สัปปายะสภาสถาน

พิกัด: 13°47′45″N 100°31′03″E / 13.795815°N 100.517437°E / 13.795815; 100.517437
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สัปปายะสภาสถาน
เจดีย์จุฬามณีศูนย์กลางของสัปปายะสภาสถาน (มุมมองจากโรงพยาบาลยันฮี) ในปี พ.ศ. 2566
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเสร็จสมบูรณ์
ประเภทรัฐสภา
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์
สถาปัตยกรรมไทยประเพณี (ในส่วนเจดีย์)
ที่อยู่1111 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ประเทศประเทศไทย
ลงเสาเข็ม8 มิถุนายน พ.ศ. 2556[1][2]
เปิดใช้งาน1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ค่าก่อสร้าง22,987 ล้านบาท
ลูกค้ารัฐสภาไทย (พ.ศ. 2562–ปัจจุบัน)
ความสูง134.56 เมตร
ข้อมูลทางเทคนิค
พื้นที่แต่ละชั้น424,000 ตร.ม.[3]
พื้นที่ชั้นล่าง119.6 ไร่
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกธีรพล นิยม (ในชื่อ สงบ ๑๐๕๑)
ผู้รับเหมาก่อสร้างซิโน-ไทย
ข้อมูลอื่น
ที่จอดรถ2,069 คัน[3]
เว็บไซต์
parliament.go.th/

สัปปายะสภาสถาน เป็นอาคารรัฐสภา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณมุมตะวันตกเฉียงใต้ของสี่แยกเกียกกาย ระหว่างถนนทหารกับถนนสามเสน ในพื้นที่แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแทนอาคารรัฐสภาเดิม ด้วยมีพื้นที่ใช้สอย 424,000 ตารางเมตร ทำให้สัปปายะสภาสถานเป็นอาคารรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่ทำเนียบรัฐสภาของโรมาเนีย และเป็นอาคารของรัฐที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่สองของโลก เป็นรองเพียงอาคารเดอะเพนตากอนของสหรัฐซึ่งมีพื้นที่ 600,000 ตารางเมตร[4]

โครงการเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 โดยมีการจัดการประกวดแบบและได้ผู้ชนะออกแบบคือกลุ่ม สงบ ๑๐๕๑ ภายใต้การนำของธีรพล นิยม สถาปนิกและศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2556 จากนั้นทางกลุ่มผู้ชนะจึงได้มีการทำสัญญาก่อสร้างขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 โดยมี บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาหลัก โครงการได้เริ่มวางเสาเข็มตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556 และเดิมจะต้องเปิดใช้งานเมื่อปี พ.ศ. 2558 แต่การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จึงมีการขยายสัญญาการก่อสร้างจำนวน 4 ครั้ง ทำให้เลื่อนมาเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 แต่ยังไม่มีกำหนดส่งมอบงานมาจนถึงปัจจุบัน

การพัฒนาโครงการก่อสร้าง[แก้]

โครงการก่อสร้างเริ่มต้นหลังจากที่มีการประกวดแบบชนะโดยทีม สงบ ๑๐๕๑ โดยสถาปนิก 5 ท่านภายใต้ชื่อคณะ ประกอบด้วย ธีรพล นิยม, เอนก เจริญพิริยะเวศ, ชาตรี ลดาลลิตสกุล และ ปิยเมศ ไกรฤกษ์[5] ได้ออกแบบอาคารในรูปแบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังจากนั้นได้เริ่มก่อสร้างโดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับเหมาหลัก โดยสัญญาก่อสร้าง เริ่มต้นในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556 ในวงเงินงบประมาณ 12,280,000,000 บาท และเวลาก่อสร้างตามสัญญา 900 วัน

ที่ปรึกษาโครงการในนามมีนิติบุคคลร่วมทำงาน CAMA ประกอบด้วย

และผู้ควบคุมงานก่อสร้างในนาม นิติบุคคลร่วมทำงาน ATTA ประกอบด้วย

แนวคิดการออกแบบ[แก้]

ที่มา[แก้]

อาคารรัฐสภาไทยได้เปลี่ยนสถานที่มาแล้วกว่า 2 ครั้ง สถานที่แรกคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งใช้มาตั้งแต่หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 จนในปี พ.ศ. 2517 จึงได้ย้ายไปที่อาคารรัฐสภาแห่งที่ 2 บริเวณข้างสวนสัตว์ดุสิต (สวนสัตว์เขาดิน) แต่เนื่องจากสถานที่ที่เริ่มคับแคบลงเมื่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร, สมาชิกวุฒิสภา และข้าราชการเพิ่มขึ้น ทำให้ทางรัฐสภาได้แก้ปัญหาโดยการเช่าพื้นที่บางส่วน จนต่อมาในปี พ.ศ. 2535 จึงเริ่มมีแนวคิดในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา ยืนรักษาการณ์ระหว่างการชุมนุมบริเวณลานประชาชน หน้าอาคารสัปปายะสภาสถาน

ในปี พ.ศ. 2551 ได้มีการประชุมจัดหาสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยมีสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน และได้พิจารณาพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริเวณที่ดินราชพัสดุถนนทหาร (เกียกกาย) แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต, ที่ดินบริเวณคลังเชื้อเพลิง แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร และที่ดินราชพัสดุกองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี จนมีมติให้ใช้ที่ดินราชพัสดุถนนทหาร (เกียกกาย) เป็นสถานที่ในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ในที่สุด[6]

สัปปายะสภาสถานมีพื้นที่ดิน 119.6 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอยในอาคาร 424,000 ตารางเมตร[3] มีพื้นที่สีเขียวรวม 115,529 ตารางเมตร[7] โดยใช้งบประมาณทั้งหมดราว 22,987 ล้านบาท[7] มีความสูงจากฐานถึงยอดเจดีย์พระสุเมรุ 134.56 เมตร ภายในประกอบด้วยส่วนห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พิพิธภัณฑ์ ศูนย์ประชุม ห้องสัมมนา สโมสรจัดเลี้ยง ห้องทำงาน สส. และ สว.[8]

ที่มาของมีการระบุว่า "สัปปายะสภาสถาน" หมายถึง สภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย[9]

แนวคิดและเทคโนโลยี[แก้]

สถาปนิกได้ออกแบบนำเสนอคติและสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของไทยในอดีตผสมผสานไปกับเทคโนโลยีการก่อสร้าง ระบบโครงสร้างทางสังคม และระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขในปัจจุบัน ผ่านทางรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่บนพื้นฐานทางภาษาและฉันทลักษณ์ตามอย่างสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณี[10] ตามคติไตรภูมิที่นอกจากจะแสดงเอกลักษณ์ทางจิตวิญญาณถึงความเป็นไทย ยังมีความหมายเพื่อให้บุคคลที่เข้ามาอยู่ในสภาสำนึกถึงบาปบุญคุณโทษ[8]

นอกจากนี้ยังใช้แนวคิดของ "สถาปัตยกรรมสีเขียว" (Green Architecture) ซึ่งเห็นได้จากการปลูกต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบอาคาร ในขณะเดียวกัน ก็มีการวิจารณ์ถึงความเหมาะสม จากการใช้ไม้สักจำนวนกว่า 5,000 ท่อน ซึ่งจะนำมาจากกรมอุตสาหกรรมป่าไม้ มาใช้ทำเสาประดับรอบอาคาร และฝ้าประดับห้องประชุมใหญ่ทั้งสอง รวมถึงการใช้ไฟฟ้าของอาคารเมื่อเปิดทำการ ที่มีความต้องการไฟฟ้าเทียบเท่ากับอำเภอถึงสองอำเภอ

งานสถาปัตยกรรม และการออกแบบ[แก้]

การประกวดแบบ[แก้]

สัปปายะสภาสถาน ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 มุมมองจากโรงพยาบาลยันฮี

โครงการรัฐสภาแห่งใหม่เป็นการประกวดแบบครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศนับตั้งแต่การประกวดแบบสนามบินสุวรรณภูมิ ชิงเงินรางวัลชนะเลิศการประกวดแบบสูงถึง 200 ล้านบาท[11] มีผู้ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 133 ราย[12] และผ่านเข้าในรอบสุดท้ายทั้งหมด 5 ราย ได้แก่

โดยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ก็ได้มีการตัดสินคัดเลือกแบบของธีรพล นิยม โดยมีกรรมการ 12 คนประกอบไปด้วย สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ด้านสถาปัตยกรรมสถาน สภาวิศวกรรม และศิลปินแห่งชาติ พิจารณาการประกวดโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

การออกแบบ[แก้]

สัปปายะสภาสถาน ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 มุมมองจากฝั่งชุมชนมัสยิดบางอ้อ

สัปปายะสภาสถาน ใช้เวลาออกแบบพร้อมเขียนแบบก่อสร้างเพียง 7 เดือน ทำให้ต้องใช้ทีมงานที่เป็นสถาปนิกในทุกภาควิชากว่า 200 คน รวมถึงวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญแขนงงานต่าง ๆ จากองค์กรต่าง ๆ มากกว่า 20 องค์กร โดยต้องทำแบบก่อสร้างกว่า 6,000 หน้า และ รายการประกอบแบบกว่า 1 หมื่นแผ่น[13]

ในส่วนงานสถาปัตยกรรมไทยยังได้ รศ. ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี และเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมไทยและศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรมไทย ร่วมให้คำแนะนำและออกแบบ[14]

ในด้านงานภูมิสถาปัตยกรรมทั้ง ท่าเรือ ลานประชาธิปไตย สวนภายนอก สนามรัฐสภา ลานประชาชน ออกแบบหลักโดย ปิยเมศ ไกรฤกษ์ จาก บลูแพลนเนตดีไซน์ อินเตอร์เนชั่นแนล[15]

การก่อสร้าง[แก้]

สัปปายะสภาสถาน ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 มุมมองจากสถานีบางอ้อ

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553[16][17] และลงเสาเข็มในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556[1] โดยมี บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง

จากสัญญาการว่าจ้าง บริษัทต้องสร้างให้เสร็จภายใน 900 วัน หรือสิ้นสุดลงในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558[4] แต่ก็ไม่เสร็จทันกำหนด จึงมีการขยายสัญญาหลายรอบ โดยสัญญาล่าสุดมีกำหนดการส่งงานภายใน 2,764 วัน หมายความว่าจำเป็นต้องสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563[18] แต่สุดท้ายก็ไม่เสร็จทันกำหนด ทำให้ผู้รับเหมาต้องถูกปรับเป็นรายวันตามจำนวนวันที่ก่อสร้างหลังจากสิ้นสุดสัญญา[19] ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564[20] และเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม แต่เนื่องจากการระบาดทั่วประเทศไทยของโควิด-19 และยังมีหลายจุดที่ผู้รับเหมาต้องดำเนินการแก้ไข[21][22][23] จึงเลื่อนการส่งมอบออกไปอย่างไม่มีกำหนดมาจนถึงปัจจุบัน[24]

ส่วนปัญหาที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า อ้างจาก นายจเร พันธ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น และวิศวกร ว่าเป็นเพราะการส่งมอบพื้นที่ไม่เป็นไปตามสัญญา พื้นที่บางส่วนยังไม่ได้รับมอบคืนจากหน่วยงานเดิม การขนย้ายดินออกจากพื้นที่ก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผน ปัญหาอุทกภัยปี พ.ศ. 2554[25] และการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบกับกลุ่มผู้รับเหมาด้วย[22] และจากปัญหาดังกล่าว ทำให้วิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครของพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบการทุจริตในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาของผู้รับเหมา[23]

การใช้งาน[แก้]

สัปปายะสภาสถาน สร้างบนพื้นที่ขนาด 123 ไร่[26] มีเนื้อที่กว่า 424,000 ตารางเมตร โดยใช้งบประมาณทั้งหมดราว 12,000 ล้านบาท สามารถรองรับผู้คนได้มากกว่า 5 พันคน รองรับการจอดรถได้มากกว่า 2 พันคัน[ต้องการอ้างอิง] ภายในอาคารประกอบไปด้วย โถงรับรอง ส.ส. และ ส.ว., ห้องประชุมของ ส.ส. หรือที่เรียกว่า "ห้องพระสุริยัน", ห้องประชุม ส.ว. หรือที่เรียกว่า "ห้องพระจันทรา", โถงรัฐพิธี, พิพิธภัณฑ์ประชาธิปไตย, ห้องอาหาร ส.ส., ห้องอาหาร ส.ว.[27] ในส่วนของดาดฟ้าอาคาร ประกอบด้วยกำแพงแก้วล้อมรอบส่วนเจดีย์และพิพิธภัณฑ์ชาติไทย[27]

กระแสวิจารณ์[แก้]

การออกแบบ[แก้]

สัปปายะสภาสถาน ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งการวิจารณ์ว่าออกแบบที่เหมือน "วัด"[28][12] จากมุมมองสถาปนิก รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ได้ออกมาวิจารณ์ว่า "ใช้ความหมายเดิม ๆ ศีลธรรมเป็นเรื่องจอมปลอม ไม่คำนึงถึงปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาของสังคม และการใช้งานไม่เอื้อให้เป็นพื้นที่ของประชาชนอย่างแท้จริง" และกล่าวเสริมต่อว่า "การใช้แนวคิดด้านพระพุทธศาสนามากเกินไปจนไม่มีมุมมองด้านประชาธิปไตยและการออกแบบที่ยังคงยวนอยู่ในกรอบของภาษาความเป็นไทยทางสถาปัตยกรรมที่ตื้นเขินและไม่มีอยู่จริง"[29][30] รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิจารณ์ว่าการออกแบบสัปปายะสภาสถานไม่มีการยึดโยงกับประชาชน และให้ความรู้สึกเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากกว่าทำให้ประชาชนเกิดการตระหนักรู้ความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย[31]

นอกจากนี้ในช่วงก่อนการเลือกแบบได้มีการตั้งกระทู้ในเว็บไซต์พันทิปดอดคอม ในการโหวต 5 แบบสุดท้าย จากผู้โหวตทั้งหมด 168 คน ผลปรากฏว่าเสียงโหวตส่วนใหญ่ตกไปที่แบบที่ 5 ของ ผศ.วิเชษฎ์ สุวิสิทฐ์ ในขณะที่แบบของทีมสงบอยู่ในอันดับที่ 2[32]

รวมถึงการวิจารณ์ถึงความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการก่อสร้างซึ่งต้องใช้งบประมาณสูง

การเวนคืนที่ดิน[แก้]

มีการเวนคืนที่ดินส่วนของ ชุมชนตระกูลดิษฐ์ ซึ่งมีประชากร 40 ครอบครัว โดยในเวลาต่อมารัฐสภาได้ทำข้อตกลงกับชาวบ้าน และทำการสร้างบ้านทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น บริเวณพื้นที่ราชพัสดุ บริเวณแผนก ซ่อมบำรุงเรือ กองร้อยขนส่งเรือ (ฝั่งวัดแก้วฟ้าจุฬามณี) เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของแผนกซ่อมบำรุง กองร้อยขนส่งเรือ[33]

ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า มีจำนวนประชากร 93 ครอบครัว ทางรัฐสภาได้ทำข้อตกลงคล้ายกับชุมชนตระกูลดิษฐ์ โดยจะไปปลูกสร้างในพื้นที่แผนกซ่อมบำรุงเรือกองร้อยขนส่งเรือ (ฝั่งวัดแก้วฟ้าจุฬามณี) โดยจะแบ่งพื้นที่ให้ครอบครัวละ 12 ตารางวา[33]

มีการรื้ออาคารเรียนอายุกว่า 80 ปี ของโรงเรียนโยธินบูรณะออกทั้งหมดเพื่อใช้ก่อสร้างอาคารรัฐสภา โดยในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นวันเปิดเทอมวันแรกของปีการศึกษา ได้มีพิธีส่งมอบพื้นที่โรงเรียนโยธินบูรณะเดิมให้กับสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาเพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยโรงเรียนโยธินบูรณะได้ย้ายไปสร้างใหม่บนถนนประชาราษฎร์สาย 1[34]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ส่อง"อาคารรัฐสภาใหม่"ติดปัญหาเดิม รื้อย้ายได้แค่จิ๊บจ๊อย ไซต์ก่อสร้างดีเลย์ส่อเสร็จไม่ทันปี"58. ประชาชาติ. วันที่ 28 ก.พ. 2557.
  2. "การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เริ่มวางเสาเข็มอาคารแล้ว". ข่าวรัฐสภา. 23 สิงหาคม 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 พฤษภาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2016.
  3. 3.0 3.1 3.2 ไขปมรัฐสภาใหม่ พื้นที่จอดรถ ล่องหน-ต่ำเกณฑ์ ประชาชาติธุรกิจ. 26 มีนาคม 2561]
  4. 4.0 4.1 "ล้วงสถิติ 'มหากาพย์' รัฐสภาใหม่ 'สัปปายะสภาสถาน'". วอยซ์ทีวี. 27 มีนาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2019.
  5. ประกาศสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ผลการประกวดการออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ขั้นตอนที่ ๒ เข้าถึงเมื่อ วันที่ 2 ธ.ค. 2552.
  6. ความเป็นมาของโครงการ. โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่. รัฐสภาไทย. 2 กันยายน 2554.
  7. 7.0 7.1 รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. เมษายน 2554
  8. 8.0 8.1 ถอดรหัสสถาปนิกการเมือง สร้างสัปปายะสภาสถาน, สมาคมสถาปนิกสยาม. 22 สิงหาคม 2553. เก็บถาวร 16 ตุลาคม 2015 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  9. ฮวงจุ้ยรัฐสภาใหม่ จะพาไทยพ้นวิกฤติ. ไทยรัฐ. 4 ธันวาคม 2552.
  10. คติ และ สัญลักษณ์ ในการออกแบบสถาปัตยกรรมของสัปปายะสภาสถาน, มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา. พ.ศ. 2556.
  11. 5 บิ๊กสถาปนิกเข้ารอบสุดท้ายออกแบบรัฐสภาใหม่ ลุ้นชิงดำรับเงิน 200 ล้าน. ประชาชาติธุรกิจ. 25 สิงหาคม 2552.
  12. 12.0 12.1 ไขคำตอบ รัฐสภาใหม่ ‘สัปปายะสภาสถาน’ ออกแบบคล้ายวัด ช่วยลดโกงจริงหรือ?. อิศรานิวส์. 6 พฤษภาคม 2559.
  13. "ASA Seminar Session No.5 "๑๐ เหตุผลว่าทำไม ถึงออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ให้เป็นเหมือนวัด"". งานสถาปนิก : ASA EXPO. สืบค้นเมื่อ 28 May 2023.
  14. "อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ สัปปายะสภาสถาน". สถาบันอาศรมศิลป์. สืบค้นเมื่อ 28 May 2023.
  15. โครงการสัมนาเชิงวิชาการ เปิดโลกสู่ศตวรรษที่ 21 กับสถาปัตยกรรม เก็บถาวร 2022-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ปีที่ 4 ครั้งที่ 2 สาขาวิชาสถาปัตยกรรมผังเมือง – คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ (rmutr.ac.th).
  16. ประธานรัฐสภาถือฤกษ์ 08.39 น. ตอกเสาเข็มสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่. มติชน. 27 กรกฎาคม 2556.
  17. "iCONS : โรดแมปหมื่นล้าน สัปปายะสภาสถาน". ไอคอนส์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 พฤษภาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2016.
  18. "เปิดสาเหตุขยายสัญญารอบ 4 - มหากาพย์ก่อสร้างรัฐสภาใหม่คืบหน้าร้อยละ 73". วอยซ์ทีวี. 2020-03-31. สืบค้นเมื่อ 2023-08-19.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  19. ""วัชระ"แฉหนังสือเลขาฯสภาแจ้งเรียกค่าปรับ"ซิโน-ไทย"วันละ 12 ล้าน". ฐานเศรษฐกิจ. 2021-01-11. สืบค้นเมื่อ 2023-08-19.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  20. "เปิดรัฐสภาเต็มรูปแบบ 1 พ.ค. 64 เพิ่มภาพประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในจิตรกรรมฝาผนัง". สำนักข่าวทูเดย์. 2021-04-12. สืบค้นเมื่อ 2023-08-19.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  21. "'ชวน'ฟิตตรวจอาคารรัฐสภาใหม่ส่งมอบล่าช้า หลังขยายเวลาก่อสร้าง 4 ครั้ง". วอยซ์ทีวี. 2022-12-09. สืบค้นเมื่อ 2023-08-19.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  22. 22.0 22.1 "ทวี ชี้ รัฐจ่อเสียค่าโง่ซ้ำซ้อน ก่อสร้างอาคารรัฐสภากว่า 1 หมื่ล". โพสต์ทูเดย์. 2023-01-18. สืบค้นเมื่อ 2023-08-19.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  23. 23.0 23.1 ""วิลาศ" ขยี้ 3เรื่องพิรุธ โครงการสร้างรัฐสภาใหม่ ส่ง "ป.ป.ช." แล้ว". กรุงเทพธุรกิจ. 2023-06-19. สืบค้นเมื่อ 2023-08-19.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  24. "หลายเรื่องน่ารู้ กับ "สัปปายะสภาสถาน" รัฐสภาแห่งที่ 3 ของไทย". BuilderNews. 2021-05-04. สืบค้นเมื่อ 2023-08-19.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  25. เปิดรายงาน “มหาดไทย” เทียบคำพูด “จเร”ไฉน“รัฐสภาใหม่”สร้างช้านับปี?. อิศรานิวส์. 20 มิถุนายน 2558.
  26. รัฐสภาแห่งใหม่ มหากาพย์ที่ยังไม่สิ้นสุด. สำนักข่าวไทย. 27 กรกฎาคม 2015.
  27. 27.0 27.1 สัปปายะสภาสถาน รัฐสภาใหม่ วิดีทัศน์แนะนำโครงการ. 11 กันยายน 2011. – ทางยูทูบ.
  28. "สัปปายะสภาสถาน...ที่นี่ มณฑลศักดิ์สิทธิ์ ?!?". ผู้จัดการรายวัน. 9 ธันวาคม 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 พฤษภาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2016.
  29. สัมภาษณ์ ชาตรี ประกิตนนทการ: แบบรัฐสภาใหม่ ความหมายเดิม ๆ . สัมภาษณ์โดย ภฤศ ปฐมทัศน์. ประชาไท. 13 ธันวาคม 2009.
  30. ประชาธิปไตยที่ตีนเขา (พระสุเมรุ). ชาตรี ประกิตนนทการ. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2559.
  31. "สัปปายะสภาสถาน: รัฐสภาแห่งใหม่และความหมายที่สูญหายของประชาชน".
  32. มาโหวตแบบรัฐสภาใหม่ที่เข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายกันครับ. พันทิป. 27 พฤศจิกายน 2552.
  33. 33.0 33.1 การเตรียมการ. โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่. รัฐสภาไทย. 2 กันยายน 2554.
  34. เด็กโยธินบูรณะยังอาลัยร.ร.เก่าแม้ที่ใหม่สวยงาม. คมชัดลึก. 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°47′45″N 100°31′03″E / 13.795815°N 100.517437°E / 13.795815; 100.517437