เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

ด้านหน้าเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
มอบโดย พระมหากษัตริย์ไทย
อักษรย่อพ.ร.ธ.
ประเภทเหรียญราชอิสริยาภรณ์ประเภทบำเหน็จความกล้าหาญ
วันสถาปนา9 ธันวาคม พ.ศ. 2476
ประเทศไทย ราชอาณาจักรไทย
ภาษิตสละชีพเพื่อชาติ
จำนวนสำรับไม่จำกัดจำนวน
แพรแถบ
ผู้สมควรได้รับผู้ช่วยเหลือราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนในการปราบกบฏบวรเดช
สถานะพ้นสมัยพระราชทาน
ผู้สถาปนาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ล้มเลิกพ.ศ. 2483
สถิติการมอบ
รายแรกพระยาประเสริฐสงคราม
21 กันยายน พ.ศ. 2477
ลำดับเกียรติ
สูงกว่าเหรียญงานพระราชสงครามทวีปยุโรป
รองมาเหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 ประเภทที่ 2

เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (The Safeguarding the Constitution Medal) เป็นเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความกล้าหาญ สำหรับพระราชทานแก่ ผู้ช่วยเหลือราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนในการปราบกบฏบวรเดช เมื่อพ.ศ. 2476[1] ปัจจุบัน พ้นสมัยพระราชทานแล้ว

ประวัติ[แก้]

ฝ่ายอำนาจเก่า ซึ่งนำโดยพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นนายทหารระดับผู้ใหญ่ซึ่งหมดอำนาจลงหลังจากการปฏิวัติ 2475 เกิดความไม่พอใจ จึงได้ก่อการกบฏเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2476 และลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ หลังจากนั้นรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)และสภาผู้แทนราษฏรก็ได้ประชุมเสนอพระราชบัญญัติเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นบำเหน็จความชอบ แก่ผู้ช่วยเหลือราชการทั้งฝ่ายทหาร และพลเรือนในการปราบกบฏบวรเดช จากนั้นจึงนำขึ้นเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2476

ลักษณะเหรียญ[แก้]

เป็นเหรียญทรงสีเหลี่ยมจตุรัสกว้างด้านละ 23 มิลลิเมตร ด้านหน้ามีภาพสมุดรัฐธรรมนูญวางบนพานแว่นฟ้าสองชั้น อยู่ภายในวงพวงมาลัยชัยพฤกษ์ แผ่รัศมีกระจายทั่วมณฑล ด้านหลัง มีรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ในท่าประหารปรปักษ์ ยืนลอยอยู่เหนือตัวอักษรตามขอบล่างว่า "ปราบกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖" ภายใต้ห่วงอันมีอักษรว่า "พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" แพรแถบสีธงไตรรงค์ กว้าง 28 มิลลิเมตร ห้อยบนแพรแถบมีเข็มโลหะทองแดงรมดำ จารึกอักษรว่า "สละชีพเพื่อชาติ"

การประดับ[แก้]

  1. ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย
  2. ผู้ที่เป็นทหาร ตำรวจ หรือลูกเสือ ประดับเหรียญนี้ได้ทุกโอกาสตามแต่จะเห็นสมควรในเมื่อสวมเครื่องแบบ
  3. ถ้ามิได้สวมเครื่องแบบราชการหรือเป็นพลเรือน ให้ประดับเหรียญนี้ได้ในโอกาสต่อไปนี้
  • ในงานพระราชพิธีและงานต่างๆ ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าหน้าที่จัดการ ให้แต่งอย่างสุภาพตามธรรมเนียมและกาลนิยม
  • ในงานต่างๆ ที่เป็นงานพิธี หรือ งานเพื่อเกียรติยศแก่หมู่เหล่า หรือบุคคลใดที่สมควร ให้แต่งอย่างสุภาพตามธรรมเนียมและกาลนิยม
ด้านหลังเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ในท่าประหารปรปักษ์

บุคคลสำคัญที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๗๖เล่ม ๕๐ ตอน ๐ก วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๗๖