กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง คุณสามารถพัฒนาบทความนี้ได้โดยเพิ่มแหล่งอ้างอิงตามสมควร เนื้อหาที่ขาดแหล่งอ้างอิงอาจถูกลบออก |
บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ เนื่องจากควรสรุปเนื้อหาและมีอ้างอิง มากกว่าคัดลอกข้อความในกฎหมายมาลงทั้งดุ้น นอกจากนี้ เนื้อหาบางส่วนยังเหมือนเป็นการนำเสนอทฤษฎีหรือการค้นคว้าต้นฉบับ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ |
กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 | |
---|---|
![]() | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ผู้ตรา | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
วันตรา | 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 |
วันประกาศ | 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 |
วันเริ่มใช้ | 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 |
การแก้ไขเพิ่มเติม | |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (มาตรา 20-21) | |
ภาพรวม | |
สืบราชบัลลังก์ของประเทศไทย |
กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 เป็นกฎมนเทียรบาลของไทยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติขึ้นใน พ.ศ. 2467 เพื่อเป็นเกณฑ์ในการสืบราชสันตติวงศ์[1]
สาระสำคัญ
กฎมนเทียรบาลฉบับนี้ระบุถึงผู้ที่มีสิทธิในพระราชบัลลังก์ โดยพระมหากษัตริย์นั้นมีสิทธิขาดในการเลือกองค์รัชทายาท หากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ ให้รัฐสภากราบทูลฯ เชิญเจ้านายที่อยู่ในลำดับที่ 1 แห่งการสืบสันตติวงศ์ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป (ยกเว้นผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11) โดยได้ระบุเกณฑ์สำหรับการจัดลำดับการสืบสันตติวงศ์ดังนี้
- พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระอัครมเหสี (สมเด็จหน่อพุทธเจ้า)
- หากสมเด็จหน่อพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ให้อัญเชิญพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จหน่อพุทธเจ้าขึ้นทรงราชย์ หรือถ้าพระราชโอรสพระองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระราชโอรสพระองค์รองถัดไปตามลำดับพระชนมายุ
- หากสมเด็จหน่อพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์ไปแล้ว และไม่มีพระราชโอรส ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระอัครมเหสี
- หากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ 2 สิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่มีพระโอรสอยู่ ก็ให้อัญเชิญพระโอรสของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นโดยอนุโลมตามเกณฑ์ในข้อ 2
- หากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระอัครมเหสีสิ้นพระชนม์ไปแล้ว และไม่มีพระราชโอรส ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่น ๆ ถัดไป ในสมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับอาวุโส โดยอนุโลมตามเกณฑ์ในข้อ 2, 3 และ 4
- หากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระอัครมเหสีสิ้นพระชนม์หมดแล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ ก็สิ้นพระชนม์ด้วยแล้ว ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระมเหสีรองถัดลงไปตามลำดับชั้นพระอิศริยยศแห่งพระมารดา หรือถ้าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอหาพระองค์ไม่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ สลับกันตามลำดับ โดยอนุโลมตามเกณฑ์ในข้อ 2, 3 และ 4
- หากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระมเหสีรองสิ้นพระชนม์หมดแล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ ก็สิ้นพระชนม์หมดด้วย ให้อัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุมากที่สุด หรือถ้าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น แต่ถ้าแม้ว่าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุมากที่สุดนั้นสิ้นพระชนม์แล้ว และพระโอรสของท่านก็ทิวงคตแล้ว ก็ให้อัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมา หรือพระโอรสของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตามเกณฑ์ในข้อ 2, 3 และ 4 แห่งมาตรานี้
- หากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่มีพระราชโอรสและพระราชนัดดา ให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระราชชนนีพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมาจากพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงราชย์สืบสันตติวงศ์
- หากสมเด็จพระอนุชาพระองค์ที่ควรได้ทรงเป็นทายาทนั้นสิ้นพระชนม์เสียแล้ว ให้อัญเชิญพระโอรสของสมเด็จพระอนุชาพระองค์นั้นตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ 2 แห่งมาตรานี้
- หากสมเด็จพระอนุชาพระองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์แล้ว และพระโอรสของท่านก็สิ้นพระชนม์อีกด้วย ให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระชนนีพระองค์ที่ถัดลงมาตามลำดับพระชนมายุ หรือพระโอรสของสมเด็จพระอนุชาพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ อนุโลมตามข้อความในข้อ 2, 3 และ 4 แห่งมาตรานี้
- หากสมเด็จพระอนุชาร่วมพระชนนีสิ้นพระชนม์หมดแล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระอนุชานั้น ๆ ก็สิ้นพระชนม์แล้ว ให้อัญเชิญสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ 2, 3, 4 และ 6 แห่งมาตรานี้
- หากสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนีก็สิ้นพระชนม์แล้ว และโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้นสิ้นพระชนม์ด้วย ให้อัญเชิญพระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอหรือพระโอรสของพระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอตามลำดับสลับกัน โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ 7 แห่งมาตรานี้
- ต่อเมื่อหมดพระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธออีกทั้งหมดพระโอรสของท่านนั้น ๆ แล้ว ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ หรือพระโอรสและเชื้อสายของท่านพระองค์นั้นตามลำดับแห่งความสนิทมากและน้อย โดยอนุโลมตามข้อความที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ข้อ 1 ถึง 12 แห่งมาตรานี้
ผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสันตติวงศ์
ความจากหมวดที่ 5 ว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสันตติวงศ์ นั้นรวมถึง
- ผู้ที่มิได้รับการยอมรับจากประชาชนและพระบรมวงศานุวงศ์
- เจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้ อนึ่ง เจ้านายพระองค์ไหนที่มีลักษณะต้องห้ามนี้ พระราชโอรสโดยตรงนั้น ก็ให้ถอดจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ด้วยทั้งสิ้น
- พระสัญญาวิปลาศ
- ต้องราชทัณฑ์ในคดีมหันตโทษ
- ไม่สามารถทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก
- มีพระชายาเป็นชาวต่างประเทศ
- เป็นผู้ที่ถูกถอนออกจากตำแหน่งรัชทายาท ไม่ว่าการถูกถอนนี้จะเป็นไปในรัชกาลใด ๆ
- เป็นผู้ที่ได้ถูกประกาศยกเว้นออกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์
- ราชนารี
การแก้กฎมณเฑียรบาล
ความจากหมวดที่ 7 ว่าด้วยการแก้กฎมณเฑียรบาลได้บัญญัติไว้ว่า
มาตรา 19 พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลนี้ไว้ให้เป็นราชนิติธรรมอันมั่นคง เพื่อดำรงพระบรมราชจักรีวงศ์ไว้ชั่วกาลนาน และได้ทรงใช้พระวิจารณญาณโดยสุขุม ประชุมทั้งโบราณราชประเพณีแห่งกรุงสยามตามที่ได้เคยมีปรากฏมาในโบราณราชประวัติทั้งประเพณีตามที่โลกนิยมในสมัยนี้เข้าไว้พร้อมแล้วฉะนั้นหากว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใดในอนาคตสมัยทรงพระราชดำริจะแก้ไขหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดแห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ก็ให้ทรงคำนึงถึงพระอุปการะคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ผู้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลนี้ขึ้นไว้แล้วและทรงปฏิบัติตามข้อความในมาตรา 20 แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้เถิด
มาตรา 20 ถ้าแม้เมื่อใดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องแก้ไขหรือเพิกถอนข้อความใด ๆ แม้แต่ส่วนน้อยหนึ่งในกฎมณเฑียรบาลนี้ไซร้ท่านว่าให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนัดประชุมองคมนตรีสภา ให้มีองคมนตรีมาในที่ประชุมนั้นไม่น้อยกว่า 2 ส่วนใน 3 แห่งจำนวนองคมนตรีทั้งหมด แล้วและพระราชทานข้อความอันมีพระราชประสงค์จะให้แก้ไขหรือเพิกถอนนั้นให้สภาปรึกษากันและถวายความเห็นด้วยความจงรักภักดีซื่อสัตย์สุจริต ถ้าและองคมนตรีมีจำนวนถึง 2 ส่วนใน 3 แห่งผู้ที่มาประชุมนั้นลงความเห็นว่าควรแก้ไขหรือเพิกถอนตามพระราช ประสงค์ได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงค่อยมีพระบรมราชโองการให้แก้ไขหรือเพิกถอน แต่ถ้าแม้ว่าองคมนตรีที่มาประชุมนั้นมีผู้เห็นควรให้แก้ไขหรือเพิกถอนเป็นจำนวนไม่ถึง 2 ใน 3 แล้วไซร้ก็ขอให้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระขันติระงับพระราชดำริที่จะทรงแก้ไขหรือเพิกถอนนั้นไว้เถิด
สายของการสืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลฯ
หกลำดับแรกตามกฎมณเฑียรบาล ณ วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 | |
---|---|
1.เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ | ![]() |
2.หม่อมเจ้านวพรรษ์ | ![]() |
3.หม่อมเจ้าเฉลิมศึก | ![]() |
4.หม่อมเจ้าฑิฆัมพร | ![]() |
5.หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม | ![]() |
6.หม่อมเจ้าจุลเจิม | ![]() |
หกลำดับแรกตามรัฐธรรมนูญ ณ วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 | |
---|---|
1.เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ | ![]() |
2.กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร | ![]() |
3.เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี | ![]() |
4.กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา | ![]() |
5.กรมพระศรีสวางควัฒน | ![]() |
6.หม่อมเจ้านวพรรษ์ | ![]() |
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (2347–2411)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (2396–2453)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2424–2468)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (2436–2484)
- สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (2435–2472)
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (2468–2489)
-
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (2470–2559)
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (2495–ปัจจุบัน)
- (1) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ (2548–ปัจจุบัน)ม ก
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (2425–2475)
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล (2453–2538)
- (2) หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล (2521–ปัจจุบัน)ม ก
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร (2456–2534)
- (3) หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล (2493–ปัจจุบัน)ม ก
- (4) หม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคล (2494–ปัจจุบัน)ม ก
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ (2458–2541)
- (5) หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (2485–ปัจจุบัน)ม ก
- (6) หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล (2490–ปัจจุบัน)ม ก
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล (2453–2538)
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป (2404-2479)
- (7) หม่อมเจ้าจรูญฤทธิเดช ชยางกูร (2476–ปัจจุบัน)ม ก
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ (2408-2478)
- (8) หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์ (2472–ปัจจุบัน)ม ก
เครื่องหมาย | แหล่งที่มาของรายการหรือหมายเหตุเกี่ยวกับข้อยกเว้นการสืบราชสันตติวงศ์ |
---|---|
ม | กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 |
ก | 1. ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว หากมิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ ตาม"รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560" หมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 21
2. การเสนอพระนามพระราชธิดาต่อราชบัลลังก์ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 แล้ว ดังนั้นจึงนับพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นต้นมา ในการสืบราชสันตติวงศ์ ตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวด้วย |
อ้างอิง
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ: บทความเกี่ยวกับกฎหมายนี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยการเพิ่มเติมข้อมูล