ข้ามไปเนื้อหา

ข้าราชการไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เครื่องแบบสีกากีและอินทรธนูข้าราชการพลเรือนสามัญ ระดับอำนวยการสูง

ข้าราชการ คือ บุคคลที่รับการบรรจุแต่งตั้งให้รับราชการปฏิบัติหน้าที่ และรับเงินเดือนในกระทรวงหรือกรมต่างๆ ของประเทศไทย ส่วนองค์กรที่บุคคลดังกล่าวปฏิบัติงานอยู่นั้นเรียก ส่วนราชการ

ประวัติ

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางระเบียบข้าราชการพลเรือนเป็นครั้งแรก ให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2472 เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกสรรผู้มีความรู้และความสามารถเข้ารับราชการ โดยกำหนดให้มีข้าราชการ 3 ประเภท คือ[1]

  • ข้าราชการพลเรือนสามัญ คือ ข้าราชการที่รัฐบาลบรรจุแต่งตั้งไว้ตามระเบียบฯ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นสัญญาบัตร (รองอำมาตย์ตรีขึ้นไป) และชั้นราชบุรุษ
  • ข้าราชการพลเรือนวิสามัญ คือ บุคคลที่รัฐบาลจ้างไว้ให้ทำการเฉพาะอย่าง หรือระยะเวลาชั่วคราว ตั้งแต่พ.ศ. 2518เป็นต้นมา เปลี่ยนให้เรียกว่าลูกจ้างประจำ
  • เสมียนพนักงาน คือ ข้าราชการชั้นต่ำ ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินเดือนตามอัตราที่ตั้งไว้

ประเภทของข้าราชการไทย

[แก้]

ข้าราชการในประเทศไทย มีหลายประเภท ได้แก่

  1. ข้าราชการพลเรือนสามัญ[2]
  2. ข้าราชการในพระองค์[3]
  3. ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา[4]
  4. ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา[5]
  5. ข้าราชการทหาร[6]
  6. ข้าราชการตำรวจ[7]
  7. ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม[8]
  8. ข้าราชการฝ่ายอัยการ[9]
  9. ข้าราชการรัฐสภา[10]
  10. ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง[11]
  11. ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ[12]
  12. ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ[13]
  13. ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ[14]
  14. ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน[15]
  15. ข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร[16]
  16. ข้าราชการการเมือง
  17. ข้าราชการส่วนท้องถิ่น
  18. พนักงานอื่นของรัฐ
    • พนักงานรัฐวิสาหกิจ
    • พนักงานราชการ
    • พนักงานมหาวิทยาลัย
    • พนักงานกระทรวงสาธารณสุข
    • พนักงานองค์การมหาชนและองค์การของรัฐอื่นที่ไม่ใช่ส่วนราชการ
    • ลูกจ้างประจำ

ข้าราชการพลเรือนสามัญ

[แก้]

ข้าราชการพลเรือนสามัญ คือ ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในกระทรวง ทบวง กรมฝ่ายพลเรือน ซึ่งได้รับการบรรจุแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับปัจจุบันคือ พ.ศ. 2551) แบ่งออกเป็นประเภทย่อย 4 ประเภท คือ ประเภทบริหาร ประเภทอำนวยการ ประเภทวิชาการ และประเภททั่วไป[17]

การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ จะดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือในบางกรณีอาจมีการมอบหมายให้กรมต้นสังกัด เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกฯ

ข้าราชการในพระองค์

[แก้]

ข้าราชการในพระองค์ คือ ข้าราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มีหน้าที่เกี่ยวกับงานในพระองค์พระมหากษัตริย์ โดยการจัดระเบียบราชการในพระองค์และการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ และสถานภาพของข้าราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา[18]

ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

[แก้]

ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา คือ ข้าราชการพลเรือนในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่ไม่รวมถึงสถานศึกษาของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา แบ่งออกเป็นประเภทย่อย 3 ประเภท คือ ประเภทวิชาการ ประเภทผู้บริหาร และประเภททั่วไป [19]ใช้ระบบมาตรฐานกลาง 11 ระดับ ในการจำแนกและกำหนดระดับตำแหน่ง มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ก.พ.อ. (เดิมเรียกว่าคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย หรือ ก.ม.) เป็นคณะกรรมการกลางในการบริหารบุคคลและกำกับดูแลข้าราชการ

การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา จะดำเนินการโดยสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งโดยอิสระ ในปัจจุบันไม่มีการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาแล้ว มีแต่เพียงการบรรจุและแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัย เข้ามาแทน

ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

[แก้]

ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คือ ข้าราชการที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการในสถานศึกษา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ[20]

ผู้สอนในหน่วยงานการศึกษา

[แก้]

ประกอบด้วยตำแหน่งต่างๆ ได้แก่

  1. ครูผู้ช่วย
  2. ครู
  3. อาจารย์
  4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์
  5. รองศาสตราจารย์
  6. ศาสตราจารย์

ทั้งนี้ตำแหน่งตามข้อ 3-6 จะมีได้เฉพาะในสถานศึกษาที่สอนระดับปริญญา

ครูตามข้อ 1 และ 2 แบ่งระดับอัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ดังนี้

  • ครูผู้ช่วย เป็นตำแหน่งที่บรรจุแต่งตั้งในระดับแรก (เทียบเท่าอาจารย์ 1 ระดับ 5 เดิม ซึ่งในปัจจุบันการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการครูมิได้เริ่มต้นในระดับ 3 หรือ 4 ดังแต่ก่อนแล้ว)
  • ครู ค.ศ. 1 (เทียบเท่าอาจารย์ 2 ระดับ 6)
  • ครู ค.ศ. 2 เป็นวิทยฐานะครูชำนาญการ แต่งตั้งจากครู ค.ศ. 1 (เทียบเท่าตำแหน่งอาจารย์ 2 ระดับ 7)
  • ครู ค.ศ. 3 เป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ แต่งตั้งจากครู ค.ศ. 2 ที่มีผลงานวิชาการผ่านเกณฑ์ (เทียบเท่าตำแหน่งอาจารย์ 3 ระดับ 8)
  • ครู ค.ศ. 4 เป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ แต่งตั้งจากครู ค.ศ. 3 ที่มีผลงานวิชาการผ่านเกณฑ์ (เทียบเท่าตำแหน่งอาจารย์ 3 ระดับ 9)
  • ครู ค.ศ. 5 เป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญพิเศษ แต่งตั้งจากครู ค.ศ. 4 ที่มีผลงานวิชาการผ่านเกณฑ์ (เป็นตำแหน่งใหม่ที่ขยายขึ้นมา เทียบเท่าตำแหน่ง อธิบดี ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในอดีต โดยอ้างอิงพรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 )

ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษา

[แก้]

ประกอบด้วยตำแหน่งต่างๆ ได้แก่

  1. รองผู้อำนวยการสถานศึกษา
  2. ผู้อำนวยการสถานศึกษา
  3. รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา
  4. ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา
  5. ตำแหน่งที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด

บุคลากรทางการศึกษาอื่น

[แก้]

ประกอบด้วยตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์ และตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จะมีคณะกรรมการกลางในการบริหารงานบุคคลและกำกับดูแลข้าราชการคือ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือก.ค.ศ.(เดิมเรียกว่า คณะกรรมการข้าราชการครู หรือ ก.ค.)

ข้าราชการฝ่ายทหาร

[แก้]

ข้าราชการทหาร คือ บุคคลที่เข้ารับราชการทหารประจำการ ข้าราชการกลาโหม และพลเรือนที่บรรจุในอัตราทหาร ในหน่วยงานทางการทหารซึ่งสังกัดกระทรวงกลาโหมหรือกองทัพไทย(แบ่งเป็น กองบัญชาการกองทัพไทย, กองทัพบก, กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ) มีคณะกรรมการข้าราชการทหาร (กขท.) กำกับดูแลเกี่ยวกับระเบียบข้าราชการทหาร[21]

ข้าราชการฝ่ายทหารยังแบ่งออกเป็น

  • ข้าราชการทหาร คือ ข้าราชการที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติราชการทหาร แบ่งชั้นยศออกเป็นชั้นประทวน (ป.) และชั้นสัญญาบัตร (น.) ซึ่งจะมีชื่อเรียกยศต่างกันตามกองทัพที่สังกัด
  • ข้าราชการพลเรือนกลาโหม คือ ข้าราชการที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติราชการในกระทรวงกลาโหม แต่ไม่ได้มียศแบบข้าราชการทหาร แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ สามัญ และวิสามัญ และแบ่งออกเป็น 2 ชั้นคือ ชั้นสัญญาบัตรและต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตร

ข้าราชการตำรวจ

[แก้]

ข้าราชการตำรวจ คือ ข้าราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง มีฐานะเป็นกรม และอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี แบ่งออกเป็นชั้นประทวน (ป.) และชั้นสัญญาบัตร (สบ.)

ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม

[แก้]

ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม คือ ข้าราชการที่บรรจุและแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติราชการในศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลยุติธรรม มีคณะกรรมการข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) เป็นคณะกรรมการกลางกำกับดูแล ตามพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ แบ่งออกเป็น

  • ข้าราชการตุลาการ(ศาลยุติธรรม) คือ ข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีความในศาลยุติธรรม
  • ดะโต๊ะยุติธรรม คือ ข้าราชการซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลาม
  • ข้าราชการศาลยุติธรรม คือ ข้าราชการที่ทำหน้าที่ด้านธุรการในสำนักงานศาลยุติธรรม

ข้าราชการฝ่ายอัยการ

[แก้]

ข้าราชการฝ่ายอัยการ คือ ข้าราชการที่บรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการในสำนักงานอัยการสูงสุด (เดิมคือ "กรมอัยการ") มีคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เป็นคณะกรรมการกลางในการกำกับดูแล ข้าราชการฝ่ายอัยการยังแบ่งออกเป็น

  • ข้าราชการอัยการ
  • ข้าราชการธุรการ ในหน่วยงานของอัยการ
เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา เป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญ

ข้าราชการรัฐสภา

[แก้]

ข้าราชการรัฐสภา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • ข้าราชการรัฐสภาสามัญ คือ ข้าราชการซึ่งรับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประจำ โดยได้รับเงินเดือนในอัตราสามัญ ใช้วิธีการจำแนกและกำหนดประเภทตำแหน่งแบบเดียวกับข้าราชการพลเรือนสามัญ
  • ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง คือ ข้าราชการซึ่งรับราชการในตำแหน่งการเมืองของรัฐสภา

ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง

[แก้]

ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง คือ ข้าราชการที่รับราชการและดำรงตำแหน่งในศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง มีคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เป็นคณะกรรมการบริหารงานบุคคล ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง แบ่งออกเป็น

  • ข้าราชการตุลาการศาลปกครอง คือ ข้าราชการที่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีในศาลปกครอง
  • ข้าราชการสำนักงานศาลปกครอง คือ ข้าราชการที่ทำหน้าที่ด้านธุรการในสำนักงานศาลปกครอง

ข้าราชการฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญ

[แก้]

ข้าราชการฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญ คือ ข้าราชการที่รับราชการและดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข้าราชการฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญ แบ่งออกเป็น

  • ข้าราชการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ ข้าราชการที่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีในศาลรัฐธรรมนูญ
  • ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คือ ข้าราชการที่ทำหน้าที่ด้านธุรการในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

ข้าราชการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

[แก้]

ข้าราชการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คือ ข้าราชการในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งได้รับบรรจุ และแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 โดยการกำหนดตำแหน่งและการให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำ ตำแหน่งของข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบ ข้าราชการพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับข้าราชการพลเรือนสามัญมาใช้บังคับ โดยอนุโลม ทั้งนี้ คำว่า "ก.พ." ให้หมายถึง คณะกรรมการ ป.ป.ช. และ คำว่า "ส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและมีหัวหน้าส่วนราชการรับผิดชอบ ในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี" ให้หมายถึงสำนักงาน ป.ป.ช. ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ข้าราชการในสายกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ข้าราชการซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย และข้าราชการทั่วไป ซึ่งแบ่งเป็น ประเภทวิชาการ และประเภททั่วไป [22]

ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

[แก้]

ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

[แก้]
เจ้าหน้าที่ดับเพลิง สังกัดสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพฯ ถือเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ[23]

ข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร

[แก้]
  • ข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร คือ บุคคลซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณหมวดเงินเดือนของกรุงเทพมหานคร หรือจากเงินงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่ให้แก่กรุงเทพมหานครนำมาจัดเป็นเงินเดือนของข้าราชการกรุงเทพมหานคร แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่[24]
    • ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ
    • ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร (เดิมเรียกว่า"ข้าราชการครูกรุงเทพมหานคร") คือ ข้าราชการที่รับราชการในสถานศึกษาของกรุงเทพมหานคร
    • ข้าราชการกรุงเทพมหานครในสถาบันอุดมศึกษา คือ ข้าราชการที่รับราชการในสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดหรือในกำกับของกรุงเทพมหานคร (มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช)
  • บุคลากรกรุงเทพมหานคร คือ ลูกจ้างกรุงเทพมหานครและพนักงานกรุงเทพมหานคร
    • ลูกจ้างกรุงเทพมหานคร คือ บุคคลซึ่งได้รับการแต่งต้งให้ปฏิบัติงานของกรุงเทพมหานครโดยได้รับค่าจ้างจากเงินงบประมาณหมวดค่าจ้างของกรุงเทพมหานครหรือจากเงินงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่ให้แก่กรุงเทพมหานครและกรุงเทพมหานครนำมาจัดเป็นค่าจ้างของลูกจ้างกรุงเทพมหานคร
    • พนักงานกรุงเทพมหานคร คือ บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างโดยได้รับค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณหมวดค่าตอบแทนของกรุงเทพมหานคร

ข้าราชการส่วนท้องถิ่น

[แก้]
ข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ชุดสีกากี ซ้าย) (เขตเลือกตั้งที่ ๑ จังหวัดอุตรดิตถ์) ขณะปฎิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550

ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2500 มาตรา 4 "ข้าราชการส่วนท้องถิ่น หมายความว่า ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด พนักงานเทศบาล พนักงานส่วนตำบล ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น แต่ไม่รวมถึงข้าราชการกรุงเทพมหานคร และมาตรา 3 วรรคสอง ตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 "ข้าราชการส่วนท้องถิ่น หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน หรือผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเรียกชื่ออย่างอื่นขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายจัดตั้ง

ตำแหน่งของข้าราชการส่วนท้องถิ่น มี 4 ประเภท ประกอบด้วย

  1. ประเภทบริหารท้องถิ่น มี 3 ระดับ ได้แก่
    1. ระดับต้น
    2. ระดับกลาง
    3. ระดับสูง
  2. ประเภทอำนวยการท้องถิ่น มี 3 ระดับ ได้แก่
    1. ระดับต้น
    2. ระดับกลาง
    3. ระดับสูง
  3. ประเภทวิชาการ มี 4 ระดับ ได้แก่
    1. ระดับปฏิบัติการ
    2. ระดับชำนาญการ
    3. ระดับชำนาญการพิเศษ
    4. ระดับเชี่ยวชาญ
  4. ประเภททั่วไป มี 3 ระดับ ได้แก่
    1. ระดับปฏิบัติงาน
    2. ระดับชำนาญงาน
    3. ระดับอาวุโส

ทั้งนี้ ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทจะถูกเรียกชื่อ แตกต่างกันไปตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนจังหวัด เรียกว่า ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปฏิบัติงานในเทศบาล เรียกว่า พนักงานเทศบาล ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนตำบล เรียกว่า พนักงานส่วนตำบล และข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ปฏิบัติงานในเมืองพัทยา เรียกว่า พนักงานเมืองพัทยา ซึ่งเป็นการเรียกชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายจัดตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทนั้น ๆ ทำให้มีผู้เข้าใจผิดว่า พนักงานเทศบาล พนักงานส่วนตำบลและพนักงานเมืองพัทยาไม่ใช่ข้าราชการ ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว มีฐานะเป็นข้าราชการ เช่นเดียวกัน

ข้าราชการการเมือง

[แก้]

ข้าราชการการเมือง คือ ผู้ที่รับราชการในตำแหน่งทางการเมืองซึ่งแบ่งออกเป็น

  • ข้าราชการการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ ข้าราชการและผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมติของคณะรัฐมนตรี
  • ข้าราชการการเมืองกรุงเทพมหานคร คือ ข้าราชการและผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในการปกครองท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร
  • ข้าราชการการเมืองท้องถิ่น และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น คือ ข้าราชการและผู้ที่ดำรงตำแหน่งราชการทางการเมืองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

พนักงานอื่นของรัฐ

[แก้]

นอกจากข้าราชการแล้วยังมีพนักงานของรัฐประเภทอื่นที่มีลักษณะงานแบบเดียวหรือคล้ายคลึงกับข้าราชการ ซึ่งจะมีลักษณะการบริหารจัดการบุคลากรแบบเดียวกับข้าราชการพลเรือนวิสามัญในอดีต คือจ้างให้รับราชการหรือปฏิบัติงานเฉพาะ หรือไม่ดำรงตำแหน่งประจำแบบข้าราชการ ซึ่งได้แก่

พนักงานราชการ

[แก้]

พนักงานราชการ บรรจุแทนอัตราของลูกจ้างประจำ

พนักงานมหาวิทยาลัย

[แก้]

พนักงานมหาวิทยาลัย บรรจุแทนอัตราของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

พนักงานรัฐวิสาหกิจ

[แก้]

พนักงานรัฐวิสาหกิจ บรรจุแทนอัตราของข้าราชการพลเรือนรัฐพาณิชย์

พนักงานองค์การมหาชนและหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ

[แก้]
  • พนักงานองค์การมหาชนและองค์การของรัฐ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ

พนักงานกระทรวงสาธารณสุข

[แก้]
  • พนักงานกระทรวงสาธารณสุข บรรจุทดแทน/รองรับบางตำแหน่งของข้าราชการ ในกระทรวงสาธารณสุขในระยะชั่วคราวจนกว่าตำแหน่งข้าราชการนั้นๆ จะว่างลงจึงจะบรรจุเป็นข้าราชการ และบรรจุทดแทนลูกจ้างประจำซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำแล้ว

ลูกจ้างประจำ

[แก้]
  • ลูกจ้างประจำ แปรสภาพมาจากข้าราชการพลเรือนวิสามัญ มีอยู่ 2 ประเภท คือ
    • ลูกจ้างประจำส่วนราชการ เงินงบประมาณ เป็นลูกจ้างประจำที่จ้างให้ปฏิบัติงานในส่วนราชการ โดยใช้เงินงบประมาณจากกระทรวงการคลัง ปัจจุบันไม่มีการบรรจุลูกจ้างประจำประเภทนี้แล้ว โดยตำแหน่งที่ว่างลงจะถูกยุบเลิก และให้จ้างพนักงานราชการมาปฏิบัติงาน/ราชการแทนตำแหน่งที่ว่างลง
    • ลูกจ้างประจำส่วนราชการ เงินรายได้ เป็นลูกจ้างประจำที่จ้างให้ปฏิบัติงานในส่วนราชการ โดยใช้เงินรายได้ของส่วนราชการนั้นๆ
  • ลูกจ้างชั่วคราว มีลักษณะงานและตำแหน่งแบบเดียวกับลูกจ้างประจำ แต่จ้างไว้ในระยะชั่วคราว

ข้าราชการในอดีต

[แก้]

ข้าราชการพลเรือนวิสามัญ

[แก้]

ข้าราชการพลเรือนวิสามัญ คือ ข้าราชการที่ส่วนราชการจ้างให้รับราชการในตำแหน่งเฉพาะ ซึ่งใช้ความสามารถ ฝีมือ และความชำนาญเป็นหลัก หรือจ้างให้รับราชการในระยะเวลาชั่วคราว ลักษณะงานจะเป็นเหมือนผู้ช่วยของข้าราชการพลเรือนสามัญ ภายหลังปีพ.ศ. 2518 รัฐบาลได้เปลี่ยนให้เรียกว่าลูกจ้างประจำ และพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ออกใหม่ก็ไม่ได้ระบุไว้ในประเภทของข้าราชการพลเรือน ซึ่งทำให้ข้าราชการพลเรือนวิสามัญถูกยกเลิกไป

เสมียนพนักงาน

[แก้]

เสมียนพนักงาน คือ ข้าราชการพลเรือนระดับล่างที่ปฏิบัติงานทั่วไปในส่วนราชการซึ่งส่วนมากจะเป็นงานธุรการ ภายหลังให้รวมกับข้าราชการพลเรือนประเภทอื่นๆ ซึ่งหากเทียบกับปัจจุบันก็คือ ข้าราชการระดับปฏิบัติการ ,ข้าราชการประเภททั่วไป หรือข้าราชการฝ่ายสนับสนุน

ข้าราชการพลเรือนรัฐพาณิชย์

[แก้]

ข้าราชการพลเรือนรัฐพาณิชย์ คือ ข้าราชการที่สังกัดหน่วยงานรัฐพาณิชย์ ได้แก่ กองไฟฟ้าหลวง กรมโยธาเทศบาล, กองไฟฟ้ากรุงเทพ กระทรวงมหาดไทย, กรมรถไฟ กระทรวงคมนาคม และกรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคม ซึ่งภายหลังหน่วยงานเหล่านี้ได้แปรสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงาน โดยหน่วยงานสุดท้ายที่มีการบรรจุข้าราชการพลเรือนรัฐพาณิชย์คือ กรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคม ซึ่งในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2521 ได้มี พระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนรัฐพาณิชย์ พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2521[25] หลังจากที่โอนหน่วยงานบางส่วนไปจัดตั้ง การสื่อสารแห่งประเทศไทย ในปีพ.ศ. 2519 ซึ่งหน่วยงานที่เหลือของกรมไปรษณีย์โทรเลขมีลักษณะงานแบบเดียวกับข้าราชการพลเรือนสามัญเป็นผู้ปฏิบัติ จึงมีผลให้ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนรัฐพาณิชย์ถูกยกเลิกไป

ข้าราชการประจำต่างประเทศพิเศษ

[แก้]

ข้าราชการประจำต่างประเทศพิเศษ คือ ข้าราชการที่ปฏิบัติราชการในต่างประเทศ เช่น เอกอัครราชทูต และกงสุล ซึ่งภายหลังให้ถือเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญที่รับราชการในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ดังนั้นในพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ จึงไม่ได้ระบุไว้ในประเภทของข้าราชการพลเรือน

สิทธิ หน้าที่ของข้าราชการ

[แก้]

บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวมอำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชนตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี [26] นอกจากนั้นข้าราชการยังมีสิทธิต่างๆ อาทิ

  • สิทธิในการรับบำเหน็จ บำนาญ
  • สิทธิในการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
  • สิทธิเกี่ยวกับสวัสดิการนอกเหนือจากเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง อาทิ ค่ารักษาพยาบาลตนเอง บิดา มารดา คู่สมรส และบุตร ค่าเช่าบ้าน ค่าครองชีพชั่วคราว ฯลฯ

ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิ์รักษาพยาบาลข้าราชการ

[แก้]

ตามปกติแล้วคนทั่วไปมักรู้สึกว่าข้าราชการได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดี ตนเองเบิกได้ บิดามารดา บุตร คู่สมรส สามารถอาศัยสิทธิ์ได้ แต่ในความเป็นจริงสิทธิ์ราชการนั้นด้อยกว่าสิทธิ์อื่นในหลายกรณี

1. ข้าราชการมีสิทธิ์รับการดูแลแบบประคับประคองด้อยกว่าสิทธิ์บัตรทอง[27]

2. แม้ว่าข้าราชการจะสามารถรักษาได้ในโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง[28] แต่ก็เป็นจุดอ่อนที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะข้าราชการจะมีปัญหาในการหาเตียง เนื่องจากข้าราชการไม่มีโรงพยาบาลคู่สัญญาที่มีข้อผูกพันธ์ทางกฎหมายเหมือนบัตรทองและประกันสังคม ซึ่งประเด็นนี้อาจเกิดอันตรายได้หากโรคมีความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาเตียงผู้ป่วยหนัก สิทธิ์ข้าราชการจะด้อยกว่าเป็นอย่างมาก[29] ทั้งนี้ โรงพยาบาลของรัฐมีปัญหาเตียงเต็ม[30] ที่เป็น 'ปัญหานิรันดร'[31] เช่นกรณี'คุณพีพี'ที่ใช้บัตรทอง โรงพยาบาลต้นสังกัดเตียงเต็ม และโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ ก็เต็ม แม้จะพยายามหาเตียงแต่ก็ไม่มีที่ใดมีเตียงเลย[32] ซึ่งในระบบของรัฐจะมีเรื่องคนไข้รอเตียงไม่ไหวเสียชีวิตไปก่อน[33] ดังนั้น ยิ่งเป็นสิทธิ์ราชการแล้วจึงยิ่งด้อยที่สุดกรณีที่ต้องหาเตียง อีกทั้งไม่มีโรงพยาบาลใดๆ ที่รับผิดชอบแต่อย่างใด

ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2566 จากแพทย์หญิงอภิชญา สุขประเสริฐ นายแพทย์ชาวไทย ระบุว่าผู้ใช้สิทธิ์ข้าราชการพลเรือนสามัญใน กทม. ต่างนอนกองอยู่ในห้องฉุกเฉินอย่างน่าเศร้า โดยในขณะนี้เป็นสิทธิ์ที่สิ้นหวังที่สุด เพราะไร้ รพ. ต้นสิทธิ์ ในขณะที่สิทธิ์ซึ่งได้เตียงเร็วที่สุด กลับเป็นบัตรทอง[34]

3. บิดา มารดา คู่สมรส และบุตร หากมาใช้สิทธิ์ข้าราชการจะไม่สามารถเบิกค่าตรวจสุขภาพประจำปีแบบข้าราชการได้[35]

4. กรมบัญชีกลางปรับระเบียบการรับยาทางไปรษณีย์ให้ต้องยืนยันตัวตนที่โรงพยาบาล หรือผ่าน Application ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566[36] ซึ่งคนวัยเกษียณหลายคนทำไม่ได้ และหลายคนไม่มีลูกหลาน ขณะที่สิทธิ์บัตรทองไม่มีข้อจำกัดแบบนี้[37]

นายแพทย์สมศักดิ์ เทียมเก่า อาจารย์แพทย์ เห็นว่า "วิธีคิดของเราพอเห็นปัญหาแบบหนึ่ง เช่น มีคนไม่ยอมยืนยันตัวตน ช็อปปิ้งยา โกงการเบิกจ่ายยา ก็มักจะออกระเบียบใหญ่มาควบคุมคนที่ทำแบบนี้ แต่คนที่ทำงานถูกต้องมาตลอดกลับรับผลกระทบไปด้วย แทนที่จะจัดการปัญหาตรงนั้นให้ตรงจุด"[38]

5. ข้าราชการบำนาญไม่สามารถเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการรักษา[39] โดยข้าราชการบำนาญไม่มีสถานะเป็นข้าราชการ[40] อีกทั้งการขอหารือและขออนุมัตินอกเหนือจากที่กําหนดไว้ตามกฎหมายด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการยังต้องทำผ่านหน่วยงานซึ่งบางกรณีผู้เกษียณไม่ได้เข้าหน่วยงาน และไม่ได้อยู่ในที่ตั้งเหมือนวัยทำงานปกติแล้ว[41]

6. ความล่าช้าหลายกรณี เช่น กรณีที่ผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการบริบาลทางการแพทย์ เมื่อเปรียบเทียบกับบัตรทอง ซึ่งเป็นสิทธิ์แรกสุดที่มีกฎหมายรองรับ ได้แก่ มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาด้วยประกันสังคม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 ส่วนสิทธิ์ข้าราชการ กรรมาธิการสาธารณสุขมีนโยบายผลักดันให้ได้รับสิทธิ์เหมือนบัตรทองและประกันสังคม[42] อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าดังกล่าวทำให้ผู้ใช้สิทธิ์ข้าราชการไม่ได้มีกองทุนช่วยเหลือเยียวยาเหมือนกับที่สิทธิ์อื่นมีไปก่อนหน้า เช่น วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 สภาผู้บริโภคได้เผยแพร่เคสที่ใช้สิทธิ์ข้าราชการไม่มีกองทุนช่วยเหลือและเยียวยาทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับสิทธิ์อีก 2 กองทุนมาก[43] หรือเรื่องผ้าอ้อมผู้ใหญ่ที่สิทธิ์บัตรทองได้รับก่อน[44] หรือเรื่องการรับยาใกล้บ้านก็เช่นกัน[45]

ความล่าช้ากรณีล่าสุดคือการปรึกษาแพทย์ผ่านระบบออนไลน์เมื่ออยู่ในต่างประเทศ สิทธิ์บัตรทองมีบริการให้คนไทยตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2567 แต่สิทธิ์ข้าราชการยังไม่มี[46]

7. ความเชื่อที่ว่าข้าราชการสามารถรับบริการในโรงพยาบาลของรัฐได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายนั้นไม่เป็นความจริง โรงพยาบาลของรัฐตามนิยามของกรมบัญชีกลางจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ยังคงเรียกเก็บเงินในรหัสรายการในราคาแพงกว่าอัตราที่กรมบัญชีกลางอนุญาตมาก ผู้ใช้สิทธิ์ข้าราชการต้องจ่ายส่วนต่างเหล่านั้นเองทุกครั้งที่รับบริการ ต่างจากบัตรทองที่ไม่มีสิทธิ์เก็บเงินเกินกว่า 30 บาทตามนโยบายของ สปสช. ได้เลย จึงทำให้สิทธิ์ข้าราชการเป็นตัวพยุงฐานะของโรงพยาบาลจำนวนมากที่ขาดทุนจากบัตรทอง หรือนำเงินที่ได้จากการเรียกเก็บผู้ใช้สิทธิ์ข้าราชการไปชดเชยยอดที่ขาดทุนจากบัตรทอง ซึ่งการเรียกเก็บเงินจากทั้งกรมบัญชีกลางและผู้ใช้สิทธิ์ข้าราชการดังกล่าวทำให้ยอดเบิกจ่ายรายหัวของกรมบัญชีกลางในงบกลางสูงกว่าสิทธิ์บัตรทอง และเพิ่มความลักลั่นทางสถิติการจ่ายเงินรายหัวของภาครัฐที่แสดงสถิติอย่างแพร่หลายของสื่อมวลชนในแต่ละปีงบประมาณ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ใช้สิทธิ์ข้าราชการในกรุงเทพฯ ยังเป็นผู้ป่วยอนาถาในโรงพยาบาลเพราะสิทธิ์บัตรทองของโรงพยาบาลต้นสิทธิ์หลายแห่งเตียงเต็มความจุตามข้อมูลในข้อ 2 ที่จะเห็นได้ว่าเป็นสิทธิ์ที่ด้อยที่สุดมาเป็นเวลานานมากแล้วสำหรับผู้ป่วยใน (IPD) โดยเฉพาะผู้ป่วยหนัก หรือผู้ป่วยเฉียบพลันที่ต้องการเตียง สิทธิ์ที่ไม่มีสังกัดนี้จะแย่ที่สุดใน 3 กองทุนหลักของประเทศ

8. ไม่ปรากฏว่าสิทธิ์ข้าราชการมีสายด่วนให้ติดต่อได้ตลอดเวลาหากมีข้อสอบถาม ร้องเรียน ร้องทุกข์ ฯลฯ เหมือนบัตรทอง (โทร.1330 บริการตลอด 24 ชม.)​ และประกันสังคม (โทร.1506 บริการตลอด 24 ชม.)​

ผู้สันทัดกรณี (นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม) เห็นว่า บัตรทองมีการพัฒนาไปไกลกว่าสวัสดิการข้าราชการ[47]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2471
  2. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑
  3. "พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. ๒๕๖๐" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-05-26. สืบค้นเมื่อ 2023-05-26.
  4. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2507
  5. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547
  6. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. ๒๕๒๑
  7. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ๒๕๒๑
  8. "พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-12-02.
  9. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓
  10. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔
  11. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
  12. ประกาศศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
  13. ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. พ.ศ. ๒๕๕๕
  14. "ระเบียบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-18. สืบค้นเมื่อ 2022-10-18.
  15. ระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2555
  16. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๕๔
  17. "พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-03-04. สืบค้นเมื่อ 2010-05-19.
  18. "พระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบข้าราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-05-26. สืบค้นเมื่อ 2023-05-26.
  19. ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547
  20. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547
  21. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. ๒๕๒๑
  22. ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. พ.ศ. 2555
  23. "ประกาศรับสมัครสอบแข่งขัน ครั้งที่ 1-2564.pdf". Google Docs.
  24. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๕๔
  25. พระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนรัฐพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๒๑
  26. "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2010-05-20.
  27. "เทียบกันชัดๆ 3 กองทุนสุขภาพ ดูแลประคับประคอง-วาระท้ายของชีวิต 'บัตรทอง' ครอบคลุมที่สุด และ 'ดีที่สุด'". TheCoverage. 20 February 2023. สืบค้นเมื่อ 25 December 2023.
  28. "สรุปสวัสดิการประกันและค่ารักษาพยาบาลจากรัฐบาล". Ramathibodi Hospital. 25 December 2023. สืบค้นเมื่อ 25 December 2023.
  29. ""ข้อย่อยที่ 1 กรณีที่ 3 ใช้สิทธิราชการ" ใน "อยากอายุยืน ต้องเล่นกล้าม"". นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์. 16 May 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-24. สืบค้นเมื่อ 25 December 2023.
  30. "'รพ.รัฐเตียงเต็ม-รพ.เอกชนเตียงว่าง' ความจริงที่เจ็บปวด". ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร(bangkokbiznews). 19 September 2018. สืบค้นเมื่อ 25 December 2023.
  31. "หัวข้อ "ปัญหาอันเป็นนิรันดร์" ใน "คนจนเตรียมจองวัด? โรงพยาบาลรัฐ "เตียงเต็ม!"". mgronline. 12 March 2017. สืบค้นเมื่อ 25 December 2023.
  32. "ปัญหาโคม่า "รพ.รัฐเตียงเต็ม" ระเบิดเวลา…ประชาชนรอความตาย". mgronline. 29 May 2018. สืบค้นเมื่อ 25 December 2023.
  33. "'เพราะกำไรไม่ใช่หัวใจสำคัญ' ใน 'ภารกิจ "หมอบุญ" สร้างเมืองวัยเกษียณ'". จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์(posttoday). 5 July 2017. สืบค้นเมื่อ 25 December 2023.
  34. "ส่วนกรุงเทพฯ (และปริมณฑลบางส่วน)". อภิชญา สุขประเสริฐ. 4 ธันวาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  35. "สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ" (PDF). รชตะ อุ่นสุข. 25 July 2014. สืบค้นเมื่อ 25 December 2023.[ลิงก์เสีย]
  36. "ส่อวุ่น 1 ต.ค. นี้ กรมบัญชีกลางปรับระเบียบผู้ป่วยข้าราชการ..." hfocus. 19 September 2023. สืบค้นเมื่อ 18 January 2024.
  37. "ข้าราชการ...เบิกจ่ายเงิน subtopic แพทย์กังวลระบบซ้ำซ้อน ทำคนไข้งง". hfocus. 19 September 2023. สืบค้นเมื่อ 18 January 2024.
  38. "subtopic สวนทางนโยบายรัฐบาลอำนวยความสะดวก ใช้ดิจิทัลเฮลธ์". hfocus. 19 September 2023. สืบค้นเมื่อ 18 January 2024.
  39. "หัวอก "ข้าราชการเกษียณ" เข้าไม่ถึงยา-สิทธิการรักษา". bangkokbiznews. 9 December 2022. สืบค้นเมื่อ 25 December 2023.
  40. "ข้าราชการบำนาญ เป็นข้าราชการหรือไม่". มีชัย ฤชุพันธุ์. 22 October 2003. สืบค้นเมื่อ 25 December 2023.
  41. "คู่มือหรือมาตรฐานการให้บริการ" (PDF). กรมบัญชีกลาง. 1 July 2003. สืบค้นเมื่อ 25 December 2023.[ลิงก์เสีย]
  42. "กมธ.สธ.เล็งเดินหน้าผลักดันเพิ่มสิทธิ ขรก.ให้ได้เงินเยียวยาเหมือนบัตรทอง-ประกันสังคม". hfocus. 22 January 2018. สืบค้นเมื่อ 18 January 2024.
  43. "เมื่อลูกต้อง 'สูญเสียดวงตา' ด้วยมะเร็ง เพราะการคัดกรองที่ล่าช้า". สภาผู้บริโภค. 6 February 2023. สืบค้นเมื่อ 28 January 2024.
  44. "เริ่มแล้ววันนี้กองทุนบัตรทองแจกฟรีผ้าอ้อมผู้ใหญ่". hfocus. 18 April 2023. สืบค้นเมื่อ 18 January 2024.
  45. "16 กลุ่มอาการ สิทธิบัตรทอง รับยาที่ร้านขายยา ได้เลย". hfocus. 24 November 2022. สืบค้นเมื่อ 18 January 2024.
  46. "คนไทย "สิทธิบัตรทอง" ต่างแดนพบหมอออนไลน์ฟรี ทุกที่เวลา". ฐานเศรษฐกิจ. 23 January 2024. สืบค้นเมื่อ 24 January 2024.
  47. "ชง 'ซูเปอร์บอร์ดฯ' แก้เหลื่อมล้ำสุขภาพ ให้สิทธิพื้นฐานทุกกองทุนไม่น้อยกว่า 'บัตรทอง'". The Coverage. 19 October 2023. สืบค้นเมื่อ 25 December 2023.

ดูเพิ่ม

[แก้]