ข้ามไปเนื้อหา

ชัยธวัช ตุลาธน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชัยธวัช ตุลาธน
ชัยธวัช ใน พ.ศ. 2566
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ดำรงตำแหน่ง
17 ธันวาคม พ.ศ. 2566 – 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567
(0 ปี 234 วัน)
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน
ก่อนหน้าชลน่าน ศรีแก้ว
ถัดไปณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบบัญชีรายชื่อ
ดำรงตำแหน่ง
14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 – 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567
(1 ปี 85 วัน)
หัวหน้าพรรคก้าวไกล
ดำรงตำแหน่ง
23 กันยายน พ.ศ. 2566 – 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567
(0 ปี 319 วัน)
ก่อนหน้าพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ถัดไปณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
(พรรคประชาชน)
เลขาธิการพรรคก้าวไกล
ดำรงตำแหน่ง
14 มีนาคม พ.ศ. 2563 – 23 กันยายน พ.ศ. 2566
(3 ปี 193 วัน)
ก่อนหน้าโดยนิตินัย: ปีใหม่ รัฐวงษา
โดยพฤตินัย: ปิยบุตร แสงกนกกุล
(พรรคอนาคตใหม่)
ถัดไปอภิชาติ ศิริสุนทร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ชัยธวัช แซ่โค้ว

15 ตุลาคม พ.ศ. 2521 (46 ปี)
อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ประเทศไทย
พรรคการเมืองอนาคตใหม่ (2561–2563)
ก้าวไกล (2563–2567)
คณะก้าวหน้า (2567–ปัจจุบัน)
คู่สมรสงามเพ็ญ ไชยบุรินทร์
ศิษย์เก่าโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาชีพนักการเมือง
ชื่อเล่นต๋อม

ชัยธวัช ตุลาธน (เกิด 15 ตุลาคม พ.ศ. 2521) ชื่อเล่น ต๋อม เป็นนักการเมืองชาวไทย อดีตผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดในกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26 โดยภายหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 ชัยธวัชในฐานะเลขาธิการพรรคก้าวไกลในขณะนั้น มีบทบาทในการประสานงานกับพรรคต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลในระยะแรก ก่อนมอบสิทธิ์ให้กับพรรคเพื่อไทยในระยะหลัง[1]

ประวัติ

[แก้]

ชัยธวัช ตุลาธน เดิมชื่อ "ชัยธวัช แซ่โค้ว" มีชื่อเล่นว่า "ต๋อม" เกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2521 ที่ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นบุตรนายสุธีร์ นางสุมน แซ่โค้ว ด้านครอบครัวสมรสกับนางงามเพ็ญ ไชยบุรินทร์ เมื่อ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551 มีบุตร 1 คน

จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จังหวัดสงขลา ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และจบปริญญาตรี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

ชัยธวัช เคยทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย โดยในปี พ.ศ. 2540 ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และในปี 2541 ได้เป็นเลขาธิการกิจกรรมกลุ่มดังกล่าว[2]

การทำงาน

[แก้]

ชัยธวัช ตุลาธน เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปี พ.ศ. 2561 เขาจึงเริ่มทำงานการเมืองโดยร่วมกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งมีความสนิทสนมเมื่อครั้งเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา[3] เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ร่วมกับเพื่อนคนดังกล่าว และในระยะแรกเขาได้รับหน้าที่รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ จนกระทั่งเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค เขาจึงย้ายไปร่วมงานกับพรรคก้าวไกลและทำหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรคดังกล่าว[4] สืบต่อจากนางปีใหม่ รัฐวงษา อดีตเลขาธิการพรรคก้าวไกล

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 2 และได้รับการเลือกตั้ง ภายหลังการเลือกตั้งเขามีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวแทนของพรรคก้าวไกลในการประสานงานกับพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล แต่ภายหลังจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จและทำให้พรรคก้าวไกลต้องเปลี่ยนสถานะเป็นฝ่ายค้าน

ดังนั้น ภายหลังการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน เสร็จสิ้นลงแล้ว เมื่อวันที่ 15 กันยายน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ซึ่งถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น จึงประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดโอกาสให้หัวหน้าพรรคคนใหม่ที่ปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร[5] โดยมีการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เมื่อวันที่ 23 กันยายน และที่ประชุมมีมติเลือกชัยธวัชเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ด้วยมติเห็นชอบ 330 เสียง ไม่เห็นชอบ 5 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง[6]

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดไว้ว่า ผู้นำฝ่ายค้านจะต้องเป็น สส. ที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีจำนวน สส. มากที่สุดในกลุ่มพรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกพรรคดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ปดิพัทธ์ สันติภาดา ยังปฏิบัติหน้าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ในฐานะ สส. ของพรรคก้าวไกลอยู่ จึงทำให้ชัยธวัชยังไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้ ในที่สุด เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จึงมีมติให้ปดิพัทธ์ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล หรือขับออกจากพรรค[7] (ปัจจุบันปดิพัทธ์ย้ายไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเป็นธรรมตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม) ส่งผลให้ชัยธวัชมีสถานะเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไปโดยปริยาย และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม โดยมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม[8]

ต่อมาตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ชัยธวัชถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2567[9]

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

[แก้]

ชัยธวัช ตุลาธน ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 1 สมัย คือ

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคก้าวไกล

อ้างอิง

[แก้]
  1. มาทำความรู้จัก! ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ มือประสานสิบทิศจัดตั้งรัฐบาล ‘ขงเบ้ง’ แห่งพรรคก้าวไกล
  2. เปิดประวัติ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล
  3. ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ ตัวตึงแห่ง ‘ก้าวไกล’ วงใน ‘เพื่อนธนาธร’ ที่ยังโลดแล่นในสมรภูมิการเมือง
  4. "ไม่ผิดคาด "ทิม พิธา" นั่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมเปิดตัวโลโก้ใหม่". www.thairath.co.th. 2020-03-14.
  5. "ด่วน! พิธา ลาออกหัวหน้าพรรค เปิดทางก้าวไกล รับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน". มติชน. 2023-09-15. สืบค้นเมื่อ 2023-09-15.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "ไม่พลิก! ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 'ชัยธวัช' หัวหน้าพรรคก้าวไกล คนใหม่". ข่าวสด. 2023-09-23. สืบค้นเมื่อ 2023-09-23.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "ด่วน! 'ก้าวไกล' ขับ 'ปดิพัทธ์' ออกจากสมาชิกพรรค ลุยงานฝ่ายค้านเต็มที่". กรุงเทพธุรกิจ. 2023-09-28. สืบค้นเมื่อ 2023-09-28.
  8. "โปรดเกล้าฯ ตั้ง "ชัยธวัช ตุลาธน" เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร". พีพีทีวี. 19 ธันวาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2023.
  9. Nilnakorn, Phanit (7 สิงหาคม 2024). "เปิดรายชื่อ กก.บห.พรรคก้าวไกล โดนตัดสิทธิการเมือง 10 ปี หลังศาลสั่งยุบพรรค". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2024.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]


ก่อนหน้า ชัยธวัช ตุลาธน ถัดไป
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
หัวหน้าพรรคก้าวไกล
(23 กันยายน พ.ศ. 2566 – 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567)
ยุบพรรค
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
(ในนามพรรคประชาชน)
ชลน่าน ศรีแก้ว
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
(17 ธันวาคม พ.ศ. 2566 – 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567)
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ