กบฏบวรเดช
กบฏบวรเดช | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
บน: สถานีรถไฟดอนเมืองและกรมอากาศยาน กลางขวา: ทหารรัฐบาลตั้งแนวยิงปืนใหญ่บนถนนประดิพัทธ์ ล่างขวา: รถไฟขนอาวุธหนักของฝ่ายรัฐบาล ซ้าย: ช่องเขาขาด จุดที่พระยาศรีสิทธิสงครามเสียชีวิต | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
รัฐบาลคณะราษฎร |
คณะกู้บ้านกู้เมือง
| ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
|
| ||||||
หน่วยที่เกี่ยวข้อง | |||||||
กองพันทหารราบ 3 กอง กองพันทหารปืนใหญ่ 1 กอง |
กองพันทหารราบที่ 15 กองพันทหารราบที่ 16 กองพันทหารม้าที่ 4 กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 3 กองพันทหารราบที่ 14 กองพันทหารราบที่ 18 | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
เสียชีวิต 17 นาย |
ประหารชีวิต 6 นาย จำคุกตลอดชีวิต 244 นาย |
ประวัติศาสตร์ไทย |
---|
ตัวเลขในวงเล็บ หมายถึง ปีพุทธศักราช |
กบฏบวรเดช[1] เป็นการกบฏด้วยกำลังเพื่อล้มล้างรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา การกบฏเริ่มขึ้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นับเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการการปฏิวัติสยาม สาเหตุเกิดจากความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่
อนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่บริเวณหลักสี่ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ที่เรียกกันว่า "อนุสาวรีย์หลักสี่" นั้น ชื่อจริงคือ "อนุสาวรีย์ปราบกบฏ" หรือ "อนุสาวรีย์พิทักษ์ธรรมนูญ" ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้น ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช
เบื้องหลัง
[แก้]ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
[แก้]พลเอก หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร (ฐานันดรในขณะนั้น) เป็นเจ้านายผู้กล่าวโจมตีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่หก หม่อมเจ้าบวรเดชมีความชิงชังต่อการปกครองและอุปนิสัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเคยวางแผนยึดอำนาจจากพระมงกุฎเกล้า แล้วจะทูลเชิญเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ เจ้านายผู้มากบารมีและมีความเด็ดขาดขึ้นเป็นกษัตริย์แทน แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเสด็จสวรรคตเสียก่อน เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ไม่รับตำแหน่งกษัตริย์ เจ้าฟ้าประชาธิปกจึงได้เสวยราชสมบัติ
พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นนายทหารผู้มีอุปนิสัยแข็งกร้าว และรู้กันดีว่าทรงมีแนวคิดแบบทหารนิยม จึงเป็นที่เกรงใจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าซึ่งเคยเป็นนายทหารรุ่นน้องอย่างมาก พระองค์เจ้าบวรเดชได้เป็นเสนาบดีกลาโหมในรัชกาลที่เจ็ด ถึงกระนั้นก็ยังมีความขัดแย้งกับระบอบการปกครอง พระองค์เจ้าบวรเดชต้องการขึ้นเงินเดือนทหารแต่แพ้มติในที่ประชุมสภาเสนาบดี พระองค์จึงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกลาโหมเพื่อประท้วง
เมื่อลาออกจากราชการแล้ว พระองค์เจ้าบวรเดชพยายามยุแยงอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาให้ยึดอำนาจการปกครอง ทรงเรียกพันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนาและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามมาถามความเห็นเรื่องระบอบการปกครอง ทั้งคู่ต่างลงความเห็นว่าระบอบปัจจุบันไม่เหมาะแก่ยุคสมัย ควรจะเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย แต่ทั้งคู่มีความเห็นไม่ลงรอยกันในเรื่องของวิธีการที่จะใช้เปลี่ยนแปลงการปกครอง[2]
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
[แก้]ในวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตก็ยังทรงเข้าพระทัยผิดในตอนแรกคิดว่าพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นหัวหน้าก่อการ นอกจากนี้ในวันดังกล่าว พระองค์เจ้าบวรเดชยังเสด็จไปพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวบุคคลสำคัญ ทรงตรัสอวยพรต่อพระยาพหลฯแล้วจึงเสด็จกลับโดยมิได้ถูกควบคุมตัว
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ พันเอกพระยาพหลฯเสนอชื่อพระองค์เจ้าบวรเดชในที่ประชุมคณะราษฎรเพื่อเป็นหัวหน้ารัฐบาล[3] แต่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมคัดค้านด้วยเห็นว่าพระองค์เจ้าบวรเดชมีอุปนิสัยเป็นเผด็จการและยังเป็นเจ้า ที่ประชุมจึงปัดตก หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสนอชื่อพระยามโนปกรณนิติธาดาเป็นประธานกรรมการราษฎร (เทียบเท่านายกรัฐมนตรี) ตั้งแต่นั้นมาพระองค์เจ้าบวรเดชจึงผิดใจกับพระยาพหลฯ[4] และเกลียดชังหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
ทางด้านพระยาศรีสิทธิสงครามก็ถูกเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาลคณะราษฎร แต่พระยาศรีสิทธิสงครามปฏิเสธเพราะไม่พอใจที่คณะราษฎรใช้วิธีการรุนแรงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาทรงสุรเดชไม่พอใจที่พระยาศรีสิทธิฯทำตัวเหินห่างกับคณะราษฎร จึงสั่งย้ายพระยาศรีสิทธิฯไปอยู่กระทรวงธรรมการ[5] นัยว่าเป็นการลงโทษทางอ้อม
เมื่อพระยามโนปกรณนิติธาดาได้เป็นประธานกรรมการราษฎร ก็เกิดความขัดแย้งกับส่วนใหญ่ของคณะราษฎร หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสนอแผนเค้าโครงเศรษฐกิจที่เรียกว่า "สมุดปกเหลือง" ซึ่งจะทำให้ราษฎรทุกคนมีงานทำ ชาวนามีบำนาญเช่นเดียวกับข้าราชการ พระยามโนปกรณฯมองว่าคณะราษฎรคิดก้าวหน้าเกินไป และโจมตีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอย่างรุนแรงว่าเป็นคอมมิวนิสต์ พระยามโนปกรณฯประกาศยุบสภา ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์และใช้เล่นงานหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจนต้องไปอยู่ต่างประเทศ คณะราษฎรสายหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงหมดอำนาจ ฝ่ายเจ้าเริ่มมีเรืองอำนาจและยุยงให้พระยามโนปกรณฯแยกตัวจากคณะราษฎร
มีเหตุให้พระยาพหลฯโกรธพระยาทรงสุรเดชถึงขั้นจะใช้มีดทำกับข้าวไล่ฟัน พระยาทรงสุรเดชหลบออกมาหาพระยาฤทธิ์อัคเนย์และพระประศาสน์พิทยายุทธบอกว่า "ไอ่พจน์มันกลัดมันเป็นบ้า อยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว" ทั้งสามยื่นใบลาออกจากตำแหน่งราชการทั้งหมดเมื่อ 10 มิถุนายน 2476 อ้างว่าสุขภาพไม่อำนวย ส่งผลให้พระยาพหลฯต้องลาออกจากผู้บัญชาการทหารบกด้วยเพื่อรักษามารยาท ตำแหน่งทหารที่เคยเป็นของสี่เสือคณะราษฎรจึงว่างลงทั้งหมด กลุ่มเจ้าจึงเตรียมส่งคนฝ่ายตนขึ้นแทน ในวันที่ 18 มิถุนายน มีพระบรมราชานุญาตให้สี่เสือออกจากตำแหน่งโดยจะมีผลในวันที่ 24 มิถุนายน พลตรีพระยาพิชัยสงครามจะได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก พันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามจะได้เป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก พันโทหลวงพิบูลสงครามจะได้เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
มีรายงานลับมาถึงหลวงพิบูลสงครามว่า พระยาศรีสิทธิสงครามเตรียมโยกย้ายนายทหารสายคณะราษฎรออกจากตำแหน่งคุมกำลังทั้งหมด ประกอบมีบันทึกว่านายจิตตะเสน ปัญจะ สมาชิกคณะราษฎร ได้รับแจ้งจากมิตรซึ่งเป็นเจ้าพนักงานอาลักษณ์ความว่า เขาได้รับคำสั่งให้เขียนร่างพระบรมราชโองการให้ประหารชีวิตและถอดบรรดาศักดิ์สมาชิกคณะราษฎรจำนวนหกสิบคนฐานเป็นขบถต่อราชวงศ์จักรี ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2476 ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งปีแห่งการปฏิวัติ[6] กลุ่มบุคคลที่จะถูกประหารชีวิตคือกลุ่มบุคคลที่ในหลวงเคยให้ลงลายเซ็นขออขมาที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเมื่อวันที่ 7 และ 9 ธันวาคม 2475 ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานเอาผิด[6] ชื่อในห้าลำดับแรกคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาศรีสิทธิสงคราม, พระยาฤทธิอัคเนย์, พระประศาสน์พิทยายุทธ, หลวงพิบูลสงคราม
ในวันที่ 20 มิถุนายน พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ชิงก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดาโดยใช้การที่พระยามโนปกรณนิติธาดาปิดสภามาเป็นข้ออ้างต่อสาธารณชน พันโทประยูรถามว่าทำไมทำเช่นนี้ หลวงพิบูลสงครามตอบพันโทประยูรว่า "ประยูร จำเป็นต้องทำ ไม่มีทางเลี่ยง เพราะเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามเล่นไม่ซื่อหักหลัง เตรียมสั่งย้ายนายทหารผู้กุมกำลังทั้งกองทัพ พวกก่อการจะถูกตัดตีนมือและถูกฆ่าตายในที่สุด"[5] ประยูรระบุว่าหลังจากนั้นพระยาศรีสิทธิฯ "หน้าเหี้ยมเกรียม ตาแดงก่ำเป็นสายเลือด นั่งกัดกรามพูดว่าหลวงพิบูลสงครามเล่นสกปรก..."[5]
เหตุแห่งกบฏ
[แก้]รัฐบาลคณะราษฎรไม่ได้ไว้วางใจในตัวพระองค์เจ้าบวรเดชผู้มีอิทธิพลในสายทหารบกมากเท่าไหร่ รัฐบาลชอบส่งสายไปแย้มพรายให้พระองค์วางตัวอยู่เฉยๆ แล้วจะทรงได้ดิบได้ดีเองในภายหลัง[7] พระองค์เจ้าบวรเดชก็ทราบดีว่าตัวเองตกอยู่ในฐานะไม่เป็นที่ไว้วางใจ ความไม่พอใจเหล่านี้ทับถมอยู่ในใจของพระองค์เจ้าบวรเดชเรื่อยมา
เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็เชิญหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับประเทศ เมื่อตั้งกรรมการสอบสวนซึ่งประกอบด้วยชาวต่างชาติแล้วพบว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไม่มีความคิดเป็นคอมมิวนิสต์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลของพระยาพหลฯ พระองค์เจ้าบวรเดชและพวกเจ้ารับไม่ได้ที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะกลับมาเป็นรัฐมนตรี มองว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะดำเนินนโยบายที่สร้างความเดือดร้อนต่อเชื้อพระวงศ์และขุนนางเก่า[8] จึงกล่าวโจมตีว่ารัฐบาลเอาคอมมิวนิสต์มาเป็นรัฐมนตรี พันโทหลวงพิบูลสงครามและนาวาตรีหลวงศุภชลาศัยจึงส่งจดหมายมาปรามพระองค์ความว่า:
บัดนี้ปรากฏข่าวตามทางสืบสวนว่าท่านได้มีการประชุมและคิดอยู่เสมอในอันที่จะให้เกิดความไม่สงบแก่บ้านเมือง และทำให้รัฐบาลเป็นกังวล ซึ่งเป็นเหตุให้การบริหารบ้านเมืองไม่ก้าวหน้าไปเท่าที่ควรจะเป็น ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงขอเตือนให้ท่านสงบจิตเสีย หากท่านยังขืนจุ้นจ้านอีก คณะก็ตกลงจะกระทำการอย่างรุนแรง และจะถือเอาความสงบของบ้านเมืองเท่านั้นเป็นกฎหมายอันสูงสุดในการกระทำแก่ท่าน ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่การขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาเพื่อความหวังดี[9]
เมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชทรงได้รับจดหมายเช่นนี้ พระองค์ทรงตรัสกับนายทหารที่บ้านว่า "ฉันก็ตั้งใจจะเป็นพลเมืองที่สงบ แต่เขาไม่ให้สงบ"[10] หนังสือทำนองคล้ายกันนี้ยังถูกส่งถึงบุคคลอื่นๆอีกหลายคน อาทิ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ, พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์, หม่อมเจ้าไขแสงรพี รพีพัฒน์, หม่อมเจ้าโสภณภราไดย สวัสดิวัตน์, พลตำรวจโทพระยาอธิกรณ์ประกาศ, พันโทประยูร ภมรมนตรี เป็นต้น[11]
เห็นได้ชัดว่าการก่อการกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดชในครั้งนี้ เกิดจากความมุ่งหวังอำนาจทางการเมืองมากกว่าอย่างอื่น นับตั้งแต่สมัยที่ทรงลาออกจากเสนาบดีกลาโหมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เมื่อทรงพลาดพลั้งจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ทรงมุ่งหวัง การถูกกีดกันจากอำนาจทางการเมือง เป็นเหตุที่กระตุ้นให้พระองค์ก่อการยึดอำนาจจากคณะราษฎร[12]
การเตรียมการของทัพกบฏ
[แก้]คณะผู้ก่อการเริ่มหาพรรคพวกทั้งในหมู่ทหารนอกและในประจำการ การประชุมของคณะผู้ก่อการครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2476 โดยมีพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม พันโทหลวงพลหาญสงคราม และร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์ ที่ร้านอาหารบนถนนราชวงศ์ การประชุมครั้งที่สองเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมที่บ้านหลวงพลหาญสงคราม เป็นการประชุมระหว่างผู้แทนทหารหัวเมือง การประชุมครั้งที่สามเกิดขึ้นในต้นเดือนตุลาคมที่บ้านพันเอกพระยาไชเยนทร์ฤทธิรงค์ในโคราช[13] ที่ประชุมตกลงให้ใช้ชื่อแผนว่า "แผนล้อมกวาง"[14] และตกลงใช้โคราชเป็นกองบัญชาการใหญ่ เนื่องจากเป็นจังหวัดใหญ่มีอาวุธและกำลังพลมากกว่าหัวเมืองอื่น
ในช่วงวางแผนการ กรมขุนชัยนาทนเรนทร, หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล และพระองค์เจ้าบวรเดช ลงไปเข้าเฝ้าในหลวงที่วังไกลกังวล[15] พระองค์เจ้าบวรเดชอาสาเป็นผู้นำ "กองทัพสีน้ำเงิน" และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจะเปลี่ยนแปลงใหม่ ในหลวงคัดค้านหนัก พระองค์เจ้าบวรเดชโกรธในหลวงและกลับมาพูดกับนายทหารคนอื่นว่า "ถ้าท่านไม่เล่นกับเราเราก็หาคนใหม่!"[16] อย่างไรก็ตาม ต่อมามีเช็คของพระคลังข้างที่สั่งจ่ายให้พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นจำนวนสองแสนบาท[17]สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ จากนั้น หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล ราชเลขานุการก็เป็นผู้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้นำกองทัพสีน้ำเงิน[17] นอกจากนี้ พระองค์เจ้าบวรเดชยังได้เงินจากมหามกุฏราชวิทยาลัยอีกจำนวนหนึ่ง เนื่องจากพระยาเสนาสงคราม แม่ทัพกบฏในนครสวรรค์ เป็นลูกพี่ลูกน้องกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
การเตรียมการของรัฐบาล
[แก้]ภายหลังการปฏิวัติ พันเอกพระยาทรงสุรเดช มันสมองของคณะราษฎร มองเห็นความเป็นไปได้ที่จะเกิดการต่อต้านด้วยกำลังจากฝ่ายตรงข้ามในไม่ช้าก็เร็ว จึงสั่งการให้กองทัพหัวเมืองทั้งหมดส่งอาวุธส่วนใหญ่เข้ามาที่กรุงเทพ โดยอ้างว่าจะส่งอาวุธที่ใหม่กว่าไปให้ ทำให้ทหารหัวเมืองอยู่ในสภาพขาดแคลนอาวุธ
ฝ่ายรัฐบาลก็ได้รู้ล่วงหน้าถึงการกบฏครั้งนี้ถึงสองวัน เมื่อพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้ไปตรวจเยี่ยมมณฑลทหารราชบุรี มีนักบินชื่อเรืออากาศโทขุนไสวมัณยากาศ บังคับเครื่องบินลงจอดที่สนามและได้ยื่นจดหมายฉบับหนึ่งให้แก่พลตรีพระยาสุรพันธเสนี สมุหเทศาภิบาลมณฑล แล้วแจ้งว่าเป็นสาสน์จากพระองค์เจ้าบวรเดช พระยาพหลพลพยุหเสนาเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นต่อหน้าก็เดาออกทันทีว่าเป็นสาสน์ที่ส่งมาเพื่อเชิญชวนให้ก่อการกบฏ จึงรีบเดินทางกลับจังหวัดพระนครในวันรุ่งขึ้นเพื่อดำเนินการต่อต้านทันที
แผนลอบสังหารที่วังปารุสก์
[แก้]นอกจากการใช้กำลังทหารเข้าล้มล้างอำนาจของรัฐบาลแล้ว ยังมีบันทึกซึ่งอ้างว่าฝ่ายกบฏยังวางแผนเข้าสังหารบุคคลสำคัญของคณะราษฎรซึ่งพักอยู่ในวังปารุสกวันอีกด้วย[18] เพื่อให้รัฐบาลเกิดภาวะสุญญาก่อนที่คณะกู้บ้านเมืองจะยกทัพลงมาถึงกรุงเทพ แผนสังหารผู้นำรัฐบาลในกรุงเทพถูกกล่าวถึงโดยนายพโยม โรจนวิภาต ซึ่งอ้างตนเป็นสายลับฝ่ายราชสำนักในพระนคร ได้ทราบว่ามีผู้ก่อการอีกกลุ่มหนึ่งในพระนครที่มีเจตนาจะล้มล้างรัฐบาลมีแผนการนอกเหนือไปจากการยกกำลังเข้ามาของทหารฝ่ายหัวเมือง โดยนายพันตรีทหารม้าคนหนึ่งซึ่งมีบรรดาศักดิ์ขุน ได้ว่าจ้างยอดมือปืนจากต่างจังหวัดเข้ามาในกรุงเทพเพื่อมากำจัดหลวงพิบูลสงคราม โดยวางแผนให้มือปืนลอบเข้าไปเข้าดักรอบริเวณหน้าห้องนอนในวังปารุสก์ เมื่อเสียงสัญญาณของกองทัพหัวเมืองที่ยกมาถึงกรุงเทพดังขึ้น พันโทหลวงพิบูลสงครามจะพรวดพราดออกมาจากห้องนอนและถูกกำจัดทิ้ง ในการนี้ นายพันตรีได้ว่าจ้างมือปืนอีกชุดเพื่อดักรอเก็บมือปืนชุดแรกเพื่อปิดปาก อย่างไรก็ตาม พวกเขารอจนเช้าก็ไม่มีวี่แววของคณะกู้บ้านเมือง จึงยกเลิกแผนการไป จนทราบภายหลังว่า คณะกู้บ้านเมืองเลื่อนแผนการออกไปหนึ่งวัน โดยจะเดินทางถึงกรุงเทพในวันที่ 12 ตุลาคม
เหตุการณ์กบฏ
[แก้]11 ตุลาคม "กบฏยึดทุ่งดอนเมือง"
[แก้]11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เพียงสิบวันหลังหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเดินทางกลับประเทศสยาม พระองค์เจ้าบวรเดชได้นำกำลังเข้าแจ้งต่อข้าราชการหัวเมืองว่า รัฐบาลคณะราษฎรจะเอาระบอบคอมมิวนิสต์มาใช้และจะไม่มีกษัตริย์จึงต้องนำทหารเข้าไปปราบปราม อย่าได้ทำการขัดขวาง[8] พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำกองกำลังกบฏที่ชื่อว่า คณะกู้บ้านกู้เมือง ซึ่งประกอบด้วยทหารโคราช (กองพันทหารราบที่ 15, กองพันทหารราบที่ 16, กองพันทหารม้าที่ 4, กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 3 และ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 4) ทหารเพชรบุรี (กองพันทหารราบที่ 14), ทหารอุบลราชธานี (กองพันทหารราบที่ 18)
พันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามนำกำลัง 2 กองพันทหารช่างจากสระบุรีเป็นทัพหน้าลงมายึดทุ่งดอนเมือง โดยมีกองทหารม้าของร้อยเอกหลวงโหมรอนราญตามลงมาสมทบ และเข้ายึดกรมอากาศยานที่ดอนเมืองเป็นกองบัญชาการ พระยาศรีสิทธิสงครามส่งกองหน้ามายึดสถานีรถไฟหลักสี่ และส่งนาวาเอกพระยาแสงสิทธิการถือหนังสือถึงพระยาพหลฯความว่า "คณะรัฐมนตรีปล่อยให้คนดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเอาหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาเพื่อดำเนินการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ จึงขอให้คณะรัฐบาลถวายบังคมลาออกภายในหนึ่งชั่วโมง มิเช่นนั้นจะใช้กำลังบังคับและจะเข้ายึดการปกครองชั่วคราว"[19]
คณะรัฐบาลประชุมกันที่วังปารุสก์แล้วก็ลงความเห็นว่าเหตุผลของฝ่ายกบฏฟังไม่ขึ้น และสมควรปราบปราม เวลาค่ำ นายกรัฐมนตรีออกประกาศไปยังทั่วประเทศว่า พระองค์เจ้าบวรเดช พระยาศรีสิทธิสงคราม พระยาเทพสงคราม เป็นกบฏต่อแผ่นดิน พยายามล้มล้างระบอบประชาธิปไตยขอเลิกรัฐธรรมนูญ และสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังเดิม "ในพระนครเหตุการณ์เรียบร้อย อย่าฟังคำสั่งผู้ใดทั้งสิ้นนอกจากข้าพเจ้า พระยาพหลพลพยุหเสนาฯ"[20]
12 ตุลาคม "กรุงเทพตอบโต้"
[แก้]เมื่อรัฐบาลทราบว่าทุ่งดอนเมืองโดนทหารกบฏยึดเป็นที่แน่ชัดแล้ว จึงประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทหารบกพระนคร[21] ในวันเดียวกัน รัฐบาลประกาศแก้กฎอัยการศึกขยายพื้นที่บังคับใช้เป็นทั่วมณฑลพระนครกับมณฑลอยุธยา[22] พันเอกพระยาทรงสุรเดชปฏิเสธที่จะเป็นผู้บังคับกองผสม พันโทหลวงพิบูลสงครามจึงรับเป็นผู้บังคับกองผสมปราบกบฏ ในวันเดียวกัน เมื่อชาวพระนครทราบข่าวว่าการกบฏจากทหารหัวเมือง พลเมืองที่เชื่อมั่นในระบอบใหม่ได้ออกมาชุมนุมกันช่วยเหลืองานฝ่ายรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ทหารกองหนุนจำนวนมากเข้ามารายงานตัว ทั้งที่ยังไม่มีหมายเรียกระดมพลทหารกองหนุน[23]
พันโทหลวงพิบูลสงครามนำกองผสมซึ่งประกอบด้วย 3 กองพันทหารราบ และ 1 กองพันทหารปืนใหญ่ เคลื่อนขบวนทัพจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังลานสินค้าของบริษัทปูนซีเมนต์สยามที่สถานีรถไฟบางซื่อ ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟบางเขนไปประมาณ 5 กิโลเมตรเศษ จากนั้นจึงเอาปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ขนาดลำกล้อง 75 มม. ระยะยิงไกล 6 กิโลเมตร ตั้งเรียงแถวหน้ากระดานบนถนนประดิพัทธิ์ ก่อนจะเริ่มระดมยิงใส่ทหารกบฏในเวลาราว 14 นาฬิกา ยิงได้ 40 นัดพบว่ากระสุนลงทุ่งน้ำหมดจึงหยุดยิง กองทหารกบฏของหลวงโหมรอนราญจึงเดินลุยน้ำเคลื่อนลงมายึดสถานีรถไฟบางเขนไว้ได้
13 ตุลาคม "กบฏอ่อนกำลัง"
[แก้]ฝ่ายรัฐบาลส่งพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์เป็นตัวแทนมาเจรจาให้ฝ่ายกบฏเลิกราไปเสียและจะขอพระราชทานอภัยโทษให้ แต่ทางฝ่ายกบฏกลับจับกุมหลวงเสรีเริงฤทธิ์ไปขังไว้ที่อยุธยา ในเวลา 12 นาฬิกา ฝ่ายกบฏส่งนาวาอากาศเอกพระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์, นาวาอากาศโทพระยาเทเวศวรอำนวยฤทธิ์ และเรือเอกเสนาะ รักธรรม เป็นคนกลางถือหนังสือของพระองค์เจ้าบวรเดชมาเจรจากับรัฐบาล โดยยืนเงื่อนไขทั้งหมด 6 ข้อ[24]:
- ต้องจัดการในทุกทางที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน
- ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาลต้องเป็นไปตามเสียงของหมู่มาก
- ข้าราชการซึ่งอยู่ในตำแหน่งประจำการทั้งหลายและพลเรือนต้องอยู่นอกการเมือง ตำแหน่งฝ่ายทหารตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือลงไปต้องไม่มีหน้าที่ทางการเมือง
- การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งราชการ จักต้องถือคุณวุฒิและความสามารถเป็นหลัก ไม่ถือเอาความเกี่ยวข้องในทางการเมืองเป็นความชอบหรือเป็นข้อรังเกียจในการบรรจุเลื่อนตำแหน่ง
- การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก
- การปกครองกองทัพบกจักต้องให้มีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี เฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกันไปประจำตามท้องถิ่น มิให้รวมกำลังไว้เฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่ง
ฝ่ายรัฐบาลยืนกรานไม่ยินยอมตามคำขาดดังกล่าว ทำให้การสู้รบดำเนินต่อไป ขณะเดียวกัน ที่แนวรบของทหารกบฏที่บางเขนเกิดความขัดสน กำลังพลของร้อยเอกหลวงโหมรอนราญไม่ได้รับเสบียงและกระสุนมาหนึ่งวันเต็ม ขณะนั้นเป็นฤดูน้ำหลาก สองข้างทางรถไฟถูกน้ำท่วมหมด ทำให้การส่งกำลังบำรุงมาแนวรบของฝ่ายกบฏต้องอาศัยเรือพายเท่านั้น หลวงโหมรอนราญจึงเดินเท้าตามทางรถไฟย้อนขึ้นไปยังกองบัญชาการดอนเมืองเพื่อขอกำลังบำรุง
เมื่อเข้าไปในกองบัญชาการก็พบว่า "นายทหารเป็นจำนวนมากนั่งเสพสุราและกินอาหารกัน บางคนก็เล่นบิลเลียด" พันเอกพระยาเทพสงครามเห็นหลวงโหมรอนราญก็เข้ามากอดทักทายว่า "มีคนบอกว่ากองทหารม้าสระบุรีของน้องเป็นอันตรายหมด นี่มายังไงกัน?" หลวงโหมรอนราญจึงตัดพ้อว่า "ทำไมไปฟังข่าวเหลวไหล ช่างไม่คิดถึงพวกกระผมบ้างเลย เหนื่อยมาตั้งแต่เมื่อวานแสนสาหัส วันนี้ยังไม่ได้กินอาหารตลอดทั้งวัน กลับมาแช่งว่าตายหมด"[25]
14 ตุลาคม "รัฐบาลรุกไล่"
[แก้]14 ตุลาคม ทหารฝ่ายรัฐบาลได้เคลื่อนกำลังรุกคืบเข้ามาปะทะทหารฝ่ายกบฏที่ยึดสถานีรถไฟบางเขน โดยใช้หัวรถจักรหุ้มเกราะดันหลังรถข.ต.บรรทุกรถถังเคลื่อนที่เข้าหาพร้อมกันทั้ง 2 ราง นอกจากนี้แล้วยังมีเหล่าทหารราบอยู่ในรถพ่วงคันหลังอีกจำนวนหนึ่ง ผลจากการปะทะในช่วงเช้าส่งผลให้ฝ่ายรัฐบาลสูญเสียพันตรีหลวงอำนวยสงคราม ผู้บังคับกองพันที่มีความสำคัญมากไป หลวงพิบูลสงครามจึงรีบแก้สถานการณ์ที่กำลังจะเพลี่ยงพล้ำทันที โดยสั่งการให้ไปนำรถสายพานติดตั้งปืนใหญ่ต่อสู้อากาศ QF 2-pounder จากประเทศอังกฤษ ที่เพิ่งผ่านการตรวจรับมาแล้วจำนวน 2 คันมาเข้าสู่สนามรบจริงทันที
อำนาจการยิงของปืนกลต่อต้านอากาศยานขนาด 40 มม. อัตรายิง 115 นัดต่อนาที เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก กระสุนปืนทำให้รังปืนกลของฝ่ายกบฏเกิดรูขนาดใหญ่ รวมทั้งปืนก็ยิงได้เร็วและรุนแรงต่อเนื่อง ทหารกบฏทั้งหมดไม่เคยเจออาวุธทันสมัยแบบนี้มาก่อน จึงพากันหนีตายทิ้งที่มั่นวิ่งหนีเอาตัวรอดกลับไปยังหลักสี่ ทหารราบจากฝ่ายรัฐบาลจึงสามารถเข้ายืดพื้นที่ทุ่งบางเขนไว้ได้โดยละม่อม
ขบวนรถไฟฝ่ายกบฏของพันตรีหลวงพลเดชวิสัย กองพันทหารราบที่ 17 อุบลราชธานี เดินทางมาถึงดอนเมืองในช่วงค่ำ ได้ข่าวว่าสถานการณ์ฝ่ายกบฏกำลังเพลี่ยงพล้ำจึงไม่ยอมจอดขบวนรถไฟที่สถานีดอนเมือง ให้ขบวนรถไฟขับเลยสถานีดอนเมืองไปประมาณสามกิโลเมตรแล้วใส่เกียร์ถอยหลังกลับไปที่เมืองโคราช ระหว่างทางได้แวะรื้อทางรถไฟแถวปากช่องออกเพื่อทำคุณไถ่โทษ
15–24 ตุลาคม "กบฏแตกพ่าย"
[แก้]15 ตุลาคม ฝ่ายรัฐบาลได้หนุนกำลังพร้อมอาวุธหนักนำขึ้นรถไฟ มีทั้งรถเกราะและปืนกล รุกไล่ฝ่ายปฏิวัติจนเกือบประชิดแนวหน้าฝ่ายกบฏที่สถานีหลักสี่ นอกจากนี้ ฝ่ายกบฏขาดกำลังเสริมมาสมทบ เพราะทหารเพชรบุรีที่ร่วมก่อการถูกหน่วยทหารราชบุรีตรึงกำลังไว้ ทหารจากนครสวรรค์และพิษณุโลกก็ถูกขัดขวางจากหน่วยทหารลพบุรีและหน่วยทหารปราจีนบุรี พระองค์เจ้าบวรเดชเห็นว่าสู้ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้แล้วจึงสั่งให้ถอนกำลังกลับไปตั้งรับโคราช และมอบหมายพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นผู้บัญชาการรบหน่วยระวังหลัง ค่อยๆถอยร่อนจากหลักสี่มาดอนเมือง
16 ตุลาคม เวลาตีสาม ทหารกบฏเริ่มถอนกำลังออกจากดอนเมือง ส่วนหน้าทัพกบฏเดินทางถึงสถานีปากช่อง (กม.180) ในเวลาบ่ายโมง ก็ไปต่อไม่ได้เนื่องจากทางรถไฟขาดต้องใช้เวลาซ่อมแซม กองพันทหารราบที่ 4 ฝ่ายรัฐบาลเข้าควบคุมพื้นที่ดอนเมืองในเวลาบ่ายสอง นาวาตรีหลวงศุภชลาศัยคุมเรือสุริยมณฑลไปยึดเมืองอยุธยาไว้ได้[8] ส่วนทหารกบฏทางเพชรบุรีก็ถอยร่นกลับเข้าเมืองเพชรบุรียึดเป็นที่มั่นเอาไว้
17 ตุลาคม เวลาเช้ามืด กบฏคนสำคัญในโคราชตัวปล่อยตัวพันตำรวจเอกพระขจัดทารุณกรรม ผู้บังคับการตำรวจโคราชและพวกจากที่คุมขัง บอกให้รีบหนีไปก่อนที่ทัพกบฏจะมาถึงเมือง ผู้บังคับการตำรวจโคราชใช้โอกาสนี้นำกำลังเข้ายึดเมืองจากพวกกบฏทันทีอย่างง่ายดาย[8] ต่อมาเวลาสิบนาฬิกา ชาวโคราชต่างตื่นตกใจเมื่อมีขบวนรถไฟบรรทุกทหารของพันตรีหลวงพลเดชวิสัยเคลื่อนเข้ามา พันตรีหลวงพลเดชวิสัยมอบตัวต่อพระขจัดทารุณกรรม อ้างว่าถูกหลอกให้ร่วมก่อการกบฏ ขณะนี้พวกกบฏกำลังถอยร่นมายังโคราช เมื่อผู้การตำรวจโคราชได้หารือกับหลวงพลเดชวิสัยแล้ว เห็นว่ากำลังที่มีอยู่คงจะต้านทานทัพกบฏไม่ไหว ควรถอนกำลังออกจากโคราชไปรวมกับกำลังใหญ่ฝ่ายรัฐบาลที่เมืองอุบล[8] ส่วนทางด้านกรุงเทพ รัฐบาลส่งกองพันทหารราบที่ 6 ขึ้นมาสมทบกองพันทหารราบที่ 4 ที่ดอนเมือง และเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างทัพกบฏต่อไป ขณะเดียวกัน หน่วยข่าวกรองของจังหวัดขอนแก่นได้รับทราบข่าวจากแถลงการณ์รัฐบาลว่าฝ่ายกบฏแตกพ่ายไปทางโคราช ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นจึงทำลายทางรถไฟเพื่อขัดขวางการลำเลียงทหารมาสู่ขอนแก่น
18 ตุลาคม ทหารรัฐบาลเข้ายึดสถานีชุมทางภาชี (กม.90) ในเวลาบ่ายสี่โมง พระองค์เจ้าบวรเดชถอยไปอยู่สระบุรี กองกำลังรักษาเมืองโคราชของพระขจัดทารุณกรรมและหลวงพลเดชวิสัยต้านทานกบฏไม่ไหวจริงตามคาด จึงถอนกำลังออกไปยังเมืองอุบล พระองค์เจ้าบวรเดชแค้นที่พันตรีหลวงพลเดชวิสัยทรยศ จึงให้พลตรีพระเสนาสงครามคุมกำลัง 400 นายไปยึดเมืองบุรีรัมย์เพื่อใช้ตีเมืองอุบลต่อไป
19 ตุลาคม ทหารรัฐบาลเข้ายึดสระบุรีไว้ได้ แนวหลังของทหารกบฏถอยไปรวมกันสถานีแก่งคอย (กม.125) ขบวนรถไฟของพระองค์เจ้าบวรเดชเดินทางถึงเมืองโคราช พระยาศรีสิทธิสงครามสั่งการหน่วยระวังหลังเร่งถอดรางรถไฟบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 141-144 ซึ่งเป็นช่วงทางโค้งและแคบใกล้กับสถานีหินลับ ให้ทหารตั้งรังปืนกลบนหน้าผาเป็นระยะ
20 ตุลาคม ทหารรัฐบาลเข้ายึดสถานีแก่งคอย (กม.125) ทหารรัฐบาลจากจังหวัดอุดรธานีเจ็ดสิบนายเดินทางมาถึงขอนแก่นและเคลื่อนกำลังพลไปรักษาสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำชี เพื่อไม่ให้ทหารกบฏเดินเท้าข้ามมายังเมืองขอนแก่นได้
21 ตุลาคม ทหารรัฐบาลรุกคืบได้ทีละเล็กน้อย แนวหลังของทหารกบฏถอยไปรวมกันที่ปากช่อง (กม.180) ทางพระองค์เจ้าบวรเดชเมื่อทราบว่าทหารขอนแก่นกับอุดรธานีเข้ากับฝ่ายรัฐบาล จึงส่งร้อยเอกหลวงโหมรอนราญนำกำลังไปยึดเมืองขอนแก่น
22 ตุลาคม ร้อยเอกหลวงโหมรอนราญถูกเรียกตัวกลับมานครราชสีมาเพราะมีข่าวว่ากองกำลังของรัฐบาลรุกคืบเข้ามาแล้ว หลวงโหมรอนราญเสนอให้ทหารยึดอำนาจจากข้าราชการฝ่ายพลเรือนในโคราช แต่พระองค์เจ้าบวรเดชดำริว่า "เวลานี้ใครๆ ก็แลเห็นว่าเราแพ้แล้วทั้งนั้น จะยึดอำนาจการปกครองบ้านเมืองเราก็ไม่มีนายทหารมากพอจะให้ไปควบคุม โทษผิดเท่านี้ก็พอแล้ว อย่าให้มากกว่านี้เลย"[20] พระองค์เจ้าบวรเดชเริ่มวางแผนเสด็จลี้ภัยไปยังอินโดจีนของฝรั่งเศส นายทหารชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายกบฏก็วางแผนเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศตามความถนัด พระยาศรีสิทธิสงครามไม่ทราบความจริงจึงปักหลักที่ผาเสด็จต่อไป[26] ในค่ำวันนั้น กองส่วนหน้าฝ่ายรัฐบาลเริ่มเคลื่อนพลถึงหลักกิโลเมตรที่ 140
23 ตุลาคม เกิดการสู้รบบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 141-144 ตลอดทั้งวัน เมื่อตกค่ำ หน่วยของว่าที่ร้อยตรีตุ๊ จารุเสถียร สามารถสังหารพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม[26]
24 ตุลาคม พันโทหลวงพิบูลสงครามเดินทางถึงแก่งคอยในช่วงสายเพื่อรับฟังรายงาน
25 ตุลาคม พระองค์เจ้าบวรเดชและพระชายาทรงขึ้นเครื่องบินจากนครราชสีมาหนีไปยังเมืองไซ่ง่อน ทหารรัฐบาลเข้ายึดเมืองนครราชสีมาไว้ได้
พระบรมวงศ์เสด็จหนีไปชายแดน
[แก้]16 ตุลาคม เครื่องบินฝ่ายกบฏบินมาทิ้งใบปลิวที่วังไกลกังวลเพื่อทูลว่าการยึดอำนาจล้มเหลว ในค่ำวันต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จประปกเกล้าฯทราบว่าทหารเพชรบุรียอมจำนนต่อรัฐบาลแล้ว และรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมกำลังเดินทางลงมาเข้าเฝ้า ก็ทรงตื่นตระหนกรีบเสด็จลงเรือพระที่นั่งศรวรุณ ซึ่งเป็นเรือยนต์ลำเล็กอย่างกะทันหันพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช, หม่อมเจ้าประสบศรี จิรประวัติ, หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล, หม่อมเจ้าครรชิตพล อาภากร, หม่อมเจ้านนทิยาวัด สวัสดิวัตน์, หม่อมเจ้าเศรษฐพันธ์ จักรพันธุ์ พร้อมทหารรักษาวังอีก 6-7 นาย มุ่งหน้าจังหวัดสงขลา
เนื่องจากเรือไม่พอนั่ง หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิทและเจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ ต้องนำทหารรักษาวังบางส่วนขึ้นไปยึดขบวนรถไฟจากสถานีวังก์พงในช่วงบ่าย[16] เจ้ากาวิละวงศ์เป็นพนักงานขับรถ ขบวนรถไฟพิเศษนี้ออกจากหัวหินเวลาตีหนึ่งของวันที่ 18 ตุลาคม มีผู้โดยสารประกอบด้วย: กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล, หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล, กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์พร้อมพระธิดา, กรมหมื่นอนุวัตจาตุรนต์, หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์, พลโทพระยาวิชิตวุฒิไกร, พระยาอิศราธิราชเสวี และทหารรักษาวังสองกองร้อย
เมื่อนายเล้ง ศรีสมวงศ์ ผู้จัดการพาณิชย์ ฝ่ายการเดินรถ กรมรถไฟหลวง ทราบข่าว จึงรีบส่งโทรเลขแจ้งสถานีรายทางล่วงหน้าว่า ทหารหลวงลักขบวนรถจักรออกจากวังก์พง ให้ทำการสกัดกั้น พนักงานกรมรถไฟจึงไปถอดรางรถไฟช่วงก่อนถึงสถานีประจวบคีรีขันธ์ ขบวนรถไฟพิเศษไปต่อไม่ได้ต้องหยุดระหว่างทาง ทหารหลวงต้องช่วยกันถอดรางที่วิ่งที่ผ่านมาแล้วมาต่อเพื่อให้รถไฟเดินต่อไปได้ เมื่อขบวนรถไฟมาถึงสถานีประจวบคีรีขันธ์ก็ถูกกักรถไม่ให้เดินทางต่อจนเกือบจะยิงกัน สมุหราชองครักษ์จึงโทรเลขไปยังรัฐมนตรีมหาดไทย พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์รีบนำความเข้าแจ้งนายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลหยุหเสนาสั่งการอนุญาตให้รถไฟเดินได้ตลอดสายทาง
ทางด้านเรือพระที่นั่งศรวรุณน้ำมันหมดที่ชุมพร ต้องขึ้นฝั่งรอจนกระทั่งถึงเช้าวันที่ 19 ตุลาคม จึงได้พบกับได้พบกับเรือวลัยของบริษัทอิสต์เอเชียติก กัปตันเรือวลัยชาวเดนมาร์กเชิญคณะของในหลวงขึ้นเรือวลัยและพ่วงเรือพระที่นั่งศรวรุณไปยังสงขลา ตกเย็นวันเดียวกันนั้น ขบวนรถไฟก็ไปถึงสงขลา พระบรมวงศ์ส่วนหน้ารีบไปจัดแจงสถานที่ในพระตำหนักเขาน้อยเตรียมรับในหลวง เรือวลัยเดินทางมาถึงอ่าวสงขลาในเช้าวันถัดมา
ผลลัพธ์
[แก้]25 ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯมีพระราชกระแสจากพระตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา แนะนำให้รัฐบาลประกาศอภัยโทษให้แก่ผู้ร่วมก่อการจลาจลตลอดจนนายทหารและบุคคลที่ไม่ใช่หัวหน้าหรือคนสำคัญในการกระทำครั้งนี้เสียโดยเร็ว แต่ถูกแต่รัฐบาลปฏิเสธโดยอ้างหลักการที่ว่าจำต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุดเสียก่อน
29 ตุลาคม รัฐบาลจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการกบฏและจลาจล คำพิพากษาถือเป็นเด็ดขาดไม่มีอุทธรณ์ฎีกา มีผู้ถูกจับกุมกว่าหกร้อยคน มีการส่งฟ้อง 318 คน ใช้เวลาพิจารณาความนานนับปี พบว่ามีความผิดต้องโทษ 296 คน ในจำนวนนี้ต้องโทษประหารชีวิต 6 คน จำคุกตลอดชีวิต 244 คน[27] อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าทรงปฏิเสธการลงพระนามให้ประหารชีวิตตามคำพิพากษา จึงนำตัวไปประหารไม่ได้
รัฐบาลได้จัดให้มีรัฐพิธีให้แก่ผู้เสียชีวิตทั้ง 17 คนคราวปราบกบฏบวรเดช ในการนี้ได้ทำหนังสือขอพระราชานุญาตใช้พื้นที่สนามหลวงในการประกอบพิธี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯปฏิเสธทันที ทรงรับสั่งให้ไปใช้สถานที่อื่น แต่รัฐบาลยังคงยืนกรานที่จะใช้พื้นที่สนามหลวง ทำให้พระองค์ยินยอมตามนั้น รัฐบาลจัดสร้างเมรุชั่วคราวสนามหลวง ซึ่งเดิมพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงยินยอมให้ใช้พื้นที่ทุ่งพระเมรุนี้ แต่ทางคณะราษฎรยืนกรานที่จะสร้างเมรุชั่วคราวบนทุ่งพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าจึงต้องทรงยินยอม แต่ระบุถ้อยคำด้วยท่วงทำนองว่า "ทรงไม่ขัดข้อง แต่ขอให้เป็นที่เข้าใจว่า พระราชดำริในเรื่องนี้เป็นไปอีกอย่างหนึ่ง"[28] นี่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการจัดพิธีศพสามัญชนบนท้องสนามหลวง ซึ่งก่อนหน้านั้นจะใช้เป็นที่ประกอบพิธีสำหรับเชื้อพระวงศ์เท่านั้น[29]
สามปีให้หลังในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏหรือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ที่บริเวณหลักสี่ บางเขน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่สู้รบ เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ปัจจุบันนิยมเรียกชื่อเพียงตามแหล่งที่ตั้งว่า “อนุสาวรีย์หลักสี่”[28]
ภายหลังการสละราชสมบัติและเข้าสู่รัชกาลใหม่ รัฐบาลได้ทูลขอพระราชทานอภัยโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต และจากจำคุกตลอดชีวิตเป็นถูกเนรเทศไปเกาะตารุเตาในปีพ.ศ. 2482[30] ต่อมาได้มีการปล่อยตัวบรรดาผู้ได้รับโทษกรณีกบฏบวรเดชทั้งหมดออกจากเรือนจำพ.ศ. 2487 ซึ่งเป็นผลจากการนิรโทษกรรมโดยคณะรัฐมนตรีชุดพันตรีควง อภัยวงศ์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ชื่ออื่น เช่น "สงครามกลางเมือง พ.ศ. 2476", "การปฏิวัติเลือด"
- ↑ วิเทศกรณีย์ (นามแฝง). เหตุการณ์ทางการเมือง 43 ปีแห่งระบอบประชาธิปไตย. (พระนคร : รวมการพิมพ์, 2518) หน้า 379-380
- ↑ เกรียงศักดิ์ พิศนาคะ, โศกนาฎกรรมที่หินลับ (พระนคร : เกื้อกูลการพิมพ์, 2508) หน้า 44
- ↑ กรมโฆษณาการ, คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช 2482 เรื่องกบฏ (พระนคร, โรงพิมพ์พานิชศุภผล, 2482) หน้า 26
- ↑ 5.0 5.1 5.2 หนังสือที่ระลึกในงานพิธีพระราชทานเพลิงร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์. หน้า 35-40
- ↑ 6.0 6.1 ณัฐพล ใจจริง, กบฏบวรเดช: เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475, (กรุงเทพ: มติชน, 2559)
- ↑ เสาวรักษ์ (นามแฝง), ตัวตายแต่ชื่อยัง, หน้า 99
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 เพลิง ภูผา, 2541. กบฏเมืองสยาม
- ↑ เลื่อน ศราภัยวานิช, ฝันร้ายของข้าพเจ้า, หน้า 16-17
- ↑ กรมพระธรรมนูญทหารบก กระทรวงกลาโหม, บัญชีสำนวนคดีและคำพิพากษาศาลพิเศษคดีกบฏ, (พระองค์เจ้าบวรเดช) แฟ้มที่ 5, คดีดำที่ 7/2576
- ↑ เลื่อน ศราภัยวานิช, ฝันร้ายของข้าพเจ้า, หน้า 19
- ↑ เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์, ปฏิวัติ 2475, (พระนคร : แพร่พิทยา, 2514) หน้า 167-168
- ↑ กรมพระธรรมนูญทหารบก. คำพิพากษาศาลพิเศษคดีแดงที่ 62, 63, 64, 78/2477 พระยานายกนรชนกับพวกรวม 12 คน จำเลย. แฟ้มที่ 2
- ↑ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์, เมืองนิมิตร...., หน้า 335
- ↑ เพลิง ภูผา, 2557. กบฏสะท้านแผ่นดิน
- ↑ 16.0 16.1 พูนพิสมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ๒๕๔๖ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕. พิมพ์ครั้งที่ ๕. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน), หน้า ๑๓๗-๑๔๘.
- ↑ 17.0 17.1 ณัฐพล ใจจริง, 2556 : 22-27
- ↑ ศิลปวัฒนธรรม. “แผนหลั่งเลือดที่วังปารุสก์” ปฏิบัติการปลิดชีพผู้นำคณะราษฎรของ “คณะกู้บ้านเมือง” 25 มิถุนายน 2563
- ↑ กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ 39/163 เรื่อง คำขอหรือคำขาดและคำแถลงการณ์หรือใบปลิวของพวกกบฏ.
- ↑ 20.0 20.1 อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ อนุสรณ์ไทยรบไทย 28 สิงหาคม 2562
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศ แก้ไขกำหนดเขตต์ในประกาศกฎอัยการศึก ลงวันที่ 12 ตุลาคม พุทธศักราช 2476
- ↑ ศิลปวัฒนธรรม. บทบาทพลเมืองสยามปราบกบฏบวรเดช ลางาน 7 วันพิทักษ์รธน. ถึงรวมกันบู๊ไล่ทหารได้ 24 มิถุนายน 2563
- ↑ นิคม จารุมณี, 2519. หน้า 352-353
- ↑ มติชน. E-DUANG : อ่าน”กบฏบวรเดช” อ่าน”การส่งกำลังบำรุง” 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559
- ↑ 26.0 26.1 ศิลปวัฒนธรรม. ปมกระสุนปริศนาปลิดชีพพระยาศรีสิทธิสงคราม ผู้สกัดการติดตามของรัฐบาลขณะกบฏบวรเดชหนี 25 มิถุนายน 2563
- ↑ ภูธร ภูมะธน. ๒๕๒๑. ศาลพิเศษ พ.ศ. ๒๔๗๖-พ.ศ. ๒๔๗๘ และ พ.ศ. ๒๔๘๑. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๑๕๐.
- ↑ 28.0 28.1 ประชาไท, ชาตรี ประกิตนนทการ : สถาปัตย์คณะราษฎร บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ย่อหน้า 3,) ประชาไท, 19 กันยายน พ.ศ. 2550
- ↑ ชาตรี ประกิตนนทการ, เมรุคราวกบฏบวรเดช: เมรุสามัญชนครั้งแรกกลางท้องสนามหลวง, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 เม.ย.-มิ.ย. 2550, สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
- ↑ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ๒๕๔๖. ความคิด ความรู้ และอำนาจทางการเมืองในการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน), หน้า ๓๑๔.
- นายหนหวย (ศิลปชัย ชาญเฉลิม), เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ, โรงพิมพ์วัชรินทร์, 2530
- ม.จ. พูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น (ภาคต้น), สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2543
- โพยม โรจนวิภาต (อ.ก. รุ่งแสง), พ. ๒๗ สายลับพระปกเกล้า พระปกเกล้าฯ (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒) พ.ศ. 2547