พรรคพลังประชารัฐ
พรรคพลังประชารัฐ | |
---|---|
หัวหน้า | พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ |
รองหัวหน้า | |
เลขาธิการ | ไพบูลย์ นิติตะวัน |
รองเลขาธิการ | ภัครธรณ์ เทียนไชย กาญจนา จังหวะ |
เหรัญญิก | พลเอก กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ |
นายทะเบียนสมาชิก | สมโภชน์ แพงแก้ว |
โฆษก | พลตำรวจโท ปิยะ ต๊ะวิชัย |
รองโฆษก | อัคร ทองใจสด |
กรรมการบริหาร |
|
ประธานที่ปรึกษา | พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ |
ผู้อำนวยการสำนักงาน | วราเทพ รัตนากร |
คำขวัญ | ปกป้องสถาบัน ทันสมัยเศรษฐกิจ มีชีวิตที่สดใส |
ก่อตั้ง | 2 มีนาคม พ.ศ. 2561 (6 ปี 247 วัน)[1] |
แยกจาก | พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ |
ก่อนหน้า | คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (แกนนำ) |
ที่ทำการ | 547 ถนนรัชดาภิเษก ซอยอาภาภิรมย์ แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กทม. 10900 |
สมาชิกภาพ (ปี 2565) | 57,375 คน[2] |
อุดมการณ์ | กษัตริย์นิยม[3] อนุรักษนิยม[4] ทหารนิยม[5] อำนาจนิยม |
จุดยืน | ขวา[6] |
สี | สีน้ำเงิน |
เพลง | เพลงพรรคพลังประชารัฐ |
สภาผู้แทนราษฎร | 40 / 495 |
สภากรุงเทพมหานคร | 2 / 50 |
เว็บไซต์ | |
www | |
การเมืองไทย รายชื่อพรรคการเมือง การเลือกตั้ง |
พรรคพลังประชารัฐ (ย่อ: พปชร.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2561 จากการรวมตัวของนักการเมืองกลุ่มต่าง ๆ มีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ซึ่งพรรคเสนอชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในขณะนั้น เป็นนายกรัฐมนตรีต่อในสมัยที่ 2 ปัจจุบันมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และ ไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นเลขาธิการพรรค
ประวัติ
[แก้]ชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม และ สุชาติ จันทรโชติกุล อดีต สส. สงขลา พรรคความหวังใหม่ และอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเป็นผู้จดจองชื่อพรรคพลังประชารัฐต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561[7] ชื่อพรรค "พลังประชารัฐ" เป็นชื่อนโยบายช่วยเหลือคนยากจนที่สำคัญของรัฐบาลประยุทธ์[8] พรรคได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม "สามมิตร" ซึ่งมีแกนนำเป็นอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ได้แก่ สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอยู่ กลุ่มดังกล่าวพยายามดึงตัวสมาชิกรัฐสภาทั้งจากพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มดังกล่าวสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ขณะที่ยังมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอยู่ในขณะนั้น
พรรคจัดประชุมสามัญใหญ่ของพรรคเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2561 เพื่อเลือก หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดแรกจำนวน 25 คนปรากฏว่า อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาลประยุทธ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลประยุทธ์ 1 เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561 อุตตมพร้อมคณะได้เดินทางมายัง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อจดทะเบียนจัดตั้งพรรคอย่างเป็นทางการ [9]
ในวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 มีบุคคลกว่า 150 คนเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ โดยมีทั้งอดีตสมาชิกรัฐสภา อดีตรัฐมนตรีและบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งในจำนวนนี้มีสมาชิกพรรคเพื่อไทย อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกพรรคภูมิใจไทย และสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา[10] นักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงอดีตแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ[11]
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ 4 คนที่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งเพื่อมาหาเสียงเต็มเวลา หลังถูกวิจารณ์มาหลายเดือน[12]
การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562
[แก้]พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้ง เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แม้มีพรรคการเมืองหลายพรรคสนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พรรคพลังประชารัฐถูกมองว่าเป็น "พรรคนิยมประยุทธ์อย่างเป็นทางการ" เพราะแกนนำพรรคหลายคนเป็นรัฐมนตรีและที่ปรึกษาในรัฐบาลประยุทธ์[13][14]
ในการเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐมีนโยบายส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และให้คำมั่นขยายโครงการสวัสดิการ[15] ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 พรรคพลังประชารัฐเสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 425 บาท ทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นนโยบายประชานิยม ทำไม่ได้จริง หรือทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อน แต่พรรคยืนยันว่าสามารถทำได้จริง[16]
พรรคพลังประชารัฐถูกร้องเรียนว่าได้รับการสนับสนุนอย่างลำเอียงจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ[17][18] ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 รัฐบาลประยุทธ์อนุมัติงบประมาณอัดฉีดเงินสด 86,700 ล้านบาท[19] ทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นการใช้เงินภาษีซื้อเสียง[20] นอกจากนี้ พรรคพลังประชารัฐยังถูกกล่าวหาว่ามีการให้ประชาชนสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเพื่อแลกกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นนโยบายช่วยเหลือคนยากจนของรัฐบาล[21]
ประยุทธ์ใช้อำนาจเต็มที่ตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว สั่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งวาดเขตเลือกตั้งใหม่[22][23][24] นักวิจารณ์ระบุว่า การวาดเขตเลือกตั้งใหม่นี้เอื้อประโยชน์ต่อพรรคพลังประชารัฐ โดยบางคนให้ความเห็นว่า พรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว[25]
วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561 พรรคพลังประชารัฐจัดโต๊ะจีนระดมทุนมูลค่า 600 ล้านบาท โดยมีแผนที่ซึ่งมีชื่อหน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงการคลัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมด้วย ทำให้มีข้อกังขาว่ามีการใช้เงินภาษีหรือหาผู้บริจาคหรือผู้ซื้อที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหน่วยงานดังกล่าวซึ่งอาจต้องมีการตอบแทนในอนาคต[26] ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 พรรคเปิดเผยชื่อผู้บริจาคในงานดังกล่าวตามระเบียบ 90 ล้านบาท โดยเป็นชื่อผู้ได้รับสัมปทานจากรัฐเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม พรรคไม่ได้เปิดเผยแหล่งที่มาของเงินบริจาคที่เหลือ[27] วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2562 กกต. เปิดเผยว่า ไม่พบความผิดที่พรรคพลังประชารัฐจัดโต๊ะจีนระดมทุน เนื่องจากไม่พบบุคคลต่างชาติบริจาคเงิน จึงไม่มีความผิดและไม่ต้องยุบพรรค[28] ทว่าต่อมาสำนักข่าวอิศราพบว่า มีกลุ่มทุนจากประเทศไอซ์แลนด์ถือหุ้นในบริษัทที่บริจาคเงินให้พรรคพลังประชารัฐ[29]
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 พรรคพลังประชารัฐถูกยื่นคำร้องไต่สวนยุบพรรค เนื่องจากเสนอชื่อประยุทธ์ซึ่งถือว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามเพราะดำรงตำแหน่งทางการเมือง[30] ต่อมา ผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงว่าประยุทธ์ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ และจะไม่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองต่อ[31] วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562 พรรคพลังประชารัฐถูกยื่นเอาผิดจากกรณีปราศรัยนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาหาเสียง เข้าข่ายความผิดฐานเตรียมทรัพย์สินเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายเลือกตั้ง[32]
ผลการเลือกตั้งเบื้องต้นพบว่าพรรคพลังประชารัฐได้ สส. มากเกินคาด โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครสามารถแย่งที่นั่งจากพรรคประชาธิปัตย์ได้ทั้งหมด ทำให้ใบตองแห้ง คอลัมนิสต์ข่าวหุ้น เขียนว่า คนชั้นกลางเก่าอนุรักษนิยมที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์หันไปเลือกพรรคพลังประชารัฐแทน แสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์เพราะเกลียดทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ใบตองแห้งยังเขียนว่า พรรคพลังประชารัฐใช้ปัจจัยในการเมืองแบบเก่าเพื่อเอาชนะ คือ นโยบายประชานิยม สส. ที่ดูดจากพรรคอื่น ประกอบกับอำนาจรัฐราชการ นอกเหนือจากฐานเสียงอนุรักษนิยมในต่างจังหวัด องค์ประกอบของรัฐบาลที่อาจเกิดจากพรรคพลังประชารัฐตั้งจะมีองค์ประกอบจะเป็นนักการเมืองทุนท้องถิ่น ย้อนกลับไปเหมือนสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบ[33]
ครม. ประยุทธ์ 2
[แก้]ก่อนมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 มีข่าวแย่งตำแหน่งภายในพรรคพลังประชารัฐ โดยกลุ่มสามมิตรซึ่งประกอบด้วยสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สมศักดิ์ เทพสุทิน และอนุชา นาคาศัยแถลงยืนยันว่าตนต้องได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีตามโผในวันที่ 11 มิถุนายน ซึ่งหากไม่ตรงก็จะแสดงจุดยืนอีกครั้ง และมีข่าวกลุ่มสามมิตรพยายามเสนอญัตติขับไล่สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ออกจากตำแหน่ง เพราะ "เป็นภัยต่อความมั่นคงของพรรคและของรัฐบาลเป็นอย่างสูง ... ไม่ยึดโยงกับ สส. ในพรรค ไม่เห็นหัว สส. ในพรรคแม้แต่คนเดียว ... ท่านทำให้พรรคเราแตกแยก"[34] ก่อนที่ต่อมากลุ่มสามมิตรจะยอมล้มข้อเรียกร้องของตนเองและยอมรับให้ประยุทธ์จัดสรรคณะรัฐมนตรี[35] โดยก่อนหน้านี้มีข่าวลือว่าจะมีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจากอุตตม เป็นประยุทธ์[36]
ต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 พรรคพลังประชารัฐออกมายอมรับว่าต้องชะลอนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาทต่อวัน แม้ก่อนหน้านี้จะยืนยันว่าจะนำนโยบายไปปฏิบัติในระหว่างหาเสียง[37]
1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐจำนวน 18 คนลาออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคชุดเดิมที่ทำหน้าที่อยู่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามข้อบังคับพรรค[38] ต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563 พรรคพลังประชารัฐได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2563 ที่ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยมีการแก้ไขเพื่อปรับเปลี่ยนรูปเครื่องหมายพรรคการเมือง และย้ายที่ทำการพรรคแห่งใหม่ไปยังอาคารรัชดาวัน ถนนรัชดาภิเษก ตรงข้ามศาลอาญา และมีการแต่งตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค อนุชา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรค และพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ เป็นโฆษกพรรค[39]
การเลือกตั้ง พ.ศ. 2566
[แก้]ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 มีการปรับกระบวนทัศน์การทำงานด้านสื่อสารของ พปชร. โดยปรับภาพลักษณ์ของ พล.อ. ประวิตร หัวหน้าพรรค ให้เป็นนายทหารประชาธิปไตย เข้าถึงได้กับทุกกลุ่ม[40] เดือนมกราคมปีถัดมาอุตตมและสนธิรัตน์ได้กลับเข้าพรรคพลังประชารัฐ เดือนมีนาคมปีเดียวกันมีภาพพลเอกประวิตรพบกับภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หนึ่งในแกนนำกลุ่มราษฎร เขากล่าวว่าจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก[41] เดือนถัดมาพลเอกประวิตรสมัครเป็น สส. ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่ง และเขายังเป็นบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไทยเพียงคนเดียวของพรรคด้วย โดยพรรคมีนโยบายไม่แก้ไขและไม่ร่วมกับพรรคที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112[42]
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 พลเอกประวิตรได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ในวันเดียวกัน ทางพรรคพลังประชารัฐได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 3/2566 เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งอรรถกร ศิริลัทธยากร สส. ฉะเชิงเทรา ได้เสนอชื่อ พลเอกประวิตร เป็นหัวหน้าพรรคเพียงชื่อเดียว ทำให้พลเอกประวิตรได้เป็นหัวหน้าพรรคอีกสมัย ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรคได้มีการเสนอชื่อ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า สส. พะเยา เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่เพียงชื่อเดียวเช่นเดียวกัน ทำให้ร้อยเอกธรรมนัสได้เป็นเลขาธิการพรรคสมัยที่ 2 นอกจากนี้ พลเอกประวิตรได้มีคำสั่งแต่งตั้งพลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ น้องชายของพลเอกประวิตรเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค และวราเทพ รัตนากร อดีต สส. กำแพงเพชร เป็นผู้อำนวยการสำนักงานพรรค[43]
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2566 นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากสมาชิกพรรคและทุกตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงเหรัญญิกพรรคด้วย โดยให้เหตุผลว่าตนได้ทำหน้าที่เหรัญญิกพรรคครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว[44] เดือนสิงหาคมปีถัดมาเธอได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคกล้าธรรม[45] ในเดือนเดียวกันหลังแพทองธาร ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ธรรมนัสได้ประกาศแยกทางกับพลเอกประวิตร พร้อมนำ สส. จำนวนหนึ่งขอร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย[46][47][48] และหลังจากนั้นพรรคเพื่อไทยก็ได้มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 64[49] ต่อมาในวันที่ 20 สิงหาคม ร้อยเอกธรรมนัส และ สส. ในกลุ่มอีก 5 คน ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรค จากนั้นในวันที่ 6 กันยายน พลเอกประวิทย์ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคกลางที่ประชุมใหญ่สามัญของพรรค เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จำนวน 19 คน ในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2567 พรรคได้เปิดศูนย์นโยบายและวิชาการของพรรคพลังประชารัฐ
บุคลากร
[แก้]หัวหน้าพรรค
[แก้]ลำดับ | รูป | ชื่อ | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ |
---|---|---|---|---|
1 | อุตตม สาวนายน | 29 กันยายน พ.ศ. 2561 | 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563 | |
2 | พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ | 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563 | ปัจจุบัน |
เลขาธิการพรรค
[แก้]ลำดับ | รูป | ชื่อ | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ |
---|---|---|---|---|
1 | สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ | 29 กันยายน พ.ศ. 2561 | 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563 | |
2 | อนุชา นาคาศัย | 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563 | 18 มิถุนายน พ.ศ. 2564 | |
3 (ครั้งที่ 1) |
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า | 18 มิถุนายน พ.ศ. 2564 | 19 มกราคม พ.ศ. 2565 | |
4 | สันติ พร้อมพัฒน์ | 3 เมษายน พ.ศ. 2565 | 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 | |
3 (ครั้งที่ 2) |
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า | 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | |
5 | ไพบูลย์ นิติตะวัน | 6 กันยายน พ.ศ. 2567 | ปัจจุบัน |
กรรมการบริหารพรรค
[แก้]ลำดับที่ | ชื่อ | ตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ | หัวหน้าพรรค |
2 | สันติ พร้อมพัฒน์ | รองหัวหน้าพรรค |
3 | ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ | |
4 | ตรีนุช เทียนทอง | |
5 | อุตตม สาวนายน | |
6 | สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ | |
7 | ฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ | |
8 | ชัยมงคล ไชยรบ | |
9 | อภิชัย เตชะอุบล | |
10 | ไพบูลย์ นิติตะวัน | เลขาธิการพรรค |
11 | ภัครธรณ์ เทียนไชย | รองเลขาธิการพรรค |
12 | กาญจนา จังหวะ | |
13 | พลเอก กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ | เหรัญญิกพรรค |
14 | สมโภชน์ แพงแก้ว | นายทะเบียนสมาชิกพรรค |
15 | พลตํารวจโทปิยะ ต๊ะวิชัย | โฆษกพรรค |
16 | อนันต์ ผลอำนวย | กรรมการบริหารพรรค |
17 | ทวี สุระบาล | |
18 | สุธรรม จริตงาม | |
19 | กระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ | |
20 | คอซีย์ มามุ | |
21 | อัครวัฒน์ อัศวเหม | |
22 | ยงยุทธ สุวรรณบุตร | |
23 | ชาญกฤช เดชวิทักษ์ | |
24 | หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี | |
25 | วัน อยู่บำรุง |
บุคลากรของพรรคในตำแหน่งอื่น ๆ
[แก้]- ผู้อำนวยการสำนักงานพรรค – วราเทพ รัตนากร
- ประธานที่ปรึกษาพรรค – พลตํารวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ
กลุ่มย่อยในพรรค
[แก้]- กลุ่ม กปปส. นำโดย ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และ สกลธี ภัททิยกุล
- กลุ่มชลบุรี นำโดย สนธยา คุณปลื้ม (ต่อมาย้ายกลับไปสังกัดพรรคเพื่อไทย)
- กลุ่มธรรมนัส นำโดย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า
- กลุ่มบ้านริมน้ำ นำโดย สุชาติ ตันเจริญ (ต่อมาย้ายกลับไปสังกัดพรรคเพื่อไทย)
- กลุ่มเพชรบูรณ์ นำโดย สันติ พร้อมพัฒน์
- กลุ่มสามมิตร นำโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน (ต่อมาย้ายกลับไปสังกัดพรรคเพื่อไทย)
- กลุ่มอัศวเหม นำโดย วัฒนา อัศวเหม[50]
การเลือกตั้ง
[แก้]ผลการเลือกตั้งทั่วไป
[แก้]การเลือกตั้ง | จำนวนที่นั่ง | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ที่นั่งเปลี่ยน | ผลการเลือกตั้ง | ผู้นำเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|---|---|
2562 | 116 / 500
|
8,441,274 | 23.74% | 116 | แกนนำจัดตั้งรัฐบาล | ประยุทธ์ จันทร์โอชา |
2566 | 40 / 500
|
537,625 | 1.36% | 76 | ร่วมรัฐบาล (2566-2567) | ประวิตร วงษ์สุวรรณ |
แยกฝ่าย (2567-ปัจจุบัน)[a] |
ข้อวิจารณ์
[แก้]ความขัดแย้งกับธรรมนัส
[แก้]ครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ. 2565)
[แก้]19 มกราคม พ.ศ. 2565 ผู้สื่อข่าวการเมืองรวมถึงสายทหารหลายราย ได้ออกรายงานตรงกันว่า ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยสมาชิกในสังกัดอีก 20 คน ได้พร้อมใจกันยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐทั้งหมดถูกเรียกประชุมด่วนที่มูลนิธิป่ารอยต่อหลังจากประชุมสภาล่มเมื่อเวลา 17.45 น.[51] จนในเวลา 20.21 น. มีรายงานว่า ร.อ.ธรรมนัส พร้อม สส. ในสังกัดอีก 20 คน ได้เปลี่ยนไปยื่นขอมติขับออกจากพรรคแทนการลาออก เพื่อให้ตนและ สส. สามารถสังกัดพรรคการเมืองใหม่ได้ใน 60 วัน ตามกฎหมาย และคณะกรรมการพร้อมสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ มีมติ 78 เสียง ให้ขับ ร.อ.ธรรมนัส พร้อม สส. ในสังกัดอีก 20 คน ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคทันที ฐานสร้างความขัดแย้งและแตกแยกในพรรค[52] ความตอนหนึ่ง พลเอกประวิตร กล่าวว่า "ยอม ๆ ไปเหอะ ถ้าอยากออกก็ให้ออกไป จะได้สงบ พรรคจะได้เดินต่อ"[53]
เอกรัฐ ตะเคียนนุช ผู้สื่อข่าวช่องวัน 31 ณ ขณะนั้น คาดการณ์บนแฟนเพจส่วนตัวว่า เหตุการณ์ทั้งหมดเป็นชนวนความขัดแย้งตั้งแต่ครั้งที่พลเอกประยุทธ์ ใช้คำสั่งปลดร้อยเอกธรรมนัสออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้ฝ่ายร้อยเอกธรรมนัสกับฝ่ายพลเอกประยุทธ์ไม่ลงรอยกันนับตั้งแต่นั้น และใจจริง ธรรมนัส และสมาชิกทั้งหมด "จะลาออก" เพื่อให้ตัวเองขาดคุณสมบัติการเป็น สส. ซึ่งจะเป็นผลให้รัฐบาลขาดความเสถียรภาพจากที่ไม่ค่อยเสถียรภาพอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประวิตรไม่มีทางเลือก นอกจากต้องเจรจากับธรรมนัสให้อยู่ต่อเพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล ผลสุดท้าย ธรรมนัสขอเปลี่ยนจากลาออกเป็นขอมติขับออกจากพรรคแทน[54] หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าหลังจากเหตุการณ์นี้ ร.อ.ธรรมนัส พร้อม สส. ทั้ง 20 คน จะย้ายไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย โดยมีข่าวลือที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าจะมี วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่งเป็นคนสนิทใกล้ชิดของประวิตร เป็นหัวหน้าพรรค[55]
ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 เกิดความขัดแย้งระหว่างพลเอกประวิตรและพลเอกประยุทธ์ในพรรคพลังประชารัฐ[56] และต่อมาพลเอกประยุทธ์ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ในช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2566[57] เวลาต่อมาธรรมนัสได้กลับเข้าพรรคพลังประชารัฐ[58]
ย้ายไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย
[แก้]- ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา
- นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร
- นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา
- นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน
- นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง
- นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก
- นายภาคภูมิ บุญประมุข ส.ส.ตาก
- นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร
- นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น
- นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา
- นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา
- นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี
- นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์
- นางสาวจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร
- นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- พลตำรวจตรี ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี
ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย
[แก้]- นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา
- นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น
ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2567)
[แก้]ความขัดแย้งระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับกลุ่มของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีการส่งรายชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีแพทองธาร ปรากฎว่าไม่มีชื่อของร้อยเอกธรรมนัส และตำแหน่งรัฐมนตรีเดิมของธรรมนัสถูกแทนที่ด้วยชื่อของ สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในคณะรัฐมนตรีเศรษฐา โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ด้วยตนเองเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว[60] ต่อมาในวันที่ 20 สิงหาคม มีการแถลงต่อสื่อมวลชน โดยประกาศแยกทางกับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ[61] จากนั้นมีการรวบรวม สส.พรรคพลังประชารัฐที่เข้าร่วมกับร้อยเอกธรรมนัส 29 คน และ สส.จากพรรคเล็กอีก 5 คน เพื่อยื่นชื่อรัฐมนตรีในสัดส่วนของตนในวันถัดไป[62] แต่ในเวลาต่อมา มีสมาชิกกลุ่มธรรมนัสถอนตัวออกจากกลุ่ม ทำให้มีสมาชิกกลุ่มเหลือ 20 คน
หนึ่งสัปดาห์ถัดจากนั้นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยมีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 64[63] ต่อมาร้อยเอกธรรมนัสพร้อมกับไผ่ ลิกค์, อรรถกร ศิริลัทธยากร, บุญยิ่ง นิติกาญจนา, สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ และบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ได้ลาออกจากกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ[64]
สส.พรรคพลังประชารัฐที่อยู่กลุ่มธรรมนัส
[แก้]- ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา เขต 1
- นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ สส.ราชบุรี เขต 3
- นายจำลอง ภูนวนทา สส.กาฬสินธุ์ เขต 3
- นายจีรเดช ศรีวิราช สส.พะเยา เขต 3
- นายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว สส.สงขลา เขต 4
- นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ สส.ราชบุรี เขต 5
- นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ สส.เชียงใหม่ เขต 9
- นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี เขต 2
- นายปกรณ์ จีนาคำ สส.แม่ฮ่องสอน เขต 1
- นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร เขต 1
- นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ สส.กำแพงเพชร เขต 2
- นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข สส.ตาก เขต 3
- นางรัชนี พลซื่อ สส.ร้อยเอ็ด เขต 3
- นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ สส.ชลบุรี เขต 10
- นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส เขต 3
- นายองอาจ วงษ์ประยูร สส.สระบุรี เขต 4
- นายอนุรัตน์ ตันบรรจง สส.พะเยา เขต 2
- นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา เขต 2
- นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ เขต 7
- นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส เขต 2
การแบ่งฝ่ายในการร่วมรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ
[แก้]ในคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 64 พรรคพลังประชารัฐได้มีการแบ่งฝ่ายออกเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างฝ่ายของธรรมนัส พรหมเผ่า หรือ กลุ่มธรรมนัส มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 20 คน ซึ่งเป็นฝ่ายร่วมรัฐบาล และฝ่ายของประวิตร วงษ์สุวรรณ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 20 คน ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน
คำร้องคัดค้านการเป็น สส.
[แก้]15 มิถุนายน พ.ศ. 2566 มีเอกสารที่นำเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ครั้งที่ 1 ปรากฏว่ามี ว่าที่ สส. ที่ประกาศผลรับรอง 329 คน ขณะที่มี 71 เขต ที่มีเรื่องร้องคัดค้าน มีรายงานว่า เอกสารดังกล่าวอาจเป็นเอกสารสรุปของฝ่ายปฏิบัติการ แจ้งเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ที่ยังไม่ได้นำเสนอต่อที่ประชุม กกต.[65] โดยพรรคพลังประชารัฐถูกร้องคัดค้านทั้งสิ้น 14 คน ดังนี้
ลำดับ | รายชื่อ สส. | เขตที่ลงเลือกตั้ง |
---|---|---|
1 | ไผ่ ลิกค์ | กำแพงเพชร เขต 1 |
2 | สะถิระ เผือกประพันธุ์ | ชลบุรี เขต 10 |
3 | อัครแสนคีรี โล่ห์วีระ | ชัยภูมิ เขต 7 |
4 | นเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ | เชียงใหม่ เขต 9 |
5 | ทวี สุระบาล | ตรัง เขต 2 |
6 | ฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ | พังงา เขต 2 |
7 | จักรัตน์ พั้วช่วย | เพชรบูรณ์ เขต 2 |
8 | วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ | เพชรบูรณ์ เขต 5 |
9 | อัคร ทองใจสด | เพชรบูรณ์ เขต 6 |
10 | วิริยะ ทองผา | มุกดาหาร เขต 1 |
11 | รัชนี พลซื่อ | ร้อยเอ็ด เขต 3 |
12 | ชัยมงคล ไชยรบ | สกลนคร เขต 5 |
13 | ขวัญเรือน เทียนทอง | สระแก้ว เขต 1 |
14 | โชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ | สิงห์บุรี เขต 1 |
แต่ถึงกระนั้น กกต. ก็ประกาศรับรอง สส. ทั้ง 500 คนก่อน โดยได้ชี้แจงว่าจะดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง
การแยกไปตั้งพรรค
[แก้]พรรคพลังประชารัฐเคยมีสมาชิกพรรคที่ย้ายไปร่วมงานกับพรรคอื่น ดังนี้
- พรรคเศรษฐกิจไทย นำโดย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า (ต่อมาได้นำสมาชิกกลับเข้าพรรคในปี พ.ศ. 2566 ส่วนพรรคได้เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคกล้าธรรม)
- พรรครวมไทยสร้างชาติ นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐเมื่อปี พ.ศ. 2562
- พรรคสร้างอนาคตไทย นำโดย อุตตม สาวนายน (ต่อมาได้นำสมาชิกกลับเข้าพรรคในปี พ.ศ. 2566)
- พรรคเพื่อประชาชน นำโดย ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข (ปัจจุบันปรีชาได้ย้ายไปเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ)
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ กลุ่ม ธรรมนัส พรหมเผ่า พร้อมกับ สส. 20 คน เป็นฝ่ายร่วมรัฐบาล และกลุ่ม ประวิตร วงษ์สุวรรณ พร้อมกับ สส. 20 คน เป็นฝ่ายค้าน
ดูเพิ่มเติม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สรุปข้อมูลรายชื่อพรรคที่ออกหนังสือเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง (ณ วันที่ 21 กันยายน 2561)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-24. สืบค้นเมื่อ 2019-02-20.
- ↑ ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2565
- ↑ "Asia in Review SEA Thailand - German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance (CPG)". สืบค้นเมื่อ 13 March 2019.
- ↑ ""พรรคพลังประชารัฐ"เปิดตัวยิ่งใหญ่ "อุตตม"นั่งแท่นหัวหน้าพรรค". Tnnthailand.com. สืบค้นเมื่อ 13 March 2019.
- ↑ "2019 Political Preview: Emerging Market Elections In Focus". Fitchsolutions.com. 13 August 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-27. สืบค้นเมื่อ 13 March 2019.
- ↑ "Former Khon Kaen MP Premsak holds hands with Sam Mitr leader". The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-03. สืบค้นเมื่อ 13 March 2019.
- ↑ จดพรรคใหม่คึก มารอแต่เช้ามืด ไทยรัฐ 2 มีนาคม 2561
- ↑ "PM allows ministers to back parties". Bangkokpost.com. สืบค้นเมื่อ 2018-11-27.
- ↑ "อุตตม" ยื่นจดจัดตั้ง 'พปชร.' ปัดดูดหัวละ 50 ล้าน!
- ↑ "150+ Politicos Defect to New Pro-Junta Party". Khaosod English (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2018-11-27. สืบค้นเมื่อ 2018-11-27.
- ↑ "นับคะแนน 112 อดีต ส.ส./ผู้สมัคร ส.ส. ซบพลังประชารัฐลุยเลือกตั้ง 62". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 2019-03-27.
- ↑ "Palang Pracharath ministers resign from cabinet". Bangkokpost.com. สืบค้นเมื่อ 2019-01-30.
- ↑ "'Three Friends' Join Pro-Junta Party, Say Charter Favors Them". Khaosod English. 19 November 2018.
- ↑ "Parties propose poll date". Bangkok Post. 30 June 2018.
- ↑ Asaree Thaitrakulpanich (February 27, 2019). "Thai Election for Dummies: Guide to the Parties". Khaosod English. สืบค้นเมื่อ 3-3-2019.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "รุมถล่มยับค่าจ้าง 425 บาท พรรคพลังประชารัฐฟุ้ง เป็นรัฐบาลทำได้จริง". ไทยรัฐ. 17 มี.ค. 2562. สืบค้นเมื่อ 17-3-2019.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ Mongkol Bangprapa (2 July 2018). "EC asked to nip Palang Pracharat in the bud". Bangkok Post.
- ↑ "'No special treatment for pro-Prayut group'". The Nation. 3 July 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-01. สืบค้นเมื่อ 2019-03-27.
- ↑ "EC to investigate cash handout spree". Bangkokpost.com. สืบค้นเมื่อ 2018-11-29.
- ↑ "PPRP 'not shaken' by EC's cash handout investigation". Bangkokpost.com. สืบค้นเมื่อ 2018-11-29.
- ↑ "ชาวบ้าน "เลิงนกทา" แฉ ต้องสมัครสมาชิก พปชร. ถึงได้บัตรคนจน แถมเงินกลับบ้านอีก 100 บาท". Pptvhd36.com. สืบค้นเมื่อ 2018-12-26.
- ↑ "New EC boundary ruling under fire". Bangkokpost.com. สืบค้นเมื่อ 2018-11-28.
- ↑ "EC under microscope for gerrymandering over designing of boundaries - The Nation". The Nation (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-29. สืบค้นเมื่อ 2018-11-28.
- ↑ "EC completes redrawing of constituencies - The Nation". The Nation (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-24. สืบค้นเมื่อ 2018-11-28.
- ↑ "Election has already been won, so what now? - The Nation". The Nation (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-24. สืบค้นเมื่อ 2018-11-29.
- ↑ "Sontirat: Dinner table map doesn't belong to party". Bangkokpost.com. สืบค้นเมื่อ 2018-12-26.
- ↑ "ต้องโชว์ทุกเดือน! กาง กม.เงินบริจาคพรรค-ลุ้นก้อน 532 ล.งานโต๊ะจีน พปชร.ใครทุนใหญ่?". Isranews.org. 2019-01-28. สืบค้นเมื่อ 2019-02-03.
- ↑ "เลือกตั้ง 2562 : "พลังประชารัฐ" รอดยุบพรรค ระดมทุนโต๊ะจีนไร้เงินต่างชาติ". ไทยพีบีเอส. 12 มีนาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 2019-03-13.
- ↑ "'สำนักข่าวอิศรา' แกะรอยทุนไอซ์แลนด์ถือหุ้นบริษัทบริจาคโต๊ะจีน พปชร. พบใช้ที่อยู่เดียวกับนิติบุคคลในเอกสาร Offshore Leaks". ประชาไท. 2019-03-16. สืบค้นเมื่อ 2019-03-27.
- ↑ "ร้อง กกต.ยุบพลังประชารัฐคัดค้าน "ตู่" แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี". ไทยรัฐ. 16 ก.พ. 2562. สืบค้นเมื่อ 2019-02-27.
- ↑ ""ประยุทธ์"รอด!ผู้ตรวจฯชี้ ไม่มีสถานะ"จนท.อื่นของรัฐ"". เดลินิวส์. 14 มีนาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 2019-03-14.
- ↑ "เพื่อไทยยื่นเอาผิด พลังประชารัฐ ปราศรัยหาเสียงสัญญาว่าจะให้ "บัตรคนจน"". ไทยรัฐ. 14 มี.ค. 2562. สืบค้นเมื่อ 2019-03-14.
- ↑ "การเมืองยุคตู่ Vs ธนาธร". ข่าวหุ้น. 25 มี.ค. 2562. สืบค้นเมื่อ 2019-03-27.
- ↑ พลังประชารัฐ : สามมิตร ไล่ สนธิรัตน์ พ้นเลขาฯ ชี้ "เป็นภัยความมั่นคงของพรรค”
- ↑ พลังประชารัฐ : สามมิตร “ไม่งอแง” เลิกเขย่าโผ ครม. ล้มแผนไล่ สนธิรัตน์
- ↑ ประยุทธ์ ส่อทิ้ง “เปรมโมเดล” ยึด “สฤษดิ์สไตล์”
- ↑ พลังประชารัฐ ยอมรับ ขึ้นค่าแรง 425 บาท ต้องรอไปก่อน เกรงกระทบหลายส่วน
- ↑ ไทยพีบีเอส (1 มิถุนายน 2563). "18 กก.บห.พรรคพลังประชารัฐลาออก "อุตตม" พ้นหัวหน้าพรรค". news.thaipbs.or.th. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ไทยรัฐ (27 มิถุนายน 2563). "เปิดรายชื่อ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐชุดใหม่ ใต้การนำของ "ลุงป้อม"". www.thairath.co.th. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "เลือกตั้ง 2566 : เบื้องหลัง "จดหมายเปิดใจ" และ "ลุงป้อมเปิดอกคุยสื่อ"". BBC News ไทย. 2023-04-12.
- ↑ ""บิ๊กป้อม" คุยกับ "น้องมายด์ แกนนำราษฎร" อารมณ์ดี เซลฟี่คู่ บอกจะไม่มีรัฐประหารอีก". pptvhd36.com.
- ↑ "เลือกตั้ง 2566 : ประวิตร "ฟิตเปรี๊ยะ" พร้อมเป็นนายกฯ เผยมีดีลประยุทธ์-ไม่คุยทักษิณ". BBC News ไทย. 2023-04-12.
- ↑ ชูน้อง‘บิ๊กป้อม’ รีเซตพลังประชารัฐดัน‘พัชรวาท’จ่อทำ งานใหญ่
- ↑ ""นฤมล" ลา พปชร. แจงทำหน้าที่เหรัญญิกพรรคเสร็จสมบูรณ์แล้ว". ผู้จัดการออนไลน์. 2 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2023.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ""นฤมล" นั่งหัวหน้า "พรรคกล้าธรรม" คนใหม่ ย้ำนโยบาย "คนไทยอยู่ดี มีสุขฯ"". www.thairath.co.th. 2024-08-06.
- ↑ ""ธรรมนัส" เปิดใจแยกทาง "ประวิตร" นำ 29 สส.พลังประชารัฐถอย". Thai PBS.
- ↑ "ด่วน!! ธรรมนัส ประกาศตัวเป็นอิสรภาพ บอกรับใช้ ลุงป้อม มามากพอแล้ว". อมรินทร์ทีวี เอชดี ช่อง 34 - AMARIN TV HD. 2024-08-20.
- ↑ "เช็กชื่อ 26 สส. "กลุ่มธรรมนัส" ลอยแพบิ๊กป้อม". Thai PBS.
- ↑ ด่วน มติ สส.เพื่อไทย ชง กก.บห. ขับพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล
- ↑ ‘พลังประชารัฐ’ ชุมนุม 10 ก๊ก ต้อนบ้านใหญ่-มุ้งย่อย ตำรับ ‘ไทยรักไทย’
- ↑ เอกรัฐ ตะเคียนนุช (19 มกราคม 2565). "สะพัด!! "#ผู้กองฯธรรมนัส" จะลาออก เลขาฯ พปชร. พยายามสอบถามเจ้าตัว แต่ยังติดต่อไม่ได้!". www.facebook.com/EakaratTkn. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ผู้จัดการออนไลน์ (19 มกราคม 2565). "ชี้ขับธรรมนัสพ้น พปชร. รัฐบาลประยุทธ์เสียงปริ่มน้ำ อยู่ได้แบบหืดขึ้นคออาจยุบสภา". www.mgronline.com. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา (19 มกราคม 2565). ""ยอมๆ ไปเหอะ ถ้าอยากออกก็ให้ออกไป จะได้สงบ พรรคจะได้เดินต่อ เรื่องนี้ได้คุยกับนายกฯ แล้ว"". www.facebook.com/sorrayuth9115. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ เอกรัฐ ตะเคียนนุช (19 มกราคม 2565). ""เกมการเมืองแบบไทยๆ การเมืองยุค #นายพล.."". www.facebook.com/EakaratTkn. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ มติชน (20 มกราคม 2565). "รู้จัก 'พรรคเศรษฐกิจไทย' พรรคใหม่ ก๊วนธรรมนัส". www.matichon.co.th. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ร้าว แต่ยังไม่แตก พลังประชารัฐในภาวะ "มังกรสองหัว"". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-02-02.
- ↑ "นักการเมืองเต็มตัว 'บิ๊กตู่' สมัครสมาชิก รทสช. ขึ้นเวทีร่ายยาวภารกิจเพื่อคนไทยทั้งชาติ". 2023-01-09.
- ↑ "'ธรรมนัส' เตรียมเข้า 'พลังประชารัฐ' ก่อน 7 ก.พ.นี้ ไม่ขอรับตำแหน่งในพรรค". workpointTODAY.
- ↑ "9 เดือนพรรคเศรษฐกิจไทย กับ "มือที่หายไป" ของ ร.อ. ธรรมนัส". BBC News ไทย. 2022-10-11.
- ↑ ""ธรรมนัส" หลุด ครม.ใหม่ "สันติ" นั่ง รมว.เกษตรฯ แทน". Thai PBS.
- ↑ ""ธรรมนัส" เปิดใจแยกทาง "ประวิตร" นำ 29 สส.พลังประชารัฐถอย". Thai PBS.
- ↑ เปิดชื่อ ส.ส.ก๊วนธรรมนัส หลังแถลงโว 34 เสียงแน่นปึ้ก มีภรรยา ‘สันติ’ อยู่ด้วย
- ↑ ด่วน มติ สส.เพื่อไทย ชง กก.บห. ขับพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล
- ↑ "ธรรมนัส เผย ยื่นลาออกกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่ 20 ส.ค." THE STANDARD. 2024-09-05.
- ↑ "เปิดชื่อ 71 ว่าที่ ส.ส. กกต.จ่อแขวน เหตุร้องคัดค้าน". Thai PBS.