระทำโดยทันทีที่ได้รับคำสั่ง โดยปกติจะเป็นเวลาเย็น นักโทษประหารจะไม่รู้ตัวล่วงหน้า เมื่อเจ้าหน้าที่เดินเข้าไปในแดนประหารและนำตัวผู้ใดออกมา เมื่อนั้นจึงจะรู้ตัว และเมื่อผ่านพิธีการด้านการตรวจสอบบุคคล พิธีกรรมทางศาสนาและอื่นๆแล้ว จะถูกนำตัวเข้าสู่แดนประหารซึ่งในช่วงนี้แทนที่จะเป็นการนำไปผูกกับหลักประหาร ก็เปลี่ยนเป็นการนำไปสู่เตียงประหาร นั่นเอง
ทั้งนี้ การเปลี่ยนจากการประหารชีวิตโดยการยิงเป้ามาเป็นการฉีดยานั้น อาจทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมมากนัก เพราะสามารถใช้ห้องประหารในเรือนจำกลางบางขวางเช่นเดิมหาฉากกั้น จัดหาเตียงและสายหนังรัด และจัดอุปกรณ์เข็มและเครื่องฉีดยาเพิ่มเติม ค่าใช้จ่ายในการประหารแต่ละครั้งโดยเฉพาะค่ายาจะถูกกว่าค่าลูกกระสุนปืน ที่ใช้ในการยิงเป้า
รายชื่อผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตในสมัยปัจจุบัน[แก้]
ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 ได้เปลี่ยนวิธีประหารชีวิตจากการตัดศีรษะมาเป็นการยิงเป้าและเปลี่ยนเป็นการฉีดสารพิษในปี พ.ศ. 2546 ได้มีผู้หญิงถูกประหารชีวิต 3 คนและทั้งหมดถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า[11]
ประหารชีวิต 3 คน(ทั้งหมดถูกประหารชีวิตที่เรือนจำกลางบางขวาง) | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|
ชื่อ | อายุ | วันที่ประหารชีวิต | วิธีการประหารชีวิต | ความผิดฐาน | เพชฌฆาต | นายกรัฐมนตรี |
ใย สนบำรุง | 62 ปี | 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 | การยิงเป้า | ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดและปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์ | นายเหรียญ เพิ่มกำลังเมือง | แปลก พิบูลสงคราม |
กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน[12] | ประมาณ 28-29 ปี | 13 มกราคม พ.ศ. 2522 | ลักพาตัวเด็กเพื่อเรียกค่าไถ่และฆ่าคนตายโดยเจตนา | สิบตำรวจตรีประถม เครือเพ่ง | เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ | |
สมัย ปานอินทร์[13] | 59 ปี | 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 | ค้ายาเสพติด | นายเชาวเรศน์ จารุบุณย์ | ชวน หลีกภัย |
นักโทษประหารที่มีชื่อเสียง[แก้]
- บุญเพ็งหีบเหล็ก (2462)
- ณเณร ตาละลักษณ์ (2483)
- ชิต สิงหเสนี (2498)
- บุศย์ ปัทมศริน (2498)
- เฉลียว ปทุมรส (2498)
- ศิลา วงศ์สิน (2502)
- ซีอุย (2502)
- ครอง จันดาวงศ์ (2504)
- กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน (2522)
- พันธ์ สายทอง (2542)
- เดชา สุวรรณสุก (2542)
- ลี ยวน กวง (2544)
- ชู ชิน กวย (2544)
- บุญเกิด จิตปรานี (2544)
- บุญลือ นาคประสิทธิ์ (2546)
![]() | ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
อ้างอิง[แก้]
- ↑ "Debating the Death Penalty" (Opinion). Bangkok Post. 20 June 2018. สืบค้นเมื่อ 20 June 2018.
- ↑ "Death penalty 'here to stay'". Bangkok Post. 20 June 2018. สืบค้นเมื่อ 20 June 2018.
- ↑ "Thailand". Hands Off Cain. สืบค้นเมื่อ 2018-09-09.
- ↑ "รายชื่อเพชฌฆาตเรือนจำกลางบางขวาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-05. สืบค้นเมื่อ 2022-08-06.
- ↑ บางขวางฉีดยาประหาร 2 นักโทษค้ายา!
- ↑ " พระนักเทศน์... นักโทษประหาร... เพชฌฆาต "
- ↑ การประหารด้วยการฉีดสารพิษครั้งแรก ของประเทศไทย
- ↑ "เข็มฉีดยา"..จุดจบนักค้ายา
- ↑ เปิดแฟ้ม 7 คดีดัง “โทษประหาร” บ้างตาย บ้างรอชดใช้กรรม
- ↑ ฉีดยาประหารชีวิต “ธีรศักดิ์ หลงจิ”
- ↑ รายชื่อนักโทษประหารที่เป็นผู้หญิงของเรือนจำกลางบางขวาง
- ↑ 3นักโทษประหาร...ในบันทึก'เพชฌฆาต'
- ↑ ON NOVEMBER 23, SAMAI PAN-INTARA, 59, A CONVICTED DRUG...