การค้าหญิงและเด็กในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การค้ามนุษย์ ได้รับนิยามจากสหประชาชาติว่าเป็น "การสรรหา เคลื่อนย้าย ขนย้าย หรือการรับมนุษย์โดยใช้กำลังหรือการบีบบังคับ การลักพาตัว การหลอกลวง การใช้อำนาจหรืออิทธิพล การให้หรือรับเงิน หรือผลประโยชน์เพื่อให้บุคคลนั้นยินยอมจะอยู่ให้อำนาจของอีกคน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์" ไทยมีสถานะเป็นทั้งประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับการค้ามนุษย์ในผู้หญิงและเด็ก[1] กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ในปี พ.ศ. 2557 โดยให้ประเทศไทยอยู่ใน "ระดับ 3" หรือระดับที่ต่ำสุด เนื่องจากความล้มเหลวในการขจัดการค้ามนุษย์ ทำให้ประเทศไทยติดอันดับร่วมกับอีก 22 ประเทศ เช่น เกาหลีเหนือ ซีเรียและสาธารณรัฐแอฟริกากลาง [2]

รูปแบบการค้ามนุษย์ในประเทศไทย[แก้]

ในประเทศไทย การค้ามนุษย์เพื่อเซ็กซ์มีอยู่สองแบบ แบบแรก ผู้หญิงหรือเด็กมักได้รับการชักชวนจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ไปยังเมืองใหญ่ ถูกบังคับให้เข้าไปในอุตสาหกรรมทางเพศและบางครั้งอาจถูกส่งตัวไปต่างประเทศ[3] แบบที่สอง บุคคลเหล่านั้นจะถูกส่งไปยังต่างประเทศเลย[3] มูลนิธิเพื่อผู้หญิงพบว่ารูปแบบที่สองมักถูกแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศแบบรุนแรงกว่า เมื่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงถูกส่งไปยังประเทศปลายทางแล้ว พวกเขามักถูกบังคับให้ค้าประเวณีกับทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว

ในประเทศไทย ผู้หญิงและเด็กต่างถูกค้ามนุษย์ไปยังประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียที่มั่งคั่ง[4] มีหญิงไทยและเด็กผู้หญิงประมาณ 100,000 ถึง 200,000 คนค้าประเวณีอยู่ในต่างประเทศ จำนวนหญิงไทยที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในญี่ปุ่นอยู่ระหว่าง 50,000 ถึง 70,000 คน[5] หญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 12 ถึง 16 ปีและถูกส่งไปยังซ่องในประเทศปลายทาง[6]

การค้ามนุษย์ในประเทศไทยไม่จำกัดเฉพาะคนไทยเท่านั้น สตรีจำนวนมากและเด็ก ๆ จากประเทศอื่นถูกค้ามนุษย์เข้ามาในประเทศไทยเพื่อทำงานในอุตสาหกรรมทางเพศของไทย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีสตรีชาวพม่า กัมพูชาและลาวจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อถูกค้ามนุษย์ในซ่องในจังหวัดชายแดนภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ และเชียงราย ภาคกลาง และภาคตะวันออก เช่น จังหวัดตราด, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, ชลบุรีและชุมพร และจังหวัดสงขลา นราธิวาสและปัตตานี ใกล้ชายแดนมาเลเซียตอนใต้ ผู้หญิงและเด็กกว่า 80,000 รายถูกขายให้กับอุตสาหกรรมบริการทางเพศของไทยตั้งแต่ปี 2533 ผู้ขายบริการทางเพศหญิงส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นชาวต่างชาติและกว่า 60% ของสตรีที่เดินทางเข้าประเทศเพื่อทำงานในอุตสาหกรรมทางเพศมีอายุต่ำกว่า 18 ปี มีโสเภณีเด็กจำนวนกว่า 75,000 คนในประเทศไทย [6]

ประวัติศาสตร์[แก้]

ก่อนทศวรรษ 1970 การค้าประเวณีในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ในช่วงทศวรรษที่ 1970 อุตสาหกรรมทางเพศเริ่มเติบโตขึ้น เนื่องมาจากการเข้ามาของทหารสหรัฐฯในช่วงสงครามเวียดนามที่เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการค้าประเวณีในไทย[ต้องการอ้างอิง]

คาดว่าในช่วงปี 1990 จำนวนเด็กและผู้หญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมทางเพศมีไม่น้อยกว่า 400,000 ราย[3]

สาเหตุที่เป็นไปได้[แก้]

สาเหตุที่ทำให้คนเข้าสู่อุตสาหกรรมทางเพศผ่านขบวนการค้ามนุษย์มีมากกว่าหนึ่งสาเหตุ โดยถูกแบ่งได้เป็นเหตุผลทางการเงิน ความรับผิดชอบต่อครอบครัวและความเชื่อทางศาสนา หลายคนสงสัยว่าผู้หญิงและเด็กขายบริการทางเพศเพราะถูกข่มเหง ถูกทอดทิ้ง ถูกลักพาตัวหรือถูกขายเพื่อชำระหนี้พ่อแม่[4]

เหตุผลทางการเงิน[แก้]

เศรษฐกิจของประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในแรงผลักดันในการค้ามนุษย์ เนื่องจากหลายครอบครัวเป็นเกษตรกรที่ยากจน เช่น ภาคเหนือ ลิซ่า เรนด์ เทเลอร์ นักมนุษยวิทยาผู้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เพื่อการค้าบริการทางเพศในประเทศไทย พบว่าการค้าประเวณีในเชิงพาณิชย์เป็นอุตสาหกรรมที่ที่มีกำไรมากจากความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ชนบทของประเทศไทยกับกรุงเทพมหานคร และระหว่างประเทศไทยกับประเทศมั่งคั่งในเอเชีย[4] เด็ก ๆ มักเริ่มจากการทำงานอื่น เช่น การคุ้ยขยะ การทำงานในโรงงาน หรือการขอทาน [7] แต่อาชีพเหล่านี้มักมีรายได้ต่ำ เด็ก ๆ จึงมักถูกชักจูงให้ไปทำงานในอุตสาหกรรมทางเพศที่มีรายได้ดีกว่า การค้าประเวณีอาจเป็นวิธีเดียวที่เด็กผู้หญิงจะได้รับเงินเพียงพอที่จะรักษาที่ดินและสถานะของครอบครัว[4][5]

ปัญหาทางเศรษฐกิจไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสตรีและเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อผู้ที่ถูกค้ามนุษย์เข้ามาในประเทศไทยด้วย เหยื่อผู้ค้ามนุษย์ที่มาจากประเทศอื่น ๆ ถูก "ล่อลวงหรือล่อลวงได้ง่ายเพราะต้องเผชิญกับความยากจน การว่างงาน ครอบครัวที่ไม่ดีและรัฐบาลที่ไม่มั่นคง" ในประเทศต้นทาง [6]

ความรับผิดชอบต่อครอบครัว[แก้]

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าปัญหาความยากจนและการขาดการศึกษาไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของการค้ามนุษย์ในเด็กและผู้หญิง การวิจัยของเรนด์ เทเลอร์ ส่งเสริมแนวคิดนี้ โดยพบว่าเด็กผู้หญิงจากครอบครัวยากจนและฐานะปานกลางก็มีโอกาสเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ นอกจากนี้การศึกษายังเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กสาวในชนบทจะถูกค้ามนุษย์ เนื่องจากความคาดหวังและต้นทุนโอกาสในการศึกษา หมายความว่าเด็กหญิงที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนในชั้นมัธยมปีที่ 3 หรือ 6 อาจถูกคาดหวังจากครอบครัวให้หารายได้ในเมืองใหญ่เมื่อเทียบกับพี่สาวที่ไม่มีโอกาศศึกษาต่อ เด็กหญิงเหล่านี้มักมีความเสี่ยงถูกชักชวนหรือถูกบังคับให้ค้าประเวณีเพศ หากพวกเขาอาจไม่ได้งานที่วาดฝันไว้ในเมืองและไม่อยากกลับบ้านไปมือเปล่า เด็กหญิงจำนวนมากรู้สึกถึงภาระหน้าที่ที่จะต้องเสียสละเพื่อครอบครัวที่สงเสียเลี้ยงดูมา[4]

ความเชื่อทางศาสนา[แก้]

มากกว่าร้อยละ 90 ของประชาการในประเทศไทยเป็นชาวพุทธ[8] ความเชื่อทางศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือของประเทศไทยมีส่วนทำให้ชุมชนยอมรับการค้าประเวณี ชาวพุทธไทยเชื่อว่าในการกลับชาติมาเกิด และผลบุญในชาตินี้จะส่งผลในชาติหน้า[5] การให้ความช่วยเหลือแก่พ่อแม่ของตนทำให้ได้บุญแม้เงินจะได้จากการขายบริการเพศ ผลบุญนี้เองที่จะช่วยเด็กผู้หญิงเหล่านี้ในชาติหน้า และลบล้างบาปจากการขายบริการทางเพศ[5] มีการประมาณว่าหญิงค้าประเวณีชาวไทยโอนเงินเกือบ 300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (กว่า 9,700 ล้านบาท) กลับสู่ครอบครัวในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี[9]

อุตสาหกรรมทางเพศในประเทศไทย[แก้]

ในประเทศไทย เชื่อกันว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีกว่า 40,000 คน มีส่วนร่วมในการค้าประเวณี ทำงานใน คลับ บาร์และสถานบันเทิง การสำรวจในปี 2541 พบว่า 54.01% อยู่ในภาคเหนือ 28.9% ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและ 9.67% ในภาคกลาง การค้าประเวณีเป็นธุรกิจที่ทำรายได้จำนวนมาก "ระหว่างปี 2536-2538 มีการคาดการณ์ว่าการค้าประเวณีทำรายได้ต่อปีอยู่ระหว่าง 22.5 และ 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ"[6]

ความดึงดูดของเยาวชนหญิงและเด็กหญิง[แก้]

เหตุผลหนึ่งที่เยาวชนหญิงและเด็กหญิงอาจได้รับคัดเลือกเป็นโสเภณีมากขึ้นคือความต้องการของลูกค้าในอุตสาหกรรมทางเพศ ความบริสุทธิ์และความไร้เดียงสานำไปสู่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับเด็กในการค้าบริการทางเพศทั่วโลก การวิจัยพบว่าผู้ชายสนใจในผู้หญิงไทยเพราะ "ความเรียบง่าย ความจงรักภักดี ความรักและความไร้เดียงสา"[7]

จำนวนผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เพิ่มขึ้นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการรับเด็กหญิงเข้าทำงานเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมทางเพศใช้เอดส์เป็นข้ออ้าง "ภายใต้ข้ออ้างที่ผิดว่าเด็กหญิงอายุน้อยจะไม่มีเชื้อโรค"[6]

ความเสี่ยงสำหรับผู้ขายบริการทางเพศ[แก้]

เอชไอวี เอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์เป็นความเสี่ยงที่สำคัญสำหรับสตรีที่ขายบริการทางเพศ ผู้หญิงส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าของของพวกเขาหลังจากที่ถูกค้ามนุษย์เข้าสู่ประเทศใหม่ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่สามารถเจรจากับลูกค้าเพื่อป้องกันตัวเองจากโรคหรือการตั้งครรภ์ได้ [3] ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 หญิงไทยที่ขายบริการเชื่อว่าพวกเขาจะตั้งครรภ์หรือติดเชื้อเป็นโรคติดต่อหรือไม่นั้นล้วนเกินจากโชคชะตา และด้วยความเชื่อนี้ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากไม่เคยใช้ยาคุมกำเนิดหรือไปตรวจสุขภาพ และความเสี่ยงสูงในการติดโรคหรือตั้งครรภ์[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. "2014 Trafficking in Persons Report". Office To Monitor and Combat Trafficking in Persons. US Department of State. สืบค้นเมื่อ 2015-01-11.
  2. Brown, Sophie (2014-06-21). "Tackling Thailand's human trafficking problem". CNN International. สืบค้นเมื่อ 2015-01-11.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "Thailand: Trafficking in Women and Children." Women's International Network News 29.4 (2003): 53-54. Academic Search Complete. EBSCO. Web. 23 Sep 2010.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 Taylor, Lisa Rende (Jun 2005). "Dangerous Trade‐offs: The Behavioral Ecology of Child Labor and Prostitution in Rural Northern Thailand". Current Anthropology. 46 (3): 411–431. doi:10.1086/430079. JSTOR 10.1086/430079.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Bower, Bruce. "Childhood's End." Science News 168.13 (2005): 200-201. Academic Search Complete. EBSCO. Web. 23 Sep 2010.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 Hughes, Donna M., Laura J. Sporcic, Nadine Z. Mendelsohn, and Vanessa Chirgwin. "Factbook on Global Sexual Exploitation: Thailand." Thailand - Facts on Trafficking and Prostitution. Coalition Against Trafficking in Women. Web. 12 Oct 2010.
  7. 7.0 7.1 Montgomery, Heather. "Buying Innocence: Child-Sex Tourists in Thailand." Third World Quarterly 29.5 (2008): 903-917. Academic Search Complete. EBSCO. Web. 23 Sep 2010.
  8. "People and Society; Religion". The World Factbook; East & SE Asia; Thailand. US Central Intelligence Agency. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-29. สืบค้นเมื่อ 2015-01-11.
  9. Social Safety Nets for Women. New York. 2003. p. 69. ISBN 9211201586.