อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
![]() | |
![]() | |
ชื่ออักษรไทย | อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย |
---|---|
ชื่ออักษรโรมัน | Democr acy Monument |
รหัสทางแยก | N108 |
ที่ตั้ง | แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
ทิศทางการจราจร | |
ถนนดินสอ » แยกสะพานวันชาติ | |
ถนนราชดำเนินกลาง » แยกป้อมมหากาฬ | |
ถนนดินสอ » ปากถนนมหรรณพ | |
ถนนราชดำเนินกลาง » แยกคอกวัว | |
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางวงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย การก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเริ่มขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นผลงานการออกแบบของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล อันเป็นแบบที่ชนะการประกวดการออกแบบอนุสาวรีย์แห่งนี้ การออกแบบได้นำสถาปัตยกรรมแบบไทยมาผสมผสาน ตรงกลางเป็นสมุดไทยที่สื่อถึงรัฐธรรมนูญประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า นอกจากการเป็นสัญลักษณ์เพื่อระลึกถึงประชาธิปไตยนั้น อนุสาวรีย์แห่งนี้ ยังเป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของกรุงเทพมหานครและประเทศไทยอีกด้วย
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ใช้เป็นพื้นที่สำคัญของการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง อาทิ การชุมนุมของประชาชนและนักศึกษาใน เหตุการณ์ 14 ตุลา, เหตุการณ์ 6 ตุลา การชุมนุมของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ, พฤษภาอำมหิต เป็นต้น
ประวัติ[แก้]
แนวคิด[แก้]
ในสมัยแปลก พิบุลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีความคิดที่จะจัดสร้างอนุสรณ์เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังรำลึกถึงความสามัคคีกลมเกลียวในชาติ และพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญของชาติ ตลอดจนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนี้นำมาซึ่งความสถาพรแก่ชาติ รัฐบาลจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การสร้างอนุสาวรีย์ เมื่อพิจารณาที่เหมาะสมนั้น จึงเห็นว่าบริเวณถนนราชดำเนินที่กำลังมีการปรับปรุงอยู่ในขณะนั้น เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม ประกอบกับขณะนั้นกำลังมีการก่อสร้างสะพานเฉลิมวันชาติในบริเวณเดียวกัน การสร้างอนุสาวรีย์จะยิ่งสร้างความสง่างามแก่บ้านเมือง รัฐบาลได้จัดการประกวดการออกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนี้ โดยแบบที่ได้รับรางวัลและนำมาจัดสร้างคือแบบของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
พิธีก่อฤกษ์อนุสาวรีย์ได้ถือฤกษ์วันชาติไทยในขณะนั้นคือ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 เป็นวันก่อฤกษ์ โดยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เป็นประธานในพิธีมณฑล พิธีเริ่มต้นขึ้นในเวลา 9 นาฬิกา 16 นาที เสร็จสิ้นเมื่อเวลา 9 นาฬิกา 57 นาที
งานก่อสร้างและพิธีเปิด[แก้]
การก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2482 โดยรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการการก่อสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อควบคุมกำกับการก่อสร้าง โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างและ สิทธิเดช แสงหิรัญ เป็นผู้ช่วยปั้นอนุสาวรีย์[1] ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 250,000 บาท[2]
พิธีเปิดอนุสาวรีย์จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483
รายละเอียดอนุสาวรีย์[แก้]
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นรูปหล่อลอยตัว ประกอบด้วยรูปเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทย ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า สร้างด้วยทองแดง มีความสูง 3 เมตร หนัก 4 ตัน ตั้งบนฐานรูปทรงกลมด้านบนโค้งกลม ลานอนุสาวรีย์ยกสูงมีบันไดโดยรอบ รอบนอกลานอนุสาวรีย์มีครีบทรงแบน อยู่ 4 ทิศ ที่โคนครีบ มีภาพแกะสลักลายปั้นนูน และมีรั้วเตี้ย ๆ กั้นโดยรอบลานอนุสาวรีย์ รั้วนี้ใช้ปืนใหญ่โบราณจำนวน 75 กระบอก ฝังดินโผล่ท้ายกระบอกขึ้นมา เป็นเสา คล้องโซ่เชื่อมต่อกัน
- ครีบ 4 ด้าน สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร มีรัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
- พานทูนฉบับรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดป้อม กลางตัวอนุสาวรีย์ สูง 3 เมตร หมายถึง เดือน 3 หรือ เดือนมิถุนายน (ขณะนั้นนับเมษายนเป็นเดือนแรกของปี) ตรงกับเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยนั้น และหมายถึง อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ภายใต้รัฐธรรมนูญ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ)
- ปืนใหญ่จำนวน 75 กระบอก (ปากกระบอกปืนฝังลงดิน) โดยรอบฐานของอนุสาวรีย์ที่มีโซ่เหล็กร้อยไว้ หมายถึงปีที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (เลข 75 เป็นเลขท้ายสองหลักของปี พ.ศ. 2475) ส่วนโซ่ที่ร้อยไว้ด้วยกันหมายถึงความสามัคคีพร้อมเพรียงของคณะปฏิวัติ
- ลายปั้นนูนที่ฐานครีบทั้ง 4 เน้นถึงเรื่องราวการดำเนินงานของคณะราษฎรตอนที่นัดหมายและแยกย้ายกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
- พระขรรค์ 6 เล่ม ที่รายล้อมรอบป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
- อ่างตรงฐานปีกทั้ง 4 ด้านเป็นรูปงูใหญ่ หมายถึง ปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นปีมะโรง หรือ ปีงูใหญ่
บทวิจารณ์[แก้]
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้รับการวิจารณ์ถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมอย่างหลากหลาย รองศาสตราจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กล่าวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไว้ว่า "อนุสาวรีย์นี้ไม่ได้ผล เพราะว่าเป็นอนุสาวรีย์ที่ออกแบบโดยการใช้ตัวเลขเป็นสัญลักษณ์ให้แก่ตัวอนุสาวรีย์...มันก็ไม่งามจริง ๆ มันจะไม่งามแน่ ๆ เพราะผู้ออกแบบมัวไปแก่ตัวเลขสัญลักษณ์เสีย โดยเฉพาะตัวพานรัฐธรรมนูญที่ขยายขนาด Scale แบบสุนัขย่าเหลที่นครปฐม"[3] นอกจากนี้อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่า "...ทำหน้าที่เป็นเสมือนฉากแห่งความทันสมัยในยุคประชาธิปไตยที่ตัดขาดจากสมัยเดิม" [4] ผู้ช่วยศาสตราจารย์แจนนิส วงศ์สุรวัฒน์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้วิจารณ์ประติมากรรมนูนสูงของปีกอนุสาวรีย์และกล่าวถึงอนุสาวรีย์ว่า "...อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นการแสดงออกทางศิลปกรรมที่สำคัญชิ้นแรกต่อภาพของประชาธิปไตยในสายตาของคนไทย มันมีแง่มุมที่น่าเคารพบางประการ ที่ยังเป็นปัจจุบัน และมีภาพที่ดูไม่แน่ชัดบางประการ"[5]
สิ่งสืบเนื่อง[แก้]
ในทางด้านคมนาคม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยใช้นับเป็นหลักกิโลเมตร 0 ของทางหลวงสายประธานทั้งสี่ของประเทศไทย[6] ยกเว้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 หรือ ถนนมิตรภาพ ที่เริ่มนับกิโลเมตร 0 ที่ อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี [7] นอกจากนั้น อนุสาวรีย์แห่งนี้ยังใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการวัดระยะทางไปยังจังหวัด อำเภอ หรือสถานที่ต่าง ๆ จากกรุงเทพมหานครอีกด้วย
คลังภาพ[แก้]
ประติมากรรมนูนต่ำ บริเวณฐานครีบอนุสาวรีย์
ภาพความรุนแรงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ 14 ตุลา
การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
อ้างอิง[แก้]
- วิชิต สุวรรณปรีชา . อนุสาวรีย์ของไทย เล่ม 3. กรุงเทพฯ: อักษรบัณฑิต, 2530. 84 หน้า
- "สิทธิเดช แสงหิรัญ" โดย นภดล วิรุฬห์ชาตะพันธ์
- ↑ 19 ศิลปินชั้นเยี่ยม สิทธิเดช แสงหิรัญ เรียกข้อมูลวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
- ↑ รายงานการสร้างอนุสสาวรีย์ "ประชาธิปไตย" จากราชกิจจานุเบกษา เรียกข้อมูลวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
- ↑ แสงอรุณ รัตกสิกร อนุสาวรีย์ที่ไทยทำ เรียกข้อมูลวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
- ↑ ยุวดี มณีกุล เงาการเมืองในงานสถาปัตย์หลัง 2475 ข้อมูลวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
- ↑ Janice Wongsurawat. A Critical Analysis of the Form and Symbolic Content of the Democracy Monument as a Work of Art, With Emphasis on the Reliefs on the Base of Four Wings. The Research Center of Silpakorn University , 1987, pp. 25-35.
- ↑ กรมทางหลวง:จุดเริ่มต้นของทางหลวง
- ↑ จังหวัดสระบุรี
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
![]() |
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย |
- ตะลอนทั่วไทย ภาพถ่ายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
พิกัดภูมิศาสตร์: 13°45′24″N 100°30′6″E / 13.75667°N 100.50167°E