ศิลปะไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประวัติ[แก้]

ศิลปะไทยได้รับอิทธิพลจากต่างชาติมาช้านานและได้พัฒนาสืบเนื่องผสมกับความเชื่อท้องถิ่นจนกลายเป็นศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ราว พ.ศ. 300 จนถึง พ.ศ. 1111 พระพุทธศาสนานำเข้ามาโดยชาวอินเดีย แสดงให้เห็นอิทธิพลที่มีต่อศิลปะไทยในยุคหลังทั้งด้านภาษา วรรณกรรม ศิลปกรรม โดยกระจายเป็นกลุ่มศิลปะสมัยต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่สมัยทวาราวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เมื่อกลุ่มคนไทยตั้งตัวเป็นปึกแผ่นแล้ว ศิลปะดังกล่าวจึงมีอิทธิพลต่อศิลปะไทย ช่างไทยพยายามสร้างสรรค์ให้มีลักษณะพิเศษกว่างานศิลปะของชาติอื่น ๆ มีการประดิษฐลวดลายไทยเป็นเครื่องตกแต่งทำให้ลักษณะศิลปะไทยมีรูปแบบเฉพาะ และได้สอดแทรกวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและความรู้สึกของคนไทยไว้ในงานเหล่านั้น ดังจะเห็นได้จากภาพฝาผนังตามวัดวาอารามต่าง ๆ ปราสาทราชวัง ตลอดจนเครื่องประดับและเครื่องใช้ทั่วไป

ลักษณะ[แก้]

ศิลปะไทยได้รับอิทธิพลจากประเพณีและวัฒนธรรมในสังคมไทย เช่น ความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของคนไทยที่ได้สอดแทรกไว้ในผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น โดยเฉพาะศิลปกรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา อาจกล่าวได้ว่าศิลปะไทยสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมพุทธศาสนา เป็นการเชื่อมโยงและโน้มน้าวจิตใจของประชาชนให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา

จิตรกรรมไทย จัดเป็นภาพเล่าเรื่องที่เขียนขึ้นด้วยความคิดจินตนาการของคนไทย มีลักษณะตามอุดมคติของกระบวนงานช่างไทย คือ

  1. เขียนสีแบน ไม่คำนึงถึงแสงและเงา นิยมตัดเส้นให้เห็นชัดเจน และเส้นที่ใช้ จะแสดงความรู้สึกเคลื่อนไหวนุ่มนวล
  2. เขียนตัวพระ-นาง เป็นแบบละคร มีลีลา ท่าทางเหมือนกัน ผิดแผกแตกต่าง กันด้วยสีร่างกายและเครื่องประดับ
  3. เขียนแบบตานกมอง หรือเป็นภาพต่ำกว่าสายตา โดยมุมมองจากที่สูงลงสู่ ล่าง จะเห็นเป็นรูปเรื่องราวได้ตลอดภาพ
  4. เขียนติดต่อกันเป็นตอน ๆ สามารถดูจากซ้ายไปขวาหรือล่างและบนได้ทั่ว ภาพ โดยขั้นตอนภาพด้วยโขดหิน ต้นไม้ กำแพงเมือง และเส้นสินเทาหรือ คชกริด เป็นต้น
  5. เขียนประดับตกแต่งด้วยลวดลายไทย มีสีทองสร้างภาพให้เด่นเกิดบรรยากาศ สุขสว่างและมีคุณค่ามากขึ้น

ลายไทย เป็นลายที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยมีธรรมชาติมาเป็นแรงบันดาลใจ โดยดัดแปลงธรรมชาติให้เป็นลวดลายใหม่ เช่น ตาอ้อย ก้ามปู เปลวไฟ รวงข้าว และดอกบัว ฯลฯ ลายไทยเดิมทีเดียวเรียกกันว่า "กระหนก" หมายถึงลวดลาย เช่น กระหนกลาย กระหนกก้านขด ต่อมามีคำใช้ว่า "กนก" หมายถึง ทอง กนกปิดทอง กนกตู้ลายทอง แต่จะมีใช้เมื่อใดยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด ซึ่งคำเดิม "กระหนก" นี้เข้าใจเป็นคำแต่สมัยโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี โดยเรียกติดต่อกันจนเป็นคำเฉพาะ หมายถึงลวดลายก้านขด ลายก้านปู ลายก้างปลา ลายกระหนกเปลว เป็นต้น ลายไทยที่จัดเป็นแม่บทใช้ในการเขียนภาพมี 4 ลาย คือลายกระหนก ลายนารี ลายกระบี่และลายคชะ

หมวดหมู่ของศิลปะไทย[แก้]

ช่างไทยโบราณแบ่งหมวดหมู่ของศิละไทยออกได้ 4 หมวดด้วยกัน คือ หมวดกระหนก หมวดนารี หมวดกระบี่ และหมวดคชะ หรือที่ช่างไทยรวมเรียกว่า กระหนก นาง ช้าง ลิง แต่ละหมวดก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไป ดังต่อไปนี้

  1. กนก ภาษาสันสกฤต แปลว่า “หนาม”สำหรับช่างเขียนโบราณ กนก คือ ดงป่าดงไม้ มีแบบฟอร์มคือเปลวไฟเป็นรูปสามเหลี่ยม การฝึกร่างลวดลาย ให้รู้จักความประสานสัมพันธ์กันของเส้นที่ผูกรวมกันเป็นลายไทย โดยเฉพาะกนกแบบต่างๆ เช่น กนกสามตัวกนกใบเทศ กนกเปลว ถือเป็นปฐมบทที่ต้องฝึกฝนให้ชำนาญก่อนที่จะทำการช่างอย่างอื่นต่อไป
  2. นารี คือ การเรียนรู้ฝึกฝนเกี่ยวกับการเขียนหน้ามนุษย์ เทวดา นางฟ้า พระ และนางทั้งด้านหน้าตรงและด้านหน้าเพล่ ซึ่งถือว่าเป็นภาพหลักของภาพไทย เมื่อเขียนได้คล่องแคล่วดีแล้ว จึงฝึกเขียนทั้งตัวในอริยาบถต่าง ๆ ภาพเหล่านี้จะแสดงอารมณ์ด้วย กิริยา ใบหน้าของตัวภาพจะไม่แสดงอารมณ์ตามแบบแผนของศิลปะไทย นอกจากการฝึกเขียนตัวภาพหลักดังกล่าวแล้ว ยังต้องฝึกการเขียนภาพกากหรือตัวภาพที่เป็นคนธรรมดาและการเขียนภาพจับสำหรับเขียนเรื่องรามเกียรติ์ให้เกิดความชำนาญด้วย
  3. กระบี่ คือ การฝึกเขียนภาพอมนุษย์ต่าง ๆ ได้แก่ พวกยักษ์ วานร เป็นต้น ในการฝึกจะต้องฝึกจากภาพลิงหรือกระบี่เป็นอันดับแรก เมื่อเขียนได้แม่นยำแล้วจึงฝึกเขียนภาพอื่นต่อไป การฝึกเขียนภาพหมวดนี้จะเป็นประโยชน์ในการเขียนภาพเรื่องรามเกียรติ์
  4. คชะ คือ การฝึกเขียนภาพสัตว์สามัญและภาพสัตว์ประดิษฐ์ต่างๆ โดยเริ่มจากคชะหรือช้างซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ก่อน แล้วจึงฝึกเขียนภาพสัตว์เล็ก ๆ ต่อไป ในหมวดนี้จะแบ่งสัตว์ที่เขียนเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือสัตว์ที่มีอยู่บนโลกมนุษย์ เช่น ช้าง ม้า วัว นก เป็นต้น ประเภทที่สอง คือ สัตว์ประดิษฐ์หรือสัตว์หิมพานต์ เช่น กินรี ราชสิงห์ เป็นต้น

งานเขียนดังกล่าวถือว่าเป็นวิชาช่างหลักของช่างไทย ซึ่งช่างส่วนใหญ่จะต้องเรียนรู้และฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ก่อนที่จะไปเป็นช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วิหาร หรือประกอบการช่างอื่นต่อไป[1]

การสืบสาน[แก้]

ช่างไทยสมัยโบราณมักจะเขียนภาพโดยไม่บอกนามให้ปรากฏ การสืบค้นศิลปินไทยที่เป็นครูช่างจึงยากลำบาก เท่าที่บอกเล่าจากปากต่อปากพอจะจำกล่าวขานได้บ้างก็คือ ครู คงแป๊ะกับครูทองอยู่ที่เขียนภาพ ไทยอย่างวิจิตรภายในพระอุโบสถวัด สุวรรณาราม บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ครูทั้งสองคิดว่าช่างไทยสมัยก่อนเขียนภาพด้วยความศรัทธาทางศาสนา อุทิศเวลาและความสามารถเป็นการสร้างผลกรรมดีเป็นบุญในภพหน้า ถึงแม้จะเขียนในที่เล็ก ๆ แคบ ๆ และมืดโดยใช้คบไฟส่องเขียน ก็ยังอดทนพยายามอุทิศเวลาเขียนได้จนสำเร็จ เช่น ภายในกรุ พระปรางค์ พระเจดีย์ ในโบสถ์และวิหารขนาดเล็ก เป็นต้น

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุ วัติวงศ์ ขณะพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ชอบเดินดูภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์ที่ผนังระเบียงคดวัดพระแก้ว เมื่อกลับถึงพระตำหนักก็ทรงใช้ดินสอขาวเขียนภาพที่ทรงจำได้เหล่านั้นไว้บนบานตู้ไม้ และครั้งหนึ่งพระองค์ยังทรงพระเยาว์ได้ตามพระปิยะมหาราชเสด็จประพาสต้นไปยังหัวเมือง ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และเมื่อเสด็จไปถึงจังหวัดกาญจนบุรี เป็นป่าที่สมบูรณ์มีพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าชุกชุม มีธรรมชาติสวยงาม ณ บริเวณพลับพลาที่พักใกล้น้ำตกไทรโยค เป็นแรงบันดาลใจทำให้พระองค์ท่านแต่งเพลงเขมรไทรโยคขึ้น ต่อมาเมื่อพระองค์เจริญพระชันษา พระองค์ก็ยังทรงใฝ่หาความรู้ลักษณะเช่นนี้ตลอดมาจนมีฝีมือสูงส่ง พระองค์ได้คิดออกแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิธโดยนำเอาศิลปะไทยประยุกต์กับปัจจุบัน โดยมีหินอ่อนกระจกสีและกระเบื้องเคลือบผสมผสานอย่างลงตัว จนพระอุโบสถหลังนี้สวยงามเป็นที่แปลกตาแปลกใจ ปัจจุบันพระองค์เป็นที่ยกย่องว่าเป็นสมเด็จครูแห่งการช่างไทย

บรรดาช่างไทยได้สร้างตำราเกี่ยวกับลายไทยหลายฉบับ ที่สำคัญ ๆ และยึดถือในปัจจุบันเช่น

  1. พระเทวาภินิมมิต เขียน "สมุดตำราลาย ไทย"
  2. ช่วง เสลานนท์ เขียน "ศิลปไทย"
  3. พระพรหมพิจิตร เขียน "พุทธศิลปสถาปัตยกรรมภาคต้น"
  4. โพธิ์ ใจอ่อนน้อม เขียน "คู่มือลายไทย"
  5. คณะช่างจำกัด เขียน "ตำราภาพลายไทย"
  6. เลิศ พ่วงพระเดช เขียน "ตำราสถาปัตยกรรมและลาย ไทย"

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. สมคิด หงษ์สุวรรณ. กระหนก นารี กระบี่ คชะ. กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์สิปประภา : กรุงเทพ, 2549