รายชื่อสงครามในประเทศไทย
หน้าตา
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ |
ประวัติศาสตร์ไทย |
---|
ตัวเลขในวงเล็บ หมายถึง ปีพุทธศักราช |
รายชื่อสงครามในประเทศไทย มีดังต่อไปนี้
สมัยสุโขทัย
[แก้]- สงครามเจ้าเมืองฉอด เกิดขึ้นในรัชสมัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงมีสงครามกับขุนสามชน ทรงชนช้างกับขุนสามชน แต่ช้างทรงพระองค์ได้เตลิดหนี ดังคำในศิลาจารึก ภายหลังจึงทรงเฉลิมพระนามพระโอรสว่ารามคำแหง
สมัยอยุธยา
[แก้]- ขอมสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 กษัตริย์ขอมเสด็จสวรรคต พระราชโอรสนาม พระบรมลำพงษ์ ทรงขึ้นครองราชย์ ทำให้ขอมไม่เป็นไมตรีดังแต่ก่อน สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงมีบัญชาให้สมเด็จพระราเมศวรยกทัพไปตีกัมพูชา และให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ ขุนหลวงพะงั่ว ทรงยกทัพไปช่วย จึงสามารถตีเมืองนครธมแตกได้ พระบรมลำพงษ์สวรรคตในศึกครั้งนี้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 จึงแต่งตั้ง ปาสัต พระราชโอรสของพระบรมลำพงษ์เป็นกษัตริย์ขอม
- สงครามเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 1933 สมเด็จพระราเมศวรทรงยกกองทัพขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่ ในชั้นแรกนั้นพระเจ้าเชียงใหม่ได้ขอสงบศึกโดยขอเวลา 7 วันแล้วจะนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายเพื่อเจริญพระราชไมตรี ในการนี้มุขมนตรีนายทัพนายกองได้ปรึกษาหารือว่า อาจจะเป็นกลอุบายของพระเจ้าเชียงใหม่เพื่อจะได้เตรียมการรับมือกองทัพของกรุงศรีอยุธยา แต่พระองค์ตรัสว่าเมื่อเขาไม่รบแล้วเราจะรบนั้นดูมิบังควรและถึงแม้ว่าพระเจ้าเชียงใหม่จะไม่รักษาสัตย์ก็ใช่ว่าจะสามารถรอดพ้นจากทหารของกรุงศรีอยุธยาไปได้ เมื่อผ่านไป 7 วัน พระเจ้าเชียงใหม่ไม่ได้นำเครื่องราชบรรณาการมาถวาย พระองค์จึงยกกำลังเข้าตีเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงใหม่ต้านไม่ได้จึงหนีออกไป แต่สามารถจับนักสร้างพระโอรสพระเจ้าเชียงใหม่ได้ พระองค์ทรงพระกรุณาให้นักสร้างขึ้นครองราชสมบัติอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ และได้กวาดต้อนผู้คนลงมาทางใต้โดยให้ไปอยู่ที่เมืองจันทบูร เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง และเมืองสงขลา ทำให้ชาวเหนือและชาวใต้มีวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่ใกล้เคียงกัน
- สงครามเมืองกัมพูชาธิบดี หลังจากที่สมเด็จพระราเมศวรเสด็จกลับจากการทำศึก ณ เมืองเชียงใหม่แล้ว พระองค์ได้ทรงทำศึกกับเมืองกัมพูชาธิบดีอีกครั้ง เนื่องจากพระยากัมพูชาได้ยกทัพมายังเมืองชลบุรีและกวาดต้อนผู้คนชาวเมืองจันทบูรและเมืองชลบุรีไปยังเมืองกัมพูชาธิบดีประมาณ 6,000 - 7,000 คน ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงยกกองทัพไปยังเมืองกัมพูชาธิบดีอีกครั้ง โดยโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาไชยณรงค์เป็นแม่ทัพหน้า เมื่อตีเมืองพระนครได้แล้ว พระยากัมพูชาได้ลงเรือหลบหนีไป แต่สามารถจับพระยาอุปราชพระราชโอรสของพระยากัมพูชาได้ และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไชยณรงค์อยู่รั้งเมืองกัมพูชาธิบดีพร้อมกำลังพล 5,000 คน ต่อมา ญวนยกกำลังมารบ พระองค์จึงให้พระยาไชยณรงค์กวาดต้อนผู้คนมายังกรุงศรีอยุธยา
- สงครามเมืองชากังราว สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ทรงยกกองทัพขึ้นไปยังเมืองชากังราวถึง 4 ครั้ง เนื่องจากเมืองชากังราวเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงสุโขทัย โดยครั้งแรกนั้นทรงยกกองทัพไปเมืองปี พ.ศ. 1916 พระยาไสแก้วและพระยาคำแหงเจ้าเมืองชากังราวออกรบต่อพระองค์ การศึกในครั้งนั้นเป็นเหตุให้พระยาไสแก้วเสียชีวิตแต่พระยาคำแหงนั้นสามารถกลับเข้าเมืองได้ แล้วทรงยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา พระองค์ยกทัพขึ้นไปเมืองชากังราวครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 1919 พระยาคำแหงและท้าวผ่าคองคิดกันว่าจะยอทัพหลวงทำมิได้ ครั้งนั้นท้าวผ่าคองเลิกทัพหนีแต่พระองค์ทรงยกทัพตามและสามารถตีทัพท้าวผ่าคองแตก ได้ท้าวพระยาเสนาขุนหมื่นเป็นจำนวนมากแล้วทรงยกทัพหลวงกลับพระนคร พระองค์ยกทัพมาเมืองชากังราวเป็นครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 1921 ครั้งนั้นพระมหาธรรมราชา (ที่ 2) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยทรงออกรบเป็นสามารถ แต่เห็นจะสู้ทัพจากกรุงศรีอยุธยาไม่ไหว ดังนั้น พระมหาธรรมราชาจึงออกมาถวายบังคม พระองค์ทรงให้พระมหาธรรมราชาครองเมืองต่อไปในฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาแล้วทรงยกทัพหลวงกลับพระนคร พระองค์ยกทัพไปเมืองชากังราวอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 1931 แต่ไม่ปรากฏว่าทรงยกทัพไปด้วยสาเหตุอันใด ครั้งนั้นทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตระหว่างการเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา
- ขอมสมัยเจ้าสามพระยา เมื่อ พ.ศ. 1974 พระเจ้าธรรมาโศก กษัตริย์อาณาจักรเขมร ได้ยกกำลังเข้ามากวาดต้อนผู้ตามหัวเมืองชายแดนของกรุงศรีอยุธยาไป ทำให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองพระนครหลวง(นครธม) เมื่อ พ.ศ. 1975 พระองค์ตั้งทัพล้อมเมืองพระนครหลวงอยู่ 7 เดือน ก็สามารถตีเอาเมืองพระนครหลวงได้ ครั้งนั้นพระองค์ทรงให้พระอินทราชา พระโอรสปกครองเมืองนครหลวงในฐานะเมืองประเทศราชขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา แล้วให้นำ พระยาแก้ว พระยาไทย และรูปภาพ (เทวรูป สมบัติศิลปะของขอม) ทั้งปวงพร้อมทั้งกวาดต้อนผู้คนและสิ่งของสำคัญๆ มายังกรุงศรีอยุธยา ทำให้อิทธิพลของเขมรในด้านการปกครอง ประเพณี ตลอดจนงานศิลปะมาปรากฏชัดในอยุธยา พระอินทราชานั้นครองราชย์เมืองพระนครไม่นานก็สิ้นพระชนม์ เนื่องจากทนภาวะอากาศไม่ได้ กรุงศรีอยุธยาก็ไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดขึ้นไปดูแลแทน จึงทำให้ชาวเขมรนั้นไม่อาจกลับมายังที่เมืองพระนครได้ ปล่อยให้เมืองร้างลง ภายหลังเมื่อเขมรมีอำนาจคืนได้จึงมีการย้ายราชธานีไปตั้งที่เมืองพนมเปญ ทำให้เมืองพระนครล่มสลายในที่สุด
- การศึกกับล้านนา (สมัยเจ้าสามพระยา) ในปี พ.ศ. 1985 พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ได้รบกับท้าวช้อยผู้เป็นพระอนุชา ท้าวช้อยแพ้หนีไปอยู่เมืองเทิง(อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย) เจ้าเมืองเทิงได้มาขอสวามิภักดิ์กับกรุงศรีอยุธยาและขอให้ส่งกองทัพไปช่วยรบ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 จึงทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ของอาณาจักรล้านนาแต่ก็ตีไม่สำเร็จประกอบกับทรงพระประชวรจึงทรงยกกองทัพกลับกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงยกกองทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 1987 ทรงตั้งทัพหลวงที่ตำบลปะทายเขษม ครั้งนี้ได้หัวเมืองชายแดนของเชียงใหม่กับเชลยอิก 120,000 คน จึงยกทัพหลวงกลับพระนคร
- สงครามตีเมืองทวาย (สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3) สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 เสด็จไปตีเมืองทวายซึ่งตั้งแข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุธยาและทรงได้รับชัยชนะ
- สงครามมะละกา เมื่อ พ.ศ. 2043 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงส่งกองทัพทั้งทางบกและทางเรือไปทำสงครามกับมะละกาถึงสองครั้ง โดยเข้าโจมตีชายฝั่งตะวันออกและตะวันตก แม้ไม่ประสบผลสำเร็จแต่ก็ทำให้มะละกาได้ตระหนักถึงอำนาจของอยุธยาที่มีอิทธิพลเหนือหัวเมืองในคาบสมุทรภาคใต้ โดยมีเมืองนครศรีธรรมราชทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ใช้เป็นฐานในการควบคุมหัวเมืองต่าง ๆ ในคาบสมุทรแห่งนี้ กษัตริย์มะละกาผู้ปกครอง ปัตตานี ปาหัง กลันตัน และเมืองท่าที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทั้งหมดต้องส่งบรรณาการต่อกษัตริย์อยุธยาทุกปี
- สงครามล้านนา (สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2) พระเมืองแก้ว กษัตริย์เมืองเชียงใหม่แห่งอาณาจักรล้านนา ยกทัพมาตีกรุงสุโขทัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้ทรงออกทัพขึ้นไปป้องกันทางเหนือ จนกองทัพเชียงใหม่แตกกลับไป พระองค์ได้ทรงยกกองทัพขึ้นไปตีล้านนาอีกหน คราวนี้ทรงตีเมืองลำปางได้
- สงครามเชียงกราน ในรัชสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ได้เกิดสงครามไทยกับพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2081 เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ แห่งกรุงหงสาวดี ได้ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกราน อันเป็นหัวเมืองชายแดนทางทิศตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงยกทัพไปตีกลับคืนมา ในการทัพครั้งนี้ พระองค์นำทหารอาสาชาวโปรตุเกสไปด้วย อาสาชาวโปรตุเกสมีความชำนาญในการใช้ปืนไฟ และได้เริ่มใช้ปืนไฟ ในการรบเป็นครั้งแรก กองทัพไทยสามารถยึดเมืองเชียงกรานกลับคืนมาได้
- สงครามล้านนา (สมัยสมเด็จพระไชยราชา) เกิดการผลัดแผ่นดินขึ้นที่เชียงใหม่ พระเมืองเกษเกล้าถูกลอบปลงพระชนม์ บรรดาท้าวพระยาเมืองลำปาง เมืองเชียงราย และเมืองพานได้ ยกกำลังเข้ายึดเมืองเชียงใหม่ได้ แล้วพร้อมใจกันแต่งตั้งพระนางมหาเทวีจิรประภา พระอัครมเหสีพระเมืองเกษเกล้า ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงยกกองทัพไปถึงเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2081 พระนางมหาเทวีจิรประภาได้ออกมาถวายการต้อนรับ และขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในขณะนั้นพระนางมหาเทวี ฯ ทรงเกรงอานุภาพของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ซึ่งได้ขยายอาณาเขตมาจรดเขตของเชียงใหม่ จึงได้ยอมอ่อนน้อมต่อฝ่ายพม่า สมเด็จพระไชยราชาธิราช ทรงพิจารณาเห็นว่า ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ ในอนาคตพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ จะเข้ามารุกรานกรุงศรีอยุธยา พระองค์จึงได้ยกทัพเข้าตีเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2088 โดยได้ตีนครลำปาง และนครลำพูน พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาพิษณุโลกเป็นทัพยกไปเชียงใหม่ พระนางมหาเทวี ฯ จึงเห็นสถานการณ์เช่นนั้นแล้ว จึงทรงต้อนรับพระยาพิษณุโลก และทรงยอมเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา
- สงครามพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ (สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) [1] ในปี พ.ศ. 2091 หลังจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ได้เพียงเจ็ดเดือน การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งนี้เป็นที่กระฉ่อนไปทั่ว จนทราบไปยังพระกรรณพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์พม่าทรงพระราชดำริว่า ทางกรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน เห็นเป็นโอกาสที่จะแผ่อำนาจมายังกรุงศรีอยุธยา จึงได้ยกกองทัพใหญ่มาทางด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี (บางพงศาวดารบอกว่า พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ได้เสด็จมาทอดพระเนตรกำแพงเมืองอยุธยาก่อนหน้านี้มาครั้งหนึ่งแล้ว เพื่อประเมินกำลังศึก) โดยตั้งค่ายหลวงที่ตำบลกุ่มดอง ทัพพระมหาอุปราชาบุเรงนองตั้งที่เพนียด ทัพพระเจ้าแปรตั้งที่บ้านใหม่มะขามหย่อง ทัพพระยาพะสิม ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งวรเชษฐ์ ในวันอาทิตย์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 4 พ.ศ. 2092 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จออกไปดูลาดเลากำลังศึก ณ ทุ่งภูเขาทอง พร้อมกับสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระราเมศวร และพระมหินทร์ [2][3] สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงช้างนามว่าพลายแก้วจักรพรรดิ ได้กระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปร [4] ช้างพระที่นั่งเสียที สมเด็จพระสุริโยทัยจึงทรงไสช้างนามว่าพลายสุริยะกษัตริย์ เข้าขวางช้างข้าศึก เพื่อป้องกันสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และได้ทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปร [2][5] พระเจ้าแปรได้ทีจึงฟันสมเด็จพระสุริโยทัยด้วยของ้าว สิ้นพระชนม์บนคอช้าง พระราเมศวรและพระมหินทร์ ได้ขับช้างเข้ากันพระศพกลับเข้าพระนคร [2][5] ในการต่อสู้กับข้าศึกในขั้นต่อไป สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้นำปืนใหญ่นารายณ์สังหาร ลงเรือสำเภาแล่นไปตามลำน้ำโจมตีข้าศึกที่ตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ อำนาจการยิงของปืนใหญ่ทำให้ฝ่ายพม่าล้มตายเป็นอันมาก ประกอบกับเป็นเวลาใกล้ฤดูฝน และเสบียงอาหารร่อยหรอลง อีกทั้งทางฝ่ายพม่าได้ข่าวว่า มีกองทัพไทยจากหัวเมืองเหนือยกมาสนับสนุน เกรงว่าจะถูกตีกระหนาบ จึงปรึกษากับแม่ทัพนายกองจะยกทัพกลับ แม่ทัพทั้งหลายเห็นควรจะยกทัพกลับทางด่านเจดีย์สามองค์ (กาญจนบุรี) แต่พระเจ้าตเบ็งชเวตี้เห็นว่าทางที่ยกมานั้น ทรงทำลายเสบียงอาหารเสียหมดแล้ว ถ้ายกไปทางนี้จะประสบปัญหาขาดแคลน และจะถูกทหารไทยยกมาซ้ำเติมลำบากอยู่ จึงทรงให้ยกทัพขึ้นไปทางด่านแม่ละเมา (ตาก) เพื่อตีทัพของพระมหาธรรมราชาด้วยไพร่พลนั้นน้อยนัก และจะได้แย่งเสบียงมา เมื่อปะทะกับกองทัพของพระมหาธรรมราชาและพระราเมศวร ไล่ติดตามไปจนเกือบถึงเมืองกำแพงเพชร ฝ่ายพม่าได้ทำอุบายซุ่มกำลังไว้ทั้งสองข้างทาง พอกองทัพกรุงศรีอยุธยาถลำเข้าไป จึงได้เข้าล้อมไว้ จับได้ทั้งพระมหาธรรมราชา และพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องทรงขอหย่าศึก และไถ่ตัวคืนโดยแลกกับช้างชนะงาสองเชือกคือ พลายศรีมงคล กับพลายมงคลทวีป จากนั้นกองทัพม่าก็ถอยกลับไปยังหงสาวดี ส่วนการพระศพสมเด็จพระสุริโยทัยนั้นเมื่อเสร็จศึกสงครามแล้วโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีพระราชทานเพลิง ณ สวนหลวง และให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงเป็นพระอารามเพื่ออุทิศ พระราชกุศลพระราชทาน แด่สมเด็จพระอัครมเหสี ประกอบด้วยพระเจดีย์ พระวิหาร แล้วพระราชทานนามพระอารามอันเป็นพระราชานุสรณ์แห่งสมเด็จพระสุริโยทัยแห่งนี้ว่า วัดสบสวรรค์ ในปัจจุบันชื่อ วัดสวนหลวงสบสวรรค์
- สงครามเขมร (สมัยพระเฑียรราชา) พ.ศ. 2099 ในเดือน 12 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้แต่งทัพไปตีเมืองละแวก พระยาองค์ (โอง) สวรรคโลก (เชื่อว่าเป็นคนเดียวกับพระยาสวรรคโลกที่กำจัดขุนวรวงศาธิราช) เป็นทัพหลวง ยกทัพ30,000คน ให้พระมหามนตรีถืออาชญาสิทธิ์ พระมหาเทพถือวัวเกวียน ให้พระยาเยาวเป็นแม่ทัพเรือ แต่ลมพัดไม่เป็นใจทัพเรือจึงตามทัพบกไม่ทัน พระยารามลักษณ์แม่ทัพบกได้เข้าตีเขมรในตอนกลางคืน แต่เสียทีถอยหนีมาถึงทัพใหญ่ ในศึกนี้เสียพระยาองค์ (โอง) สวรรคโลกกับไพร่พลอีกจำนวนมาก
- สงครามช้างเผือก (สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) พระเจ้าบุเรงนอง ผู้ครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งหงสาวดีต่อจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ทราบเรื่องช้างเผือก จึงส่งราชทูตเชิญพระราชสาส์นมาขอพระราชทานช้างเผือกสองเชือก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้เหตุผลเชิงปฏิเสธเพราะทรงเห็นด้วยกับพระราเมศวร พระยาจักรี และพระสุนทรสงคราม พระเจ้าบุเรงนองจึงถือสาเหตุนั้น ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อพ.ศ. 2106 ด้วยกำลังพลสองแสนคน จัดเป็นทัพกษัตริย์หกทัพ ได้เตรียมทัพเรือพร้อมปืนใหญ่กับจ้างชาวโปรตุเกสอาสาสมัคร 400 คน เป็นทหารปืนใหญ่ ให้เมืองเชียงใหม่สนับสนุนเสบียงอาหาร โดยลำเลียงมาทางเรือ เปลี่ยนเส้นทางเดินทัพมาทางด่านแม่ละเมา เข้าตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยมาตามลำดับเพื่อตัดกำลังที่จะยกมาช่วยกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเตรียมตัวป้องกันพระนคร โดยคาดว่าพม่าจะยกกำลังมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทำให้พระเจ้าบุเรงนองตีเมืองกำแพงเพชร สวรรคโลก สุโขทัย พิชัย และพิษณุโลกได้ ครั้นลงมาถึงเมืองชัยนาท กองทัพพม่าก็ได้ปะทะกับกองทัพกรุงศรีอยุธยาของพระราเมศวร แต่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาต้านทานไม่ได้ต้องถอยกลับเข้ากรุงศรีอยุธยา กองทัพพม่าได้เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ แล้วระดมยิงปืนใหญ่เข้าในพระนครทุกวัน จนราษฎรได้รับความเดือดร้อนและเสียขวัญ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ต้องเสด็จไปเจรจากับพระเจ้าบุเรงนอง ที่พลับพลาบริเวณตำบลวัดหน้าพระเมรุ กับวัดหัสดาวาส ยอมเป็นไมตรี โดยได้มอบช้างเผือก 4 เชือก พร้อมกับพระราเมศวร พระยาจักรี และพระสุนทรสงครามให้แก่พม่า โดยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงต่อรองขอดินแดนของอยุธยาทั้งหมดที่พระเจ้าบุเรงนองยึดไว้คืน พระเจ้าบุเรงนองก็ถวายคืนแต่โดยดี จากนั้นพม่าก็ถอยกลับไปหงสาวดี
- การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง (สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ - สมเด็จพระมหินทราธิราช) เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรพม่าและอาณาจักรอยุธยา อันเป็นผลมาจากความต้องการของพระเจ้าบุเรงนองซึ่งต้องการได้กรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศราช[6] และอาจถือได้ว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามช้างเผือก ในปี พ.ศ. 2106 ที่ทรงตีกรุงศรีอยุธยาไม่สำเร็จ[7] ความขัดแย้งภายในกรุงศรีอยุธยาระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับเจ้าเมืองพิษณุโลก หลังจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิสวรรคต สมเด็จพระมหินทราธิราชก็ขึ้นครองราชย์และทรงบรรชาการรบแทน พระยาจักรี ซึ่งมีพระทัยฝักใฝ่พม่า ได้นำไปสู่ความพินาศของกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2112[6] และพระยาจักรีก็ถูกแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช จนกระทั่งหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพให้กับอาณาจักรอยุธยาในอีก 15 ปีต่อมา
- การตีกรุงศรีอยุธยาของเขมร เมื่อปี พ.ศ. 2113 พระยาละแวกหรือสมเด็จพระบรมราชา กษัตริย์เขมร ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยมาก่อน ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เห็นไทยบอบซ้ำจากการทำสงครามกับพม่า ได้ถือโอกาสยกกำลังเข้ามาซ้ำเติมกรุงศรีอยุธยา โดยยกกองทัพมีกำลัง 20,000 คนเข้ามาทางเมืองนครนายก เมื่อเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วได้ตั้งทัพอยู่ที่ตำบลบ้านกระทุ่มแล้วเคลื่อนพลเข้าประชิดพระนคร โดยได้เข้ามายืนช้างบัญชาการรบอยู่ในวัดสามพิหาร และวางกำลังพลรายเรียงเข้ามาถึงวัดโรงฆ้อง ต่อไปถึงวัดกุฎีทอง และนำกำลังพล 5,000 คน ช้าง 30 เชือก เข้ายึดแนวหน้าวัดพระเมรุราชิการามพร้อมกับให้ทหารลงเรือ 50 ลำแล่นเข้ามาปล้นพระนครตรงมุมเจ้าสนุก[8] สมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จออกบัญชาการรบป้องกันพระนครเป็นสามารถ กองทัพเขมรพยายามยกพลเข้าปล้นพระนครอยู่ 3 วัน แต่ไม่สำเร็จจึงยกกองทัพกลับไปและได้กวาดต้อนผู้คนชาวบ้านนาและนครนายกไปยังประเทศเขมรเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2117 ในขณะที่กองทัพไทยในบังคับบัญชาของสมเด็จพระธรรมราชาธิราชกับพระนเรศ ยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดี ไปตีเมืองศรีสัตนาคนหุต พระยาละแวก ถือโอกาสยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกโดยยกมาทางเรือ การศึกครั้งนี้โชคดีเป็นของไทย กล่าวคือขณะที่กองทัพไทยยกไปถึงหนองบัวลำภู สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประชวรเป็นไข้ทรพิษ พระเจ้าหงสาวดีโปรดให้กองทัพไทยยกกลับกรุงศรีอยุธยา[8] กองทัพไทยกลับมาได้ทันเวลาที่กรุงศรีอยุธยาถูกโจมตีจากกองทัพเรือเขมร ซึ่งขึ้นมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อเดือนอ้าย พ.ศ. 2118 และได้ตั้งทัพชุมนุมพลอยู่ที่ตำบลขนอนบางตะนาวศรี และลอบแฝงเข้ามาอยู่ในวัดพนัญเชิง และใช้เรือ 3 ลำเข้าทำการปล้นชาวเมืองที่ตำบลนายก่าย[8] ไทยใช้ปืนใหญ่ยิงไปยังป้อมค่ายนายก่าย ถูกข้าศึกล้มตายเป็นอันมาก แล้วให้ทหารเรือเอาเรือไปท้าทายให้ข้าศึกออกมารบพุ่ง จากนั้นก็ล่อหลอกให้ข้าศึกรุกไล่เข้ามาในพื้นที่การยิงหวังผลของปืนใหญ่ เมื่อพร้อมแล้วก็ระดมยิงปืนใหญ่ถูกทหารเขมรแตกพ่ายกลับไป
- การรบกับเขมรที่ไชยบาดาล ในปี พ.ศ. 2121 พระยาจีนจันตุ ขุนนางจีนของกัมพูชา รับอาสาพระสัฎฐามาปล้นเมืองเพชรบุรี แต่ต้องพ่ายแพ้ตีเข้าเมืองไม่ได้จะกลับกัมพูชาก็เกรงว่าจะต้องถูกลงโทษ จึงพาสมัครพรรค พวกมาสวามิภักดิ์อยู่กับคนไทย โดยสมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงชุบเลี้ยงไว้ ต่อมาไม่นานก็ลงเรือสำเภาหนีออกไป เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีพระชนมายุได้ 24 พรรษา ตระหนักในพระทัยดีว่า พระยาจีนจันตุเป็นผู้สืบข่าวไปให้เขมร พระองค์จึงเสด็จลงเรือกราบกันยารับตามไป เสด็จไปด้วยอีกลำหนึ่งตามไปทันกันเมื่อใกล้จะออกปากน้ำ พระยาจีนจันตุยิงปีนต่อสู้ สมเด็จพระนเรศวรจึงเร่งเรือพระที่นั่งขึ้นหน้าเรือลำอื่นประทับยืนทรงยิงพระแสงปืนนกสับที่หน้ากันยาไล่กระชั้นชิดเข้าไปจนข้าศึกยิงมา ถูกรางพระแสงปืนแตกอยู่กับพระหัตถ์ก็ไม่ยอมหลบ พระเอกาทศรถเกรงจะเป็นอันตราย จึงตรัสสั่งให้เรือที่ทรงเข้าไปบังเรือสมเด็จพระเชษฐาก็พอดีกับเรือที่ทรงเข้าไป บังเรือสมเด็จพระเชษฐาก็พอดีกับเรือสำเภาของพระยาจีนจันตุได้ลมแล่นออกทะเลไป เนื่องจากเรือรบไทยเป็นเรือเล็กสู้คลื่นลมไม่ไหวจำต้องถอยขบวนกลับขึ้นมาตามลำน้ำพบกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่คุมกำลังทหารลงเรือหนุนตามมาที่เมืองพระประแดง ทรงกราบทูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ทรงทราบ แล้วเคลื่อนขบวนกลับสู่พระนคร[9][10] พระปรีชาสามารถในการรบเป็นที่ประจักษ์หลายครั้งหลายคราว ครั้นยิ่งนานวันความกล้าแกร่งของพระนเรศวรยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ความสามมารถในการเป็นผู้นำปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน จนกระทั่งได้รับความนับถือยกย่องโดยทั่วไป[11] แต่การทำสงครามกับเขมรก็ยังไม่จบสิ้น ทั้งนี้เพราะเขมรยังคงเชื่อว่าสยามยังอ่อนแอสามารถที่จะเข้ามาปล้นชิงได้อยู่ พ.ศ. 2123 กษัตริย์กัมพูชาได้ให้พระทศราชาและพระสุรินทร์ราชาคุมกำลังประมาณ 5,000 ประกอบไปด้วยช้าง ม้า ลาดตระเวนเข้ามาในหัวเมืองด้านตะวันออก แล้วเคลื่อนต่อเข้ามายังเมืองสระบุรีและเมืองอื่นๆ หมายจะปล้นทรัพย์จับผู้คนไปเป็นเชลย[10] ประจวบเหมาะกับพระนเรศวรเสด็จลงมาประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาพอดี เมื่อทรงทราบข่าวศึกก็ทรงทูลขอกำลังทหารประจำพระนคร 3,000 คน ทั้งที่มีกำลังพลน้อยกว่าเขมรแต่สมเด็จพระนเรศวรก็สามารถวางกลศึกหลอกล่อ กระทั่งสามารถโจมตีทัพของเขมรให้แตกหนีกลับไปได้ในที่สุด[10]
- การรบที่เมืองคัง เป็นผลมาจากการสวรรคตของพระเจ้าบุเรงนอง พระมหากษัตริย์พม่า ทำให้เจ้าประเทศราชไทยใหญ่กระด้างกระเดื่องต่อพม่า พม่าต้องการปราบปรามเพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างแก่ประเทศราชอื่น ๆ พระเจ้านันทบุเรงทรงต้องการให้มีการแข่งขันในการรบ จึงทรงจัดให้เจ้านายพม่าและสมเด็จพระนเรศวรเข้าตีเมืองคังคนละวัน เจ้านายพม่าทั้งสองไม่สามารถเข้าตีเมืองได้ จนถึงวันที่สาม สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้เส้นทางลับเข้าตีเมืองจนสำเร็จ
- สงครามหลังจากการประกาศอิสรภาพ พ.ศ. 2127 ฝ่ายพระมหาอุปราชาทราบข่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรกวาดต้อนคนไทยกลับจึงได้ให้สุรกรรมาเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวงยกติดตามกองทัพไทยมา กองหน้าของพม่าตามมาทันที่ริมฝั่งแม่น้ำสะโตง ในขณะที่ฝ่ายไทยได้ข้ามแม่น้ำไปแล้ว และคอยป้องกันมิให้ข้าศึกข้ามตามมาได้ ได้มีการต่อสู้กันที่ริมฝั่งแม่น้ำ สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงปืนคาบชุดยาวเก้าคืบ ยิงถูกสุรกรรมาแม่ทัพหน้าพม่าตายบนคอช้าง กองทัพของพม่าเห็นแม่ทัพตาย ก็พากันเลิกทัพกลับไป เมื่อพระมหาอุปราชาแม่ทัพหลวงทรงทราบ จึงให้เลิกทัพกลับไปกรุงหงสาวดี พระแสงปืนที่ใช้ยิงสุรกรรมาตายบนคอช้างนี้ได้นามปรากฏต่อมาว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง" นับเป็นพระแสงอัษฎาวุธ อันเป็นเครื่องราชูปโภค ยังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับถึงเมืองแครง ทรงพระราชดำริว่าพระมหาเถรคันฉ่องกับพระยาเกียรติพระยารามได้มีอุปการะมาก สมควรได้รับการตอบแทนให้สมแก่ความชอบ จึงทรงชักชวนให้มาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา พระมหาเถรคันฉ่องกับพระยามอญทั้งสองก็มีความยินดีพาพรรคพวกเสด็จเข้ามาด้วยเป็นอันมาก ในการยกกำลังกลับครั้งนี้สมเด็จพระนเรศวรทรงเกรงว่า ข้าศึกอาจยกทัพตามมาอีกถ้าเสด็จกลับทางด่านแม่ละเมา มีกองทัพของนันทสูราชสังครำตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรจะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง พระองค์จึงรีบสั่งให้พระยาเกียรติ พระยาราม นำทัพเดินผ่านหัวเมืองมอญลงมาทางใต้ มาเข้าทางด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่พวกมอญที่สวามิภักดิ์ ทรงตั้งพระมาหาเถรคันฉ่องเป็นพระสังฆราชาที่สมเด็จอริยวงศ์ และให้พระยาเกียรติ พระยารามมีตำแหน่งยศได้พระราชทานพานทองควบคุมมอญที่เข้ามาด้วย ให้ตั้งบ้านเรือนที่ริมวัดขมิ้นและวัดขุนแสนใกล้วังจันทร์ของสมเด็จพระนเรศวร แล้วทรงมอบการทั้งปวงที่จะตระเตรียมต่อสู้ข้าศึกให้สมเด็จพระนเรศวรทรงบังคับบัญชาสิทธิขาดแต่นั้นมา[12]
- การรบกับพระยาพะสิม ปี พ.ศ. 2127 หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพได้ 7 เดือน พระเจ้านันทบุเรงจึงจัดทัพสองทัพให้ยกมาตีไทย ทัพแรกมีพระยาพสิม (เป็นพระเจ้าอาของพระเจ้าหงสาวดี) คุมกำลัง 30,000 นาย โดยยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทัพที่สองมีเจ้าเมืองเชียงใหม่ชื่อมังนรธาช่อราชอนุชา ยกทัพบกและเรือมา จากเชียงใหม่มีกำลังพล 100,000 นาย กองทัพพระยาพสิมยกเข้ามาถึงเมืองกาญจนบุรี (ถึงก่อนทัพเจ้าเมืองเชียงใหม่) สมเด็จพระนเรศวรทรงให้พระยาจักรียกทัพเรือไปยิงปืนใหญ่ดักข้าศึกแถวๆเมืองสุพรรณบุรี ทัพพม่าถูกปืนใหญ่แตกพ่ายหนีไปอยู่บนเขาพระยาแมน เจ้าพระยาสุโขทัยยกทัพไปเขาพระยาแมน เข้าตีทัพพระยาพสิมแตกพ่ายหนีกระเจิง เจ้าพระยาสุโขทัยจึงสั่งให้ตามบดขยี้ข้าศึกจนถึงชายแดนเมืองกาญจนบุรี หลังจากทัพพระยาพสิมแตกพ่ายหนีกลับไปได้สองอาทิตย์ กองทัพพระยาเชียงใหม่ได้เดินทัพมาถึงชัยนาท โดยที่ไม่ทราบข่าวการพ่ายแพ้ของพระยาพสิมจึงส่ง แม่ทัพและทหารจำนวนหนึ่งมาตั้งค่ายที่ปากน้ำบางพุทรา ทางสมเด็จพระนเศวรมีรับสั่งให้พระราชมนูยกทัพไปตีข้าศึกที่ปากน้ำบางพุทรา เมื่อไปถึงพระราชมนูเห็นว่ากำลังน้อยกว่ามาก (พม่ามีอยู่ 15,000 คน ไทยมี 3,200 คน) จึงแต่งกองโจรคอยดักฆ่าพม่าจนเสียขวัญถอยกลับไปชัยนาท สุดท้ายทัพพม่าจึงถอยกลับไป[13]
- การรบที่บ้านสระเกศ พ.ศ. 2128 พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพมาแก้แค้นตั้งอยู่ที่บ้านสระเกษในแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกทัพไปถึงตำบลป่าโมก ก็พบกับกองทัพพม่าซึ่งลงมาเที่ยวรังแกราษฎรทางเมืองวิเศษชัยชาญ จึงได้เข้าโจมตีจนทัพพม่าล่าถอยไป พระเจ้าเชียงใหม่จึงจัดกองทัพยกลงมาอีก สมเด็จพระนเรศวรจึงดำรัสสั่งให้พระราชมนูคุมกองทัพขึ้นไปลาดตระเวนดูก่อน กองทัพพระราชมนูไปปะทะกับพม่าที่บ้านบางแก้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห จึงมีดำรัสให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ทำเป็นล่าทัพกลับถอยลงมา แล้วพระองค์กับพระอนุชาก็รุกไล่ตีทัพพม่าแตกพ่ายทั้งทัพหน้าและทัพหลวงจนถึงค่ายที่ตั้งทัพของพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ทัพของพระเจ้าเชียงใหม่จึงแตกกระจัดกระจายไป[14][15] เมื่อได้ค่ายที่บ้านสระเกศแล้วสมเด็จพระนเรศวรทรงติดตามพระเจ้าเชียงใหม่ขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ทรงทราบข่าวว่าพระเจ้าเชียงใหม่นี้หนีไปอาศัยอยู่กับพระมหาอุปราชาที่เมืองกำแพงเพชรแล้ว หากติดตามไปอาจเสียทีพระมหาอุปราชาได้ จึงได้วางกำลังส่วนหนึ่งเป็นหน่วยลาดตระเวนเอาไว้ที่เมืองนครสวรรค์ แล้วยกทัพลงไปสมทบที่ปากน้ำบางพุทธา และถวายรายงานพร้อมคาดการณ์ว่าข้าศึกไม่น่าจะยกพลมาถึงกรุงศรีอยุธยาก่อนฤดูแล้ง ต่อมาสมเด็จพระมหาธรรมราชามีรับสั่งให้เลิกกองทัพเสด็จกลับพระนคร[15]
- พระแสงดาบคาบค่าย ปีพ.ศ. 2129 พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงยังไม่เข็ดหลาบในความพ่ายแพ้ จึงประชุมกองทัพจำนวน 250,000 นาย คนยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ในช่วงต้นเดือนยี่ข้าวในนายังเกี่ยวไม่เสร็จ สมเด็จพระนเรศวรจึงรับสั่งให้เจ้าพระยากำแพงเพชรยกทัพออกไปป้องกันชาวนาที่กำลังเกี่ยวข้าว พอทัพพม่าของพระมหาอุปราชายกทัพมาถึงก็ให้ทัพม้าเข้าตีจนทัพเจ้าพระยากำแพงเพชรแตกพ่ายหนีเข้าเมือง สมเด็จพระนเรศวรทรงพิโรธอย่างมาก เพราะไทยไม่เคยแตกพ่ายแพ้ต่อข้าศึกอาจทำให้ทหารขวัญเสีย พระองค์และสมเด็จเอกาทศรถเสด็จลงเรือพระที่นั่งออกไปรบทันที[16] (สมเด็จพระเอกาทศรถทรงถูกกระสุนปืนแต่ไม่เป็นอะไร เพียงแค่ฉลองพระองค์ขาดเท่านั้น) ผลปรากฏว่าทรงยึดค่ายคืนมาได้ สมเด็จพระนเรศวรมีรับสั่งประหารชีวิตเจ้าพระยากำแพงเพชร แต่โชคดีที่พระบิดาสมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงขอชีวิตเอาไว้[17] การศึกครั้งนี้พม่าหมายมั่นจะตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้ แต่ด้วยความแข็งแกร่งของทหารไทยจึงรักษาที่มั่นเอาไว้ได้เสมอ เสด็จออกปล้นค่ายพม่าซึ่งเป็นทัพหน้าของหงสาวดี ข้าศึกแตกพ่ายถอยหนี พระองค์จึงไล่ตีมาจนถึงค่ายหลวงของพระเจ้าหงสาวดี เสด็จลงจากม้าคาบพระแสงดาบแล้วนำทหารปีนบันไดขึ้นกำแพงข้าศึก แต่ถูกพม่าใช้หอกแทงตกลงมาข้างล่างหลายครั้งจึงเสด็จกลับพระนคร พระแสงดาบนี้มีนามว่า พระแสงดาบคาบค่าย[18] ในพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้าหงสาวดีทรงทราบการกระทำอันห้าวหาญของสมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสว่า ถ้าพระนเรศวรออกมาอีกจะต้องจับพระองค์ ให้ได้ถึงแม้ว่าจะใช้ทหารมากมายเพียงใด จึงวางแผนให้ลักไวทำมูนำทหารจำนวน 10,000 นาย ไปดักจับ สมเด็จพระนเรศวรทรงออกไปปล้นค่ายหลวงพม่าอีก พม่าจึงใช้ทหารจำนวนน้อยเข้าล่อให้พระองค์ไล่ตี เข้ามาจนถึงบริเวณที่ลักไวทำมูซุ่มรออยู่ ลักไวทำมูจะเข้ามาจับพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรจึงใช้พระแสงทวนแทงลักไวทำมูตายทันที แต่พระองค์ยังถูกล้อมอยู่และสู้กับทหารพม่า จำนวนมากนานร่วมชั่วโมง จนทัพไทยตามมาทันจึงเสด็จกลับพระนครได้ สุดท้ายกองทัพหงสาวดีบอบช้ำจากการสู้รบกับไทยอย่างมากจึงถอยทัพกลับไปเช่นเดิม[19]
- พระมหาอุปราชายกทัพมาครั้งแรก สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ได้ 8 เดือนก็เกิดข้าศึกพม่าอีก เหตุที่จะเกิดศึกครั้งนี้คือเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังตั้งแข็งเมืองขึ้นอีก พระเจ้าหงสาวดีตรัสปรึกษาเสนาบดี เห็นกันว่าเป็นเพราะเหตุที่เจ้าเมืองคังได้ทราบว่าปราบกรุงศรีอยุธยาไม่สำเร็จ จึงตั้งแข็งเมืองเอาอย่างบ้างตราบใดที่ยังไม่ปราบกรุงศรีอยุธยาลงได้[20] ถึงแม้จะปราบเมืองคังได้ เมืองอื่นก็คงแข้งข้อเอาอย่าง แต่ในเวลานั้นพระเจ้าหงสาวดีทรงอยู่ในวัยชราทุพพลภาพ ไม่ทรงสามารถจะไปทำสงครามเอาได้ดังแต่ก่อน จึงจัดกองทัพขึ้นสองทัพ ให้ราชบุตรองค์หนึ่งซึ่งได้เป็นพระเจ้าแปรขึ้นใหม่ ยกไปตีเมืองคังทัพหนึ่งให้พระยาพสิม พระยาพุกามเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวงยกลงมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกทัพหนึ่ง พระมหาอุปราชายกออกจากกรุงหงสาวดีเมื่อเดือน 12 พ.ศ. 2133 มาเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เพื่อตรงมาตีพระนครศรีอยุธยาทีเดียว[21] ฝ่ายทางกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้ รู้ตัวช้าจึงเกิดความลำบาก ไม่มีเวลาจะต้อนผู้คนเข้าพระนครดังคราวก่อนๆ สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่าจะคอยต่อสู้อยู่ในกรุงอาจไม่เป็นผลดีเหมือนหนหลัง จึงรีบเสด็จยกกองทัพหลวงออกไปกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ในเดือนยี่ เมือเสด็จไปถึงเมืองสุพรรณบุรีได้ทรงทราบว่าข้าศึกยกล่วงเมืองกาญจนบุรีเข้ามาแล้ว จึงให้ตั้งทัพหลวงรับข้าศึกอยู่ที่ลำน้ำท่าคอย พอกองทัพพม่ายกมาถึงก็รบกันอย่างตะลุมบอน พระยาพุกามแม่ทัพพม่าคนหนึ่งตายในที่รบ กองทัพพม่าถูกไทยฆ่าฟันล้มตายเป็นอันมาก ที่เหลือก็พากันพ่ายหนี ไทยไล่ติดตามไปจับพระยาพสิมได้ที่บ้านจระเข้สามพันอีกคนหนึ่ง พระมหาอุปราชาเองก็หนีไปได้อย่างหวุดหวิด เมื่อกลับไปถึงหงสาวดีพวก แม่ทัพนายกองก็ถูกลงอาญาไปตามๆ กัน พระมหาอุปราชาก็ถูกภาคทัณฑ์ให้ทำการแก้ตัวในภายหน้า[22]
- สงครามยุทธหัตถี ในปี พ.ศ. 2135 พระเจ้าหงสาวดี นันทบุเรง โปรดให้พระมหาอุปราชา นำกองทัพทหารสองแสนสี่หมื่นคน มาตีกรุงศรีอยุธยาหมายจะชนะศึกในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบว่า พม่าจะยกทัพใหญ่มาตี จึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลังหนึ่งแสนคนเดินทางออกจากบ้านป่าโมกไปสุพรรณบุรี ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทอง และตั้งค่ายหลวงบริเวณหนองสาหร่าย[22] เช้าของวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเครื่องพิชัยยุทธ สมเด็จพระนเรศวรทรงช้างนามว่า เจ้าพระยาไชยานุภาพ (พลายภูเขาทอง) ส่วนพระสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างนามว่า เจ้าพระยาปราบไตรจักร (พลายบุญเรือง) ช้างทรงของทั้งสองพระองค์นั้นเป็นช้างชนะงา คือช้างมีงาที่ได้รับการฝึกให้รู้จักการต่อสู้มาแล้วหรือเคยผ่านสงครามชนช้าง ชนะช้างตัวอื่นมาแล้ว ซึ่งเป็นช้างที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบจึงวิ่งฝ่ากองทัพพม่าจนมาถึงช่วงกลางของทัพพม่า มีเพียงทหารรักษาพระองค์และจาตุรงค์บาทเท่านั้นที่ติดตามไปทัน[23] สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าเท้าพระยา จึงทราบได้ว่าช้างทรงของสองพระองค์หลงถลำเข้ามาถึงกลางกองทัพ และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึกจึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยคุ้นเคยมาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า "พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว"[24] พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสช้างนามว่าพลายพัทธกอ ซึ่งเป็นช้างที่มีขนาดใหญ่เข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก สมเด็จพระนเรศวรทรงตรัสให้กำลังใจเจ้าพระยาไชยานุภาพ พระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพชนพลายพัทธกอเสียหลัก สมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง[25] ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถทรงฟันมางจาชโร เจ้าเมืองจาปะโรเสียชีวิตเช่นกัน ทหารพม่าเห็นว่าแพ้แน่แล้ว จึงใช้ปืนระดมยิงใส่สมเด็จพระนเรศวรได้รับบาดเจ็บ ทันใดนั้น ทัพหลวงไทยตามมาช่วยทัน จึงรับทั้งสองพระองค์กลับพระนคร พม่าจึงยกทัพกลับกรุงหงสาวดีไป นับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นระยะเวลาอีกยาวนาน[25]
- สงครามตีเมืองทวายและตะนาวศรีศึกทวายและตะนาวศรีนั้น เป็นการรบในระหว่างคนต้องโทษกับคนต้องโทษด้วยกัน กล่าวคือ ทางกรุงศรีอยุธยพาพวกนายทัพที่ตามเสด็จไม่ทันในวันยุทธหัตถีนั้น มีถึง 6 คนคือ พระยาพิชัยสงคราม พระยารามกำแหง เจ้าพระยาจักรี พระยาพระคลัง และพระยาศรีไสยณรงค์ สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้ปรึกษาโทษ ลูกขุนปรึกษาโทษให้ประหารชีวิต สมเด็จพระวันรัต สังฆปรินายกมาถวายพระพรบรรยายว่า การที่แม่ทัพเหล่านั้นตามเสด็จไม่ทัน ก็เพราะบุญญาภินิหารของพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรที่จะได้รับเกียรติคุณเป็นวีรบุรุษที่แท้จริง ด้วยเหตุว่าถ้าพวกนั้นตามไปทันแล้วถึงจะชนะก็ไม่เป็นชื่อเสียงใหญ่หลวงเหมือนที่เสด็จไปโดยลำพัง เมื่อเห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงเลื่อมใสในคำบรรยายข้อนี้แล้ว สมเด็จพระวันรัตก็ทูลขอโทษพวกแม่ทัพเหล่านี้ไว้ สมเด็จพระนเรศวรก็โปรดประทานให้ แต่พวกนี้จะต้องไปตีทวายและตะนาวศรีเป็นการแก้ตัว จึงให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพคุมพลห้าหมื่นไปตีตะนาวศรี พระยาพระคลังคุมกำลังพลหมื่นเหมือนกันไปตีทวาย ส่วนแม่ทัพอื่นๆ ที่ต้องโทษก็แบ่งกันไปในสองกองทัพนี้คือพระยาพิชัยสงครามกับพระยารามคำแหงไปตีเมืองทวายกับพระยาพระคลัง และให้พระยาเทพอรชุนกับพระยาศรีไสยณรงค์ไปตีเมืองตะนาวศรีกับเจ้าพระยาจักรี[26][27] ส่วนทางหงสาวดีนั้น เมื่อพระเจ้าหงสาวดีเสียพระโอรสรัชทายาทแล้วก็โทมนัส ให้ขังแม่ทัพนายกองไว้ทั้งหมด แต่ภายหลังทรงดำริว่าไทยชนะพม่าในครั้งนี้แล้วก็จะต้องมาตีพม่าโดยไม่ต้องสงสัย ก่อนที่ไทยไปรบพม่าก็จะต้องดำเนินการอย่างเดียวกันกับที่พม่ารบกับไทย กล่าวคือ จะต้องเอามอญไว้ในอำนาจเสียก่อนและเป็นการแน่นอนว่าไทยจะต้องเข้ามาตีทวายและตะนาวศรี ด้วยเหตุนี้จึงให้แม่ทัพนายกองที่ไปแพ้สงครามมาครั้งนี้ไปทำการแก้ตัวรักษาเมืองตะนาวศรีและเมืองทะวาย เป็นอันว่าทั้งผู้รบและผู้รับทั้งสองฝ่าย ตกอยู่ในฐานคนผิดที่จะต้องทำการแก้ตัวทั้งสิ้น[28] ในการรบทวายและตะนาวศรีครั้งนี้แม่ทัพทั้งสองคือ เจ้าพระยาจักรีและพระยาคลัง ทำการกลมเกลียวกันเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้สมเด็จพระนเรศวรจะได้แบ่งหน้าที่ให้ตีคนละเมือง ก็ยังมีการติดต่อช่วยเหลือกันและกัน ในที่สุดแม่ทัพทั้งสองก็รบชนะทั้งสองเมืองและบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีไสยณรงค์อยู่ครองเมืองตะนาวศรี ส่วนทางเมืองทะวายนั้นให้เจ้าเมืองทวายคนเก่าครองต่อไป ชัยชนะครั้งนี้เป็นอันทำให้แม่ทัพทั้งหลายพ้นโทษ แต่ทางพม่าแม่ทัพกลับถูกทำโทษประการใดไม่ปรากฏ แต่อย่างไรก็ดี การที่ชัยชนะทวายและตะนาวศรีครั้งนี้ ทำให้อำนาจของไทยแผ่ลงไปทางใต้เท่ากับในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช[29][30]
- การปราบปรามเขมรและฟื้นฟูหัวเมืองเหนือ ปลายปี พ.ศ. 2136 สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพหลวงไปตีกรุงกัมพูชา มีชัยชนะจับนักพระสัฏฐาเจ้ากรุงกัมพุชาได้ให้ประหารชีวิตเสียในพิธีปฐมกรรม แล้วกวาดต้อนครอบครัวเขมรมาเป็นเชลยเป็นอันมาก[31] ครั้นเสด็จกลับมาถึงพระนครจึงดำรัสสั่งให้ตั้งหัวเมืองเหนือที่ได้ทิ้งให้ร้างเมื่อเวลาทำสงครามกู้อิสรภาพอยู่ 8 ปีนั้น ให้กลับมามีเจ้าเมืองกรมการปกครองดังแต่ก่อน ทรงตั้งข้าราชการที่มีบำเหน็จความชอบให้ไปเป็นผู้ปกครองคือ พระยาชัยบูรณ์ข้าหลวงเดิมที่ได้ทรงใช้สอยทำศึกมาแต่แรกนั้น ให้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ไปครองเมืองพิษณุโลก ให้พระศรีเสาวราชไปครองเมืองสุโขทัย ให้พระองค์ทองไปครองเมืองพิชัย ให้หลวงจ่า (แสนย์) ไปครองเมืองสวรรคโลก แล้วเข้าใจว่าส่งครอบครัวเขมรที่ได้มาคราวนั้นไปอยู่ที่หัวเมืองเหนือโดยมาก[32]
- การตีหัวเมืองมอญ ปี พ.ศ. 2137 พระยาลาว เจ้าเมืองเมาะตะมะ เกิดวิวาทกับเจ้าพระยาพะโร เจ้าเมืองเมาะลำเลิง พระยาพะโรกลัวพระยาลาวจะมาตีเมาะลำเลิงจึงให้สมิงอุบากองถือหนังสือมาขอบารมีสมเด็จพระนเรศวรเป็นที่พึ่ง ขอพระราชทานกองทัพไปช่วยป้องกันเมือง สมเด็จพระนเรศวรจึงยอมรับช่วยเหลือพระยาพะโรทันที มีดำรัสสั่งให้พระยาศรีไศลออกไปช่วยรักษาเมืองเมาะลำเลิง ซึ่งแต่บัดนี้ไปได้ยอมมาสวามิภักดิ์เป็นประเทศราชของไทย ฝ่ายข้างพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตะมะ ก็ไปขอความช่วยเหลือทางหงสาวดีบ้าง ทางหงสาวดีให้พระเจ้าตองอูยกทัพมาช่วย แต่กองทัพไทยกับมอญเมาะลำเลิงได้ตีทัพพระเจ้าตองอูแตกไป
- การตีเมืองหงสาวดีครั้งที่ 1 การที่สมเด็จพระนเรศวร ได้หัวเมืองมอญฝ่ายใต้มาเป็นเมืองขึ้น นับว่าเป็นจุดหักเหที่มีนัยสำคัญ ของการสงครามไทยกับพม่า จากเดิม ฝ่ายพม่าเป็นฝ่ายยกทัพมาย่ำยีไทยมาโดยตลอด การได้หัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ทำให้ไทยใช้เป็นฐานทัพ ที่จะยกกำลังไปตีเมืองหงสาวดีได้สะดวก สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพหลวงไปตีเมืองหงสาวดี ออกจากพระนคร เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น3 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. 2138 มีกำลังพล 120,000 คน เดินทัพไปถึงเมืองเมาะตะมะ แล้วรวบรวมกองทัพมอญเข้ามาสมทบ จากนั้น ได้เสด็จยกกองทัพหลวงไปยังเมืองหงสาวดี เข้าล้อมเมืองไว้ กองทัพไทยล้อมเมืองหงสาวดีอยู่ 3 เดือน และได้เข้าปล้นเมือง เมื่อวันจันทร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 4 ครั้งหนึ่ง แต่เข้าเมืองไม่ได้ ครั้นเมื่อทรงทราบว่าพระเจ้าแปร พระเจ้าอังวะ พระเจ้าตองอู ได้ยกกองทัพลงมาช่วยพระเจ้าหงสาวดีถึงสามเมือง เห็นว่าข้าศึกมีกำลังมากนัก จึงทรงให้เลิกทัพกลับ เมื่อวันสงกรานต์ เดือน 5 ปีวอก พ.ศ. 2139 และได้กวาดต้อนครอบครัวในหัวเมืองมณฑลหงสาวดี มาเป็นเชลยเป็นอันมาก และกองทัพข้าศึกมิได้ยกติดตามมารบกวนแต่อย่างใด
- การตีเมืองหงสาวดีครั้งที่ 2 พ.ศ. 2142 สมเด็จพระนเรศวรทรงมุ่งหมายจะตีเอาเมืองหงสาวดีให้ได้ จึงตระเตรียมทัพยกไปทั้งทางบกและทางเรือ ได้ออกทำการเกลี้ยกล่อมหัวเมืองต่างๆ ให้อ่อนน้อมต่อไทยได้อีกหลายเมือง แม้แต่เชียงใหม่ซึ่งได้ตั้งแข็งเมืองต่อพม่าแล้ว แต่คิดเกรงว่ากรุงศรีสัตนาคนหุตและไทยจะยกทัพไปรุกราน ก็ได้ตัดสินใจยอมอ่อนน้อมมาขอขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาด้วย ส่วนเมืองตองอูกับเมืองยะไข่เมื่อเอาใจออกห่างจากกรุงหงสาวดีไปแล้ว ก็หันมาฝักใฝ่กับไทยและรับว่า ไทยยกทัพไปตีกรุงหงสาวดีแล้ว ก็จะเข้าร่วมช่วยเหลือพระเจ้ายะไข่นั้นอยากได้หัวเมืองชายทะเล ส่วนพระเจ้าตองอูอยากได้เป็นพระเจ้าหงสาวดีแทน สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงรับเป็นไมตรีกับเมืองทั้งสองนั้น ในระหว่างนั้นพระมหาเถระเสียมเพรียมภิกษุรูปหนึ่งได้เข้ายุยงพระเจ้าตองอูมิให้อ่อนน้อมแก่ไทย และแจ้งอุบายให้พระเจ้าตองอูคิดอ่านเอาเมืองหงสาวดีเสียเอง พระเจ้าตองอูเห็นชอบด้วยจึงชวนพระเจ้ายะไข่ให้ไปตีเมืองหงสาวดี แล้วพระเจ้าตองอูจะทำทีเป็นยกกองทัพมาช่วยหงสาวดี พอเข้าเมืองได้แล้วก็หย่าศึกกันเสีย และจะแบ่งประโยชน์ให้ตามที่พระเจ้ายะไข่ต้องการ คือจะยกหัวเมืองชายทะเลให้แก่พระเจ้ายะไข่ แต่ครั้งทัพพระเจ้ายะไข่และทัพพระเจ้าตองอูเข้าประชิดเมืองหงสาวดีแล้วก็หาเข้าเมืองไม่ ทั้งนี้เพราะพระเจ้าหงสาวดีเกิดทรงระแวงขึ้น ทัพพระเจ้าตองอูและพระเจ้ายะไข่จึงได้แต่ตั้งล้อมเมืองหงสาวดีไว้ สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่าทางกรุงหงสาวดีกำลังปั่นป่วนจึงเสด็จยกทัพหลวงไปตีหงสาวดี แต่ต้องไปเสียเวลาปราบปรามมอญซึ่งพระเจ้าตองอูได้ยุยงให้กระด้างกระเดื่องเป็นเวลาถึง 3 เดือนเศษ จึงเดินทัพถึงเมืองหงสาวดีช้ากว่ากำหนดที่คาดหมายไว้ ทางฝ่ายพระเจ้าตองอูพระเจ้ายะไข่ซึ่งกำลังล้อมเมืองหงสาวดีอยู่ พอได้ทราบข่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไปกำจัดมอญเมืองเมาะตะมะกำลังเดินทัพมาก็เกรงกลัว และแจ้งให้พระเจ้าหงสาวดีทราบ พระเจ้าหงสาวดีก็จำใจอนุญาตให้พระเจ้าตองอูยกทัพเข้าไปในเมืองหงสาวดีได้ และมอบหมายให้พระเจ้าตองอูบัญชาการรบแทนทุกประการ พระเจ้าตองอูจึงทำการกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สมบัติ รวมทั้งพระเจ้าหงสาวดีไปยังเมืองตองอู ทิ้งเมืองหงสาวดีไว้ให้กองทัพพระเจ้ายะไข่ทำการค้นคว้าทรัพย์ที่ยังเหลืออยู่ต่อไป พอพระเจ้าตองอูออกจากหงสาวดีไปได้ประมาณ 8 วัน กองทัพไทยก็ยกไปถึงเมืองหงสาวดี ครั้นสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทราบว่าพระเจ้าตองอูไม่ซื่อตรงตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้ก็ทรงพระพิโรธ จึงเสด็จยกทัพตามขึ้นไปตีเมืองตองอู ได้เข้าล้อมเมืองตองอูอยู่ถึง 2 เดือนก็ไม่อาจตีหักเอาได้ เพราะเมืองตองอูมีชัยภูมิที่ดี ชาวเมืองก็ทำการต่อสู้เข้มแข็ง ประกอบกับฝนตกชุกและทัพไทยขาดเสบียงอาหาร สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพกลับคืนกรุงศรีอยุธยา
- การตีเขมรในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระองค์ได้เสด็จยกทัพไปตีเขมร ซึ่งเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา แต่ได้แข็งเมืองมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ทำให้เขมรกลับมาเป็นหัวเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาดังเดิม ในตอนต้นรัชสมัยของพระองค์ หัวเมืองประเทศราชทางใต้ คิดกบฏยกทัพไปตีเมืองสงขลาและเมืองพัทลุง พระองค์ได้ส่งกองทัพไปปราบปรามได้ราบคาบ แต่ในขณะเดียวกันก็เสียเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองล้านนาแก่พม่า
- การตีหัวเมืองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งสงครามไทย-พม่าที่เมืองไทรโยคเนื่องจากกลุ่มมอญในเมืองเมาะตะมะเป็นกบฎแล้วอพยพลงมาสวามิภักดิ์ต่อไทย พม่ายกกองทัพติดตามเข้ามาเพื่อขอตัวเจ้าเมืองเมาะตะมะที่ถูกจับและกลุ่มมอญ ไทยไม่ยอมจึงเกิดการรบขึ้นที่ไทรโยค[33] อีกทั้งยังบุกเข้าตีหัวเมืองพม่าอีกหลายเมืองได้แก่ เมืองจิตตะกอง สิเรียม ย่างกุ้ง แปร ตองอู หงสาวดี และมีกำลังสำคัญที่ทำให้สมเด็จพระนารายณ์นั้นสามารถยึดหัวเมืองของพม่าได้คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และ พระยาสีหราชเดโชชัย[34]
- สงครามแย่งชิงราชสมบัติ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงพระประชวรหนักใกล้สวรรคตนั้น พระราชทานราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าอภัย พระเจ้าบรมโกศ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นพระมหาอุปราชอยู่ไม่เต็มพระทัย เพราะปรารถนาจะให้ทรงมอบราชสมบัติแก่เจ้าฟ้านเรนทร (กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์) ซึ่งในขณะนั้นผนวชอยู่ ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้เกิดการสู้รบกันระหว่างพระองค์กับพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ คือ เจ้าฟ้าอภัย และเจ้าฟ้าปรเมศร์ อันเนื่องมาจากพระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมีสิทธิที่จะขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐาอย่างถูกต้อง แต่เมื่อพระเชษฐาใกล้สวรรคตกลับตัดสินพระทัยยกราชสมบัติแก่ เจ้าฟ้านเรนทร พระโอรสพระองค์ใหญ่ แต่เจ้าฟ้านเรนทรไม่เห็นด้วยชอบด้วย จึงยกราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าอภัย พระโอรสองค์รอง เป็นเหตุให้เกิดการต่อสู้แย่งชิงราชบัลลังก์จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง กินระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ภายหลังเหตุการณ์สงบแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงได้ขึ้นครองราชย์ และประหารชีวิตเจ้าฟ้าทั้ง 2 พระองค์
- การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในระหว่างที่สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ครองราชย์ พม่าได้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2303 สมเด็จพระเจ้าเอกทัศได้ทรงขอให้พระเจ้าอุทุมพรลาผนวชมาช่วยบัญชาการรบ พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่า ที่ยกทัพมาได้รับบาดเจ็บจากปืนใหญ่ ต้องยกทัพกลับ และสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2307 พระเจ้ามังระ โอรสของพระเจ้าอลองพญา ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์พม่า และได้ส่งกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก ให้เกณฑ์กองทัพกว่า 70,000 นาย ยกเข้าตีเมืองไทย 2 ทาง ทางทิศใต้เข้าตีเข้าทางเมืองมะริด ส่วนทางตอนเหนือตีลงมาจากแคว้นล้านนา และบรรจบกันที่กรุงศรีอยุธยาเป็นศึกขนานกันสองข้างโดยได้ล้อมกรุงศรีอยุธยานาน 1 ปี 2 เดือน ก็เข้าพระนครได้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ในพงศาวดารฉบับหอแก้วและคองบองของพม่า ได้บรรยายให้เห็นว่าในสงครามครั้งนี้ ผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยาเองก็ได้เตรียมการและกระทำการรบอย่างเข้มแข็ง มิได้เหลวไหลอ่อนแอแต่ประการใด[35]
สมัยธนบุรี
[แก้]- การกอบกู้เอกราชของเจ้าตาก เป็นการรวบรวมกองกำลังของเจ้าตาก เพื่อขับไล่กองทัพพม่าที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในกรุงศรีอยุธยา ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง อันส่งผลให้เกิดสภาพจลาจลโดยทั่วไป ราชอาณาจักรอยุธยาเดิมจึงถูกแบ่งออกเป็นชุมนุมต่าง ๆ เป็นอิสระต่อกัน ราวปี พ.ศ. 2309 ก่อนเสียกรุง พระยาตากได้นำทหารในบังคับบัญชาตีฝ่าวงล้อมของกองทัพพม่าไปทางด้านทิศตะวันออกของกรุงศรีอยุธยา เพื่อรวบรวมผู้คนและยุทธปัจจัยต่าง ๆ มาสู้รบกับกองทัพพม่าอีกครั้ง ในระหว่างนั้นยังได้ตั้งตนเป็นเจ้าเมื่อถึงเมืองระยอง เมื่อ เจ้าตาก เตรียมกำลังรบจนพร้อมสรรพแล้ว จึงได้เคลื่อนพลกลับไปยังกรุงศรีอยุธยาทางด้านปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อทำการขับไล่ทหารพม่าที่ยังคงเหลืออยู่ออกไปได้สำเร็จ
- การสงครามเพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้เตรียมเรือและกำลังจะขึ้นไปตีเมืองพิษณุโลก ครั้นถึงฤดูน้ำนอง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จยกกำลังขึ้นไปทางเหนือ เจ้าพิษณุโลกให้หลวงโกษา ยัง คุมกำลังมาตั้งรับบริเวณปากน้ำโพ เมื่อฝ่ายธนบุรีมาถึง ก็ได้มีการรบพุ่งกัน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกปืน กองทัพธนบุรีจึงถอยกลับคืนพระนคร เจ้าพิษณุโลกทราบข่าวก็ตั้งตัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่อีก 7 วันต่อมา ก็ถึงแก่พิราลัย[36] ชุมนุมพิษณุโลกก็อ่อนแอลง ไม่นานก็ถูกผนวกรวมกับชุมนุมเจ้าพระฝาง[37] ต่อมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้จัดเตรียมกำลังเพื่อทำลายคู่แข่งทางการเมือง คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ เจ้าแผ่นดิน "หุ่นเชิด"[38] ของชุมนุมเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธสู้ไม่ได้ พระองค์จึงถูกนำตัวกลับมายังกรุงธนบุรี และทรงถูกประหารระหว่างเดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2311[39] ราวเดือน 4 พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้เจ้าพระยาจักรี (แขก) เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมกำลัง 5,000 คน ยกไปตีเมืองนครศรีธรรมราชทางบก เมื่อยกไปถึงท่าหมาก แขวงอำเภอลำพูน แม่ทัพธนบุรีไม่สามัคคี ตีค่ายชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชไม่พร้อมกัน จึงเสียที สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบและประเมินสถานการณ์แล้ว จึงเสด็จยกกองทัพเรือกำลัง 10,000 คน ยกลงไปช่วย ขึ้นบกแล้วเคลื่อนทัพต่อไปจนถึงเมืองไชยา ก่อนจะเข้าตีนครศรีธรรมราช ฝ่ายกองทัพเรือธนบุรีก็ไปถึงเช่นกัน กองทัพธนบุรีจึงตีได้เมืองนครศรีธรรมราช [40] ในปี พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงยกกองทัพขึ้นไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง ตีได้เมืองพิษณุโลก แล้วตามไปตีเมืองสวางคบุรี เจ้าพระฝางสู้ไม่ได้ จึงนับได้ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ ลงอย่างราบคาบแล้ว
- การสงครามเพื่อปกป้องแผ่นดิน ครั้นพระเจ้ามังระทราบข่าวว่ามีคนไทยตั้งตนเป็นใหญ่อีกครั้ง จึงได้มีพระบรมราชโองการให้ แมงกี้มารหญ้า[41] เจ้าเมืองทวาย ยกทัพมาปราบปราม กองทัพพม่ายกมาถึงอำเภอบางกุ้ง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงธนบุรี มีกำลังตามพระราชพงศาวดาร 2,000 คน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จนำยุทธหัทธีออกตีพม่าจนแตกพ่าย กิตติศัพท์ที่ทรงรบชนะ ทำให้พระราชอำนาจทางการเมืองในภาคกลางยิ่งเข้มแข็งยิ่งขึ้น[42] ราวปี พ.ศ. 2311 พระองค์ก็ทรงยกทัพไปตีชุมนุมพิษณุโลกอีก แต่กระสุนปืนต้องถูกพระองค์ จึงต้องยกทัพกลับและรักษาพระองค์ยังพระนคร หลังหายจากพระอาการประชวรแล้ว ในระหว่างปี พ.ศ. 2312-2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงใช้เวลาในการปราบปรามชุมนุมอื่น ๆ เพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น เริ่มจากชุมนุมเจ้าพิมาย[43] ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช[44] และชุมนุมเจ้าพระฝางตามลำดับ[45] เมื่อทรงปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ ลงอย่างราบคาบแล้ว รัฐบาลจีนก็เริ่มให้การยอมรับสถานะพระมหากษัตริย์ของพระองค์อย่างเป็นทางการ[46] นอกจากการต่อสู้เพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นแล้ว ยังต้องป้องกันหัวเมืองชายแดนอีกด้วย ตลอดรัชสมัยทรงทำสงครามกับพม่าถึง 9 ครั้ง แต่ก็ทรงได้รับชัยชนะทุกครั้ง
- สงครามครั้งที่ 1 รบพม่าที่บางกุ้ง พ.ศ. 2310 เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต เจ้าเมืองเวียงจันทน์ มีใจฝักใฝ่พม่า ได้กราบทูลข่าวการตั้งตัวเป็นใหญ่ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีให้พระเจ้ามังระ ทราบ พระองค์จึงทรงสั่งให้ แมงกี้มารหญ้า เจ้าเมืองทวาย คุมกำลังมาตรวจตราแผ่นดินไทย มีหน้าที่ปราบปรามผู้ที่กำเริบตั้งตนเป็นใหญ่ให้ราบคาบ แมงกี้มารหญ้ายกทัพเข้ามาทางเมืองไทรโยค ในฤดูแล้งปลายปี พ.ศ. 2310 เมื่อทัพมาถึงบางกุ้ง ซึ่งมีค่ายทหารจีนของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งอยู่ ก็สั่งให้ทหารเข้าล้อมค่ายนั้นไว้ ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้พระมหามนตรี (บุญมา) เป็นทัพหน้า มีตัวพระองค์เป็นทัพหลวง โจมตีข้าศึก แมงกี้มารหญ้าเห็นสู้ไม่ได้ก็ยกทัพถอยไปทางเมืองทวายทางด่านเจ้าขว้าว ทำให้กองทัพไทยสามารถยึดเรือรบ เครื่องศัตราวุธ และเสบียงอาหารเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้เมืองราชบุรียังตกอยู่ใต้การปกครองของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี อีกทั้งยึดได้กองทัพเรือพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่นั่นด้วย[47]
- สงครามครั้งที่ 2 พม่าตีเมืองสวรรคโลก พ.ศ. 2313 รบกับพม่าครั้งพม่าตีเมืองสวรรคโลก ไทยสามารถตีแตกไปได้[45]
- สงครามครั้งที่ 3 ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก พ.ศ. 2313 - พ.ศ. 2314 เป็นการรบกับพม่าเมื่อฝ่ายไทยยกไปตีนครเชียงใหม่ครั้งแรก แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากขาดเสบียง[48]
- สงครามครั้งที่ 4 พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 1 พ.ศ. 2315 โปสุพลา แม่ทัพยกทัพไปช่วยเมืองเวียงจันทน์รบกับหลวงพระบาง ขากลับแวะตีเมืองพิชัย แต่ไม่สำเร็จ ไทยชนะ[49]
- สงครามครั้งที่ 5 พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 2 พ.ศ. 2316 พม่ายกมาตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 2 แต่พม่าตีไม่สำเร็จ พระยาพิชัย ได้สร้างวีรกรรม พระยาพิชัยดาบหัก[50]
- สงครามครั้งที่ 6 ไทยตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2317 กองทัพไทยชนะ ยึดนครเชียงใหม่กลับจากพม่าได้ เพราะชาวล้านนาออกมาสวามิภักดิ์กับไทย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงแต่งตั้งให้ พระยาจ่าบ้าน เป็น พระยาวิเชียรปราการ ปกครองนครเชียงใหม่ พระยากาวิละ ซึ่งเป็นต้นราชวงศ์กาวิละ ปกครองนครลำปาง และ พระยาลำพูน เป็น พระยาวัยวงศา ปกครองเมืองลำพูน การครั้งนี้จึงได้ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และ น่าน กลับมาเป็นของไทย[51]
- สงครามครั้งที่ 7 รบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี พ.ศ. 2317 เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรู้ข่าวว่าพม่ายกพลตามพวกมอญที่หนีเข้ามาในเขตไทย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพมุ่งตรงไปยังราชบุรี โดยทรงบัญชาการทัพด้วยพระองค์เอง ทรงตั้งค่ายล้อมค่ายพม่าและลอบตีตัดทางลำเลียงเสบียงอาหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจากพระยายมราช ในที่สุดพม่าจึงต้องยอมแพ้ ชัยชนะในครั้งนี้ส่งผลให้ผู้คนที่หลบซ่อนตามที่ต่าง ๆ เข้ามาสวามิภักดิ์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากหมดความกลัวเกรงพม่า นับเป็นสงครามแบบจิตวิทยาโดยแท้[52]
- สงครามครั้งที่ 8 อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ. 2318 เป็นสงครามที่ใหญ่มาก อะแซหวุ่นกี้เป็นผู้นำที่เชี่ยวชาญศึก มีอัธยาศัยสุภาพ ส่วนทางด้านฝ่ายไทยนั้น มี เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และ เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) ในการครั้งนี้พม่ายกพลมา 30,000 คน เข้าล้อมเมืองพิษณุโลก อีก 5,000 คน ล้อมเมืองสุโขทัย ส่วนเมืองพิษณุโลกมีพลประมาณ 10,000 คน เท่านั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพไปช่วย และในที่สุดอะแซหวุ่นกี้ต้องยกทัพกลับ เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินพม่าสวรรคต กองทัพพม่าส่วนที่ตามไปไม่ทันจึงถูกกองทัพทหารจับ[53]
- สงครามครั้งที่ 9 พม่าตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2319 พระเจ้าจิงกูจาโปรดให้เกณฑ์ทัพพม่ามอญ 6,000 คน ยกมาตีเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2319 พระยาวิเชียรปราการได้พิจารณาแลเห็นว่า นครเชียงใหม่ไม่มีพลมากมายขนาดที่จะว่าป้องกันเมืองได้ จึงให้ประชาชนพลเรือนอพยพลงมาอยู่ที่เมืองสวรรคโลก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรสีห์คุมกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปสมทบกองกำลังพระยากาวิ เจ้าเมืองนครลำปาง ยกไปตีเมืองเชียงใหม่คืนสำเร็จ และทรงให้นครเชียงใหม่เป็นเมืองร้างถึง 15 ปี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้ฟื้นฟูใหม่[54]
- การสงครามเพื่อขยายพระราชอาณาเขต
- การขยายพระราชอาณาเขตไปยังหลวงพระบางและเวียงจันทน์
- การขยายพระราชอาณาเขตไปยังกัมพูชา ในสมัยกรุงธนบุรีได้มีการรวบรวมหัวเมืองต่างๆ เข้ามาในพระราชอาณาจักร ได้แก่ ธนบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครชัยศรี นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงต่อสู้เพื่อขยายพระราชอาณาจักรเกือบตลอดรัชกาล อาณาเขตของประเทศไทยในสมัยนั้น มีดังนี้
- ทิศเหนือ ได้ดินแดนหลวงพระบาง และเวียงจันทน์
- ทิศใต้ ได้ดินแดนกลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี
- ทิศตะวันออก ได้ดินแดนลาว เขมร ทางฝั่งแม่น้ำโขงจรดอาณาเขตญวน
- ทิศตะวันตก จรดดินแดนเมาะตะมะ ได้ดินแดน เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี
การขยายอำนาจเข้าสู่อาณาจักรลาว (เวียงจันทน์และหลวงพระบาง) โดยตรงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงธนบุรี เช่นเดียวกับการขยายอำนาจสู่เขมร
สมัยรัตนโกสินทร์
[แก้]- สงครามเก้าทัพ เป็นสงครามระหว่างอาณาจักรพม่ากับกรุงรัตนโกสินทร์หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานีแห่งใหม่ เวลานั้นบ้านเมืองอยู่ในช่วงผ่านศึกสงครามมาใหม่ ๆ ประจวบทั้งการสร้างบ้านแปลงเมือง รวมทั้งปราสาทราชวังต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2328 พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่า หลังจากบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์อังวะแล้ว ต้องการประกาศแสนยานุภาพ เผยแผ่อิทธิพล โดยได้ทำสงครามรวบรวมเมืองเล็กเมืองน้อยรวมถึงเมืองประเทศราชให้เป็นปึกแผ่น แล้วก็ได้ยกกองกำลังเข้ามาตีไทย โดยมีจุดประสงค์ทำสงครามเพื่อทำลายกรุงรัตนโกสินทร์ให้พินาศย่อยยับเหมือนเช่นกรุงศรีอยุธยา [55] สงครามครั้งนี้พระเจ้าปดุงได้ยกทัพมาถึง 9 ทัพ รวมกำลังพลมากถึง 144,000 นาย เวลานั้นทางฝ่ายไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรวบรวมกำลังไพล่พลได้เพียง 70,000 นาย จัดกองทัพออกเป็น 4 ทัพโดยให้รับศึกทางที่สำคัญก่อน แล้วค่อยผลัดตีทัพที่เหลือ
- สงครามท่าดินแดง
- สงครามตีเมืองทวาย
- อานามสยามยุทธ เกิดขึ้นระหว่างไทยกับเวียดนามเพื่อแย่งชิงกัมพูชาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
- สงครามพม่าตีเมืองถลาง ในสมัยรัชกาลที่ 2
- สงครามพม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2340 และ 2345
- สงครามเชียงตุง เป็นสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างไทย-พม่า ในสมัยรัชกาลที่ 4
- สงครามปราบฮ่อ เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีพ.ศ. 2394 ฮ่อ หรือกองกำลังชาวจีน ที่ต่อต้านราชวงศ์แมนจู ได้ก่อการกบฏโดยเรียกกลุ่มตัวเองว่า กบฏไท้ผิง เพื่อปลดปล่อยตนเองออกจากการปกครองของราชวงศ์แมนจูที่เป็นใหญ่ยึดครองประเทศจีนอยู่ในขณะนั้น จนเกิดการรบพุ่งกันเป็นการใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2405 พวกไท้ผิงพ่ายแพ้ต้องหลบหนีไปซุ่มซ่อนตัวตามป่าเขาในมณฑลต่าง ๆ ของจีน ทั้งในมณฑลยูนนาน ฮกเอี้ยน กวางไส กวางตุ้ง เสฉวน และส่วนหนึ่งหลบหนีมายังตังเกี๋ย ทางตั้งเกี๋ยจึงดำเนินการปราบปรามทำให้พวกฮ่อต้องหนีมาอยู่ที่เมืองซันเทียน เมื่อปี พ.ศ. 2408 ในสมัยรัชกาลที่ 4 ขณะนั้นพวกฮ่อภายใต้การนำของ "ปวงนันชี" ซึ่งใช้ธงสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ ได้ซ่องสุมกำลังที่ทุ่งไหหิน และได้ประพฤติตนเป็นโจรเที่ยวปล้นบ้านเมืองในดินแดนสิบสองจุไทและเมืองพวน ซึ่งขณะนั้นถือเป็นอาณาเขตของฝ่ายไทย
- วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ในสมัยรัชกาลที่ 5
- สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 6 สยามได้ประกาศสงครามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460
- สงครามไทย-ฝรั่งเศส สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้กำลังบุกเข้าประเทศกัมพูชาของฝรั่งเศส
- สงครามมหาเอเชียบูรพา ในช่วงสงคราม รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเข้าเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น และได้ดินแดนบางส่วนจากพม่า แต่ไม่ค่อยมีบทบาทการรบโดยตรงมากนัก
- เหตุปะทะชายแดนไทย–เวียดนาม
- สมรภูมิบ้านร่มเกล้า เป็นการปะทะตามชายแดนระหว่างไทย–ลาว ฝายไทยสูญเสียหนักกว่าลาวเนื่องจากเข้าตีที่มั่นของลาวที่เหนียวแน่น
- สมรภูมิช่องบก เป็นการปะทะกันระหว่างไทยกับเวียดนามจนนำไปสู่การเจรจาสันติภาพระหว่างไทยกับเวียดนาม
อ้างอิงและบรรณานุกรม
[แก้]- ↑ ดนัย ไชยโยธา. (2543). พัฒนาการของมนุษย์กับอารยธรรมในราชอาณาจักรไทย เล่ม ๑. โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์. หน้า 216.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Wood p. 113
- ↑ Damrong Rajanubhab p. 18
- ↑ Thaiwaysmagazine.com - Elephant Duel: The Honorary Combat on Elephant Back เก็บถาวร 2013-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved 2010-02-06
- ↑ 5.0 5.1 Damrong Rajanubhab p. 19
- ↑ 6.0 6.1 ดนัย ไชยโยธา. หน้า 219.
- ↑ ดนัย ไชยโยธา. หน้า 220.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 อานนท์ จิตรประภาส, หน้า 52-55
- ↑ วิบูลย์ วิจิตรวาทการ, หน้า 6
- ↑ 10.0 10.1 10.2 ชาดา นนทวัฒน์, หน้า 68-69
- ↑ อานนท์ จิตรประภาส
- ↑ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หน้า 80-81
- ↑ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หน้า 85-88
- ↑ อานนท์ จิตรประภาส, หน้า 82-84
- ↑ 15.0 15.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบลัดเล, หน้า 123-124
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 123-124
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 127
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 129-130
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 133
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 135
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 136-137
- ↑ 22.0 22.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 141-142
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 144-145
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 144
- ↑ 25.0 25.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า145-146
- ↑ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หน้า 118-121
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 147
- ↑ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หน้า 121
- ↑ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หน้า 121-123
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 153-155
- ↑ วิบูลย์ วิจิตรวาทการ, หน้า 43-47
- ↑ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หน้า 123-124
- ↑ คู่มือนักศึกษาวิชาทหารชาย, หน้า 435
- ↑ พิมาน แจ่มจรัส, หน้า 173
- ↑ สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ:มติชน, 2554. หน้า 88
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 151.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 153.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 156.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 158.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-17. สืบค้นเมื่อ 2012-01-17.
- ↑ ธีระชัย ธนาเศรษฐ. เปิดวังสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. สำนักพิมพ์ ธีรกิจ (ประเทศไทย) จำกัด. หน้า 134.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 148.
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล, หน้า 36-38
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล, หน้า 41-49
- ↑ 45.0 45.1 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล, หน้า 50-53
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงษ์. หน้า 173.
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล, หน้า 33-34
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล, หน้า 56-58
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล, หน้า 56-61
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล, หน้า 68
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล, หน้า 68-78
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล, หน้า
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี, หน้า 128-146
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี, หน้า 177
- ↑ [[ลิงก์เสีย] ๙ ทัพ (๑)ห้องสมุด โดย ปถพีรดี]