ข้ามไปเนื้อหา

ธงชาติไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธงชาติไทย
ธงไตรรงค์
การใช้ธงชาติ และ ธงเรือพลเรือน และ ธงเรือรัฐบาล Small vexillological symbol or pictogram in black and white showing the different uses of the flag Small vexillological symbol or pictogram in black and white showing the different uses of the flag Reverse side is congruent with obverse side Vertical hoist method of flag is unknown
สัดส่วนธง2:3
ประกาศใช้28 กันยายน พ.ศ. 2460; 107 ปีก่อน (2460-09-28) (ประกาศ)
30 ตุลาคม พ.ศ. 2460; 107 ปีก่อน (2460-10-30) (มีผลบังคับใช้)
30 กันยายน พ.ศ. 2560; 7 ปีก่อน (2560-09-30) (กำหนดสีมาตรฐาน)
ลักษณะธง 3 สี 5 แถบ พื้นแดง-ขาว-น้ำเงิน-ขาว-แดง แถบกลางกว้างเป็น 2 เท่าของแถบสีแดงและขาว
ออกแบบโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ธงราชนาวี
การใช้ธงนาวี Small vexillological symbol or pictogram in black and white showing the different uses of the flagSmall vexillological symbol or pictogram in black and white showing the different uses of the flag
สัดส่วนธง2:3
ประกาศใช้28 กันยายน พ.ศ. 2460; 107 ปีก่อน (2460-09-28) (ประกาศ)
30 ตุลาคม พ.ศ. 2460; 107 ปีก่อน (2460-10-30) (มีผลบังคับใช้)
30 กันยายน พ.ศ. 2560; 7 ปีก่อน (2560-09-30) (กำหนดสีมาตรฐาน)
ลักษณะธงชาติ กลางเป็นวงกลมสีแดง มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าเสา

ธงชาติไทย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ เป็นธงชาติของประเทศไทย มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สีหลักในธง 3 สี คือ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน ภายในแบ่งเป็นแถบ 5 แถบ แถบในสุดสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบนและล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ แถบสีน้ำเงินมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า ส่วนความหมายของธงไตรรงค์นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ในบทพระราชนิพนธ์ เครื่องหมายแห่งไตรรงค์ ไว้ว่า สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระรัตนตรัยและธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา และสีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงนี้เป็นธงชาติไทย[1] (ขณะนั้นยังเรียกชื่อประเทศว่าสยาม) แทนธงช้างเผือก (ซึ่งใช้เป็นธงชาติของสามัญชนเป็นแบบแรกตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) เพื่อแก้ไขปัญหาการทำตัวช้างเผือกไม่สวยงาม[2] โดยเริ่มแรกในปี พ.ศ. 2459 พระองค์ประกาศใช้ธงชาติสยามจำนวน 2 แบบ คือ ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น เป็นธงสำหรับราชการ และ ธงแดง-ขาว 5 ริ้ว เป็นธงค้าขายสำหรับสามัญชน และให้ใช้คู่ขนานทั้ง 2 แบบ ก่อนที่ปลายปี พ.ศ. 2460 จะเติมสีน้ำเงินเข้ม (พ.ศ. 2479 ปรับเล็กน้อยเป็นสีขาบ ก่อนเปลี่ยนกลับมาใช้สีน้ำเงินเข้มเมื่อปี พ.ศ. 2522) ลงบนแถบกลางของธงค้าขาย เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับฝ่ายสัมพันธมิตร และใช้เป็นธงชาติไทยทั้งสำหรับราชการและสามัญชนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน[3]

ประวัติ

[แก้]

กำเนิดธงชาติไทย

[แก้]

ประวัติศาสตร์การใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย สามารถสืบได้แต่เพียงความว่า มีการใช้ธงสำหรับเป็นเครื่องหมายของกองทัพกองละสีและใช้ธงสีแดงเป็นเครื่องสำหรับเรือกำปั่นเดินทะเลทั่วไปมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และยังไม่มีธงชาติไว้ใช้ดังที่เข้าใจในปัจจุบัน[4]

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คณะราชทูตฝรั่งเศสเดินเรือชื่อเลอเตอวูร์เข้ามาเจริญสัมพันธมไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ประเด็นกำเนิดธงชาติไทยนั้นเกิดขึ้นที่ป้อมบางกอก (ปัจจุบันคือป้อมวิไชยประสิทธิ์) ตั้งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2223[5] เรือเลอเตอวูร์ของฝรั่งเศสจอดอยู่บริเวณปากน้ำ และมีการนำความกราบทูลสมเด็จพระนารายณ์ให้ทรงทราบถึงการมาถึง และสอบถามว่าจะโปรดให้เรือเลอเตอวูร์ยิงสลุตตามประเพณีชาวยุโรปขณะเรือแล่นผ่านป้อมบางกอกหรือไม่ พระเจ้าอยู่หัวมีความยินดีและอนุญาต นอกจากนี้ยังมีรับสั่งไปถึงเจ้าเมืองบางกอกความว่า ถ้าเรือฝรั่งยิงสลุต ให้ป้อมบางกอกยิงสลุตตอบรับ[5]

แต่ในวันปฏิบัติจริง ผู้บังคับการป้อมเข้าใจผิดว่าธงชาติฮอลันดาเป็นธงค้าขาย จึงชักธงชาติฮอลันดาขึ้นหมายจะเป็นการให้เกียรติเรือฝรั่งเศส (เนื่องจากอยุธยาไม่มีธงชาติ) เมื่อเรือฝรั่งเศสแล่นมาถึงป้อมบางกอกและเห็นธงชาติฮอลันดาก็ไม่ยอมยิงสลุต กัปตันเรือฝรั่งเศสจึงให้คนมาแจ้งแก่ผู้บังคับการป้อมว่า ถ้าประสงค์จะให้เรือฝรั่งเศสยิงสลุตก็จงชักธงฮอลันดาลงเสีย เพราะเรือฝรั่งเศสจะไม่ยอมยิงสลุตต่อธงของประเทศใดในยุโรปอย่างเด็ดขาด[5] ส่วนจะชักอะไรขึ้นแทนนั้นก็สุดแท้แต่ ป้อมบางกอกจึงชักผ้าสีแดงขึ้นแทน เรือฝรั่งเศสเห็นดังนั้นก็เริ่มยิงสลุตเป็นการให้เกียรติ ป้อมบางกอกก็ยิงสลุตตอบนัดต่อนัด[5]

เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ธงชาติไทย[6] โดยทหารสยามประจำป้อมก็เปลี่ยนเป็นผ้าสีแดงที่หาได้ในตอนนั้น และต้นกำเนิดธงก็เริ่มขึ้น นับจากนั้น ธงที่ใช้ไม่ว่าจะใช้บนเรือหลวง เรือราษฎร ใช้บนป้อมประจำการก็ล้วนเป็นสีแดง

รัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 2

[แก้]

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเรือหลวงและเรือค้าขายของเอกชนยังคงใช้ธงสีแดงล้วนเป็นเครื่องหมายเรือสยาม จึงได้มีการนำสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาประดับบนธงพื้นสีแดงเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นธงสำหรับเรือหลวง ในกฎหมายธงสมัยรัชกาลที่ 1 ได้กล่าวว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปจักรสีขาวลงในธงแดง สำหรับใช้เป็นธงของเรือหลวง" สาเหตุที่พระองค์กำหนดให้ใช้ "จักรสีขาว"ลงไว้กลางธงผ้าพื้นแดงสำหรับชักในเรือกำปั่นหลวง เพื่อแสดงความแตกต่างระหว่างเรือของพระมหากษัตริย์ กับเรือของราษฎรสยาม ที่ใช้ธงผ้าพื้นแดงเกลี้ยง

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ทรงได้ช้างเผือกเอก 3 ช้าง คือพระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา และพระยาเศวตคชลักษณ์ นับเป็นเกียรติยศยิ่งและบุญบารมีต่อแผ่นดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเข้าภายในวงจักรสีขาวของเรือหลวงไว้ด้วย อันมีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก แต่ธงช้างอยู่ในวงจักรใช้แต่เรือหลวงเท่านั้น เรือพ่อค้ายังคงใช้ธงแดงตามเดิม

ก่อน พ.ศ. 2380 - พ.ศ. 2459

[แก้]
ธงชาติสยามที่ออแตลเดแซ็งวาลีด กรุงปารีส

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยมีการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกมากขึ้น อันเป็นผลต่อเนื่องจากการทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับสหราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2398 พระองค์มีพระราชดำริว่า ธงพื้นสีแดงที่เอกชนสยามใช้ทั่วไปนั้นซ้ำกับประเทศอื่นในการติดต่อระหว่างประเทศ สยามจึงจำเป็นต้องมีธงชาติใช้เป็นของตัวเอง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงพื้นสีแดงมีรูปช้างเผือกเปล่าอยู่ตรงกลางเป็นธงชาติสยามแต่เอารูปจักรออก เนื่องจากมีเหตุผลว่า จักรเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระองค์พระมหากษัตริย์ ธงนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือเอกชน แต่เรือหลวงนั้นทรงกำหนดให้ใช้พื้นเป็นสีน้ำเงินขาบชักขึ้นที่หัวเรือ เพื่อเป็นเครื่องหมายสำหรับแยกแยะว่าเป็นเรือหลวงด้วย ธงนี้มีชื่อว่า ธงเกตุ (ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นธงฉานของกองทัพเรือไทยในปัจจุบัน)

แต่ต่อมามีการค้นพบหลักฐานใหม่เป็นหนังสือพิมพ์ Supplement of The Singapore Free Press ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2386 โดยได้อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ The Canton Press ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2386 ระบุว่า มีกองเรือของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จำนวน 3 ลำ นำเครื่องราชบรรณาการมาแวะที่ท่าเรือสิงคโปร์เพื่อที่จะเดินทางไปยังประเทศจีน เพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการแด่องค์จักรพรรดิจีน ซึ่งท้ายเรือนั้นมีการประดับธงช้างเผือกแบบไม่มีจักร จึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าได้เริ่มการใช้ธงช้างเผือกเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

และต่อมามีการค้นพบหลักฐานใหม่เป็นผังธงโลกโบราณ ซึ่งมีรูปธงช้างเผือกปรากฏอยู่ด้วยอีก 4 ชุด และระบุเวลาดังนี้

  1. ผังธงโลกโบราณ ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2383 ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการยืนยันแล้ว[7]
  2. ผังธงโลกโบราณ ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2375[8] แต่ยังไม่ได้รับการยืนยัน
  3. ผังธงโลกโบราณ ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2373 ค้นพบที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเยอรมนี โดยผังธงโลกนี้ระบุชื่อธงใต้ธงช้างเผือกผิด โดยระบุเป็นธงชาติพม่า ซึ่งขณะนั้นพม่าใช้ธงนกยูงสมัยราชวงศ์โกนบองเป็นธงชาติ ธงช้างเผือกนี้จึงน่าจะเป็นธงชาติของสยามมากกว่า จึงเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดอย่างไม่เป็นทางการในปัจจุบัน[9]
  4. ผังธงโลกโบราณ ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2380 ที่ประเทศฝรั่งเศส และถือเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการในปัจจุบัน[10]

ธงแดงขาว 5 ริ้ว (พ.ศ. 2459)

[แก้]

ธงช้างเผือกเปล่าได้ใช้เป็นธงชาติสยามสืบมานานถึง 84 ปี กินระยะเวลารวมถึง 4 รัชกาล จนกระทั่งในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2459 ตามบันทึกในหนังสือวชิราวุธานุสรณ์ ๒๔๙๖ ของจมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ได้บันทึกว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเขาสะแกกรัง (ปัจจุบันคือวัดสังกัสรัตนคีรี) ในเมืองอุทัยธานี ซึ่งขณะนั้นประสบเหตุอุทกภัย และในยุคนั้นธงช้างถือว่าเป็นของหายาก มีราคาแพง เพราะต้องสั่งทำจากต่างประเทศ อีกทั้งธงช้างที่มีขายบางแบบนั้นผลิตมาจากประเทศที่ไม่รู้จักช้าง รูปร่างของช้างที่ปรากฏจึงไม่น่าดู แม้กระนั้น ก็ยังมีราษฎรคนหนึ่งซึ่งตั้งใจรอรับเสด็จหาธงช้างมาได้ แต่ด้วยความประมาทจึงประดับธงผิดด้าน กลายเป็นประดับกลับหัว ซึ่งเป็นการสื่อเจตนาที่เสื่อมเสียแก่พระเกียรติยศ เนื่องจากเป็นลักษณะของช้างเผือกล้ม ซึ่งส่อให้เห็นเป็นลางร้ายได้ว่าพระมหากษัตริย์อาจเสด็จสวรรคตเร็วกว่าปกติ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์ดังนั้นจึงทรงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตร และราษฎรสามารถทำใช้เองได้จากวัสดุภายในประเทศ เพื่อมิให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติ เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับแถบสีขาว 2 แถบ ซึ่งเหมือนกับธงชาติไทยในปัจจุบัน แต่มีเพียงสีแดงสีเดียว ซึ่งธงนี้เรียกว่า ธงแดงขาว 5 ริ้ว (ชื่อในเอกสารราชการเรียกว่า ธงค้าขาย) ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานราชการของรัฐบาลสยามยังคงใช้ธงช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ แต่เป็นแบบทรงเครื่องยืนแท่น ซึ่งแต่เดิมธงนี้เป็นธงสำหรับเรือหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2440 และมีฐานะเป็นธงราชการอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2453

แต่ต่อมามีการค้นพบหลักฐานใหม่ ซึ่งพบว่ารัชกาลที่ 6 ได้มีพระราชประสงค์ในการเปลี่ยนและเพิ่มแบบธงสำหรับธงสำหรับชาติสยามใหม่ สำหรับประชาชนเพื่อใช้ในการค้าขาย ล่องเรือระหว่างประเทศและใช้ประดับบนบกอยู่แล้ว ซึ่งมีบันทึกอยู่ในเรื่องเปลี่ยนธงสำหรับชาติสยาม (๘ พ.ค. - ๖ มิ.ย. ๒๔๕๙)[11] โดยมีการบันทึกว่า "เพราะ การค้าขายของเรานั้นเห็นว่าจะเจริญแล้ว จึงได้ใช้ธงชนิดนี้ขึ้นใหม่สำหรับการค้าขาย และเป็นธงทั่วไปด้วย นอกจากธงราชการ" และมีจดหมายเหตุรายวัน เล่ม ๒ พระพุทธศักราช ๒๔๕๙ วันที่ ๑๔ กันยายน ถึง วันที่ ๑๐ มีนาคม ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 6 ได้ระบุว่า "วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ (กันยายน 2459) เวลาเข้า ๔ โมงเศษ ไปลงเรือเก่ากึ่งยามที่ท่าวาสุกรี เรือกลไฟจึงขึ้นมาตามลำน้ำ แวะกินกลางวันที่วัดไก่เตี้ย แขวงเมืองประทุมธานี, และเดินเรือต่อมาจนค่ำถึงบางปะอิน; พักแรม ๑ คืน" ซึ่งหมายความว่าวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2459 รัชกาลที่ 6 ยังทรงประทับพักแรมอยู่ที่พระนคร ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเขาสะแกกรังตามบันทึกของจมื่นอมรดรุณารักษ์ และเนื่องจากจดหมายเหตุรายวันเป็นลายพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 6 จึงเป็นหลักฐานที่หนาแน่นและน่าเชื่อถือที่สุดในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีปรากฏในข่าวในพระราชสำนักประจำวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2459 ในราชกิจจานุเบกษาอีกด้วย โดยระบุว่า "วันนี้เวลาป่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรโดยรถยนต์พระทีนั่งยังสนามฟุตบอลสโมสรเสือป่า ทอดพระเนตร์การแข่งขันฟุตบอล ระหว่างสโมสรฟุตบอลกรมมหรศพ กับสโมสรฟุตบอลกระทรวงยุติธรรม เมื่อเสร็จการแข่งขันแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานถ้วยหลวงใหญ่แก่สำรับกรมมหรศพ ซึ่งเปนพวกทีชนะในการแข่งขันฟุตบอลสำหรับถ้วยหลวงใหญ่ปีนี้ เมื่อพระราชทานรางวัลเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับทอดพระเนตร์กระบวนแห่ถ้วยหลวงใหญ่ แห่ถ้วยไปยังสโมสรสถานกรมมหรศพ" จึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ยืนยันได้ว่ารัชกาลที่ 6 ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเขาสะแกกรังในวันดังกล่าวตามที่จมื่นอมรดรุณารักษ์ได้บันทึกไว้

ธงไตรรงค์ (พ.ศ. 2460 - ปัจจุบัน)

[แก้]
ทหารอาสาของไทยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ร่วมการสวนสนามฉลองชัยชนะ ที่อาร์กเดอทรียงฟ์เดอเลตวล ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 โดยเชิญธงไตรรงค์เป็นธงไชยเฉลิมพลประจำกองทหาร

ในปี พ.ศ. 2460 แถบสีแดงที่ตรงกลางธงค้าขายได้เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้ม (ในกฎหมายระบุว่า "สีน้ำเงินแก่") ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เหตุผลที่ทรงเพิ่มสีน้ำเงินเข้มลงในธงชาติสยามนั้น มาจากการได้ทอดพระเนตรบทความแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้นามแฝงว่า “อแคว์ริส” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ภาษาอังกฤษ ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2460 ซึ่งระบุว่า ธงชาติสยามแบบใหม่ที่ทดลองใช้อยู่ในเวลานั้น (คือธงแดงขาว 5 ริ้ว ซึ่งกำหนดให้ใช้เป็นธงค้าขาย) ยังมีลักษณะที่ไม่สง่างามเพียงพอ และได้เสนอแนะว่าริ้วกลางของธงควรเพิ่มสีน้ำเงินเข้ม เพื่อให้เป็นธงสามสีในทำนองเดียวกันกับธงชาติของประเทศฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งน่าจะทำให้ทั้งสามประเทศพอใจประเทศสยามยิ่งขึ้นเพราะเสมือนว่าได้ยกย่องชาติเหล่านั้น นอกจากนี้สีน้ำเงินยังเป็นสีของสถาบันพระมหากษัตริย์ การมีสีนี้ในธงชาติ จะเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระองค์ในวาระที่ชาติสยามเข้าสู่เหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ

พระองค์ได้ทรงทดลองเขียนแบบธงตามบทความดังกล่าวแล้วทรงเห็นว่างดงามดีและเห็นด้วยกับบทความดังกล่าว ต่อมาจึงทรงมอบหมายให้เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) (ขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาประสิทธิศุภการ) เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบกในเวลานั้น ให้ออกแบบธง และนำกลับไปถวายเพื่อทูลขอความเห็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ ทรงเห็นชอบเช่นกัน และมีรับสั่งว่าถ้าเปลี่ยนในขณะนั้นจะได้เป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งด้วย รัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีภูริปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ร่างประกาศแก้แบบธงชาติ และได้ทรงนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะเสนาบดีเพื่อฟังความเห็น ที่ประชุมลงมติเห็นชอบแบบธงชาติสยามที่คิดขึ้นใหม่ และประกาศใช้ตามความในธงพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาในอีกสองวันถัดมา และมีผลบังคับใช้หลังลงประกาศไปแล้ว 30 วัน คือเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2460

ธงชาติแบบใหม่นี้ได้อวดโฉมต่อสายตาชาวโลกครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งกองทหารอาสาของไทยได้ใช้เชิญไปเป็นธงไชยเฉลิมพลประจำหน่วย อย่างไรก็ตาม ธงสำหรับกองทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นไม่ใช่ลักษณะอย่างธงไตรรงค์ตามที่กำหนดให้ใช้ในปัจจุบันและโดยทั่วไป แต่มีการเพิ่มรูปสัญลักษณ์พิเศษลงในธงด้วย โดยด้านหน้าธงนั้นเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นในวงกลมพื้นสีแดง ลักษณะอย่างเดียวกับธงราชนาวีไทย (ทั้งนี้กำหนดแบบใหม่ให้ใช้พร้อมกันในคราวประกาศเปลี่ยนธงชาติด้วย) ด้านหลังเป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ ร.ร. ๖ สีน้ำเงินเข้ม ภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมีสีเหลืองในวงกลมพื้นสีแดง ที่แถบสีแดงทั้งแถบบนแถบล่างทั้งสองด้านจารึกพุทธชัยมงคลคาถาบทแรก (ภาษาบาลี) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กองทหารอาสาของไทยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยรัชกาลที่ 6 ได้พระราชนิพนธ์แก้ไขในตอนท้ายจาก "ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ" (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน) เป็น "ตนฺเตชสา ภวตุ เม ชยสิทฺธินิจฺจํ" (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยชนะจงมีแก่ข้าพเจ้าเสมอ)

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนธงชาติสยามจากธงช้างเผือกมาสู่ธงไตรรงค์นั้นมีผู้ที่เสียดายธงช้างเดิมอยู่ไม่น้อย เนื่องจากธงช้างเผือกเป็นธงชาติสยามที่นานาประเทศรู้จักกันทั่วไปมาเป็นเวลานานแล้ว และธงไตรรงค์นั้นก็มีลักษณะที่พ้องกับธงชาติของประเทศอื่นบางประเทศ อาจก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้พบเห็นได้ ในปี พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงทรงมีพระราชดำริว่า ธงชาติไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้ว ควรหาข้อกำหนดเรื่องธงชาติให้เป็นการถาวร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชบรรทึกพระราชทานไปยังองคมนตรี เพื่อให้เสนอความเห็นของคนหมู่มากว่า จะคงใช้ธงไตรรงค์ดังที่ใช้อยู่เป็นธงชาติต่อไป หรือจะกลับไปใช้ธงช้างแทน หรือจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงลักษณะธงชาติ กับวิธีใช้ธงไตรรงค์อย่างไร[12] นอกจากนี้ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมราชเลขาธิการตัดข่าวจากหนังสือพิมพ์เพื่อรวบรวมความเห็นต่าง ๆ ของสาธารณชนเกี่ยวกับธงชาติเพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัยด้วย ผลปรากฏว่าความเห็นขององคมนตรีแตกต่างกระจายกันมาก จึงมิได้กราบบังคมทูลข้อชี้ขาด ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระบรมราชวินิจฉัยลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ให้คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป[13]

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ธงไตรรงค์สามสีถูกชักขึ้นไปแทนธงบนยอดโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม เสมือนสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของคณะราษฎร[14] และรัฐบาลต่าง ๆ ยังคงรับรองฐานะของธงไตรรงค์ให้เป็นธงชาติสยามต่อไป โดยมีการตราพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2479 เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์[15] และหลังจากการเปลี่ยนชื่อประเทศซึ่งทำให้ธงชาติสยามถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ธงชาติไทย" ในปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลต่าง ๆ ก็ยังคงรับรองให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการตราพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์ ซึ่งพระราชบัญญัติธงทั้งสองฉบับนี้ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงถ้อยความบรรยายลักษณะธงชาติในพระราชบัญญัติธงใหม่ให้ชัดเจนขึ้น เช่น พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2479 แก้ข้อความจากจาก "สีน้ำเงินแก่" เป็น สีขาบ (เป็นชื่อสีโบราณอย่างหนึ่งของไทย คือสีน้ำเงินเข้มเจือม่วง) โดยใช้สีม่วงซึ่งเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รำลึกถึงพระองค์ ก่อนแก้ข้อความกลับมาเป็น "สีน้ำเงินแก่" ในพระราชบัญญัติธงฉบับปี พ.ศ. 2522 แต่ยังคงรูปแบบธงส่วนใหญ่ตามที่ได้บัญญัติไว้ครั้งแรกในพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2460 ไว้เช่นเดิม[16]

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันประกาศใช้ธงชาติไทยฉบับล่าสุด เป็น วันพระราชทานธงชาติไทย โดยให้เริ่มในปีครบรอบ 100 ปี ธงชาติไทย ในปี พ.ศ. 2560 เป็นปีแรก แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ[17]

พัฒนาการของธงชาติไทย

[แก้]
ภาพธง ระยะเวลาการใช้ การบังคับใช้ธง ลักษณะ หมายเหตุ
กันยายน พ.ศ. 2223 - สมัยรัตนโกสินทร์
(ไม่ทราบวันที่แน่นอน[18])
ใช้เป็นธรรมเนียมสืบมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแดงเกลี้ยง
สมัยรัชกาลที่ 1 (ไม่ทราบวันที่แน่นอน[18])
ใช้ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปวงจักรสีขาว ใช้เฉพาะบนเรือหลวง
สมัยรัชกาลที่ 2 (ไม่ทราบวันที่แน่นอน[18])
ใช้ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกในวงจักรสีขาว ใช้เฉพาะบนเรือหลวง
ก่อน พ.ศ. 2380 - 2459
ใช้ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงกลางรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รศ. 110

พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 116
พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 118
พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129

ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกเปล่าหันหน้าเข้าหาเสาธง ใช้บนแผ่นดินเป็นธงแรก
พ.ศ. 2459 - 2460
พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 (ธงราชการ) พระบรมราชโองการ ประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 พ.ศ. 2459 ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาเสาธง สำหรับราชการ
พ.ศ. 2459 - 2460
พระบรมราชโองการ ประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 พ.ศ. 2459 (ในชื่อ "ธงค้าขาย") ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว 9 ส่วน กว้าง 6 ส่วน แบ่งออกเป็นแถบสีแดงกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีขาวกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีแดงตรงกลางกว้าง 2 ส่วน สำหรับสามัญชน
พ.ศ. 2460 - ปัจจุบัน
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง รูปธงชาติตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560[19] ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน แบ่งออกเป็นแถบสีแดงกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีขาวกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีน้ำเงินขาบตรงกลางกว้าง 2 ส่วน มีการกำหนดค่าสีของแต่ละแถบสีเพื่อให้มีมาตรฐานสีและเป็นมาตรฐานสีตามหน่วยสากล ใช้ทั่วประเทศ

ลักษณะธงตามกฎหมาย

[แก้]
ภาพแสดงสัดส่วนธงชาติไทยที่ถูกต้อง

ลักษณะของธงไตรรงค์เมื่อแรกบัญญัติ ปรากฏตามความบรรยายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 ดังนี้

ธงชาติสยาม รูปสี่เหลี่ยมรี มีขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง 1 ส่วน ซึ่งแบ่ง 3 ของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาวกว้าง 1 ส่วน ซึ่งแบ่ง 6 ของขนาดกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ ธงสำหรับชาติสยามอย่างนี้ให้เรียกว่า ธงไตรรงค์ สำหรับชักในเรือพ่อค้าทั้งหลาย แลในที่ต่างๆของสาธารณชนบรรดาที่เปนชาติสยามทั่วไป ส่วนธงพื้นสีแดง กลางมีรูปช้างปล่อย ซึ่งใช้เปนธงชาติสำหรับสาธารณชนชาวสยามมาแต่ก่อนนั้น ให้เลิกเสีย[20]

ต่อมาได้มีการปรับปรุงถ้อยคำบรรยายลักษณะของธงชาติเสียใหม่ ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479 ซึ่งระบุว่า

ธงชาติ รูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้าง 2 ใน 6 ส่วน ตรงกลางเป็นสีขาบ ต่อจากแถบสีขาบออกไปทั้งสองข้าง ข้างละ 1 ใน 6 ส่วน เป็นแถบสีขาว ต่อสีขาวออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีแดง ธงชาตินี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ธงไตรรงค์"[15]

ในมาตรา 5 (1) แห่งพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2522 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติธงฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้กล่าวถึงลักษณะธงชาติไว้ดังนี้

ธงชาติ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีขาวกว้างข้างละ 1 ส่วน ต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีแดงกว้างข้างละ 1 ส่วน ธงชาตินี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ธงไตรรงค์”[16]

ค่าสี

[แก้]

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560 กำหนดค่าสีมาตรฐานของธงในระบบซีแล็บ ดี 65[19] (รวมทั้ง สวทช. ได้นำไปต่อยอดเป็นค่า RGB, HEX, และ CMYK)[21] ดังนี้ :

สี ระบบซีแล็บ ดี 65 รูปแบบสีอื่น ๆ
L* a* b* ΔE* RGB HEX CMYK
แดง 36.4 55.47 25.42 ไม่เกิน 1.5 165-25-49 #A51931 C24-M100-Y83-K18
ขาว 96.61 -0.15 -1.48 ไม่เกิน 1.5 244-245-248 #F4F5F8 C3-M2-Y1-K0
น้ำเงิน 18.63 7.89 -19.45 ไม่เกิน 1.5 45-42-74 #2D2A4A C87-M85-Y42-K43

ความหมายของธง

[แก้]

ในพระราชนิพนธ์ "เครื่องหมายแห่งไตรรงค์" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ภายใต้พระนามแฝง "วรรณะสมิต" ตีพิมพ์ในนิตยสารดุสิตสมิต ฉบับพิเศษ สำหรับเป็นที่ระลึกในงานเฉลิมพระชนมพรรษา เล่มที่ 1 พ.ศ. 2461 หน้า 42 ได้นิยามความหมายของธงไตรรงค์ไว้ว่า สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระรัตนตรัยและธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์ [22] แม้นิยามดังกล่าวจะไม่ใช่คำอธิบายที่ทรงประกาศให้ใช้อย่างเป็นทางการ แต่ทั้งสามสิ่งนี้คืออุดมการณ์รัฐ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ที่พระองค์ทรงปลูกฝัง เพื่อให้คนไทยเกิดสำนึกความเป็นชาตินิยมมาตลอดรัชสมัยของพระองค์[23]

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีบันทึกเรื่องธงชาติ ใน พ.ศ. 2470 เพื่อรวบรวมความคิดเห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงธงชาติจากบุคคลกลุ่มต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีการเปลี่ยนธงชาติหลายครั้ง กรมราชเลขาธิการได้รวบรวมความเห็นเรื่องนี้จากที่ต่าง ๆ รวมทั้งในหนังสือพิมพ์ เพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งในบรรดาเอกสารดังกล่าว ปรากฏว่าในหมู่ผู้ที่สนับสนุนให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป ได้มีการให้ความหมายของธงที่กระชับกว่าเดิม กล่าวคือ สีแดงหมายถึงชาติ สีขาวหมายถึงพระพุทธศาสนา สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ไปเล็กน้อย แต่ยังครอบคลุมอุดมการณ์รัฐที่พระองค์ทรงกำหนดไว้เช่นเดิม และยังเป็นที่จดจำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน[24]

การชัก ใช้ และแสดงธงชาติไทย

[แก้]
ตัวอย่างของกฎหมายเกี่ยวกับธงที่ได้ริเริ่มมีการจัดระเบียบในสมัยรัชกาลที่ 5: (ซ้าย) พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รัตนโกสินทรศก 110 ตราไว้เมื่อ พ.ศ. 2434, (ขวา) พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 118 ตราไว้เมื่อ พ.ศ. 2442

ในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงปกครองนั้น การประดับ ชัก ใช้ และแสดงธงชาติด้วยวิธีการต่าง ๆ มักเป็นไปตามธรรมเนียมที่ใช้สืบต่อกันมา ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่นอน แม้จะเริ่มมีการจัดระเบียบธงด้วยกฎหมายต่าง ๆ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2434 เป็นต้นมา ก็ยังไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการชัก ใช้ และแสดงธงอย่างชัดเจนนัก

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2479 รัฐบาลไทยจึงเริ่มจัดระเบียบการใช้ธงชาติขึ้นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก โดยออกระเบียบการชักธงชาติสยามประกอบอยู่ในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479 ปรากฏในในมาตรา 17-20 บทบังคับทั่วไปได้กล่าวถึงระเบียบการชักธงชาติ และข้อควรปฏิบัติต่อธงชาติ และในบทกำหนดโทษ ท้ายพระราชบัญญัติ ในมาตรา 21-23 ก็ได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามบังคับ มีทั้งปรับเป็นเงิน จำคุก หรือทั้งปรับทั้งจำ หนักเบา แล้วแต่ความผิดที่ได้กระทำ[15] ซึ่งต่อมา ก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับต่าง ๆ อีกหลายฉบับ อาทิ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการชักธงชาติ[25] ระเบียบการชักธงชาติ พุทธศักราช 2488[26] เป็นต้น โดยกำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ ต้องใช้ธงชาติสำหรับชักขึ้นและลงตามที่ราชการกำหนด รวมทั้ง ต้องประดับธงชาติไว้ ณ สถานที่อันสมควรเป็นการถาวรและสม่ำเสมอ สำหรับภาคเอกชนและบ้านเรือนของประชาชนทั่วไปนั้นให้อนุโลมดำเนินการไปในทางเดียวกัน[27][28]

ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติที่บังคับทั่วไปในปัจจุบันนี้ บังคับใช้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศ ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 (แก้ไขเพิ่มเติมอีก 4 ครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2546 พ.ศ. 2547 พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2562)[29][30][31][32][33] ซึ่งมีเนื้อหาที่สำคัญบางข้อ ดังนี้

การชักธงชาติในราชอาณาจักร

[แก้]

ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการชักธงชาติในสถานศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ได้กำหนดโอกาสและวันพิธีสำคัญที่ต้องมีการชักและประดับธงชาติไว้ดังนี้[33][34]

สำหรับการชักธงและประดับธงชาติในโอกาสและวันพิธีสำคัญอื่น ๆ ทางราชการจะประกาศให้ทราบเป็นคราว ๆ ไป

ส่วนการลดธงครึ่งเสานั้น นายกรัฐมนตรีจะสั่งการผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นคราว ๆ ไป โดยออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี[29] เช่น เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่งลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 15 วัน และให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์ มีกำหนด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป[35] หรือเมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 รัฐบาลออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดให้ให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่งลดธงครึ่งเสา 30 วัน ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์มีกำหนด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป[36]

นอกจากนี้ ก็มีการลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยแด่ผู้นำของประเทศต่าง ๆ หรือผู้นำองค์กรระดับนานาชาติที่ถึงแก่อสัญกรรมในขณะดำรงตำแหน่ง โดยปกติจะลดธงครึ่งเสา เป็นเวลา 3 วัน

การประดับธงชาติไทยประจำสถานที่ราชการในโอกาสปกติ
การลดธงครึ่งเสา

กำหนดเวลาชักธงชาติ

[แก้]
โดยปกติแล้ว ตามสถานที่ราชการต่าง ๆ จะเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาในเวลา 8.00 น. และเชิญธงลงในเวลา 18.00 น. เป็นประจำทุกวัน (ในภาพ เป็นการเชิญธงชาติประจำวันของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร)

เวลาชักธงชาติโดยปกติ กำหนดให้ชักธงขึ้นในเวลา 8.00 น. และชักธงลงเวลา 18.00 น. สำหรับอาคารสถานที่และยานพาหนะฝ่ายทหารนั้น ให้ปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับของฝ่ายทหาร ส่วนในเรือเดินทะเลนั้น ให้ปฏิบัติตามธรรมเนียมชาวเรือ[29]

สำหรับการชักธงชาติในโรงเรียนและสถานศึกษานั้น ปัจจุบันนี้ได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการชักธงชาติในสถานศึกษา พ.ศ. 2547[37] ซึ่งกำหนดให้โดยปกติแล้ว ให้สถานศึกษาชักธงขึ้นเวลาเข้าเรียน และชักธงลงเวลา 18.00 น. ในวันเปิดเรียน ส่วนวันปิดเรียนนั้น ให้ชักธงขึ้นในเวลา 8.00 น. และชักธงลงเวลา 18.00 น. หากสถานศึกษาใดมีความจำเป็นไม่อาจชักธงขึ้นลงตามกำหนดที่กล่าวมา ให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาตามความเหมาะสม โดยต้องสอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529[29]

การประดับธงชาติ

[แก้]

การประดับธงชาติไทยคู่หรือร่วมกับธงอื่นยกเว้นธงพระอิสริยยศ โดยหลักแล้วธงชาติไทยจะต้องอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำว่าธงอื่น ๆ และโดยปกติให้จัดธงชาติอยู่ที่เสาธงแรกด้านขวา (เมื่อมองดูออกมาจากภายใน หรือจุดของสถานที่ที่ใช้ชัก แสดง หรือประดับธงเป็นหลัก) ถ้าหากเป็นการประดับในงานพิธีซึ่งมีแท่นหรือมีที่สำหรับประธาน ธงชาติจะต้องอยู่ทางขวามือเสมอ ในกรณีที่ประดับกับธงอื่นซึ่งรวมกันแล้วได้จำนวนเป็นเลขคี่ ธงชาติไทยจะต้องอยู่ตรงกลาง ถ้ารวมกันแล้วเป็นเลขคู่ ธงชาติไทยต้องอยู่กลางขวา หลักการเช่นนี้อนุโลมใช้กับการประดับธงชาติไทยคู่กับธงต่างประเทศด้วย เว้นแต่ว่าจะข้อตกลงระหว่างประเทศกำหนดไปเป็นอย่างอื่น ก็ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศนั้นเป็นกรณีไป

การประดับธงชาติในการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ โดยปกติให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสมาคมกีฬาระหว่างประเทศ หรือตามหลักสากลที่ยอมรับกันในนานาอารยประเทศ

สำหรับการประดับธงชาติคู่หรือร่วมกับพระพุทธรูปหรือพระบรมรูปในงานพิธีต่าง ๆ ธงชาติต้องอยู่ทางขวาของพระพุทธรูป พระบรมรูปนั้นต้องอยู่ด้านซ้าย[29]

การเคารพธงชาติ

[แก้]
การแสดงความเคารพต่อธงชาติของทหารซึ่งมิได้อยู่ในแถวโดยการทำวันทยาหัตถ์ขณะทำพิธีธงลง
ชาวไทยแสดงความเคารพต่อชาติด้วยการหยุดนิ่งในอาการสำรวมในระหว่างการบรรเลงเพลงชาติ แม้จะไม่เห็นการชักธงชาติก็ตาม

การเคารพธงชาติในปัจจุบันได้ยึดถือหลักการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศ ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 กล่าวคือ เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง ให้แสดงความเคารพโดยการยืนตรง หันไปทางเสาธง อาคาร หรือสถานที่ที่มีการชักธงชาติขึ้นและลง จนกว่าจะเสร็จการ ในกรณีที่ได้ยินเพลงชาติหรือสัญญาณการชักธงชาติ จะเห็นหรือไม่เห็นการชักธงชาติก็ตาม ให้แสดงความเคารพโดยหยุดนิ่งในอาการสำรวม จนกว่าการชักธงชาติหรือเสียงเพลงชาติ หรือสัญญาณการชักธงชาติจะสิ้นสุดลง[29]

สำหรับการเคารพธงชาติของทหารนั้น เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง นายทหารสัญญาบัตรทุกนาย ให้แสดงความเคารพโดยการยืนตรงทำวันทยาหัตถ์ ไม่ว่าจะอยู่ในแถวหรือนอกแถว ส่วนนายทหารประทวนและพลทหาร ให้ทำวันทยาหัตถ์ขณะยืนอยู่นอกแถวทหารเท่านั้น หากอยู่ในแถวทหาร ให้ใช้ท่าตรง ส่วนแถวทหารที่มีอาวุธ นายทหารผู้ควบคุมแถวจะสั่งแสดงความเคารพโดยการทำวันทยาวุธ และสั่งเรียบอาวุธเมื่อธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาเรียบร้อยแล้ว พิธีกร เมื่ออยู่ในแถวเคารพธงชาติ สวดมนต์ สงบนิ่ง ให้ก้าวออกไป 1 ก้าว สั่งแล้วให้ถอยกลับเข้าที่

การใช้ธงชาติกับผู้เสียชีวิต

[แก้]

ธงชาตินั้นสามารถใช้เป็นเครื่องประกอบเกียรติยศศพหรืออัฐิได้ โดยบุคคลที่สามารถใช้ธงชาติประกอบเกียรติยศได้นั้น[29] ได้แก่

  • ประธานองคมนตรี
  • ประธานรัฐสภา
  • นายกรัฐมนตรี
  • ประธานศาลฎีกา
  • ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
  • ผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่หรือช่วยเหลือในการสู้รบ หรือเพื่อปกป้องอธิปไตยหรือรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือเพื่อปราบปรามการกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐและพระมหากษัตริย์
  • ผู้เสียชีวิตจากการแสดงความกล้าหาญช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐ
  • บุคคลที่ทางราชการเห็นสมควร

ส่วนการใช้ธงชาติคลุมศพนั้น สามารถใช้ในการพิธีรับพระราชทานน้ำอาบศพหรือพิธีรดน้ำศพ หรือระหว่างการเคลื่อนย้ายศพเพื่อไปประกอบพิธีทางศาสนา หรือในพิธีปลงศพตามประเพณีของทหารเรือ[29]

การกระทำอันไม่สมควรต่อธงชาติและบทกำหนดโทษ

[แก้]

ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 การกระทำต่อธงชาติโดยไม่ให้ความเคารพ มีดังนี้[38]

  • การกระทำอันเป็นการเหยียดหยามต่อธงชาติ ได้แก่ การกระทำต่อธงชาติรูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ ด้วยเจตนาเหยียดหยามประเทศชาติ เช่น ฉีกทำลาย ถ่มน้ำลายรด ใช้เท้าเหยียบ วางเป็นผ้าเช็ดเท้า ซึ่งเป็นการแสดงความดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามชาติไทย
  • การกระทำที่ไม่สมควรต่อธงชาติ รูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ เช่น
    • การประดิษฐ์รูป ตัวอักษร ตัวเลข หรือเครื่องหมายอื่นในผืนธงรูปจำลองของธง หรือแถบสีของธง
    • การใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีของธงอันมีลักษณะตามข้อ (1)
    • การใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีของธงไว้ ณ สถานที่หรือวิธีอันไม่สมควร
    • การประดิษฐ์ธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงไว้ ณ ที่หรือสิ่งใด ๆ โดยไม่สมควร
    • แสดงหรือใช้สิ่งใด ๆ ที่มีรูปธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงอันมีลักษณะตามข้อ (4)

การกระทำการต่อธงชาติโดยไม่ให้ความเคารพมีความผิด ต้องระวางโทษตามกฎหมายดังนี้[39][29]

  1. กระทำการใด ๆ ต่อธงชาติหรือเครื่องหมายอื่นใด อันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 118)
  2. กระทำการใด ๆ ต่อธงชาติ รูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีของธงชาติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีข้อ 19.2 ข้างต้น (ข้อความดังกล่าวลอกมาจากพระราชบัญญัติธงอีกทีหนึ่ง) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 มาตรา 53)
  3. ผู้ใดกระทำการกระทำใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการเหยียดหยามต่อธง รูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีของธงชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 มาตรา 54)

ธงอื่นที่ดัดแปลงลักษณะจากธงชาติ

[แก้]

โดยทั่วไปแล้ว การกำหนดธงอย่างอื่นที่ความหมายถึงชาติของประเทศต่าง ๆ ล้วนมีการดัดแปลงลักษณะมาจากธงชาติเกือบธงหมด เช่น ธงราชนาวีของกองทัพเรือไทย ซึ่งตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 นับเป็นธงที่มีความหมายถึงชาติเช่นเดียวกับธงชาติไทย มีลักษณะเป็นธงไตรรงค์ ตรงกลางเป็นรูปช้างเผือก ทรงเครื่องยืนแท่นมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นอยู่ตรงกลางในวงกลมสีแดง ปลายขอบวงกลมสีแดงนั้นจดกับขอบแถบสีแดงพอดีทั้งสองด้าน ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือไทยนั้น ถือว่าธงนี้พัฒนามาจากธงแดงและธงเรือหลวงของสยามในสมัยต่าง ๆ ก่อนที่จะมีลักษณะที่แตกต่างจากธงชาติไปเล็กน้อยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2434 เป็นต้นมา แบบธงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้กำหนดให้ใช้พร้อมกับธงไตรงค์ซึ่งเป็นธงชาติเมื่อ พ.ศ. 2460[40] แม้ธงฉาน ซึ่งเป็นธงในราชการทหารที่ใช้สำหรับชักที่หัวเรือรบและใช้เป็นเครื่องหมายของเรือพระที่นั่งและเรือหลวง ก็มีพื้นเป็นธงไตรรงค์เช่นกัน แต่ว่าได้เพิ่มตราสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเป็นเครื่องหมายราชการของกองทัพเรือไว้ เพื่อให้ต่างจากธงชาติอย่างชัดเจน[40]

ธงของทหารอีกอย่างหนึ่งซึ่งทหารทุกคนถือว่าเป็นธงที่สำคัญยิ่ง และเป็นธงที่จะต้องรักษาเอาไว้ด้วยชีวิต คือ ธงไชยเฉลิมพล ธงนี้เป็นธงประจำกองทหารซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้เชิญไปในพิธีการสำคัญทางทหารที่เป็นเกียรติยศของชาติและเชิญออกไปกับหน่วยทหารในยามทำสงคราม โดยถือว่าเมื่อธงชัยเฉลิมพล ไปปรากฏ ณ ที่ใดเสมือนหนึ่งพระมหากษัตริย์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในกองทัพทหารนั้นด้วย[41] ลักษณะโดยรวมนั้นเป็นรูปธงไตรรงค์สี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า (ขึ้นอยู่กับลักษณะที่กำหนดไว้โดยละเอียดในพระราชบัญญัติธง และกฎกระทรวงตามกฎหมายดังกล่าว) แต่ตรงกลางมีรูปเครื่องหมายประจำกองทัพที่สังกัดและจารึกชื่อของหน่วยทหารไว้ ที่บริเวณมุมธงชัยเฉลิมพลของทุกหน่วย (ยกเว้นธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารเรือ) มีเครื่องหมายพระปรมาภิไธยย่อเปล่งรัศมีสีฟ้า และเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานธงภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ส่วนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จะใช้ธงอีกแบบหนึ่ง ซึ่งกำหนดขึ้นเป็นธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์โดยเฉพาะ[16]

อ้างอิง

[แก้]
  1. อมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช), จมื่น พระราชกรณียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๖ องค์การค้าคุรุสภา ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์, ๒๕๑๒ เรื่อง "เหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนธงชาติ". (บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ "วชิราวุธานุสรณ์ ๒๔๙๖" พิมพ์ที่โรงพิมพ์รวมมิตรไทยเมื่อ พ.ศ. 2496)
  2. หยุดเชื่อ ... หยุดสอน ... เรื่องธงช้างกลับหัว อันเป็นเหตุเปลี่ยนธงชาติไทย
  3. ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๒๐.
  4. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2475), หน้า 1
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 กรมศิลปากร (2520). ประเพณีการยิงสลุต
  6. พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย (ธงไตรรงค์). "ประวัติ ความเป็นมา และรูปแบบธงชาติไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-18. สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2013.
  7. พฤฒิพล ประชุมผล. "ผังธงโลกพิมพ์ในฝรั่งเศสปี พ.ศ. 2383". artsandculture.google.com. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. พฤฒิพล ประชุมผล (19 สิงหาคม 2562). "บันทึกประวัติศาสตร์ธงช้างเผือกใหม่". www.facebook.com. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. พฤฒิพล ประชุมผล (10 กันยายน 2562). "ผังธงโลก 2373". www.facebook.com. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. พฤฒิพล ประชุมผล (5 ตุลาคม 2563). "ข่าวดีของประเทศไทย". www.facebook.com. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. ปัจจุบันถูกเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
  12. ราชกิจจานุเบกษา, บรรทึกเรื่องธงชาติ, เล่ม ๔๔, ตอน ง, ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐, หน้า ๒๗๓
  13. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชวินิจฉัยเรื่องธงชาติ, เล่ม ๔๔, ตอน ง, ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐, หน้า ๖๐๗
  14. 24 มิถุนายน 2475 ยุทธการพลิกแผ่นดินสยาม24 มิถุนายน 2475 ยุทธการพลิกแผ่นดินสยาม
  15. 15.0 15.1 15.2 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙, เล่ม ๕๓, ตอน ๐ก, ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙, หน้า ๘๖๕
  16. 16.0 16.1 16.2 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๕๒๒ เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๖, ตอน ๑๑ ก ฉบับพิเศษ, ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒, หน้า ๑
  17. "ครม. เห็นชอบ ให้วันที่ 28 ก.ย. เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย โดยไม่นับเป็นวันหยุด". มติชน. 20 กันยายน 2559. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. 18.0 18.1 18.2 หลักฐานสำหรับอ้างอิงปีพุทธศักราชในพัฒนาการธงชาติไทย เรียกใช้เมื่อ 9/10/2561
  19. 19.0 19.1 "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง รูปธงชาติตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 134 (พิเศษ 245 ง): 1. 4 ตุลาคม 2560.
  20. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐, เล่ม ๓๔, ตอน ๐ ง, ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐, หน้า ๔๓๖.
  21. สวทช. มาตรฐานแถบสีธงชาติไทย https://www.nstda.or.th/th/nstda-knowledge/11557-thaiflag-color เก็บถาวร 2020-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  22. พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉบับพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.จ.ชัชชวลิต เกษมสันต์ วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๑๗ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย. ๒๕๑๗ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.
  23. ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม (2546), หน้า 96
  24. ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม (2546), หน้า 101
  25. ราชกิจจานุเบกษา (31 ธันวาคม พ.ศ. 2483). "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการชักธงชาติ" (PDF). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2013. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  26. ราชกิจจานุเบกษา (31 ธันวาคม พ.ศ. 2487). "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการชักธงชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๘" (PDF). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2013. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  27. คู่มือข้อปฏิบัติเกี่ยวกับธงชาติ (2551), หน้า 11
  28. คู่มือธงไตรรงค์ ธำรงไทย (2554), หน้า 13
  29. 29.0 29.1 29.2 29.3 29.4 29.5 29.6 29.7 29.8 ราชกิจจานุเบกษา (3 เมษายน พ.ศ. 2529). "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๒๙" (PDF). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2013. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  30. ราชกิจจานุเบกษา (31 กรกฎาคม พ.ศ. 2546). "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๖" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-06-05. สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2013. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  31. ราชกิจจานุเบกษา (9 สิงหาคม พ.ศ. 2547). "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๗" (PDF). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2013. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  32. ราชกิจจานุเบกษา (27 กรกฎาคม พ.ศ. 2560). "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๐" (PDF). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2017. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  33. 33.0 33.1 ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๒, เล่ม ๑๓๖, ตอนพิเศษ ๑๘๙ ง, ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒, หน้า ๑.
  34. ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการชักธงชาติในสถานศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑, เล่ม ๑๓๕, ตอนพิเศษ ๕๒ ง, ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑, หน้า ๑.
  35. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์, เล่ม ๑๒๕, ตอน ๑ข, ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑, หน้า ๑
  36. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต, เล่ม ๑๓๓, ตอนพิเศษ ๒๓๘ ง, ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙, หน้า ๑
  37. ราชกิจจานุเบกษา (17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547). "ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการชักธงชาติในสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗" (PDF). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2013. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  38. คู่มือข้อปฏิบัติเกี่ยวกับธงชาติ (2551), หน้า 29
  39. คู่มือข้อปฏิบัติเกี่ยวกับธงชาติ (2551), หน้า 29-30
  40. 40.0 40.1 ธงราชนาวีและธงที่ใช้ในกองทัพเรือ (พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ)
  41. นางสาวเพลินพิศ กำราญ (9 สิงหาคม พ.ศ. 2547). "ธงชัยเฉลิมพล" (PDF). จุลสารการจัดการองค์ความรู้ สำนักพระราชวัง. สำนักพระราชวัง. สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2013. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)

บรรณานุกรม

[แก้]
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2475). ปาฐกถาตำนานธงไทยในสมัยต่าง ๆ. พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ นางสาวอร่าม สุนทรวร. โสภณพิพรรฒธนากร.
  • สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (2551). คู่มือข้อปฏิบัติเกี่ยวกับธงชาติ. บริษัท เซเว่น พรื้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด.
  • สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (2554). คู่มือธงไตรรงค์ ธำรงไทย. อรุณการพิมพ์. ISBN 978-616-235-058-0.
  • ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม (2546). การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย. สำนักพิมพ์มติชน.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]