คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 35

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะรัฐมนตรีเสนีย์ 2
คณะรัฐมนตรีคณะที่ 35 แห่งราชอาณาจักรไทย
กุมภาพันธ์ - มีนาคม พ.ศ. 2518
วันแต่งตั้ง21 กุมภาพันธ์​ พ.ศ. 2518
วันสิ้นสุด14 มีนาคม พ.ศ.​ 2518
(0 ปี 21 วัน)
บุคคลและองค์กร
ประมุขแห่งรัฐพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
หัวหน้ารัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
พรรคร่วมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ (72)
พรรคธรรมสังคม (45)
พรรคเกษตรสังคม (19)
พรรคกิจสังคม (18)
ประวัติ
ก่อนหน้าคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 34
ถัดไปคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 36
สีเขียวคือจำนวนสมาชิกฝ่ายรัฐบาล สีแดงคือจำนวนสมาชิกฝ่ายค้านรัฐบาล

คณะรัฐมนตรีคณะที่ 35 (15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 – 13 มีนาคม พ.ศ. 2518)

คณะรัฐมนตรีคณะที่ 35 รัฐบาลของ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จัดตั้งหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 ซึ่งผลปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงมากที่สุด หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคในขณะนั้นจึงได้รับการสนับสนุนให้ให้เป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล

ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การจัดตั้งรัฐบาลประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ กับ พรรคเกษตรสังคม แต่เมื่อคณะรัฐบาลชุดนี้แถลงนโยบายเพื่อขอความไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2518 ปรากฏว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออก

รายชื่อคณะรัฐมนตรี[แก้]

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518[1]

  1. นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี (พรรคเกษตรสังคม)
  2. นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (พรรคประชาธิปัตย์)
  3. นายบุญยิ่ง นันทาภิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
  4. พลเอก ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  5. นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พรรคเกษตรสังคม)
  6. นายพิชัย รัตตกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พรรคประชาธิปัตย์)
  7. นายสวัสดิ์ คำประกอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พรรคเกษตรสังคม)
  8. นายสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (พรรคกิจสังคม)
  9. นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พรรคประชาธิปัตย์)
  10. พลตำรวจตรี อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  11. นายเทียม ไชยนันทน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พรรคประชาธิปัตย์)
  12. นายก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
  13. นายคล้าย ละอองมณี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (พรรคประชาธิปัตย์)
  14. นายนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (พรรคประชาธิปัตย์)
  15. นายเกษม สุวรรณกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ
  16. พลเรือเอก ถวิล รายนานนท์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
  17. พลอากาศโท อุสาห์ ชัยนาม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
  18. นายประมุท บุรณศิริ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
  19. นายเล็ก นานา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พรรคประชาธิปัตย์)
  20. นายไกรสร ตันติพงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พรรคประชาธิปัตย์)
  21. นายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พรรคประชาธิปัตย์)
  22. นายแผน สิริเวชชะพันธ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พรรคเกษตรสังคม)
  23. นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (พรรคประชาธิปัตย์)
  24. ร้อยโทสมศาสตร์ รัตนสัค เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (พรรคเกษตรสังคม)
  25. นายประเทือง คำประกอบ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พรรคเกษตรสังคม)
  26. นายธรรมนูญ เทียนเงิน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (พรรคประชาธิปัตย์)
  27. นายสมบุญ ศิริธร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (พรรคประชาธิปัตย์)
  28. นายสันต์ เทพมณี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (พรรคเกษตรสังคม)
  29. นายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม (พรรคประชาธิปัตย์)
  30. นายขุนทอง ภูผิวเดือน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พรรคประชาธิปัตย์)

การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี[แก้]

ผลการหยั่งเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ผลปรากฏว่า หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียง 133 ต่อ 50 โดย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคเกษตรสังคม พรรคพลังใหม่ พรรคกิจสังคม พรรคแนวร่วมสังคมนิยม พรรคอธิปัตย์ พรรคประชาธิปไตย และพรรคเกษตรกร

การพ้นจากหน้าที่[แก้]

รัฐบาลคณะนี้เป็นรัฐบาลแรกและรัฐบาลเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่พ้นจากหน้าที่ตั้งแต่ยังมิได้เริ่มปฏิบัติงาน เนื่องจากไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาในการแถลงนโยบาย โดยเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลเมื่อรวมกับพรรคเกษตรสังคมแล้ว ได้เพียงแค่ 91 เสียงเท่านั้น ซึ่งก็ยังมิได้ถึงครึ่งของเสียงทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร (269)

ในวันที่ 6 มีนาคม 2519 รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และเมื่อเสร็จสิ้นลงและมีการลงมติ ปรากฏว่าเสียงที่ไว้วางใจรัฐบาลมีอยู่ 111 เสียง มากกว่าเสียงของรัฐบาล 20 เสียง แต่มีเสียงไม่ไว้วางใจสูงถึง 152 เสียง จึงต้องพ้นจากตำแหน่งไป และทำให้รัฐธรรมนูญในฉบับต่อมา (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519) กำหนดไว้ว่าการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ให้เป็นไปโดยไม่มีการลงมติไว้วางใจ[2][3]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๓๐ ราย)
  2. คอลัมน์ส่วนร่วมสังคมไทย โดน นรนิติ เศรษฐบุตร หน้า 8 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับที่ 22,506 ประจำวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
  3. คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ, LIRT (1975-03-06), ไทย: บันทึกการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3/2518 (สามัญสมัยแรก) วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พุทธศักราช 2518 ณ ตึกรัฐสภา (PDF), สืบค้นเมื่อ 2023-07-02

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]