ข้ามไปเนื้อหา

รัฐวิสาหกิจไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในประเทศไทย รัฐวิสาหกิจ เป็นหน่วยงานประเภทหนึ่งของรัฐบาลไทย ที่มีสถานะเป็นองค์การที่รัฐเป็นเจ้าของ[1] เป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ หรือเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ องค์การ หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายๆ อย่างเข้าไปมีทุนรวมอยู่ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น โดยทุนดังกล่าวรวมกันแล้วต้องมากกว่าครึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนั้น

รัฐวิสาหกิจของไทย จะอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง

ประวัติ

[แก้]

ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา คณะราษฎรได้กลายเป็นชนชั้นปกครองใหม่ที่ควบคุมอำนาจทางการเมืองทางการทหารและทรัพยากรทั้งหมดของรัฐในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมทุนของรัฐ และเป็นผู้ที่ออกกฎหมายต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความชอบธรรมแก่การจัดสรรทรัพยากรเหล่านั้น คณะราษฎรได้นำทุนของรัฐไปสร้างรัฐวิสาหกิจ และบริษัทกึ่งราชการขึ้นจำนวนหนึ่งโดยรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และอยู่ภายใต้การบริหารงานของข้าราชการที่มาจากคณะราษฎร หรือบุคคลที่ใกล้ชิดกับคณะราษฎร

การใช้ทรัพยากรทางการเงินของรัฐมาสร้างรัฐวิสาหกิจขึ้นนี้ คณะราษฎรได้สร้างรัฐวิสาหกิจทางการเงิน อันได้แก่ ธนาคารเอเชีย ธนาคารมณฑล และบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย รัฐวิสาหกิจทางอุตสาหกรรม อันได้แก่ บริษัทข้าวไทย บริษัทประมงไทย บริษัทเดินเรือไทย และบริษัทไทยเดินเรือทะเล ส่วนรัฐวิสาหกิจทางด้านพาณิชยกรรม ได้แก่ บริษัทค้าพืชผลไทย และบริษัทพืชกสิกรรม เป็นต้น รัฐวิสาหกิจต่างๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน ประกันภัย การเดินเรือ หรือพาณิชยกรรม

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อบูรณะฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมให้เจริญก้าวหน้าเพื่อจัดทำกิจการที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และกิจการที่มีผลโดยตรงต่อความมั่นคงของประเทศเพื่อดำเนินการด้านอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านอุปโภคบริโภคของประชาชนให้เพียงพอ เพื่อประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสงคราม เช่น เชื้อเพลิง เป็นต้น รวมทั้งเพื่อดำเนินกิจการที่เป็นการบริการประชาชนที่ภาคเอกชนยังไม่มีความพร้อมทั้งในด้านเงินทุนและความสามารถ มีการตรากฎหมายสำคัญฉบับหนึ่งในปี พ.ศ. 2496 เพื่อเปิดโอกาส ให้ฝ่ายบริหารจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานขึ้นมาทำหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานขึ้นมาทำหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะ พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496[2] ที่ได้จัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ขึ้นมาหลายแห่งซึ่งมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ องค์การแบตเตอรี่ องค์การแก้ว องค์การจัดการน้ำเสีย เป็นต้น

จากนั้นมาก็มีรัฐวิสาหกิจเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแล (ไม่รวม "บริษัทลูก" ของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้) รวมทั้งสิ้น 56 แห่ง รัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นมาก็ด้วยเหตุผลหลายประการแตกต่างกันไป เช่น เหตุผลทางเศรษฐกิจ การคลัง ความมั่นคง ในบางกรณีอาจเป็นเหตุผลที่กล่าวมานี้หลายประการรวมกันก็เป็นได้ เหตุผลในการมีรัฐวิสาหกิจสามารถแยกเป็น 2 กรณี คือ เหตุผลทั่วไป และเหตุผลเฉพาะสำหรับประเทศไทย

คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจไทยถูกเปลี่ยนตามการเมืองอยู่เสมอ เช่น ในปี พ.ศ. 2555 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พรทิพย์ ปักษานนท์, ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจไทย, ภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ทหารและตำรวจได้เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจไทยจำนวนมาก

เงื่อนไขการเป็นรัฐวิสาหกิจ

[แก้]

การที่องค์กรหนึ่งจะมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ขึ้นอยู่กับการนิยามความของ "รัฐวิสาหกิจ" ในแต่ละกฎหมาย กล่าวคือ รัฐวิสาหกิจบางแห่งอาจจะมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามความหมายของกฎหมายฉบับหนึ่ง แต่มิได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามความหมายของกฎหมายอื่นได้[3]

หลักการและเหตุผลการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ

[แก้]

รัฐวิสาหกิจไทย มีหลักการในการจัดตั้ง 7 ประการ คือ

  1. เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแทนรัฐ
  2. เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เอกชนในการดำเนินธุรกิจ
  3. เพื่อความมั่นคงของประเทศ เช่น กิจการที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไฟฟ้า น้ำประปา รวมถึงยุทธปัจจัยในการสงคราม อาทิ องค์การแบตเตอรี่ องค์การแก้ว องค์การฟอกหนัง องค์การเชื้อเพลิง
  4. เพื่อส่งเสริมสังคมและวัฒนธรรม
  5. เพื่อจัดทำบริการสาธารณะ
  6. เพื่อประโยชน์ในด้านการคลังและเสริมรายได้ให้แก่รัฐ
  7. เพื่อควบคุมสินค้าอันตราย

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]