รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2490 | |
---|---|
![]() | |
คณะทหารแห่งชาติ | |
เขตที่ครอบคลุม | ประเทศไทย |
ผู้ตรา | คณะทหารแห่งชาติ |
วันลงนาม | 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 |
ผู้ลงนาม |
|
วันเริ่มใช้ | 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 |
วันยกเลิก | 23 มีนาคม พ.ศ. 2492 |
ยกเลิก | |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 | |
ยกเลิกโดย | |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 | |
สถานะ: ยกเลิกแล้ว |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ 4 ประกาศใช้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หนึ่งวันหลังจากคณะทหารแห่งชาติก่อรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490
ประวัติ
[แก้]รัฐธรรมนูญนี้มีบุคคลดังต่อไปนี้ลักลอบร่วมกันร่างขึ้นเตรียมไว้สำหรับรัฐประหารดังกล่าว[1][2][3]
- พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงศ์ ลัดพลี) อธิบดีศาลฎีกา
- พระยารักตประจิตธรรมจำรัส (เขียน รักตประจิต) กรรมการศาลฎีกา
- พันเอก สุวรรณ เพ็ญจันทร์ เจ้าพระธรรมนูญทหารบก
- หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์
- หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์
- เลื่อน พงษ์โสภณ นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์
- ร้อยเอก ประเสริฐ สุดบรรทัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรี
- เขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด
เมื่อร่างเสร็จแล้วได้ซ่อนร่างรัฐธรรมนูญไว้ใต้ตุ่มน้ำที่บ้านของนาวาอากาศเอก กาจ กาจสงคราม หนึ่งในแกนนำคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นตุ่มดินเผาสีแดง เรียกว่าตุ่มน้ำสามโคก รัฐธรรมนูญนี้จึงได้ชื่อว่า รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม[1][2][3]
ครั้นรัฐประหารสำเร็จ นาวาอากาศเอก กาจ นำร่างรัฐธรรมนูญออกจากใต้ตุ่มไปขอให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ บุตรเขยของตน พาเข้าเฝ้าคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเพื่อลงนามประกาศใช้ แล้วให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริเป็นผู้แทนคณะรัฐประหารเดินทางไปกราบบังคมทูลต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์[3]
อย่างไรก็ดีมีผู้สำเร็จราชการเพียงพระองค์เดียวที่ลงพระนามในร่างรัฐธรรมนูญ คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ส่วนพระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการอีกคน ไม่ยอมลงนามด้วย[1][3]
สาระสำคัญ
[แก้]รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับแทนรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489[2]
คำปรารภของรัฐธรรมนูญนี้ระบุเหตุผลในการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับเดิมว่า "การดำเนินการของรัฐบาลและการควบคุมราชการฝ่ายบริหารของรัฐสภาเพื่อมุ่งหมายที่จะช่วยกันแก้ไขให้ดีขึ้นตามวิถีทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉะบับนั้นไม่ประสบผลดีเลยแม้แต่น้อย เป็นการผิดหวังของประชาชนทั้งประเทศ และตรงกันข้ามกลับทำให้เห็นว่า การแก้ไขทุกอย่างเป็นเหตุที่ทำให้ประเทศชาติทรุดโทรมลงเป็นลำดับ ถ้าจะคงปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ก็จะนำมาซึ่งความหายนะแก่ประเทศประเทศชาติอย่างไม่มีสุดสิ้น จนถึงกับว่าจะไม่ดำรงอยู่ในภาวะอันควรแก่ความเป็นไทยต่อไปอีกได้ ราษฎรไทยส่วนมากผู้สนใจต่อการนี้ พร้อมด้วยทหารของชาติ ได้พร้อมใจกันนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอให้เลิกใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบันและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันจะเป็นวิถีทางจรรโลงประเทศชาติให้วัฒนาถาวร อีกทั้งจะเป็นทางบำบัดยุคเข็ญของประชาชนทั้งปวงให้เข้าสู่ภาวะปกติได้สืบไป"[2]
รัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติระดับชาติ เรียกว่ารัฐสภา ประกอบด้วยสภาย่อย 2 สภา คือวุฒิสภาและสภาผู้แทน มีสมาชิกจำนวนเท่ากัน แต่สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง และไม่ห้ามข้าราชการประจำเป็นสมาชิกวุฒิสภา ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแบบรวมเขตเลือกตั้ง คือถือเอาเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และให้มีสมาชิกสภาผู้แทน 1 คนต่อจำนวนราษฎร 200,000 คน[1] อย่างไรก็ดีบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ในวาระเริ่มแรก ให้รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภาเพียงสภาเดียว โดยสมาชิกวุฒิสภามาจาก "การเลือกตั้ง" ของพระมหากษัตริย์ภายใน 15 วันนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และรัฐสภาจะมีสภาเดียวเช่นนี้จนกว่าจะเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ซึ่งจะกระทำภายใน 90 วันนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ[2]
รัฐธรรมนูญนี้ยังฟื้นฟูองค์กรสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือคณะอภิรัฐมนตรี[2] โดยกำหนดว่า ให้คณะอภิรัฐมนตรีประกอบด้วยสมาชิก 5 คนซึ่งต้องเป็นข้าราชการประจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 25 ปีและเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีเป็นอย่างน้อย หรือเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี และให้คณะอภิรัฐมนตรีทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาแก่พระมหากษัตริย์ และสำเร็จราชการแทนพระองค์[4]
อนึ่งรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้มีคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอื่นอีกอย่างน้อย 15 คน อย่างมาก 25 คน ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน และมีอำนาจกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกำหนด และเมื่อตราพระราชกำหนดแล้ว ให้แจ้งรัฐสภารับทราบเท่านั้น[4]
การแก้ไขเพิ่มเติม
[แก้]รัฐธรรมนูญนี้ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม 3 ครั้งดังนี้
ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2490 มีการออก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2490 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน[5]
ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 มีการออก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2491 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ[6] ถือเป็นการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในประเทศไทย[2]
จากนั้นในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2491 มีการออก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491 เพื่อให้เอกสิทธิ์ทางรัฐสภาแก่สภาร่างรัฐธรรมนูญ[7]
การวิพากษ์วิจารณ์
[แก้]พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากรัฐประหารครั้งนี้ เขียนวิจารณ์ลงหนังสือพิมพ์ การเมืองรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ว่า "รัฐธรรมนูญใหม่นี้เป็นเรื่องถอยหลังเข้าคลอง"[3] ขณะที่เอดวิน ฟอร์เวิร์ด สแตนตัน (Edwin Forward Stanton) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจําประเทศไทย วิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐประหารขับไล่รัฐบาลครั้งนี้ และสาระในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เป็นการหมุนเข็มนาฬิกาถอยหลัง[3]
นักกฎหมายยังตั้งคำถามถึงความชอบธรรมและความมีผลใช้บังคับของรัฐธรรมนูญนี้ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติไว้ในคราวแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า ต้องมีผู้สำเร็จราชการอย่างน้อย 2 คนลงนามในเอกสาร เอกสารจึงจะมีผลใช้บังคับ แต่รัฐธรรมนูญนี้ได้รับการลงนามจากผู้สำเร็จราชการเพียงคนเดียว[1][2][8]
รัฐธรรมนูญนี้ยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มาจากรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญเดิมและประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งคณะรัฐประหารในภายหลังได้ดำเนินตามตลอดมา ทำให้รัฐธรรมนูญนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งวงจรอุบาทว์ของการเกิดรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศไทย[2]
การสิ้นสุดลง
[แก้]รัฐธรรมนูญนี้สิ้นสุดลงในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2492 เนื่องจากประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 แทน[1] รวมอายุการใช้งาน 1 ปี 4 เดือน 14 วัน[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 ปิยะวรรณ ปานโต (2563-08-01). "รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม". parliamentmuseum.go.th.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 2.8 กล้า สมุทวณิช (2565-11-14). ""รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม" จุดเริ่มต้นของ "วงจรอุบาทว์" รัฐประหาร ฉีกและเขียนรัฐธรรมนูญครั้งแรกของไทย". pridi.or.th.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 "รัฐประหาร 2490 กับกำเนิดรัฐธรรมนูญ ฉบับใต้ตุ่ม และนายพล ตุ่มแดง". silpa-mag.com. 2564-11-16.
- ↑ 4.0 4.1 "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490". ราชกิจจานุเบกษา. 64 (53 ก): 1–32. 2490-11-09.
- ↑ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2490". ราชกิจจานุเบกษา. 64 (60 ก): 719–722. 2490-12-09.
- ↑ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ 2) พ.ศ. 2491". ราชกิจจานุเบกษา. 65 (7 ก): 47–54. 2491-02-03.
- ↑ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ 3) พ.ศ. 2491". ราชกิจจานุเบกษา. 65 (48 ก): 477–479. 2491-08-24.
- ↑ ปรีดี พนมยงค์ (2564-02-04). "ความไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉะบับชั่วคราว (รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม)". pridi.or.th.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490". ราชกิจจานุเบกษา. 64 (53 ก): 1–32. 2490-11-09.
- "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2490". ราชกิจจานุเบกษา. 64 (60 ก): 719–722. 2490-12-09.
- "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ 2) พ.ศ. 2491". ราชกิจจานุเบกษา. 65 (7 ก): 47–54. 2491-02-03.
- "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ 3) พ.ศ. 2491". ราชกิจจานุเบกษา. 65 (48 ก): 477–479. 2491-08-24.