ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประเทศที่มีความสัมพันธ์กับประเทศไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย ปัจจุบันอยู่ภายใต้อำนาจจัดการของกระทรวงการต่างประเทศ

ประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งในองค์การระหว่างประเทศและองค์การระดับภูมิภาค โดยได้พัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศอื่น ๆ ในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งได้จัดการประชุมระดับนานาชาติและการต่างประเทศประจำปี ความร่วมมือในภูมิภาคกำลังก้าวไปข้างหน้าทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การธนาคาร การเมือง และวัฒนธรรม ใน พ.ศ. 2546 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีของไทยและอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ใน พ.ศ. 2548 ประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเป็นครั้งแรก

เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศไทยได้เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากในเวทีระหว่างประเทศ เมื่อประเทศติมอร์-เลสเตได้รับเอกราชจากประเทศอินโดนีเซีย ประเทศไทย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ได้ส่งกองกำลังเพื่อความพยายามรักษาสันติภาพนานาชาติ และเพื่อความพยายามในการเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประเทศไทยจึงได้ยื่นมือออกไปยังองค์การระดับภูมิภาคอื่น ๆ อย่างเช่น องค์การนานารัฐอเมริกัน (OAS) และองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ประเทศไทยยังได้ส่งทหารเข้าร่วมในความพยายามฟื้นฟูประเทศอัฟกานิสถานและประเทศอิรักอีกด้วย

ประวัติศาสตร์[แก้]

ช่วงจักรวรรดินิยม[แก้]

การติดต่อกับชาติตะวันตกที่เสื่อมถอยลงนับตั้งแต่สมเด็จพระเพทราชาประหารชีวิตคอนสแตนติน ฟอลคอน ตอนปลายรัชสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้กลับมาเริ่มต้นอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ส่งเฮนรี เบอร์นี เป็นทูตเข้ามาจะขอทำสนธิสัญญากับไทย ในช่วงแรกรัฐบาลยังบ่ายเบี่ยงอยู่ แต่เมื่ออังกฤษรบชนะพม่าได้ ทำให้รัฐบาลไทยเริ่มเกรงกลัวแสนยานุภาพทางทหารของอังกฤษ[1] จำต้องลงนามในสนธิสัญญาเบอร์นีโดยไม่เต็มใจ แต่หลังจากที่ทำสนธิสัญญากับสหรัฐอเมริกาแล้วก็ไม่ยอมให้มีการแก้ไขสนธิสัญญาอีก เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นจนเกือบจะปะทุเป็นสงครามขึ้น[2]

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงภัยคุกคามจากชาติตะวันตกหากไม่ยอมผ่อนปรนยอมทำตามข้อเรียกร้อง จึงทรงให้จอห์น เบาว์ริง เข้ามาทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับไทย ซึ่งนับเป็นการสูญเสียอิสรภาพทางการศาลและศุลกากร เนื่องจากการให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตและการกำหนดภาษีศุลกากรที่ชัดเจน ผลจากสนธิสัญญาดังกล่าวยังเป็นการตัดสัมพันธไมตรีกับจีนอย่างเด็ดขาด ทั้งที่พระมหากษัตริย์รัชกาลก่อน ๆ ทรงพยายามรักษาไว้เสมอมา[3]

ช่วงสงครามเย็น[แก้]

ช่วงหลังสงครามเย็น[แก้]

ลำดับเหตุการณ์การสถาปนาความสัมพันธ์[แก้]

ลำดับเหตุการณ์การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและต่างประเทศ
ปี (พ.ศ.) รัฐ (วันที่สถาปนาฯ)
2147  เนเธอร์แลนด์ [4] (มีการส่งพระราชสาส์นและราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับสาธารณรัฐดัตช์ (ฮอลันดา) ในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ วันที่ 10 กันยายน เมื่อ พ.ศ. 2151)[5]
2376  สหรัฐ (20 มีนาคม)[6]
2398  สหราชอาณาจักร (18 เมษายน)[7]
2399  ฝรั่งเศส (15 สิงหาคม)[8]
2401  เดนมาร์ก (21 พฤษภาคม)[9]
2402  โปรตุเกส (10 กุมภาพันธ์)[10]
2405  เยอรมนี (7 กุมภาพันธ์)[11]
2411  สวีเดน (18 พฤษภาคม)[12];  อิตาลี (3 ตุลาคม)[13]
2413  สเปน (23 กุมภาพันธ์)[14]
2426  เบลเยียม [15] (21 กรกฎาคม)
2430  ญี่ปุ่น (26 กันยายน)[16]
2440  รัสเซีย (3 กรกฎาคม)[17]
2448  นอร์เวย์ (30 พฤศจิกายน)[18]
2474  สวิตเซอร์แลนด์ (28 พฤษภาคม)[19]
2489  ศรีลังกา (20 พฤศจิกายน)[20]
2490  อินเดีย (1 สิงหาคม)[21]
2491  พม่า (24 สิงหาคม)[22]
2492  ฟิลิปปินส์ (14 มิถุนายน)[23]
2493  อินโดนีเซีย (7 มีนาคม)[24];  กัมพูชา (19 ธันวาคม)[25];  ลาว (19 ธันวาคม)[26]
2494  ปากีสถาน (10 ตุลาคม)[27]
2495  ออสเตรเลีย (19 ธันวาคม)[28]
2496  อัฟกานิสถาน (23 เมษายน)[29];  ออสเตรีย (2 กรกฎาคม)[30]
2497  ฟินแลนด์ (17 มิถุนายน)[31];  อิสราเอล (23 มิถุนายน)[32];  อียิปต์ (27 กันยายน)[33];  เซอร์เบีย (12 พฤศจิกายน)[34]
2498  อาร์เจนตินา (2 กุมภาพันธ์)[35];  อิหร่าน (9 พฤศจิกายน)[36]
2499  ซีเรีย (10 มกราคม)[37];  นิวซีแลนด์ (26 มีนาคม)[38];  อิรัก (24 พฤษภาคม)[39]
2500  กัวเตมาลา (7 มีนาคม)[40];  มาเลเซีย (31 สิงหาคม)[41];  ซาอุดีอาระเบีย (1 ตุลาคม)[42]
2501  เลบานอน (3 กุมภาพันธ์)[43];  ตุรกี (12 พฤษภาคม)[44];  คิวบา (15 พฤษภาคม)[45];  กรีซ (26 พฤษภาคม)[46];  เกาหลีใต้ (1 ตุลาคม)[47]
2502  บราซิล (17 เมษายน)[48];  ลักเซมเบิร์ก (16 มิถุนายน)[49];  เนปาล (30 พฤศจิกายน)[50]
2504  แคนาดา (8 พฤศจิกายน)[51]
2505  ชิลี (29 ตุลาคม)[52];  ไนจีเรีย (1 พฤศจิกายน)[53];  ปารากวัย (17 ธันวาคม)[54]
2506  โบลิเวีย (1 กุมภาพันธ์)[55];  คูเวต (14 มิถุนายน)[56]
2507  เอธิโอเปีย (10 เมษายน)[57]
2508  แคเมอรูน (20 กรกฎาคม)[58];  สิงคโปร์ (20 กันยายน)[59];  เปรู (10 พฤศจิกายน)[60]
2509  โกตดิวัวร์ (30 มิถุนายน)[61];  จอร์แดน (10 พฤศจิกายน)[62]
2510  ไลบีเรีย (2 กุมภาพันธ์)[63];  ตูนิเซีย (2 กุมภาพันธ์)[64];  เคนยา (25 กรกฎาคม)[65];  สาธารณรัฐโดมินิกัน (18 กันยายน)[66]
2512  สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (14 กุมภาพันธ์)[67];  นครรัฐวาติกัน (26 เมษายน)[68]
2515  บังกลาเทศ (5 ตุลาคม)[69];  โปแลนด์ (14 พฤษจิกายน)[70];  ฟีจี (15 ธันวาคม)[71]
2516  โรมาเนีย (1 มิถุนายน)[72];  ฮังการี (24 ตุลาคม)[73];  คอสตาริกา (14 ธันวาคม)[74]
2517  มองโกเลีย (5 มีนาคม)[75];  เช็กเกีย (15 มีนาคม)[76];  บัลแกเรีย (10 สิงหาคม)[77]
2518  ไอร์แลนด์ (27 มกราคม)[78];  เกาหลีเหนือ (8 พฤษภาคม)[79];  ไอซ์แลนด์ (18 มิถุนายน)[80];  จีน (1 กรกฎาคม)[81];  เม็กซิโก (28 สิงหาคม)[82];  นิการากัว (24 พฤศจิกายน)[83];  แอลจีเรีย (6 ธันวาคม)[84];  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (12 ธันวาคม)[85]
2519  กาบอง (1 เมษายน)[86];  ปาปัวนิวกินี (19 พฤษภาคม)[87];  อุรุกวัย (15 มิถุนายน)[88];  เวียดนาม (6 สิงหาคม)[89];  มอริเตเนีย (24 สิงหาคม)[90]
2520  บาห์เรน (17 มกราคม)[91];  ลิเบีย (16 มีนาคม)[92]
2521  ซามัว (15 พฤษภาคม)[93]
2522  มอริเชียส (22 มกราคม)[94];  โคลอมเบีย (20 เมษายน)[95];  กรีเนดา (16 พฤษภาคม)[96];  มัลดีฟส์ (21 มิถุนายน)[97]
2523  เอกวาดอร์ (15 มกราคม)[98];  ไซปรัส (5 พฤษภาคม)[99];  โอมาน (30 กรกฎาคม)[100];  กาตาร์ (7 สิงหาคม)[101];  เซเนกัล (9 สิงหาคม)[102];  เบนิน (5 ตุลาคม)[103];  แทนซาเนีย (30 ธันวาคม)[104]
2524  มาลี (15 กันยายน)[105];
2525  ซูดาน (15 มิถุนายน)[106];  ไนเจอร์ (30 กรกฎาคม)[107];  ปานามา (20 สิงหาคม)[108];  เวเนซุเอลา (27 สิงหาคม)[109];  วานูวาตู (21 กันยายน)[110];  แอลเบเนีย (30 กันยายน)[111]
2526  เซียร์ราลีโอน (12 กุมภาพันธ์)[112];  เยเมน (5 เมษายน)[113];  กินี (15 เมษายน)[114];  กินี-บิสเซา (6 ธันวาคม)[115]
2527  บรูไน (1 มกราคม)[116];  ซานมารีโน (14 กุมภาพันธ์)[117];  มอลตา (4 กันยายน)[118];  จาเมกา (10 กันยายน)[119];  โซมาเลีย (1 พฤศจิกายน)[120]
2528  แกมเบีย (15 กุมภาพันธ์)[121];  ยูกันดา (15 กุมภาพันธ์)[122];  ซิมบับเว (4 เมษายน)[123];  บูร์กินาฟาโซ (12 กรกฎาคม)[124];  โมร็อกโก (4 ตุลาคม)[125];  กานา (25 ตุลาคม)[126];  บอตสวานา (29 พฤศจิกายน)[127];  ฮอนดูรัส (16 ธันวาคม)[128]
2529  ตรินิแดดและโตเบโก (22 มกราคม)[129];  จิบูตี (1 เมษายน)[130];  หมู่เกาะโซโลมอน (2 พฤษภาคม)[131];  โตโก (7 พฤษภาคม)[132];  คอโมโรส (15 กรกฎาคม)[133];  เฮติ (30 ตุลาคม)[134];  กาบูเวร์ดี (2 ธันวาคม)[135]
2530  เซนต์คิตส์และเนวิส (16 มกราคม)[136];  ซูรินาม (24 กุมภาพันธ์)[137];  เซาตูแมอีปริงซีป (7 พฤษภาคม)[138];  มาลาวี (1 มิถุนายน)[139];  เอลซัลวาดอร์ (24 กันยายน)[140];  สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (30 ตุลาคม)[141];  รวันดา (30 ตุลาคม)[142];  แซมเบีย (9 พฤศจิกายน)[143];  กายอานา (17 ธันวาคม)[144]
2531  เซเชลส์ (19 กรกฎาคม)[145];  บุรุนดี (20 กรกฎาคม)[146];  สาธารณรัฐคองโก (15 สิงหาคม)[147];  บาร์เบโดส (22 พฤศจิกายน)[148]
2532  เซนต์ลูเชีย (4 เมษายน)[149];  เลโซโท (17 เมษายน)[150];  โมซัมบิก (19 เมษายน)[151];  ภูฏาน (14 พฤศจิกายน)[152]
2533  ชาด (28 กันยายน)[153];  นามิเบีย (6 พฤศจิกายน)[154];  มาดากัสการ์ (30 พฤศจิกายน)[155]
2534  เอสวาตินี (17 มกราคม)[156];  อิเควทอเรียลกินี (15 กุมภาพันธ์)[157]
2535  ลัตเวีย (19 มีนาคม)[158];  ไมโครนีเชีย (20 มีนาคม)[159];  เอสโตเนีย (27 เมษายน)[160];  ยูเครน (6 พฤษภาคม)[161];  อุซเบกิสถาน (6 พฤษภาคม)[162];  คาซัคสถาน (6 กรกฎาคม)[163];  เติร์กเมนิสถาน (6 กรกฎาคม)[164];  อาร์มีเนีย (7 กรกฎาคม)[165];  อาเซอร์ไบจาน (7 กรกฎาคม)[166];  เบลารุส (21 กรกฎาคม)[167]; จอร์เจีย (21 กรกฎาคม)[168];  มอลโดวา (5 สิงหาคม)[169];  ทาจิกิสถาน (5 สิงหาคม)[170];  คีร์กีซสถาน (6 สิงหาคม)[171];  แองโกลา (24 สิงหาคม)[172];  โครเอเชีย (9 กันยายน)[173];  สโลวีเนีย (9 กันยายน)[174]
2536  สโลวาเกีย (1 มกราคม)[175];  ลิทัวเนีย (9 เมษายน)[176];  หมู่เกาะมาร์แชลล์ (29 ตุลาคม)[177];  เอริเทรีย (7 ธันวาคม)[178];  แอฟริกาใต้ (9 ธันวาคม)[179]
2537  ตองงา (27 มกราคม)[180]
2539  เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ (9 ธันวาคม)[181]
2540  ปาเลา (13 พฤษภาคม)[182];  ลีชเทินชไตน์ (14 สิงหาคม)[183]
2542  เบลีซ (11 มิถุนายน)[184]
2543  บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (14 กุมภาพันธ์)[185];  อันดอร์รา (28 เมษายน)[186]
2545  ติมอร์-เลสเต (20 พฤษภาคม)[187]
2548  นาอูรู (14 มกราคม)[188];  มาซิโดเนียเหนือ (23 มกราคม)[189];  คิริบาส (29 มิถุนายน)[190];  ตูวาลู (29 สิงหาคม)[191];  ดอมินีกา (25 พฤศจิกายน)[192]
2549  โมนาโก (26 มิถุนายน)[193];  แอนทีกาและบาร์บิวดา (7 กรกฎาคม)[194]
2550  มอนเตเนโกร (6 มิถุนายน)[195]
2555  ปาเลสไตน์ (1 สิงหาคม)[196]
2556  คอซอวอ (22 พฤศจิกายน)[197];  ซูดานใต้ (5 ธันวาคม)[198]
2559  บาฮามาส (21 กันยายน)[199]

บทบาทของไทยต่ออาเซียน[แก้]

การก่อตั้งอาเซียน[แก้]

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจุดเริ่มต้นนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2504 โดยประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ได้ร่วมกันจัดตั้ง สมาคมอาสา (ASA, Association of South East Asia) ขึ้นเพื่อการร่วมมือกันทาง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แต่ดำเนินการได้เพียง 2 ปี ก็ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากความผกผันทางการเมืองระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย จนเมื่อทั้งสองประเทศฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน จึงได้มีการแสวงหาลู่ทางจัดตั้งองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจขึ้นในภูมิภาค "สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" และ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร โดยมีการลงนาม ปฏิญญากรุงเทพฯ ที่พระราชวังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ อาดัม มาลิกแห่งอินโดนีเซีย, นาร์ซิโซ รามอสแห่งฟิลิปปินส์, อับดุล ราซัคแห่งมาเลเซีย, เอส. ราชารัตนัมแห่งสิงคโปร์ และถนัด คอมันตร์แห่งไทย ซึ่งถือว่าเป็นบิดาผู้ก่อตั้งองค์กร[200]

ความสัมพันธ์กับชาติในอาเซียน[แก้]

บรูไน[แก้]

ประเทศไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับบรูไน เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2526 ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและดำเนินด้วยดีมาโดยตลอด มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับราชวงศ์และผู้นำระดับสูงอยู่เสมอ ทั้งสองฝ่ายมีทัศนคติที่ดีต่อกัน ไม่เคยมีความบาดหมางทางประวัติศาสตร์และมักเป็นพันธมิตรในเรื่องต่าง ๆ ทั้งในกรอบอาเซียนและกรอบสหประชาชาติ[201]

ประเทศบรูไนมีสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพมหานคร และประเทศไทยมีสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงบันดาร์เซอรีเบอกาวัน[202] นอกจากนี้ ไทยและบรูไนยังมีทัศนะทางด้านการทหารและความมั่นคงที่สอดคล้องกัน มีความร่วมมือทางการทหารอย่างต่อเนื่อง โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงของกองทัพทั้งสองประเทศ และมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านการทหารและการส่งบุคลากรทางทหารเข้าร่วมการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ

กัมพูชา[แก้]

พรมแดนไทยที่ติดต่อกับกัมพูชาบางส่วนยังไม่ได้ปักปัน และเขตแดนทางทะเลกับกัมพูชายังไม่มีการกำหนดชัดเจน วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ประเทศไทยเรียกเอกอัครราชทูตกลับจากกัมพูชา เป็นการประท้วงที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้งพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหาร เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ[203] นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงว่านี่เป็น "มาตรการตอบโต้ทางทูตอย่างแรก" ต่อการแต่งตั้งนี้[203] เขายังแถลงอีกว่า กัมพูชากำลังแทรกแซงกิจการภายในและส่งผลให้มีการทบทวนความตกลงความร่วมมือสองฝ่ายอีกครั้ง[203] ฝ่ายรัฐบาลกัมพูชาแถลงว่า รัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธคำขอส่งตัวทักษิณข้ามแดนจากไทย ด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลกัมพูชามองว่าทักษิณเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งทางการเมือง[203] หลายเดือนก่อนการตัดสินใจของกัมพูชา กำลังทหารทั้งสองประเทศปะทะกับเหนืออาณาเขตที่ทั้งสองฝ่ายอ้างสิทธิ์ติดกับปราสาทพระวิหาร จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองเสื่อมลง[203] วันที่ 5 พฤศจิกายน เวลา 20.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นกัมพูชา กัมพูชาได้ประกาศว่า ได้เรียกเอกอัครราชทูตของตนกลับจากประเทศไทยเป็นมาตรการตอบโต้[204][205] ซก อาน สมาชิกคณะรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา แถลงว่า การแต่งตั้งทักษิณเป็นการตัดสินใจภายในของกัมพูชา และการแต่งตั้งนี้ "สอดคล้องกับการปฏิบัติระหว่างประเทศ"[205] การเรียกตัวเอกอัครราชทูตกลับประเทศของทั้งสองเป็นการดำเนินการทางทูตที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาระหว่างทั้งสองประเทศ[205]ในวันที่[206]4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ถึง 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 รัฐบาลไทยประกาศพื้นที่ภัยสงครามสงครามระหว่างไทยกับกัมพูชา ทางการไทยมีผู้เสียชีวิต 19 ราย

วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557 พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนประเทศกัมพูชา โดยทั้งสองประเทศสัญญาจะเสริมความมั่นคงตามเขตแดนร่วมและจัดการกับอาชญากรรมข้ามชาติ ฝ่ายกัมพูชาแสวงความร่วมมือในการดูแลผู้ใช้แรงงานกัมพูชาที่ทำงานในประเทศไทย รองศาสตราจารย์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เขียนว่า การพบปะอย่างเร่งด่วนนี้เป็นเพราะประเทศไทยต้องการมิตรที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร ฝ่ายพันธมิตรตะวันตกดั้งเดิมประณามรัฐประหารและใช้ "การลงโทษอย่างอ่อน" ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[207]

อินโดนีเซีย[แก้]

ประเทศอินโดนีเซียถูกมองว่าเป็นพันธมิตรกับประเทศไทยมาโดยตลอด[208] ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับดินแดนที่เป็นอินโดนีเซียในปัจจุบันมายาวนานโดยเฉพาะความสัมพันธ์กับชวา โดยมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันอย่างลึกซึ้ง ทั้งทางวรรณคดี อาหาร เครื่องแต่งกาย และเครื่องดนตรี เป็นต้น

ไทยและอินโดนีเซียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2493 ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศดำเนินไปได้ด้วยดี มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมทั้งในระดับทวิภาคีและกรอบพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือในกรอบอาเซียน นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ[209] อินโดนีเซียมีสถานเอกอัครราชทูตในกรุงเทพมหานครและสถานกงสุลในจังหวัดสงขลา ในขณะที่ไทยมีสถานเอกอัครราชทูตในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซียยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สังเกตการณ์ในกรณีพิพาทพรมแดนไทย–กัมพูชาอีกด้วย[210][211]

ความสัมพันธ์กับชาติอื่นในเอเชีย[แก้]

บังกลาเทศ[แก้]

ความสัมพันธ์ถือว่ามีความใกล้ชิดและมีการดำเนินการเพื่อเสริมสร้างการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศอยู่ตลอด ความสัมพันธ์ทางการทูตเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2515 ประเทศไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำบังกลาเทศในปี พ.ศ. 2517 และบังกลาเทศได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยในปีถัดมา การเยือนครั้งแรกระหว่างทั้งสองประเทศคือการเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีจียัล เราะห์มาน ในปี พ.ศ. 2522 ตามด้วยนายกรัฐมนตรีพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ในปี พ.ศ. 2526 ประมุขแห่งรัฐอื่น ๆ เช่น พลโทฮุสเซน มูฮัมหมัด อาชาดในปี พ.ศ. 2528, 2531 และ 2533 และ ทักษิณ ชินวัตรในเดือนกรกฎาคมและธันวาคม พ.ศ. 2545 และมกราคม พ.ศ. 2547 ประเทศไทยเป็นประเทศสำคัญในนโยบายมุ่งตะวันออก (Look East) ของบังกลาเทศ โดยความสัมพันธ์เริ่มขยายไปในหลากหลายด้าน

ทั้งสองประเทศพยายามที่จะไม่แทรกแซงในเรื่องภายในของกันและกัน ดังที่แสดงให้เห็นจากการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทั้งสองประเทศในปี พ.ศ. 2549 เช่น รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 และวิกฤตการณ์ทางการเมืองของบังกลาเทศในปี พ.ศ. 2549-2551 ทั้งสองประเทศมีความร่วมมืออย่างมากในการประชุมสุดยอดที่จัดโดยบิมสเทค (BIMSTEC) และการประชุมระดับภูมิภาคอาเซียน ชาวบังกลาเทศที่มีฐานะดีมักเดินทางมาประเทศไทยเพื่อรับการรักษาพยาบาลและผ่าตัดที่ทางการแพทย์ของบังกลาเทศไม่สามารถจัดหาได้

จีน[แก้]

ช่วงสมัยก่อนการล่าอำนาจจากตะวันตก รัฐสยาม หรือ 'เสียมก๊ก' นั้นมีความสัมพันธ์แบบรัฐบรรณาการกับประเทศจีน ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่กับประเทศจีนนั้นเป็นในรูปแบบการค้า ความขัดแย้งหรือข้อพิพาทนั้นมีน้อยมาก การที่ชาติจีนแพ้ในสงครามฝิ่นให้กับชาติตะวันตก รัฐสยามกลัวการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกเนื่องจากมีความสัมพันธ์กับจีน ประเทศไทยจึงได้ตัดความสัมพันธ์แบบรัฐบรรณาการกับประเทศจีน ช่วงการสร้างชาติใหม่ของไทยหลังการกู้เอกราชจากเมียนมา ผู้ปกครองในไทยซึ่งมีเชื้อสายจีนได้มีนโยบายนำเข้าประชากรชาวฮั่นจากประเทศจีน เนื่องจากได้เสียประชากรจำนวนมากจากสงคราม ส่วนด้านจีนเองก็มีปัญหาสงครามและความแห้งแล้ง ด้วยเหตุนี้ประชากรจำนวนมากในประเทศไทยจึงมีเชื้อสายจีน

ช่วงสงครามเย็น[แก้]

เนื่องจากประเทศไทยกลัวการแผ่ขยายเข้ามาของลัทธิคอมมิวนิสต์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนจึงเป็นแบบจำกัด ทั้งนี้รวมไปถึงการย้ายเข้าออกและการค้า ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเป็นไปอย่างหวาดระแวงและเย็นชา โดยท่าทีของรัฐบาลนั้นเป็นปรปักษ์ต่อกันมาก ทางด้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองก็มีนโยบายส่งออกลัทธิคอมมิวนิสต์ไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชียรวมถึงประเทศไทยอีกด้วย ทางด้านรัฐบาลไทยเองจำต้องจัดการปัญหาผู้ก่อกบฏคอมมิวนิสต์ในประเทศ

ช่วงหลังสงครามเย็น[แก้]

ประเทศไทยได้กลับมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอีกครั้งกับรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์พร้อมกับการตัดความสัมพันธ์แบบทางการกับพรรคชาตินิยมจีน (中国国民党;)ซึ่งเสียการครอบครองแผ่นดินใหญ่ไปให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ประเทศจีนมีส่วนสำคัญในการจัดการหยุดยั้งประเทศเวียดนามเหนือและเวียดกง ที่จะเคลื่อนพลเข้ามายึดประเทศไทย ทั้งนี้ทางจีนเองได้หยุดนโยบายให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ก่อกบฏในไทย และไทยได้ช่วยเหลือประเทศจีนในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านของไทยในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย ปัจจุบัน ประเทศไทยและประเทศจีนได้กลายเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่สำคัญมาก นอกจากนั้น ในทางการเมืองแล้วสถาบันฯของไทยได้ช่วยเหลือในการเพิ่มความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชากรชาวฮั่น (漢族) ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามามากที่สุดในโลก (มากกว่า 14% ของประชากรไทย[212]) ความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองชาติจึงเป็นไปอย่างใกล้ชิด ในช่วงปี 1985-1995 นักลงทุนไทยได้เริ่มเข้าไปลงทุนในประเทศจีน ในเวลาถัดมาช่วงปี 1997 บริษัทของรัฐบาลจีนได้เข้ามาลงทุนในไทย

ความตกลงด้านเศรษฐกิจ[แก้]

  • ข้อตกลงทางการค้า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 1978
  • พิธีสารว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย – จีน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1978
  • ข้อตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย – จีน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 1985
  • ความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน มีการลงนามเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 1985 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 1985
  • ความตกลงเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อน มีการลงนามเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 1986 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 1986
  • ข้อตกลงความร่วมมือด้านวัฒนธรรมไทย – จีน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2001
  • ความตกลงเร่งลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ระหว่างไทย – จีน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2003
  • ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วันที่ 18 ตุลาคม 2003
  • บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจ วันที่ 18 ตุลาคม 2003 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (Memo of Understanding : MOU) ร่วมกับ China Council for the Promotion of International Trade ของประเทศจีน[213]

ข้อตกลงภาคเอกชน[แก้]

  • ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) กับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งชาติจีน เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 1993
  • ข้อตกลงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และวิชาการระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้ามณฑลเหอเป่ย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2000
  • ปี 2003 สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยโดยมี พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกสมาคมคนแรก
  • บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย – จีน และสภาธุรกิจจีน – ไทย เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2001[214]

อินเดีย[แก้]

ประเทศไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2490 โดยเป็นระดับอัครราชทูตในระยะแรก ต่อมาได้ยกระดับขึ้นเป็นเอกอัครราชทูต เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2494 โดยมีสถานเอกอัครราชทูตตั้งอยู่ที่กรุงนิวเดลี และมีสถานกงสุลใหญ่อีก 3 แห่งที่โกลกาตา มุมไบ และเจนไน ส่วนประเทศอินเดียมีสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพมหานครและสถานกงสุลใหญ่ที่จังหวัดเชียงใหม่

ปัจจุบันประเทศไทยและประเทศอินเดียมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และศาสนา เพราะทั้งสองประเทศดำเนินนโยบายที่สอดรับกัน โดยอินเดียได้ริเริ่มนโยบายมุ่งตะวันออก (Look East Policy) เพื่อขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายมุ่งตะวันตก (Look West Policy) ของไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับอินเดียในฐานะมหาอำนาจและเป็นตลาดการค้าที่มีศักยภาพมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้

อิสราเอล[แก้]

ประเทศไทยและประเทศอิสราเอลสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2497 โดยอิสราเอลได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยในปี พ.ศ. 2500 ส่วนไทย เนื่องจากยังไม่ยอมรับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล เพราะยังเป็นประเด็นพิพาทกับปาเลสไตน์ จึงได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทลอาวีฟ เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล

ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้บันทึกการเสด็จเยือนครั้งประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บุคคลสำคัญจากอิสราเอลที่มาเยือนประเทศไทยรวมถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอิสราเอล พลเอกยิตซัค ราบิน และผู้นำระดับสูงของอิสราเอล เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีโกลดา เมอีร์และพลเอก โมเช ดายัน เป็นต้น

การก่อตั้งหอการค้าไทย-อิสราเอล เมื่อปี พ.ศ. 2533 ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจและขยายอัตราการค้าระหว่างประเทศ หลังจากการเยือนประเทศของรัฐมนตรีต่างประเทศนายชิมอน เปเรส ในปี 2536 ข้อตกลงทางการบินก็มีผลบังคับใช้ โดยสายการบินอิสราเอล แอล อัล เริ่มบริการเที่ยวบินมายังประเทศไทยเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลจำนวนมากเดินทางมายังประเทศไทย โดยประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาวอิสราเอลอีกด้วย

ญี่ปุ่น[แก้]

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย สามารถนับย้อนกลับได้ยาวไกลถึง 600 ปี ปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์กับประเทศไทย ชาวญี่ปุ่นมักจะได้รับฟังว่า ระหว่างปีค.ศ.1609-1630 (พ.ศ. 2152 -2173) ซึ่งตรงกับสมัยเคโชถึงสมัยคังเอ ทั้งสองประเทศมีการติดต่อกัน มีการส่งเรือ "โกะชูอิน" เดินทางมาประเทศไทย เรื่องหมู่บ้านชาวญี่ปุ่นที่พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองหลวงในขณะนั้น ตลอดจนเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของชาวญี่ปุ่นในสมัยนั้น เช่น อะคุอุอิ สึมิฮิโร, ชิโรอิ คิวเอมอน และยามาดะ นางามาสะ สันนิษฐานว่าในสมัยดังกล่าว มีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากที่สุดถึงเกือบ 3,000 คน นอกจากการติดต่อแลกเปลี่ยนกันและกันในระดับประชาชนต่อประชาชนแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนเครื่องบรรณาการและสาส์นระหว่างรัฐบาลโชกุนแห่งตระกูล "โตกุกาวะ" กับพระมหากษัตริย์แห่งอยุธยา แต่ไม่ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ จากการปิดประเทศในสมัยโชกุนอิเยะมิตสึ ทำให้การติดต่อกับต่างประเทศรวมถึงการติดต่อกับประเทศไทยได้หยุดชะงักลง แต่มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า มีเรือสินค้าจากสยามเข้าเทียบท่าที่นางาซากิจนถึงปี ค.ศ.1756 (พ.ศ. 2299 ตรงกับปี โฮเรขิที่ 6) ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นได้กลับมามีการติดต่อแลกเปลี่ยนกันใหม่อีกครั้ง ได้มีการลงนามในปฏิญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างญี่ปุ่นและไทย ในวันที่ 26 เดือนกันยายน ปีค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430 ตรงกับปีเมจิที่ 20) นับเป็นเวลา 120 ปีก่อน เป็นการเริ่มความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอย่างเป็นทางการ ปฏิญญาฉบับนี้มีเนื้อหากระทัดรัดครอบคลุมว่า ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยจะสถาปนาสัมพันธภาพต่อกัน ส่งเสริมการค้าและการเดินเรือ และจะกำหนดรายละเอียดในสนธิสัญญา ที่จะจัดทำขึ้นในอนาคต ถือเป็นสัญญาฉบับแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยเมจิ ได้ทำกับประเทศในเอเชียอาคเนย์ ปฏิญญาฉบับนี้ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปีต่อมาคือ ค.ศ.1888 (พ.ศ. 2431) หลังจากได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันกันและกัน แต่กว่าที่อินางาขิ มันจิโร อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยคนแรกจะเดินทางไปรับตำแหน่งเมืองไทย และพลตรี พระยาฤทธิรงค์รณเฉท อัครราชทูตไทยประจำญี่ปุ่นคนแรก จะเดินทางไปรับตำแหน่งที่ญี่ปุ่น ก็เป็นเวลา 10 ปีหลังจากมีการลงนามในปฏิญญา คือ ปี ค.ศ.1897 (พ.ศ. 2440 ปีเมจิที่ 30)[215]

ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยได้เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ และมีการติดต่อแลกเปลี่ยนทางการทูต เมื่อ 120 ปีมาแล้ว หลังจากที่ได้มีการลงนามในปฏิญญาทางพระราชไมตรีระหว่างญี่ปุ่นและไทย

ช่วงสงครามภาคพื้นแปซิฟิก[แก้]

ภายใต้สถานการณ์แห่งสงครามระหว่างญี่ปุ่นและจีนในเอเชีย และการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยุโรป ประเทศไทยมีนโยบายต่างประเทศที่จะไม่เข้าสู่สงคราม และพยายามรักษาเอกราชไว้ เพื่อสนองตอบนโยบายนี้ ประเทศไทยได้ทำสัญญาไม่รุกรานกันกับฝรั่งเศส และอังกฤษ ในวันที่ 12 เดือนมิถุนายน ปีค.ศ.1940 (พ.ศ. 2483 ปีโชวะที่15) และทำสนธิสัญญาว่าด้วยการจำเริญสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเลวร้ายลงเรื่อยๆ เนื่องจากปัญหาเขตแดนทางด้านอินโดจีน จนในที่สุดเกิดการสู้รบกับกองทัพของอินโดจีน-ฝรั่งเศส ในปีถัดมา คือ ปี ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) ไทยและอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส ได้บรรลุข้อตกลงในการสงบศึก ด้วยการไกล่เกลี่ยประนีประนอมของญี่ปุ่น และในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกันนี้ ญี่ปุ่นและไทยได้ยกฐานะสถานอัครราชทูตขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูต

จากสาเหตุที่ญี่ปุ่นได้ยกกองทัพเข้าไปในตอนใต้ของอินโดจีนของฝรั่งเศส ทำให้บรรยากาศในทวีปเอเชียตึงเครียดขึ้น นำไปสู่สงครามภาคพื้นแปซิฟิกในที่สุด ประเทศไทย ถึงแม้จะประกาศนโยบายเป็นกลาง แต่ก็ได้ยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านเข้าไปในเขตแดนไทยได้ในวันที่ 8 เดือนธันวาคม ปีค.ศ.1941 (พ.ศ. 2484) ในวันที่ 21 เดือนเดียวกันประเทศไทยได้ลงนามใน "กติกาสัญญาร่วมรุกร่วมรบระหว่างญี่ปุ่นกับไทย" และในวันที่ 25 เดือนมกราคม ปีค.ศ.1942 (พ.ศ. 2485) ก็ได้ประกาศสงครามกับอเมริกาและอังกฤษ และเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น ไทยได้ลงนามใน "ข้อตกลงเงินเยนพิเศษ และการใช้จ่ายเงินเยนพิเศษ" ให้ความช่วยเหลือในการจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่กองทัพญี่ปุ่น ยิ่งไปกว่านั้นได้ลงนามใน "ข้อตกลงด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่นและไทย" ประเทศไทยได้ขยายความร่วมมือกับญี่ปุ่นทั้งในด้าน การทหาร เศรษฐกิจและวัฒนธรรม

แต่สิ่งที่ไทยปรารถนาอย่างแท้จริงคือ การรักษาความเป็นเอกราชของไทยไว้ ในการที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น ไทยต้องผ่านความยากลำบากมามากมาย ตัวอย่างหนึ่งก็คือ ในการประชุมมหาเอเซียบูรพา ซึ่งญี่ปุ่นเป็นผู้เสนอให้ประชุมที่โตเกียว ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.1943 (พ.ศ. 2486 ปีโชวะที่18) มีเพียงประเทศไทยเท่านั้น ที่ส่งบุคคลที่มิใช่นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม คือพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร แต่เดิมทรงเป็นที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ และเพิ่งได้รับเลื่อนตำแหน่งให้เป็นที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรี หลังจากสงครามเกิดได้ไม่นาน ก็มีการจัดตั้งขบวนการ "เสรีไทย" โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการ และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เป็นผู้นำ ขบวนการนี้ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทางการทูตและนักศึกษา ที่ประจำและศึกษาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ไทยดำเนินการทูตแบบสองด้านอันชาญฉลาด ในทางหนึ่งแสดงท่าทีให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่ในขณะเดียวกัน ก็สร้างสายสัมพันธ์กับฝ่ายสัมพันธมิตรไว้ด้วย และสนับสนุนขบวนการใต้ดินที่ต่อต้านญี่ปุ่น [216]

ช่วงหลังสงครามภาคพื้นแปซิฟิก[แก้]

พื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ตัดสินใจยอมรับประกาศปอร์ตสดัม นายยามาโมโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในขณะนั้น ได้เข้าพบ นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ใน วันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1945 (พ.ศ. 2488 ปีโชวะที่ 20) เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการเจรจาสงบศึกระหว่าง รัฐบาลญี่ปุ่นกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ตามเงื่อนไขในกติกาสนธิสัญญาร่วมรุกร่วมรบระหว่างญี่ปุ่นและไทย มาตราที่ 4 ที่กำหนดไว้ว่าจะไม่เจรจาสงบศึกโดยลำพัง และในวันที่ 15 เดือนเดียวกันนั้น นายยามาโมโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ก็ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีของไทยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแจ้งว่าสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นได้ทรงประกาศพระราชโองการให้สงบศึก และพร้อมกันนี้ก็ได้ขอให้ฝ่ายไทยคิดหาหนทางดำเนินการเพื่อสันติภาพหลังสงครามตามแต่จะเห็นสมควรที่สุด

ดังนั้น ต่อมาในวันที่ 16 สิงหาคม รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศให้การประกาศสงครามต่ออเมริกาและอังกฤษ ที่ได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 25 มกราคม ปีค.ศ.1942 (พ.ศ. 2485 ปีโชวะที่ 17) นั้นป็นโมฆะ และในวันที่ 1 กันยายน รัฐบาลไทยได้สั่งให้สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในประเทศไทย สถานกงสุลประจำกรุงเทพ และสถานกงสุลประจำสงขลา เชียงใหม่ พระตะบอง และภูเก็ต ปิดสถานที่ทำการ และยุติการดำเนินการทางทูต และพร้อมกันนี้ ได้แจ้งเรื่องการยกเลิก "สนธิสัญญา สัญญา ข้อตกลง" ต่างๆ ที่ทำขึ้นหลังสงครามเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 1941 (พ.ศ. 2484) ให้ฝ่ายญี่ปุ่นทราบ ต่อมาในวันที่ 24 กันยายน ได้แจ้งให้ทราบเรื่องการยกเลิก "สนธิสัญญาว่าด้วยการจำเริญสัมพันธไมตรีระหว่างญี่ปุ่นกับไทย" ที่ทำขึ้นในปี ค.ศ.1940 (พ.ศ. 2483) รวมถึง "พิธีสารว่าด้วยหลักประกัน และความเข้าใจกันทางการเมือง" ที่ทำกับญี่ปุ่น ในการประชุมสงบศึกระหว่างไทยและฝรั่งเศสที่จัดขึ้นที่โตเกียวในปี 1941 (ไม่ได้มีการกล่าวถึง "สนธิสัญญาไมตรีทางการพาณิชย์และเดินเรือระหว่างญี่ปุ่นและไทย" ซึ่งได้ทำขึ้นในปี1937 (พ.ศ. 2480) แต่ในความเป็นจริง หลังสงครามภาคพื้นแปซิฟิกเป็นต้นมา สนธิสัญญานี้ก็ไม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้น เมื่อมีการรื้อฟื้นสัมพันธไมตรีระหว่างและญี่ปุ่นและไทย ในปี 1952 (พ.ศ. 2495) จึงได้แลกเปลี่ยนบันทึกช่วยจำว่าด้วยการกำหนดให้สัญญาต่างๆนี้มีผลบังคับใช้ใหม่ ในปี ค.ศ.1972 (พ.ศ. 2515) รัฐบาลไทยได้แจ้งแก่ประเทศตะวันตกรวมทั้งญี่ปุ่น รวม 17 ประเทศ ถึงเรื่องการยกเลิกสัญญาว่าด้วยการพาณิชย์และการเดินเรือ และจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีการนำสัญญานี้กลับมาใช้ใหม่) [217]

การติดต่อระหว่างพระราชวงศ์ของญี่ปุ่นและไทย[แก้]

ในเดือนพฤษภาคม ปีค.ศ.1963 (พ.ศ. 2506 ปีโชวะที่ 38) หนึ่งปีหลังจากการแก้ไขปัญหาเงินกู้ยืมในสมัยสงครามได้สำเร็จลุล่วง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ทั้งพระราชวงศ์ของญี่ปุ่นและประชาชนชาวญี่ปุ่นได้ถวายการรับเสด็จอย่างอบอุ่น และในเดือนธันวาคม ปีค.ศ.1964 (พ.ศ. 2507 ปีโชวะที่ 39) เจ้าชายอากิฮิโต มกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยเจ้าหญิงมิชิโกะพระชายา ได้เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เป็นการตอบแทน หลังจากนั้น พระราชวงศ์ของประเทศทั้งสองได้แลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนระหว่างกันเป็นการกระชับพระราชไมตรีระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

การค้า[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2548 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่าทั้งสิ้น 41,132 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการค้าสองฝ่ายเมื่อปีก่อน ร้อยละ 14.9 ซึ่งทางไทยได้ส่งออกไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 15,096 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 และนำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 26,036 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8

สินค้าที่นำเข้าจากญี่ปุ่นมากที่สุด เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบรถยนต์ เหล็กแผ่นรีดร้อน ไดโอด ทรานซิสเตอร์ ส่วนประกอบ เครื่องยนต์ เครื่องจักรที่ทำงานเป็นเอกเทศ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เหล็กแผ่นชุบ รถบรรทุก แบบหล่อสำหรับโลหะและวัสดุ และอื่น ๆ

สินค้าส่งออกจากไทยมี เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ยางธรรมชาติ แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม ไก่สดแช่เย็น เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง อาหารทะเลแปรรูป ไดโอด ทรานซิสเตอร์ เครื่องรับโทรศัพท์และส่วนประกอบ เนื้อปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง และอื่น ๆ

การลงทุนปีเมื่อปี 2548 ญี่ปุ่นได้ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4,613.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 2,680.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2547 ซึ่งส่วนมากเป็นการลงทุนในสาขาผลิตภัณฑ์โลหะ รถยนต์ และเครื่องจักร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.1 รองลงมาคือสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 12.3 (ข้อมูลจากสำนักงาน BOI กรุงโตเกียว)

กรอบความร่วมมือทวิภาคีสำคัญ[แก้]

  • การหารือหุ้นส่วนการเมืองไทย- ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Political Partnership Consultations– JTPPC)) ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 13 ตุลาคม 2548 เป็นการหารือประจำปีระหว่างปลัด กต.ไทยกับรองปลัด กต.ด้านการเมืองของญี่ปุ่น ปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการประสานช่วงวันหารือที่เหมาะสมสำหรับการหารือครั้งที่ 3
  • การประชุมประจำปีทวิภาคีด้านการเมืองและการทหาร (Politico- Military / Military- Military Consultations) ครั้งที่ 6 ที่กรุงโตเกียว เมื่อ 22- 23 มีนาคม 2549 โดยฝ่ายไทยมีนายสุรพล เพชรวรา รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กต. และ พล.ท. นรเศรษฐ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและแผนกลาโหม กห. เข้าร่วมประชุมกับผู้แทนระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศและทบวงป้องกันตนเองของญี่ปุ่น และได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคและการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ฝ่ายไทยกำลังเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั่งที่ 7 ในปี 2550
  • คณะทำงานร่วมเฉพาะกิจไทย- ญี่ปุ่น ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ฝ่ายไทยเสนอแนวคิดดังกล่าวในพฤษภาคม 2548 เพื่อเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาคนไทยในญี่ปุ่น โดยได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำ Concept Paper เสนอฝ่ายญี่ปุ่นเมื่อกรกฎาคม 2548 และได้จัดประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1 เมื่อ 15 พฤษภาคม 2549 โดยสามารถตกลงกันใน Concept Paper และแนวทางการดำเนินความร่วมมือในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า
  • การประชุมความร่วมมือทางวิชาการ หุ้นส่วนไทย-ญี่ปุ่น (Japan- Thailand Partnership Programme in Technical Cooperation - JTPP) หลังจากที่ไทยปรับบทบาทจากประเทศผู้รับเป็นผู้ให้รายใหม่ ความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น จึงเปลี่ยนไปจากการให้ความช่วยเหลือเป็นความร่วมมือในระดับหุ้นส่วน โดยฝ่ายไทยเสนอให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณารูปแบบการดำเนินการรูปแบบใหม่ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศผู้รับ
  • การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement - JTEPA)

ภายหลังการศึกษาร่วมกันระหว่างฝ่ายไทยและญี่ปุ่นซึ่งมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการเข้าร่วม ในช่วงปี 2545 - 2546 การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น จึงได้เริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 และหลังจากการเจรจาหลายครั้ง ไทยกับญี่ปุ่นสามารถบรรลุความตกลงในหลักการขององค์ประกอบที่สำคัญของ JTEPA ซึ่งนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้ร่วมกันประกาศการบรรลุความตกลงในหลักการดังกล่าวที่กรุงโตเกียวเมื่อ 1 กันยายน 2548 ความตกลง JTEP มีสาระครอบคลุม 21 บท ทั้งในด้านการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนที่ของบุคคล และด้านความร่วมมือในสาขาต่างๆ อาทิ การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การท่องเที่ยว การส่งเสริมการค้าและการลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการเกษตร

ประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันในการเจรจา ได้แก่ การเปิดเสรีสินค้าเกษตร การค้าบริการและการเคลื่อนที่ของบุคคล และการจัดตั้งกลไกถาวรเพื่อพิจารณาการจัดส่งแรงงานทักษะในสาขาที่ญี่ปุ่นต้องการและไทยมีศักยภาพ ขณะเดียวกัน ไทยได้เปิดเสรีเหล็ก ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ และการค้าบริการสาขาต่างๆ อาทิ สาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต ในระดับและระยะเวลาทยอยเปิดเสรีที่เอกชนไทยน่าจะรับได้ เพื่อประโยชน์ในการปรับตัวของโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทย

นอกจากการลงนามในร่างความตกลงฯ แล้ว ไทยกับญี่ปุ่นได้ตกลงให้มีการลงนามในเอกสารเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือ 7 เรื่อง ได้แก่ ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนครัวไทยสู่โลก ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การอนุรักษ์พลังงาน เศรษฐกิจสร้างมูลค่า และหุ้นส่วนภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเกษตร

สำนักงานเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่าการจัดทำหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นน่าจะมีผลบวกทางด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทยอย่างมาก โดยในมิติยุทธศาสตร์จะทำให้ไทยเป็นหุ้นส่วนที่มีความเท่าเทียมใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับญี่ปุ่น ขณะที่ในมิติเศรษฐกิจ จะส่งผลในการขยายตลาดและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยในญี่ปุ่น ทำให้สินค้าเกษตรของไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้น ตอกย้ำการเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในไทย สนับสนุนการปรับโครงสร้างเพื่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคต และขยายโอกาสทางด้านตลาดแรงงานฝีมือของไทยในญี่ปุ่น และในมิติการพัฒนา จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชนได้กล่าวถึงผลกระทบรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมต่อประเทศไทยจากเรื่องขยะ ของเสียอันตรายที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากความตกลงนี้ เช่น การใช้มาตรการปกป้องสองฝ่ายที่กำหนดไว้ใน JTEPA นั้น สามารถใช้ได้เพียงกรณีที่เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน ไม่ได้รวมถึงความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากมีปัญหามลพิษเกิดขึ้นจากการนำเข้าขยะของเสียอันตราย ก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะใช้มาตรการปกป้องได้ [218]

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ประเทศญี่ปุ่นให้แก่ประเทศไทย[แก้]

ประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทย ผ่านความช่วยเหลือทางการเงินและเทคโนโลยี ญี่ปุ่นเริ่มความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีหลังจากการเข้าร่วมแผนการโคลัมโบในปี ค.ศ.1954 (พ.ศ. 2497) ความช่วยเหลือทางการเงิน เริ่มจากการจัดการปัญหาเงินกู้ยืมในระหว่างสงคราม (เงินกู้เงินเยนพิเศษ) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1955 (พ.ศ. 2498) ที่กล่าวถึงในข้างต้น ในปัจจุบันญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือทั้งในรูปแบบการให้กู้ และความช่วยเหลือทางการเงินแบบให้เปล่า และความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย[219]

ไต้หวัน[แก้]

หลังจากพรรคก๊กมินตั๋งถอยหนีมาอยู่บนเกาะไต้หวัน ประเทศส่วนใหญ่ยังคงรักษาความสัมพันธ์กับรัฐบาลสาธารณรัฐจีนเอาไว้ แต่การรับรองสถานะก็ลดลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องเมื่อในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 มีหลายประเทศได้เปลี่ยนไปรับรองสถานะของสาธารณรัฐประชาชนจีนแทน ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้ยกเลิกความสัมพันธ์แบบทางการกับไต้หวันเนืองจากแรงกดดันจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยจีนแผ่นดินใหญ่มีนโยบาย 'จีนเดียว' เท่านั้นจึงสามารถดำเนินความสัมพันกับจีนแผ่นดินใหญ่ได้ แต่ยังคงมีการติดต่อเป็นปกติในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษาวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และแรงงาน โดยมีช่องทางการติดต่ออย่างไม่เป็นทางการผ่านสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป (Taipei Economic and Cultural Office) ซึ่งเป็นตัวแทนของไต้หวัน ตั้งอยู่ที่ชั้น 20 เอ็มไพร์ทาวเวอร์ 195 ถนนสาธรใต้ และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (Thailand Trade and Economic Office) ไทเป เลขที่ 168, 12th Floor, Sung Chiang Road, Chungshan District, Taipei 104[220]

RC (Taiwan)

ไต้หวันได้พยายามผลักดันความสัมพันธ์ทวิภาคีกับไทยระหว่างหน่วยงานภาครัฐมาตลอด ได้แก่

  • การลงนาม ATA Carnet Agreement (ความตกลงว่าด้วยการนำเข้าสินค้าผ่านศุลกากร

ชั่วคราว) ขณะนี้สองฝ่ายอยู่ระหว่างการพิจารณาภาคผนวกของร่างความตกลงตามแนวทางอนุสัญญา ศุลกากรว่าด้วยเอกสารค้าประกันที่นำของเข้าชั่วคราว และจะได้มีการลงนามโดยผู้อำนวยการสำนักงาน เศรษฐกิจการค้าของทั้งสองฝ่ายต่อไป[221]

  • ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ได้มีการลงนามไปเมื่อ ปี 1999 แต่ความตกลงฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยในปัจจุบันกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่าง การดำเนินการขั้นตอนภายในประเทศ เพื่อเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป[222]
  • การศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-ไต้หวัน ไต้หวันได้พยายามผลักดันให้ไทยเริ่มต้นศึกษาความเป็นไปได้ในการทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจ นำไปสู่การจัดทำ FTA ในอนาคต ซึ่งหน่วยงานภาครัฐมีความเห็นว่า ไต้หวันพยายามที่จะยกระดับ ความสัมพันธ์กับไทย และต้องการให้นานาประเทศยอมรับว่า ไต้หวันเป็นประเทศ (country) มิใช่เป็นเพียง เขตเศรษฐกิจ (economy) อย่างไรก็ตาม การกระชับความสัมพันธ์กับไต้หวันคงต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ กับจีน และต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีด้วย ดังนั้น ความเป็นไปได้ในการจัดทำ Economic Cooperation Agreement กับไต้หวันจึงน้อยมาก หากไต้หวันประสงค์จะทำการศึกษาความเป็นไปได้ (Study) ก็น่าจะขอให้ภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายรับผิดชอบดำเนินการ ส าหรับฝ่ายไทย สภาหอการค้าแห่ง ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่มีความพร้อมและสามารถช่วยทำการศึกษาในเรื่องนี้ได้ โดย ภาครัฐอาจช่วยให้ข้อเสนอแนะและคำแนะนำสาระของการศึกษา[223]

เกาหลีใต้[แก้]

ไทยและเกาหลีใต้ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับอัครราชทูตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2501 และยกระดับขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2503 เมี่อปี 2551 ไทยและเกาหลีใต้ได้ฉลองครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน มีการจัดกิจกรรมที่ครอบคลุมทุกมิติของความสัมพันธ์ภายใต้คำขวัญว่า สานสายใยไทย-เกาหลี 50 ปีสู่อนาคต หรือ 50 Years Friendship for the Future กิจกรรมที่สำคัญได้แก่ งานเลี้ยงรับรอง (วันที่ 1 ตุลาคมที่โซล และ 2 ตุลาคม ที่กรุงเทพฯ) การแลกเปลี่ยนการแสดงทางวัฒนธรรม การสัมมนาทางวิชาการ การออกตราไปรษณียากรร่วม การเยือนของทหารผ่านศึกและการจัดสร้างอนุสาวรีย์ทหารไทยในสงครามเกาหลีที่นครปูซาน[224]

ความสัมพันธ์กับชาติในอเมริกาเหนือ[แก้]

สหรัฐฯ[แก้]

ช่วงแรก[แก้]

ไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์มายาวนาน โดยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2376 จากที่ทั้งสองฝ่ายมีสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โดยในปีดังกล่าว ประธานาธิบดี Andrew Jackson ของสหรัฐฯ (ดำรงตำแหน่งปี 2372-2380) ได้ส่งนาย Edmund Roberts เป็นเอกอัครราชทูตเดินทางมายังกรุงเทพฯ พร้อมทั้งนำสิ่งของมาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งรวมถึงดาบฝักทองคำที่ด้ามสลักเป็นรูปนกอินทรีและช้าง และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้พระราชทานสิ่งของตอบแทนซึ่งเป็นของพื้นเมือง เช่น งาช้าง ดีบุก เนื้อไม้ และกำยาน เป็นต้นโดยภารกิจสำคัญของนาย Robert คือการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาทางการค้ากับไทย เช่นเดียวกับที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาและข้อตกลงทางการค้ากับสหราชอาณาจักรเมื่อ ปี 2369

การจัดส่งคณะทูตสหรัฐฯ มายังไทยแสดงให้เห็นถึงความสนใจของสหรัฐฯ ที่จะติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่ในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากที่ได้มีชาติตะวันตกอื่นๆ เช่น โปรตุเกส และสหราชอาณาจักร ได้เข้ามาค้าขายกับไทยอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ ไทยและสหรัฐฯ ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในปี 2399

อย่างไรก็ดี ในช่วงก่อนหน้านั้นปรากฏหลักฐานการติดต่อระหว่างทั้งสองประเทศตั้งแต่ต้น สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีเรือกำปั่นของชาวสหรัฐฯ ลำแรก โดยมีกัปตันแฮน (Captain Han) เป็นนายเรือได้แล่นเรือบรรทุกสินค้าผ่านลำน้ำเจ้าพระยาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปี 2364 หรือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ไม่มีความต่อเนื่องเพราะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ห่างไกลกัน และสหรัฐฯ ไม่ค่อยความสนใจหรือมีผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ โดยสหรัฐฯ มีสถานกงสุลเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคนี้ที่ปัตตาเวีย (กรุงจาการ์ตาในปัจจุบัน)

แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะมีสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ความสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการ รวมทั้งเรือสินค้าสหรัฐฯ ได้เริ่มต้นเดินทางมาถึงไทยแล้วก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศก็ยังไม่ขยายตัว เนื่องจากไม่มีการติดต่อที่ใกล้ชิด รวมทั้งการค้ากับต่างประเทศของไทยโดยเฉพาะกับประเทศตะวันตกก็ยังไม่ขยายตัว เนื่องจากฝ่ายไทยยังคงบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการค้ากับต่าง ประเทศ และยังคงมีการผูกขาดกิจการต่างๆ แต่ในช่วงต้นของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ คณะบาทหลวงสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในระดับประชาชนสู่ประชาชน ในขณะที่ความสัมพันธ์ในระดับรัฐต่อรัฐยังไม่เป็นรูปธรรมนัก โดยเมื่อปี 2374 บาทหลวง David Abeel, M.D. มิชชันนารีชาวสหรัฐฯ ได้เดินทางมาไทยและพำนักอยู่ในกรุงเทพฯหลังจากนั้น คณะบาทหลวงอีกหลายคณะได้เดินทางและมาพำนักในไทย อย่างไรก็ดี คณะบาทหลวงสหรัฐฯ ไม่ประสบความสำเร็จในภารกิจการเผยแพร่ศาสนาเท่าใดนัก แม้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยไม่ได้ทรงขัดขวางการเผยแพร่ศาสนา "มีผู้กล่าวไว้ว่า ไม่มีประเทศใดที่มิชชันนารีจะได้รับการต่อต้านการเผยแพร่ศาสนาน้อยที่สุด หรือเกือบไม่มีเลยเท่าประเทศไทย และก็ไม่มีประเทศใดที่คณะมิชชันนารีได้รับผลสำเร็จน้อยที่สุดเท่าประเทศไทย เช่นเดียวกัน" แต่คณะบาทหลวงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาในหลายด้าน เช่น การศึกษาโดยเฉพาะการสอนภาษาอังกฤษ การจัดตั้งสถาบันการศึกษาที่สำคัญๆ ได้แก่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ โรงเรียนปรินส์รอยัล และโรงเรียนดาราวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข คณะบาทหลวงสหรัฐฯ มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ในไทย โดยเฉพาะนายแพทย์ Danial B. Bradley ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการรักษาไข้ทรพิษและอหิวาตกโรค รวมทั้งเป็นผู้จัดตั้งโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์แห่งแรกในไทย และพำนักอยู่ในไทยเป็นเวลาเกือบ 40 ปี นอกจากนี้ คณะบาทหลวงสหรัฐฯ ยังมีส่วนในการจัดตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดอื่นๆ เช่น จังหวัดลำปาง จังหวัดตรัง จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งโรงพยาบาลแมคคอมิกส์ที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์โรงพยาบาลศิริราชด้วย

ในช่วงที่ไทยจำเป็นต้องดำเนินนโยบายให้พ้นภัยคุกคามจากลัทธิอาณานิคมของ ประเทศมหาอำนาจยุโรป ที่ปรึกษาชาวสหรัฐฯ ซึ่งเป็นชาติที่มีความเป็นกลาง และไม่ได้แข่งขันทางผลประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะการแสวงหาอาณานิคมกับประเทศยุโรปในภูมิภาค ได้เข้ามีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ การศาล การพัฒนา และคำปรึกษาทั่วไปให้กับไทยโดยที่ปรึกษาชาวสหรัฐฯ คนแรก ได้แก่ นาย Edward H. Strobel ซึ่งมีส่วนสำคัญในการคลี่คลายปัญหาข้อพิพาทด้านพรมแดนฝั่งตะวันออกระหว่าง ไทยกับฝรั่งเศส รวมทั้งช่วยเจรจากับฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรให้ผ่อนผันในเรื่องสิทธิสภาพ นอกอาณาเขต นอกจากนี้ นาย Jen I. Westengard ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินระหว่างปี 2450-2458 มีบทบาทในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ต่อมาได้รับพระราชทานพระราชบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรีในสมัยรัชกาลพระ บาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ และในปี 2468 นาย Francis B. Sayre (ซึ่งได้รับพระราชทานพระราชบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรีด้วยเช่นกัน) มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขสนธิสัญญาระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะด้านศุลกากรและกฎหมาย รวมทั้งมีบทบาทในการช่วยเหลือไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนาย Sayre ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสหประชาชาติเพื่อการบรรเทาทุกข์ และบูรณะความเสียหายของประเทศ (The United Nations Relief and Rehabilitation Administration -UNRRA)

การที่ไทยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายพันธมิตรในการป้องกันประเทศจากการ ที่ญี่ปุ่นเดินทางทัพเข้ามาในดินแดนไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ไทยจำเป็นต้องประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ในปี 2485 อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะนั้น ไม่ได้ประกาศสงครามกับไทย เนื่องจากมีการจัดตั้งเสรีไทยในสหรัฐฯ และรัฐบาลสหรัฐฯ ให้การสนับสนุน รวมทั้งการจัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในไทย ซึ่งมีผลอย่างมากต่อสถานการณ์ภายหลังสงครามของไทยที่สหรัฐฯ สนับสนุนท่าทีที่ผ่านมาของไทย โดยถือว่าไทยไม่ได้เป็นคู่สงครามแต่เป็นดินแดนที่ถูกยึดครอง (occupied territory) ในระหว่างสงคราม ภายหลังสงครามสหรัฐฯ ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยในทันที รวมทั้งช่วยเหลือไทยในการเจรจาให้สหราชอาณาจักรลดข้อเรียกร้องและการตั้ง เงื่อนไขต่างๆ จำนวน 21 ข้อ ที่กำหนดขึ้นภายหลังสงครามกับไทย โดยสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับสหราชอาณาจักรให้กับไทย รวมทั้งสนับสนุนและให้คำปรึกษาการกับไทยในการเจรจากับฝรั่งเศสและรัสเซีย เพื่อเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี 2489[225]

ช่วงทศวรรษที่ 1960 - 1970[แก้]

ความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงเป็นพื้นฐานสำคัญของภาพรวมความสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงที่ฝรั่งเศสเริ่มต้นเจรจากับฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ใน เวียดนาม ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าครอบครองพื้นที่ทางตอนเหนือของเวียดนามได้ ในขณะที่ประธานาธิบดี Eisenhower มีนโยบายที่เด่นชัดมากขึ้นในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชีย และได้เป็นแกนนำหลักในการชักชวนให้ประเทศในเอเชียรวมตัวกันเพื่อป้องกัน ประเทศจากภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ โดยสหรัฐฯ ได้ร่วมกับไทย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน อิตาลี ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ลงนามในสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Southeast Asia Collective Defense Treaty หรือ Manila Pact) ที่กรุงมะนิลา เมื่อปี 2497 ซึ่งได้นำไปสู่การก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Southeast Asia Treaty Organization – SEATO) นอกจากนี้ ไทยและสหรัฐฯ ยังมีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศระหว่างกันใน กรอบทวิภาคี ตามแถลงการณ์ร่วมของนายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนาย Dean Rusk รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (Rusk-Thanat Communique') เมื่อปี 2505 ที่ย้ำถึงการเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาระหว่างกันของไทยและสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ถือว่าเอกราชและ บูรณภาพของไทย มีความสำคัญยิ่งต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และสันติภาพของโลก และจะให้การปกป้องไทยจากการรุกรานตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ

เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งในอินโดจีนขยายตัวออกไปจนกระทั่งสหรัฐฯ ต้องเข้ามามีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลเวียดนามใต้ ไทยได้ให้ความร่วมมือตามคำร้องขอของสหรัฐฯ โดยให้ใช้ท่าอากาศยาน และฐานทัพในไทย รวมทั้งจัดส่งทหารจำนวนประมาณ 12,000 นายไปร่วมรบในเวียดนามด้วย โดยสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายของกำลังพล ซึ่งในช่วงดังกล่าว ความช่วยเหลือด้านการทหารของสหรัฐฯ ต่อไทยมีจำนวนสูงขึ้นถึง 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2511 และระหว่าง 2508 - 2513 สหรัฐฯ ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อปรับปรุงฐานทัพในไทย ในขณะเดียวกันความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นความช่วยเหลือแก่รัฐบาลไทยในการต่อสู้เพื่อเอาชนะผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ผ่านโครงการส่งเสริมความมั่นคง การพัฒนาชนบท การสาธารณสุข การเกษตร และการศึกษา เป็นต้น[226]

ช่วงทศวรรษที่ 1970 – 1980[แก้]

สหรัฐฯ ได้ลดบทบาทการมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้งในอินโดจีน ซึ่งการปรับเปลี่ยนท่าทีทางนโยบายดังกล่าว เป็นผลจากกระแสการต่อต้านสงครามในสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ หลังจากที่ประธานาธิบดี Richard Nixon (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2512 – 2517)ได้ประกาศนโยบาย Nixon Doctrine ซึ่งระบุว่า สหรัฐฯ จะไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียด้วยการส่งทหารสหรัฐฯ เข้าไปโดยตรง แต่ประเทศในเอเชียต้องรับภาระการป้องกันประเทศด้วยตนเอง โดยสหรัฐฯ จะสนับสนุนความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจด้านอื่นๆ แก่ประเทศเหล่านั้น ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคมภายในของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวจากช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นส่วนสนับสนุนกระแสต่อต้านสงครามมากยิ่งขึ้น ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ลดบทบาทและการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับกิจการต่างประเทศลง และหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายภายในประเทศ และตัดทอนงบประมาณการต่างประเทศมาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภายในประเทศ นอกจากนี้ การเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนโดยประธานาธิบดี Nixon เดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่งในปี 2514 เป็นสัญญาณที่สำคัญต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศในแนวทางที่สหรัฐฯ จะลดบทบาททางความมั่นคงและทางทหารในภูมิภาคลง

การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศหลังสหรัฐฯ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน และการถอนทหารของสหรัฐฯ จากอินโดจีน ทำให้ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และหลังการลงนามข้อตกลงสันติภาพเพื่อยุติสงครามเวียดนามอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2516 กระแสต่อต้านสหรัฐฯ ในไทยเพิ่มมากขึ้น การเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษา ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ยิ่งมีส่วนส่งเสริมให้กระแสต่อต้านสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น มีการเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากประเทศไทย และเมื่อเกิดเหตุการณ์เรือสินค้า Mayaguez เมื่อปี 2518 ซึ่งทหารสหรัฐฯ ได้พยายามช่วยเหลือลูกเรือจากฝ่ายเขมรแดง โดยใช้ฐานทัพในไทยโดยไม่ได้ขออนุญาต รัฐบาลไทยได้ดำเนินการประท้วง และแจ้งให้ฝ่ายสหรัฐฯ ดำเนินการถอนทหารออกจากไทยทั้งหมดภายในปี 2519[227]

ช่วงสงครามเวียดนาม[แก้]

ไทยได้ให้ความร่วมมืออย่างมากกับสหรัฐฯ ในขณะที่ สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านความมั่นคงเป็นจำนวนมากแก่ไทยด้วยเช่นกัน นับได้ว่าทั้งสองฝ่ายได้พึ่งพาอาศัยกันบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันมาโดย ตลอด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลังจากที่สหรัฐฯ ถอนกำลังทางทหารออกจากเวียดนาม และปรับเปลี่ยนนโยบายโดยลดบทบาทด้านการเมือง การทหารในภูมิภาคลง แต่สหรัฐฯ ยังคงให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของไทยในการแก้ไขปัญหาความขัด แย้งในภูมิภาคอินโดจีน โดยสหรัฐฯ สนับสนุนทางความพยายามของไทยและสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations – ASEAN) ในการแก้ไขปัญหากัมพูชาโดยวิถีทางการเมือง และสนับสนุนการจัดตั้งเวทีประชุมความมั่นคงภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Forum – ARF) ด้วย ความสัมพันธ์ทางด้านความมั่นคงและการทหารระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่มิได้อยู่ในระดับที่ใกล้ชิดเท่ากับในช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯ เห็นว่าไทยเป็นพันธมิตรทางทหารที่สำคัญ การฝึกร่วมผสม Cobra Gold ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งมีเป็นประจำทุกปี ถือเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพันธมิตรทางทหาร และเป็นการฝึกร่วมผสมที่ใหญ่ที่สุดที่สหรัฐฯ มีอยู่กับประเทศต่างๆ โดยในระยะหลัง เป็นการฝึกร่วมผสมไทย-สหรัฐฯ มีประเทศอื่นๆ เข้าร่วมฝึกในบางสาขา เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมองโกเลีย และอีก 16 ประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ มอบสถานะพันธมิตรสำคัญนอกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (Major Non NATO Ally - MNNA) ให้แก่ไทยเมื่อปี 2546 เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นพันธมิตรในด้านการทหารและความมั่นคงของทั้ง สองฝ่ายอีกระดับหนึ่งด้วย[228]

ช่วงหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายวันที่ 11 กันยายน 2544[แก้]

นโยบายการเมืองและความมั่นคงของสหรัฐฯ ภายหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ถือเป็นจุดปรับเปลี่ยนที่สำคัญของการดำเนินนโยบายการเมืองและความมั่นคงของ สหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการและความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการต่อต้าน การก่อการร้ายในลำดับแรกของนโยบายด้านดังกล่าว รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดำเนินการและความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ ในการลดและป้องกันการเผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์และอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้าง สูง ตลอดจนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งสหรัฐฯ เห็นว่ามีความเกี่ยวพันกับขบวนการก่อการร้าย

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังคงผลักดันความเป็นประชาธิปไตยและการให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในฐานะ ประเด็นสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในฐานะพันธมิตรทางสนธิสัญญา สหรัฐฯ ประสงค์ให้ไทยสนับสนุนและเป็นแนวร่วมในการต่อต้านการก่อการร้ายในเวทีการ เมืองโลกอย่างเปิดเผย เพื่อประโยชน์ในการแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นถึงการสนับสนุนที่สหรัฐฯ ได้รับจากประเทศต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา ไทยก็ได้ตอบสนองในฐานะพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ ด้วยการให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในขอบเขตที่พึ่งกระทำได้โดยไม่กระทบต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ โดยไทยมีความร่วมมือทวิภาคีกับสหรัฐฯ ในการปราบปรามการก่อการร้าย โดยเฉพาะในด้านการแลกเปลี่ยนข่าวกรอง การจับกุมผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย รวมทั้งการสนับสนุนสหรัฐฯ ในการดำเนินการในเวทีระหว่างประเทศ เช่น การส่งกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจเข้าไปช่วยเหลือในการฟื้นฟูบูรณะอัฟกานิสถาน หลังจากการโค่นล้มรัฐบาลตาลิบันเมื่อต้น ปี 2545 และการส่งทหารไทยเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การบูรณะและฟื้นฟูอิรักภายหลังสงครามในปี 2546 เป็นต้น ไทยและสหรัฐฯ ได้ดำเนินโครงการความร่วมมือร่วมกันในด้านการต่อต้านการก่อการร้ายในแนวทาง อื่นๆ ด้วย เช่น การสนับสนุนข้อเสนอของสหรัฐฯ ในกรอบเอเปคในเรื่องความมั่นคงทางการค้าในภูมิภาค (Secure Trade in the APEC Region: STAR) การเข้าร่วมในโครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพฯ แหลมฉบังให้เป็นท่าเรือตัวอย่างที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย (Bangkok/ Laem Chabang Efficient and Secure Trade - BEST) ที่สอดคล้องกับมาตรฐานของข้อริเริ่มด้านการต่อต้านการก่อการร้าย (STAR Initiative) ของสหรัฐฯ การเข้าร่วมในโครงการ Container Security Initiative (CSI) ซึ่งเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยในการขนส่งตู้สินค้าเข้าไปสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการก่อการร้าย และโครงการจัดทำศูนย์ข้อมูลบุคคล (The Personal Identification, Secured Comparison and Evaluation System - PISCES) เป็นต้น

นอกจากนี้ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ยังเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สหรัฐฯ หันมาให้ความสนใจกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมุสลิมอยู่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ซึ่งถือเป็นจุดเปราะบางที่จะเกิดปัญหาการขยายตัวของขบวนการ / กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงต่อต้านสหรัฐฯ ในขณะเดียว สหรัฐฯ ก็ตระหนักดีว่า สถานการณ์ในภาคใต้ของไทยเป็นกิจการภายในของไทยและไม่ปรากฏหลักฐานว่าเกี่ยว ข้องกับการก่อการร้ายสากล แต่สหรัฐฯ มีข้อวิตกกังวลว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจเปิดโอกาสให้ปัจจัยภายนอกเข้าแทรก แซง และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านข่าวกรอง การที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติต่างๆ เช่น การฟอกเงิน การลักลอบค้ายาเสพติด และการลักลอบค้าเด็กและสตรี ฯลฯ ซึ่งสหรัฐฯ เห็นว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับปัญหาการก่อการร้ายระหว่างประเทศ และมุ่งหวังจะให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ ประกอบกับสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับค่านิยม (value) ด้านสิทธิมนุษยชน และหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงประสงค์ให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยเพิ่มบทบาทในเรื่องนี้ด้วย และติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้จากการจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านสิมธิมนุษยชนและสถานการณ์การค้า มนุษย์ประจำปีของสหรัฐฯ ที่วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีการวิสามัญฆาตกรรมในการดำเนินนโยบายต่อต้านยาเสพติดของไทย หรือความไม่คืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้าเด็กและสตรีในไทย ซึ่งในบางครั้งการวิพากษ์วิจารณ์ของสหรัฐฯ โดยไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน ก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันได้[229]

ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558 การบินไทยได้จัดเที่ยวบินสุดท้ายระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิสแวะท่าอากาศยานนานาชาติอินช็อนปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิภายหลังจากนั้นไม่มีเที่ยวบินของสายการบินใดทำการบินระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาอีกเลยยกเว้นขนส่งอากาศยาน

อ้างอิง[แก้]

  1. ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๔๕๓ ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช. ISBN 9740841244. หน้า 154.
  2. ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๔๕๓ ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช. ISBN 9740841244. หน้า 168.
  3. ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๔๕๓ ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช. ISBN 9740841244. หน้า 183.
  4. "ประเทศในยุโรป : เนเธอร์แลนด์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  5. ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
  6. A Guide to the United States’ History of Recognition, Diplomatic, and Consular Relations, by Country, since 1776: Thailand
  7. "ประเทศในยุโรป : สหราชอาณาจักร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-06. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  8. "ประเทศในยุโรป : ฝรั่งเศส (รวมดินแดนโพ้นทะเล)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  9. "ประเทศในยุโรป : เดนมาร์ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-30. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  10. "ประเทศในยุโรป : โปรตุเกส". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-31. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  11. "ประเทศในยุโรป : เยอรมนี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-30. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  12. "ประเทศในยุโรป : สวีเดน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-31. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  13. http://www.europetouch.in.th/main/NationalityDetail/%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B5=15ll5l84l84l58l96l.html เก็บถาวร 2018-02-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประเทศในยุโรป : อิตาลี]
  14. "ประเทศในยุโรป : สเปน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  15. "ประเทศในยุโรป : เบลเยียม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  16. "ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-30. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  17. "ประเทศในยุโรป : รัสเซีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  18. "ประเทศในยุโรป : นอร์เวย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-30. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  19. "ประเทศในยุโรป : สวิตเซอร์แลนด์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  20. "ศรีลังกา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  21. "อินเดีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  22. "เมียนมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  23. "ฟิลิปปินส์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  24. "อินโดนีเซีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  25. "กัมพูชา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  26. "ลาว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  27. "ปากีสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  28. "ออสเตรเลีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  29. "อัฟกานิสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  30. "ประเทศในยุโรป : ออสเตรีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-30. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  31. "ประเทศในยุโรป : ฟินแลนด์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  32. อิสราเอล
  33. อียิปต์
  34. "ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง สถาปนาความสัมพันธ์ ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศยูโกสลาเวีย". dl.parliament.go.th. 1954-11-16. สืบค้นเมื่อ 2021-12-29.
  35. "อาร์เจนตินา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  36. อิหร่าน
  37. "ซีเรีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-22. สืบค้นเมื่อ 2020-04-10.
  38. "นิวซีแลนด์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  39. อิรัก
  40. "กัวเตมาลา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  41. "มาเลเซีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  42. "ซาอุดีอาระเบีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  43. "เลบานอน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-22. สืบค้นเมื่อ 2020-04-10.
  44. "ประเทศในยุโรป : ตุรกี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-30. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  45. "คิวบา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-14. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  46. "ประเทศในยุโรป : กรีซ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-31. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  47. "เกาหลีใต้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  48. "บราซิล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  49. "ประเทศในยุโรป : ลักเซมเบิร์ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-30. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  50. "เนปาล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  51. "แคนาดา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  52. "ชิลี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  53. "ไนจีเรีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  54. "ปารากวัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  55. "โบลิเวีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  56. คูเวต[ลิงก์เสีย]
  57. "เอธิโอเปีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  58. "แคเมอรูน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  59. "สิงคโปร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  60. "เปรู". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  61. "โกตดิวัวร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  62. จอร์แดน
  63. "ไลบีเรีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  64. ตูนิเซีย
  65. "เคนยา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  66. "สาธารณรัฐโดมินิกัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  67. "สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  68. "ประเทศในยุโรป : นครรัฐวาติกัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-31. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  69. "บังกลาเทศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  70. "ประเทศในยุโรป : โปแลนด์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  71. "ฟีจี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  72. "ประเทศในยุโรป : โรมาเนีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  73. "ประเทศในยุโรป : ฮังการี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-30. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  74. "คอสตาริกา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  75. "มองโกเลีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  76. "Czech Ambassador prepares for 40th anniversary of diplomatic relations with Thailand". thebigchilli.com. 2014-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-12-29.
  77. "ประเทศในยุโรป : บัลแกเรีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  78. "ประเทศในยุโรป : ไอร์แลนด์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-31. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  79. "เกาหลีเหนือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  80. "ประเทศในยุโรป : ไอซ์แลนด์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-24. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  81. "จีน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  82. "เม็กซิโก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  83. "นิการากัว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  84. แอลจีเรีย
  85. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  86. "กาบอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  87. "ปาปัวนิวกินี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  88. "อุรุกวัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  89. "เวียดนาม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  90. มอริเตเนีย
  91. "บาห์เรน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-22. สืบค้นเมื่อ 2020-04-09.
  92. ลิเบีย
  93. "บาห์เรน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-02. สืบค้นเมื่อ 2020-04-09.
  94. "มอริเชียส". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  95. "โคลอมเบีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  96. "เกรเนดา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  97. "มัลดีฟส์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  98. "เอกวาดอร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  99. "ประเทศในยุโรป : ไซปรัส". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  100. "โอมาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-22. สืบค้นเมื่อ 2020-04-09.
  101. กาตาร์
  102. "เซเนกัล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  103. "เบนิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  104. "แทนซาเนีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  105. "มาลี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  106. "ซูดาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  107. "ไนเจอร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  108. "ปานามา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  109. เวเนซุเอลา[ลิงก์เสีย]
  110. "วานูวาตู". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  111. "ประเทศในยุโรป : แอลเบเนีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-30. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  112. "เซียร์ราลีโอน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  113. "เยเมน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  114. "กินี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  115. "กินี-บิสเซา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  116. "บรูไน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  117. "ประเทศในยุโรป : ซานมารีโน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-12. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  118. "ประเทศในยุโรป : มอลตา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-13. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  119. "จาเมกา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  120. "โซมาเลีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  121. "แกมเบีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  122. "ยูกันดา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  123. "ซิมบับเว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  124. "บูร์กินาฟาโซ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  125. โมร็อกโก
  126. "กานา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  127. "บอตสวานา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  128. "ฮอนดูรัส". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  129. "ตรินิแดดและโตเบโก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  130. "จิบูตี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  131. "หมู่เกาะโซโลมอน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  132. "โตโก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  133. "คอโมโรส". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  134. "เฮติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  135. "กาบูเวร์ดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  136. "เซนต์คิตส์และเนวิส". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  137. "ซูรินาม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  138. "เซาตูเมและปรินซิปี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  139. "มาลาวี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  140. "เอลซัลวาดอร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  141. "สาธารณรัฐแอฟริกากลาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  142. "รวันดา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  143. "แซมเบีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  144. "กายอานา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  145. "เซเชลส์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  146. "บุรุนดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  147. "สาธารณรัฐคองโก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  148. "บาร์เบโดส". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  149. "เซนต์ลูเชีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  150. "เลโซโท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-08-14.
  151. "โมซัมบิก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  152. "ภูฏาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  153. "ชาด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  154. "นามิเบีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  155. "มาดากัสการ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  156. "เอสวาตินี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  157. "อิเควทอเรียลกินี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  158. "ประเทศในยุโรป : ลัตเวีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  159. "ไมโครนีเซีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  160. "ประเทศในยุโรป : เอสโตเนีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-17. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  161. "ประเทศในยุโรป : ยูเครน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-06. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  162. "อุซเบกิสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  163. "คาซัคสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  164. "เติร์กเมนิสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  165. "ประเทศในยุโรป : อาร์เมเนีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-31. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  166. "ประเทศในยุโรป : อาเซอร์ไบจาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  167. "ประเทศในยุโรป : เบลารุส". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-31. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  168. "ประเทศในยุโรป : จอร์เจีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-06. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  169. "ประเทศในยุโรป : มอลโดวา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-30. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  170. "ทาจิกิสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  171. "คีร์กีซสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  172. "แองโกลา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  173. "ประเทศในยุโรป : โครเอเชีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  174. "ประเทศในยุโรป : สโลวีเนีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  175. "ประเทศในยุโรป : สโลวะเกีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-12. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  176. "ประเทศในยุโรป : ลิทัวเนีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  177. "หมู่เกาะมาร์แชลล์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  178. "เอริเทรีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  179. "แอฟริกาใต้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  180. "ตองกา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  181. "เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  182. "ปาเลา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  183. "ประเทศในยุโรป : ลิกเตนสไตน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-06. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  184. "เบลีซ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  185. "ประเทศในยุโรป : บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-30. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  186. "ประเทศในยุโรป : อันดอร์รา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-30. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  187. "ติมอร์-เลสเต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  188. "นาอูรู". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  189. "ประเทศในยุโรป : มาซิโดเนีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-30. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  190. "คิริบาส". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  191. "ตูวาลู". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  192. "โดมินิกา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  193. "ประเทศในยุโรป : โมนาโก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-30. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  194. "แอนติกาและบาร์บูดา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  195. "ประเทศในยุโรป : มอนเตเนโกร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  196. ปาเลสไตน์
  197. "ประเทศในยุโรป : คอซอวอ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-29. สืบค้นเมื่อ 2018-05-25.
  198. "เซาท์ซูดาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  199. "บาฮามาส". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  200. Bernard Eccleston, Michael Dawson, Deborah J. McNamara (1998). The Asia-Pacific Profile. Routledge (UK). ISBN 0-415-17279-9.
  201. Oxford Business Group (2011). The Report: Brunei Darussalam 2011. Oxford Business Group. pp. 36–. ISBN 978-1-907065-52-1.
  202. "Brunei-Thailand Relations". Ministry of Foreign Affairs and Trade (Brunei). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 February 2014. สืบค้นเมื่อ 9 February 2014.
  203. 203.0 203.1 203.2 203.3 203.4 "Thai envoy recalled from Cambodia". BBC News. 5 November 2009.
  204. "Recall of envoys escalates Thai-Cambodian tensions". eTaiwan News. 5 November 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2012-03-25.
  205. 205.0 205.1 205.2 "Cambodia recalls ambassador to Thailand over Thaksin issue". Xinhua. 5 November 2009.
  206. ประกาศให้พื้นที่อำเภอกันทรลักษณ์เป็นพื้นที่ภัยสงคราม
  207. Thanasak’s Trip to Cambodia: Bringing Home the Fugitives?
  208. Chongkittavorn, Kavi (2 August 2010). "Indonesia and Thailand: An emerging natural alliance". The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2016. สืบค้นเมื่อ 20 January 2013.
  209. ""International Seminar "The 60th Anniversary of the Indonesia-Thailand Diplomatic Relations"". Chula Global Network, Chulalongkorn University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 February 2011. สืบค้นเมื่อ 20 January 2013.
  210. "Thailand, Cambodia Agree to Indonesian Observers at Border". VOA. สืบค้นเมื่อ 21 February 2015.
  211. "RI ready to send observers to Cambodia, Thailand". The Jakarta Post. สืบค้นเมื่อ 21 February 2015.
  212. Barbara A. West (2009), Encyclopedia of the Peoples of Asia and Oceania, Facts on File, p. 794, ISBN 1438119135
  213. "การตกลงด้านเศรษฐกิจไทย – จีน" ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China). N.p., n.d. Web. 06 Jan. 2015. <http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/thai-china/thai-china-economic-agreement/ เก็บถาวร 2014-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>.
  214. "การตกลงด้านเศรษฐกิจไทย – จีน" ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China). N.p., n.d. Web. 06 Jan. 2015. <http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/thai-china/thai-china-economic-agreement/ เก็บถาวร 2014-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>.
  215. "ความสัมพันธ์ไทยญี่ปุ่น 120 ปี." สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย. N.p., n.d. Web. 6 Jan. 2015. <http://www.th.emb-japan.go.jp/th/relation/index100.htm เก็บถาวร 2014-09-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>.
  216. "ความสัมพันธ์ไทยญี่ปุ่น 120 ปี." สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย. N.p., n.d. Web. 6 Jan. 2015. <http://www.th.emb-japan.go.jp/th/relation/index100.htm เก็บถาวร 2014-09-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>.
  217. "ความสัมพันธ์ไทยญี่ปุ่น 120 ปี." สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย. N.p., n.d. Web. 6 Jan. 2015. <http://www.th.emb-japan.go.jp/th/relation/index100.htm เก็บถาวร 2014-09-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>.
  218. ประชาไท, บทความ FTA Watch : ข้อบกพร่องเสียหายในร่างความตกลง JTEPA
  219. "ความสัมพันธ์ไทยญี่ปุ่น 120 ปี." สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย. N.p., n.d. Web. 6 Jan. 2015. <http://www.th.emb-japan.go.jp/th/relation/index100.htm เก็บถาวร 2014-09-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>.
  220. "ประเทศไต้หวัน." International Cooperation Study Center. Thammasat University, n.d. Web. 6 Jan. 2015. <http://www.apecthai.org/apec/th/profile1.php?continentid=2&country=t9#%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99[ลิงก์เสีย]>.
  221. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-10-21. สืบค้นเมื่อ 2015-01-06.
  222. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-10-21. สืบค้นเมื่อ 2015-01-06.
  223. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-10-21. สืบค้นเมื่อ 2015-01-06.
  224. "ความสัมพันธ์ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี - สถานเอกอัครราชทูต ณ โซล." Royal Thai Embassy, Soul. Ministry of Foreign Affairs, n.d. Web. 06 Jan. 2015. <http://www.thaiembassy.org/seoul/th/relation>.
  225. "ประวัติความสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐฯ." US Watch. Ministry of Foreign Affairs, Thailand, n.d. Web. 6 Jan. 2015. <http://uswatch.mfa.go.th/uswatch/th/relationship/history/ เก็บถาวร 2014-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>.
  226. "ประวัติความสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐฯ." US Watch. Ministry of Foreign Affairs, Thailand, n.d. Web. 6 Jan. 2015. <http://uswatch.mfa.go.th/uswatch/th/relationship/history/ เก็บถาวร 2014-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>.
  227. "ประวัติความสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐฯ." US Watch. Ministry of Foreign Affairs, Thailand, n.d. Web. 6 Jan. 2015. <http://uswatch.mfa.go.th/uswatch/th/relationship/history/ เก็บถาวร 2014-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>.
  228. "ประวัติความสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐฯ." US Watch. Ministry of Foreign Affairs, Thailand, n.d. Web. 6 Jan. 2015. <http://uswatch.mfa.go.th/uswatch/th/relationship/history/ เก็บถาวร 2014-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>.
  229. "ประวัติความสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐฯ." US Watch. Ministry of Foreign Affairs, Thailand, n.d. Web. 6 Jan. 2015. <http://uswatch.mfa.go.th/uswatch/th/relationship/history/ เก็บถาวร 2014-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>.

ดูเพิ่ม[แก้]